พัฒนา ‘ไอดอล-อินฟลูฯ’ ให้รอด! ถอดบทเรียนความป็อปสู่ศาสตร์แห่ง personal branding กับ นลิน เพ็ชรอินทร์
“เราไม่ได้จะเดบิวต์ไอดอล มันคือการเรียนการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ และเราผลิตคนที่รู้กระบวนการในการสร้างและพัฒนาคนกลุ่มนี้ออกไป”
ตั้งแต่แรกเกิดเมื่อเปิดตัวในปี 2565 เอกวิชา ‘การจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์’ ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เรียกเสียงฮือฮาจากนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้พบเห็นผ่านข่าวสารตามหน้าสื่อได้ล้นหลาม เพราะนอกจากเป็นสาขาวิชาอันแปลกใหม่ ไม่มีในมหาวิทยาลัยอื่น คำว่า ‘ไอดอล’ และ ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ยังทำให้คนไพล่คิดไปว่าจุดประสงค์ของการเรียนการสอน คงเป็นการผลิตนักร้องหน้าใหม่ หรือไม่ก็นักรีวิวตัวท็อปเพื่อตอบรับกระแสมาแรงของที-ป็อป และการเติบโตของการตลาดออนไลน์เป็นแน่
แต่จากคำบอกเล่าผ่านประโยคข้างต้นของ ดร.นลิน เพ็ชรอินทร์ หัวหน้าเอกวิชาก็ช่วยยืนยันว่าความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด — ส่วนที่ตรงกับความเป็นจริงอยู่บ้าง คือผลงานของศิลปินไทยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรีน่าจะมีที่ทางขยับขยายไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น อีกทั้งโลกของคอนเทนต์แนะนำสินค้า บอกเล่าเก้าสิบเรื่องราวในชีวิตประจำวันก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ไม่น้อย (และยังไม่มีวี่แววจะสร่างซาลงแต่อย่างใด) นั่นเป็นเหตุผลที่หนักแน่นมากพอจะอธิบายว่าทำไมจึงมีเอกวิชานี้ถือกำเนิดขึ้นมา
ขณะเดียวกัน ส่วนที่ผิดไปจากการเน้นผลิตไอดอล หรืออินฟลูเอนเซอร์ คือศาสตร์ของที่นี่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ ‘การจัดการ’ และ ‘พัฒนา’ อาชีพทั้งสองแขนงดังกล่าว หมายความว่าแทนที่จะผลิตบัณฑิตไปสู่หน้ากล้อง เป้าหมายของการเรียนการสอนกลับเป็นการสร้างคนที่เข้าใจแก่นแท้ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ ‘ไอดอล’ หรือ ‘อินฟลูฯ’ คนหนึ่งประสบความสำเร็จยืนระยะในวงการได้อย่างยาวนาน และการจะส่งเสริมแวดวงดนตรีของไทยไปสู่ระดับสากลได้ต้องมีทักษะติดตัวอะไรบ้าง
ในยุคสมัยที่ผู้คนสามารถหยิบจับมือถือสักเครื่องมาทำคอนเทนต์ของตนเองได้ ในประเทศที่อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรียังมีขึ้นมีลง กระแสติดและดับ กระทั่งในวันที่อาชีพ ‘ศิลปิน’ ‘ไอดอล’ ‘อินฟลูฯ’ ยังดูไม่มั่นคง สำทับด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดีย การคลี่คลายหัวใจสำคัญของอาชีพในเทรนด์เหล่านี้เพื่อตกผลึกมาสู่ ‘ศาสตร์’ การเรียนรู้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย มันถูกท้าทายตั้งแต่ประเด็นการออกแบบหลักสูตรว่าแต่ละเนื้อหาวิชาถูกถอดรหัสออกมาอย่างไร จะปรับตัวตามกระแสได้ทันตลอดหรือไม่
ไปจนถึงความสงสัยใคร่รู้อันเรียบง่ายที่สุด อย่างเช่นศาสตร์ที่ว่านี้ จะ ‘อยู่รอด’ ไหม
จริงอยู่ที่เอกวิชานี้ซึ่งเปิดสอนมาได้เพียง 3 ปีอาจยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และเร็วเกินไปสำหรับการตัดสินว่ารอดหรือไม่ แต่ในโลกปัจจุบันที่ทุกศาสตร์การศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวไม่ทางใดทางหนึ่ง ก็น่าสนใจเหลือเกินว่าศาสตร์ที่เกิดจากเทรนด์สมัยใหม่จะดำรงตัวอย่างไร แก่นแกนของศาสตร์ที่เป็นหลักยึดสำคัญ ไม่มีวันแปรเปลี่ยนคืออะไร
101 ขอพาไปสำรวจดินแดนของศาสตร์ใหม่ ‘การจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์’ พร้อมหาคำตอบจากบทสนทนาร่วมกับ ดร.นลิน เพ็ชรอินทร์ ในซีรีส์ ‘ต้องรอด!’
‘การจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์’ เป็นสาขาที่เพิ่งเกิดใหม่ของคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้น ทำไมเอกวิชานี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา
ต้องเท้าความว่าเดิมทีคณะดุริยางค์มีอยู่ 2 หลักสูตร คือดุริยางคศาสตร์บัณฑิตกับศิลปศาสตร์บัณฑิต ฝั่งดุริยางคศาสตร์มี 3 สาขา คือการแสดง ดนตรีแจ๊ส และดนตรีเชิงพาณิชย์ ส่วนฝั่งศิลปศาสตร์มีสาขาเดียว คือตัวธุรกิจดนตรีและบันเทิง
ทีนี้ ช่วงประมาณ 2-3 ปีก่อนเกิดโควิด เราเห็นเทรนด์ว่าจำนวนเด็กที่เข้าเรียนมีน้อยลง จนใกล้ถึงจุดที่เรียกว่าเป็นวิกฤตของคณะ ซึ่งไม่ใช่แค่คณะเรา คณะสายศิลปะส่วนใหญ่ก็เจอปัญหาเดียวกัน ดุริยางคศิลป์ ศิลปากรเป็นคณะที่เลี้ยงตัวเอง คือไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากแผ่นดิน เราออกนอกระบบแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ การบริหารการเงินทั้งหมดจึงมาจากค่าเทอมเด็ก พอเราเริ่มเห็นตัวแดง ก็เห็นอนาคตว่ามันเริ่มไม่ดีแล้ว มาเจอโควิดเข้าไป ยิ่งเห็นชัดว่า สิ่งที่เราเคยกังวลว่า เอ๊ะ ทำไมเด็กเข้าเรียนดนตรีลดลงทุกปี เป็นเพราะอาชีพแรกที่กระทบที่สุดเมื่อเราต้องชัตดาวน์ทั้งโลกคืออาชีพเกี่ยวกับศิลปะ เราไม่เคยเห็นการปิดตัวของบรอดเวย์ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ละครบรอดเวย์หยุดเล่นหนึ่งปี และเราพบว่าอาชีพหรือวิธีการเรียนดนตรีแบบที่เราเคยเข้าใจ เคยยึดถือกันมาเริ่มสั่นคลอน
ในทางกลับกัน สิ่งที่เราเรียนรู้คือเทรนด์ที่ยังอยู่รอดกระทั่งในช่วงโควิดกลายเป็นอาชีพออนไลน์ ทั้งเรื่องการทําสตรีมมิง เรื่องตัวตนของคนคนหนึ่งที่สามารถสร้างแบรนด์ และขายของ นําเสนอผลงานต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ได้ นั่นคือตัว KOL หรือ Key Opinion Leader คนกลุ่มนี้แม้ ณ วันที่มีโควิดก็ยังมีงานเข้ามา
จริงๆ เรื่องการปรับหลักสูตร เราเริ่มพูดคุยกันตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว แต่เหมือนยังไม่มีตัวกระตุ้น พอเกิดโควิด มันเหมือนตัวทริกเกอร์ที่บอกเราว่าต้องทำแล้ว ประกอบกับว่าเรามีเวลาจากการเบรกทุกอย่าง มานั่งคุย นั่งคิด จนตัดสินใจกันว่าเราต้องปรับหลักสูตรใหญ่ ปี 65 ต้องได้ใช้ ตอนปรับหลักสูตรใหญ่ เราก็นำเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการข้างนอก คนใช้งานบัณฑิตเรา หรือฟีดแบกจากเด็ก ไม่ว่ายังเรียนอยู่หรือเด็กที่จบแล้ว มากองรวมกันว่าอะไรคือช่องว่าง ปัญหา และโอกาสที่เรายังไม่ได้ทำ
ทั้งหมดนำมาสู่การแตกแขนงสาขาให้ตรงจุด ตรงเป้ากับเด็กมากขึ้น โดยดุริยางค์จะแตกออกเป็น 6 เอก จากการแสดงเดิม แยกมาเป็นดนตรีคลาสสิก ดนตรีและสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเหล่าคอมโพสเซอร์ที่ต้องการทํางานสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานซาวนด์สเคป (soundscape) ดนตรีประกอบการแสดง ภาพยนตร์ ฯลฯ ส่วนดนตรีแจ๊สกับดนตรีเชิงพาณิชย์ยังคงอยู่ เพิ่มเอกละครเพลงขึ้นมา และเอกผู้ประกอบการดนตรีศึกษา (music education) ที่เขาไม่ได้อยากเป็นครูในระบบ แต่อยากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจดนตรี
ฝั่งศิลปศาสตร์ จะมีธุรกิจดนตรีและบันเทิงเหมือนเดิม กับตัวที่เกิดขึ้นมาใหม่ เป็นเอกที่เราเห็นช่องว่างว่ามี เด็กที่สนใจด้านดนตรี แต่ไม่ได้อยากเป็นนักเล่นดนตรี (performer) เขามีไอเดียด้านธุรกิจ และอยากสร้างตัวตน อยากทํา personal branding เลยกลายเป็นเอก ‘การจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์’ (Idol and Influencer Development and Management : IDM) ขึ้นมา ซึ่งก็ต่างจากเด็กธุรกิจดนตรีฯ ตรงที่อีกฝั่งทำ corporate branding เพื่อไปทํางานอยู่ในองค์กรใดๆ ขณะที่เด็ก IDM จะทำตัวเองให้กลายเป็นแบรนด์ เพื่อที่จะไปเป็นอะไรก็ได้ เป็นไอดอล ศิลปิน อินฟลูเอนเซอร์ หรือไปทำงานพัฒนาอยู่ในค่ายเพลง
