fbpx

การเมืองอัตลักษณ์-Hate Speech กับการร่วมหอ PH–BN หลังเลือกตั้งมาเลเซีย

Mohd RASFAN / AFP: ภาพประกอบ

ปรากฏการณ์การจับมือตั้งรัฐบาลระหว่างแนวร่วมพรรคการเมืองอย่างน้อย 3 ขั้ว คือปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan – PH) นำโดยอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ประธานพรรค PKR (People’s Justice Party) กับแนวร่วมบาริซาน เนชันแนล (Barisan Nasional – BN)  นำโดยอาห์หมัด ซาฮีด ฮามิดี (Ahmad Sahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโน (UMNO)  และแนวร่วมจีพีเอส (Gabungan Parti Sarawak – GPS) จากรัฐซาราวัก จัดตั้งรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมได้สำเร็จ หลังจากที่สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลลาห์ (Abdullah) ทรงแสดงพระราชประสงค์ให้แนวร่วมพรรคการเมืองทุกฝ่าย ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ (unity government) เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศชาติ นับเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่อีกครั้งหนึ่งของการเมืองมาเลเซียที่แกว่งไกวอยู่ในความไม่แน่นอนมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี

มาเลเซียอยู่ในห้วงสุญญากาศทางการเมืองเป็นเวลา 5 วัน หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อผลการนับคะแนนชี้ว่าในบรรดาแนวร่วมพรรคการเมืองใหญ่ 3 กลุ่ม ไม่มีกลุ่มใดได้รับเสียงข้างมากในสภาฯ เกินครึ่งของทั้งหมด 222 เสียง เป็นความชะงักงันทางรัฐสภาและทางการเมืองแบบ hung parliament ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ 

ผลการนับคะแนนชี้ชัดว่า การจะตั้งรัฐบาลใหม่ต้องการรวมตัวกันของแนวร่วมพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 กลุ่มที่เพิ่งแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายในการรณรงค์หาเสียง

ผลการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งพบว่า แนวร่วม PH ได้จำนวนที่นั่งในสภาฯ สูงสุดที่ 82 ที่นั่ง ตามมาด้วยแนวร่วม PN หรือเปอริกาดัน เนชันแนล (Perikatan Nasional – PN) ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มูยีดดีน ยาสซีน (Muhyiddin Yassin)  73 ที่นั่ง ก่อนที่ต่อมาได้เพิ่มอีก 1 ที่นั่งจากการเลือกตั้งในเขตหนึ่งของรัฐเคดะห์ที่ล่าช้ากว่าปกติ ส่วนแนวร่วม BN นำโดยอัมโนรั้งท้ายสุดในบรรดาแนวร่วมหลักทั้งสาม โดยได้ที่นังในสภาฯ เพียง 30 ที่นั่ง ส่วนในเขตบอร์เนียว แนวร่วม GPS จากซาราวักได้ 22 ที่นั่ง และที่เหลือเป็นแนวร่วมเล็กๆ จากซาบาห์ และอื่น ๆ

แม้การสำรวจแนวโน้มผลการเลือกตั้งหลายค่ายจะทำนายทายทักได้ถูกต้องว่าแนวร่วม PH จะมีคะแนนนำในขณะที่ไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด แต่สิ่งที่สร้างความแปลกใจให้นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยคือการผงาดขึ้นของแนวร่วม PN ด้วยจำนวนที่นั่งในสภาฯ ถึง 73 ที่นั่ง มากกว่าการคาดการณ์และผลการสำรวจก่อนหน้านั้น แนวร่วม PN ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลักคือ เบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia) และพรรคพาส (Parti Islam se-Malaysia – PAS) พรรคอิสลามที่มีที่มั่นอยู่ที่รัฐกลันตัน ทางตอนเหนือของมาเลเซีย

ถึงแม้ปัจจัยประกอบการลงคะแนนเสียงของชาวมาเลเซียจะมีมากมายหลายอย่าง แต่มีการคาดการณ์ก่อนแล้วว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้สนามเลือกตั้งจะร้อนระอุจากสงครามแย่งชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามหรือกลุ่มภูมิบุตรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีกว่า 62% ของประชากรทั้งหมด เหตุผลสำคัญคือแนวร่วม PN และ BN ที่เคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองชูธงมลายูนิยมร่วมกัน มาครั้งนี้แยกเป็นสอง โรมรันพันตูช่วงชิงเสียงกลุ่มภูมิบุตรกันอย่างดุเดือด ในขณะที่แนวร่วม PH เองที่แม้ประกาศยึดหลักการการเมืองหลากหลายเชื้อชาติและได้เสียงส่วนใหญ่ของชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่น (non-Malay) รวมทั้งเสียงชาวมลายูในเมืองใหญ่ไปครอง แต่คะแนนจากพลเมืองภูมิบุตรในพื้นที่ห่างไกลก็ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะแสดงว่า PH สามารถเป็นตัวแทนของพลเมืองทุกเชื้อชาติในประเทศได้จริง

