fbpx
ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอุดมการณ์: ความตายระลอกสองของคณะราษฎร

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางอุดมการณ์: ความตายระลอกสองของคณะราษฎร

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“ขั้นตอนแรกของการฆ่าผู้คนคือการทำลายความทรงจำของพวกเขา ทำลายหนังสือ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพวกเขา จากนั้นก็ให้ใครสักคนเขียนหนังสือของพวกเขาขึ้นใหม่ ผลิตวัฒนธรรมใหม่ เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ไม่ช้าผู้คนก็จะเริ่มลืมว่าพวกเขาคือใครและพวกเขาเคยเป็นอะไรมาก่อน”

Milan Kundera จาก The Book of Laughter and Forgetting

ประโยคดังกล่าวของมิลาน คุนเดอรา ถูกยกไว้ในหนังสือ The Destruction of Memory ของโรเบิร์ต บีแวน (Robert Bevan) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีในชื่อเดียวกันโดยผู้กำกับ Tim Slade เมื่อปี 2016 ที่เล่าถึง ‘การทำลายล้างความทรงจำ’ เมื่อสงครามและความขัดแย้งนำไปสู่ความสูญเสียหลากหลายด้าน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน จนถึง ‘วัฒนธรรม’

สารคดีไล่เรียงจากสงครามช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ล้วนนำไปสู่การทำลายศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมสำคัญของกลุ่มคนในฐานะ ‘เป้าหมาย’ ของการโจมตี เมื่อสิ่งที่ถูกทำลายเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่และสิ่งของ แต่มันถูกมองในฐานะอัตลักษณ์ร่วมของกลุ่มคน

สงครามไม่เพียงแต่ทำลายชีวิตมนุษย์ แต่ยังมุ่งทำลายอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนให้คุณค่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของพวกเขา เพื่อลบประวัติศาสตร์ ทำลายความเป็นมาของกลุ่มชนที่พวกเขาภาคภูมิใจ

คุณค่าและความหมายเหล่านี้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่อาจต้องแลกมาด้วยชีวิต

 

YouTube video

 

ตัวตนของผู้คนในสะพานที่พังทลาย

 

หนึ่งในเหตุการณ์ที่สารคดีพาไปสำรวจคือการระเบิดสะพานมอสตาร์ระหว่างสงครามบอสเนีย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1993 สะพานแห่งนี้มีอายุ 427 ปีในวันที่มันถูกทำลาย แน่นอนว่าสงครามได้พรากชีวิตจำนวนมากไป แต่การระเบิดสะพานก็สร้างผลสะเทือนในอีกรูปแบบต่อจิตใจของผู้รอดชีวิต

มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ที่มีความผูกพันกับสะพานมอสตาร์ว่าเหตุใดผู้คนจึงเศร้าโศกเสียใจต่อการพังทลายของสะพานมากกว่าความตายของผู้คน

เขาตอบว่า “บางทีอาจเป็นเพราะเราเห็นความตายของตัวเองในการพังทลายของสะพาน ขณะที่ความตายของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราคาดหวังได้อยู่แล้ว เราทุกคนกำลังนับถอยหลังสู่วันสุดท้ายของชีวิต แต่กับการพังทลายของอนุสาวรีย์ที่แสดงถึงอารยธรรมนั้นไม่ใช่ ความสง่างามของสะพานนี้ถูกสร้างให้มีอายุยืนยาวกว่าเรา มันแสดงถึงความเป็นนิรันดร์และอยู่เหนือชะตากรรมของมนุษย์แต่ละคน ผู้หญิงหนึ่งคนที่ตายไปนั้นเป็นหนึ่งในพวกเรา แต่สะพานนี้คือพวกเราทั้งหมด”

