สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
รถตู้รออยู่ที่ทางวิ่ง ประตูบานคู่เปิดทิ้งไว้ ทั้งสองคนขนาบข้างตัวฉัน
จับข้อศอกช่วยดันตัวฉันขึ้นไปในตอนนี้ ฉันไม่มีทางรู้เลยว่านี่จะเป็นการสิ้นสุดหรือการเริ่มต้นใหม่ ฉันได้มอบตัวเองให้ตกอยู่ในมือของคนแปลกหน้า เพราะไม่อาจทำอะไรอื่นได้
และด้วยเหตุนี้ฉันจึงก้าวขึ้นไปสู่ความมืดภายใน หรือไม่ก็เป็นความสว่าง
(เรื่องเล่าของสาวรับใช้ แปลโดย จุฑามาศ แอนเนียน,
สำนักพิมพ์ไลบรารี่ เฮาส์, 2018)
The Handmaid’s Tale ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1985 จบลงตรงนี้ ตัวละครหลักของเรื่องซึ่งเป็น ‘สาวรับใช้’ กระทำความผิดร้ายแรงในสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จ และกำลังถูกนำตัวไปที่ใดสักแห่งด้วยความหวังริบหรี่ นอกจากนี้ ‘บันทึกประวัติศาสตร์’ ท้ายเล่มยังบอกเราว่า กิเลียดได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ The Testaments ซึ่งเป็นภาคต่อของ The Handmaid’s Tale จัดขึ้นที่ National Theatre กรุงลอนดอน ค่ำวันที่ 10 กันยายน 2019 ความจริงต้องเล่าว่า ผู้เขียนได้เข้าชมการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ที่โรงภาพยนตร์โอเดียน สาขาไบรตัน
เมื่อมีข่าวว่า Margaret Atwood จะออกหนังสือเล่มใหม่ และจะมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ลอนดอน ผู้เขียนได้ออกปากชักชวนผู้ที่คิดว่าอาจสนใจไปร่วมงาน ระหว่างรอคำตอบอยู่นั้น ตั๋วก็ขายหมดเกลี้ยงภายในสองสัปดาห์ ทั้งงานเปิดตัวที่ร้าน Waterstones สาขา Piccadilly รวมถึงงานเสวนาที่โรงละครแห่งชาติ โชคยังดีที่งานครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดไปยังโรงภาพยนตร์ทั่วสหราชอาณาจักร ผู้เขียนจึงพอมีแต้มบุญสะสม ได้เข้าร่วมฟัง ดังที่กล่าว
นอกจากโรงภาพยนตร์ในสหราชอาณาจักรแล้ว แฟนหนังสือของแอตวูดยังสามารถเข้าชมการถ่ายทอดสดครั้งนี้ได้ในโรงภาพยนตร์ 1,500 แห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ นับได้ว่าเป็นงานเปิดตัวหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี และเป็นหนังสือที่มีคนตั้งตารอมากที่สุดและนานที่สุด หนังสือเริ่มวางขายหลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 9 กันยายน 2019 (คืนก่อนหน้าวันงาน) และมีคนเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อที่ร้าน Waterstones สาขา Piccadilly ในลอนดอน ซึ่งแอตวูดได้ปรากฏตัวและอ่านจากหนังสือเล่มใหม่ของเธอด้วย
ก่อนเริ่มงาน ในโรงภาพยนตร์ฉายภาพบรรยากาศในงาน เห็นภาพกลุ่มผู้เข้าร่วมงานที่มารอฟัง ดูจากสายตา เกินร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง และผู้เขียนต้องยอมรับจากภาพที่เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคน ‘มีอายุ’ มีการแสดงภาพหน้าปกหนังสือ The Handmaid’s Tale ที่แปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก ภาพแอตวูดขณะทำงาน และภาพของกลุ่มอาคารโรงละครแห่งชาติซึ่งประดับประดาด้วยไฟนีออนสีเขียว และภาพผู้หญิงที่อยู่หน้าปกหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็ปรากฎบนหน้าจอที่โรงละครแห่งชาติเช่นกัน
