fbpx
1+1 by Eyedropper Fill (4) : กระสือ + Lighting Design

1+1 by Eyedropper Fill (4) : กระสือ + Lighting Design

Eyedropper Fill เรื่อง

เคยคิดไหมว่าทำไมคุณถึงกลัวผี ?

หญิงสาวผมยาวในชุดกระโปรงสีขาว, ชายร่างทมิฬตาปลิ้นใบหน้าโชกเลือด หรือยายแก่หลังค่อมพร้อมจกตับไตไส้พุง – ‘คาแรคเตอร์’ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผีน่ากลัว แต่นั่นไม่ใช่เพียงอย่างเดียว เพราะองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ผีน่ากลัวยิ่งกว่า นั่นคือ ‘แสง’

เคยสังเกตไหมว่า ‘ผี’ (ทั้งที่ปรากฏในสื่อและที่เคยเห็นเองกับตา!) ส่วนใหญ่มักปรากฏในรูปแบบแสงที่ไม่ปกติ– ผีในทีวีมาพร้อมแสงสีเขียวสาดจากด้านล่าง บ้างก็มาในรูปแบบของแสงเรื่อๆ ใสทะลุเห็นด้านหลัง บางทีก็มาในรูปแบบของเงาดำ หรือกับผีบางชนิดก็ปรากฏในรูปแบบของแสงไฟลอยไปลอยมา ‘แสง’ ช่วยสร้างอารมณ์ให้การปรากฏตัวของผี ถ้าให้เห็นภาพมากขึ้น ลองนึกถึงโฆษณาชิ้นหนึ่งที่มีฉากผีไทยมายืนกลางแดดเปรี้ยง คุยกับคนหน้าตาเฉยราวกับเป็นเพื่อนบ้าน ไม่หลงเหลือความสยองเหมือนตอนกลางคืนแม้แต่น้อย

โฆษณาหลอดไฟซิลวาเนีย

https://www.youtube.com/watch?v=FiifBYUI0I4

และงานชิ้นที่สามของรายการออนไลน์ว่าด้วยอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตกลิ่นไสยศาสตร์ชื่อ ‘เปิดผัสสะ โลกพิศวง’ ที่เราจะเล่าให้ฟังกันในวันนี้ ก็เกิดจากไอเดียของ ‘ผี’ และ ‘แสง’ นี้เอง

สมการที่ 1

กระสือ + โดรน

ผีกระสือ
ผีกระสือ

‘ผีกระสือ’ เป็นหนึ่งในผีที่เรียกได้ว่า ‘ฮิต’ ที่สุดในหมู่ผีไทยด้วยกัน แทบไม่มีใครไม่รู้จักผีสาวผู้ถอดร่างกายไว้ที่บ้าน เหลือเพียงหัวกับผมยาวสลวยพร้อมตับไตไส้พุง ลอยออกไปสวาปามของโสโครกยามค่ำคืน จนชาวบ้านพบเห็นเป็นดวงไฟสีแดงวูบวาบจากระยะไกล

หากมองในกรอบของงานออกแบบ กระสือเป็นผีที่โดดเด่นในด้าน Lighting Design หรือการออกแบบแสงมากที่สุดตัวหนึ่ง แสงวูบวาบบริเวณไส้อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นนี้เองทำให้กระสือน่ากลัว หลายคนเพียงแค่เห็นแสงวูบวาบก็ทึกทักว่าเป็นกระสือ หวาดกลัวขนหัวลุก ไข้ขึ้นไปตามกัน จะเห็นได้ว่า ‘แสง’ สร้างปฏิสัมพันธ์และสร้างอารมณ์ให้กับผู้คนได้จริงๆ

‘Lighting Design บินได้’

จะว่าไปคอนเซ็ปต์ของผีแบบไทยๆ ตัวนี้ หากประยุกต์กลายเป็นงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตก็ฟังดูน่าสนุกไม่น้อย

เอาล่ะ ต่อไปเราจะตั้งต้นการออกแบบด้วยโจทย์ที่ว่านี้

หากคิดถึงเทคโนโลยีที่สามารถบินไปมาในอากาศได้ใกล้เคียงกับ ‘ผีกระสือ’ มากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘โดรน’

Drone
Drone

โดรนหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘อากาศยานไร้คนขับ’ คงเป็นที่รู้จักมากที่สุดในบทบาทของเครื่องมือผลิตภาพยนตร์ โดรนติดกล้องช่วยในการถ่ายภาพมุมสูง สามารถควบคุมทิศทางและมุมกล้องได้จากระยะไกล ที่สำคัญคือประหยัดงบประมาณจากเดิมที่ต้องแบกกล้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาก โดรนจึงเป็นที่นิยมในวงการภาพยนตร์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น

