fbpx

ธนาคารสำคัญไฉน แล้วทำไมรัฐต้องอุ้มในยามวิกฤติ? คลายความสงสัยด้วยงานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล

ในยุคปัจจุบันมีน้อยคนที่จะเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร เรารับเงินเดือนผ่านบัญชี จับจ่ายใช้สอยผ่านระบบพร้อมเพย์หรือบัตรเครดิต และในบางจังหวะชีวิต เราก็ต้องเดินเข้าธนาคารเพื่อขอเงินกู้ก้อนใหญ่มาซื้อบ้านหรือถอยรถป้ายแดง ส่วนฝั่งฟากธุรกิจก็ต้องพึ่งพาบริการของธนาคารไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ชวนให้เราตั้งคำถามถึง ‘ความจำเป็น’ ของธนาคารในฐานะตัวกลางทางการเงินซึ่งให้บริการที่ดู ‘เสมือนว่า’ ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร คนจำนวนไม่น้อยมองว่าธนาคารทำงานไม่ต่างจากพ่อค้าคนกลางซึ่งหากตัดออกไปน่าจะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น คล่องตัวมากขึ้น และต้นทุนทางการเงินต่ำลง

เหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เริ่มขยับเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของธนาคาร บ้างปล่อยสินเชื่อ บ้างให้บริการระบบชำระเงิน บ้างเปิดทางให้ประชาชนปล่อยกู้และขอกู้ผ่านแพลตฟอร์ม บริษัทเหล่านี้ต่างโพนทะนาว่าตนเองคืออนาคต และสักวันหนึ่งเทคโนโลยีล้ำสมัยจะเข้ามาแทนที่ธนาคารแบบดั้งเดิม

แต่ความฝันดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นความจริงในเร็ววัน เพราะบริการของธนาคารไม่ได้เรียบง่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ

เพื่อตอบคำถามว่าธนาคารสำคัญอย่างไร และทำไมภาครัฐถึงต้องอุ้มธนาคารในห้วงยามวิกฤติ ผู้เขียนขอชวนไปอ่านสายธารงานวิจัยของ เบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐช่วงวิกฤติซับไพรม์ ดักลาส ไดมอนด์ (Douglas  Diamond) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และฟิลิป ดิบวิก (Philip Dybvig) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ในเซนต์หลุยส์ สามนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลเพื่อระลึกถึงอัลเฟรด โนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2022 นี้

ธนาคารนั้นสำคัญไฉน?

บทบาทของธนาคารคือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมเงินฝากจากประชาชนคนทั่วไปแล้วนำเงินก้อนนั้นไปให้กับผู้ที่ต้องการใช้เงิน

แม้บทบาทของธนาคารในระบบเศรษฐกิจจะแสนเรียบง่ายพอที่จะสรุปได้ในหนึ่งประโยค แต่ความจริงแล้วกลไกดังกล่าวห่างไกลจากคำว่าเรียบง่ายเนื่องจากต้องแก้โจทย์ยากคือความต้องการที่สวนทางกันระหว่างผู้ฝากเงินและผู้ขอสินเชื่อ ตัวอย่างเช่น เหล่าลูกหนี้อาจต้องการกู้เงินก้อนใหญ่ไปซื้อบ้านแล้วผ่อนนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สำหรับฝั่งผู้ฝาก แม้ว่าอยากได้ผลตอบแทนแต่ก็ยังต้องการสภาพคล่อง เพราะพวกเขายังต้องหวังพึ่งเงินก้อนนี้เมื่อเผชิญเหตุไม่คาดฝัน

หากไม่มีกลไกที่จะมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็เป็นไปไม่ได้ที่เหล่าลูกหนี้จะสามารถกู้เงินเพื่อซื้อบ้านแล้วผ่อนยาวๆ หรือบริษัทจะสามารถกู้เงินสำหรับเมกะโปรเจกต์ที่ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะคืนทุน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 1983 ของไดมอนด์และดิบวิกฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่าธนาคารคือคำตอบ แบบจำลองดังกล่าวสามารถอธิบายถึงวิธีการที่ธนาคารสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ฝากเงิน ในขณะที่ผู้กู้ก็ยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อระยะยาว นั่นคือธนาคารจะเป็นตัวกลางที่ระดมเงินทุนจากประชาชนจำนวนมาก ตราบใดที่ผู้ฝากเงินไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเวลาเดียวกันแล้วมาต่อคิวเข้าแถวเพื่อถอนเงินทั้งหมด ธนาคารก็ยังสามารถบริหารจัดการเงินสดและสินเชื่อได้