ในสนามเลือกตั้ง พรรคอัมโน ผู้นำแนวร่วม BN ที่มีฐานเสียงหลักเป็นกลุ่มภูมิบุตร และมักเน้นจุดแข็งในแง่ความเป็นมลายูที่ทันสมัยและก้าวหน้าของตนที่มีเหนือกว่าคู่แข่งอย่างพรรคพาส มาครั้งนี้กลับเพลี่ยงพล้ำให้แก่แนวร่วม PN เนื่องจากภาพพจน์อันด่างพร้อยจากกรณีทุจริตของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และนาย ซาฮีด ฮามิดี ประธานพรรคเองที่ยังมีคดีทุจริตใหญ่อยู่ในศาล โดยนักการเมือง PN โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูยีดดีน และอับดุล ฮาดี อาหวัง (Abdul Hadi Awang) ผู้นำพรรคพาส ก็คอยกระหน่ำโจมตีประเด็นทุจริตของผู้นำพรรคอัมโน พยายามชี้ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่มุสลิมที่ดี ผิดกับฝ่ายตนที่เป็นมลายูและมุสลิมที่ดีและสามารถทำหน้าผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวมลายูทั้งปวงได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ในการต่อสู้กับแนวร่วม PH ดูเหมือนว่า PN โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮาดี อาหวัง อูลามา (ulama) แห่งพรรคพาส จะใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีทางเชื้อชาติ โดยเน้นไปที่การโจมตีพรรค DAP (Democratic Action Party) สมาชิกแนวร่วม PH เป็นพิเศษ โดยพรรค DAP มีผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และมีฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้มีเชื้อสายจีนเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งฮาดี อาหวัง กล่าวในที่สาธารณะว่า ประชากรที่ไม่ใช่มลายูและไม่นับถือศาสนาอิสลามคือต้นตอของการทุจริตในมาเลเซีย และอีกครั้งหนึ่งระหว่างการเทศน์ในมัสยิดแห่งหนึ่งที่รัฐตรังกานูซึ่งถ่ายทอดสดผ่าน Facebook เขายืนยันว่าพรรคพาสจะเดินหน้าต่อต้าน PH ต่อไป เพราะแนวร่วม PH เป็นที่พักพิงของคอมมิวนิสต์ ต่อต้านสุลต่าน สนับสนุนกลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ คนข้ามเพศ (LGBT) และพวกทุจริต 

ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง มูยีดดีน ยาซซีน ประธานพรรคเบอร์ซาตูและแนวร่วม PN ก็กระโดดเข้าร่วมวง ในการปราศรัยที่รัฐยะโฮร์ เขากล่าวว่าพวกยิวและคริสเตียนกำลังวางแผนยึดมาเลเซียเป็นเมืองขึ้นผ่านตัวแทนของตนซึ่งก็คือแนวร่วม PH คำกล่าวของเขากลายเป็นข่าวอื้อฉาวในมาเลเซีย และทำให้สภาคริสตจักรมาเลเซียถึงกับต้องออกหนังสือประท้วง

การตรวจสอบการรายงานข่าวเกี่ยวกับการรณรงค์หาเลียงเลือกตั้งระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน โดยองค์กรเพื่อสื่อมวลชน Center for Independent Journalism (CIJ) มาเลเซีย ชี้ว่า ฮาดี อาหวัง เป็นหนึ่งในนักการเมืองหลักที่สร้างวาทกรรมแบ่งแยก เชื้อชาตินิยม และความเกลียดชังในระหว่างการหาเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง 

มาห์ยุดดีน อาห์หมัด (Mahyuddin Ahmad) นักวิชาการด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย Sains Malaysia ชี้ว่าวาทกรรมที่กระตุ้นความเกลียดชัง (hate speech) บนฐานของเชื้อชาติและศาสนา ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัวและความเป็นปรปักษ์ต่อชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งจะช่วยให้ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูตัดสินใจลงคะแนนเสียงเพื่อต่อต้านแนวร่วม PH เพื่อไม่ให้สิทธิของความเป็นมลายูและมุสลิมของพวกเขาไม่ถูกริดรอนหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่น และหากดำเนินเช่นนี้ต่อไป จะทำให้พื้นที่สำหรับการเมืองที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มในระบอบประชาธิปไตยมาเลเซียต้องลดน้อยลง

วาทกรรมเชื้อชาตินิยมและความเกลียดชังไม่ได้แพร่หลายในเวทีปราศรัยของนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok เช่น TikTok ที่โพสต์เรื่องเหตุการณ์กลุ่มชายฉกรรจ์มลายูสังหารหมู่ชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2512 หลังจากที่พรรค DAP ชนะเลือกตั้งในกัวลาลัมเปอร์ โดยบางโพสต์สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สื่อมวลชนบางค่ายพบว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นเนื้อหาที่ได้รับการจ่ายเงินในลักษณะ paid partnership แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้จ่าย

