fbpx

ความคิดเบื้องหลังของ ‘In God, We Trust.’ ประโยคบนธนบัตรดอลลาร์สหรัฐฯ

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

In God, We Trust.

ประโยคศักดิ์สิทธิ์นี้มีอยู่ในธนบัตรดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาทุกใบ

หลายคนอาจคิดว่า พวกอเมริกันทุนนิยมนับถือเงินเป็นพระเจ้า ไม่มีศาสนา

ประชาธิปไตยของอเมริกาคือทุนสามานย์

แต่ความจริงแล้ว ‘พระเจ้า’ ของอเมริกา คืออะไร

มีพระประสงค์เช่นไร สถิตอยู่ที่ไหน

และชี้นำประชาธิปไตยของอเมริกาอย่างไร

แนวคิดในการพัฒนาประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกานั้นมีรากฐานมาจากประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเริ่มบัญญัติไว้ในมหากฎบัตรแม็กนาคาร์ตาในปี 1215 ซึ่งจำกัดอำนาจของกษัตริย์มิให้ละเมิดต่อไพร่ฟ้าราษฎรในอาณัติ ด้วยการอ้างพรจากพระผู้เป็นเจ้าว่า กษัตริย์ไม่มีเทวสิทธิในการปกครองเหนือสิทธิ์ที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์ ทำให้ประชาชนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย และการดำเนินคดีจับกุมคุมขัง เนรเทศ หรือยึดทรัพย์สินใดๆ ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น (และส่วนนี้ยังบังคับใช้เป็นกฎหมายของอังกฤษตราบจนทุกวันนี้)

1. ในเบื้องปฐม, เราได้รับสิ่งประทานจากพระเจ้า และโดยกฎบัตรของเรานี้ที่ยืนยันสำหรับเราและทายาทตราบชั่วกาล ว่าโบสถ์แห่งอังกฤษจะมีอิสระ และมีสิทธิเสรีทั้งปวงอันมิอาจล่วงละเมิดได้ และเราจะยังได้รับซึ่งเสรีภาพแห่งการเลือกตั้ง อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและจำเป็นยิ่งต่อโบสถ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเรา, ด้วยเจตจำนงอิสระและกฎบัตรที่ยืนยันและให้สัตยาบันมาเช่นเดียวกันกับที่ได้รับจากองค์พระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ต่อข้อพิพาทระหว่างเรากับเหล่าผู้ปกครอง และเจตจำนงของเรานี้จะได้รับสืบทอดโดยสุจริตให้แก่เหล่าทายาทไปชั่วกาล เรายังได้มอบให้แก่เสรีชนทั่วทั้งอาณาจักร ซึ่งเสรีภาพที่บัญญัติดังต่อไปนี้ ที่จะมีและจะถือครองไว้ แก่พวกเขาและทายาทของพวกเขา ของเราและเหล่าทายาทไปชั่วนิรันดร์

39. ไม่มีเสรีชนผู้ใดจะถูกจับกุม จำคุก ยึดทรัพย์ หรือขับไล่ หรือทำร้ายด้วยประการใด หรือดำเนินคดีด้วยประการใด เว้นแต่จะได้กระทำโดยคำพิพากษาอันชอบธรรมจากผู้พิพากษาตามกฎหมายแผ่นดิน

40. ไม่มีผู้ใดที่เราจะจำหน่าย ไม่มีใครที่เราจะปฏิเสธหรือถ่วงไว้ให้ช้า ซึ่งสิทธิแห่งความยุติธรรม

– แม็กนาคาร์ตา, 1215 –

 

แนวคิดดังกล่าวในมหากฎบัตรแม็กนาคาร์ตาผ่านการทดสอบและบังคับใช้ด้วยสงครามกลางเมืองและนักคิดมากมายที่หลั่งเลือดต่อสู้กันกว่า 400 ปี จนกระทั่งเหล่านักคิดได้ส่งอิทธิพลข้ามฝั่งมหาสมุทรมายังอาณานิคมใหม่บนทวีปอเมริกา

การกดขี่และต่อสู้ทางศาสนาตลอดภาคพื้นยุโรป ทำให้นักคิดและนักการศาสนาของอเมริกาที่อพยพมาเริ่มคิดถึงการสร้างดินแดนเสรีที่ทุกคนจะสามารถนับถือได้ทุกศาสนา แต่มีเอกภาพเป็นชาติหนึ่งเดียว

แนวคิดด้านศาสนาที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยในอเมริกา ประกอบส่วนของจอห์น ล็อก และมองเตสกิเออ โดยจอห์น ล็อก มองว่าการปกครองต้องมีขันติธรรมต่อศาสนา และมองเตสกิเออมองว่า ศาสนาคริสต์มีพระเจ้าที่สั่งสอนความอ่อนโยนและกฎของธรรมชาติซึ่งขัดต่ออำนาจเผด็จการ

โดยโทมัส เพน คริสเตียนนิกายเควกเกอร์ ได้ทดลองสร้างเมืองที่มีศาสนิกหลากหลายศาสนาและนิกาย ให้มาใช้ชีวิตร่วมกันโดยปราศจากการแบ่งแยก คือเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งในย่านเดียวกันมีทั้งโบสถ์คาทอลิก โบสถ์แองกลิคัน โบสถ์ลูเธอรัน สถานที่ประชุมของเควกเกอร์ และซีนาโกกของยิวอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข โดยกฎหมายของเมืองเกิดจากการประชุมร่วมกันของประชาชนที่ทำงานร่วมกันเพื่อความผาสุกของบ้านเมือง

