fbpx
การเมืองของการถอดถอนประธานาธิบดี กับการรักษาระบบประชาธิปไตย

การเมืองของการถอดถอนประธานาธิบดี กับการรักษาระบบประชาธิปไตย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

วันที่ 31 ตุลาคม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมาก ได้ทำการลงมติเรื่องการไต่สวนเพื่อการถอดถอนประธานาธิบดี (impeachment) หลังจากสภาผู้แทนราษฎรประกาศการเข้าสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน จากนั้นมาการเมืองอเมริกันก็เดินเข้าสู่วิถีของการต่อสู้ระหว่างสองพรรคใหญ่ และระหว่างสถาบันนิติบัญญัติกับบริหาร เป็นกรณีศึกษาอย่างดีสำหรับการศึกษาระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกันซึ่งเป็นระบบประธานาธิบดี

แทบทุกวันมีข่าวรายงานความคืบหน้าของการสอบสวนและไต่สวนพยานซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รู้เห็นเหตุการณ์และให้ความเห็นต่อพฤติการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องการใช้อิทธิพลไปกดดันประธานาธิบดียูเครนให้ทำการสอบสวนอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับลูกชายว่าได้กระทำการคอร์รัปชั่นอะไรบ้างในยูเครน บรรยากาศเต็มไปด้วยสีสันและการเชือดเฉือนกันผ่านการตอบโต้อย่างถึงลูกถึงคน โดยเฉพาะระหว่างทำเนียบขาวและประธานาธิบดีทรัมป์ ร่วมกับแกนนำพรรครีพับลิกันฝ่ายหนึ่ง กับแกนนำพรรคเดโมแครตฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนฯ มาโดยตลอด

เพื่อความเข้าใจในกระบวนการถอดถอน ผมจะเรียบเรียงว่าในการดำเนินการถอดถอนครั้งนี้ มีอะไรใหม่บ้างไหมจากการปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมา การเลือกหนทางในการไต่สวนเพื่อถอดถอนของพรรคเดโมแครตเป็นอย่างไร และทำไมถึงเลือกวิธีการดังกล่าว ไล่ไปถึงเรื่องที่ทุกคนอยากรู้คือ แล้วผลในการถอดถอนนี้จะออกมาอย่างไร นั่นคือทรัมป์จะรอดโดยไม่ถูกถอดถอน หรือจะร่วงด้วยการถูกมติของวุฒิสภายุติชีวิตของผู้นำสูงสุดแห่งรัฐ ไปจนถึงว่าบทสรุปของการต่อสู้ในการถอดถอนคืออะไร ทั้งหมดนั้นบอกเราว่าระบบประชาธิปไตยยังควรค่าแก่การยึดถือหรือไม่

เริ่มที่การถอดถอนประธานาธิบดีก่อนว่าคืออะไร รัฐธรรมนูญเขียนถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร กล่าวอย่างสั้นๆ กระบวนการถอดถอนคือการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาลและประเทศ แนวคิดเรื่องนี้มาจากความคิดของบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดการเมืองจากนักคิดฝ่ายมหาชนรัฐ และจากประสบการณ์ในการต่อต้านและต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษที่ทำการกดขี่ชาวอาณานิคมมากขึ้นเรื่อยๆ

กระแสความไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งทอม เพน หนึ่งในนักปลุกระดมให้ประกาศเอกราชจากอังกฤษนิยามว่า “รัฐบาลเกิดจากความชั่วร้ายของเรา” สะท้อนจิตสำนึกทางการเมืองของผู้คนในอาณานิคมอเมริกาได้เป็นอย่างดีว่าอำนาจกับคอร์รัปชั่นนั้นมักมาด้วยกัน ทางแก้แต่เนิ่นๆ คืออย่าให้ผู้มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งนานเกินไป แต่อีกฝ่ายที่มองความเป็นจริงก็เสนอว่า ถึงอย่างไรก็ต้องอยู่กับความจริงว่าธรรมชาติมนุษย์นั้นอ่อนแอและเสื่อมทรามง่าย จึงต้องหาทางทำระบบและรัฐบาลให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้ป้องปรามไม่ให้สิ่งเลวร้ายเกิดได้ง่าย

