fbpx
หยามเหยียด

นิยายรักอันแตกร้าว IL DISPREZZO (หยามเหยียด)

เนิ่นนานหลายปีก่อนที่จะมีการแปลออกมาเป็นฉบับภาษาไทย ตอนนั้นผมรู้จักนิยายเรื่อง ‘หยามเหยียด’ ของอัลแบร์โต โมราเวีย (ในชื่อภาษาอังกฤษว่า A Ghost at Noon) ผ่านหนังฝรั่งเศสปี 1963 เรื่อง Contempt ของฌ็อง ลุค โกดารด์ ผู้กำกับระดับตำนานของโลกภาพยนตร์ ซึ่งมีผลงานมากมายและเต็มไปด้วยความพิสดารซับซ้อน ทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ จนยากแก่การสรุปนิยามสั้นๆ

Contempt เป็นงานมาสเตอร์พีซของโกดารด์และวงการหนังโลก รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นหนังในจำนวนไม่มากนักของเขาที่เข้าข่าย ‘ดูง่าย’

อย่างไรก็ตาม หนังดูง่ายของโกดารด์ก็ยังถือว่ายากอยู่นะครับ เมื่อเทียบกับผลงานของผู้กำกับอื่นๆ ทั่วไป ที่ใช้คำว่า ‘ง่าย’ ก็ด้วยว่ามีเค้าโครงเรื่องให้จับต้องได้ และไม่ได้ทอดทิ้งผู้ชมไปไกล ยังสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระที่หนังตั้งใจสื่อสารได้ควบคู่ไปกับการฝากการบ้านให้ครุ่นคิดต่อ

ผมดูหนังเรื่อง Contempt จบลงด้วยความประทับใจ ชอบวิธีการเล่าในลีลายียวนเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร เต็มไปด้วยการหักล้างเทคนิควิธีทางภาพยนตร์ตามขนบ การตอกย้ำกระตุ้นเตือนคนดูให้รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังดูหนัง (ตรงข้ามสวนทางกับหลักการพื้นฐานของหนังส่วนใหญ่ ซึ่งพยายามโน้มน้าวผู้ชมให้คล้อยตามเหตุการณ์ที่บอกเล่า กระทั่งลืมไปชั่วขณะว่ากำลังดูหนัง) และความรู้สึกหมองเศร้าเจ็บปวดโดยปราศจากความพยายามที่จะเร้าอารมณ์

สิ่งที่ค้างคาติดข้องในใจจากหนังก็ยังคงมีอยู่ นั่นคือความรู้สึกไม่เข้าใจตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเอกซึ่งมีพฤติกรรมเป็นปริศนาชวนฉงนอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง โดยปราศจากคำอธิบายให้ทราบถึงสาเหตุที่มาหรือเหตุผลเบื้องหลังการกระทำต่างๆ

คงเพราะเหตุนี้กระมัง ผมจึงอยากอ่านและเฝ้ารอฉบับแปลภาษาไทยของนิยายเรื่อง A Ghost at Noon มาเป็นเวลานาน ด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบเจอคำอธิบายหรือเบาะแสในการทำความเข้าใจเพิ่มเติมในส่วนที่หนังละเว้นไม่ได้กล่าวถึง

จนเมื่อมีการแปลฉบับภาษาไทยออกมาจริงๆ ใน พ.ศ. 2557 โดยใช้ชื่อ ‘หยามเหยียด’ (ความหมายตรงกับชื่อเดิมในภาษาอิตาลี และ Contempt ในภาษาอังกฤษ) ผมก็ลงมืออ่านโดยไม่ระแคะระคายใดๆ เลยว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ดัดแปลงเป็นหนังของโกดารด์

