fbpx
Immediacy: สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ที่หายไป)

Immediacy: สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (ที่หายไป)

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

Book vector created by macrovector – www.freepik.com

I

 

การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทำได้ทั้งใน ‘ปัญหาข้อเท็จจริง’ (questions of fact) และ ‘ปัญหาข้อกฎหมาย’ (questions of law) ในคดีอาญา ปัญหาข้อเท็จจริง คือ ปัญหาที่ต้องใช้พยานหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ส่วนปัญหาข้อกฎหมายคือปัญหาที่ว่าการกระทำแบบนั้นเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใด มาตราใด

ตัวอย่างเช่น คนร้ายใช้มีดแทงผู้อื่นตาย ปัญหาที่ว่าใครแทงใคร แทงกี่ครั้ง แผลอยู่ส่วนใดของร่างกาย ตายจากการแทงหรือตายจากเหตุอื่น ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องเอาพยานทั้งหลายมาสืบ ส่วนเมื่อปัญหาข้อเท็จจริงยุติชัดแล้ว ปัญหาที่ว่าคนร้ายจะต้องรับผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ซึ่งต้องรับโทษหนัก หรือรับผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 ซึ่งโทษเบากว่า เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอ่านกฎหมาย ตีความ และวินิจฉัยได้เอง

 

II

 

ในการตัดสินปัญหาข้อเท็จจริง มีหลักพื้นฐานหลักหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่า ‘the principle of immediacy’[1] ผมขอแปลเป็นไทยว่า ‘หลักผู้พิพากษาต้องสัมผัสพยาน’ โดยหลักการนี้ผู้พิพากษาที่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อเท็จจริงจะต้องเป็นผู้สืบพยาน เพื่อจะเห็นสีหน้า อากัปกริยาของพยานขณะเบิกความ เพื่อประกอบการชั่งน้ำหนักพยานแต่ละคน พยานจะพูดจริงหรือพูดเท็จ คนที่เห็นพยานพูดเท่านั้นที่จะบอกได้ ส่วนปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องใช้หลัก immediacy เพราะศาลที่ตัดสินปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องสืบพยาน เพียงเปิดตัวบทกฎหมายและตีความกฎหมายไป

หลักผู้พิพากษาต้องสัมผัสพยานได้รับการรับรองโดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป[2] ในฐานะเป็นสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง[3] ดังนั้น ผู้พิพากษาที่ไม่ได้นั่งฟังการสืบพยาน ไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีอาญาได้  ถือว่าเป็นการขัดต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) เรียกง่ายๆ ว่า หากผู้พิพากษาไม่ได้เห็นพยานแล้วมาตัดสินลงโทษจำเลยย่อมไม่เป็นธรรมกับจำเลยที่ถูกลงโทษ

ผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษาคดีอาญาจะต้องนั่งพิจารณารับฟังการสืบพยานจนจบการพิจารณา หากมีการเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา โดยหลักแล้วจะต้องมีการสืบพยานใหม่ โดยเฉพาะพยานปากสำคัญ[4] ในทางตรงข้าม หากผู้พิพากษาคนใดไม่ได้เป็นผู้นั่งพิจารณาสืบพยาน อ่านเพียงสำนวนหรือบันทึก (transcript) ของผู้พิพากษาคนก่อน ผู้พิพากษาคนนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาได้ โดยเฉพาะในกรณีลงโทษจำเลย เหตุผลของหลักดังกล่าว คือ ในคดีอาญา ลักษณะท่าทางของพยานและความน่าเชื่อถือของพยานมีผลอย่างยิ่งกับผลของคำพิพากษา[5] ผู้พิพากษาที่เห็นอากัปกริยาของพยานขณะเบิกความเท่านั้นที่อยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะให้น้ำหนักพยานแต่ละคน และบอกได้ว่าพยานที่เบิกความน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ

หลัก immediacy นำไปใช้กับการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาด้วย หมายถึง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาถ้าต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก็ต้องสัมผัสพยานหลักฐานด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน มีคดีหนึ่งเกิดขึ้นที่โรมาเนีย ชื่อคดี HANU v. ROMANIA ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปพิพากษาว่าศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาโรมาเนียละเมิดหลัก immediacy เพราะศาลอุทธรณ์โรมาเนียไม่ได้สืบพยาน ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจึงสั่งให้โรมาเนียชดใช้ค่าเสียหายให้กับจำเลย

