fbpx
เล่น ลอง เรียน : พันธวิศ ลวเรืองโชค ถอดรหัส ‘ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21’

เล่น ลอง เรียน : พันธวิศ ลวเรืองโชค ถอดรหัส ‘ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21’

ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และทุกเรื่อง ผ่านโลกออนไลน์ โจทย์ข้อหนึ่งที่ท้าทายสำหรับคนในแวดวงการศึกษาก็คือ การเรียนการสอนที่จำกัดอยู่แค่ ‘ห้องเรียน’ นั้นยังจำเป็นอยู่หรือไม่ และถ้าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย ห้องเรียนที่ว่านั้นควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

 

ในงาน OKMD Knowledge Festival 2017 ‘พันธวิศ ลวเรืองโชค’ ผู้บริหาร Apostrophys Group Co.,Ltd. นักออกแบบ Experience Design ผู้เชี่ยวชาญในการผนวกความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย บอกเล่าไอเดียของ ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ ที่บริษัทของเขาคิดค้นขึ้นร่วมกับ Thammasat Design School

ช่วงต้นของการบรรยาย พันธวิศยกข้อมูลและผลสำรวจเกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ social media ของคนยุคใหม่ โรคภัยที่มาพร้อมกับสังคมก้มหน้า ไปจนถึงการพัฒนาของ Gadget ในยุคต่างๆ เพื่อปูทางมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า “ห้องเรียนยังมีความสำคัญอยู่รึเปล่า ในเมื่อทุกวันนี้เราสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เรียนอะไรก็ได้ ผ่านมือถือ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค” และ “คุณครูจะมีวิธีอย่างไรในการดึงความสนใจของผู้เรียนที่มีสมาธิสั้นลงทุกวันๆ”

พันธวิชมองว่าทุกวันนี้เราคาดหวังจากครูมากเกินไป โดยละเลยปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ก็คือห้องเรียน

“เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เรามักจะคิดว่าต้องเปลี่ยนที่ครูก่อน เหมือนครูเป็นยอดมนุษย์ เป็นนักรบ แต่เรากลับไม่ให้อาวุธกับครูเลย”

หากเปรียบคุณครูเป็นนักรบ ห้องเรียนก็เหมือนอาวุธคู่กาย แม้คุณครูจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีอาวุธที่ดี การเรียนการสอนที่มีคุณภาพก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง

จากการสำรวจข้อมูลการเรียนการสอนในต่างประเทศ พันธวิศพบว่าหลายประเทศมีแนวโน้มในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนมากขึ้น ทว่าเมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย เขาเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า “เหมือนเราปล่อยให้ครูถือหอกขึ้นสนิมไปออกรบ”

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมี มาประยุกต์กับการสร้าง ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ เพื่อเสริมอาวุธที่ทันสมัยให้กับครู โดยตั้งชื่อห้องเรียนนี้ว่า Apos Creative Platform Thailand

 

 

ในการออกแบบเบื้องต้น ห้องเรียนนี้จะมีขนาด 250 ตารางเมตร ออกแบบอย่างเรียบง่ายเพื่อรองรับการใช้งานหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันก็บรรจุเทคโนโลยีและ feature กว่า 40 ชนิดสำหรับการเรียนการสอนในสาขาต่างๆ

จากการศึกษาตัวอย่างห้องเรียนสมัยใหม่จากทั่วโลก พันธวิชพบลักษณะสำคัญที่สอดคล้องกันทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ ‘ให้พูด ให้ทำ ให้เป็น ให้เห็น ให้แชร์’

เขายกตัวอย่างในบางประเทศที่น่าสนใจ เช่น ห้องเรียนเรื่องนวัตกรรมใน Columbia University ที่ออกแบบเป็นวงกลม มีการใช้นวัตกรรมเข้ามาประยุกต์เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการถกเถียงและบทสนทนา หรือในประเทศฟินแลนด์ที่มุ่งเน้นการ perform เป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองฝึกทักษะอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้พวกเขาได้ค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร

จากแนวคิดทั้งหลายที่ได้ศึกษามา จึงนำมาสู่การออกแบบห้องเรียนภายใต้แนวคิด ‘ลอง ทำ โชว์ แชร์ ชม’ กล่าวโดยสรุปคือ เป็นห้องเรียนที่ไร้มิติระหว่างครูกับนักศึกษา เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ปฏิบัติงานและนำเสนอผลงานได้หลากหลายรูปแบบ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

 

 

พันธวิชเล่าต่อว่า แม้ปัจจุบันหลายประเทศจะเริ่มใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนแล้วก็ตาม ทว่าสิ่งหนึ่งที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้อย่างมนุษย์ ก็คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาออกแบบห้องเรียนให้มีลักษณะเป็น ‘platform’ ที่เอื้อและกระตุ้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก

ตัวอย่างหนึ่งที่เขายกมาให้เห็นภาพ ก็คือการเรียนการสอนทางด้านสถาปัตยกรรมที่ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality และ Augmented Reality ซึ่งสามารถจำลองพื้นที่และองค์ประกอบต่างๆ ได้จริงแบบ 360 องศา โดยไม่ต้องเสียเวลากับการใช้กระดาษเขียนแบบหรือโมเดลจำลอง

แม้ปัจจุบันห้องเรียนนี้จะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา และอาจเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยยกระดับการศึกษาไทยให้เท่าทันโลกยุคใหม่มากขึ้น

 

 

ในฐานะที่เป็นคุณพ่อมือใหม่ พันธวิศทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เขาพยายามทำขึ้นมานี้ ก็เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป ซึ่งแน่นอนว่านี่คงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการพัฒนาการศึกษาไทย แต่เป็นเพียงการจุดประกายให้คนหันมาสนใจและร่วมกันคิดหาคำตอบใหม่ๆ—โดยเริ่มต้นจากความสนใจและความถนัดของตัวเอง

 

ดูคลิปฉบับเต็มได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save