หลังจากอ่านจบไปแล้วหลายวัน นิยายเรื่องนี้ก็ยังคงป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ในความคิดของผมอย่างสลัดไม่หลุด จนในที่สุดผมเกิดเอะใจขึ้นมาว่า เนื้อเรื่องนั้นคุ้นเหมือนเคยล่วงรู้มาก่อน จึงลองค้นข้อมูลจนสิ้นสงสัยว่า ‘หยามเหยียด’ (Il Disprezzo) กับ A Ghost at Noon รวมถึงหนังเรื่อง Contempt (ผมระบุชื่อฝรั่งเศสคือ Le Mépris ไว้ด้วยนะครับ จะได้แลดูมีจำนวนเยอะๆ) ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน

ในบรรดาชื่อเรื่องทั้งหมด A Ghost at Noon มีความแตกต่างจากชื่ออื่นๆ (ซึ่งมีความหมายสอดคล้องตรงกัน) มิหนำซ้ำยังเป็นชื่อเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องหรือเฉียดใกล้กับเหตุการณ์เนื้อเรื่องอีกต่างหาก

เป็นชื่อเรื่องที่สร้างความสงสัยได้เกือบตลอดเวลาของการอ่านว่าทำไมจึงตั้งชื่อเช่นนี้ จนกระทั่งเหลืออีกไม่กี่หน้าก่อนจบ จึงค่อยปรากฏคำเฉลยให้เป็นที่กระจ่าง

พูดอย่างกว้างๆ และหลีกเลี่ยงไม่แตะต้องรายละเอียดเนื้อเรื่องบริเวณที่เป็นความลับ ชื่อ A Ghost at Noon มีความหมายเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ช่วงใกล้จบ ซึ่งมีความก้ำกึ่งปนกันระหว่างภาพหลอน ความฝัน หรือสิ่งที่ตัวละครริคคาร์โด โมลแตนี (พระเอกของเรื่อง) ปรารถนาอยากให้เป็นและเกิดขึ้นจริง

‘หยามเหยียด’ เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ผันแปรไปในทางร้ายระหว่างคู่สามีภรรยาริคคาร์โดกับเอมิเลีย จากเดิมเริ่มต้นเคยรักกันหวานชื่นดูดดื่ม กลายมาเป็นระหองระแหงร้าวฉานมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งท้ายสุดก็ข้ามเส้นไปไกลเกินกว่าจะย้อนกลับมาคืนดีกันได้อีก มิหนำซ้ำยังมุ่งสู่โศกนาฏกรรมที่สุดแสนจะเจ็บปวดรวดร้าว ตลอดเวลาเหล่านี้ริคคาร์โดพยายามดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้ความรักที่แตกสลายไปแล้ว หวังจะให้กลับมาดีต่อกันดังเดิม แต่ยิ่งแก้ไขมากเท่าไร ผลลัพธ์กลับตรงกันข้ามยิ่งเลวร้ายบานปลาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำล้วนผิดพลาดไปหมด

ริคคาร์โด โมลแตนีเป็นนักเขียนและปัญญาชนหนุ่มที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ใฝ่ฝันอยากเขียนบทละครที่ทรงคุณค่าในทางศิลปะ แต่ก็ต้องยังชีพด้วยการเขียนบทวิจารณ์หนังตามนิตยสาร เขาแต่งงานกับเอมิเลีย สาวสวยซึ่งมีพื้นเพจากครอบครัวฐานะยากจน เรียนน้อย และเคยทำงานเป็นแค่พนักงานพิมพ์ดีด ชีวิตสมรสในช่วง 2 ปีแรกเปี่ยมสุขแม้ขีวิตความเป็นอยู่จะตกสภาพ ‘กัดก้อนเกลือกิน’

ด้วยความรักและอยากเอาใจภรรยา ริคคาร์โดเชื่อว่าเธอโหยหาใฝ่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจซื้ออพาร์ตเมนต์ทั้งที่ฐานะการเงินยังไม่พร้อม มีแค่พอผ่อนชำระงวดแรก จึงจำต้องรับงานเขียนบทหนัง ซึ่งริคคาร์โดมีความรังเกียจทั้งตัวงานและเกลียดตนเองที่ฝืนทำงานเพื่อเงิน รู้สึกเสมือนทำตัวขายวิญญาณ ลึกๆ ในใจส่วนหนึ่งเขาโยนความผิดซัดทอดเธอว่าเป็นต้นเหตุ