 

III

 

รายละเอียดคดี HANU v. ROMANIA, 4 June 2013[6] มีดังนี้

นาย Hanu เป็นเจ้าหน้าที่ศาลที่ถูกกล่าวหาว่าได้เรียกและรับสินบนเพื่อแลกกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา โดยคนที่มาแจ้งความคือ M.M. และ G.A. ซึ่งเป็นคนที่อ้างว่าถูกนาย Hanu เรียกสินบน

อัยการฟ้องนาย Hanu เป็นจำเลยต่อศาลข้อหารับสินบน (bribery) และใช้อำนาจโดยมิชอบ (abuse of power) โดยมีพยานหลักฐานคือ คำกล่าวหาของ M.M. และ G.A. พยานบุคคลอื่น และบันทึกเหตุการณ์ของตำรวจในวันนัดหมายส่งมอบเงินสินบน

ศาลชั้นต้น (Constanţa County Court) ทำการสืบพยาน รับฟังพยานทุกปากจนจบ แล้วพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่อาจพิสูจน์ได้ว่านาย Hanu กระทำความผิด เพราะไม่มีพยานคนใดเห็นเหตุการณ์ว่านาย Hanu รับสินบน มีเพียงคำกล่าวโทษของผู้ที่อ้างว่านาย Hanu รับสินบน และพยานบุคคลที่มาเบิกความก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์แต่เป็นเพียงผู้รับฟังเรื่องเล่าจากคนอื่นมาอีกต่อหนึ่ง[7] นอกจากนี้พยานบุคคลบางคนยังเป็นญาติกับผู้ที่กล่าวหานาย Hanu อีกด้วย แม้จะมีเทปบันทึกเสียงเป็นพยานขณะที่มีการนัดหมายส่งมอบเงิน ก็ไม่มีช่วงใดเลยที่แสดงถึงการกระทำผิดของนาย Hanu

ต่อมาอัยการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ นาย Hanu ต่อสู้ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด ในชั้นศาลอุทธรณ์ของโรมาเนียไม่มีการสืบพยานใดๆ ศาลอุทธรณ์เพียงอนุญาตให้นาย Hanu มาแถลงด้วยวาจา ซึ่งนาย Hanu ได้แถลงว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์โรมาเนียอ่านสำนวนที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้แล้วพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษาว่านาย Hanu มีความผิดและลงโทษนาย Hanu จำคุก 3 ปี โดยให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่จะฟังได้แล้วว่านาย Hanu เป็นผู้กระทำความผิดฐานรับสินบนและใช้อำนาจโดยมิชอบ

นาย Hanu ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้สืบพยานและไม่ได้ฟังพยานหลักฐานด้วยตนเอง ไม่อาจลงโทษนาย Hanu ได้ อีกทั้งศาลอุทธรณ์ไม่ได้ฟังเทปบันทึกเสียงวันเกิดเหตุที่นาย Hanu พยายามยื่นเป็นหลักฐานต่อศาลอีกด้วย

ศาลฎีกาโรมาเนีย (Supreme Court of Justice) อ่านสำนวนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โดยไม่มีการเรียกพยานมาสืบเช่นกัน และพิพากษายกฎีกาของนาย Hanu (หมายถึงเห็นด้วยกับการที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษนาย Hanu) ด้วยเหตุผลว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดอย่างถูกต้องแล้วจึงฟังได้ว่านาย Hanu มีความผิดจริง

นาย Hanu ไม่พอใจคำพิพากษาศาลฎีกาโรมาเนียจึงไปฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป คราวนี้นาย Hanu กลายเป็นผู้ร้อง และรัฐบาลโรมาเนียกลายเป็นผู้ถูกร้องที่ต้องมาต่อสู้คดี นาย Hanu ยกประเด็นว่า “ศาลอุทธรณ์โรมาเนียไม่ได้สืบพยานเอง อ่านแต่สิ่งที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ ขัดกับหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์โรมาเนียควรที่จะแสดงบทบาทเชิงรุก (active) ในการหาความจริง แม้นาย Hanu ไม่ได้ขอให้ศาลอุทธรณ์สืบพยานก็ตาม เพราะศาลอุทธรณ์ควรสืบพยานใหม่ถ้าจะลงโทษนาย Hanu”