หลังการปรับหลักสูตรใหญ่ 2565 ทุกเอกรวมถึงดุริยางค์ จะถูกบูรณาการวิธีคิดเรื่องธุรกิจเข้าไปทั้งหมด เดิมทีดุริยางค์เราจะเล่นดนตรีอย่างเดียว เล่น เล่น เล่น เล่นให้เก่งเข้าไว้ แต่ถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าต่อให้เล่นเก่ง แต่ไม่มีคนฟัง ก็ไม่รู้จะขายใคร นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทําไมเด็กเล่นดนตรีถึงลดลงเรื่อยๆ เพราะเราไม่ได้สอนให้เขาคิดเรื่องการขายของเลย เราไม่ได้บอกว่าเขาจะต้องทําทุกอย่างให้เป็นการตลาด เรายังคงอยากได้ pure art ในโรงเรียนดนตรี ในคณะดนตรี อย่างดนตรีคลาสสิกก็ไม่ได้ตั้งเป้าเพื่อขาย แต่อย่างน้อยๆ เด็กต้องมีไอเดียในการรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาคือใคร เขากำลังเล่นให้ใครฟัง กลุ่มเป้าหมายของเขาอยู่ที่ไหน เขาต้องปรับตัวให้ได้เพื่ออยู่ให้รอด เพราะเขาเห็นผลมาแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ตอนโควิด ดังนั้น เราจึงต้องเติมวิชาให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ สร้างตัวเองเพิ่มขึ้นมาด้วย
ผลตอบรับจากผู้เรียนหรือสังคมต่อเอกวิชานี้เป็นอย่างไร เข้าใจว่าช่วงที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ๆ มีแต่คนมองว่าคณะนี้กำลังจะสร้างไอดอล
ปี 65 เปิดมา เรามีเวลาสื่อสารสั้นมาก เพราะช่วงแรกยังติดกระบวนการขออนุมัติหลักสูตร เราไม่กล้าพูดอะไรก่อนจะได้รับการอนุมัติจากสภาว่าเราสามารถสร้างหลักสูตรนี้ได้ ฉะนั้นเราเหลือเวลาหลังจากอนุมัติหลักสูตรและโปรโมตในปีแรกประมาณ 2-3 เดือน โชคดีที่มีหลายสื่อสนใจขอเข้าสัมภาษณ์ แต่บังเอิญว่าเมสเสจแรกที่สื่อสารออกไป เขาก็สื่อสารในแง่ว่าดุริยางค์ ศิลปากรจะเดบิวต์ไอดอล เด็กก็แห่กันมาว่า อุ๊ย อยากเป็นไอดอล เราก็แบบ ไม่ใช่ เราไม่ได้จะเดบิวต์ไอดอล มันคือการเรียนการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตไอดอลหรืออินฟลูฯ ออกไป แต่เราผลิตคนที่รู้กระบวนการในการสร้างและพัฒนาคนกลุ่มนี้ออกไป
ถามว่าปีแรกประสบความสำเร็จไหมในแง่ที่ว่าเรามีเวลาไม่กี่เดือนในการทำให้เด็กรับรู้ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะปีแรกมีเด็กมาสมัครประมาณ 100 คน แล้วเรารับมา 50 คือครึ่งๆ จากที่สมัคร ทีนี้ เราก็พอเห็นจุดอ่อนว่าเด็กที่มาสมัครหรือแม้แต่เด็กเข้าเรียนปีหนึ่งแล้ว ยังเข้าใจว่าเราจะเดบิวต์ไอดอลอยู่ เลยเป็นโจทย์ว่าเราต้องทำยังไงให้แบรนด์ของเอกชัดขึ้น เราก็สื่อสารออกมาเรื่อยๆ
ข้อดีคือธรรมชาติเด็กที่เข้ามาเรียนกับเราเป็นเด็กช่างพูด ช่างเล่า ช่างถ่าย ช่างนำเสนอ เราเลยเหมือนมีฟรีพีอาร์ มีคอนเทนต์จากตัวเด็กเอง และมี peer to peer คือเด็กคุยกับเด็ก น้องๆ เห็นพี่ถ่ายกิจกรรมลงใน TikTok ก็สนใจ เม้นถามกัน เป็นปากเป็นเสียงให้เราได้อธิบายเพิ่มขึ้น พอมาปีที่สอง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จขึ้นไปอีก มีเด็กมาสมัคร 500 กว่าคน เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จนปีล่าสุดมีคนสมัครเกือบพันคน โดยเราจะรับเฉลี่ยที่ 70 คน
เวลาคัดเลือกคนเข้ามาเรียนในเอกไอดอลฯ อาจารย์มองหาอะไรในตัวผู้สมัครบ้าง
อันดับแรกเลยคือเราหาแอตติจูด เอกนี้ส่วนมากเรารับเด็กจากรอบยื่นพอร์ตโฟลิโอ แต่ในทุกรอบ เด็กต้องส่งพอร์ตพร้อมคลิปแนะนำตัวให้เราดู ซึ่งปกติเราจะคัดจากพอร์ตแนะนำตัว แล้วเรียกสัมภาษณ์ ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กเราเห็นตัวตนของเขาจากพอร์ตแล้ว เราตั้งใจรับเขาเข้ามา อีกครึ่งเป็นเด็กที่เราสงสัยว่าเขาน่าจะมีอะไรมากกว่าพอร์ตที่ส่งเข้ามา เราอยากดูตัวจริง อยากรู้ว่าตรงปกไหม
เพราะฉะนั้น เด็กครึ่งหนึ่งจึงต้องมาออดิชันออนไซต์ที่ไม่ได้การันตีว่าจะติดแน่นอน วันออดิชัน เราจะเจอหน้ากัน ถามตอบกัน ดูแอตติจูด ดูความรู้รอบตัว ดูคาแรกเตอร์ แล้วก็ดูสกิลของเขา ซึ่งเรื่องสกิลเราเห็นประมาณนึงแล้วจากคลิปแนะนำตัวกับพอร์ต ว่าเด็กคนนี้เป็นสายเต้น เด็กคนนี้สายร้อง เด็กคนนี้สายอินฟลูฯ แต่หน้างาน เราจะเห็นไหวพริบปฏิภาณ ความรู้รอบตัว แล้วก็แอตติจูดล้วนๆ เลยที่จะทําให้เขาเบียดคนอื่นเข้ามาได้หรือไม่ได้
ถ้าเป็นคนที่ร้องเล่นเต้นไม่เป็นเลย มีโอกาสสอบติดบ้างไหม
มี เพราะมีเด็กจํานวนหนึ่งเลยที่ร้องไม่เป็น เต้นไม่เป็นติดเข้ามา นึกภาพอินฟลูฯ หลายคนที่ร้องไม่ได้ เต้นไม่ได้ แต่เราชอบดูมากเลย มันสนุกอะ (หัวเราะ) มันมีเสน่ห์อะไรบางอย่างของเขาอยู่ ซึ่งไม่ใช่ว่าตลกอย่างเดียวก็ได้นะ เราดูอย่างอื่นด้วย เช่น พูดรู้เรื่องไหม บางคนเต้นได้อย่างเดียว ตลกอย่างเดียว แต่พูดจาไม่รู้เรื่องเลย ก็ไม่ได้ หรือพูดจารู้เรื่อง เก่งไปหมดทุกอย่าง แต่พอให้ร้องให้เต้น ใจไม่ได้ ไม่เอา ไม่ยอมทํา ขอเพลงนั้นเพลงนี้ ก็ยืนนิ่ง เรื่องทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยใจต้องสู้นะ เพราะมันคือการเอาตัวรอด คือคาร์แรกเตอร์ที่คุณต้องอยู่ให้ได้ในที่นี้
อีกอย่างคือเด็กมักถามว่าหนูเต้นไม่ได้ ร้องไม่ได้ แถมไม่สวยด้วยค่ะครู หนูอ้วนมาก เป็นอินฟลูฯ ไม่น่าได้ หนูจะติดไหม ก็อยากบอกว่าเด็กที่นี่คาร์แรกเตอร์นำมาก่อนค่ะ ไม่จำเป็นต้องสวยตามสมัยนิยมหรือตามแบบไหน ถ้ารู้ว่ามาเพื่อทําอะไรก็ติด อย่างเด็กบางคนชัดเจนเลยว่าหนูไม่ได้อยากอยู่ข้างหน้า หนูอยากเป็นครีเอเตอร์อยู่ข้างหลัง หนูมีความสามารถ หนึ่ง สอง สาม สี่ เด็กคนนี้เขารู้ว่าเขามาที่นี่เพื่ออะไร แบบนี้เราจะรับ กลับกัน เด็กบางคนมาแล้วทำให้เราสงสัยว่าเข้ามาทำอะไรที่นี่วะ (กระซิบ) ตัวเขายังไม่ชัวร์เลยว่าเขามาทำอะไร เราก็อยากให้เขาตกผลึกให้เสร็จก่อน
ยกตัวอย่างเด็กบางคนสมัครมา 4 รอบ เพิ่งได้รอบที่ 4 ก็มี เพราะรอบแรกเหมือนมาโดยไม่เป็นตัวของตัวเอง มีพี่บรีฟว่ามาแล้วต้องดีด ต้องสนุกเท่านั้น พอเราเห็นแล้วก็แบบ (ยิ้ม) คือเราแก่พอที่จะเห็นอะไรมามากพอจะรู้ว่าอันนี้ไม่จริง ก็แบบน่าสนใจ แต่ไว้ก่อนนะ รอบสองมา เป็นอีกแบบหนึ่ง ก็ยังไม่ได้ เราก็ฟีดแบกเขาว่าลองเป็นตัวของตัวเองดู กลับมาอีกรอบ เขามาด้วยธรรมชาติของเขา พอถามว่ามองเห็นตัวเองตอนเรียนจบ 4 ปีเป็นอะไร เขามาด้วยภาพที่ชัดเจนและเหมาะกับสิ่งที่เขาเป็น สุดท้ายก็ติด มี 2-3 เคสที่เป็นแบบนี้
การจะเลือกเด็กเข้ามาจึงไม่ใช่แค่เรื่องสกิล สกิลเป็นเรื่องที่พัฒนาได้ สร้างได้ประมาณหนึ่ง แต่เรื่องคาร์แรกเตอร์ ตัวตน ไหวพริบปฏิภาณ และแอตติจูดที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เขาอยู่รอดมากกว่า
ในโลกที่หลายคนเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์ม สร้างคอนเทนต์ และอาจกลายเป็น ไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์ด้วยตัวเองได้ง่ายๆ เหตุใดอาจารย์จึงมองว่าควรจัดการศึกษาเอกวิชานี้
คำถามนี้เราก็เจอบ่อย อยากถามกลับเหมือนกันว่าทำไมโรงเรียนสอนร้องเพลงถึงมีคนไปเรียน ถ้าเราทำได้เองโดยไม่ต้องเรียน เด็กเดี๋ยวนี้เขาเก่ง บางคนเล่น TikTok ทำคอนเทนต์ได้ตั้งแต่ป.2 ป.3 แต่การมาอยู่ในมหาวิทยาลัยให้อะไรมากกว่าการทำด้วยตัวเองหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถ้ามองเผินๆ เอกของเราอาจจะดูเหมือนแค่มาเรียนมาร้องมาเต้นมาแอคติ้ง แต่หากไปดูในรายวิชาจริงๆ มันมีมากกว่านั้น