เมื่องานเริ่ม Ann Dowd นักแสดงที่รับบท ‘น้าลิเดีย’ ในเวอร์ชั่นทีวีซีรีส์ที่แพร่ภาพในปี 2017 ออกมาอ่านข้อความส่วนหนึ่งจาก The Testaments ตอนที่น้าลิเดียเล่าถึงสภาพของกิเลียด 15 ปีหลังจากเรื่องราวใน The Handmaid’s Tale จบลง
The Handmaid’s Tale ถูกจัดให้เป็นนิยายแนวดิสโทเปียลำดับต้นๆ ของโลก เทียบเทียมกับ 1984 และ Fahrenheit 451 ถ่ายทอดจากมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกเกณฑ์ให้เป็น ‘สาวรับใช้’ ที่ถูกเรียกว่า Offred (Of-Fred เป็นของเฟรด) เธอมีหน้าที่เป็นแม่พันธุ์ให้กับครอบครัวของ ‘ผู้บัญชาการ’ และภริยาที่ไม่มีบุตรในกิเลียด ซึ่งเป็นสังคมที่เผชิญกับวิกฤตสงครามระหว่างประเทศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
สาวรับใช้อย่างเธอถูกอบรมให้เชื่อมั่นในหน้าที่และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด โดยมีพวก ‘น้าๆ’ เป็นผู้ควบคุมและอบรม พวกเธอไม่มีอะไรเป็นของตัวเองแม้แต่ชื่อ เสรีภาพเป็นเรื่องไกลตัว พวกเธอถูกจับตามองทุกฝีก้าวจากทุกคนรอบตัว รวมทั้งเพื่อนร่วมเดินทางไปจ่ายตลาด ทุกคนอาจเป็นสายลับรายงานความประพฤติ พวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านหรือเขียน แสดงความคิดเห็น หรือคบหาสมาคมกับใคร ลูกสาวของออฟเฟรดที่เกิดก่อนยุคกิเลียด ถูกนำตัวไปมอบให้กับครอบครัวชนชั้นปกครองอีกครอบครัวหนึ่ง ส่วนสามีนั้นเชื่อว่าถูกฆ่าตายระหว่างหลบหนี ออฟเฟรดต้องมาเป็นสาวรับใช้เพราะเธอแต่งงานกับชายที่ผ่านการหย่าร้าง และเริ่มความสัมพันธ์กับเขาขณะที่เขายังมีภรรยาอยู่ก่อน
เรื่องนี้ผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรงในสังคมกิเลียด (เช่นเดียวกับการทำแท้ง การค้าประเวณี และการเป็นเลสเบียน) แต่เธอได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่สาวรับใช้ เพราะเธอมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถตั้งครรภ์ได้ หากเธอสามารถผลิตทายาทให้แก่ครอบครัวของผู้บัญชาการได้ เธอก็มีความหวังว่าจะได้รับอิสรภาพ
ภาพหญิงสาวในชุดแดงยาวถึงข้อเท้าและหมวกปีกกว้างสีขาว ซึ่งเป็นเครื่องแบบของสาวรับใช้ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเท่าเทียมและประท้วงการกดขี่ผู้หญิงทั่วโลก เช่น การประท้วงกฏหมายห้ามทำแท้งหรือคุมกำเนิด ซึ่งลิดรอนสิทธิเหนือเรือนร่างของผู้หญิง ในไอร์แลนด์และอาร์เจนติน่า รวมถึงการประท้วงการเยือนของโดนัลด์ ทรัมป์ และการบริหารประเทศของเขาในลอนดอน
มาร์กาเร็ต แอตวูด ผู้เขียน The Handmaid’s Tale ให้ความเห็นว่าชุดของสาวรับใช้เป็นภาพที่เด่นชัด และการปรากฏตัวและชุมนุมประท้วงโดยสันติของผู้สวมใส่ชุดแบบนี้ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปในสถานที่ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุมหรือกล่าวหาว่าสร้างความวุ่นวาย ไม่มีใครสามารถวิจารณ์ว่าแต่งกายไม่สุภาพหรือไม่เหมาะสมเพราะคลุมสรีระทุกสัดส่วน เป็นภาพที่ได้ผลมากเมื่อถ่ายทอดผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสื่อดิจิทัลอื่นๆ
The Testaments (ผู้เขียนขอให้ชื่อภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการว่า คำให้การ) เป็นภาคต่อของ The Handmaid’s Tale เล่าผ่านเสียงของผู้หญิงสามคน ได้แก่ น้าลิเดีย เด็กที่เติบโตในกิเลียด และเด็กที่เติบโตนอกกิเลียด เวลาดำเนินไปถึงช่วงกลางของประวัติศาสตร์กิเลียด หลายคนหลงลืมหรือเติบโตขึ้นโดยที่ไม่รู้จักชีวิตก่อนหน้านั้น น้าลิเดียกลายเป็นผู้มีอำนาจในระบอบกิเลียดเพราะเธอเป็นผู้ควบคุมเหล่าสาวรับใช้ มีสิทธิ์อ่านเขียนและใช้ห้องสมุด ทั้งยังกุมความลับของหลายคน