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ จึงมีบทบัญญัติสั้นๆ และไม่ลงรายละเอียดอะไรมากนักในการถอดถอนประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่รัฐ ไว้ในมาตรา 2 (อำนาจบริหาร) อนุมาตรา 4 ระบุว่า “ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และข้าราชการพลเรือนทุกคนของสหรัฐ จะต้องออกจากตำแหน่งหากถูกฟ้องขับจากตำแหน่งและถูกตัดสินว่ากระทำผิดฐานกบฏ รับสินบน หรือกระทำผิดร้ายแรงหรืออุกฉกรรจ์อื่นๆ” ส่วนการริเริ่มดำเนินการฟ้องร้องนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 1 (อำนาจนิติบัญญัติ) อนุมาตรา 2 ระบุว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานสภาและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสภาและให้มีอำนาจที่จะฟ้องขับจากตำแหน่งได้แต่เพียงผู้เดียว” เมื่อสภาผู้แทนฯ มีมติให้ดำเนินการฟ้องร้องเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแล้ว ให้ “วุฒิสภามีอำนาจพิจารณาคดีฟ้องขับจากตำแหน่งแต่เพียงผู้เดียว” เมื่อทำหน้าที่เช่นว่านี้ วุฒิสมาชิกต้องสาบานหรือปฏิญาณตน ถ้าพิจารณาตัวประธานาธิบดีสหรัฐ ให้ประธานศาลสูงสุดเป็นประธาน และบุคคลใดจะถูกตัดสินว่ากระทำผิดโดยคะแนนเสียงต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกที่มาประชุมไม่ได้ (มาตรา 1 อนุมาตรา 3)

สำหรับกรณีการดำเนินการเพื่อฟ้องร้องและดำเนินการถอดถอนทรัมป์ในครั้งนี้ มีความยากลำบากและแตกต่างจากสองครั้งก่อนพอสมควร ประการแรกคือบรรยากาศและความรู้สึกของคนอเมริกันขณะนี้ได้แตกแยกออกเป็นสองเสี้ยวอย่างชัดเจนและหนักหน่วง แต่ละฝ่ายมีพรรคการเมืองใหญ่หนุนหลังทั้งในระดับมลรัฐและระดับชาติ เส้นแบ่งนี้กินเลยไปถึงสื่อมวลชน สำนักข่าวและโซเชียลมีเดีย ไปถึงศาสนจักรและธุรกิจทั้งหลาย ประการที่สองคือผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็แบ่งออกเป็นฝ่ายสนับสนุนทรัมป์กับฝ่ายต่อต้านทรัมป์อย่างดุเดือด ประการที่สามคือ พฤติการณ์และการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและกฎเกณฑ์ธรรมเนียมต่างๆ ของทรัมป์นั้น ส่วนใหญ่มาจากวิธีการทำงานและจากท่วงทำนองของเขา ซึ่งมักออกสีเทาๆ หมิ่นเหม่ต่อกฎหมายแต่ไม่เห็นชัดๆ ว่าผิด

ทุกอย่างที่เขาทำสะท้อนประสบการณ์ระดับพระกาฬในวงการนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนขนาดใหญ่ ที่สร้างกำไรจากการใช้ช่องโหว่หรือจุดอ่อนของกฎหมายและความรับรู้ของประชาชน ที่อัศจรรย์ใจคือคนที่เป็นฐานเสียงและผู้สนับสนุนเขาก็รับรู้การปฏิบัติเหล่านี้ แต่ก็ยอมปิดตาข้างหนึ่ง เพื่อหวังจะได้ผลตอบแทนบางอย่างจากการที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

ที่ผมคิดไม่ถึงก็คือแม้แต่ประธานของกลุ่มอีแวงเจลิคอล (คริสเตียนสายอนุรักษนิยมขวาจัด) ยังทนกลืนน้ำลายเรื่องความลามกอนาจารของทรัมป์ที่กระทำต่อสตรีเพศว่า คุ้มค่ากับการที่ทำให้คนอเมริกันกลับมาฝักใฝ่นับถือในพระเจ้าแบบเดิมและต่อต้านพวกเสรีนิยม สตรีนิยม และ LGBTQ ทั้งหลาย รวมทั้งพวกสนับสนุนการทำแท้ง นี่คือการเมืองอกแตกของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทำให้คิดถึงวาทะยอดฮิตของประธานเหมาสมัยหนึ่งว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา”

