fbpx

อ่านศึกเลือกตั้งระดับรัฐของอินเดีย ความพ่ายแพ้ยับเยินของพรรคคองเกรส

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในรอบปี 2021 และชวนท่านผู้อ่านทุกคนจับตาการเมืองภายในอินเดียปี 2022 หนึ่งในนั้นคือการเลือกตั้งระดับรัฐในหลายรัฐสำคัญ

ต้องบอกว่าการเลือกตั้งในประเทศอินเดียนั้นน่าสนใจ เพราะไม่ได้จัดเพียงแค่วันเดียว พูดง่ายๆ คือ ในสนามเลือกตั้งครั้งเดียวกัน จะมีการกำหนดวันใช้สิทธิเลือกตั้งหลายวันต่างกันในแต่ละพื้นที่

นั่นส่งผลให้การเลือกตั้งของอินเดียกินเวลายาวนาน ตั้งแต่ระดับสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือนเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับประเทศ สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่พึ่งจัดไป มีการเลือกตั้งในระยะเวลาไล่เลี่ยกันมากถึง 5 รัฐ ประกอบด้วยรัฐอุตตรประเทศ ปัญจาบ อุตตราขัณฑ์ โกอาร์ และมณีปูร์ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงช่วงต้นเดือนมีนาคม ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียจะนับคะแนนพร้อมกันทั้ง 5 รัฐในวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา

อีกความพิเศษของการเลือกตั้งในอินเดียคือ การใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนเสียง ทำให้นับคะแนนเลือกและประกาศผลเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วในวันนับคะแนนเลือกตั้ง แม้จะมีประชากรจำนวนมากก็ตาม ซึ่งต่างจากระบบบัตรเลือกตั้งแบบเดิม

การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเมืองอินเดียอย่างมาก เพราะนักวิเคราะห์ต่างมองว่า นี่คือศึกเพื่อชี้ชะตาการเลือกตั้งระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 หลายรัฐที่มีการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้มีสัดส่วนสมาชิกโลกสภาจำนวนมาก (ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) บทความชิ้นนี้จึงอยากชวนอ่านศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุดในทั้ง 5 รัฐนี้ของอินเดีย และวิเคราะห์ปัจจัยแห่งชัยชนะและความพ่ายแพ้ของพรรคต่างๆ

การสร้างประวัติศาสตร์ของพรรคบีเจพีใน 4 รัฐสำคัญ

สำหรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ต้องบอกว่าทำเอานายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญของพรรคบีเจพียิ้มไม่หุบ ถึงขนาดออกมาประกาศชัยชนะ พร้อมกับกล่าวสำทับว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ก็บอกเป็นกลายๆ ถึงผลการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2024” เพราะจากการเลือกตั้งทั้งหมด 5 รัฐ พรรคบีเจพีและพันธมิตรสามารถคว้าชัยชนะไปได้ถึง 4 รัฐ คือรัฐอุตตรประเทศ อุตตราขัณฑ์ โกอาร์ และมณีปูร์ แน่นอนว่านักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า คำกล่าวของโมดีอาจจะเกินจริงไปหน่อย เพราะต้องยอมรับก่อนว่าทั้ง 4 รัฐดังกล่าวเป็นรัฐเดิมที่พรรคบีเจพีเป็นรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นก็เหมือนเป็นการป้องกันแชมป์เดิมเท่านั้น

ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อติดตามผลคะแนนและสัดส่วนของสมาชิกสภาในระดับรัฐ ก็พบว่าความนิยมของพรรคบีเจพีในรัฐอุตตรประเทศลดลงมาอย่างเห็นได้ชัด พรรคบีเจพีสูญเสียที่นั่งไปมากถึง 57 ที่นั่ง ในขณะที่แกนนำคนสำคัญหลายคนของพรรคในรัฐแพ้เลือกตั้งคาบ้าน ในทางกลับกัน คะแนนของพรรคคู่แข่งอย่าง ‘พรรคสมาจวาดี’ (Samajwadi Party) กลับมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ถึงกระนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งรอบนี้พรรคบีเจพีทำผลงานได้ดีเกินคาด เพราะหลายฝ่ายต่างมองว่า ผลกระทบจากการประท้วงของชาวนา วิกฤตเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน ตลอดจนการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ล้มเหลวของรัฐบาลจะส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคบีเจพีลดลง แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น และพรรคบีเจพียังสามารถสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองของตัวเองได้ในรัฐอุตตรประเทศได้อีกด้วย โดยเฉพาะการได้เป็นรัฐบาลติดต่อกันสองสมัย ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าใดนัก

เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งในรัฐอุตตรขัณฑ์ที่พรรคบีเจพีสามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ แม้ว่าจำนวนที่นั่งจะลดลงจาก 57 ที่นั่งเหลือ 47 ที่นั่งก็ตาม แต่ชัยชนะครั้งนี้ของพรรคบีเจพีได้สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองในรัฐแห่งนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย จากการที่เป็นพรรคการเมืองแรกที่สามารถชนะเลือกตั้งติดต่อกัน 2 สมัย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาพรรการเมืองต่างๆ ในรัฐอุตตรขัณฑ์จะสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาบริหาร แต่ที่คงจะเป็นปัญหาของพรรคในรัฐนี้อยู่ไม่น้อยคือ แคนดิเดตมุขมนตรีของพรรคดันแพ้เลือกตั้งในเขตตัวเอง ส่งผลให้พรรคอาจต้องเฟ้นหาแคนดิเดตคนใหม่มารับตำแหน่งแทน

ขณะที่การเลือกตั้งในรัฐโกอาร์ พรรคบีเจพีก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการรักษาที่นั่งของตัวเองเอาไว้ได้ แต่สิ่งที่ต่างออกไปจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 คือ ครั้งนี้พรรคบีเจพีสามารถกุมเสียงข้างมากได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เกมทางการเมือง อาศัยพรรคการเมืองท้องถิ่นรวมเสียงเพื่อเป็นรัฐบาลอย่างครั้งก่อน เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในรัฐมณีปูร์ที่พรรคบีเจพีกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการกลายเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียวในการตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าชัยชนะของพรรคบีเจพีไม่ได้มาด้วยโชคช่วย แต่มาจากหลากหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งอาจแจกแจงได้ดังนี้

1. นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดียังขายได้ ความเป็นไอคอนของพรรคบีเจพีถือเป็นจุดแข็งสำคัญเสมอมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากยังคงศรัทธาในตัวโมดี และพร้อมจะลงคะแนนให้กับพรรคบีเจพี

2. อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคที่ชัดเจนและไม่ค่อยทับซ้อนกับพรรคอื่น ส่งผลให้คะแนนการเลือกตั้งไม่กระจัดกระจายไปยังพรรคอื่นๆ ประกอบกับที่นับวันอุดมการณ์ทางการเมืองยิ่งทวีความสำคัญในเกมการเลือกตั้ง พรรคบีเจพีก็ยิ่งได้เปรียบ

3. ความได้เปรียบจากการที่พรรคบีเจพีเป็นพรรครัฐบาล การที่พรรคสามารถขายนโยบายการพัฒนาระดับรัฐควบคู่กันไปได้ถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญในการหาเสียง

4. ความเป็นระบบของพรรคการเมืองกลายเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้พรรคบีเจพีสามารถเฟ้นหาตัวแคนดิเดตบนฐานความสามารถและศักยภาพ มีพื้นหลังหลากหลาย มากกว่าใช้ระบบสืบทอดจากสายตระกูล เสริมให้ภาพลักษณ์ของพรรคมีความเป็นพรรคของปวงชนมากกว่าrพรรคของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

5. นโยบายรัฐสวัสดิการและประชานิยมที่ถูกใช้มาตลอดหลายปีของพรรคบีเจพีได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชนฐานราก ซึ่งถือเป็นฐานคะแนนสำคัญในการเมืองการเลือกตั้งของอินเดีย

6. ความไม่เป็นเอกภาพของพรรคฝ่ายตรงข้ามที่มีแนวอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดการแย่งชิงคะแนนกันเอง จนสุดท้ายพรรคบีเจพีกลายเป็นตาอยู่ ได้รับเลือกไปด้วยคะแนนที่ห่างไม่มากนักในหลายเขตเลือกตั้ง

