fbpx
1+1 by Eyedropper Fill : ไสยศาสตร์ + อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต

1+1 by Eyedropper Fill : ไสยศาสตร์ + อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต

Eyedropper Fill เรื่อง

 

1+1 คอลัมน์ใหม่จากทีมนักเขียนพาร์ทไทม์ ส่วนฟูลไทม์เป็นนักออกแบบในนามกลุ่ม Eyedropper Fill – มัลติมีเดียดีไซน์สตูดิโอที่ทำงานตีวงกว้างตั้งแต่ภาพยนตร์ สารคดี มิวสิควิดีโอ อินสตอลเลชั่นอาร์ต การออกแบบประสบการณ์ ไปจนถึงการออกแบบนิทรรศการ

1+1 เป็นพื้นที่แบ่งปันเรื่องราวและกระบวนการทำงานออกแบบ ‘มัลติๆ’ ของ Eyedropper Fill ที่มักเริ่มต้นด้วยการ ‘จับสิ่งหนึ่งบวกสิ่งหนึ่ง’ ทั้งทักษะ วิธีคิด ไปจนถึงกระบวนการทำ ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากคุณจะได้พบกับงานออกแบบรสชาติแปลกแต่อร่อย อย่าแปลกใจหากได้พบกับนิทรรศการที่นำเสนอด้วยการดม เล่น และชิม หนังสารคดีที่เล่าเรื่องด้วยภาพวาดและกระบวนการศิลปะบำบัด หรืออินสตอลเลชั่นอาร์ตที่มี ‘ฝาชีพลาสติก’ เป็นส่วนประกอบ !

เราขอต้อนรับทั้งนักออกแบบ นักอยากออกแบบ นักดูงานออกแบบ หรือแม้กระทั่งคนไม่รู้จักการออกแบบ สู่หลังบ้าน Eyedropper Fill มานั่งฟังกระบวนการทำงานออกแบบของพวกเราที่บางครั้งก็สนุกเหมือนอ่านขายหัวเราะ บู๊เหมือนดูหนังแอคชั่น หลุดโลกยิ่งกว่าการ์ตูน และนำไปทำตามได้เหมือนอ่านตำราทำกับข้าว !

วิดีโอ Experience Lab Teaser

หลายคนอาจเคยผ่านตาวิดีโอที่แปะอยู่ข้างบนนี้มาบ้าง หากคลิกดูผ่านๆ อาจถามว่านี่ Eyedropper Fill เปลี่ยนสตูดิโอเป็นสำนักคุณไสย ผันตัวเองจากนักออกแบบมัลติมีเดียเป็นพ่อหมอแล้วรึเปล่า?

ขอแถลงการณ์กับคุณผู้อ่านทุกท่านว่าเรายังทำงานออกแบบกันอยู่ และสิ่งที่คุณได้ดูไปคือโปรเจ็กต์ใหม่เอี่ยมที่เราจะหยิบมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ !

(แถวบน) 1 Transcending Boundaries, 2017, teamLab 2 teamLab Islands, 2016, teamLab 3 The “Mirror Box”, 2015, Krasnoyarsk Museum Centre (แถวกลาง) 1 Cloud, 2014, Caitlind Brown & Wayne Garrett 2 Slow-motion shadow in color, 2009, Olafur Eliasson 3 DMM.PLANETS Art, 2016, teamLab (แถวล่าง) 1 Firewall, 2012, Mike Allison & Aaron Sherwood 2 Net Vienna, Blow-up, 2013, Numen / For Use 3 The Pool, 2012, Jen Lewin Studio
(แถวบน) 1 Transcending Boundaries, 2017, teamLab 2 teamLab Islands, 2016, teamLab 3 The “Mirror Box”, 2015, Krasnoyarsk Museum Centre (แถวกลาง) 1 Cloud, 2014, Caitlind Brown & Wayne Garrett 2 Slow-motion shadow in color, 2009, Olafur Eliasson 3 DMM.PLANETS Art, 2016, teamLab (แถวล่าง) 1 Firewall, 2012, Mike Allison & Aaron Sherwood 2 Net Vienna, Blow-up, 2013, Numen / For Use 3 The Pool, 2012, Jen Lewin Studio