หากเปิดงบดุลของธนาคาร เราจะได้เห็นภาพกลไกอันน่าอัศจรรย์ใจ เพราะในฝั่งสินทรัพย์จะเต็มไปด้วยสินเชื่อที่มีระยะเวลาไถ่ถอนยาวนาน ในขณะที่ฝั่งหนี้สินกลับเป็นเงินฝากของประชาชนที่สามารถเดินมาถอนเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ นี่คือบทบาทสำคัญอันดับแรกของธนาคารที่แวดวงวิชาการเรียกว่า ‘การแปลงระยะเวลาครบกำหนด (maturity transformation)

อีกหนึ่งคุณูปการของแบบจำลองโดยไดมอนด์และดิบวิกคือการชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของสถาบันการเงินซึ่งสามารถพังทลายลงเพียงแค่เกิดข่าวลือที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ หากผู้ฝากเงินหมดความเชื่อมั่นต่อธนาคาร พวกเขาก็จะแห่ถอนเงิน (bank run) จนธนาคารขาดสภาพคล่องเนื่องจากสินทรัพย์ในมือมีแต่สินเชื่อระยะยาว เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ ธนาคารก็ต้องจำใจขายสินทรัพย์เหล่านั้นออกไปในราคาถูกเพื่อนำเงินมาคืนผู้ฝากตามสัญญา ผลขาดทุนอาจถึงขั้นทำให้ธนาคารล้มครืน ส่วนผู้กู้ก็ต้องแบกรับความเสียหายมูลค่ามหาศาลเพราะไม่มีเงินเพียงพอมาดำเนินการตามแผนระยะยาวดังที่ตั้งใจไว้

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองเสนอทางป้องกันปัญหาการแห่ถอนเงินด้วยการค้ำประกันเงินฝากโดยรัฐซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงิน แม้ว่าพวกเขาจะได้ยินข่าวลือว่าธนาคารเสี่ยงล้มละลาย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบไปถอนเงิน เพราะต่อให้ข่าวลือเป็นความจริง รัฐบาลก็จะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้อยู่ดี นโยบายดังกล่าวมีการบังคับใช้หลายประเทศรวมถึงไทย โดยในทางทฤษฎีจะแทบไม่มีโอกาสเลยที่รัฐบาลจะต้องควักกระเป๋าจ่ายจริงๆ

อีกบทบาทที่สำคัญของธนาคารคือการตรวจสอบและติดตามการใช้เงินของลูกหนี้ อย่าลืมว่าการปล่อยสินเชื่อทุกครั้งมีความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะบิดพลิ้ว ธนาคารจึงต้องมีกลไกกลั่นกรองลูกหนี้ตั้งแต่การประเมินความน่าเชื่อถือก่อนปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าของโครงการกรณีที่ปล่อยสินเชื่อระยะยาว การตรวจสอบดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้หรืออาจต้องใช้ต้นทุนสูงลิบหากขาดธนาคาร ที่สำคัญคือเหล่าผู้ฝากเงินยังไม่ต้องคอยจ้ำจี้จำไชตรวจสอบธนาคาร เพราะธนาคารก็มีแรงจูงใจให้คิดอย่างรอบคอบก่อนปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ก็จะสะท้อนอยู่ในผลประกอบการนั่นเอง

แบบจำลองของไดมอนด์และดิบวิกตอบคำถามอย่างชัดเจนว่าธนาคารสำคัญไฉน และเราในฐานะประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการที่มีธนาคารอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ส่วนคำถามที่ว่าทำไมรัฐต้องอุ้มธนาคารในยามวิกฤติสามารถหาคำตอบได้ในงานวิจัยชิ้นเอกของเบน เบอร์นันเก

ทำไมรัฐจึงต้องอุ้มธนาคารในยามวิกฤติ?

แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อเบอร์นันเกในฐานะประธานธนาคารกลางสมัยวิกฤติซับไพรม์ รวมถึงนโยบาย ‘การผ่อนคลายเชิงปริมาณ’ (Quantitative Easing – QE) ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงินเชิงทดลองที่พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติใหญ่ แต่รางวัลโนเบลในปีนี้มอบให้กับเบอร์นันเกโดยอ้างถึงผลงานสมัยที่เขายังเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) งานวิจัยชิ้นดังกล่าวว่าด้วยการวิเคราะห์สาเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1930s

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1929 แม้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะไม่สดใส แต่ก็ไม่ส่อเค้าว่าจะเกิดวิกฤติ เพียงแต่มีแนวโน้มขาลงเท่านั้น แต่ในปี 1930 สถานการณ์เริ่มลุกลามเป็นวิกฤติภาคธนาคาร จำนวนธนาคารพาณิชย์ลดลงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี แทบทั้งหมดล้มละลายเนื่องจากการแห่ถอนเงิน ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนสำคัญของธนาคารตามแบบจำลองของของไดมอนด์และดิบวิก

แรกเริ่มเดิมที นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายสาเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ว่าเกิดจาก ‘อุปทานเงินไม่เพียงพอ’ เพราะพิษเศรษฐกิจทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปิดตัวลง ในสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางสามารถคลี่คลายวิกฤติดังกล่าวได้โดยใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

งานวิจัยของเบอร์นันเกใกล้เคียงกับแนวคิดกระแสหลัก เพียงแต่มองกลับด้านกันโดยเสนอว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนานเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ทยอยปิดตัวลงต่างหาก!

เขารวบรวมข้อมูลในอดีตประกอบกับวิธีทางสถิติเพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ล้มละลายคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน

เบอร์นันเกอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อธนาคารล้มละลาย สิ่งที่สูญหายไปด้วยคือความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับเหล่าลูกหนี้ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ ‘ความรู้ความเข้าใจ’ ซึ่งจำเป็นต่อการที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้ดังกล่าวต้องสั่งสมเป็นระยะเวลานานและยากที่จะถ่ายโอนให้ธนาคารแห่งอื่น ธนาคารเปิดใหม่จึงไม่สามารถทดแทนธนาคารดั้งเดิมที่ล้มละลายลงได้ในระยะเวลาอันสั้น

หลังจากธนาคารจำนวนมากปิดตัวลง เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็เผชิญภาวะขาดแคลนสินเชื่อ ธนาคารที่ยังดำเนินการอยู่ก็ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อจำนวนมากเพราะกลัวประชาชนมาแห่ถอนเงินจนล้มละลาย ส่วนธนาคารเปิดใหม่ก็ยังไม่รู้จักลูกหนี้เพียงพอที่จะปล่อยกู้ก้อนใหญ่ เม็ดเงินมหาศาลจึงถูกแช่ทิ้งไว้อยู่ในธนาคารโดยไม่ได้แปลงสภาพเป็นสินเชื่อเพื่อลงทุนในโครงการผลตอบแทนสูงอย่างที่ควรจะเป็น เบอร์นันเกชี้ให้เห็นว่า กว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งก็ในวันที่รัฐเริ่มประกาศใช้มาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแห่ถอนเงินเฉกเช่นในช่วงวิกฤติ

คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าธนาคารคือเครื่องจักรที่ค่อนข้างเปราะบางแต่จำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องเข้ามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งในแง่การรักษาเสถียรภาพและความเสี่ยง เพราะหากธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งตัดสินใจผิดพลาดจนล้มละลาย ก็อาจลากเศรษฐกิจทั้งระบบล้มพังพาบไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม การประคบประหงมภาคธนาคารโดยรัฐอาจทำให้เกิดปัญหาจริยวิบัติ (moral hazard) โดยเหล่าธนาคารอาจตัดสินใจรับความเสี่ยงมากเกินกว่าที่ควรจะแสวงหาผลกำไร เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ถึงอย่างไรรัฐก็จะควักกระเป๋าเอาภาษีประชาชนมาจุนเจือในวันที่ฐานะทางการเงินง่อนแง่น ยังไม่นับตัวกลางทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเข้มงวดเฉกเช่นธนาคารซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติซับไพรม์

แม้ว่างานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามท่านจะยังไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ แต่อย่างน้อยการศึกษาเหล่านี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจบทบาทสำคัญและความเปราะบางของภาคธนาคารมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานในการออกแบบกฎเกณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติภาคการเงินในอนาคต   


เอกสารประกอบการเขียน

Three economists win the Nobel for their work on bank runs

Financial Intermediation and The Economy

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save