เมื่อปัญจาบต้องการเปลี่ยนแปลง พรรคใหญ่เลยต้องหลบ

ปัญจาบเป็นอีกรัฐหนึ่งจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ แน่นอนว่าพรรคบีเจพีเองก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้าชัยให้ได้ในครั้งนี้ ภายหลังจากที่อดีตแกนนำของพรรคคองเกรสหลายคนตัดสินใจย้ายค่าย หรือเลือกจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคบีเจพี เช่นเดียวกับพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมในรัฐที่ต้องรักษาที่มั่นเอาไว้ให้ได้ ภายหลังจากการเลือกตั้งระดับรัฐที่ผ่านๆ มา พรรคคองเกรสพ่ายแพ้มาอย่างต่อเนื่อง ปัญจาบจึงเป็นรัฐที่คองเกรสหวังไว้มากในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นเดียวกับรัฐอย่างโกอาร์ และอุตตราขัณฑ์ หากมองจากภายนอก สนามเลือกตั้งรัฐปัญจาบเรียกได้ว่าเป็นศึกชิงชัยขับเคี่ยวกันระหว่างสองพรรคใหญ่ อย่างพรรคคองเกรสและพรรคบีเจพี

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งรัฐปัญจาบรอบนี้ทำเอาหลายคนต้องขยี้ตาหลายรอบ เพื่อตรวจสอบว่าตัวเองไม่ได้ผิดพลาด เพราะกลายเป็นว่าพรรคน้องใหม่ทางการเมืองอย่างพรรคอามอาดมี (Aam Aadmi Party) คว้าชัยชนะไปด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายอย่างที่เรียกได้ว่าหักปากเซียนไปหลายด้าม พรรคอามอาดมีกวาดที่นั่งในสภาแห่งรัฐไปได้มากถึง 93 ที่นั่ง จาก 117 ที่นั่ง ทั้งที่การเลือกตั้งปี 2017 กวาดที่นั่งไปได้เพียง 20 ที่นั่งเท่านั้น แม้จะมีบางแนววิเคราะห์ที่มองว่า พรรคอามอาดมีจะได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคที่ค่อนข้างใหม่ในการเมืองอินเดียและมีฐานที่มั่นแค่ในกรุงนิวเดลีเท่านั้นจะได้รับคะแนนเสียงมากมายขนาดนี้

เช่นเดียวกัน ชัยชนะของพรรคอามอาดมีในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หากแต่เกิดขึ้นจากการทำการบ้านถอดบทเรียนความพ่ายแพ้ของพรรคในการเลือกตั้งรอบที่แล้วมาอย่างดีของคุณอาร์วินด์ เคจริวาล หัวหน้าพรรค โดยมีปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้

1. ลดภาพลักษณ์การแทรกแซงจากนักการเมืองภายนอก ซึ่งเป็นความผิดพลาดครั้งก่อนของพรรคที่อาศัยแกนนำจากนิวเดลีมาช่วยหาเสียงจนแสดงบทบาทมากเกินไป ครั้งนี้พรรคจึงเน้นให้แคนดิเดตที่ลงรับสมัครเลือกตั้งในท้องถิ่นเป็นตัวแสดงหลัก ส่วนแกนนำพรรคที่อยู่นอกเขตก็ไปทำงานเบื้องหลังเป็นสำคัญ ไม่ต้องออกหน้ามากนัก

2. พรรคตัดสินใจประกาศชื่อแคนดิเดตมุขมนตรี หลังจากที่ครั้งก่อนไม่มีการกระทำในลักษณะนี้ ซึ่งชื่อแคนดิเดตที่พรรคประกาศก็ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนปัญจาบ ด้วยภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างใสสะอาด

3. การขายนโยบายและความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงนิวเดลี ซึ่งถือเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญของพรรค โดยเฉพาะนโยบายสาธารณูปโภคและการศึกษา

4. แนวทางการหาเสียงที่แปลกแหวกแนวแต่เข้าถึงได้ ต้องบอกว่าการหาเสียงของพรรคนี้มีความน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ การให้ประชาชนโทรสายตรงหาผู้สมัครได้ ซึ่งทำให้คนเข้าถึงผู้สมัครมากขึ้น และมองว่านักการเมืองเข้าถึงง่ายและใกล้ชิดประชาชน

5. ความขัดแย้งและความโกลาหลภายในพรรคคองเกรสสร้างความเบื่อหน่ายให้คนปัญจาบที่ต้องการเห็นรัฐพัฒนาไปไกลกว่านี้ และไม่ต้องการตกอยู่ในหล่มการเมืองน้ำเน่า คนเหล่านี้ต่างหันมาเทคะแนนให้พรรคอามอาดมี

