fbpx

เหลียว 2021 แล 2022: เศรษฐกิจ การเมือง และการต่างประเทศอินเดีย

ปี 2021 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่อินเดียเผชิญวิกฤตอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้คนอินเดียเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขของอินเดียในเวลานั้นอยู่ในสภาพเกือบล่มสลาย จนนานาชาติต้องส่งความช่วยเหลือมายังอินเดีย ถือเป็นช่วงเวลาที่อินเดียยากลำบากอย่างยิ่ง

นอกจากจะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบบสาธารณสุขแล้ว การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจอินเดียด้วย เนื่องจากรัฐบาลระดับรัฐจำนวนมากบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อสะกัดการแพร่ระบาด ส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบไปด้วย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การประเมินการเติบโตเศรษฐกิจของอินเดียต้องมีการปรับเปลี่ยน

แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน คือความพ่ายแพ้ของพรรครัฐบาลและพันธมิตรในการเลือกตั้งระดับรัฐ อย่างในรัฐเบงกอลตะวันตก และทมิฬนาดู ซึ่งพรรครัฐบาลปัจจุบันอย่างบีเจพีทุ่มสรรพกำลังลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการลงพื้นที่หาเสียงเองของนายกรัฐมนตรีโมดี แต่ท้ายที่สุด กลับกลายเป็นความพ่ายแพ้ยับเยินในทั้งสองรัฐ

ในขณะที่การต่างประเทศ เรียกได้ว่าปีที่ผ่านมาอินเดียได้ให้คำมั่นมากมายกับนานาชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ถือได้ว่าอินเดียได้เปลี่ยนท่าทีของตัวเองในการกำหนดเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้นมาเป็นปี 2070

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอินเดียในปี 2022 บทความนี้จะพาไปสำรวจประเด็นทางเศรษฐกิจ การเมือง และการต่างประเทศของอินเดียที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้

เศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19

ปีงบประมาณ 2020-2021 (ปีงบประมาณอินเดียเริ่มในวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคมของปีถัดไป) ถือเป็นช่วงเวลาที่อินเดียเผชิญการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยตัวเลขการเติบโต GDP ของอินเดียติดลบถึงร้อยละ 7.3

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปีงบประมาณ 2021-2022 ค่อนข้างแตกต่างออกไปมาก แม้ว่าในช่วงแรกของปีงบประมาณ อินเดียจะเผชิญการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าอย่างหนัก แต่ภายหลังเดือนมิถุนายน สถานการณ์ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น ทำให้การใช้จ่ายทางเศรษฐกิจของอินเดียกลับมาเป็นปกติมากยิ่งขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากวิเคราะห์กันว่าตัวเลข GDP ของอินเดียในปีงบประมาณนี้ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2022 อาจอยู่ระหว่างร้อยละ 7.5 ถึง 9.5 แม้ว่าหลายฝ่ายจะยังกังวลว่าการระบาดของโอไมครอนอาจฉุดให้เศรษฐกิจอินเดียตกลงมาในปีนี้ แต่ด้วยตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนภายในอินเดียที่ค่อนข้างสูง ผนวกกลับหลายงานศึกษาสะท้อนว่า คนอินเดียจำนวนมากมีภูมิโดยธรรมชาติจากการระบาดรอบที่ผ่านมา ฉะนั้น โดยพื้นฐานที่เชื้อโอไมครอนที่รุนแรงน้อยกว่าเดลต้า ส่งผลให้รัฐบาลระดับรัฐจำนวนมากไม่ใช้มาตรการควบคุมเข้มข้นเหมือนในครั้งก่อน และตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้

ต้องยอมรับว่า โดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจของอินเดียค่อนข้างเข้มแข็งจากการบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลอินเดียเองก็พยายามอย่างมากที่จะผลักดันนโยบายพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา อินเดียสูญเสียดุลการค้าจำนวนมหาศาลจากการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะจากจีน นับวันการค้าของทั้ง 2 ประเทศจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น แต่ท่ามกลางการขยายตัวดังกล่าว อินเดียกลับเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบดุลการค้าเป็นสำคัญ

ฉะนั้น นโยบายเศรษฐกิจของอินเดียในยุคหลังโควิด-19 ในปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอินเดียจะงัดมาตรการมากมายขึ้นมาใช้เพื่อปกป้องการค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมถึงเจรจาเพื่อแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีที่อินเดียมองว่าตนเองเสียเปรียบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือข้อตกลงการค้าเสรีอินเดีย-อาเซียน ที่ตลอดหลายปีมานี้ อินเดียพยายามอย่างหนัก และเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับศึกการค้าระหว่างอินเดียและจีนที่อาจจะมีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นจากตัวเลขการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในเวลานี้