พร้อมๆ กันนั้น เมื่อย้ายจากห้องเช่าซอมซ่อไปสู่อพาร์ตเมนต์ ท่าทีของเอมิเลียก็เริ่มเปลี่ยนไปในทางห่างเหิน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งเล็กๆ น้อยๆ ถี่บ่อยขึ้น จนกระทั่งสถานการณ์เลวร้ายสุดขีด หญิงสาวตัดสินใจทิ้งสามีกลับไปอยู่บ้านแม่ แต่ก็ไม่อาจทำได้ จำต้องกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับสามีต่อไปในสภาพบาดหมางร้าวลึก

ระหว่างการเขียนบทหนัง บัตติสตา ผู้อำนวยการสร้าง ไม่ได้ปิดบังท่าทีว่าเขาหมายปองเอมิเลีย และหมั่นเพียรสร้างโอกาสอยู่สองต่อสองกับเธอเสมอ ริคคาร์โดตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะแสดงความไม่พอใจ ปกป้องหวงแหนภรรยา ก็เกรงว่างานจะหลุดลอยไป ครั้นจะวางตัวนิ่งเฉย ก็ไม่อาจขจัดความรู้สึกหึงหวง (ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่ความแคลงใจ หวาดระแวง หงุดหงิด โกรธขึ้ง ริษยา สับสนลังเล)

ณ จุดที่ปัญหาทุกอย่างผูกมัดเป็นเงื่อนตายไร้ทางแก้ บัตติสตายื่นข้อเสนอให้สองสามีภรรยาเดินทางไปพักในวิลลาของเขาที่คาปรี เพื่อทำงานเขียนบทหนังเรื่องโอดิสซี

ริคคาร์โดตั้งความหวังที่มีโอกาสเป็นไปได้จริงเพียงน้อยนิดว่า การเปลี่ยนย้ายสถานที่ บรรยากาศสงบงามของธรรมชาติ อาจช่วยให้เอมิเลียปล่อยวางความบาดหมางชั่วขณะ มีเวลาทบทวนความรู้สึกของตนเอง และกลับมาคืนดีครองรักดังเดิม

แต่ในความเป็นจริง มันคือการเปลี่ยนฉาก ให้สมคล้อยกับเรื่องราวโศกนาฏกรรม

พล็อตและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน ‘หยามเหยียด’ เป็นเช่นเดียวกับนิยายว่าด้วยรักขมรักร้างทั่วๆ ไป แต่งานเขียนชิ้นนี้ก็มีความพิเศษและแตกต่างอยู่มาก ด้วยวิธีการเล่าเรื่องอันยอดเยี่ยมและความเป็นนักคิดผู้ลุ่มลึกของโมราเวียได้ยกระดับเรื่องราวไปไกลเกินกว่าการทะเลาะเบาะแว้งและไม่เข้าใจกันระหว่างคู่รัก ซึ่งยังคงมีอยู่ แต่เป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่ขั้นอื่นๆ อาทิ การสำรวจสภาพจิตใจอันสลับซับซ้อนของตัวละครอย่างลงลึกและสมจริง, การสะท้อนถึงสัมพันธภาพอันเปราะบางไม่มั่นคงของมนุษย์ พร้อมที่จะสั่นคลอนเมื่อเกิดเหตุปัจจัยเล็กน้อยหยุมหยิมจากภายนอกเข้ามากระทบแทรกแซง, ความขัดแย้งระหว่างวิถีชีวิต ความเชื่อ ทัศนคติในสังคมแบบเก่ากับความเจริญก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ซึ่งกำลังเข้ามาแทนที่, การเทียบเคียงเรื่องราวชีวิตรักของตัวละครกับมหากาพย์เรื่องโอดิสซีของโฮเมอร์ (พร้อมทั้งเสนอการตีความถึง 3 แบบ) และที่สำคัญคือ การสะสางคลี่คลายตนเองจากสภาพจิตใจที่ย่อยยับแตกสลาย เพื่อก้าวเดินใช้ชีวิตต่อไป ฯลฯ