ใช่ว่าจะไม่มีใครพยายามหยุดยั้ง ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม’ เช่นนี้ เมื่อปี 1933 ราฟาเอล เลมคิน (Raphael Lemkin) นักกฎหมายชาวยิวโปแลนด์ที่เกิดในจักรวรรดิรัสเซียพยายามเสนอต่อองค์การสันนิบาตชาติให้บรรจุการดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศเพิ่มเติม 2 กรณี  คือ acts of barbarity’ ซึ่งภายหลังเขาให้ชื่อว่า ‘genocide’ อันหมายถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางร่างกาย และ acts of vandalism’ คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม (cultural genocide) การทำลายสิ่งก่อสร้างและศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

“แต่ละชาติมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและควรได้พัฒนามันในหนทางของตนเอง โดยไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องดูดกลืน หรือซึมซับวัฒนธรรมอื่น”

เลมคินมีแรงผลักดันจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย (1915-1917) ที่ไม่เพียงแต่กวาดล้างชีวิตผู้คนมหาศาล แต่สิ่งก่อสร้างทางศาสนา อาคารและอนุสรณ์สถานต่างๆ ก็ถูกทำลายไปด้วย การโจมตีเช่นนี้เป็นการทำลายหลักฐานทางกายภาพว่าคนกลุ่มนี้เคยมีตัวตนอยู่ รวมกับผลจากการที่ชาวเติร์กพยายามกดทับความทรงจำต่อเหตุการณ์นั้น และโยกย้ายหลักฐานทางกายภาพของชาวอาร์เมเนียออกจากดินแดนของตุรกี อันถือเป็นความตั้งใจจะลบร่องรอยการมีอยู่ของกลุ่มคน

ต่อมาปี 1921 เกิดการลอบสังหาร ตาลัต ปาชา ผู้นำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย ซึ่งลงมือโดยชายหนุ่มอาร์เมเนียผู้รอดชีวิต เลมคินไม่พอใจและมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช้ภารกิจของผู้รอดชีวิตที่จะต้องลงโทษอาชญากรด้วยมือตัวเอง แต่ต้องมีระบบการตัดสินระดับนานาชาติ

ในปี 1946 สหประชาชาติประกาศให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมสงคราม โดยละเว้นประเด็นเรื่องการทำลายวัฒนธรรมไว้

แม้ความพยายามผลักดันการเอาผิดกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรมจะเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2016 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ตั้งข้อกล่าวหาแก่ Ahmad al-Faqi al-Mahdi เชื่อมโยงกับกรณีที่กลุ่มอัลเคดาทำลายสถานที่ทางประวัติศาสตร์และเป็นที่ศรัทธาของประชาชนในทิมบักตู ประเทศมาลี

 

ภาพทาบทับของ 2475

 

ภาพการทำลายสะพานมอสตาร์ การพยายามลบหลักฐานทางกายภาพของชาวอาร์เมเนีย การระเบิดหอสมุดแห่งชาติซาราเยโว ไม่ใช่แค่เรื่องของชาติพันธุ์นั้นๆ แต่เป็นประเด็นเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกและการตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

สำหรับประเทศไทยเองก็มีประเด็นการทำลายล้างทางวัฒนธรรมที่น่ากังวล

ชาตรี ประกิตนนทการ[1] อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองการทำลายสะพานมอสตาร์ว่า ไม่ใช่เป็นแค่การทำลายสิ่งก่อสร้าง แต่สะพานเป็นอัตลักษณ์ เป็นความทรงจำที่ส่งทอดสืบเนื่องกันมายาวนานรุ่นต่อรุ่น สะพานนี้เชื่อมต่อชุมชนต่างๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์และความเชื่อทางศาสนาที่หลากหลาย การพังทลายของสิ่งเหล่านี้ในหลายครั้งจึงเจ็บปวดและรุนแรงมากกว่าการตายของคนหนึ่งคน และเป็นการพังทลายของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไปพร้อมกัน