ในขณะที่แนวนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น ต้องถือว่าเป็นอีกงานหินของอินเดีย โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาพปกติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มการจ้างงานที่สูญหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นการลงทุนในภาครัฐจำนวนมากในปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของอินเดีย การลงทุนในภาครัฐยังเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมืองด้วย เนื่องจากรัฐบาลอาจต้องเร่งสร้างผลงานเพื่อใช้สำหรับหาเสียงเลือกตั้งระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ด้วย นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่ามาตรการจูงใจการลงทุนจากเอกชนของบรรดารัฐต่างๆ จะทยอยออกมาในช่วงปีนี้เช่นเดียวกัน

ศึกเลือกตั้งระดับรัฐ: ชี้วัดกำลังพรรครัฐบาล

นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาแล้ว การเมืองอินเดียปีนี้ก็ถือได้ว่าห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะอย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เมื่อปีที่แล้ว พรรครัฐบาลและพันธมิตรพ่ายแพ้ในรัฐใหญ่ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งถึง 2 รัฐด้วยกัน โดยเฉพาะรัฐเบงกอลตะวันตก ที่เมื่อการเลือกตั้งระดับชาติปี 2019 พรรคบีเจพีสามารถคว้าที่นั่ง ส.ส.มาได้เป็นจำนวนมาก แต่ผลการเลือกตั้งในระดับรัฐครั้งล่าสุดกลับพ่ายแพ้แบบเสียรูป แม้จะใช้ขุนพลคนสำคัญอย่างนายกโมดีไปหาเสียงเลือกตั้งช่วยก็ตาม ส่งผลให้มามาตา เบเนอร์จี่ (Mamata Banerjee) จากพรรค Trinamool Congress สามารถคว้าชัยชนะไปได้อีกครั้ง ทำให้เธอเป็นมุขมนตรีหญิงของรัฐเบงกอลตะวันตกที่ชนะเลือกตั้งติดต่อกันถึง 3 สมัย และต้องบอกว่า เธอถือเป็นมุขมนตรีคนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะลงรอยกับรัฐบาลชุดปัจจุบันเท่าไหร่ ทำให้หลายครั้งนโยบายของเธอสวนทางกับรัฐบาลอยู่บ่อย ๆ

แต่การเลือกตั้งในปีที่แล้วก็ยังไม่สำคัญมากเท่าในปีนี้ เพราะอาจจะมีการเลือกตั้งในระดับรัฐมากถึง 8 รัฐด้วยกัน โดยล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดียได้กำหนดวันเลือกตั้งสำหรับ 5 รัฐ อันประกอบไปด้วย รัฐกัว มณีปุระ ปัญจาบ อุตตรขัณฑ์ และอุตตรประเทศ ซึ่งรัฐเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะรัฐอุตตรประเทศ ที่ถือเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศอินเดีย นั่นส่งผลให้รัฐนี้มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในประเทศด้วย ชัยชนะเหนือรัฐอุตตรประเทศจึงเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2024 ด้วย

ความยิ่งใหญ่ของอุตตรประเทศส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งยาวนานถึง 2 เดือนเต็ม โดยแบ่งเป็น 7 รอบตามเขตพื้นที่ต่างๆ (ในอินเดียสามารถจัดเลือกตั้งหลายวันได้ ไม่ต้องเลือกตั้งในวันเดียวกัน แม้จะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติก็ตาม) ซึ่งในครั้งนี้ ต้องมาจับตาดูกันว่าพรรคบีเจพีจะสามารถครองใจคนอุตตรประเทศต่อไปได้หรือไม่ และจะยังส่งมุขมนตรีคนเดิมเข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เพราะก็ต้องบอกว่า การเลือกตั้งรอบนี้อาจชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลพรรคบีเจพีเลยก็ว่าได้ หากคู่แข่งสามารถมีชัยชนะเหนือรัฐนี้ได้ เพราะสำหรับการเมืองอินเดียแล้ว พรรคไหนได้เป็นรัฐบาลในรัฐไหน ก็ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งระดับชาติไปด้วย เพราะมันมาพร้อมกับอำนาจและนโยบายเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มาเลือกพรรคตนเอง

ในขณะที่การเลือกตั้งในรัฐปัญจาบเองก็ต้องจับตามองเช่นกัน เพราะเกิดการย้ายขั้ว สลับข้างกันให้วุ่น จนทำเอาผู้มีสิทธิเลือกตั้งงงไปตามๆ กัน เพราะอดีตมุขมนตรีจากพรรคคองเกรสตัดสินใจย้ายไปจับมือกับพรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรคคู่แข่ง เนื่องจากไม่พอใจที่พรรคคองเกรสปลดตัวเองลงจากตำแหน่งทั้งที่ยังไม่ครบสมัย และจะไม่ส่งลงชิงตำแหน่งมุขมนตรีอีกรอบ ทำเอาคองเกรสต้องปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่ กลายเป็นศึกใหญ่ของคองเกรสที่ต้องรักษาฐานตัวเองเอาไว้ให้ได้ เพื่อสกัดพรรคบีเจพีไม่ให้ผงาดในรัฐนี้