จอห์น อดัมส์, เบนจามิน แฟรงคลิน, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทมัส เจฟเฟอร์สัน ได้รับการหล่อหลอมในศรัทธาและปรัชญาของนักคิดเหล่านี้ และได้นำเอาศรัทธาในพระเจ้าดังกล่าว มากำหนดแนวคิดเพื่อต่อสู้ประกาศอิสรภาพ

ดังปรากฏไว้ในบทปรารภของคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาว่า

“เราถือครองความจริงเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งประจักษ์แจ้งในตัวเองว่า มนุษย์ทั้งปวงถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน, ว่าพระผู้สร้างมอบสิทธิอันมิอาจแบ่งแยกได้ให้มา สิ่งเหล่านั้นคือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการไขว่คว้าหาความสุข”

และในตอนท้ายว่า

“เรา, เหล่าผู้แทนแห่งสหรัฐอเมริกาในที่ประชุมสามัญ มารวมตัวกันเพื่อขออุทธรณ์ต่อองค์มหาตุลาการแห่งโลก เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่เจตนาของเรา ซึ่งกระทำในนามและในอำนาจของเหล่าสัตบุรุษแห่งอาณานิคมเหล่านี้ ได้ตีพิมพ์และประกาศว่าสหอาณานิคมจะเป็น และมีสิทธิที่จะเป็นรัฐที่มีเสรีและเอกราช”

ด้วยการเชื่อในพระเจ้าที่เป็นความดีสูงสุด อันสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์เหล่านี้ ทำให้การสอนเรื่องสิทธิเสรีภาพต่อประชาชนอเมริกาในยุคเริ่มตั้งประเทศเป็นไปได้โดยง่ายผ่านระบบศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโบสถ์เอพิสโคปัลอเมริกา และโบสถ์เมธอดิสต์ ซึ่งแยกตัวออกจากโบสถ์แองกลิคันและเป็นสาขานิกายใหญ่ที่มีผู้นับถือมากที่สุด มีบทสวดเพื่ออธิษฐานต่อพระเจ้าให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเอง ครอบครัว และมนุษยชาติ ใน Book of Common Prayer ซึ่งเป็นหนังสือสวดมนต์หลัก

เช่นเดียวกับแซลมอน พี. เชส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอเมริกาในยุคสงครามกลางเมือง ผู้ทุ่มเทกำลังเพื่อการล้มระบบทาส ได้กำหนดคำว่า ‘In God, We Trust.’ ลงไปในธนบัตรดอลลาร์ เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า ทรัพย์สินทั้งปวงนั้นได้มาจากความเชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประทานความคุ้มครองในทรัพย์สินแก่ทุกคนเหนืออำนาจใดๆ ของรัฐ และมนุษย์ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินให้ใครครอบครอง

ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐอเมริกาจึงเป็นชาติประชาธิปไตยที่มีศรัทธาในพระเจ้ายิ่งไปกว่าชาติประชาธิปไตยภาคพื้นยุโรป อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวคิดของเจฟเฟอร์สัน มองว่าความศรัทธากับการปกครองบ้านเมืองต้องแยกกัน จึงเกิดการแบ่งแยกรัฐและศาสนา ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ความว่า “รัฐสภาจะไม่ตรากฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาสนา หรือห้ามการปฏิบัติศาสนาอย่างเสรี”

และประธานาธิบดี เจมส์ เมดิสัน พร้อมด้วยรัฐสภา ได้ปฏิเสธความผูกมัดต่อศาสนากับประเทศ ในสนธิสัญญาทริโปลี 1797 ว่า “รัฐบาลสหรัฐอเมริกามิได้ก่อตั้งตามศาสนาคริสต์ ไม่ว่าด้วยลักษณะใด”

เพื่อเป็นการประสานประโยชน์และสร้างสัมพันธ์ต่อทริโปลิตาเนีย ซึ่งอยู่ในอาณัติของจักรวรรดิออตโตมานที่เป็นอิสลาม

การที่สหรัฐอเมริกาสามารถเป็นชาติประชาธิปไตยโดยรัฐธรรมนูญฉบับเดียวมาได้ 200 กว่าปีนับจากปี 1776 โดยไม่มีการล้มระบอบ ไม่มีการเปลี่ยนกลับไปเป็นเผด็จการ ไม่มีการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ชนชั้นนำ มีเพียงสงครามกลางเมืองครั้งเดียวที่เมื่อจบแล้วก็ยังสามารถสมานฉันท์ ฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้ สาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากการเชื่อในสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของมนุษย์ โดยมีความดีสูงสุดของพระเจ้าค้ำยันไว้ และความดีสูงสุดนั้นไม่เกี่ยวข้องกับว่าจะเป็นศาสนาใด

ปัจจุบันชาวอเมริกัน 70.2% นับถือศาสนาคริสต์ โดย 46% เป็นโปรเตสแตนท์ในนิกายต่างๆ และ 20% เป็นคาทอลิก โดย 92% ของชาวอเมริกันเชื่อในพระเจ้า (80%) หรือจิตวิญญาณสากล (12%)

และการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในภาครัฐ ตั้งแต่ระดับเมืองจนถึงประธานาธิบดี หรือสาบานตนเข้าเป็นพลเมืองอเมริกา แม้ไม่บังคับแต่ก็มักลงท้ายด้วยคำว่า

“So help me God.” – “โปรดช่วยเถิดพระเจ้าข้า”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save