งานศิลปะแบบอินเตอร์แอคทีฟ หรือ ‘อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต’ คงเป็นคำที่ผู้อ่านเคยได้ยินกันมาบ้าง หรือหากไม่เคยได้ยิน เราเชื่อว่าอย่างน้อยคุณต้องเคยเห็นหน้าค่าตาเจ้าศิลปะชื่อเรียกยากประเภทนี้มาแล้ว หรือไม่แน่ คุณอาจเคยสัมผัส หยิบ จับ เล่น หรือเหยียบลงบนงานเลยด้วยซ้ำ เพราะงานศิลปะประเภทนี้เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ไม่ใช่งานศิลปะแบบที่คุณต้องยืนกอดอกกุมคางดู หากแต่ชวนคุณมาโต้ตอบกับงานศิลปะ เช่น ย่ำไปบนพื้นแล้วมีเสียงดนตรี โบกมือแล้วเกิดแสงวิ้งวับ เอานิ้วไปสัมผัสแล้วเกิดภาพกราฟิกชวนตื่นตา ใครยังนึกไม่ออกลองดูภาพเอาแล้วกัน

(แถวบน) teamLab Islands, 2016, teamLab (แถวกลาง) Myyarab, 2009, Wit Pimkanchanapong & Duckunit Studio (แถวล่าง) 1,2 Day For Night Festival 3,4 i Light Marina Bay Festival
(แถวบน) teamLab Islands, 2016, teamLab (แถวกลาง) Myyarab, 2009, Wit Pimkanchanapong & Duckunit Studio (แถวล่าง) 1,2 Day For Night Festival 3,4 i Light Marina Bay Festival

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุกคนคงพอทราบว่าเจ้างานประเภทนี้ ‘บูม’ ขนาดไหน ตั้งแต่สตูดิโออินเตอร์แอคทีฟอาร์ตชื่อดังจากญี่ปุ่นอย่าง teamLab ยกเอานิทรรศการสุดอลัง ‘teamLab Islands’ มาจัดแสดงในบ้านเราจนคนไปต่อแถวดูกันยาวเหยียดเมื่อปี 2559  สินค้าดังหลายยี่ห้อเริ่มเอากลไกแตะปิ๊ง โบกปั๊ป สร้างสัมผัสและประสบการณ์ตื่นตาแบบอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตไปใช้ในโฆษณาและอิเวนต์

เพื่อนบางคนถึงกับบินไปดูเทศกาลงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตที่เมืองนอก เช่น เทศกาล iLight มารินา เบย์ ประเทศสิงคโปร์ เทศกาล Day For Night สหรัฐอเมริกา หรือเทศกาล Sonar ประเทศฮ่องกง แถมโพสต์รูปมาอวดบนนิวส์ฟีดให้อิจฉาเล่น (เบ้ปาก)

ขณะที่อินเตอร์แอคทีฟอาร์ตกำลังเป็นที่นิยมอยู่นี้เอง ในประเทศไทยกลับไม่มีสถาบันหรือสาขาวิชาที่เปิดสอนศาสตร์นี้อย่างจริงจัง แถมแหล่งข้อมูลสำหรับคนที่สนใจ อยากจะนำไปใช้ อยากดู หรืออยากศึกษาเพื่อลองทำก็หาได้ยากมาก พื้นที่และชุมชนคนทำงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตในไทยจึงอยู่กันอย่างแคบๆ และเติบโตไปอย่างช้าๆ

นี่คือเหตุผลที่ ‘อายดรอปเปอร์ฟิลล์ เอ็กซพีเรียนซ์ แลป’ – โปรเจ็กต์ใหม่ของเราเกิดขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนที่สนใจอยากรู้อยากลองศาสตร์ลี้ลับนี้ได้เข้ามาศึกษากันแบบฟรีๆ เราจะนำความรู้และประสบการณ์ที่มีออกมาแชร์แบบไม่หวงของ บอกหมดตั้งแต่อุปกรณ์ วิธีทำ หรือวิธีคิด ทั้งหมดจะถูกเรียบเรียงและนำเสนอผ่านรูปแบบรายการออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายและดูสนุก ชนิดที่ดูจบแล้วทำตามได้ มีโค้ดและโปรแกรมให้โหลดด้วย เอาเด้ !

