fbpx
ในนามของความป่วยไข้

ในนามของความป่วยไข้

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

 1

 

“จะได้กลับบ้านบ้างมั้ยลูกช่วงนี้” จู่ๆ แม่ก็โทรหาฉันกลางดึก

 

ช่วงนั้นไม่ใช่หยุดยาว ไม่ใกล้เคียงสงกรานต์ ปีใหม่ หรือวันสำคัญทางศาสนา

“ทำไมเหรอแม่” ฉันถาม  แม่เงียบไปวูบหนึ่งแล้วตอบเสียงสั่น

“พ่อไม่ค่อยสบาย”

หลังประโยคนั้นฉันรู้ทันทีว่าต้องเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นแล้ว พ่อเคยป่วยมากสุดก็แค่ไข้หวัด คำว่า ‘ไม่ค่อยสบาย’ ของแม่คงเป็นแค่การลดทอนให้คนฟังสบายใจ

“เป็นอะไรเหรอแม่” ฉันถาม

“พ่อปวดหัว”

แม่จบประโยคเท่านี้ แล้วกดวางสายไป  ฉันตั้งสติ แล้วกดโทรกลับ  แม่ไม่รับ แต่อีกไม่กี่นาทีก็โทรกลับมา เสียงมีน้ำหนักมั่นคงและมีกำลังใจกว่าเดิม

“พ่อเลือดออกในสมอง เกือบส่งโรงพยาบาลไม่ทัน” แม่สรุปความหลังจากเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง  “คุยกับพ่อหน่อยนะลูก พ่ออยากคุยด้วย” เสร็จแล้วแม่ยื่นโทรศัพท์ให้พ่อ  เสียงอู้อี้ฟังไม่ได้ศัพท์ดังผ่านสายมา ฉันน้ำตาไหลทันทีตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าพ่อพูดอะไร จากคนเสียงดังโผงผาง พูดอะไรแล้วคนต้องฟัง ตอนนี้กลายเป็นเสียงไร้น้ำหนักและไร้พลัง

“พ่อโอเคมั้ย” ฉันถาม

“โอเค พ่อเก่งอยู่แล้ว” เนื้อความที่พูดยังมั่นใจและติดตลกเหมือนเดิม แม้ว่าจะขับเสียงผ่านลำคอด้วยความยากลำบาก  ฉันอยากยิ้มก็ยิ้มไม่ออก แต่ดีใจที่พ่อมีสติมากพอจะต่อสู้กับความเจ็บปวด

หลังวางสาย ฉันจองตั๋วกลับบ้านรอบวันรุ่งขึ้นทันที  เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แม่บอกว่า ถ้าส่งโรงพยาบาลช้ากว่านี้อีกนิดเดียว พ่ออาจจะเป็นอัมพาตตลอดชีวิต  สิ่งที่น่ากลัวคือ ตอนนี้เลือดออกในสมองใกล้กับส่วนควบคุมการหายใจ ถ้ามีอะไรผิดพลาดนิดเดียว พ่ออาจหยุดหายใจไปเลย

ตอนที่นั่งเฝ้าพ่อ ฉันต้องคอยนั่งมองกราฟและตัวเลขในจอว่าพ่อยังหายใจอยู่ไหม  ทุกครั้งที่พ่อหลับแล้วหายใจแผ่วลง ฉันภาวนาทุกครั้งให้พ่อลุกขึ้นมา

“โรคนี้ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง” คุณหมอที่มาตรวจพ่อคุยกับฉัน  โรคหลอดเลือดในสมอง หรือ stroke เป็นสาเหตุการตายจากโรคอันดับต้นๆ ของคนไทย รองแค่โรคมะเร็งเท่านั้น และดูเหมือนตัวเลขไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

หลังจากนอนโรงพยาบาลหลายอาทิตย์ หมอจึงอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล  ฉันลางานมาอยู่บ้านดูแลพ่อ หอบต้นฉบับและเทปสัมภาษณ์มหาศาลกลับมาทำที่บ้านด้วย

จากที่เดินไม่ได้ พ่อเริ่มเดินเหย่งได้ทีละ 4-5 ก้าว แม้ร่างกายฝั่งขวาจะดูเอียงๆ ไม่สมดุล แต่พ่อก็ฝึกทุกวัน จนแทบจะเรียกว่าเดินได้เป็นปรกติ

ฉันนั่งมองพ่อแล้วคิด เราเดิน วิ่ง หรือกระโดดโลดเต้นกันจนชิน คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย  กะอีแค่ยกมือกินข้าว ลุกขึ้นนั่ง กำมือ หรือทำอะไรที่คิดว่าไม่ได้ใช้สมอง เราไม่รู้เลยว่าในสมองมีกระบวนการกี่แสนขั้นตอนที่ทำให้เราทำสิ่ง ‘ง่ายๆ’ เหล่านี้ แต่ทันทีที่มีเลือดออกนิดเดียว ทุกอย่างพลิกกลับ จากเครื่องกลอัจฉริยะ กลายเป็นเครื่องรวน และไม่สามารถควบคุมเรื่อง ‘ง่ายๆ’ ได้เหมือนเดิม

