fbpx

มายาการแห่งอัตลักษณ์: ความหลงผิดว่าด้วยอัตลักษณ์กับการแยกขั้วแยกข้างในสังคม

ในงานเสวนาสาธารณะ ‘สังคมไทยกับความขัดแย้งและการประสมประสานทางสังคม’ ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายสันติภาพและความขัดแย้งศึกษาไทย[1] เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กีรติยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำในหัวข้อ ‘Bridging Troubled Waters in Polarized Societies: A Music-Inspired Analysis'[2] โดยกล่าวในตอนหนึ่งของปาฐกถาว่า ‘สังคมแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึก’ (polarized societies) นั้นมีพลวัตแตกต่างจากสังคมที่มีความขัดแย้งโดยทั่วไปอื่นๆ

ชัยวัฒน์ชี้ว่า แม้ความขัดแย้งจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมมนุษย์ทุกแห่งหนเพราะแต่ละสังคมล้วนประกอบด้วยผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทั้งในความต้องการ ความคิด-ความเชื่อ และค่านิยม แต่หากเป็นสังคมนั้นเป็นสังคมแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึกที่คนมีความคิดเห็นแตกต่างแบบคู่ตรงข้ามแทบจะในทุกเรื่อง ก็ส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหรือกลุ่มคนที่แตกต่างกันลดน้อยลงไปเรื่อยๆ กระทั่งอาจไม่หลงเหลือปฏิสัมพันธ์หรือความเคารพและมีความเห็นอกเห็นใจระหว่างกันและกันอีกเลย ดังนั้นจึงง่ายต่อการใช้ความรุนแรงต่อกัน กระทั่งอาจพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่โหดร้ายถึงขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศรวันดาเมื่อ ค.ศ.1994

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าการแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึกในสังคมใดๆ ล้วนไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หรือเป็นเช่นนั้นอย่างทันทีทันใด หากแต่มีองค์ประกอบและสัญญาณเตือนบางประการ ที่สมาชิกในสังคมอาจสามารถช่วยกันเฝ้าระวังและพยายามป้องปรามไม่ให้สังคมถลำลึกไปสู่การแยกขั้วแบ่งข้างที่ร้าวลึกยิ่งขึ้นได้

ในความเห็นของผู้เขียน องค์ประกอบและสัญญาณเตือนของการแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึกในสังคม ได้แก่ สิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ เรียกว่า ‘มายาการแห่งอัตลักษณ์’[3] อันหมายถึง มายาคติหรือความหลงผิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของมนุษย์เราอย่างน้อยใน 2 มิติที่เชื่อมโยงกัน ในทางหนึ่งคือมายาคติที่เชื่อว่ามนุษย์มีอัตลักษณ์ (identity) ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเราแค่เพียงหนึ่งเดียว และอีกประการหนึ่งคือมายาคติที่เชื่อว่าในอัตลักษณ์ ‘ของเรา’ นั้นต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง (purity) โดยไม่อาจถูกเจือปนหรือแปดเปื้อนจากการมีปฏิสัมพันธ์หรือประสบการณ์ร่วมกับผู้คนหรือกลุ่มคนที่เรามองว่าเป็น ‘คนอื่น’ ได้

ในมิติแรก เหตุผลหนึ่งที่การแยกตัวระหว่าง ‘พวกเรา’ และ ‘พวกเขา’ เกิดขึ้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันได้ง่าย ก็เพราะมนุษย์หลงติดอยู่ในมายาคติที่เห็นว่าเราต่างมีอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเราแค่เพียงหนึ่งเดียว หรืออย่างน้อยก็มีอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของเราได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดเพียงหนึ่งเดียวจนบดบังอัตลักษณ์อื่นๆ ที่เรามีไปเสียหมด อาทิ ใครบางคนอาจมองเห็นตนเองในฐานะสมาชิกของชุมชนศาสนาใดศาสนาหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ตระหนักว่าตนมีอัตลักษณ์อื่นใดอีกหรือไม่เห็นว่าอัตลักษณ์อื่นมีความสำคัญต่อตัวตนของเธอหรือเขาเทียบเท่าการเป็น ‘ชาวพุทธ’ หรือ ‘มุสลิม’ อีกแล้ว ในทำนองเดียวกัน ใครบางคนอาจมองเห็นตนเองว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น คือเป็น ‘นักอนุรักษ์นิยม’ หรือ ‘นักประชาธิปไตย’ โดยไม่ตระหนักหรือให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง สมาชิกของสมาคมทางวิชาชีพ หรือองค์กรทางสังคมอื่นใดที่ตนมีร่วมกับคนอื่น จึงทำให้เข้าใจไปว่าตนสามารถตัดขาดและแยกตัวออกจากมนุษย์คนอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาหรืออุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันกับตนหรือพวกของตนได้อย่างเบ็ดเสร็จ