 ความพ่ายแพ้ซ้ำซากของคองเกรส

สุดท้าย คงขาดเสียไม่ได้ที่จะต้องเขียนถึงพรรคการเมืองเก่าแก่ของอินเดียอย่างพรรคคองเกรส เรียกได้ว่าในการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคได้ซีนไปเต็มๆ แต่ซีนอาจจะแย่มากไปหน่อย เพราะว่าได้ซีนผู้พ่ายแพ้ในเลือกตั้งชนิดที่ว่าแพ้ราบคาบไป ไม่มีรัฐไหนที่พรรคคองเกรสได้เป็นรัฐบาลเลย ทำเอาบรรดากองเชียร์ถึงกับส่ายหัวและพากันกรวดน้ำคว่ำขันให้ ไม่ใช่เพียงแค่กองเชียร์เท่านั้นที่โมโหกับผลการเลือกตั้งรอบนี้ แต่ดูเหมือนว่าบรรดาผู้อาวุโสในพรรคคองเกรสเองยังควันออกหู ถึงขนาดสั่งให้บรรดาแกนนำที่ดูแลการเลือกตั้งในแต่ละรัฐยื่นใบลาออก แต่นี่ก็เป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ผู้ที่ติดตามการเมืองอินเดียมาอย่างต่อเนื่องและบรรดานักวิเคราะห์ที่สนับสนุนพรรคคองเกรสต่างมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาหลักของพรรคคองเกรสในตอนนี้มีมากมายและจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน การเมืองอินเดียตอนนี้ไปไกลเกินกว่าการขายภาพลักษณ์เดิมๆ การขายตระกูลการเมืองอย่างคานธี-เนห์รูล้าสมัยไปแล้ว ไม่มีใครซื้ออะไรแบบนี้อีกต่อไป การเมืองอินเดียวก้าวไปสู่การขับเคี่ยวกันด้วยนโยบายแล้ว เห็นได้จากการลงไปช่วยหาเสียงในรัฐอุตตรประเทศของปริยังกา คานธี ลูกสาวราชีพ คานธี ที่ก็ยังไม่สามารถหยุดความพ่ายแพ้ของพรรคคองเกรสไว้ได้

นอกจากนี้ การชูราหุล คานธีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือแกนนำของพรรคตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ช่วยให้คะแนนความนิยมของพรรคเพิ่มขึ้น ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นว่าเกิดความขัดแย้งหนักหนาเพิ่มขึ้นเข้าไปอีกภายในพรรคระหว่างกลุ่มผู้อาวุโสและบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ต้องการปฏิรูปพรรค (แอบคล้ายบางพรรคการเมืองเก่าแก่ของไทย) สุดท้ายกลายเป็นปัญหาเลือดไหลออกจากพรรค คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีศักยภาพไหลออกไปอยู่พรรคอื่น แต่ที่น่าเจ็บใจกว่านั้นคือ คนเหล่านั้นกลายมาเป็นดาบทิ่มแทงให้คองเกรสต้องพ่ายแพ้ในแต่ละรัฐ

ฉะนั้น ความพ่ายแพ้ของพรรคคองเกรสไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความเข้มแข็งของพรรคฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักของความพ่ายแพ้คือ เอกภาพภายในของพรรคที่ไม่มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ปี 2014 ระบบอาวุโสและความเป็นตระกูลการเมืองส่งผลให้สมาชิกพรรคที่มีศักยภาพหลายคนไม่ได้รับโอกาสในการลงเลือกตั้ง จนสุดท้ายต้องลาออกไปหาพรรคการเมืองที่ให้โอกาส ปัจจัยเหล่านี้กัดกร่อนให้พรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคคองเกรสอ่อนแอลงอย่างมาก จนวันนี้แทบจะสูญเสียสภาพความเป็นพรรคการเมืองระดับชาติไปแล้วหลังพ่ายแพ้ติดต่อกันหลายครั้ง หรือการลงเลือกตั้งก็ต้องอาศัยระบบพันธมิตรเป็นสำคัญ

กล่าวโดยสรุป ผลการเลือกตั้งทั้ง 5 รัฐของอินเดียในรอบนี้สามารถอธิบายด้วยใจความสั้นๆ ได้ว่า

“ความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของพรรคบีเจพี และความร่วงโรยของพรรคคองเกรส”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save