มีคำโปรยก่อนเริ่มเรื่องกล่าวไว้ว่า “เราไม่อาจตัดสินความรู้สึกของใครได้จากความรู้สึกของเรา เราไม่อาจเข้าถึงใจของใครได้เท่ากับการเข้าถึงใจของเราเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักนิยามความหมายของ ‘ความรัก’ จากมุมมองของเราเสมอ”

เนื้อความข้างต้นเป็น keyword สำคัญ ทั้งในแง่ของการพิจารณาถึงเทคนิควิธีที่โมราเวียใช้ในนิยายเรื่องนี้ และการทำความเข้าใจแง่คิดเนื้อหา

โมราเวียเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของริคคาร์โด โมลแตนี ในท่วงทีเหมือนตัวละครกำลังเขียนคำสารภาพ หรือนึกทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดย้อนหลัง ผู้อ่านทราบตั้งแต่เริ่มเรื่องว่าความรักของเขากับภรรยาจบสิ้น ไปไม่รอด

เป็นเรื่องเล่าเข้าข่าย ‘ฉลาดหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นผ่านพ้นไปแล้ว’ แต่ตอนที่กำลังเกิด มองไม่เห็น ไม่ทันตระหนัก ไม่ได้ฉุกคิดถึงข้อผิดพลาดหรือผลเสียหายจากการกระทำนั้น

พูดอีกแบบ ตลอดทั่วทั้งนิยายคือการย้อนรอยกลับไปค้นหาว่า ข้อผิดพลาดของริคคาร์โด โมลแตนีอยู่ตรงไหน ผิดพลาดอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามหาคำตอบจากปริศนาที่ลึกลับมากสุด นั่นคืออะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เอมิเลียซึ่งเคยรักสามีชนิดสุดจิตสุดใจสิ้นรักไร้เยื่อใย ทำตัวเย็นชา ถึงขั้นแสดงความชิงชังรังเกียจ และดูถูกเหยียดหยามคนที่เธอเคยรักอย่างไม่ปิดบังอำพราง

ตรงนี้ทำให้ผมได้รับคำตอบที่เคยข้องใจจากการดูหนังเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความลึกลับคลุมเครือของตัวเอกฝ่ายหญิง ซึ่งไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเธอคิดอะไรอยู่ในใจ

ตัวนิยายไม่ได้อธิบายให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจต่อเอมิเลียดีขึ้นกว่าในหนังหรอกนะครับ เหมือนกันเป๊ะทุกประการ แต่วิธีเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของริคคาร์โด ซึ่งพยายามยิ่งยวดที่จะทำความเข้าใจภรรยาตนเอง และพบกับความล้มเหลว ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึง ‘ความเป็นไปไม่ได้’ และข้อจำกัดในการที่ใครสักคนจะสามารถอ่านและหยั่งรู้ถึงส่วนลึกในใจของ ‘คนอื่น’

กระทั่งตัวริคคาร์โดซึ่งทราบชัดว่าตนเองคิดอะไร รู้สึกอย่างไร อารมณ์ความรู้สึกของเขาในหลายวาระก็ยังเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน และมาเกิดความเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ต่อเมื่อย้อนคิดทบทวนในภายหลัง

ในด้านหนึ่ง ‘หยามเหยียด’ เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านไปแล้ว และแจกแจงให้เห็นปฏิกิริยาท่าทีของตัวละครริคคาร์โดขณะที่เหตุการณ์เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ แต่ในอีกด้าน มันก็เล่าถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของริคคาร์โดช่วงปัจจุบันขณะระหว่างเขียนบอกเล่าเรื่องราวหนหลัง จนเกิดเป็นการมองอดีตด้วยสายตาปัจจุบัน ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด (และความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น) อีกแบบหนึ่ง รวมเลยไปถึงการสันนิษฐานสร้างคำอธิบายให้แก่สิ่งที่ตนเองไม่รู้ นั่นคือสาเหตุที่เอมิเลียหมดรักและกลายเป็นรังเกียจเดียดฉันท์ในตัวเขา