หากมองเรื่องนี้ผ่านปรากฏการณ์รื้อถอนศิลปวัตถุและสิ่งก่อสร้างยุคคณะราษฎรจะเห็นความแตกต่างว่า ในสารคดีพูดถึงการทุบทำลายมรดกทางศิลปวัตถุระดับโลกและระดับชาติที่มีอายุนับพันปี และเกี่ยวเนื่องกับสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กรณีการทำลายมรดกศิลปวัตถุยุคคณะราษฎรไม่ใช่สงครามแบบที่เห็นในภาพยนตร์ นี่คือสงครามทางอุดมการณ์

หากสารคดีพูดถึงการทำลายล้างทางวัฒนธรรม (cultural cleansing) ในกรณีของไทยก็น่าจะเป็นการทำลายล้างทางอุดมการณ์ (ideological cleansing) มากกว่า

ชาตรี ยกข้อสังเกตจากสารคดีว่า การทำลายมรดกทางสถาปัตยกรรมมักจะใช้ข้ออ้างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายที่แท้จริง เช่น การบอกว่าเป็นอุบัติเหตุ ไม่ได้มีความตั้งใจ แต่สารคดีพยายามบอกว่าการทำลายมรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นเป้าหมายโดยตัวมันเอง ในกรณีการรื้อศาลาเฉลิมไทยที่ถนนราชดำเนินเมื่อปี 2532 ก็เช่นเดียวกัน

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนถึงเรื่องนี้ลงสยามรัฐรายวันในปี 2532 ว่า

“…การสร้างโรงหนังเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง…แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง…เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง…เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีและเป็นที่น่าภูมิใจของคนในกรุงเทพมหานครทั้งหมด ในยุค 50 ปีที่แล้วมานี้ ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ในกรุงเทพมหานครอีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรจะรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ…

การให้เหตุผลเช่นนี้ทำให้เข้าใจว่าการรื้อศาลาเฉลิมไทยไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายล้างทางอุดมการณ์ แต่หากย้อนไปในปี 2525 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เคยเผยถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงไว้ในการปาฐกถาครบรอบ 50 ปี 2475 ว่า

“…สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้… ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับเป็นนักเรียนนอก กลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊…ท่านเรียนวิชาอื่นไม่ใช่สนใจศิลปะ ท่านไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่เมื่อปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาแล้ว… การจะเปลี่ยนสังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนทุกทาง ศิลปะประเพณีคติเก่าๆ นั้นเป็นเรื่องของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ท่านเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ท่านพยายามเลิกให้สิ้น…”

คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เข้าใจว่าคณะราษฎรสร้างสถาปัตยกรรมเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอุดมคติทางการเมือง และต้องการทำลายด้วยความเข้าใจนี้ แต่ในภายหลังกลับให้เหตุผลเรื่องความสวยงามหรือไปบดบังสิ่งอื่นแทน

“ในปี 2532 ระหว่างการรื้อศาลาเฉลิมไทยอาจมีการต่อต้านบ้าง แต่เป็นเหตุผลเรื่องกายภาพเชิงสถาปัตยกรรม เช่นว่าจะทำให้เสียทิวทัศน์ของถนนที่มีตึกสองข้างทางครบสมบูรณ์ แต่ไม่มีข้อถกเถียงที่พูดถึงคณะราษฎร หรือจอมพล ป. เลย

“ในช่วงนั้นประวัติศาสตร์กระแสหลักได้ลืมไปแล้วว่าคณะราษฎรคือใคร และมีส่วนอย่างไรกับการสร้างตึกเหล่านี้ แต่ก็มีการพูดถึงประวัติศาสตร์คณะราษฎรในวงวิชาการที่จำกัด และเป็นการมองประวัติศาสตร์คณะราษฎรในแง่ลบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการฝ่ายไหน พูดได้ว่าคณะราษฎรได้ถูกลืมและถูกฆ่าไปแล้วครั้งที่หนึ่ง” ชาตรีกล่าว

 