The Testaments เล่าถึงอดีตของเธอก่อนจะมาเป็นน้าลิเดียและความรู้สึกนึกคิดของเธอต่อระบอบกิเลียด เด็กสาวที่เป็นลูกของสาวรับใช้ที่เติบโตมาในครอบครัวของผู้บัญชาการ ได้รับฟังเทพนิยายเกี่ยวกับจุดกำเนิดของเธอ (‘แม่’ เล่าว่าช่วยเธอออกมาจากปราสาทที่แม่มดจับเด็กๆ ขังไว้) ถูกอบรมว่าหน้าที่ของเธอคือการได้แต่งงานกับชายที่ผู้ใหญ่เลือกไว้ให้และปฏิบัติหน้าที่ภรรยา เธอถูกพร่ำสอนมาโดยตลอดว่าผู้ชายทุกคนเป็นสัตว์หื่นกาม ดังนั้นจึงต้องปกปิดร่างกายทุกส่วน แม้ว่ารูปร่างหน้าตาไม่มีความสำคัญอะไรเลยเพราะไม่มีผลต่อการมีบุตร ส่วนเด็กสาวที่เติบโตขึ้นนอกกิเลียด มีความคิดและคำถามที่ต่างจากเด็กสาวในกิเลียดโดยสิ้นเชิง
มาร์กาเร็ต แอตวูด ปรากฏกายในเสื้อสีม่วงเทา คาดผ้าพันคอสีเขียวสองโทน ธีมเดียวกับหน้าปกหนังสือ แถมทาเล็บมือสีเขียวเปรี้ยวจี๊ด เธอเล่าว่าเริ่มเขียน The Handmaid’s Tale ในปี 1984 ขณะอาศัยอยู่ในเบอร์ลินตะวันตกซึ่งรายล้อมด้วยกำแพง โดยเริ่มเขียนด้วยปากกาบนกระดาษเพราะนั่นเป็นวิธีการถ่ายทอดความคิดจากสมองที่ดีที่สุด ก่อนพิมพ์ต้นฉบับด้วยพิมพ์ดีดซึ่งมีแป้นพิมพ์ภาษาเยอรมัน ซึ่งทำให้การทำงานขลุกขลักมาก จากนั้นเธอก็จะเขียนตัวหนังสือหยุกหยิกตามขอบกระดาษ โยงเส้นเพิ่มข้อความต่อด้านหลัง ปรับแก้จนพอใจแล้วก็ส่งต้นฉบับให้นักพิมพ์ดีดมืออาชีพพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่มีใครอ่านลายมือของเธอออกรวมทั้งตัวเธอเอง
The Handmaid’s Tale ถือกำเนิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น การแบ่งกั้นประเทศเยอรมันตะวันออก-ตะวันตก บรรยากาศของความเหลื่อมล้ำ ความหวาดกลัวและไม่สามารถเชื่อใจใครได้แม้แต่บุคคลใกล้ตัวที่สุด เป็นฉากสมจริงในชีวิตประจำวันสำหรับประชากรยุโรปตะวันออก
ในการเขียน The Handmaid’s Tale แอตวูดตั้งกฎข้อหนึ่งกับตัวเองว่า ทุกสิ่งที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง และกฎนั้นก็นำมาใช้กับ The Testaments เช่นกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือล้วนเกิดขึ้นแล้วที่ใดที่หนึ่งในโลกและมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ ดังที่กิเลียดกลายเป็น ‘บันทึกประวัติศาสตร์’ เมื่อสังคมหรือวัฒนธรรมหนึ่งล่มสลาย สังคมนั้นก็กลายเป็นหัวข้อการประชุมวิชาการ ธีมในสวนสนุก หรือรูปปั้นในพิพิธภัณฑ์และสถานที่ต่างๆ และเมื่อเกิดภัยพิบัติ เกิดสงคราม ข้าวยากหมากแพง คนกลุ่มแรกที่จะตกเป็นเหยื่อคือเด็กและผู้หญิง เนื่องจากคนช่วงชิงสิ่งของจากพวกเธอได้ง่าย หรือไม่พวกเธอก็กลายเป็นสิ่งที่โดนช่วงชิงเสียเอง ดังที่เราได้เห็นในการสู้รบระหว่างเผ่านับแต่โบราณกาลหรือในคัมภีร์ไบเบิล
เมื่อคนกลุ่มหนึ่งขึ้นครองอำนาจ สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำคือกำจัดหอกข้างแคร่หรือคู่แข่งที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด กิเลียดจึงออกกฎหมายสั่งห้ามศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก เหมือนกับที่กลุ่มโบลเชวิกกำจัดพวกเมนเชวิกให้พ้นทาง ฮิตเลอร์สลายกองกำลังพายุ (Sturmabteilung) ทันทีที่ได้อำนาจ แอตวูดได้กล่าวถึงหลายเหตุการณ์และหลายคนในประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นชื่อ และโยงว่าประวัติศาสตร์โลกดำเนินไปในแบบเดียวกัน