การเลือกตั้งระดับรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาพรวมการเมืองอินเดีย โดยเฉพาะความเป็นไปได้ของพรรคบีเจพีที่จะเป็นรัฐบาลต่อไปในการเลือกตั้ง 2024 รวมถึงจะสะท้อนถึงโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วทางอำนาจในอนาคตหากพรรคบีเจพีพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในรัฐสำคัญทั้ง 2 นี้ เฉพาะเพียงรัฐอุตตรประเทศก็มีส.ส. มากถึง 80 คนจากจำนวนส.ส. 543 คน ในโลกสภาของอินเดีย ฉะนั้น การเลือกตั้งในรัฐจึงเป็นเรื่องที่พลาดไม่ได้ เพราะจะมีผลต่อการพยากรณ์การเลือกตั้งระดับชาติ

อินเดียท่ามกลางความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน

สำหรับการต่างประเทศของอินเดีย เรียกได้ว่าในปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบทบาทที่เพิ่มมากยิ่งมากของอินเดียในการจัดวางตำแหน่งตนเองในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยืนกรานความเป็นอิสระทางด้านนโยบายต่างประเทศของตนเอง ไม่เลือกข้างอย่างชัดเจน แม้ว่าอินเดียจะถูกมองว่าเอนเอียงหาสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงหลายนโยบายต่างประเทศของอินเดียขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน เช่นในปี 2021 อินเดียยังคงเดินหน้าจัดซื้ออาวุธจากรัสเซีย แม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามคว่ำบาตรรัสเซีย หรือแม้กระทั่งในการประชุม QUAD อินเดียก็ยังงดพูดถึงจีนในเวทีและเลือกที่จะเบี่ยงความร่วมมือของ QUAD ไปในประเด็นนอกเหนือจากเรื่องความมั่นคง

แนวนโยบายเช่นนี้ของอินเดียจะยังคงเดินหน้าต่อในปี 2022 เพราะอินเดียทราบดีว่า ตอนนี้ตนเองกำลังอยู่ท่ามกลางการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาก็ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอินเดีย ในทางเดียวกันจีนก็ถือเป็นเพื่อนบ้าน และคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินเดียเช่นเดียวกัน แม้ว่าอินเดียจะเผชิญความขัดแย้งทางพรมแดนกับจีน แต่อินเดียยังคงเลือกที่จะเจรจาเป็นหลัก เพราะเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจร่วมของทั้งสองประเทศอยู่

เพราะภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากอาเซียนที่เป็นตาอยู่ของการย้ายฐานการผลิตและเงินลงทุนแล้ว อินเดียเองก็ถือเป็นตาอยู่จากสงครามการค้านี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการย้ายเงินลงทุนจำนวนมหาศาลของนักลงทุนชาวจีนมายังกลุ่มธุรกิจในอินเดีย โดยเฉพาะในกลุ่ม Start-up ซึ่งจีนถือเป็นนักลงทุนรายสำคัญมาก และมีส่วนต่อการผลักดัน Unicorn หลายตัวของอินเดียสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้นความสัมพันธ์อินเดีย-จีนในปีนี้อาจจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะค่อนข้างมีความซับซ้อนทั้งในเชิงการเมือง การค้า และการลงทุน ที่คาบเกี่ยวกันอยู่

อีกเรื่องที่ต้องจับตาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของอินเดียคือ อินเดียอาจมีแนวโน้มเข้าหารัฐบาลทหารพม่ามากขึ้น เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางแนวชายแดนของอินเดียที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาศัยความไม่สงบภายในพม่ากลับมาปฏิบัติการอีกครั้ง ซึ่งในปลายปีที่แล้วอินเดียได้ส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศไปพูดคุยกับพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะเดียวกันอินเดียอาจมีแนวโน้มพูดคุยกับรัฐบาลตอลีบันมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวเนื่องกับแคชเมียร์ กล่าวคือนโยบายต่างประเทศของอินเดียอาจมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงมากขึ้น

สุดท้ายแนวโนยายต่างประเทศของอินเดียในปี 2022 นี้อาจไม่ได้หวือหวามากนัก เน้นความมั่นคงภายในประเทศที่อาจเป็นผลมาจากความสัมพันธ์จากภายนอกประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากอินเดียต้องจัดการกิจการภายในประเทศ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และการเลือกตั้งในหลายรัฐสำคัญ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save