ชาตรี ประกิตนนทการ
ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความตายระลอกสองของคณะราษฎร

 

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 คณะราษฎร ‘เสมือนเกิดใหม่เป็นครั้งที่สอง’ ชาตรีให้เหตุผลว่า เมื่อ คนเดือนตุลาจำนวนมากหันไปสนับสนุนการรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดการล่มสลายในความน่าเชื่อถือของคนเดือนตุลาในฐานะสัญลักษณ์การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย คนที่ต่อต้านการรัฐประหารรู้สึกว่าคนเดือนตุลาทำตัวน่าผิดหวัง จนทำให้เสียสถานภาพการเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตย

“หลังจากปี 2549 การจัดงานรำลึก 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ และพฤษภาคม 2535 ลดพลังอย่างมีนัยยะสำคัญ กลุ่มคนต้านรัฐประหารเริ่มมองหาฮีโร่และสัญลักษณ์ใหม่จึงไปขุดคณะราษฎรขึ้นมาศึกษาเพิ่มเติม ขยายความ แล้วไปชุมนุมกันที่หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยการคำนึงถึงคณะราษฎรและจอมพล ป. งานวิชาการเกี่ยวกับเดือนตุลาไร้พลัง แต่ช่วง 2550-2552 ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีจะจัดงานวิชาการอย่างยิ่งใหญ่และกระจายตัวในหลายพื้นที่ สิ่งนี้คือการเกิดขึ้นใหม่ของคณะราษฎรที่ถูกฆ่าสำเร็จไปแล้วครั้งหนึ่งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และพวกพ้อง”

เมื่อเรื่องราวความทรงจำ ประวัติศาสตร์ รวมถึงสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุต่างๆ ของคณะราษฎรกลับมามีชีวิตอีกครั้ง จึงมีกระบวนการพยายามลบ ฆ่า หรือกำจัดคณะราษฎรเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ และเข้มข้นขึ้นในช่วง 2-3 เดือนนี้

ชาตรีเล่าว่ากระบวนการฆ่าคณะราษฎรเริ่มตั้งแต่ที่เกิดความพยายามรื้อศาลฎีกาตั้งแต่ปี 2551 แต่ตัวเขาและแนวร่วมมีการต่อสู้จนโครงการต้องชะลอ แต่ที่สุดก็รื้อสำเร็จในปี 2556

ชาตรีคิดว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่จำเป็นต้องถูกเก็บไว้ทุกชิ้นหรือห้ามทำลาย ไม่ใช่การทำลายสิ่งก่อสร้างทุกครั้งจะถือเป็น ideological cleansing และไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทุกชิ้นจะมีพลังทางความหมายพิเศษต่อกลุ่มคนหรือชาติ แต่มี 3 ตัวชี้วัดที่จะบ่งบอกว่าการทำลายนั้นเป็นการทำลายล้างทางอุดมการณ์หรือไม่

1. การทำลายนั้นหาคำอธิบายเชิงประโยชน์ใช้สอยไม่ได้ เช่น การรื้อโรงแรมเอกชนเพื่อขยายพื้นที่ การทำลายโรงหนังที่ไม่มีคนใช้แล้วเพื่อนำพื้นที่ไปทำอย่างอื่น หรือการกีดขวางโครงการที่ตอบสนองต่อบริบทสมัยใหม่ อย่างกรณีการสร้างเขื่อนอัสวานในปี 1960 ที่จะทำให้น้ำท่วมวิหารอาบูซิมเบลซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญในอียิปต์ แต่หลังจากนั้นก็มีการระดมทุนทั่วโลกเพื่อย้ายวิหาร

2. มีปริมาณการรื้อถอนในกลุ่มสถาปัตยกรรมที่มีอุดมการณ์ชุดเดียวกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญ การรื้อถอนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามความเปลี่ยนแปลงของการใช้งาน แต่หากเป็นการรื้อถอนโดยอิสระ กลุ่มสถาปัตยกรรมในชุดอุดมการณ์เดียวกันจะไม่ถูกทำลายอยู่เพียงกลุ่มเดียว