การวิเคราะห์การลงคะแนนเสียงตามเชื้อชาติผู้ลงคะแนนให้ภาพที่ดูเหมือนว่าวาทกรรมความเกลียดชังจะใช้ได้ผลสำหรับมาเลเซียเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาช่วงการหาเสียงของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บทความของ Bridget Welsh นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมาเลเซียวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับมิติทางเชื้อชาติในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในคาบสมุทรมาเลเซีย โดยชี้ว่าในขณะที่ประเด็นเชื้อชาติไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ใน พ.ศ. 2561 ที่แนวร่วม PH ชนะถล่มทลาย แต่มันก็กลับมาโดดเด่นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหันไปใช้ประเด็นอัตลักษณ์ (มลายู-อิสลาม) ในการระดมเสียงสนับสนุนที่รุนแรงขึ้น

Welsh ชี้ว่าผลการประเมินเบื้องต้นของการลงคะแนนเสียงตามเชื้อชาติของผู้ลงคะแนน พบว่าแนวร่วม PN ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนกลุ่มภูมิบุตรบนคาบสมุทรมาเลเซียราว 54% แต่ในขณะเดียวกันกลับแทบไม่ได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเชื้อสายอื่นเลย โดยประเมินว่าได้เพียง 0.05%

สรุปได้ว่า แนวร่วม PN แทบจะได้เสียงสนับสนุนจากประชากรภูมิบุตรล้วนๆ ยกเว้นเพียง 5% ที่มาจากผู้มีสิทธิออกเสียงเชื้อสายอื่นซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘โอรัง อัสลี’ (Orang Asli)

PN กวาดที่นั่งชาวภูมิบุตรแซงหน้าแนวร่วม BN ที่เคยครองฐานเสียงชาวมลายูอย่างหนักแน่นและกว้างขวาง ในการเลือกตั้งครั้งที่ 14 มีการประมาณว่า BN ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากกลุ่มภูมิบุตรประมาณ 43% แต่เมื่อมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้เสียงสนับสนุนที่ว่าได้ลดลงถึง 10% ส่งผลให้พรรคอัมโน แกนนำแนวร่วม เสียที่นั่งในสภาจำนวนมาก นอกจากนั้น BN ยังได้รับคะแนนเพียง 3% จากผู้มีเชื้อสายจีน และ 2% จากประชากรเชื้อสายอินเดีย

สาเหตุหลักของความเพลี่ยงพล้ำของอัมโน–BN มาจากความฉาวโฉ่ในคดีทุจริต ที่ผู้นำระดับสูงของพรรคมีส่วนเกี่ยวข้องหลายคดี ผนวกกับความแตกแยกภายในพรรค โดยมีความเป็นไปได้ว่าผู้มีสิทธิออกเสียงชาวภูมิบุตรที่ไม่ปรารถนาจะลงคะแนนให้ PH ต้องหันเข้าหา PN เพื่อเป็นทางเลือก และอาจเป็นไปได้อีกด้วยว่าวาทกรรมแห่งความเกลียดชังบนฐานของเชื้อชาติ-ศาสนานิยมอาจต้องใจสมาชิกกลุ่มภูมิบุตรจำนวนไม่น้อย ดูได้จากจำนวน ส.ส. ผู้ได้รับเลือกตั้งของ PN ที่มีมากเกินความคาดหมาย

สำหรับแนวร่วม PH ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ระดับการสนับสนุนจากกลุ่มภูมิบุตรส่งสัญญานที่ไม่ดีนักเพราะลดจากราว 25% ในการเลือกตั้งปี 2561 เหลือเพียง 11% ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งแม้ Welsh จะบอกว่าเป็นเพียงตัวเลขประมาณการเบื้องต้น  แต่ก็พอจะทำให้เห็นภาพสถานการณ์ที่รัฐบาลอันวาร์กำลังเผชิญอยู่  อย่างไรก็ตาม PH ได้เสียงสนับสนุนจากชาวมาเลเซียเชื้อสายอื่นในเปอร์เซนต์ที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยได้รับเสียงจากผู้ลงคะแนนเชื้อสายจีนและเชื้อสายอินเดียประมาณ 94% และ 83% ตามลำดับ โดยเหตุผลประการหนึ่งอาจมาจากกระแสตีกลับต่อการรณรงค์หาเสียงแบบเชื้อชาติและศาสนานิยมของฝ่ายตรงข้าม