บางคนอาจสวนกลับว่า เอาความรู้มาแบไต๋แบบนี้ คนทำอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตก็ตกงานกันหมดพอดี แต่เรากลับเชื่อว่าการกระจายทักษะและความรู้ของโปรเจ็กต์นี้จะยิ่งทำให้พื้นที่ของงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตในไทยขยายใหญ่และรวมเป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรงขึ้น ในอนาคตคนก็จะเห็นประโยชน์ของศาสตร์สุดลับนี้มากขึ้น จับไปทำประโยชน์ต่อยอดเป็นอะไรต่อมิอะไรได้หลากหลายกว่าเก่า

ไม่แน่วันหนึ่งประเทศเราอาจจะมีเทศกาลอินเตอร์แอคทีฟเป็นของตัวเองให้คนอื่นตีตั๋วบินมาดูบ้าง หรืออินเตอร์แอคทีฟอาร์ตอาจกลายเป็นสินค้าส่งออก ไปจัดแสดงในประเทศนั้นประเทศอย่างที่ teamLab จากญี่ปุ่นทำก็เป็นได้

 

สมการที่ 1

ไสยศาสตร์ไทย + กลไกอินเตอร์แอคทีฟ

 

เมื่อต้องออกแบบรายการให้คนไทยดู คำถามแรกคือ งานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ต มีวิธีคิดอะไรเชื่อมโยงกับ ‘ความไทย’ บ้าง

วัตถุ ความเชื่อ ไสยศาสตร์ กรุงสยาม วัตถุมงคล จัดแสดง

เมื่อพิจารณาด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า งานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตส่วนใหญ่มักมาคู่กับความมืด ตัวงานมักจะมีส่วนประกอบของแสงสว่างหรือการฉายภาพจึงต้องอาศัยพื้นที่ทึบแสงเพื่อให้ตัวงานโดดเด่น งานสามารถตอบโต้กับคนดูได้เหมือนมีชีวิตโดยแทบดูไม่ออกว่าสร้างขึ้นจากกลไกอะไร แทบทุกงานมักใช้เสียงดึงคนดูให้อยู่ในภวังค์ … จะว่าไปแล้ว คนทำงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตก็เหมือนพ่อหมอคุณไสยที่ร่ายมนต์ลึกลับ เสกสร้างความมหัศจรรย์บางอย่างให้คนดู

‘ไสยศาสตร์’ คือคำที่พวกเราสนใจ เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ผูกพันกันเป็นอย่างดี และอีกนัยหนึ่งศาสตร์ของอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตก็ดูจะเป็นสิ่งลี้ลับ เข้าถึงได้ยากจริงๆ ในประเทศของเรา ไม่มีที่ให้ดู ไม่รู้ว่าใครทำ ไม่รู้จะไปศึกษาที่ไหน

‘อินเตอร์แอคทีฟอาร์ตเปรียบเสมือนไสยศาสตร์และสิ่งลี้ลับ’ จึงกลายเป็นแนวคิดตั้งต้นของโปรเจ็กต์นี้

 

สมการที่ 2

รายการขนหัวลุกวัยเด็ก + อารมณ์ขันแบบบ้านๆ

 

เราวางแผนให้โปรเจ็กต์แรกออกมาเป็นรูปแบบรายการออนไลน์เข้าถึงได้ง่าย มีตอนต่อเนื่องกันเป็นซีรีส์ เมื่อคิดถึงคำว่าไสยศาสตร์ บวกความเป็นรายการ ก็อดไม่ได้ที่เราจะนึกถึงรูปแบบของรายการขนหัวลุกและละครผีที่ผ่านตาในวัยเด็ก

