fbpx

I Say Mingalaba, You Say Goodbye: หากประวัติศาสตร์มี ‘ถ้า’ และพม่าไม่ใช่ราชศัตรู

ภาพปกจาก BIPAM

ถ้าพูดตามหลักการ ประวัติศาสตร์ไม่มีคำว่า ‘ถ้า’ เพราะถ้ามันถ้า แปลว่าไม่เคยเกิดขึ้น

การคาดเดาเป็นเรื่องของอนาคต แต่ดูเหมือนว่านักประวัติศาสตร์กับนักพยากรณ์จะเป็นคนเดียวกัน

เราทำนายอนาคตจากการเรียนรู้อดีต และเราเรียนรู้อดีตโดยการทำนาย – มีอีกหลายเรื่องที่มนุษย์ยังไม่รู้ และประวัติศาสตร์อีกหลายเส้นเรื่องก็ไม่เคยผ่านหูผ่านตาเรา แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องอื่น เราควรเริ่มต้นกันตรงนี้ก่อนว่าประวัติศาสตร์คืออะไร?

“ประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าของผู้ชนะ” ก็อาจใช่

“ประวัติศาสตร์คือการทำความเข้าใจหลักฐานในอดีต” ก็ฟังดูเข้าเค้า

หรืออาจเป็นอย่างที่เอเดรียน ฟินน์ใน ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง นิยายของจูเลียน บาร์นส์ กล่าวประโยคอันเป็นตำนานว่า “ประวัติศาสตร์คือความแน่นอนที่ถูกผลิตขึ้น ณ จุดที่ความไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำมาพบกับความไม่เพียงพอของเอกสารหลักฐาน” ประโยคที่ต้องอ่านทวนสักสองสามรอบถึงจะเข้าใจนี้ก็ฟังดูเฉียบคม

ละครเวทีเรื่อง I Say Mingalaba, You Say Goodbye ดึงเราเข้าไปในวนเวียนของคำถามเหล่านี้

ละครที่กำกับโดยจารุนันท์ พันธชาติ จากคณะละคร B-Floor เรื่องนี้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ใช้หลายภาษาในการเล่าเรื่อง ทั้งไทย อังกฤษ พม่า ล้านนา ฝรั่งเศส ไปจนถึงญี่ปุ่น และยิ่งไปกว่านั้นยังมีเส้นเรื่องที่ซ้อนทับไขว้เกี่ยวกันไว้อย่างยุ่งเหยิง คล้ายประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับจักรวาลเวลาไปมา และบทสนทนาของตัวละครหลายต่อหลายครั้งมีคำว่า ‘ถ้า’

ในคำอธิบายใต้โปสเตอร์ของละครเรื่องนี้จั่วหัวเอาไว้ว่า

“ถ้าหากว่า…เจ้าดารารัศมีไม่ได้ตกเป็นชายา ร. 5

ถ้าหากว่า…ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเชื่อมไทย-เมียนมาร์จนเสร็จ

ถ้าหากว่า…บรรพบุรุษคุณโล้สำเภาไปไกลอีกซักนิด

ถ้าหากว่า…อังกฤษไม่ได้ล่าอาณานิคม

ถ้าหากว่า…ไม่มีรัฐประหาร”

สิ่งที่คำโปรยไม่ได้เขียนไว้ แต่เราเติมคำในช่องว่างได้เองคือ ถ้าอดีตไม่ใช่แบบที่มันเป็น แล้วชีวิตเราจะเป็นแบบไหน นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องส่งเสริมจินตนาการ เป็นเรื่องที่จะพาเราไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เป็นคุณสมบัติของมวลมนุษยชาติ

I Say Mingalaba, You Say Goodbye เล่าเรื่องโดยมี ‘จา’ เป็นตัวละครแกนหลัก – ใช่ จา ที่มีจารุนันท์ พันธชาติเป็นต้นแบบนั่นแหละ เพียงแต่เธอปรากฏตัวผ่านภาพถ่ายและบทสนทนาของตัวละครสี่คนในเรื่องเท่านั้น จาเป็นนักแสดง เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีตำนานเล่าขานไว้มากมาย บางตำนานถึงกับกล่าวไว้ว่าจาสร้างฝนได้เอง แต่นั่นทำให้ฝนจริงๆ ตกผิดฤดูกาล แต่บางตำนานก็แย้งว่าจาไม่ได้ตั้งใจสร้างฝน แต่ทุกที่ที่จาไป ฝนจะตกลงมาเองต่างหาก

