fbpx
เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกเซนเซอร์ในมหาวิทยาลัย

เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกเซนเซอร์ในมหาวิทยาลัย

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

แนวโน้มใหม่อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ก็คือความรู้สึก ‘เปราะบาง’ ต่อ ‘วาทกรรม’ ต่างๆ ที่ไม่ตรงกับความคิดความเชื่อหรือมุมมองโลกในหมู่นักศึกษารุ่นใหม่ๆ

เพิ่งมีบทความของอาจารย์ชีววิทยาคนหนึ่ง ชื่อ ลูอานา มาโรฮา (Luana Maroja) ที่สอนอยู่ที่ Williams College เขียนมา ‘บ่น’ เป็นบทความใน The Atlantic (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ว่าเธอสอนวิวัฒนาการและพันธุกรรมมาเป็นสิบปีแล้ว ปกติเวลาเธอถูกนักศึกษาต่อว่า ก็มักจะมาต่อว่าเรื่องให้เกรด สอบไม่ผ่านอะไรแบบนั้น ทว่าในระยะหลัง เรื่องหนึ่งที่เธอสังเกตพบก็คือ มี ‘ความเครียด’ ในทางการเมือง (Political Tensions) ในหมู่นักศึกษาสูงขึ้นเรื่อยๆ

คำว่า ‘การเมือง’ ในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องใครขวาซ้ายเดโมแครตหรือรีพับลิกันนะครับ แต่เป็นการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเกิดขึ้นหลายเรื่องมาก โดยเฉพาะการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ ‘การเมืองเชิงอัตลักษณ์’ หรือ Identity Politics

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ เธอสอนเรื่องของพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันได้ และส่งผลถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความฉลาด’ ของมนุษย์ (Human Intelligence) ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ศึกษากันมายาวนาน เพื่อทำความเข้าใจว่า สมองของมนุษย์เกิดขึ้นมาอย่างไร ทำไมเราถึงถ่ายทอด ‘ความฉลาด’ หรือ ‘สติปัญญา’ ต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่นได้

ลักษณะที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้เรียกว่า Heritability เป็นเรื่องที่รุ่นลูกรับสืบทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ ความฉลาดหรือสติปัญญาก็เป็นลักษณะหนึ่งที่ถ่ายทอดได้ เพื่อให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในการเอาตัวรอด จึงเป็นเรื่องสำคัญในทางชีววิทยาวิวัฒนาการที่จะต้องศึกษา

ครั้งหนึ่ง เธอนำงานวิจัยเกี่ยวกับไอคิวของชาวอเมริกันและชาวบราซิล (ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ) มาสอนนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาร่วมกัน ‘ตรวจสอบ’ ว่า งานวิจัยนี้มี ‘ข้อจำกัด’ อย่างไรบ้าง เช่น ขนาดของข้อมูลที่ใช้ การควบคุมตัวแปรต่างๆ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีข้อบกพร่องในกระบวนการและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ อันจะทำให้เกิด ‘อคติ’ บางอย่างขึ้นมาได้

แต่ที่เธอรู้สึกประหลาดใจก็คือ นักศึกษาบางส่วนกลับหันไปสนใจประเด็นที่ว่า เราสามารถวัด ‘ไอคิว’ หรือ ‘ความฉลาด’ ของมนุษย์ได้จริงหรือ หรือว่าการวัดไอคิวนั้นเป็นแค่การสร้างวิธีการบางอย่างขึ้นมาเพื่อบอกว่าคนบางกลุ่ม (เช่นคนผิวขาว) มีความ ‘เหนือกว่า’ คนกลุ่มอื่น การวัดไอคิวคือการผลักไสคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ออกไปจากแวดวงความฉลาด หรือเลยไปถึงขั้นที่บอกว่า การส่งต่อสติปัญญาและความฉลาดทางพันธุกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างเป็นเรื่องทางสังคมล้วนๆ

มาโรฮาบอกว่า ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไอคิวคือเรื่องที่วัดได้แน่ๆ และมีคุณค่าในการใช้ทำนายอะไรได้หลายอย่างด้วย แน่นอน ไอคิวย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมด้วย โดยสองอย่างนี้มีสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง

นอกจากเรื่องไอคิวแล้ว เธอยังพบปรากฏการณ์คล้ายๆ กันนี้ เวลาต้องเปรียบเทียบ ‘มนุษย์’ กลุ่มต่างๆ ในทางชีววิทยา เช่น การเปรียบเทียบชายกับหญิง (เน้นอีกครั้งว่า –ในทางชีววิทยา) นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย และตอบโต้โดยไม่ได้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่ใช้หลักการทางการเมือง เช่น บอกว่านี่เป็นการแบ่งแยก เป็นการธำรงไว้ซึ่งความเหนือกว่าของผู้ชายหรือบางเชื้อชาติ โดยมักยกเรื่องความเสมอภาค การเหยียดเชื้อชาติ และการเหยียดเพศ เพื่อแสดงออกว่าไม่ควรมีการเรียนการสอนวิชาทางชีววิทยาเหล่านี้

วิธีคิดทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งในการถกเถียงในห้องเรียนและในอีเมลที่นักศึกษาเขียนมาบอกเธอว่า ทำไมเธอถึง ‘ไม่ควรสอน’ หัวข้อพวกนี้ ซึ่งบางคนก็เลยไกลไปถึงการปฏิเสธการศึกษาเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง เช่น การคัดเลือกตามธรรมชาติในหมู่เครือญาติ ที่เรียกว่า Kin Selection อันเป็นกลไกต่างตอบแทนในทางชีววิทยาสังคมที่ศึกษากันมานาน เป็นต้น

บทความนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ The Coddling of the American Mind ซึ่งเล่าถึงอาจารย์อีกคนหนึ่งที่เป็นผู้เขียนร่วม คือเกร็ก ลูเคียนอฟ (Greg Lukianoff) เกร็กเป็นอาจารย์ที่สนับสนุนเรื่อง Freedom of Speech เสมอมา ซึ่งปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร

เกร็กบอกว่า ในมหาวิทยาลัยก่อนหน้าปี 2013 ถ้าจะมีการเซ็นเซอร์ใดๆ เกิดขึ้น ก็จะเป็นการเซ็นเซอร์ของ ‘ฝ่ายอนุรักษนิยม’ คือการเซ็นเซอร์โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่คอยห้ามนักศึกษาทำโน่นทำนี่ แต่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เกร็กเริ่มสังเกตเห็นว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้เอาเรื่องราวหรือวัสดุการสอนที่มีลักษณะ Triggering หรือ ‘กระตุ้นเร้า’ ให้เกิดความย้อนแย้งขัดแย้งในความคิดออกไป

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาเริ่มตั้งป้อมประท้วง เวลาที่มหาวิทยาลัยเชิญคนที่มีแนวคิดตรงข้ามกับนักศึกษามาเป็นวิทยากร นั่นไม่ได้แปลว่ามหาวิทยาลัยไปเชิญคนที่มีแนวคิดแบบนีโอนาซีหรือขวาจัดมาคุยให้นักศึกษาเสรีนิยมฟังนะครับ แต่การประท้วงเริ่มเกิดขึ้นคล้ายๆ กับกรณีของมาโรฮานี่แหละ คือหลายเรื่องที่นักศึกษาเห็นว่า ‘ขัด’ กับความคิดความเชื่อของตัวเอง ก็จะพยายามประท้วงไม่ให้คนเหล่านั้นได้มาพูดคุยในมหาวิทยาลัย โดยมักเป็นเรื่องของ ‘การเมืองเชิงอัตลักษณ์’ หรือ Identity Politics

ตัวอย่างที่ยกไว้ในหนังสือก็คือ มหาวิทยาลัยโคลัมเบียมีหลักสูตรกลาง (Core Curriculum) เป็นเหมือนวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาทุกคนได้เรียน ในหลักสูตรนี้มีวิชาหนึ่งชื่อ Masterpieces of Western Literature and Philosophy หรือพูดถึงงานชิ้นเอกในวรรณกรรมและปรัชญาตะวันตก ซึ่งก็จะมีงานของกวีโอวิด โฮเมอร์ ดังเต้ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ อะไรทำนองนี้

ในปี 2015 เริ่มมีนักศึกษาประท้วงการเรียนการสอนเหล่านี้ โดยบอกว่า นักศึกษาควรได้รับความรู้สึก ‘ปลอดภัย’ ในชั้นเรียน แต่การต้องมานั่งเรียนวิชาต่างๆ ที่มีลักษณะเป็น ‘คำสอนตะวันตก’ (Western Canon) มากเกินไป ทำให้นักศึกษาบางส่วนรู้สึกทั้ง ‘ถูกกีดกัน’ (Exclusion) และ ‘ถูกกดขี่’ (Oppression) เนื่องจากเนื้อหาเหล่านี้กระตุ้นให้เหล่านักศึกษาเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ บางคนบอกว่าเนื้อหาในบทกวีเก่าแก่พวกนี้ เวลาอ่านและถกเถียงกับอาจารย์แล้วจะมีลักษณะ Emotionally Challenged คือท้าทายทางอารมณ์ ดังนั้นถ้าอาจารย์จะสอนอะไรพวกนี้ ก็ควรต้องบอกก่อน จะได้ไม่ลงเรียน

หรืออีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาโดยตรง ก็คืองานเขียนของนักชีววิทยาชื่อดังจากฮาร์วาร์ด อย่าง อี.โอ. วิลสัน (E.O. Wilson) ผู้เขียนถึงเรื่องที่ว่า กระบวนการทางวิวัฒนาการหล่อหลอมพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร ปรากฏว่านักศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นว่า งานเขียนของวิลสันไปสร้างความชอบธรรมให้กับการแบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศ และธำรงความไม่เสมอภาคของคนสองเพศเอาไว้ จึงไม่ควรอ่าน ไม่ควรนำมาสอน