เราตั้งหลักสูตรไว้ 3 ก้อน เป็นสามเสาหลักของเอก ก้อนแรกคือโมเดลธุรกิจทั้งหมด รายวิชาก้อนนี้จะไม่ต่างอะไรกับเด็กที่เรียน MBA หรือเรียนการจัดการธุรกิจ เด็กต้องรู้เรื่องแบรนด์ดิง รู้เรื่องเทรนด์ เรียนพฤติกรรมผู้บริโภค (consumer behavior) เรียนการเขียนโครงการ การขอสปอนเซอร์ชิป ฯลฯ มันคือ business school รูปแบบหนึ่งที่เขาต้องรู้ เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตของตัวเอง อย่างที่บอกว่าเอก IDM คือการเรียนทำ personal branding แปลว่าเขาเป็นนายตัวเอง การจะเป็นนายตัวเองใช้สกิลอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องรู้เรื่องการจัดการและธุรกิจ เพื่อให้สามารถต่อยอดสิ่งที่เขาทําอยู่ได้ดีขึ้นและจัดการได้ดีขึ้น
ก้อนที่สองคือสกิลที่จําเป็นต่อการอยู่ในเทรนด์ อยู่ในตลาดนี้ ร้อง เต้น แอคติ้ง เป็นตัวที่ขาดไม่ได้ บางคนอาจตั้งคำถามว่าไม่ได้เป็นนักร้อง ทำไมหนูต้องร้องเพลง ทําไมหนูต้องเต้น ทําไมหนูต้องแอคติ้ง หนูเป็นอินฟลูฯ นะ เพราะสามสิ่งนี้คือเบสิกที่ทําให้คนมีเสน่ห์ ถ้าเราไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือความสามารถพิเศษ (talent) แต่เป็นทักษะทางสังคม (social skill) รูปแบบหนึ่ง สังเกตว่าถ้าเรามีเพื่อนคนไหนเล่นดนตรีได้ เวลาไปที่ไหน คนจะเอนจอย จะรู้สึกอยากชวนคนนี้ไปด้วย ดีจัง มีคนเล่นกีตาร์ให้ ทุกคนนึกถึงเขาจะเบลนดิงตัวเองเข้ากับวงสังคมได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีสกิลอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น จิตวิทยาสำหรับจัดการตัวเองและจัดการแฟนเบส หรือคนที่เราต้องติดต่อด้วย เพราะเมื่อเราทำ personal branding หลายๆ ครั้งเราต้องติดต่อหรือต้องเจอปัญหาต่างๆ โดยตรง ไม่ว่า social bully หรือคอมเมนต์เชิงลบ เราต้องเรียนรู้การจัดการตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
ต่อมาเป็นตัว Risk management หรือการจัดการรับมือแฟนคลับ แปลเป็นภาษาไทยดูแรงนะ แต่เขาบอกให้แปลแบบนี้ (หัวเราะเบาๆ) มันคือการคํานวณว่าการกระทำของเราก่อให้เกิดผลอะไรได้บ้าง หากวันหนึ่ง เราทำคอนเทนต์ที่ละเอียดอ่อนลงไป แล้วมีฟีดแบกที่ไม่ดีกลับมา เราต้องประเมินความเสี่ยงให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จะต้องรับมือกับอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหา แล้วก็มีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะ เช่น จะมีวิชาเกี่ยวกับการดูแลร่างกาย การกินการอยู่ โภชนาการ การสร้างกล้ามเนื้อ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวล ไอเดียที่เราให้ทั้งครูที่มาสอนและเด็กต้องเข้าใจ คือไม่ได้ให้ผอมและสวย ไม่ต้องหุ่นดี เป็นหมูก็ได้ แต่เป็นหมูที่แข็งแรงและทํางานได้ มีกล้ามเนื้อ รู้จักกินอยู่หลับนอน และรู้ว่าจะทำยังไงให้ดูดีเสมอตอนที่เราต้องไปเจอคนอื่น
สุดท้ายคือก้อนเทคโนโลยี การไลฟ์ การสตรีมมิง การใช้แพลตฟอร์ม การใช้เครื่องมืออะไรก็ตามที่ ณ วันนั้นเขาใช้กัน ก็ต้องเรียน ซึ่งถ้าเราไปดูในรายวิชาจะเห็นว่ามันไม่ได้ถูกเขียนว่าเขาต้องเรียนเแพลตฟอร์มอะไร เพราะวันนี้ TikTok นำ พรุ่งนี้อาจจะไม่ใช่แล้วก็ได้ มันคือแพลตฟอร์ม up to date ที่เขาต้องรู้
นี่คือ 3 ก้อนที่รวมออกมาเป็นหลักสูตร และเป็นคําตอบว่าเราเรียนรู้ ทําอยู่ที่บ้านได้ แต่จะไม่ได้สกิลอื่นๆ ที่มาประกอบกันแล้วสามารถใช้พัฒนาได้จริง นอกจากนี้ เรามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นศูนย์รวมของคนที่สนใจสิ่งเดียวกัน เราจะมีเพื่อน บางทีการอยู่คนเดียว เราก็เห็นแค่มุมของเรา แรงผลักดันต่างๆ ขึ้นอยู่กันเรา ถ้าวันไหนเราไม่อยากทํา มองไม่เห็นสิ่งที่น่าสนใจ ขี้เกียจเดินออกไป ก็ไม่เกิดอะไร แต่การที่มาอยู่กับเพื่อน อยู่กับกลุ่มคนที่ชอบเรื่องเดียวกัน สนใจของแบบเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน มันช่วยกันผลักดัน ช่วยกันแลกเปลี่ยน เป็นแรงซัพพอร์ตให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
เรามีเคสปีนี้ที่สมัครเข้ามา คือน้อง ‘หมวยลูกชิ้น’ ส่วนตัวเราไม่รู้จักนะ เพราะเราไม่ใช่สาย TikToker เขามาสัมภาษณ์แล้วเด็กๆ คนอื่นฮือฮามาก บอกว่าแม่ๆ (เสียงกระซิบ) คนนี้หมวยลูกชิ้นๆ เขาดังมากเลยนะ เขามีฟอลโลว์เวอร์เป็นล้านเลย เราเลยเปิดดู TikTok เขา เห็นยอดฟอลโลว์เวอร์เป็นล้าน ยอดไลก์อีกสิบล้าน เลยถามเขาว่าถึงขนาดนี้แล้ว มาทำอะไร
เขาก็พูดติดตลกแหละ เขาบอกว่าแม่ กระเทยอะเนอะ มีทุกอย่างแล้ว อยากได้ปริญญา เราแบบโอเค ก็รู้ตัวนี่ (ยิ้มขำ) แต่สิ่งที่ beyond ไปกว่าคำตอบตลกๆ นั้น คือเขาบอกว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันเหมือนจับพลัดจับผลูไปหมด เหมือนตัวเองจับต้นชนปลายทำเอง เขาอยากเข้ามาดู เข้ามาให้รู้ว่าถ้าเขาต้องจัดการให้มันเป็นระบบระเบียบมากขึ้น จะมีองค์ความรู้อะไรบ้างมาช่วยให้แชแนลของเขาพัฒนาได้แบบยั่งยืน มีพื้นฐานประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป มันเป็นสิ่งที่ทัชเรา เพราะเราคิดถึงเรื่องเหล่านี้ อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เน้นการแสดง (performance) มันคือการพัฒนา (develop) และการจัดการ (manage) สำหรับคนที่อยู่ในธุรกิจจริงสามารถเรียนเพื่อเอาไปใช้งานกับตัวเองได้ และสำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปทางไหน แต่ชอบสิ่งเหล่านี้ ก็มีโอกาสเลือกอยู่ในเส้นทางที่เขาชอบ ต่อให้ไม่ใช่เบื้องหน้า เป็นเบื้องหลัง เขาก็ยังได้ทําอะไรที่แฮปปี้
ทางคณะมองว่าโจทย์สำคัญของอาชีพไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบันคืออะไร และจากโจทย์ดังกล่าว ตีความออกมาเป็นหลักสูตรของเอกวิชาอย่างไร
เรามองจากธุรกิจ มองว่าตลาดทำอะไร ต้องการคนแบบไหนในที่ทำงาน ตลาดมีช่องว่างอะไรให้เด็กยืนบ้าง แล้วมองว่าถ้าเราต้องการคนแบบนี้ที่ปลายทาง เขาต้องรู้อะไร ก่อนไล่มาเป็นหลักสูตรปี 4 ปี 3 ปี 2 ปี 1 เป็นการทำงาน backward กลับออกมาเป็นหลักสูตร
ณ วันที่ทำหลักสูตร เรามองว่าตลาดต้องการคนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ชัดเจน และมีความสามารถรอบด้านในธุรกิจดนตรีบันเทิงทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งฝั่งอินฟลูฯ เอง เราต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์พอที่จะนําเสนออะไรก็ตามให้น่าสนใจ คนคนหนึ่งต้องรู้ให้มากเข้าไว้ และรู้ว่าจะทำยังไงให้มันน่าสนใจ
ทีนี้ โจทย์สำคัญคือจะฝึกคนคนหนึ่งให้มีความคิดสร้างสรรค์และสร้างผลงานออกมาได้ดีได้ยังไง เราก็กลับไปสู่การสร้างวิชาสกิลที่มอบไอเดีย ทำให้เขาคิดการนำเสนอได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น วิชาการพูดในที่สาธารณะ (public speaking) เพราะในยุคนี้ ตลาดต้องการคนนำเสนอเป็น สิ่งแรกที่เด็กต้องเรียนรู้คือจะพูดนําเสนอยังไง เก่งแทบตาย ร้องดี๊ดี เต้นก็ดี แต่พูดไม่รู้เรื่อง จะเอาอะไรไปขาย (หัวเราะ) เป็นนักร้องคงพอได้ แต่ถ้าจะเป็นอินฟลูฯ พูดไม่รู้เรื่องแล้วจะทำยังไง การพูดให้รู้เรื่องจึงเป็นเรื่องจำเป็น พูดให้น่าสนใจก็เป็นเรื่องจําเป็น วิชาของเราจึงเกิดขึ้นตามสิ่งที่เราไปดูว่าตลาดต้องการอะไรอยู่เรื่อยๆ ซึ่งวันนี้ก็เปลี่ยนไปประมาณหนึ่ง เราต้องกลับมาปรับหลักสูตรใหม่อีกแล้ว ต้องยอมรับว่าเราทำงานกับเทรนด์ ทำให้จริงๆ ต้องปรับทุกปีด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่การปรับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แค่ทำให้มันยังอยู่ในเทรนด์ที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ เราเห็นเด็กมาสามรุ่นแล้ว เริ่มเห็นแล้วว่ามีบางสกิลที่เด็กบางกลุ่มต้องการเรียนต่ออย่างต่อเนื่อง แต่เด็กบางกลุ่มไม่ต้องการแล้ว เราจะเห็นชัดเจนในเอกเลยว่ามีเด็กอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มศิลปิน กับกลุ่มอินฟลูฯ เด็กฝั่งศิลปินชอบร้อง ชอบเต้น ชอบแสดง เขาก็บอกว่าเราเรียนเต้นน้อยไปนะครู อยากเรียนร้องเรียนเต้นมากขึ้นอีก ตัดภาพมาที่อินฟลูฯ คือไม่เอาแล้ว พอแล้ว เราก็ต้องคิดว่าจะแยกเด็กสองกลุ่มนี้ตอนไหน หรือต้องปรับหลักสูตรให้เหมาะกับเด็กสองกลุ่มยังไง ตัว IDM ในอนาคตอาจจะแยกออกไปเป็นอะไรอีก อาจจะเรียนรวม 2 ปี พอปีที่ 3 ค่อยแยกกันไปก็ได้