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนาซีลักพาตัวเด็กๆ เชื้อสายโปลหลายแสนคนและเลี้ยงดูพวกเขาให้เติบโตมาเป็นประชากรของไรช์ หรืออาณาจักรเยอรมัน รัฐบาลทหารในประเทศอาร์เจนตินาระหว่างปี 1976-1983 สังหารผู้ที่ขัดขืนและรับ (หรือจะเรียกว่าลักพาตัว) ลูกๆ ของพวกเขามาเลี้ยง เรื่อง ‘พ่อแม่ฉันฆ่าพ่อแม่ฉัน’ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการตั้งศาลเตี้ยจับคนแขวนคอ การฉีกเนื้อมนุษย์ออกเป็นชิ้นๆ การกำหนดเครื่องแต่งกายของคนแต่ละวรรณะและชนชั้น การบังคับให้สตรีอุ้มครรภ์และพรากเด็กที่เกิดไปจากพ่อแม่ที่แท้จริง การขโมยเด็กเพื่อให้ผู้มีอำนาจชั้นสูงอุปการะ คำสั่งห้ามอ่านและเขียนหนังสือ ลิดรอนสิทธิเหนือทรัพย์สินและเรือนร่าง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากจินตนาการวิจิตรพิสดารของนักเขียน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจริง แอตวูดย้ำว่าเธอไม่ได้แต่งเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเอง
งานเปิดตัวหนังสือปิดท้ายด้วยการอ่านบางส่วนจากหนังสือเล่มใหม่ของแอตวูด Sally Hawkins และ Lily James นักแสดงชาวอังกฤษ อ่านคำให้การจากน้ำเสียงของเด็กสาวสองคนที่เติบโตมาในและนอกกิเลียด Ann Dowd หรือน้าลิเดียกลับมาเยือนเวทีอีกครั้ง ก่อนเปิดหนังสือออกอ่าน เธอส่งสายตาทะลุทะลวง มองจ้องเด็กสาวสองคนที่อ่านบทของพวกเธอก่อนหน้านี้
แม้เนื้อหาในงานและหนังสือดูคร่ำเคร่ง แต่แอตวูดเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้เป็นระยะๆ ด้วยอารมณ์ขันหาตัวจับยากและการทิ้งช่วงระหว่างคำพูดและการทอดสายตาของเธอ
ตอนหนึ่ง Samira Ahmed ผู้ดำเนินรายการจาก BBC ถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรที่หนังสือของเธอถูกสอนตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เธอตอบว่าเธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าหนังสือของเธอถูกหยิบขึ้นมาพูดในลักษณะใด และบางทีนักเรียนก็เกลียดหนังสือเพราะถูกบังคับให้อ่าน ดังนั้นการที่ผลงานของนักเขียนคนหนึ่งกลายเป็นตำราเรียน ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจนัก
The Testaments เป็นนวนิยายเล่มที่ 17 ของมาร์กาเร็ต แอตวูด ก่อนหน้านี้ผลงานของเธอได้รับรางวัลมากมาย เช่น The Handmaid’s Tale ได้รับรางวัล Arthur C. Clarke Award ในปี 1987 และ The Blind Assassin ได้รับรางวัล Booker Prize ในปี 2000 ก่อนหน้านี้ผลงานของเธอถูกเสนอชื่อรับรางวัลนี้ถึง 6 ครั้ง ส่วน The Testaments ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 เล่มสุดท้าย (shortlist) ที่เข้าชิง Booker Prize ในปีนี้ ซึ่งจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 14 ตุลาคม 2019
ในแวดวงวรรณกรรมแปลในประเทศไทยนั้น มี The Handmaid’s Tale ฉบับแปลภาษาไทยโดยใช้ชื่อ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ แม้ว่านักอ่านทั่วโลกต้องเฝ้ารอ The Testaments เป็นเวลาถึง 34 ปี แต่กลุ่มผู้อ่านชาวไทยมั่นใจได้ว่าไม่ต้องรอนานขนาดนั้นที่จะได้อ่าน The Testaments ฉบับภาษาไทย