รัฐบาลโรมาเนีย (ซึ่งตอนนี้กลับมาเป็นคนถูกฟ้อง) ยกข้อต่อสู้ว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นได้สืบพยานและรับฟังพยานทั้งปวงครบถ้วนแล้วบันทึกไว้ในสำนวน ศาลอุทธรณ์ก็ได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดโดยอ่านคำเบิกความของพยานทั้งหมดในสำนวนที่ศาลชั้นต้นเขียนไว้โดยละเอียดแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลโรมาเนียโบ้ยกลับไปว่านาย Hanu เองต่างหากที่ไม่ได้ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์เรียกพยานมาสืบใหม่”

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวินิจฉัยให้นาย Hanu ชนะคดี โดยให้เหตุผลที่สรุปได้ว่า

1. ศาลอุทธรณ์โรมาเนียได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยที่ศาลอุทธรณ์โรมาเนียไม่ได้เห็นพยาน ศาลอุทธรณ์โรมาเนียต้องทำการสืบพยานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลอุทธรณ์โรมาเนียเป็นศาลแรกที่พิพากษาลงโทษนาย Hanu (เพราะศาลชั้นต้นเขายกฟ้อง)

2. ศาลฎีกาโรมาเนียควรส่งเรื่องกลับไปให้ศาลอุทธรณ์โรมาเนียสืบพยานอีกครั้งและพิพากษาใหม่โดยจะพิพากษาลงโทษหรือปล่อยตัวก็ได้ แต่ขอให้สืบพยานด้วยตัวเองก่อน ซึ่งกฎหมายโรมาเนียก็เปิดช่องให้ทำได้ แต่ศาลฎีกาโรมาเนียไม่ทำเช่นนั้น กลับอ่านเพียงสำนวนศาลชั้นต้นแล้วยืนยันสิ่งที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษนาย Hanu

3. การที่ศาลอุทธรณ์โรมาเนียไม่เปิดการสืบพยานรับฟังพยานหลักฐานอีกครั้ง และการที่ศาลฎีกาโรมาเนียไม่ย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์ทำการสืบพยานใหม่ เป็นการกระทบสิทธิการต่อสู้คดีของจำเลย เพราะการที่ศาลที่ตัดสินคดีได้เห็นท่าทางและความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลมีผลสำคัญต่อการตัดสินคดี

4. นาย Hanu ได้ให้ข้อมูลที่เพียงพอที่จะให้ศาลอุทธรณ์เปิดการสืบพยานใหม่ได้แล้ว แม้นาย Hanu ไม่ได้ร้องขอให้ศาลอุทธรณ์สืบพยานใหม่โดยตรงก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์โรมาเนียควรมีบทบาทเชิงรุกในการสั่งให้มีการสืบพยานใหม่เพื่อหาความจริง

5. วิธีพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาโรมาเนียไม่สอดคล้องกับหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ซึ่งเป็นการละเมิดอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ข้อ 6 §1 เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายให้นาย Hanu ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปสั่งให้โรมาเนียจ่ายค่าเสียหายให้นาย Hanu 3,000 ยูโร พร้อมกับค่าใช้จ่ายทางคดีอีก 180 ยูโร และให้นาย Hanu สามารถร้องขอให้ศาลโรมาเนียเปิดการพิจารณาพิพากษาคดีของตนใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

 

IV

 

กลับมาที่ประเทศไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในมาตรา 236 บัญญัติว่า “การนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” มาตรา 236 นี้ก็คือหลัก immediacy ที่ครั้งหนึ่งเคยมีค่าเป็นรัฐธรรมนูญของไทย น่าเสียดายที่หลัก immediacy ที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้หายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา รวมทั้งฉบับปัจจุบัน