ในฐานะเป็นเอกวิชาซึ่งต้องอิงตามเทรนด์ อาจารย์มองเห็นเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในแวดวงอาชีพไอดอล และอินฟลูเอนเซอร์อย่างไรบ้าง
เทรนด์ที่เห็นชัดๆ คือวงการเพลงไทยกลับมา ที-ป็อปกลับมา และมีแนวโน้มว่าจะดีในอนาคต อย่างน้อยก็ 3-5 ปีนี้ ตลาดดนตรีป็อปเริ่มเบนมาทางประเทศอื่นนอกเหนือจากเกาหลีบ้าง เราสามารถเจาะตลาดไต้หวันหรือตลาดอื่นๆ ได้ นี่ก็เป็นเทรนด์หนึ่งที่เรามองว่าการปรับหลักสูตรใหม่สามารถปรับไปทางดนตรีได้มากขึ้น เพราะเราเริ่มมั่นคง และเด็กหลายคนสนใจไปทางนี้
ส่วนตลาดอินฟลูฯ มันนิ่งๆ เนอะ ยังไม่ถึงขั้นมีอะไรใหม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรลดลง การทําตลาดออนไลน์จะว่านิ่งก็ไม่เชิงนะ คนไม่ซื้อของในห้าง แต่ซื้อผ่านออนไลน์เยอะขึ้น เหมือนทุกอย่างโดนโยกไปอยู่ในออนไลน์หมด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ดีในการสร้างงานให้เด็กเรา หรือถ้าไม่ใช่เทรนด์ด้านออนไลน์ ตัวแบรนด์ต่างๆ เองก็หันมาใช้การตลาดที่เขาเรียก ‘การตลาดแบบจริงใจ’ มากขึ้น คือไม่จําเป็นว่าต้องใช้เซเลบริตี้หรือดาราที่ยอดฟอลโลว์เวอร์เป็นล้านมาทำรีวิวสินค้า เพราะเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคมองว่าการใช้ดาราหรือใช้แบรนด์ใหญ่มาพูดให้เขาฟัง มันเป็นการรับเงินมารีวิวชัวร์ๆ ไม่รู้จริงหรือไม่จริง คนจะรู้สึกไม่เชื่อ การใช้ไมโครหรือนาโนอินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าจึงมีเทรนด์ที่ดีขึ้น สูงขึ้นมาก เหมือนเป็นเพื่อนแนะนำกัน แม้ว่าจะรับเงินเหมือนกัน แต่คนก็รู้สึกว่าจริงใจกว่า ใกล้ชิดกว่า
เทรนด์พวกนี้เป็นเทรนด์ที่ดีต่อการสร้างหรือพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์ในเอกเรา เพราะเด็กหลายคนก่อนเข้ามาเรียนไม่ได้มีคนติดตามเยอะ แต่พอเข้ามาแล้ว เจอเพื่อนๆ ชวนทำช่อง ชวนขายของ วิชานั่นนี่ให้ลองทำชิ้นงานส่ง แล้วเขารู้สึกว่าเขาชอบ เขาทำได้ เริ่มสร้างตัวได้ มีฟอลโลวเวอร์เยอะขึ้น มีงานเริ่มเข้ามา ก็ได้ค่าคอมมิชชัน เห็นแนวทางว่าสร้างงานให้ตัวเองได้จริง
มองภาพรวมของตลาดปัจจุบัน โดยเฉพาะในสายของอินฟลูเอนเซอร์น่ามีการแข่งขันที่ดุเดือด รวมถึงมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ อาจารย์มองว่าสภาพเช่นนี้จะกระทบต่อบัณฑิตที่เรียนจบออกไปมากน้อยแค่ไหน
ตอนแรกที่เริ่มทำหลักสูตร อีกหนึ่งคําถามที่เจอบ่อยมาก คือในตลาดมีอินฟลูฯ อยู่จํานวนหนึ่งแล้ว มันกําลังจะล้นตลาด เด็กจบออกไปจะเป็นยังไง ณ วันนั้น เราตอบไปว่า ถ้าเรามองว่าอินฟลูฯ เป็นแค่คนรีวิวหรือคนนําเสนอสินค้า ตลาดก็แคบละ แต่อย่าลืมว่าอินฟลูฯ ไปได้ไกลมากกว่านั้น มันสามารถไปได้ถึงคําว่า KOL เขาสามารถเป็นลีดเดอร์ในหลายๆ เรื่องได้ ทุกวันนี้นับตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงนอนหลับ เราใช้สินค้าหรือเสพอะไรต่อมิอะไรเยอะมากในหนึ่งวัน มีสินค้าเป็นร้อยอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา เราคิดว่ามีโอกาสเยอะ หรือถ้ามองไปยังเทรนด์ต่างประเทศ ในจีนเอง ตลาดอินฟลูฯ ก็โตมาก เพราะเริ่มมีการขายที่ลงลึกถึงระดับหมู่บ้านมากขึ้น
นอกจากนี้ ตัวหลักสูตรเราไม่ได้พยายามสร้างคนออกมาเพื่อทําสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราสร้างคนมาเพื่อพัฒนาและจัดการอะไรบางอย่าง เป็นแกนหลักที่เด็กสามารถเอาไปประยุกต์ได้กับทุกอย่าง ทุกสถานการณ์ ทุกอาชีพที่เขาจะไปทํา ในฝั่งอินฟลูฯ เราจะให้เรียนรู้กระบวนการสร้างคนคนหนึ่ง สร้างคอนเทนต์หนึ่ง หรือว่าสร้างแบรนด์ดิงหนึ่งออกมา ถ้าเขาเป็นอินฟลูฯ เอง เขาจะรู้ว่าต้องทําคอนเทนต์ยังไงให้คนสนใจ ต้องใช้เพลงแบบไหน ต้องทําอะไรในคอนเทนต์นั้น กลับกัน ถ้าไม่ใช่คนเบื้องหน้า ก็รู้ว่าต้องจัดการอะไรบ้าง เราเรียนไปถึงขั้นว่ากฎหมายที่คุ้มครองเขาหรือลิขสิทธิ์ของผลงานมีอะไรบ้าง เขาสามารถดูแลชิ้นงานชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานของตัวเองหรือของคนอื่นตั้งแต่ต้นจนจบได้
ถ้าเขาไม่เป็นอินฟลูฯ ไปเป็นไอดอลหรือศิลปิน เขาก็มีทักษะรู้ว่าต้องจัดการตัวเองยังไง รู้ว่าเขาต้องดีลกับอะไร รู้ว่าวิธีบริหารของค่ายเพลงหรือคนทำงานร่วมกับเขาเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ถ้าเขาไม่ได้เป็นศิลปิน แต่เป็นคนจัดการเบื้องหลัง เขาก็รู้หมดว่าต้องทำอะไรบ้าง นี่คือเป้าหมายของเรา
เทรนด์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บางครั้งกว่าจะมีบัณฑิตจบจากหลักสูตร เทรนด์ของตลาดข้างนอกก็อาจเปลี่ยนไปแล้ว เอกวิชาไอดอลฯ วางแผนรับมือเรื่องเหล่านี้อย่างไร
ก็จะกลับไปที่ 3 เสาหลักของหลักสูตรเรา อย่างก้อนที่เป็นเรื่องธุรกิจ เราเรียนพฤติกรรมผู้บริโภค เรียนแบรนด์ดิงกันมากี่ปีแล้ว สิ่งเหล่านี้คือทฤษฎีที่ยุคไหนก็ต้องรู้ เรามีส่วนที่เป็น solid theory ซึ่งเรียนกันมานานนมและเป็นพื้นฐานของทุกอย่างอยู่ แล้วถูกซ้อนลงไปด้วยความรู้ที่พัฒนาตามยุคสมัย และอีกก้อนที่ทับลงไปคือเทรนด์ดิงที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นต่อให้สองก้อนข้างบนเปลี่ยนไปเท่าไหร่ ตัวฐานไม่ได้เปลี่ยน การตลาด 10 ปีที่แล้วต้องคิดแบบไหน มันก็ยังคงคิดแบบนั้นอยู่ทุกวันนี้ แค่มันมีการอัปเดตอยู่เรื่อยๆ เราไม่ค่อยกลัวกับการที่เด็กจบออกไปแล้ว ความรู้ของเขาจะ out of date เพราะสุดท้ายเด็กมีฐานความรู้ที่แข็งแรงบางอย่างอยู่ และสามารถใช้ความรู้พวกนั้นปรับให้เข้ากับเทรนด์หรือสิ่งที่มาใหม่ได้
แล้วเรื่องอะไรที่เราต้องปรับเปลี่ยนมากเป็นพิเศษ
ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเครื่องมือ เทคโนโลยี เพราะมันเร็วมาก เร็วจนเรากลัวว่าวันนี้สอนไปแล้ว อาทิตย์หน้าจะเป็นอะไร แต่ถ้าเราลองสังเกตนวัตกรรมใหม่ดีๆ หลายอย่างก็มีองค์ประกอบพื้นฐานคล้ายกับของเดิมที่เคยมีอยู่ แค่เพิ่มฟังก์ชันบางอย่างเข้ามามากขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ไม่ยากถ้ารู้จักพื้นฐานอยู่แล้ว
เรื่องของแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดีย เราก็คิดว่าเขาควรเรียนจากตัวเจ้าของแพลตฟอร์มนั้น เช่น ถ้าเทรนด์ปีหน้า TikTok ยังมาแรงอยู่ เราก็เชิญอาจารย์ที่มาจาก TikTok โดยตรง มาสอนเขาให้รู้เรื่องหลังบ้าน รู้วิธีทำงาน รู้อัลกอริทึม เพื่อให้ up to date ตลอดเวลา
สิ่งที่เขาต้องเรียนคือเรื่องธุรกิจเหมือนคนอื่น ทั้งการคิดแบรนด์ดิง วิธีการตลาดแบบเดียวกัน แต่สินค้าคนละแบบ ธรรมชาติสินค้าคนละอย่าง
สำหรับตัวเนื้อหาหลักสูตรด้านการจัดการธุรกิจ ในอุตสาหกรรมไอดอลหรืออินฟลูเอนเซอร์ มีแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ไหม