ดังนั้นเมื่อสภาผู้แทนฯ ภายใต้การนำของแนนซี เพโลซี ประกาศดำเนินการถอดถอนทรัมป์ด้วยข้อหาว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ จากการที่ทรัมป์ใช้อำนาจของประธานาธิบดีไปบีบบังคับประธานาธิบดียูเครนให้ทำตามความต้องการของตน อันเป็นผลประโยชน์เฉพาะตัว ไม่ใช่ของรัฐและส่วนรวม ทรัมป์ก็ตอบโต้ด้วยการยอมรับตรงๆ ว่าได้พูดโทรศัพท์กับเซเล็นสกี้แห่งยูเครนจริง แต่เป็นการพูดคุยกันปกติและ “เรียบร้อย” ดียิ่ง ไม่มีปัญหาอะไร พอฝ่ายคณะกรรมาธิการไต่สวนเรียกพยานมาให้ปากคำ หลายคนที่เป็นอดีตเอกอัครรัฐทูตประจำยูเครน (มารี โยวาโนวิช) เอกอัครรัฐทูตประจำสหภาพยุโรป (อียู) เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศในยูเครน ไปถึงนายทหารที่ได้รับเหรียญกล้าหาญในสงครามปัจจุบันสังกัดสำนักงานความมั่นคงในทำเนียบขาว บรรดาพยานเหล่านี้ต่างให้การไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งให้รายละเอียดของการที่ทรัมป์และทีมงาน หาทางบีบด้วยการใช้เงินอุดหนุนทางการทหารแก่ยูเครน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นตัวประกัน มีการให้ชะลอหรือหยุดการจ่ายเงินนี้แก่รัฐบาลยูเครนด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่ายเดโมแครตมีกำลังใจและความมั่นใจมากขึ้นว่ากระบวนการถอดถอนทรัมป์มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก

แม้จะได้หลักฐานและพยานซึ่งน่าเชื่อถือทั้งนั้น แต่ก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวและเปลี่ยนใจสมาชิกพรรครีพับลิกันทั้งในสภาผู้แทนฯ และในวุฒิสภาให้มาสนับสนุนกระบวนการถอดถอนนี้ ในส่วนของประชาชนก็เช่นกัน ยังคงยืนหยัดและเคียงข้างประธานาธิบดีในดวงใจสีแดง (สีพรรครีพับลิกัน) ไม่เสื่อมคลาย

เหตุที่การเปิดโปงพฤติกรรมและคำพูดของทรัมป์ในข้อหาซึ่งเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทำให้สังคมยอมรับและเห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของพรรคเดโมแครตได้ยากว่ามีปัญหาถึงขนาดละเมิดรัฐธรรมนูญนั้น ออกจะนามธรรมและต้องใช้หลักเหตุผลและตรรกะในทางการเมืองระหว่างประเทศไม่น้อย ซึ่งสุดวิสัยที่ชาวบ้านชาวช่องจะพากันเห็นด้วยได้อย่างง่ายๆ ยิ่งทรัมป์ออกมารับและโอ้อวดทับไปอีกว่า ประธานาธิบดีที่ไหนเขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น นั่นคือการพูดหว่านล้อมให้ผู้นำประเทศอื่นเห็นด้วยกับจุดหมายของเขา

ฝ่ายเดโมแครตจึงต้องทำงานหนักขึ้น ด้วยการควานหาพยานและหลักฐานแวดล้อม มาชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์ได้กระทำไปนั้น ไม่ใช่การผลักดันนโยบายต่างประเทศทั่วไป หากแต่สิ่งที่เขาร้องขอเป็นการตอบแทน (Quid pro quo) นั้นเป็นการละเมิดอำนาจอันชอบธรรมของประธานาธิบดีแล้ว อันเป็นการนำไปสู่การใช้อำนาจที่ผิด และยังลามไปถึงการสั่งให้เอกอัครรัฐทูตประจำยูเครนเดินทางกลับสหรัฐฯ ด่วน โดยไม่มีเหตุผลใดๆ นอกจากไม่พอใจที่เธอไม่ตอบสนองความต้องการส่วนตัวเรื่องขุดคุ้ยเบื้องหลังของตระกูลไบเดน แต่ข้อมูลและความตื้นลึกหนาบางเหล่านี้อยู่ในการซักฟอกและให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการฝ่ายข่าวกรองและการต่างประเทศ ที่ทำหน้าที่ในการสอบสวนและรวบรวมหลักฐานสำหรับเล่นงานทรัมป์ เป็นการประชุมปิดเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนจากพรรครีพับลิกันที่ไม่ใช่สมาชิกของคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็เข้าไปฟังและซักฟอกอะไรไม่ได้