ชีวิตเราเปราะบางกว่าที่คิดมาก และถ้าจะให้พูดเชยๆ คือไม่รู้เลยว่าความป่วยไข้จะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน

นี่เป็นเรื่องเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้พ่อฉันเดินคล่องขึ้นเยอะ โยนไม้เท้าทิ้งทันทีที่เดินแล้วไม่เอียง ขับรถข้ามจังหวัดไปทำงานเองได้ กลับมาพูดเสียงดังเหมือนเดิม มีรอยยิ้มแจ่มใสและสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยม แต่ก็ยังต้องกินยาตลอดชีวิต

 

2

 

ในนามของคนหนุ่มสาว เราห่างไกลกับความป่วยไข้ เหมือนดาวพลูโตห่างจากดาวพุธ แม้จะนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งติดกันทั้งวันทั้งคืน อย่างมากเราก็แค่ปวดหลัง บ่นกับเพื่อน และกลับมาทำพฤติกรรมเดิมๆ

“เดี๋ยวอายุสัก 30 กูจะเลิกใช้ชีวิตแบบนี้ละ” ฉันพูดกับเพื่อนบ่อยๆ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าจะเลิกได้

เมาหัวราน้ำจนเช้า ตื่นมาตอนบ่ายคอแห้งเหมือนทะเลทราย ดื่มน้ำรวดเดียวหมดขวด ลุกขึ้นมาอาบน้ำและหาข้าวกิน นั่งปั่นงานจนดึกดื่น สัญญากับตัวเองว่าจะเลิกทำแบบนี้ แต่ก็วนกลับมาทำเหมือนเดิม

“ทุกวันนี้พี่อดนอนไม่ได้แล้ว” ฉันเคยบ่นกับรุ่นน้อง “มนุษย์เราควรนอน”

“ผมใช้การอดนอนไปหมดแล้วพี่ ตั้งแต่สมัยเรียนมหา’ลัย” กราฟิกหนุ่มพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบราวกับเป็นสัจธรรมชีวิต

 

นอกจากเรื่องนอน พักหลังฉันพยายามหาที่วิ่ง กำเงินหลายพันไปซื้อรองเท้าวิ่งยี่ห้อที่ยูเซน โบลท์เป็นพรีเซนเตอร์ แต่ก็นั่นแหละ ทำได้อยู่ไม่ถึงอาทิตย์ก็ถอดใจ  ทำไมคนเราต้องเหนื่อยขนาดนี้ เอาเวลาไปนอนดีกว่าไหม

เมื่อไปทางวิ่งไม่สำเร็จ เลยหันมาเอาดีทางกินผักแทน แต่ก็นั่นแหละ ผักที่ไม่อร่อย มันก็ไม่อร่อยจริงๆ

ทำไมการรักสุขภาพต้องเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้

 

3

 

ในนามของความป่วยไข้ ทุกอย่างเป็นเรื่องเท่าเทียม เราพร้อมที่จะพุ่งเข้าหาทันทีที่คุณอ่อนแอ

ในยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวต้องมุ่งทำงานหนัก ไม่ใช่แค่ใช้สมอง แต่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วง หลายครั้งที่ทุ่มเททำไป แต่เหมือนว่ายังไงก็ไม่ถึงจุดที่ต้องการเสียที

ความป่วยไข้ไม่ได้เข้ามาหาแค่ร่างกาย แต่ยังหาทางทะลุเข้าไปในใจ

เราอยู่ในยุคที่คนป่วยทางใจกันเยอะ ยิ่งกับเฉพาะคนหนุ่มสาว – วัยที่ใจควรผลิบาน

คนพูดถึงเรื่องซึมเศร้ากันเยอะในสังคม ไล่มาตั้งแต่นักร้องระดับโลก แล้วค่อยขยับเข้ามาใกล้ตัวเราเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีคนรอบข้างก็ดูจะมีภาวะซึมเศร้ากันหลายคน

บางคนส่งสัญญาณด้วยภาษาที่อ่านไม่เข้าใจ บางคนเขียนประโยควกวนเหมือนคุยกับตัวเอง และกับบางคนที่ปล่อยความเกรี้ยวกราดผ่านตัวอักษรที่อ่านแล้วชวนหัวใจกระตุกวูบ

ในประเทศที่ป่วยไข้ ผู้คนในประเทศก็กำลังป่วยไข้

เราอยู่ท่ามกลางความผันผวนของโลก กับความผกผันของชีวิต แม้จะพยายามดำเนินชีวิตให้ราบเรียบมั่นคงแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่าชีวิตก็พร้อมจะทำให้เราหัวหกก้นขวิดอยู่เสมอ และภาวะอ่อนแอก็พร้อมจะครอบงำทุกคน

ในนามของชีวิต เราก็ได้แต่ประคองความเปราะบางนี้ไป หากไม่มีใครมาช่วยพยุง ก็บอกตัวเองไปก่อนว่า “โอเค เราเก่งอยู่แล้ว”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save