พูดอีกนัยหนึ่งคือ การที่ ‘อัตลักษณ์’ อันหลากหลาย (identities) ของเราถูกลดทอนให้เหลือเพียง ‘เอกลักษณ์’ (identity) เพียงหนึ่งเดียวนี้เองที่เอื้อต่อการแบ่งขั้วแยกข้างร้าวลึกในสังคมจนสามารถนำไปสู่ความรุนแรงระหว่างกันได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

‘มายาการแห่งอัตลักษณ์’ ในอีกมิติหนึ่งคือมายาคติหรือความหลงผิดที่เชื่อว่าอัตลักษณ์ ‘ของเรา’ นั้นต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยไม่ถูกเจือปนหรือแปดเปื้อนจากการมีปฏิสัมพันธ์หรือประสบการณ์ร่วมกับผู้คนหรือกลุ่มคนที่เรามองว่าเป็น ‘คนอื่น’[4] อาทิ คนจำนวนหนึ่งมองว่า ‘ความเป็นไทย’ ที่จริงแท้ได้เพียงแค่แบบเดียวเท่านั้น ใครก็ตามที่มีความเข้าใจหรืออธิบาย ‘ความเป็นไทย’ ผิดเพี้ยนไปจากแบบแผนนี้ก็ย่อมถูกตีตราว่า ‘ไม่เป็นไทย’ หรือเป็น ‘ไทยไม่แท้’ ดังนั้นจึงมีศักดิ์ศรีหรือคุณค่าน้อยกว่า ‘ความเป็นไทยที่จริงแท้’ กระทั่งอาจสมควรจะถูกขับไล่หรือกำจัดให้พ้นไปจากชุมชนแห่งนี้เสียด้วยซ้ำ

หรือหากพิจารณาถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวพุทธ ผู้คนจำนวนหนึ่งก็มุ่งแสวงหาความเป็น ‘พุทธแท้’ ที่ไม่อาจมีความคิด-ความเชื่อหรือประสบการณ์อื่นมาเจือปนได้ เช่น การที่พุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่าเป็น ‘ภัยใหญ่หลวงของชาวพุทธ’[5] หรือล่าสุดที่องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพเดินทางไปยื่นหนังสือถึงกรรมการบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เรียกร้องให้ร้านสะดวกซื้อในเครือของบริษัท “ต้องมีชั้นวางจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีตราฮาลาล มาให้กลุ่มลูกค้าคนไทยพุทธ จีน คริสต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ”[6] ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความเข้าใจที่ว่า ‘คนอื่น’ จะเอาวิถีชีวิตแบบอื่นมาเจือปนหรือผสมปนเปกับวิถีแบบ ‘พุทธแท้’ ไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน หากใครคนหนึ่งสมาทานตนเป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งเสียแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาไปเสวนาปราศรัยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากเรา หรือแม้กระทั่งกับคนที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองมั่นคงหรือ ‘บริสุทธิ์’ เท่ากับเรา เพราะจะทำให้อุดมการณ์ของเราแปดเปื้อนได้ ดังสะท้อนให้เห็นในวาทกรรม ‘สลิ่ม เฟส 2’ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่คนจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน

ในทางหนึ่ง มายาการแห่งอัตลักษณ์เปรียบเสมือนกำแพงอันแน่นหนาที่คอย ‘ปกป้อง’ พวกเราไว้ภายใน ช่วยให้เรารู้สึกมั่นคงปลอดภัยและอบอุ่นท่ามกลางพวกเดียวกัน แต่ในเวลาเดียวกัน กำแพงนี้ก็ ‘กีดกัน’ คนอื่นไว้ภายนอก ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นหรือเข้าใจคนอื่นจากแง่มุมของพวกเขาได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งการแบ่งเขาแบ่งเรานี้ ไม่ได้เป็นเพียง ‘กำแพงระดับสายตา’ ที่ทำให้เราไม่สามารถเห็นหรือเข้าใจคนอื่นในระดับที่เท่าเทียมกันเท่านั้น หากแต่เป็น ‘ป้อมปราการ’ ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาสูง ก่อให้เกิดความรับรู้ในหมู่พวกเราว่าเรานั้นสูงส่งหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจคนอื่นเลย กระทั่งนำไปสู่ความรู้สึกดูแคลนและหวาดระแวง ทำให้การก่อความรุนแรงต่อคนที่เราเห็นว่าด้อยกว่าเรานั้นเกิดขึ้นได้ง่ายยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน นักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่างตั้งข้อสังเกตว่าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอาจส่งผลทำให้บางสังคมยิ่งแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึกมากขึ้น ในที่นี้ เซเนป ตูเฟคชี (Zeynep Tufekci) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายตุรกี ระบุว่าการแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึกในสังคมไม่ได้เป็นผลมาจากความทันทีทันใดของโลกออนไลน์หรือปัญหาข่าวปลอม (fake news) เสียทีเดียว หากแต่เป็นเพราะสิ่งที่เธอเรียกว่า ระบบนิเวศ (ecosystem) ของโซเชียลมีเดีย