แต่น้อยคนจะทราบว่า เจ้าโดรนนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นู่น ด้วยบทบาทของอาวุธสงคราม ติดปืนหรือหิ้วระเบิดไปถล่มฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่ต้องเสียกำลังพล เพราะกองทัพสามารถควบคุมได้จากระยะไกล

Drone สำหรับสงคราม
Drone สำหรับสงคราม

หลังจากนั้นโดรนถูกพัฒนาให้เล็กลง และมีรูปแบบหลากหลายขึ้น ที่คุ้นตาที่สุดคงเป็นโดรนขนาดเล็กแบบ 4 ใบพัด หรือที่เรียกว่า Quadcopter โดรนเริ่มพัฒนามาใช้ในวงการข่าว สำนักข่าว The Guardian เป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้โดรนรายการข่าวในที่ที่ยากจะเข้าถึง อย่างพื้นที่น้ำท่วมหรือเขตสงคราม, โดรนถูกพัฒนาเป็นเครื่องมือรับส่งสินค้าในละแวกชุมชนแบบ Delivery รวมถึงในวงการกีฬาได้จัดแข่งขันบินโดรนอย่างจริงจัง

Drone ที่ใช้ในการขนส่ง
Drone ที่ใช้ในการขนส่ง
Drone ในการแข่งขันกีฬา
Drone ในการแข่งขันกีฬา

แม้กระทั่งกับวงการศิลปะ ก็เริ่มประยุกต์ใช้โดรนเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง Performing Art มาแล้ว เช่นในการแสดง “24 drones” โดยกลุ่มนักเต้น ELEVENPLAY ร่วมมือกับ Rhizomatiks Research บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการออกแบบและมีเดียอาร์ตชื่อดังจากญี่ปุ่น

“24 drones” by ELEVENPLAY x RZM

และล่าสุดโดรนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการแสดงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่ผ่านมา ณ เมืองพย็องชาง เกาหลีใต้ การแสดงช่วงไฮไลท์ได้นำโดรนกว่า 1,218 ลำ แปรอักษรและสัญลักษณ์โอลิมปิกแบบสามมิติกลางอากาศ โดยบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Intel งานนี้ถือว่าเป็นการใช้โดรนร่วมกับการแสดงที่พีคเป็นอันดับต้นๆ

Olympic Winter Games PyeongChang 2018 Drone Light Show by Intel

https://www.youtube.com/watch?v=eIk6j6dprnA

คงเห็นแล้วว่า ‘โดรน’ ที่เกิดมาพร้อมจุดประสงค์ด้านการทหารได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ในปัจจุบัน และสำหรับงานนี้ เราจึงหยิบเจ้าโดรนมาแปลงร่างเป็น ‘Lighting Design บินได้’ ไปสร้างประสบการณ์น่าขนลุกขนชันให้กับผู้คนในละแวกสตูดิโอของเรากัน

สมการที่ 2

ท่อน้ำทิ้ง + แอพลิเคชั่นควบคุมแสงไฟ LED ด้วย Bluetooth

 

เมื่อกระสือบินได้ด้วยโดรน อีกส่วนที่สำคัญคือแสงและดีไซน์ของเจ้ากระสือตัวนี้

ดีไซน์ของกระสือปี 2018 เราออกแบบด้วยการลดทอนเหลือเพียงองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด นั่นคือส่วน ‘ตับไต้ไส้พุงเรืองแสง’ ซึ่งเป็นจุดเด่นจุดจำของผีกระสือ โดยใช้วัสดุที่บิดงอได้มาขึ้นรูปทรงด้วยการขดขึ้นจนเป็นฟอร์ม

sketch รูปร่างกระสือในแบบต่างๆ
sketch รูปร่างกระสือในแบบต่างๆ

เราออกปฏิบัติการตามหาวัสดุมาใช้ขึ้นรูปทรงตับไตไส้พุง ทิศทางของวัสดุที่ใช้ยังคงเหมือนกันกับงานทุกชิ้นในโปรเจ็กต์ นั่นคือวัสดุที่หาได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เราลองลิสต์กันขึ้นมาว่าอะไรที่ดูเหมือนกับ ‘ไส้’ บ้าง มีตั้งแต่สายยาง, สายไฟ, ไส้กรอกอีสาน หรือแม้กระทั่งเคยคิดว่าจะเอาไส้หมูจริงๆ มาลอง