ถึงแม้ว่าในเบื้องต้น ผู้สนับสนุน PH และอันวาร์ อิบราฮิม จะอิหลักอิเหลื่อกับการแต่งตั้งซาฮีด ฮามิดี ประธานพรรคอัมโน-BN ผู้กำลังต่อสู้คดีทุจริตใหญ่ในศาล ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ แต่เสียงคัดค้านก็แผ่วหายไป ถูกแทนที่โดยเสียงสะท้อนเรื่อง ‘ความเป็นจริงทางการเมือง’ ที่เริ่มดังขึ้น เพราะถึงที่สุดก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า BN เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลอันวาร์เป็นจริง ในขณะเดียวกัน Welsh ชี้ว่า PH ต้องการเสียงของประชากรภูมิบุตรที่มากพอที่จะทำให้รัฐบาลใหม่อยู่ในฐานะตัวแทนที่แท้จริงของประชากรมาเลเซีย การจับมือกับ BN ย่อมทำให้รัฐบาลใหม่อ้างได้ว่า อย่างน้อยประชากรภูมิบุตร 46% บนคาบสมุทรมาเลเซียยืนอยู่ข้างตน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหาเสียงแบบการเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) วาทกรรมแห่งความเกลียดชังบนฐานของเชื้อชาติ-ศาสนา ประสบความสำเร็จในการลงคะแนนแบ่งขั้วการลงเสียงของชาวมาเลเซียอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดกระแสความหวั่นใจว่า หากไม่มีการแก้ไขแต่เนิ่นๆ บาดแผลความแตกแยกทางเชื้อชาติที่ถูกการเมืองปลุกปั่นมาตั้งแต่อดีตจะยิ่งขยายกว้างขึ้น

ในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2554 พรรคริพับลิกัน (Republican) ได้คะแนนเสียงเกือบ 60% ของชาวอเมริกันผิวขาว  ที่จำนวนมากอาศัยในพื้นที่ชนบทและเป็นชาวคริสเตียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายอิแวงเจลิคัล ในขณะที่พรรคเดโมแครต (Democrat) ได้คะแนนเสียงสนับสนุนของชนกลุ่มน้อยกว่า 70% ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกันอเมริกัน อาเซียนอเมริกัน หรือชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิก ส่วนคะแนนเสียงชาวอเมริกันผิวขาว 40% ที่ได้รับ มาจากคนเมืองมากกว่าชนบท

ริพับลิกันกลายเป็นพรรคที่มีฐานเสียงอเมริกันชนผิวขาวในชนบท ในขณะที่เดโมแครตกลายเป็นพรรคของชนกลุ่มน้อย ที่มาเลเซีย พรรคและแนวร่วมพรรคการเมืองมลายูนิยมครองเสียงชาวมลายูรวมกันกว่า 70% ในโลกที่การแบ่งแยกเป็น new normal และ hate speech เป็นเรื่องธรรมดา การเมืองอเมริกันเริ่มขยับเข้ามาใกล้กับมาเลเซียมากขึ้นอย่างน่าประหลาด ที่สหรัฐอเมริกา ผู้สนับสนุนพรรคริพับลิกันจำนวนมากเชื่อว่าชนผิวขาวเป็นเจ้าของประเทศ และจะไม่ยอมให้พลเมืองเชื้อชาติอื่นมาทำลายหรือช่วงชิงสิทธินี้ไปจากพวกเขา ในมาเลเซียประชากรเชื้อสายมลายูได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายหลายประการ และเชื่อว่าเชื้อชาติของตนเท่านั้นเป็นเจ้าของที่แท้จริงของประเทศ และจะไม่ยอมให้พลเมืองเชื้อชาติอื่นมาทำลายสิทธินี้ของพวกตน

แน่นอนว่าชีวิตการเมืองอันยาวนานของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย ทำให้เขาซาบซึ้งถึงประเด็นปัญหาอันลึกซึ้งนี้ดี ในขณะที่เข้ารับตำแหน่งท่ามกลางความคาดหวังชนิดพิเศษที่ไม่เคยมีนายกฯ มาเลเซียคนใดต้องรับมาก่อน นั่นก็คือความคาดหวังให้เขาเป็นผู้นำที่ “ทำมาเลเซียให้เป็นหนึ่งเดียว” (unify the country) 

เป็นภาระอันยากยิ่งของอันวาร์ในบรรยากาศการเมืองที่ยังไม่มั่นคง และท่ามกลางวาทกรรมแห่งความเกลียดชังจากฝ่ายตรงข้ามที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ


อ้างอิง

Hadi Awang slammed for racial, seditious comment on ‘roots of corruption

This is why racially charged GE15 content on TikTok isn’t moderated

Social media monitor finds ‘Ketuanan Melayu’ narrative on the rise ahead of GE15, PAS’ Hadi ‘key amplifier’ of hate speech

In Muar, Muhyiddin warns ‘Jewish and Christian’ agenda

COMMENT | A divided electorate: Preliminary analysis on ethnic voting

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save