ทั้งสองส่วนนี้ปรากฏเหลื่อมซ้อนปนกันอยู่ตลอดเวลานะครับ

วิธีการเล่าเช่นนี้ของโมราเวีย ส่งผลให้ ‘หยามเหยียด’ โดดเด่นมากในการถ่ายทอดแง่มุมละเอียดอ่อนซับซ้อนอย่างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึกในใจของมนุษย์ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย เต็มไปด้วยความลึกและสมจริง (ตรงนี้ผมเทียบเคียงกับประสบการณ์ในชีวิตจริงนะครับ พบว่ามีความพ้องพานตรงกันเยอะแยะมากมาย ไม่ใช่ตรงกันในแง่ของสถานการณ์ แต่เป็นความเหมือนด้านอารมณ์ความรู้สึก) จนนำไปสู่การเกิดความรู้สึกร่วมคล้อยตามกับเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว (ตลอดการอ่านนิยายเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงวลีที่ว่า ‘เฉือนหัวใจ’ นับครั้งไม่ถ้วน มันกรีดเฉือนบาดลึกปานนั้นทีเดียว)

ในท้ายที่สุด เมื่อเรื่องราวบอกเล่าจบลง ทั้งริคคาร์โดและผู้อ่านไม่ทราบหรอกนะครับว่า แท้จริงแล้วเอมิเลียชิงชังหยามเหยียดริคคาร์โดเพราะเหตุใด รอยร้าวของความสัมพันธ์เริ่มต้นเกิดขึ้นตรงไหน เราทราบเพียงแค่การกระทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวของริคคาร์โด เล็งเห็นถึงความอ่อนแอและข้อจำกัดของเขา พื้นนิสัยที่ตัวเขาเป็น การเรียนรู้ เติบโตทางความคิด และการสะสางคลี่คลายเงื่อนปมในใจของเขา

ผมคิดว่าพ้นจากนี้แล้ว เรื่องเล่าของริคคาร์โดยังมีความเป็นไปได้อยู่ลึกๆ ด้วยว่าเป็นทั้งการตำหนิติเตียนตนเองควบคู่กับความพยายามอธิบายแก้ต่างให้กับข้อบกพร่องของตนเองด้วยเช่นกัน

ส่วนมุมมองและการทำความเข้าใจเอมิเลีย ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นเพียงการคาดเดาสันนิษฐาน เป็นความพยายามค้นหาคำตอบ ซึ่งไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าคิดถูกหรือคิดผิด อย่างมากที่สุดคือการลำดับแจกแจงเหตุและผลนั้นมีน้ำหนักพอรับฟังได้หรือไม่ (ในแง่นี้ผมคิดว่าการพยายามทำความเข้าใจอดีตของริคคาร์โดฟังดูเข้าเค้าและมีความเป็นไปได้)

มองแบบถอยห่างไม่ผูกโยงกับคำบอกเล่าและอารมณ์เบื้องลึกของตัวละคร (บนเงื่อนไขว่าทุกอย่างที่เล่าผ่านมุมมองของริคคาร์โดเป็นจริงตามนั้นทุกประการ) ‘หยามเหยียด’ สะท้อนถึงเหตุปัจจัยภายนอกที่ส่งผลสะเทือนต่อตัวบุคคล ผู้ร้ายตัวจริงในเรื่องไม่ใช่บัสติสตา แต่เป็นอพาร์ตเมนต์และรถยนต์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีในวิถีชีวิตสมัยใหม่

บัสติสตาเป็นเพียงผลผลิตของค่านิยมทางสังคมดังกล่าว ตรงนี้เชื่อมโยงไปถึงการตีความเรื่องโอดิสซี ซึ่งบัตติสตาในฐานะผู้อำนวยการสร้าง มองเห็นเฉพาะแง่มุมที่ขายได้สร้างผลกำไรในทางธุรกิจ นั่นคือเต็มไปด้วยฉากโลดโผนน่าตื่นตา อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อย สารพัดสัตว์ประหลาด และตัดทิ้งทุกสิ่งที่มีแก่นสารในทางลึก ขณะที่ริคคาร์โดอยากให้บทหนังเรื่องนี้ดำเนินตามเรื่องเดิมของโฮเมอร์อย่างซื่อสัตย์เคร่งครัด นั่นคือการเผชิญวิบากกรรมและอุปสรรคสารพัดสารพันขณะรอนแรมยาวไกลเนิ่นนานกลับคืนสู่บ้านเกิด เพื่อหวนคืนสู่คนรักที่ยังคงรอคอยด้วยความภักดีมั่นคง (เช่นเดียวกับที่หวังอยากให้ความรักของเขากับเอมิเลียลงเอยด้วยดี)

ส่วนคนสุดท้ายคือ ผู้กำกับชาวเยอรมัน ตีความว่า โอดิสซีของเขาเป็นเรื่องของคู่รักที่มีปัญหาความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มต้น ชีวิตสมรสไร้สุข จนเป็นเหตุให้ยูลิสซิสตัดสินใจเข้าร่วมรบในสงครามกรุงทรอย เป็นข้ออ้างบังหน้าในการตีตัวออกห่างจากภรรยา และเมื่อสงครามจบลง ความล่าช้าในการคืนสู่เหย้านานนับสิบปีแท้จริงแล้วเป็นการประวิงเวลาเพราะไม่อยากกลับ การรอคอยสามีด้วยใจหนักแน่นมั่นคงของเพเนโลพีไม่ได้เป็นไปโดยความรัก แต่เป็นแค่ความซื่อสัตย์

ความสัมพันธ์ระหว่างริคคาร์โดกับเอมิเลียสอดคล้องตรงกันกับการตีความเรื่องโอดิสซีทั้งสามแบบ  ช่วงท้ายของนิยาย ริคคาร์โดได้แสดงให้เห็นถึงความพ้องพานตรงกันเหล่านี้ และเชื่อมโยงไปถึงอีกประเด็นหนึ่งคือทัศนคติที่แตกต่างกันระหว่างเขากับภรรยา ซึ่งเป็นมนุษย์คนละแบบสืบเนื่องจากพื้นเพชีวิตและสถานะชนชั้นที่แตกต่างกัน

พูดแบบเก็บใจความจากนิยายมาเล่าต่อเช่นนี้ฟังดูเป็นกลไกอยู่นะครับ แต่ในการอ่านตลอดทั่วทั้งเรื่อง มันเป็นชั้นเชิงทางศิลปะที่แนบเนียนและแยบยลเอามากๆ รวมทั้งฟังดูเป็นเหตุเป็นผลมีน้ำหนักมากในการอธิบายถึงการล่มสลายของความรัก

‘หยามเหยียด’ ไม่ใช่นิยายประโลมโลกย์รันทดเศร้าเคล้าน้ำตา แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ร้าวฉานที่สมจริงจนน่าอัศจรรย์ใจว่าเขียนได้อย่างไร ผมเดาว่า อัลแบร์โต โมราเวียน่าจะเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตทำนองเดียวกันหรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับริคคาร์โด

หากเป็นเช่นนั้นจริง ความน่าอัศจรรย์ใจต่อมาก็คือเขาเขียนมันออกมาได้อย่างไรโดยที่ยังสามารถทนทานความเจ็บปวดจากพิษรักระดับที่เอามีดมาแทงกันตรงๆ ยังจะทรมานน้อยกว่าเป็นไหนๆ

แค่เป็นคนอ่าน ผมก็ย่ำแย่อาการหนักแล้วนะครับ นิยายเรื่องนี้วิเศษร้ายกาจถึงปานนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save