3. การรื้อถอนไม่เปิดให้มีการถกเถียงสาธารณะ หากการรื้อถอนนั้นไม่มีจุดมุ่งหมายที่ลึกลับซับซ้อนควรจะต้องมีการพูดถึงอย่างเปิดเผย แต่หากไม่มีการพูดถึงและหายไปเงียบๆ นั่นคือมาตรวัดที่สำคัญอันหนึ่ง

“กรณีรื้อศาลฎีกาเป็นจุดเริ่มต้นการฆ่าคณะราษฎรรอบที่สอง เพราะไม่มีเหตุผลเรื่องประโยชน์การใช้งาน แม้เจ้าหน้าที่ศาลพยายามบอกว่าตึกเดิมมีพื้นที่ไม่พอ แต่ก่อนจะรื้อ มีการย้ายศาลอุทธรณ์ ศาลเยาวชน และศาลอื่นๆ ออกจากกลุ่มอาคารและยกพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นศาลฎีกาเพียงหน่วยงานเดียว ทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบสามเท่าโดยไม่ต้องต่อเติม ผังอาคารใหม่ก็สร้างบนฐานของอาคารเดิม ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ใช้สอย เพียงแต่เปลี่ยนให้เป็นหลังคาไทย เหตุผลที่แท้จริงจึงคือเรื่องการทำลายทางอุดมการณ์”

หลังการรัฐประหาร 2557 การฆ่าคณะราษฎรครั้งที่สองก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปี 2557

– มีการรื้ออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนในบุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลเรื่องการจราจร ซึ่งหากใช้เหตุผลนี้ก็จะต้องรื้อทุกอนุสาวรีย์ที่อยู่ตรงวงเวียนออกทั้งหมด

ปี 2558-2559

– ที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้ามีการบูรณะหน้าบันรูปพานรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนบูรณะยังดูใหม่มาก แต่หลังบูรณะเอารูปครุฑมาใส่แทน

ปี 2560

– หมุดคณะราษฎรหาย ทั้งที่ไม่ได้กีดขวางทางจราจรและชัดเจนว่าเป็นวัตถุเชิงอุดมการณ์

ปี 2561

– อนุสาวรีย์ปราบกบฏถูกย้ายออกไปจากวงเวียนหลักสี่

ปี 2563

– อนุสาวรีย์พระยาพหล ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ถูกย้ายออกไป

– อนุสาวรีย์จอมพล ป. ด้านหน้าอาคารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ บก.สปท. ถูกย้ายออกไป

– ป้ายพิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม จ.เชียงราย เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์

– มีข่าวว่าตึกเทเวศประกันภัย ที่ถนนราชดำเนิน จะมีการเปลี่ยนรูปแบบจาก Art Deco เป็นนีโอคลาสสิกให้ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ชาตรีบอกว่า ตามข้อเท็จจริง ในประวัติศาสตร์ถนนราชดำเนินสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีตึกใดเป็นนีโอคลาสสิก เป็นเพียงถนนที่มีต้นมะฮอกกานี การปรับแบบนี้จึงไม่ใช่การย้อนหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่

“เราเห็นความถี่อย่างสำคัญ และสิ่งเหล่านี้คงดำเนินต่อไปอีกในไม่กี่เดือนนี้มากขึ้น การรณรงค์เก็บรักษาสิ่งก่อสร้างยุคคณะราษฎรไม่ได้หมายความว่าเราจะวิจารณ์คณะราษฎรไม่ได้ หรือจะต้องกราบไหว้บูชา แต่การรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะบอกว่าเราเดินทางจากอดีตมาถึงปัจจุบันอย่างไร สิ่งก่อสร้างสมัยคณะราษฎรหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของประชาชนที่ทำให้ประเทศก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินก็ไม่ได้มีแต่เรื่องของคณะราษฎร แต่มีเรื่องราวการต่อสู้เผด็จการเมื่อ 14 ต.ค. 2516 และพฤษภาคม 2535