ตูเฟคซีอธิบายว่า “ในยุคสมัยและบริบทของโซเชียลมีเดีย การเผชิญหน้ากับความเห็นที่แตกต่างจากที่เรายึดถือนั้น ต่างออกไปจากการอ่านความเห็นเหล่านี้ในหนังสือพิมพ์หรือขณะที่เรานั่งอยู่แต่เพียงลำพังมาก เพราะการได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านความเห็นเหล่านี้จากคนที่เรามองว่าเป็น ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ขณะที่เราอยู่ท่ามกลาง ‘กองหนุน’ หรือกลุ่มคนที่เราเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันกับเรานั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการนั่งเชียร์ฟุตบอลในสนามขนาดใหญ่”[7] ที่เราพร้อมจะโห่ร้องไปกับกองเชียร์ฝ่ายเดียวกันเมื่อเห็นทีมของตัวเองทำประตูได้ หรือเห็นทีมของฝ่ายตรงข้ามเพลี่ยงพล้ำ อีกทั้งพร้อมจะนิ่งเงียบหากทีมที่เราเชียร์อยู่ทำผิดกติกา เพราะจะทำให้ถูกมองว่าเป็นการทรยศ ‘พวกเดียวกันเอง’ พูดอีกนัยหนึ่งคือ ในระบบนิเวศของโซเชียลมีเดียนั้น “ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันดูจะมีความสำคัญยิ่งกว่าข้อเท็จจริงว่าอะไรถูกหรือผิดเสียอีก” (belonging is stronger than facts)[8]

ในที่นี้ ผู้เขียนเห็นว่าความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันไม่เพียงสำคัญกว่าข้อเท็จจริงว่าถูกหรือผิดเท่านั้น หากในหลายกรณียังอาจสำคัญกว่าหลักการบางประการเสียด้วยซ้ำ เช่น กรณีล่าสุดที่ ‘ลุงศักดิ์’ หรือ นายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล ปรี่เข้าไปชกต่อย นายศรีสุวรรณ จรรยา ขณะกำลังแถลงข่าวเรื่องการร้องเรียนให้ตรวจสอบการแสดง ‘เดี่ยว 13’ ของโน๊ต อุดม แต้พานิช เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนใน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ จำนวนไม่น้อยถูกอกถูกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แสดงความเห็นไปในทางสนับสนุน กระทั่งมีรายงานข่าวว่า ยอดเงินบริจาคเข้าบัญชีของนายวีรวิชญ์กว่า 6 ล้านบาท[9] ทว่าเมื่อแกนนำและผู้คนใน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ บางคนแสดงความคิดเห็นไปในแนวทัดทานว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ ด่าทอ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘ทัวร์ลง’ จากคนใน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ด้วยกันเองอย่างไม่ขาดสาย[10] ดังนั้นแล้ว การที่ใครบางคนใน ‘พวกเรา’ จะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ทัดทานหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อการกระทำของพวกเดียวกันเอง กระทั่งจะหยิบยื่นมิตรไมตรีหรือแม้แต่ความเห็นอกเห็นใจไปให้ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

กล่าวโดยสรุปแล้ว มายาการแห่งอัตลักษณ์ ที่ในทางหนึ่งทำให้เราเห็นว่า ‘คนอื่น’ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับตัวเราเลย อีกทั้งยังไม่ได้มีศักดิ์ศรีหรือคุณค่าทัดเทียมกับ ‘พวกเรา’ นั้น ย่อมสามารถนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อ ‘คนอี่น’ (the other) ได้ไม่ยากนัก การปรากฏขึ้นและดำรงอยู่ของมายาการแห่งอัตลักษณ์ทั้ง 2 มิตินี้ จึงเป็นทั้งองค์ประกอบของสังคมแยกขั้วแบ่งข้างร้าวลึก อีกทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนว่าสังคมดังกล่าวน่าจะกำลังถลำลึกไปสู่การแยกขั้วแบ่งข้างที่ร้าวลึกยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในอนาคต

หากความพยายามเฝ้าเตือนตัวเองและคนใกล้ชิดไม่ให้ตกหลุมพรางของมายาการแห่งอัตลักษณ์พอจะมีความสำคัญอยู่บ้างในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ในแง่ที่จะสามารถช่วยป้องปรามไม่ให้สำคัญผิดว่าเราสามารถตัดขาดตัวเองออกจาก ‘คนอื่น’ ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และอัตลักษณ์ของเรานั้นบริสุทธิ์เสียจนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันได้ง่ายๆ การระมัดระวังตัวไม่ให้หลงผิดไปกับมายาการแห่งอัตลักษณ์ก็อาจยิ่งเพิ่มความสำคัญขึ้นไปอีกอย่างยิ่งยวดในห้วงเวลาที่สังคมไทยและสังคมโลกเต็มไปด้วยรอยปริแตกร้าวลึกแห่งการแยกขั้วแบ่งข้าง ทั้งในโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอยู่ในปัจจุบัน

References
1 เครือข่ายเครือข่ายสันติภาพและความขัดแย้งศึกษาไทย เป็นความร่วมมือของนักวิชาการและสถาบันวิชาการด้านสันติศึกษา 4 สถาบัน ได้แก่ (1) โปรแกรมวิจัยสันติภาพกับความขัดแย้งศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (2) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (3) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ (4) ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมุ่งสร้างและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้ง ความรุนแรงและสันติภาพในสังคมไทย
2 ปาฐกถาในภาษาอังกฤษ
3 ชัยวัฒน์ สถาอานันท์,  ท้าทายทางเลือก:  ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง (ฉบับปรับปรุงใหม่) (กรุงเทพ: Protestista, 2557), 84-87. ทั้งนี้ในหนังสือเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่า ‘มายาการแห่งเอกลักษณ์’ หากจากการหารือกับ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เห็นว่าในปัจจุบันควรเปลี่ยนแปลงจากคำว่า ‘เอกลักษณ์’ เป็น ‘อัตลักษณ์’ เสียแทน
4 Chaiwat Satha-Anand, “Mitigating the Toxicity of Identities in Asia?” in Jolene Jerard and Amanda Huan (Eds.), Faith, Identity, Cohesion: Building a Better Future (Singapore: World Scientific Publishing, 2020).
5 “ปมดราม่า “ชัชชาติ” สวมชุดอาหรับกับกระแสตีกลับต่อพระสงฆ์” ใน บีบีซีไทย, https://www.bbc.com/thai/articles/c6pzx3p07ggo (ตีพิมพ์เมื่อ 6 กันยายน 2565), เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2565.
6 “ฮาลาลในเซเว่นอีเลฟเว่น คือ การปล้นชาติและศาสนา?” ใน บีบีซีไทย, https://www.facebook.com/BBCnewsThai/posts/pfbid0NWkFYivb6A2czxjs5AmZHAKVWf7K8iWNGnUrEEmE4T6NNnNXJ9TbwSu91ETzceWil (ตีพิมพ์เมื่อ 20 กันยายน 2565), เข้าถึงเมื่อ 22 กันยายน 2565.
7 Zeynep Tufekci, “How social media took us from Tahrir Square to Donald Trump” in MIT Technology Review, https://www.technologyreview.com/2018/08/14/240325/how-social-media-took-us-from-tahrir-square-to-donald-trump/ (August 14, 2018) quoted in Chaiwat Satha-Anand, “Bridging Troubled Waters: Forging Cohesion in Divided Societies” in RSIS Commentary No.69 – June 22, 2022.
8 Ibid.
9 “เผยยอดบริจาคชายเสื้อแดงตบศรีสุวรรณ 6,589,841.12 บาท” ใน MGR Online (ตีพิมพ์เมื่อ 19 ตุลาคม 2565), เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2565.
10 ตัวอย่างจาก “พวกเราปรารถนาสังคมที่ดีกว่านี้ สังคมที่ทุกความขัดแย้งเห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้กำลังต่อกัน…” ใน เฟซบุ๊คแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid044HMDhUv5ZcWAi8ZJZuwXyRjKw3kqZVoC9UMgRo85PRsvGmAagnKbytjChhkQ1y3l&id=100069244864826 (ตีพิมพ์เมื่อ 18 ตุลาคม 2565), เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2565, และ “ไม่ควรมีเหตุผลใดที่จะนำมาสนับสนุนความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม กรณีคุณศรีก็เช่นกัน” ใน เฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul, https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02f2RTpDmMPwBfsnQHQdBtL7VE1oTTra4nRpFc4QCQR9egHrss9r8pmDhoE3aUUisEl&id=100001119178464 (ตีพิมพ์เมื่อ 18 ตุลาคม 2565), เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2565.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save