ข้อสรุปและรายงานโดยรวมจากการให้ปากคำมีเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ระดับชาติ เช่น นิวยอร์กไทมส์ และวอชิงตันโพสต์ ซึ่งชาวบ้านสามัญทั่วไปไม่ได้อ่านอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เองทำให้ฝ่ายสอบสวนของเดโมแครตตัดสินใจเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ ด้วยการขอมติในการดำเนินการการถอดถอนต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือจะเป็นการไต่สวนและการให้ปากคำที่เปิดเผยต่อสาธารณชน จะได้ไม่ต้องเป็นปากเสียงกับฝ่ายรีพับลิกันอีกต่อไปว่าการประชุมไต่สวนที่ทำกันมานั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ยุติธรรมต่อฝ่ายบริหาร เท่ากับปฏิเสธข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เดโมแครตได้มาอย่างยากลำบากไปอย่างไม่ไยดี

ในวันที่มีการลงมติว่าด้วยการถอดถอนอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นกระบวนการที่เปิดเผยนั้น เห็นได้ถึงความขัดแย้งอย่างขาวกับดำระหว่างสองพรรคใหญ่ เดโมแครตชนะไปด้วยเสียงเกือบหมด 232 เสียง มีไม่รับเพียง 2 เสียง (มิเนโซตา กับนิวเจอร์ซี) แต่ 20 กว่าคนที่มาจากเขตเลือกตั้งอ่อนไหวเพราะเสียงของทรัมป์หนาแน่น ก็ตัดสินใจรับมตินี้ อันนี้นับว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของพรรค แต่พอหันไปดูคะแนนเสียงฝ่ายรีพับลิกัน ปรากฏว่า 196 เสียงไม่รับมตินี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครแตกแถวแม้แต่คนเดียว ตรงนี้ถือว่ากระบวนการไต่สวนที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จดีนัก อันนี้เองที่ทำให้พรรคเดโมแครตต้องรีบเปลี่ยนเรือ ด้วยการทำให้กระบวนการไต่สวนและสอบสวนทั้งหมดเป็นกระบวนการที่พรรครีพับลิกันยอมรับและเข้าร่วมได้ จากนั้นจึงจะไปถึงการตัดสินใจทางการเมืองของแต่ละคนต่อไป

ในมติที่เพิ่งผ่านไปนี้ จะวางกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ อย่างละเอียดในการดำเนินการไต่สวน ที่สำคัญคือให้โอกาสแก่สมาชิกพรรครีพับลิกันซักถามและซักค้านพยานได้ แต่ก็ต้องให้กรรมการฝ่ายเดโมแครตเห็นชอบก่อนด้วย อันนี้เป็นการวางแผนล่วงหน้าในกรณีที่รีพับลิกันจะตีรวน ด้วยการหาทางซักฟอกและซักค้านอย่างไม่ตรงประเด็น แต่ต้องการทำให้ที่ประชุมไม่อาจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ฝ่ายร่างกฎเกณฑ์ของเดโมแครตจึงต้องมีติ่งไว้สำหรับใช้บังคับไม่ให้รีพับลิกันหาเรื่องได้ ทั้งหมดนี้หวังว่าจะทำให้กระบวนการไต่สวนนี้ชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ทั้งนี้เพื่อจะได้ปูทางไปสู่การบรรลุจุดหมายสูงสุดคือการลงมติให้ทำการถอดถอนทรัมป์ได้อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้คาดว่าคงจะได้เห็นภายในต้นปีหน้า หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นๆ เกิดขึ้นเสียก่อน หลังจากสภาผู้แทนฯ มีมติให้ทำการถอดถอนประธานาธิบดีแล้ว มติดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุนทำการพิจารณาความผิดของประธานาธิบดีต่อไป ฉากต่อไปของการถอดถอนในวุฒิสภาก็จะน่าดูไม่น้อยกว่าในสภาผู้แทนฯ เช่นกัน แต่คราวนี้กำลังทางการเมืองจะกลับกัน เพราะฝ่ายเสียงข้างมากเป็นรีพับลิกัน และหัวหน้าเสียงข้างมาก มิช แมคคอนแนล ก็หนุนหลังทรัมป์อย่างสุดจิตสุดใจมาแต่ต้น ภรรยาของมิชเลยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงในคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ไปด้วย เดาได้ว่าสมาชิกรีพับลิกันจะซักค้านและทำให้ข้อกล่าวหาของทรัมป์กลายเป็นเรื่องไม่มีน้ำหนักทางความมั่นคงอะไรไป ดังนั้นคะแนนเสียงคงออกมาแบบสภาผู้แทนฯ คือลงคะแนนตามพรรคอย่างเด็ดเดี่ยว นั่นคือมติไม่ถอดถอน ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ

คำถามคือ แล้วการที่พรรคเดโมแครตอุตส่าห์ลงแรงและสติปัญญาไปมากมาย ก็ไม่ได้อะไรเช่นนั้นหรือ กรณีนี้จะสรุปได้ไหมว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ก็ทำท่าว่าจะไร้น้ำยาเหมือนกับรัฐธรรมนูญสารขัณฑ์ประเทศใช่ไหม ระบบพรรคก็เหมือนระบบพวกและระบบอุปถัมภ์ในการเมืองการปกครองประเทศโลกที่สามทั้งหลายใช่ไหม (ทรัมป์ขู่สมาชิกพรรครีพับลิกันที่จะต้องลงเลือกตั้งปีหน้าว่าถ้าไม่โหวดให้แก จะไม่ให้เงินอุดหนุนในการรับเลือกตั้ง)

มีเรื่องเล่าที่ยังเล่ากันต่อๆ มา เมื่อตอนผมไปเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ก็ได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกและได้ยินมาถึงปัจจุบัน เล่ากันว่าวันที่สมัชชาร่างรัฐธรรมนูญมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ท่ามกลางการรอคอยและเฝ้าดูของประชาชนเมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อเบนยามิน แฟรงกลิน หนึ่งในบิดาและผู้ก่อตั้งสหรัฐฯ เดินออกมาจากห้องประชุม ก็มีกลุ่มคนเข้าไปถามแฟรงกลินว่า รัฐบาลแบบไหนที่พวกตัวแทนของเราได้ตกลงสร้างขึ้นมา คำตอบของแฟรงกลินคือ “สาธารณรัฐ ถ้าพวกคุณสามารถรักษามันไว้ได้” (what sort of government the delegates had created. His answer was: “A republic, if you can keep it.”)

ผมไม่รู้ว่าคำพูดดังกล่าวนี้ เบน แฟรงกลิน ได้เอ่ยออกมาเช่นนั้นจริงไหม เพราะคนร่วมสมัยไม่มีให้ตรวจสอบได้แล้ว แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกาก็ไม่สนใจ ข้อความนี้เลยกลายมาเป็นสัจธรรมของระบบปกครองสหรัฐฯ จากวันนั้นถึงวันนี้ว่า หากจะทำให้ระบบประชาธิปไตยในอเมริกาดำรงและมีประสิทธิภาพตามอุดมการณ์ตอนที่ร่างมันขึ้นมา ก็อยู่ที่มวลมหาประชาชนทั้งหลายว่าจะสามารถรักษามันไว้ได้ไหม เหมือนดังที่แฟรงกลินให้คำตอบเชิงท้าทายไว้ในวันแรกกำเนิดรัฐธรรมนูญ

แนนซี เพโลซี ยืนอยู่หน้าเวทีในสภาผู้แทนราษฎรวันที่ทำการลงมติเรื่องถอดถอนนี้ ปกติจะไม่ยืนกำกับเวทีแบบนี้ ข้างๆ เธอมีธงชาติสหรัฐฯ ที่มีคนนำมาให้ ทั้งที่ปกติไม่มีธงประดับหน้าเวที เพโลซีพูดถึงจุดหมายของการทำมติในเรื่องการถอดถอนให้เป็นระบบนี้ว่า จะดำเนินไปเพื่อรักษารัฐธรรมนูญ “ซึ่งเป็นต้นแบบของสาธารณรัฐของเราและไม่ใช่ระบบกษัตริย์ ดังนั้นสิ่งที่เป็นอันตรายขณะนี้คือประชาธิปไตยของเรา อะไรคือสิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่ คือการรักษาประชาธิปไตยของเราสำหรับประชาชน”

(And this Constitution is the blueprint for our republic and not a monarchy. So what is at stake is our democracy. What are we fighting for? Defending our democracy for the people.)

เดโมแครตหวังว่าการทำให้กระบวนการไต่สวนนี้เปิดเผยและเป็นธรรมตามกฎหมาย จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเสียงข้างมากได้มีส่วนร่วมในการรับฟังและตัดสินใจด้วยตัวเองว่าประธานาธิบดีได้ละเมิดอำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือหัวใจของประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ตัดสินใจเองและตกลงที่จะรักษามันไว้ต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save