“ประวัติศาสตร์เหล่านี้ฝังอยู่ในตึก อาคาร และอนุสาวรีย์รุ่นต่อรุ่น การเก็บสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อเชิดชูคณะราษฎร แต่เพื่อเชิดชูอุดมการณ์ที่ฝังซ้อนทับในสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ การรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ไม่ใช่การหายไปของอิฐหินปูนทราย แต่เป็นการทำลายอัตลักษณ์ของกลุ่มบุคคล เป็นการทำลายสิ่งก่อสร้างเชิงอุดมการณ์เพื่อทำลายอุดมการณ์”

สิ่งที่ชาตรีย้ำคือ ปรากฏการณ์ทำลายสิ่งก่อสร้างยุคคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมาเข้าข่ายเลย ‘เส้นแดง’ ที่คนในสังคมควรจะยึดถือร่วมกันไปแล้ว แต่ตอนนี้ยังสามารถเดินย้อนกลับมาได้ทัน

“เส้นแดงนี้หมายความว่า ถ้าเราก้าวข้ามไป คนจำนวนไม่น้อยที่ยึดโยงเชิงอุดมการณ์ของตัวเองเข้ากับคณะราษฎรในภาพเชิงอุดมคติ จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ยิ่งถ้าปล่อยให้การรื้อทำลายรุนแรงสะสมไปเรื่อยๆ จะเกิดปรากฏการณ์ที่คณะราษฎรถูกดันไปสุดโต่งอีกข้าง คือถูกมองเป็นคนดีไร้ที่ติ เมื่อถึงตอนนั้นแต่ละฝ่ายจะมีสิ่งที่ดีเกินจริงคนละฝ่ายแล้วห้ำหั่นกัน”

สิ่งก่อสร้างเชิงอุดมการณ์เหล่านี้มีพลังแม้แต่กับคนที่ไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลัง เมื่อเดินผ่านก็จะทำให้อยากรู้เรื่องเล่าเหล่านั้น ตราบใดที่สิ่งก่อสร้างนั้นยังอยู่ เรื่องเล่าก็จะไม่มีวันหายไป การจะทำลายเรื่องเล่าจึงต้องทำลายอนุสาวรีย์ก่อน

การทำลายสิ่งก่อสร้างเชิงอุดมการณ์ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้เลย เช่นที่นักศึกษาฮาวาร์ดเคยรณรงค์ให้รื้อรูปปั้นของคนที่สนับสนุนการค้าทาสออกจากมหาวิทยาลัย แต่การจะทำเช่นนั้นต้องผ่านการถกเถียงและการมีส่วนร่วมของสังคมว่า อนุสาวรีย์บุคคลเหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรง หรือการดำรงอยู่ของสัญลักษณ์นั้นจะส่งเสริมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

“เราต้องเห็นพ้องต้องกันว่าศิลปวัตถุนี้มีคุณค่าร่วมกัน และการทำลายมันทำให้คนจำนวนมากเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นชุดอุดมการณ์ไหน อีกฝ่ายก็ควรเห็นอกเห็นใจคนที่ยึดถือวัตถุเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง ต่อให้เป็นศิลปวัตถุที่แสดงอุดมการณ์ตรงข้ามกับเรา ผมก็ไม่สนับสนุนการรื้อ แต่อาจใช้วิธีการย้ายออกจากสถานที่ซึ่งจะสร้างพลังไปไว้ในอีกสถานที่หนึ่งมากกว่า” ชาตรีกล่าว

 

 


[1] ให้ความเห็นไว้ในงานฉายภาพยนตร์ ‘The Destruction of Memory ลบประวัติศาสตร์ล้างความทรงจำ’ จัดโดย Doc Club, โก๋แก่ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save