ไม่ต่าง จริงๆ คิดเหมือนกับวงการอื่นเลย ยกตัวอย่างตอนทำหลักสูตรธุรกิจดนตรีและบันเทิงฯ คนตรวจหลักสูตรเขาถามว่าอาจารย์ เราต่างกับธุรกิจที่อื่นยังไง ทำไมเราถึงมีเอกเรียนธุรกิจอยู่ในคณะดนตรี ทำไมไม่อยู่ในคณะบริหารธุรกิจ เราก็บอกว่าเราเรียนบริหารเหมือนชาวบ้านเขานี่ละ แต่เราแค่บริหารสินค้าคนละตัว สินค้าเรามีความยูนีก มีความเป็นศิลปะ บวกกับการขาย เพราะฉะนั้น เด็กต้องรู้มากกว่าแค่ทฤษฎีทางธุรกิจ อย่างเด็กธุรกิจดนตรีและบันเทิงฯ ต้องเรียนรู้การเขียนเพลง แต่งเพลงประมาณหนึ่ง หรือเรียนเกี่ยวกับดนตรีสักตัวหรือสองตัว เพื่อให้เข้าใจสินค้าที่จัดการคือดนตรี ถ้าเขาไม่รู้ดนตรี สมมติต้องบรีฟศิลปิน ไปดูแลศิลปิน แล้วจะพูดกับเขา ในภาษาเดียวกับเขาได้ยังไง ธรรมชาติของการขายงานดนตรีหรือทํามิวสิค เฟสติวัลหนึ่งงาน ก็ไม่ได้เหมือนกับการทํางานเฟสติวัลอื่นๆ
ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องเรียนคือเรื่องธุรกิจเหมือนคนอื่น ทั้งการคิดแบรนด์ดิง วิธีการตลาดแบบเดียวกัน แต่สินค้าคนละแบบ ธรรมชาติสินค้าคนละอย่าง
แต่สินค้าที่เราขายคือคน เราต้องคำนึงถึงอะไรเพิ่มเติมบ้างไหมในการทำธุรกิจแบบนี้
ทำงานกับคนยากกว่าทำงานกับของอยู่แล้ว เราจึงต้องมีเรียนจิตวิทยา เรียน risk management และทุกวิชาของเอก IDM เราให้ทำงานกลุ่มทั้งหมดเลย และเป็นงานกลุ่มที่ต้องตีกันด้วย อย่างวิชา Singing Battle (การประชันการขับร้องแบบกลุ่ม) นี่ตีกันทุกรอบ มี 13 กลุ่ม ตีกันแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ สองรุ่นที่ผ่านมา ช่วงแรกไลน์เด้งทุกวัน ‘แม่ หนูไม่ไหวแล้ว’ ‘แม่ อีนี่ไม่ทํางาน’ แม่นั่น แม่นี่ทั้งวัน พอผ่านไปสักสองโจทย์ เด็กเริ่มไม่พิมพ์หาเราแล้ว เริ่มไปจัดการกันเอง จัดการทั้งตัวเองและเพื่อน
ในที่สุด เมื่อเขาผ่านการจัดการ ทํางานกลุ่มร่วมกับคนอื่น เขาจะพบว่าต้องทําตัวยังไง ต้องจัดการยังไง เราเห็นหลายเคสว่าแรกๆ ยอมเพื่อน โดนบ่อยๆ เริ่มไม่ยอม เริ่มไม่ทำ เริ่มต่อต้าน ด่ากัน พูดคุยกัน ก็เป็นธรรมชาติให้เขาเรียนรู้ไป สุดท้าย การอยู่ในมหาวิทยาลัยเพื่อนก็ยังให้อภัยกันง่ายกว่าตอนไปทำงานข้างนอกนะ ทุกวันนี้ธรรมชาติของเอก IDM คือเพื่อนสนิทสามารถนั่งด่ากันได้ว่ามึงทํางานแย่ แต่ทํางานเสร็จก็ออกไปกินข้าวกันเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่เราดีใจ เพราะเราอยากสอนให้เขารู้ว่าโลกข้างนอก เราไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานได้ เป็นการจําลองเหตุการณ์ให้เขารู้จักจัดการ เรียนรู้
อยากให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับรายวิชาสอนทักษะของเอกวิชานี้สักนิดว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
วิชาสกิลทั้งหมดมีเป้าหมายหลักคือเด็กต้องเรียนรู้สกิลนั้น เช่น วิชาร้องต้องเรียนรู้สกิลร้อง วิชาเต้นต้องเรียนรู้สกิลการเต้น ส่วนแอคติ้งจะเป็นวิชาที่อธิบายต่างออกไปหน่อย คือแอคติ้งของเด็กที่เรียนเป็นนักแสดงกับเด็กเอก IDM ไม่เหมือนกัน ตรงที่เด็ก IDM เรียนเพื่อรู้จักตัวเอง และนําเสนอตัวเองให้เป็น ไม่ได้ต้องเป็นนักแสดง
ยกตัวอย่างวิชาร้อง เช่น Singing Battle เป็นวิชาที่พัฒนาสกิลร้อง และถอดมาจากวิธีการทำงานจริงในธุรกิจพัฒนาไอดอล เราอยากให้เขาเห็นว่าเทรนนีเป็นยังไง ปกติเทรนนีจะได้โจทย์ประเมินเพื่อเลือกคนเข้า คัดคนออก ดังนั้นเด็กจะได้โจทย์เพลงไป มีเวลาฝึก 4 สัปดาห์ ก่อนขึ้นโชว์แบบฟูลโชว์ แสงสีเสียงครบหนึ่งครั้ง เพื่อประเมินว่าอยู่ในระดับไหน ปกติเราจะแบ่งด้วยระบบจัดอันดับ (ranking) ทุกครั้งที่ประเมิน แรงก์กิงจะถูกเปลี่ยน คนที่อยู่ข้างล่างมีสิทธิ์ขึ้นข้างบน คนที่อยู่ข้างบนก็มีสิทธิ์ตกอันดับ เด็กที่อยู่ 6 ทีมที่ดีที่สุดไม่ได้ แปลว่าเขาจะเป็น 6 ทีมที่ดีที่สุดจนจบเทอม และทุกครั้งเขาจะต้องรู้ว่าเขาอยู่แรงก์เดิมได้เพราะอะไร ตกไปเพราะอะไร ได้ขึ้นเพราะอะไร
ในธุรกิจจริงก็เป็นอย่างนั้น เทรนนีได้โจทย์ ทํา ฝึก แล้วประเมิน สุดท้ายก็จะประกาศว่าใครหรือกลุ่มไหนได้เดบิวต์ แต่สำหรับการเรียนของเรา เราไม่ได้ประกาศว่าใครได้เดบิวต์ มันเป็นการประมวลผลและวัดผลว่าตั้งแต่วันแรกถึงไฟนอล 15 ครั้งผ่านไป ตำแหน่งเราอยู่ตรงไหน และควรได้เกรดอะไร
นอกจาก Singing Battle ก็มีวิชาเกี่ยวกับออกแบบการร้อง หรือ Vocal Styling เขาจะได้เรียนรู้ว่าแนวเพลงแบบไหนที่อยู่ในเทรนด์ อย่างเทอมที่แล้วเรียนแร็ป เราเชิญ AUTTA มาสอนแต่งแร็ป แต่ง rhyme แบทเทิลแร็ป ฯลฯ ส่วนเทอมนี้เขาจะได้เรียนรู้เรื่องการอัด ระบบอัดเสียงร้อง การบาลานซ์ การมิกซ์ ทำมาสเตอร์เสียงร้องไปจนถึงคุมการร้องในห้องอัดจริง ดูว่าถ้าเรามีศิลปินมาอัดเสียงในโจทย์เพลงนี้ เขาจะดีไซน์การร้องให้ศิลปินยังไง
ด้านวิชาเต้น เขาต้องเรียนเรียนรู้การเต้นให้ครอบคลุม เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ปีหนึ่งมีรายวิชาเต้นแจ๊ส บัลเล่ต์ เต้นแท็ป ซึ่งเป็นเบสิกทั้งหมด แล้วก็มีรำไทย ตรงนี้มีฟีดแบกจากเด็กเหมือนกันว่า แม่ หนูไม่อยากเรียนรำไทย เรียนไปทำอะไร พอต้องทำละครเวที ‘Returning Feroci’ เห็นไหมว่ารำกันฉ่ำเลย หน้างานมันเลือกไม่ได้หรอกว่าคนเขาจะออกแบบ choreograph แบบไหนให้ ถ้าเรียนบัลเล่ต์ที่เป็นเบสิกของการเต้นแบบตะวันตกได้ ทำไมจะเรียนรำไทยที่เป็นเบสิกของไทยไม่ได้
หลังจากนั้น วิชาเต้นจะเข้าสู่การเต้นแบบสมัยนิยม เช่น ฮิปฮอป สตรีท ป็อปปิ้ง มีการเต้นเพื่อเรียนรู้การใช้เสน่ห์ของร่างกาย นำ sex appeal ออกมา ใจจริงอยากให้เรียนโพลเหมือนกัน แต่ไม่มีที่ให้ตั้งเสา (หัวเราะ)
ศาสตร์ที่เขาเรียนมาทั้งหมดจะถูกนำไปใช้สอบในวิชาอื่นด้วย เช่น ในโชว์ของ Singing Battle เขาต้องนำศาสตร์แอคติ้ง การเต้นมาคิดโชว์ คิดท่าเต้นเองทั้งหมด เสื้อผ้าหน้าผมทำเองหมดด้วยความรู้จากวิชาแต่งหน้า เหมือนการทำงานจริงที่คนคนหนึ่งต้องจัดการได้ในทุกภาคส่วน พูดง่ายๆ ว่ามีเด็กคนนี้หนึ่งคน เวลาต้องออกกอง ต้องดูแลคน หรือต้องดูแลตัวเอง เขาสามารถทําได้ครบทุกอย่าง
ฟังดูแล้ว รายวิชาบางส่วนเรียกร้องให้ผู้เรียนต้องมีทักษะการร้อง การเต้นที่ดี ถึงจะได้คะแนนดีหรือเปล่า
อย่างที่เราพูดเสมอว่าเราไม่ได้หาคนเต้นเก่งร้องเก่ง เราหาคนที่สามารถหยิบจับคาแรกเตอร์ของตัวเอง เสน่ห์ของตัวเองมาเสนอเป็น personal branding ของเขาได้ เพราะฉะนั้นเรามีทั้งเด็กที่ร้องเพลงเพี้ยนตั้งแต่ A-Z กับเด็กที่ร้องเพลงเทพมากสอบติดเข้ามา ช่องว่างตรงนี้จะไม่ถูกนำไปประมวลผลในรายวิชา สมมติวิชาร้อง ไม่ใช่ว่าเด็กที่ร้องเพลงไม่ได้เลยจะไม่มีสิทธิ์ได้ A เราจะดูเรื่องของพัฒนาการ เรื่องของคะแนนย่อยลงไปอีกว่าเขาพัฒนาตัวเองได้แค่ไหน ไปอยู่ในเส้นมาตรฐานที่เราต้องการไหม มันคงไม่แฟร์ถ้าเรารับเด็กเข้ามาโดยที่ไม่ได้ดูสกิลร้อง สุดท้ายตัดเกรดออกมาได้ D ได้ C เพราะเขาร้องไม่ได้ เราก็ต้องมีมาตรฐานอะไรบางอย่าง เช่น พิทช์ต้องไม่เพี้ยน ร้องเมโลดีต้องถูก ถ้าเขาทำตรงนี้ได้ ก็มีสิทธิ์ได้ A
ในทางกลับกัน มันก็ไม่แฟร์กับเด็กที่ beyond มาตรฐานไป เพราะ A ของเขากับ A ของอีกคนหนึ่งระดับห่างกันเยอะนะ แต่ทำไมเราได้ A เหมือนกัน ดังนั้น ในการประเมิน เรามีมาตรฐานที่ถ้าใครทำได้ก็ได้ A แต่สำหรับคนที่เก่งเป็นพิเศษ เขาจะได้ผลตอบแทนในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ได้ขึ้นโชว์เดี่ยวตอนสอบไฟนอล ได้รับเลือกไปอยู่ในงานต่างๆ ของคณะ ซึ่งจะได้โอกาสในการเจอค่ายเพลงหรือคนจากธุรกิจจริงมากกว่า