หน้าของจาปรากฏอยู่แทบทุกที่ทุกเวลาบนเวที มีอิริยาบถหลากหลายและสวมใส่ชุดหลายอาชีพ มีทั้งทำหน้าตาประหลาด ยิ้มแย้มแจ่มใส หน้านิ่งขึงขัง ไปจนถึงยืนกลับหัวกลับหาง การปรากฏหน้าของจาตลอดเวลานี้ ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกแปลกประหลาดมากขึ้นทุกที นึกออกไหมว่า การมีหน้าใครสักคนปรากฏให้เราเห็นอยู่ทุกที่แบบนี้ก็ชวนอึดอัดไม่น้อย แต่เมื่อมองที่โลกความจริง เราล้วนเผชิญสิ่งนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนบางครั้งเราอาจลืมไปด้วยซ้ำว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร

นอกจากจาแล้ว คนที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปคือตัวละคร ‘ตัวเป็นๆ’ ที่ปรากฏในหน้าเวที กลุ่มนักละครสี่คนที่อยากเป็น ‘จา’ จนนำมาสู่การถกเถียงกันว่าใครเหมาะสมจะเป็นจาที่สุด เรื่องที่พวกเขาถกเถียงกันมีตั้งแต่ เป็นคนพม่าจะเป็นจาได้อย่างไร ไปจนถึงการล้อเลียนกันเรื่องพูดภาษาอังกฤษไม่ชัดของคนไทย (เพราะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง?) สิ่งที่ทำให้เรื่องมีมิติและสร้างความตื่นตัวให้ตลอดการชมละครคือการสลับภาษาไปมาทั้งไทย อังกฤษ และโดยเฉพาะพม่า โดยมีนักแสดงพม่าร่วมแสดงด้วย การพูดสลับภาษาไปมานี้มาพร้อมกับบทพูดและการเคลื่อนไหวของตัวละครที่เกิดขึ้นพร้อมกันในแต่ละมุมของเวที สร้างความสับสนมึนงงจนรับมือไม่ถูก ยังไม่นับว่ามีเสียงพากย์เสริมเข้ามา โดยมีลูกศรชี้ว่า เสียงพูดนี้ยืนยันว่าตำนานที่เล่าอยู่เป็นเรื่องจริง ส่วนอีกฝั่งชี้บอกว่าไม่ใช่

การเล่นล้อกับจักรวาลภาษา จักรวาลเวลา ไปจนถึงความ ‘จริง’ หรือ ‘ไม่จริง’ ทำให้คนดูตกอยู่ในภาวะสับสน และในบางห้วงอาจถึงขั้นตามไม่ทันเนื้อเรื่องว่าไปถึงตรงไหนแล้ว – แต่นี่ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์มิใช่หรือ เราแทบไม่เคยเดินทางเป็นเส้นตรง เพราะประวัติศาสตร์ไม่เคยเป็นเส้นตรง และเราไม่สามารถรู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันบนโลกใบนี้ได้

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นเสน่ห์มากๆ ของ I Say Mingalaba, You Say Goodbye คือการพยายามเล่าประวัติศาสตร์การเมืองที่กระแสหลักไม่ได้เล่า ละครพาเราไปสู่ข้อถกเถียงทั้งเรื่องเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ล้านนา การตกเป็นอาณานิคมอังกฤษของพม่า การเมืองในราชสำนักของไทย ไล่เรียงจนถึงการเมืองปัจจุบันของไทยและพม่าที่เผชิญกับเผด็จการทหารไม่ต่างกัน

ประเด็นที่ ‘ยาก’ และ ‘หนัก’ เหล่านี้ถูกเล่าอย่างแสบสันต์ผ่านรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งละครแสงสีเสียงแบบที่เห็นได้ในอุทยานประวัติศาสตร์ เล่าผ่านวรรณกรรมของจอร์จ ออร์เวลล์ เล่าผ่านการจำลองเหตุการณ์ตอนลงนามสนธิสัญญาปางโหลงในพม่า และการถกเถียงกันของตัวละครอย่างมนุษย์ปุถุชนผู้มีความฝันความหวัง และเพราะอะไรแบบนี้จึงทำให้เราเพลิดเพลินกับเรื่องได้ไม่ยาก แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง หรือไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมดก็ตาม

จารุนันท์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เธอเริ่มต้นทำละครเรื่องนี้จากความคิดเรียบง่ายว่า “เราเรียนประวัติศาสตร์แบบไหนกันมานะ ถึงไม่ค่อยรู้จักประเทศที่อยู่ติดกับเราเลย” จนนำไปสู่การพัฒนาบทและหานักแสดงร่วมจากทั้งไทยและพม่า