เป้าหมายของเราในการออกแบบ ไม่ใช่เพื่อสร้างความน่ากลัวแบบละครผีจริงๆ แต่คือการสร้างอารมณ์ขันในการเล่าเนื้อหาที่เข้มข้นจริงจังอย่างอินเตอร์แอคทีฟอาร์ต ด้วยการย้อนบรรยากาศของการดูรายการ/ละครผีที่เชื่อมโยงกับความทรงจำจนคนดูรู้สึกว่า โอ๊ย ! นี่มันเหมือนรายการ____ที่ฉันเคยดูตอนเด็กๆ เลย

รายการขนหัวลุกวัยเด็ก + อารมณ์ขันแบบบ้านๆ

เราเริ่มต้นด้วยการศึกษาตัวอย่างของรายการประเภทนี้นับสิบที่ยังหลงเหลืออยู่ใน YouTube ค่อยๆ แยกองค์ประกอบและหยิบยืมรูปแบบของรายการประเภทนี้มาเป็นแนวทางของรายการที่เรากำลังจะทำ เช่น

  • การถ่ายภาพที่จัดแสงแข็งบริเวณวัตถุ แต่ฉากสลัวจากจำนวนดวงไฟสตูดิโอที่จำกัด
  • วิธีการเคลื่อนกล้องเพื่อสร้างอารมณ์จนเกินเหตุแบบละคร
  • การตัดต่อโดยใช้ทรานสิชั่นเชยๆ ตามข้อจำกัดของโปรแกรม
  • การเลือกเสียงประกอบจากคลังเสียงที่ให้เอกลักษณ์ของละครผีในยุคนั้น
  • เนื้อภาพหยาบของหลอดภาพโทรทัศน์แบบ CRT และสัญญาณรบกวนที่เราคุ้นตาเวลาดูทีวี
  • งานออกแบบกราฟิกและตัวอักษรที่ใช้ในรายการ

ระหว่างการออกแบบ บ่อยครั้งที่เราจะทำวิดีโอฉบับจำลอง ด้วยวิดีโอฟุตเทจจากแหล่งอื่นที่มีเนื้อหาใกล้เคียง เพื่อทดสอบว่าสิ่งที่ออกมามันเวิร์กหรือไม่ ปฏิกิริยาของคนดูเป็นอย่างไรบ้าง

วิดีโอไพลอทของรายการ

ขั้นตอนสุดท้ายที่ยากที่สุดใน (ทุก) งาน คือการตั้งชื่อ เราระดมสมองเพื่อลิสต์ชุดคำเก่าที่เกี่ยวข้องกับความลี้ลับ ไสยศาสตร์ และผีออกมาเต็มไปหมด

‘ผัสสะ’ คือคำแรกที่ถูกโหวต ด้วยความหมายพ้องกับงานอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตที่ต้องใช้ทุกประสาทสัมผัสทั้งตา หู จมูก ลิ้น และการสัมผัสในการดู

ส่วนอีกคำคือ ‘พิศวง’ – ความรู้สึกทึ่ง อึ้ง ประหลาดใจ จากการสัมผัสงานศิลปะประเภทนี้ ทั้งสองคำถูกผสมและยำรวมกันหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็น ‘เปิดผัสสะ โลกพิศวง’ – รายการที่ชวนคุณไปเปิดประสาทสัมผัสกับศาสตร์ลี้ลับสุดพิศวงอย่างอินเตอร์แอคทีฟอาร์ตที่คุณได้ชมกัน

ใน 1+1 ตอนต่อไป เราจะหยิบชิ้นงานแรกของรายการ ‘เปิดผัสสะ โลกพิศวง’ มาเล่ากระบวนการให้ฟังกัน ถ้าคุณคิดว่า ‘ไสยศาสตร์ + อินเตอร์แอคทีฟอาร์ต’ แปลกประหลาดมากแล้ว เตรียมพบกับส่วนผสมที่หลุดโลกขึ้นไปอีกขั้น อย่างภาพสามมิติ เครื่องจับการเคลื่อนไหวของมือ และควันกำยาน !

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save