ในเนื้อหารายวิชาสร้างทักษะด้านต่างๆ อาจารย์ขีดเส้นอย่างไรไม่ให้กลายเป็นการเรียนการสอนที่มุ่งสร้างนักแสดง (performer) มากกว่าให้ผู้เรียนเข้าใจศาสตร์อย่างรอบด้าน
performer เป็นทางเลือกของเขา เราไม่ได้บอกว่าเขาจะไม่เป็น เพราะเด็กหลายคนเป็นอยู่แล้ว หลายคนเป็นศิลปิน เป็นเทรนนี (trainee) ที่กําลังจะเดบิวต์ หรือเป็นอินฟลูเซอร์ เราแค่ทําให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพทําอะไรได้หรือไม่ได้ ให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เอาเสน่ห์ของเขาออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วที่เหลือเป็นเรื่องของเขาว่าเขาจะเลือกเป็นอะไร นั่นคือจุดยืนของเรา
ส่วนตัวเราเป็นสาย performer เราเรียนดนตรีมาตั้งแต่เด็ก เรียนตรีโทเอกเป็นนักร้องมาตลอด สิ่งหนึ่งที่ต่างคือเราต้องเป็นนักร้อง เรียนสกิลมาฉ่ำขนาดนี้ ร้องเพลงตับแตก ครูให้ไปวิ่งตั้งแต่เช้ายันเย็นเพื่อให้มีกําลังร้องขนาดนี้ เราก็ต้องทําอะไรสักอย่างเกี่ยวกับการร้องเพลง แต่เราพบว่าสุดท้ายแล้ว ทุกวันนี้ถ้าไม่ได้เป็นนักร้อง ไม่ได้เป็นครูสอนร้องเพลง อาชีพข้างนอกที่เราทำได้คือเป็น show director ทำอีเวนต์ ทำออร์แกไนเซอร์ และจริงๆ เด็กทุกวันนี้ไม่ต้องบอกเขาหรอกว่าเขาต้องเป็นอะไร แค่ติดอาวุธที่เขาต้องมี ต้องรู้ให้เขา สุดท้ายเขาจะเป็นคนบอกเองว่าเขาจะทําอะไร
สิ่งที่เราทำกับเอกไอดอลกับอินฟลูฯ คือใส่สกิลที่ต้องมีของสองสิ่งนี้ไปให้หมด เขาต้องได้ลองแข่งขันในระบบประเมินเทรนนี ทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับเพื่อน ทำงานร่วมกับคนตลอดเวลา ให้เขาเรียนรู้ให้หมด แล้วเขาจะเป็นอะไรก็ได้ ขณะที่ฝั่ง performer จะเรียนสกิลเยอะมากๆ ถ้าเอกร้องคือเรียนร้องเพลง 8 ตัว เรียนคลาสเดี่ยวกับครู แต่เขาจะไม่ได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจแบบเดียวกัน
เราแค่ทําให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพทําอะไรได้หรือไม่ได้ ให้เขาเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เอาเสน่ห์ของเขาออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วที่เหลือเป็นเรื่องของเขาว่าเขาจะเลือกเป็นอะไร นั่นคือจุดยืนของเรา
การเป็นบุคคลสาธารณะมักพ่วงมาด้วยความคาดหวังจากสังคมเสมอ เช่น เป็นแบบอย่างที่ดี หรือร่วมขับเคลื่อนในประเด็นทางสังคมต่างๆ ประเด็นที่บุคคลสาธารณะต้องพบเจอเหล่านี้ ส่งผลต่อการเรียนการสอนของเอกวิชาบ้างไหม อย่างไร
มันคือเรื่องของจริยธรรม (ethics) เนอะ ถ้าสอนเป็นรายวิชาเลยคงไม่มี ใกล้เคียงหน่อยน่าจะเป็นวิชาการรับมือ risk management ต่างๆ ว่าเขาควรหรือไม่ควรทําอะไร ถ้าเราต้องเอาตัวเข้าไปอยู่กับปัญหา ผลกระทบจะมีอะไรบ้าง แล้วต้องรับมือยังไง
เราคงไม่ได้บอกเขาว่าเขาควรหรือไม่ควรทำอะไร ถ้ามันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เช่น เรื่องการ call out ประเด็นสังคม เราจะไม่โจมตีตัวบุคคล (personal attack) อะไรทั้งสิ้น แต่ในแง่ของการเป็น role model หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจะสอดแทรกการสอนในทุกๆ วิชา เราบอกอาจารย์ทุกๆ คนว่าเรื่องกาลเทศะ หรือการเข้มงวดในบางเรื่องที่เด็กจำเป็นต้องมี เราต้องทำ อย่างเทอมนี้ เปิดเทอมมามีคนถามว่าใส่กางเกงขาสั้นมาเรียนเต้นได้ไหม อาจารย์ประจำวิชาก็ใจดี บอกว่าจะให้ แต่เราบอกว่าไม่ได้ ต้องรู้จักกาลเทศะ
บางครั้งเราต้องมีกฎมีระเบียบ เพื่อให้เขารู้ว่าทําไปทําไม ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ว่าอะไรเรื่องการแต่งกาย แต่งกายแบบไหนก็ได้ ไม่จําเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษา เราก็ไม่ได้ว่าถ้าเด็กจะใส่เสื้อครอปหมา (หัวเราะ) เป็นเสื้อครอปสั้นแค่หน้าอก ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เอาให้เหมาะสมละกัน เช่น ถ้าวันนี้มีคลาสใหญ่ ก็ไม่ควรใส่มา หรือใส่สปอร์ตบรากับกางเกงยีนส์มา นี่ก็ว่าไม่ควร เราก็นั่งคุยกับเขา อาจารย์ในเอกทุกคนค่อนข้างสนิทกับเด็ก เราจึงให้ไอเดียอาจารย์ทุกคนว่าเจอเรื่องแบบนี้ต้องชวนเขาคุยก่อน เพราะเด็กเดี๋ยวนี้บอกให้ทําอะไร เขาไม่ทําหรอก แต่ชวนคุยให้เขารู้ ให้เขาคิดเอาเอง เดี๋ยวเขาจะได้คําตอบโดยที่ไม่ต้องมาถามเรา
ตัวอย่างเช่นเวลาขึ้นแสดงบนเวที เด็กบางคนอยากแต่งตัวโป๊ เราใช้วิธีถามว่าเพลงมันจําเป็นต้องโป๊ไหม ร้อง ‘หยดน้ำตา’ ของ 4EVE โอ้โห ใส่สั้นมาจนต้องถามว่าคนเราร้องเพลง ‘หยดน้ำตา’ ด้วยอารมณ์ไหน มีอารมณ์เซ็กซี่ไหม เขาก็ว่าไม่มีค่ะอาจารย์ เราถามต่อว่าแล้วไปเต้นอะไรเซ็กซี่เยอะขนาดนั้น เขาก็ว่า 4EVE ไงอาจารย์ 4EVE เขาเต้น ก็ใช่ แต่หล่อนไม่ใช่ 4EVE ไง แล้วทำไมกระโปรงสั้นมาเชียว เขาก็บอกมันสวยแม่ มันสวย แต่ไม่เข้ากับเพลงไหม
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งร้องเพลง Dirty เป็นเพลงฮิปฮอปที่เซ็กซี่ได้ เด็กก็ใส่บิกินี่ข้างบน ทับด้วยเสื้อครอป พอเต้นแล้วก็ถอดเสื้อออก ซึ่งเราไม่ติดนะ เราบอกว่าอย่าง Dirty เป็นเพลงแนวนี้ มันพูดเรื่องนี้ มันจึงเมกเซนส์ที่จะทำ เขาก็เริ่มเรียนรู้ ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่เขาไม่ได้มีท่าทีต่อต้าน หลายครั้งเขาก็ปรับตาม
บางทีจะมีการเรียกมาตักเตือนบ้าง ถ้าเราเห็นว่าไม่เหมาะสม เช่น บางคนไปตีกับคนในเน็ตที่มาพูดถึงเอกไม่ดี ไปฉอดตลอด เราก็มานั่งคุยกันว่าเคสอย่างนี้ควรตอบเขายังไง หรือจริงๆ เราปล่อยผ่านได้ไหม การที่เราไม่ตอบโต้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ทําให้เรื่องสงบนะ เห็นไหมว่าถ้าเราตอบโต้ไป คนมารุมด่าเราเต็มเลย เราได้อะไร
เราค่อนข้างมั่นใจว่าเอกเราค่อนข้างเปิดกว้าง ยอมรับความความต่างหรือความเห็นต่างได้เยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ประนีประนอมและจะพูดกับเด็กเสมอ คือหนึ่ง ระเบียบวินัย สอง คือกาลเทศะ เพราะสองอย่างนี้เป็นเรื่องที่สังคม concern อย่างเรื่องแต่งตัวตามกาลเทศะนี่จะเจอบ่อยที่สุดเลย
ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่าง AI ส่งผลกระทบต่อหลายวงการรวมถึงแวดวงศิลปะไม่น้อย ที่ผ่านมาอาจารย์เห็นภาพไหมว่า AI เข้ามาท้าทายเอกวิชาไอดอลฯ อย่างไร
เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่เราเพิ่งพูดกันในงาน Showcase เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า AI จะเข้ามาแทนที่เราได้ไหม AI เป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรู ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในวงการดนตรี AI ไม่ได้เพิ่งมา มันมีมาตลอด ยุคหนึ่งนักดนตรีก็เคยแพนิกว่าจะมีคนมาเล่นดนตรีแทนเราแล้ว คนไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีเล่นละ แต่สุดท้ายมันก็แทนไม่ได้ เรามองว่ามันไม่ได้มาเพื่อแทนอะไร ถ้าเราคิดว่ามันจะมาเพื่อแทนที่ เราจะเครียดแล้วรู้สึกต่อต้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอยู่ร่วมกับเขาได้ เราจะมีเพื่อนที่ช่วยให้งานเราง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เราไม่มีนโยบายบอกเด็กว่า AI จะมาแย่งงาน เพราะตัวเองก็ไม่เชื่อว่า AI จะมาแย่งงาน เราเป็นคณะดนตรีหรือคณะศิลปะ สุดท้าย ในความเป็น craftsmanship มันแทนด้วยอย่างอื่นไม่ได้หรอก
แล้วตัวอาจารย์มองว่าสิ่งที่จะเข้ามาเป็นความท้าทายต่อการเรียนการสอนของเอกวิชานี้คืออะไร