วิธีคิดทำนองนี้ทำให้นักศึกษาอยาก ‘บล็อก’ คนที่เผยแพร่ความคิดไม่ต้องตรงกับตัวเองออกไป โดยให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า ถ้าปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามาสอนหรือมาเป็นวิทยากร ก็อาจ ‘ทำร้าย’ นักศึกษาได้ โดยเป็นการทำร้ายที่ ‘ลึก’ ไปถึงเรื่องทาง ‘สุขภาพ’ ด้วยซ้ำ เช่น อาจทำให้นักศึกษามีภาวะหดหู่ ซึมเศร้า จนร่างกายไม่อาจฟังก์ชั่นได้ดังที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้ เกร็กผู้สนับสนุน Freedom of Speech ตามรัฐธรรมนูญอเมริกันมาตลอด จึงเกิดความกังวล เพราะเขารู้สึกว่า มหาวิทยาลัยน่าจะเป็น ‘สิ่งแวดล้อม’ หนึ่งที่ดีที่สุดแล้วบนโลก ในอันที่จะ ‘ฝึก’ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ก่อนที่จะออกไปเผชิญหน้ากับโลกที่ยิ่งแตกต่างหลากหลายเข้าไปใหญ่

สำหรับเกร็กและผู้เขียนร่วมของเขา (คือโจนาธาน เฮดท์ – Jonathan Haidt) มหาวิทยาลัยคือ ‘โรงยิม’ ทางความคิดจิตใจ ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์อันก้าวหน้า มีเทรนเนอร์ที่เก่ง แถมยังมีแพทย์พยาบาลคอยดูแลอยู่ข้างสนาม ทำให้คนที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้ฝึกฝนทุกอย่างได้อย่างก้าวหน้าและหลากหลาย ได้ปะทะกันทางความคิด โยนและรับความคิดใหม่ๆ ในแบบที่จะขยายเส้นขอบฟ้าให้ตัวเองได้กว้างที่สุด หรือต่อให้บาดเจ็บ ก็มีคนคอยช่วยประคับประคองดูแลอยู่ใกล้ๆ

แต่การที่นักศึกษาอเมริกันรุ่นใหม่ๆ เห็นว่าตัวเอง ‘บอบบาง’ ถึงระดับที่ไม่อาจยอมรับฟัง arguments ต่างๆ ที่แตกต่างไปจากความคิดความเชื่อของตัวเองเพราะรู้สึกว่าจะเป็นอันตรายได้ถึงระดับ ‘สุขภาพ’ นั้น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะหากนักศึกษาเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างไปจากความคิดความเชื่อของตัวเองได้ แล้วยังหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับรู้ สัมผัส หรือเปิดกว้างเพื่อทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ในที่สุดก็จะยิ่งเข้าใจสิ่งที่แตกต่างจากตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ และเมื่อเรียนจบออกไปเผชิญหน้ากับโลกจริงที่หลากหลายกว่านี้ ก็อาจเป็นปัญหาต่อระบบรับรู้โลกของตัวเองได้

มาโรฮาก็คิดคล้ายๆ กันกับเกร็ก แต่ต่างกันที่หลักการ หลักการของเกร็กคือ Freedom of Speech ส่วนหลักการของมาโรฮาคือ ‘หลักฐานทางวิทยาศาสตร์’ เธอบอกว่า ถ้าหากนักศึกษาพยายามจะปกป้องความคิดความเชื่อหรือ worldview ของตัวเอง ด้วยการ ‘ปฏิเสธ’ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ก็จะส่งผลต่อการเรียนการสอน เพราะจะทำให้ผู้สอนเลือกที่จะ ‘เซนเซอร์ตัวเอง’ เลือกสอนแต่เรื่องที่นักศึกษาอยากรับรู้ สุดท้าย นักศึกษาเหล่านี้ก็จะไม่ได้ ‘เห็นโลก’ อย่างที่โลกเป็นจริงๆ แต่จะได้รับรู้เฉพาะโลกในแบบที่ตัวเองอยากเห็นเท่านั้น

ทั้งเกร็กและมาโรฮาเห็นเรื่องเดียวกัน มันคือเรื่องที่ซับซ้อนและย้อนแย้งของชุดความคิดที่แตกต่างและโผเข้าปะทะกันอย่างรุนแรง ทั้งที่ชุดความคิดทั้งสองต่างก็เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งคู่

นี่จึงอาจเป็นได้ทั้งเรื่องอันตราย และอาจเป็นได้ทั้งโอกาสในการเรียนรู้ทำความเข้าใจ ว่าอะไรนำทางเรามาถึงภาวะแบบนี้ได้ และเราจะแก้ไขมันได้อย่างไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save