สิ่งที่ซ้อนทับไปกับประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นคือความจริงที่ว่า ณ ตอนนี้เราก็กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะโลกเพิ่งเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ และประชาชนไทยกับพม่าก็กำลังต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างสุดตัวและหัวใจ ยิ่งโดยเฉพาะในพม่าที่การต่อสู้รุนแรงเข้มข้น พวกเขาผ่านเจ้าอาณานิคมเพื่อมาเจอกับอำนาจแบบใหม่ในนามของการรวมชาติพม่าให้เป็นหนึ่งเดียว – และดูเหมือนว่าคนพม่าจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวจริงๆ แต่นั่นคือการรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อสู้กับเผด็จการทหารต่างหาก

จากประวัติศาสตร์ในวันที่เราไม่มีอำนาจจัดการเพราะเรายังไม่เกิด แต่เราเป็นเราทุกวันนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดซ้อนทับกัน ณ ช่วงเวลาหนึ่งส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน เราอาจเป็นคนพม่าก็ได้ถ้าล้านนาผนวกเข้ากับพม่าแทนสยาม เราอาจเป็นลาวก็ได้หากลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงไม่ได้ถูกสยามยึดครอง หรือเราอาจร่ำรวยกว่านี้หากอากงโล้สำเภาไปลงที่สิงคโปร์ ฯลฯ เรื่องแบบนี้คงเป็นได้แค่ ‘ถ้า’ ในความคิด แต่จะเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าประวัติศาสตร์อยู่ในกำมือเรา จะเป็นอย่างไรล่ะ ถ้าเราสร้างอนาคตด้วยตัวเองได้ แล้วจะเป็นตอนไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่ตอนนี้?

ในช่วงท้ายของละครทำให้เรารู้สึกแบบนั้น เมื่อละครพาเราข้ามมาจนถึงสภาพสังคมการเมืองปัจจุบัน และเมื่อยิ่งใกล้ ยิ่งกระทบหัวใจอย่างรุนแรง ประวัติศาสตร์แบบที่เราเกิดทัน ประวัติศาสตร์แบบที่มีเราอยู่ในนั้น ประวัติศาสตร์ร่วมไทยพม่าที่ไม่ใช่การรบราบนหลังช้าง หากแต่เป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการที่พรากเอาความฝันความหวังของคนนับล้านไปอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

จากพม่าที่เคยเป็นราชศัตรูกับสยาม กษัตริย์รบราฆ่าฟันกันโดยมีไพร่ทาสเป็นทัพหน้า มาถึงวันนี้กลุ่มชนชั้นนำของทั้งสองประเทศกลับจับมือกันกดขี่เข่นฆ่าประชาชนของตัวเอง จะมีสักกี่ครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ที่หัวใจคนไทยกับพม่าใกล้กันเท่านี้ สิ่งเดียวที่พอมองโลกในแง่ดีได้คือ นี่อาจเป็นประวัติศาสตร์ที่เราออกแบบได้ เพราะเราคือตัวละครในเส้นเรื่องนี้

ที่กระทบใจมากกว่านั้นคือการเปิดเผยบาดแผลและความทรงจำของนักแสดงในชีวิตจริงเข้ามาร่วมด้วย เหตุการณ์พฤษภา 2535 เหตุการณ์มิน อ่อง หล่ายทำรัฐประหาร เหตุการณ์นักเคลื่อนไหวในไทยถูกจับเข้าคุก ไปจนถึงนักเขียนที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศเพราะคดี 112

พวกเขาทุกคนต่างต้องเผชิญกับการใช้อำนาจอย่างร้ายกาจของเผด็จการ และคำว่า ‘พวกเขา’ อาจหมายถึง ‘พวกเรา’ ด้วย เราทุกคนต่างเผชิญกับความรุนแรงจากเผด็จการ จะมีความเลวร้ายไหนเท่ากับการพรากความฝันและสิทธิเสรีภาพของผู้คนอีก และยิ่งเลวร้ายกว่านั้น เมื่อคนพวกนี้พยายามจะลบประวัติศาสตร์เดิมและสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่โดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและเป็นฮีโร่

มีประโยคในละครที่ว่า “ถ้าวันหนึ่งพม่าต่อสู้สำเร็จ มนุษย์อาจย้ายไปอยู่ดาวดวงอื่นแล้ว”

ถ้าจบแบบประวัติศาสตร์ฉบับโหดร้ายก็คงต้องลงท้ายว่า นี่แหละคือความหมายของประโยค “I Say Mingalaba, You Say Goodbye” – ฉันเพิ่งมา แต่เธอไปเสียแล้ว

แต่ถ้าให้เลือกจบแบบประวัติศาสตร์ฉบับมีหวัง เราคงต้องจบว่า คนที่สมควรถูกบอกลาคือคนที่ครอบครองประวัติศาสตร์ฝ่ายเดียวมาตลอดต่างหาก


ชมละครเวทีเรื่อง I Say Mingalaba, You Say Goodbye ได้ในวันที่ 22 – 27 มีนาคม 2566 ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ละครเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM 2023

อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.bipam.org/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save