ความคาดหวังกับเทรนด์นี่ละที่ท้าทาย ความคาดหวังจากเด็กที่มาเรียนและจากคนภายนอกที่มองเอกนี้ พอมันโตมาก ก็มีคนรอดูว่าเราจะเป็นยังไงต่อ ขณะเดียวกัน เราก็ได้รับความคาดหวังจากเด็กที่เข้ามาเรียน เราต้องดูว่าเขาเข้ามาแล้วพึงพอใจแค่ไหน มีอะไรที่ยังบกพร่องอยู่ ยังไม่ตอบโจทย์เขาอยู่ ซึ่งเราคงตอบโจทย์ทุกคนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะว่าเด็กเยอะ ความต้องการก็มีหลากหลาย แต่เราจะมีมาตรฐานประมาณหนึ่ง ว่าสิ่งที่เราคาดหวังจะให้เขา มันตรงกับที่เขาคาดหวังไหม ถ้ายังมีอะไรบางอย่างไม่ตรงก็ต้องจูนกันระหว่างเรากับเขาให้ได้มากที่สุด
สองคือความท้าทายเรื่องเทรนด์ เทรนด์เป็นเรื่องน่ากลัวที่สุด และเป็นเรื่องที่เราคิดตั้งแต่แรกแล้วว่าการทําเอกนี้ขึ้นมา เราจะหยุดแอคทีฟไม่ได้เลยจริงๆ เพราะเรากําลังเล่นอยู่กับกระแสของอาชีพ แต่อย่างน้อย เราก็อุ่นใจตรงที่เรามีฐานที่มั่นใจว่าเมื่อไหร่ก็ตาม สิ่งนี้ยังคงอยู่ แต่สิ่งที่เข้ามาใหม่ทุกวัน สิ่งที่เปลี่ยนทุกวัน คือสิ่งที่เราทิ้งไม่ได้ ตัวอาจารย์เองก็ต้องแอคทีฟทุกวันว่าเราจะอยู่แต่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ เราต้องอยู่ข้างนอกให้เยอะ เพื่อที่จะได้รู้ว่าข้างนอกไปถึงไหน จะได้ทําให้การเรียนการสอนของเรารองรับให้ได้มากที่สุด
แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีบัณฑิตที่จบจากเอกวิชานี้อย่างเป็นทางการ แต่ตัวอาจารย์ตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตคนแบบไหนสู่อุตสาหกรรม
หลักๆ คือตอนปี 4 เด็กต้องสามารถสร้างตัวตนของตัวเองได้ ต้องรู้ว่าจุดเด่น จุดด้อยของตัวเองคืออะไร ความเชี่ยวชาญของตัวเองคืออะไร เพื่อที่จะไปสร้างตัวตนให้คนอื่นได้ด้วย และมีไอเดียของตัวเองว่าในอนาคตอยากทําอะไร และไปตามที่เขาอยากเป็น
ตอนนี้ปี 3 เด็กบางคนเริ่มชัดเจนแล้วว่าอยากเป็นพีอาร์ เราก็จะซัพพอร์ตเขาด้วยการส่งไปบริษัททำพีอาร์หรือทำงานตำแหน่งพีอาร์ในช่วงฝึกงาน บางคนอยากอยู่ค่ายเพลง บางคนอยากอยู่ออร์แกไนเซอร์ บางคนอยากอยู่บริษัทโฆษณา บางคนไม่อยากอยู่ที่ไหนเลย อยากทําคอนเทนต์ขายของของตัวเอง เปิด TikTok ขายของตัวเองฉ่ำอยู่แล้วก็อยากขายต่อ เราดีใจว่าจากเด็ก 100% เด็กปี 3 ตอนนี้ 90% เริ่มชัดเจนว่าเห็นตัวเองเป็นอะไร บางคนชอบเต้นก็เริ่มจะไปเป็นครูสอนเต้น เริ่มเต้นให้ศิลปิน มีวงคัฟเวอร์อยู่ บางคนที่อยากเป็นศิลปินก็ไปเป็นเด็กฝึกแล้วหลายคน บางคนย้ายวงไป 3 รอบแล้วก็มี
ส่วนตัวอาจารย์เคยแอบลุ้นไหมว่าบัณฑิตที่จบจากเอกวิชานี้จะเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือเปล่า
ลุ้นไหม (นิ่งคิด) เอาจริงๆ นะ มันไม่ว่างลุ้นเลย (หัวเราะ) แต่เรามอนิเตอร์อยู่เรื่อยๆ ว่าลูกเรา 55 คน ตอนนี้เหลือ 53 คนจากปีแรก เรารู้ว่าคนไหนทำอะไร เราเจอเขาในโปรเจกต์ต่างๆ เห็นพัฒนาการของเขาอยู่เรื่อยๆ
ในฐานะคนที่ทำงานในแวดวงธุรกิจบันเทิงและดนตรีมานาน อยากชวนอาจารย์มองถึงวงการ ‘ที-ป็อป’ ในไทยบ้าง ว่ามีพัฒนาการอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน
ที-ป็อปสำหรับเราไม่ได้จำกัดไปที่แนวใดแนวหนึ่ง มันคือไทย-ป็อปทั้งหมด ซึ่งจริงๆ เรามีมานานแล้ว ยุคหนึ่งเรามีอาร์เอส แกรมมี่ มีศิลปินป็อปเต็มไปหมดเลย เหตุที่เราบอกว่ามันกำลังมาและกำลังโต เพราะมองจากเฟสติวัลต่างๆ คอนเสิร์ตต่างๆ ขายบัตรหมด หรือตัวศิลปินที่ออกผลงานมา มีคนนิยมเสพ ชื่นชอบ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมความบันเทิงอื่นที่เกี่ยวข้องกับเพลงโตได้ตามไต้หวัน ตามจีน มีด้อมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็มองได้ว่ามีการเติบโตที่ดี
แต่ที่ผ่านมา กระแสมันก็ on-off มาตลอด ในสายตาเรามองว่าเมื่อกระแสดิ่งลงไปถึงจุดหนึ่ง มันจะกลับขึ้นมา ในช่วงโควิดไม่มีใครทำอะไรได้เลย ที-ป็อปอยู่ในจุดที่กระแสเหมือนถูกแช่แข็งมานาน เป็นไปได้ว่าคนก็คิดถึง โหยหากลับมาฟัง ดังนั้น ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่ากระแสกลับมาเรื่อยๆ แต่พูดยากจริงๆ ว่ามีที่มาจากอะไร เมื่อไหร่
คำว่า ‘ที-ป็อป’ มีความหมายแบบเดียวกับไอดอลไหม
คําถามนี้ยากตรงที่เราเป็นคนไม่ชอบการตั้งชื่อ ไม่ชอบการแปะป้ายบอกว่าอะไรเป็นอะไร เพราะบางทีเราไม่สามารถจำกัดความได้ว่าเขาเป็นแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ถามว่า 4EVE เป็นที-ป็อปหรือเป็นไอดอล สำหรับเรา เขาคือศิลปิน คือนักร้อง คือเกิร์ลกรุ๊ป เป็นทั้งที-ป็อปเพราะร้องเพลงไทย และเป็นทั้งไอดอลได้ เพราะเขามีที่มาจากรายการเรียลลิตี้ มีคนสนใจตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาแข่งรายการ ‘GirlGroupRapStar’ มีการเอาใจช่วย มีการโหวต มีการซัพพอร์ตเขามา แล้วก็มีแฟนเบสดูแล 4EVE สุดท้ายคนที่ได้เดบิวต์ก็มีแฟนเบส นี่ก็ไม่ต่างอะไรกับไอดอล
เดิมคำว่า ‘ไอดอล’ จะมีรูปแบบการสร้างและรูปแบบวัฒนธรรมแฟนเบสที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากญี่ปุ่น มันมีประวัติศาสตร์เหมือนเพลงร็อก เพลง R&B ที่ในตอนจุดเริ่มต้นเป็นแบบหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะมันผ่านเวลามานานมาก คำว่าไอดอลก็เปลี่ยนไปมากแม้แต่ในญี่ปุ่น ด้วยรูปแบบการมีวัฒนธรรมแฟนคลับของศิลปินคล้ายๆ กันหมดในปัจจุบันก็ทำให้เส้นแบ่งคำว่าไอดอลกับศิลปินเลือนรางลงไป สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นไอดอลหรือที-ป็อป เขาก็คือศิลปิน เป็นนักร้อง นักแสดง แค่นั้น
ในต่างประเทศ มีการถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับไอดอลหลายด้าน ทั้งประเด็นใหม่ๆ อย่างการเดบิวต์นักร้องนักแสดงด้วยอายุที่เด็กเกินไป และเรื่องเก่าอย่างปัญหาการดูแลไอดอลจากทางค่าย การเทรนอย่างหนัก ฯลฯ ในแวดวงของไทยมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้บ้างหรือยัง
บ้านเรายังใจดีมากเมื่อเทียบกับเกาหลี เกาหลีจะค่อนข้างเข้มงวดในการเทรน เทรนนีต้องอยู่กับเขาเหมือนเป็นโรงเรียนกินนอน บางคนมาจากต่างประเทศก็ต้องไปอยู่เป็นหลักปี ห่างบ้านห่างเมือง โดยที่ไม่มีการรับประกันอะไรทั้งสิ้นว่าสุดท้ายจะได้เดบิวต์ มีเด็กคนหนึ่งเพิ่งมาเรียนกับเราปีนี้ก็เคยเป็นเทรนนีไปอยู่เกาหลีมาปีหนึ่ง สุดท้ายประกาศแล้วไม่ได้เดบิวต์ คือทิ้งเวลาไปเลยหนึ่งปี
ในมุมหนึ่ง มันคือการลงทุนของธุรกิจ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่พูดคําว่าธุรกิจ มันเป็นตัวโกงเสมอละ แต่ถ้าพูดให้แฟร์กว่านั้น คือเขาลงทุนกับอะไรบางอย่างอยู่ ถ้าโปรเจกต์เขาล้มหรือเกิดอะไรขึ้น คนหมดตัวคือเขา ไม่ใช่ตัวเทรนนี เดิมพันธุรกิจเขาก็ค่อนข้างสูง ตลาดเขาใหญ่กว่าเราเยอะ
ทีนี้ มองในบ้านเรา ความโหดขนาดนั้นเรายังไม่เห็นนะ การจับเด็กมาเทรนตั้งแต่เล็กๆ ก็ยังไม่เห็น ยังมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า คือความโหดร้ายของการเทรนมา 2-3 ปีแล้วไม่ได้เดบิวต์น่ะมี แต่ถึงขั้นห้ามทำนั่นทำนี่จนไม่แฟร์กับเด็ก เรายังไม่ค่อยเห็น บ้านเรายังอยู่ในเกณฑ์รับได้ ถ้ามองในแง่ดี เด็กที่ไปผ่านการเทรนมา ต่อให้สุดท้ายไม่ได้เดบิวต์ อย่างน้อยๆ เขาก็ยังได้สกิลอะไรบางอย่างติดตัวเขาออกมา จริงอยู่ว่าต้องแลกกับเวลาที่เทรนไปแต่ไม่ได้เดบิวต์ สำหรับเขาถือว่าคุ้มไหม ทุกอย่างมีได้มีเสียหมดละ ไม่มีใครได้อย่างเดียวหรอก
เราใจดีได้ เพราะว่ากระแสที-ป็อปของเรายังไม่บูมเท่าเกาหลีหรือเปล่า