ท่อน้ำทิ้งอเนกประสงค์
ท่อน้ำทิ้งอเนกประสงค์

จนกระทั่งเรามาเจอวัสดุที่ลงตัวที่สุดจากห้องสมุดวัสดุชั้นดีอย่างร้านวัสดุก่อสร้าง นั่นคือ ‘ท่อน้ำทิ้ง’ ท่อน้ำพลาสติกที่สามารถบิดงอและคงตัวเป็นรูปทรงได้ตามต้องการ วัสดุเป็นพลาสติกขุ่นที่เราสามารถซ่อนแหล่งแสงแต่แสงสามารถเรืองออกมาจากด้านในได้ อีกทั้งความหมายของ ‘ท่อน้ำทิ้ง’ ยังพ้องกับความเป็นไส้ของกระสือที่ชอบกินของเน่าอีกด้วย

ส่วนต่อไปคือแสงไฟที่จะสื่อถึงแสงวูบวามของกระสือ ลำพังแค่เลือกชนิดของแสงให้เหมือนไม่ใช่โจทย์ที่ยาก แต่สำหรับงานนี้เราต้องการแหล่งแสงที่มีน้ำหนักเบา เพราะต้องถูกยกลอยขึ้นด้วยโดรน และความที่เป็นกระสือปี 2018 เราอยากให้มันใช้เทคโนโลยีควบคุมสีและรูปแบบการเคลื่อนไหวของแสงได้ด้วย

LED STRIP
LED STRIP

เราเลือกใช้แสงไฟจาก LED STRIP จุดเด่นของ LED คือมีขนาดเล็ก ไม่ร้อนเหมือนไฟหลอด ส่วน LED STRIP คือไฟ LED ในรูปแบบเส้นที่สามารถดัดให้คดงอไปตามรูปทรงของไส้ที่ทำจากท่อน้ำทิ้ง

วิธีการสร้างแสงของกระสือ หลังจากต่อพ่วงแบตเตอรี่เพื่อเป็นแหล่งพลังงานของแสงไฟ เราทำการเขียนแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนด้วยโปรแกรมง่ายๆ อย่าง Appinventor โดยติดแผงวงจรที่สามารถปล่อยสัญญาณ Bluetooth ไว้ที่ตัวกระสือเพื่อให้โทรศัพท์มือถือสามารถควบคุมตัวกระสือได้ผ่านเจ้า Bluetooth นี้ หลังจากนั้นก็เป็นการออกแบบสีและรูปแบบของแสงว่าจะให้กระพริบหรือวูบวาบแบบไหนบ้าง

Application Interface กระสือ 4.0
Application Interface

ขั้นตอนสุดท้ายคือการออกแบบ Interface หรือหน้าตาของแอพลิเคชั่นซึ่งเราก็ออกแบบให้ไสยศาสตร์ – ลี้ลับตามคอนเซ็ปต์ของรายการ แถมด้วยการตั้งชื่อแพทเทิร์นแสงให้ได้อารมณ์ไทยๆ อย่างเขียวไส้เน่า, ขาวขนลุก, รุ้งหลอนจิต, แดงกระสือมาตรฐาน ฯลฯ

ทุกอย่างเรียบร้อย ถึงเวลาปล่อยให้กระสือออกตระเวนปลุกขนหัวทั่วบริเวณสตูดิโอของเราอย่างที่ได้ดูกัน เมื่อโดรนลอยขึ้นไป จังหวะที่แสงวูบวาบช้าๆ ยอมรับว่าขนาดเป็นคนทำเองยังรู้สึกกลัว

กระสือ 4.0

จนหลังถ่ายทำกันเสร็จจึงพบว่าพวกเราไม่ได้ขวัญอ่อนกันไปเอง กระสือของเรานั้น ‘เฮี้ยน’ จริงๆ พิสูจน์ได้จากเช้าวันรุ่งขึ้น ป้าๆ น้าๆ เพื่อนบ้านของทยอยกันเลียบเคียงมากระซิบถามด้วยสีหน้าหวั่นๆ ทีละคนสองคน

‘เมื่อคืนน้องเห็นอะไรบ้างรึเปล่า หลานป้าเค้าบอกว่าเห็นเหมือนกระสือหน้าบ้านน้องเลย ตรงนี้เลยเนี่ย’

ป้าชี้มือไปทางระเบียงหน้าสตูดิโอของเรา

ผมเลยตอบกลับไปด้วยเสียงเรียบเย็น

‘ไม่ใช่กระสือธรรมดานะครับ ที่เห็นน่ะ กระสือ 4.0’

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save