นอกจากนี้หลัก immediacy ไม่ได้ถูกนำใช้ในประเทศไทยในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไทยไม่ได้สืบพยาน[8] การสืบพยานมีรอบเดียวที่ศาลชั้นต้น ศาลสูงไทยจึงพิพากษาคดีโดยอ่านสิ่งที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้แล้วพิพากษาทั้งข้อเท็จจริง[9]และข้อกฎหมาย แม้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเปิดให้ศาลสูงสืบพยานได้ก็ตาม[10]

ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมผ่านทางรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ท่านเสนอให้ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่ต้องทำการสืบพยาน (trial court) ผมฟังสิ่งที่ท่านอาจารย์คณิตพูดแล้วนึกถึงหลัก immediacy ซึ่งหายไปในประเทศไทย แต่ในยุโรปถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งในฐานะของสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial)

ทางออกของเรื่องนี้มีทางเลือกอยู่สามทาง คือ

ทางที่หนึ่ง ไม่ต้องสนใจหลัก immediacy ทำตามแนวปฏิบัติของไทยต่อไป

ทางที่สอง ให้ศาลอุทธรณ์ทำหน้าที่สืบพยาน แบบที่ท่านอาจารย์คณิตเสนอ โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลอุทธรณ์เป็นศาลแรกที่ลงโทษจำเลย[11]และมีประเด็นต่อสู้กันในเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานที่มีผลต่อการตัดสินความผิดของจำเลย ส่วนศาลฎีกาควรทำหน้าที่ตัดสินปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น แบบศาลฎีกาในหลายๆ ประเทศ

ทางที่สาม บันทึกการสืบพยานในศาลชั้นต้นไว้ด้วยภาพและเสียงเพื่อให้ศาลสูงมาเปิดดูการสืบพยานได้ ซึ่งในปัจจุบัน กฎหมายเปิดให้ทำได้แล้วในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 วรรค 4 แม้ทางที่สามนี้จะไม่ดีเท่ากับการที่ศาลอุทธรณ์เห็นพยานเอง แต่ก็น่าจะดีกว่าการตัดสินใจจากการอ่านสิ่งที่ศาลชั้นต้นเขียนไว้

การอภิปรายเรื่องหลัก immediacy ไม่ได้โต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าผู้พิพากษาศาลสูงมีประสบการณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานมากกว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เราจึงควรเชื่อประสบการณ์และการตัดสินใจของศาลสูง เพราะประเด็นในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าศาลสูงได้ฟังพยานด้วยตนเองหรือไม่ต่างหาก ดังเช่นในคดี HANU v. ROMANIA ก็ไม่ได้เถียงกันเลยว่าศาลสูงหรือศาลชั้นต้นมีประสบการณ์มากกว่ากัน

หากพยานสองข้างพูดขัดแย้งกันในเหตุการณ์เดียวกัน คงมีคนใดคนหนึ่งที่พูดโกหก และ “ถ้าเราจะต้องจับโกหกคน เราอยากจับโกหกตอนเขาพูด หรือ เราอยากจับที่ตัวอักษรที่มีคนบันทึกไว้ว่าเขาพูดว่าอย่างไร”

 

 


[1] European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31.12.2019, para. 232-237.

[2] European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31.12.2019, para. 232.

[3] ICCPR, Article 14.1 “All persons shall be equal before the courts and tribunals. In the determination of any criminal charge against him, or of his rights and obligations in a suit at law, everyone shall be entitled to a fair and public hearing by a competent, independent and impartial tribunal established by law…”

[4] P.K. v. Finland, The European Court of Human Rights (Fourth Section), 9 July 2002.

[5] European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31.12.2019, para. 232.

[6] Case of HANU v. ROMANIA, Application no. 10890/04.

[7] กฎหมายไทยเรียกพยานเหล่านี้ว่า ‘พยานบอกเล่า’ ซึ่งโดยหลักจะไม่รับฟัง แต่หากจะรับฟังก็จะมีน้ำหนักน้อย

[8] ภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบของศาลอุทธรณ์

[9] แม้มีบทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงบ้างในคดีที่โทษไม่สูงมากในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218, 219, 219 ทวิ

[10] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 203 “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน”

[11] หมายถึง ศาลชั้นต้นยกฟ้องปล่อยตัวจำเลย

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save