เรามองว่ามันเป็นวัฒนธรรมของประเทศ คนไทยใจดี ซึ่งเราชอบนะ เราเคยไปเทรนให้คนอื่น มองดูเด็กๆ เขาก็ไม่ได้หย่อนยานเรื่องการซ้อมการเทรน และค่ายเพลงก็ไม่ได้ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว เรารู้สึกว่าหลายๆ อย่างเป็นแบบเราก็ดี ความบีบคั้นหรือการแข่งขันอยู่ในระดับที่รับได้ เราตอบไม่ได้หรอกว่าถ้าเราตึงกว่านี้แล้วอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศเราจะไปได้ดีกว่านี้ไหม ต่อให้เราใช้โมเดลเดียวกับเกาหลี แข็งแรงกับเรื่องเทรนมาก เข้มงวดมาก มันก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกเยอะที่ทําให้เราไปไม่ถึงไหน เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่ใช่แค่ค่ายเพลงหรือแค่ตัวบริษัทสร้างศิลปิน
ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงหรือที-ป็อป ของเราขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดคืออะไร เราติดหล่มตรงไหนอยู่
หลักๆ เรามองว่าเป็นเรื่องเศรษฐกิจไม่มั่นคง มันดีและไม่ดีสลับกัน ในประเทศไหนก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ประเทศนั้นศิลปะจะไม่ไปไหน เพราะศิลปะไม่ใช่เรื่องปากท้อง คนจะเสพศิลปะได้เต็มที่เมื่อท้องอิ่ม ตราบใดที่เรายังกลับบ้านไปแล้วยังคิดว่าวันนี้จะกินอะไร จะไม่มีใครคิดถึงศิลปะ
บ้านเรายังใจดีมากเมื่อเทียบกับเกาหลี เกาหลีจะค่อนข้างเข้มงวดในการเทรน เทรนนีต้องอยู่กับเขาเหมือนเป็นโรงเรียนกินนอน บางคนมาจากต่างประเทศก็ต้องไปอยู่เป็นหลักปี ห่างบ้านห่างเมือง โดยที่ไม่มีการรับประกันอะไรทั้งสิ้นว่าสุดท้ายจะได้เดบิวต์
หลายคนมองว่าในไทยไม่มีพื้นที่โปรโมตศิลปินเช่นรายการเพลงมากมายเหมือนเกาหลี หรือกระทั่งในบ้านเราสมัยก่อน ทำให้ศิลปินไทยเติบโตได้ยาก อาจารย์มองว่าเรื่องนี้ส่งผลมากน้อยแค่ไหน
รายการเพลงหรือพื้นที่โปรโมตในภาพรวมอาจจะดูน้อย แต่ปัจจุบันศิลปินก็มีช่องทางอื่นที่ไม่ต้องง้อเมนสตรีม ถ้าเราไปดูในแพลตฟอร์มต่างๆ เรามีผลงานจากศิลปินใหม่ให้ฟังเยอะแยะไปหมดเลยนะ แล้วเด็กตัวเล็กๆ สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ มีแฟนคลับได้ง่าย ในสมัยก่อน ถ้าใครอยากเป็นศิลปินต้องไปประกวด เพื่อให้แมวมองของค่ายมาชวนไป screen test หรือส่งเทปเดโม่ไปให้ค่ายเลือก ทุกคนต้องไปหานายทุน ไปหาค่ายใหญ่ แต่ทุกวันนี้ เราสามารถทําเพลงอยู่บ้าน ทําแชแนลแล้วออนแอร์ได้
ถ้ามองในแง่ศิลปินที่ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่เถียงว่าสุดท้ายเขาก็ต้องเข้าค่ายเพลง หรือเข้าไปอยู่ในองค์กรใหญ่ เพราะอํานาจ ความสามารถในการทําพีอาร์ หรือการมีสื่อในมือมันช่วยให้ดังกว่าอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นที่เราจะกลายเป็นศิลปิน หรือสร้างโอกาสให้คนรู้จักเรา เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก ทุกคนสามารถสร้างช่องในมือของตัวเอง และไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ได้ดู คนทั่วโลกก็มีสิทธิ์ดูเราได้ มีแพลตฟอร์มต่างๆ เอื้อให้เราคอลแลปกับคนอื่นได้ อย่างแอป WeSing เราสามารถไปคอลแลปร้องเพลงกับใครก็ได้ทั่วโลก เด็กบางคนทำเพลงลงยูทูบ สปอตติฟาย เรามีช่องทางให้เพลงของตัวเองไปสู่สายตาคนอื่นไม่มากก็น้อย
ภาพที่อาจารย์อยากเห็นในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรีของไทยเป็นอย่างไร
อยากให้เป็นแบบนี้แหละที่คนมีตังค์ซื้อ (หัวเราะ) เราต้องเริ่มจากให้คนบ้านเรามีตังค์ซื้อก่อน ถ้าเรามีตังค์ซื้อแปลว่าเงินจะหมุนเวียนในธุรกิจเยอะขึ้น เงินหมุนเวียนเยอะขึ้น คนก็มีกําลังใจในการทํางานมากขึ้น แล้วจะดึงดูดให้มีคนทํางานมากขึ้น พอดึงดูดให้คนทํางานมากขึ้น แรงผลักดันในการทํางานก็มากขึ้น การออกไปเห็น ไปเจอโลกกว้างก็จะมากขึ้น แล้วแรงผลักดันในการแข่งขันกับตลาดโลกก็จะมากขึ้น ทุกอย่างมันเริ่มจากเศรษฐกิจจริงๆ
เราเชื่อมากๆ ว่าเศรษฐกิจดีจะผลักดันให้ทุกอย่างโตขึ้น เราไม่ค่อยสงสัยศักยภาพของคน คนไทยมีความสามารถในทุกวงการศิลปะ ไม่ได้มีสกิลที่ด้อยหรือต่ำกว่ามาตรฐาน แต่โอกาสที่จะไประดับโลกมีน้อย นึกภาพว่าถ้าเราหยุดทำงานเพื่อทำเพลงไปเลยหนึ่งปี จะกินอะไรละ หรือถ้าจะเทรนเด็กคนหนึ่ง ฝึกอย่างเดียว ให้เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาทเป็นไปได้ไหม ค่ายเพลงทุกวันนี้ไม่กล้าเข้มงวดกับเทรนนีมาก เพราะเขาไม่ได้มี payment afford ให้เทรนนีมากพอ ก็ต้องแลกกับการที่ให้เด็กมาเทรนสองวัน แล้ววันอื่นๆ ก็ไปทำงานอื่น ถ้าเศรษฐกิจเราดีมากพอจะหยุดทุกอย่างเพื่อการพัฒนาสินค้า ปั้นศิลปินคนหนึ่งได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณภาพย่อมต่างกันอยู่แล้ว
ถ้าเราเชื่อมั่นว่าศิลปินไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก งั้นเราจำเป็นต้องบอกคนอื่นๆ ไหมว่า ‘ช่วยอุดหนุนของคนไทยหน่อย’
เราจะไปบอกให้คนคนหนึ่งชอบเราไม่ได้หรอก เราแค่ต้องทําให้เต็มที่ แล้วก็.. ไหว้พระละมั้ง (หัวเราะ)
What’s in your bag?
สำหรับคนที่อยากเรียนรู้ อยากทำงานอยู่ในแวดวงไอดอล-อินฟลูเอนเซอร์ ไอเทมไหนควรพกติดตัวไว้ อะไรคือสิ่งที่ขาดไปไม่ได้?
1
“ตัวตน”
“อย่างแรกคือต้องเป็นตัวของตัวเอง เราต้องรู้จักตัวเองให้มากที่สุดก่อน แล้วก็ต้องเอาตัวเองออกมาให้คนอื่นดู
ทุกวันนี้ เราว่าความเป็นตัวตนคือสิ่งที่คนยอมรับ ผู้บริโภคฉลาดพอที่จะรู้ว่าอันนี้ปลอม อันนี้จริง เขาจะเริ่มสงสัยว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นของจริงหรือเปล่า อย่างที่เราเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้เอาดารามาขายของ คนไม่เชื่อ เพราะเขารู้สึกว่าคนพวกนี้รับเงิน ซึ่งจริงๆ อินฟลูฯ เล็กๆ ก็รับเงินละ แต่นึกออกใช่ไหม คนจะให้ความเชื่อใจกับกลุ่มคนที่ใกล้เคียงกับเขามากกว่า และความเป็นตัวเองจะทําให้เราอยู่รอดในทุกๆ วงการ”
2
“โทรศัพท์”
“ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เด็กในเอกเรามักไปพบเจออะไรที่ไม่ใช่ทุกคนจะพบเจอได้ จนบางทีเราก็รู้สึกว่าเธอทำบุญกับอะไรมา อย่างเช่น ตอนเครื่องเล่นปลาหมึกยักษ์ตรงสะพานพระราม 8 ตก เด็กของเราไปอยู่บนเครื่องและกำลังถ่ายคลิปอยู่ นี่ก็ไม่รู้ว่าเด็กตกปลาหมึก จนกระทั่งนั่งดูรายการสรยุทธ์แล้วแบบเอ้ย! อ้าว! นั่นลูกฉันนี่ แล้วก็เป็นเด็กคนเดิมนี่ละที่ไปรถชนที่มาเลเซีย จนได้ทำเป็นคลิป ไปกินหนึ่งนมนัว แล้วเจอตํารวจเข้ามาจับคน เขาก็เรคคอร์ดไว้ได้ตลอดเวลา มีคอนเทนต์ตลอดเวลาจนเราสงสัยว่านี่เซ็ตอัปหรือเปล่า ทำไมชีวิตวนเวียนอยู่กับอะไรแบบนี้
มีโทรศัพท์ติดไว้เนี่ยดี แต่ต้องรู้จักกาลเทศะนะ บางทีนั่งเรียนอยู่ห้องใหญ่ หลังห้องเต้น TikTok กันเย้วๆ แบบนี้คือโดนด่านะ ที่บอกว่าให้มีโทรศัพท์ติดตัวไว้ เพราะว่าชีวิตเรามีคอนเทนต์ได้ตลอดเวลา การเป็นอินฟลูฯ หรือไอดอลคือการทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ขอย้ำนะ ไม่ใช่คอนเทนต์อะไรก็ได้ และต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน”
เรื่อง: ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์
จบการศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักอ่านและนักเขียนที่ชอบใช้เวลาว่างวาดรูป และค้นหาเรื่องราวใหม่ๆ มาบอกเล่าแก่คนอื่นๆ
วิดีโอและภาพถ่าย: นิติพงษ์ การดี
ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร
จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ ลาดกระบัง เป็นครีเอทีฟที่ใช้หัวคิดนิดหน่อย แต่อร่อยเฉย…เอาจริงๆ ใช้หัวสมองคิดนิดหน่อย แต่ที่ใช้บ่อยคือหัวใจ
ภาพประกอบ: จิราภรณ์ บุญเย็น
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย
อดีตนักศึกษาศิลปะ นักลองผิดลองถูกและทาสรักความกระหายในประสบการณ์ใหม่ๆ