fbpx
เสียงที่คิดถึง

เสียงที่คิดถึง

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Shhhh ภาพประกอบ

 

หลังจากที่แม่ส่งสารคดีเรื่องเมียฝรั่งที่เขียนโดยก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์ เผยแพร่ในเว็บไซต์บีบีซีไทย มาให้พ่ออ่าน เพลง Hi Hello ของวง ‘เยนา’ ก็ดังก้องขึ้นมาในหัวทันที

 

จากป่าเขา ทิ้งบ้านนามาก็นาน นานจนแทบจำความไม่ได้

สู่เมืองกรุง กรุงเทพมหานครแห่งความหวัง

จากอ้ายคำ ร่างกำยำผมดกดำ ตาสีน้ำตาลไหม้เข้ม

สู่เดวิดผมสีทอง ตาสีฟ้าส่องประกายความมั่งมี

จากวันนั้นที่อุ้มลูกน้อยห้อยโตงเตง กล่อมบทเพลงแข่งเสียงหวูดรถไฟ

สู่นมผงกล่องใหม่ แทนที่เต้านมไร้น้ำเหี่ยวแล้ง

จากยอดรัก ชายผู้มีรักเพียงอย่างเดียว ความรักคลุกข้าวเริ่มเคี้ยวกลืนไม่ลง

         หวังเพียงแค่เอ็งยังคงรัก… และอภัย 

Hi, hello How are you? I’m fine

I’m fine ฉันสบายดี

ความรู้ ป.4 ฝากบอกพ่อแม่พี่น้อง I miss you…

I miss you and I love you… I love you!

ฯลฯ

 

แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากเลย บทเพลงของเยนานั้นแทบร้อยทั้งร้อยเล่าถึงชีวิตอันเข้มข้น เห็นเลือดเนื้อ เห็นน้ำตา ได้ยินเสียงลมหายใจ

ที่สำคัญคือนักดนตรีหนุ่มวงนี้เชื่อและยืนยันเรื่องคนเท่ากัน

พ่อเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์วงเยนา หลังจากฟังเพลงพวกเขามาระยะหนึ่ง ถึงรู้ว่าคนแต่งเพลงนี้คือกุล พงศ์พิพัฒน์ พี่ชายของคนเขียนสารคดีเรื่องเมียฝรั่งนั่นเอง

คงไม่เกี่ยวกับดีเอ็นเอหรอก ทรรศนะทางชีวิตและสังคมไม่ได้ส่งผ่านทางสายเลือด แต่นับว่าเป็นความงดงามที่พี่น้องมองเห็นชีวิตอื่นๆ อย่างให้ค่าความหมาย

ใคร่ครวญดูก็รู้ว่าพวกเขาพยายามทำความเข้าใจความยากจนข้นแค้นของใครบางคนที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และเราไม่สามารถไปตัดสินได้ว่าผิดถูกหรือดีชั่ว

กุลเคยบอกว่าเพลง Hi Hello นั้นพูดถึงผู้หญิงตามเนื้อเพลงที่เขาเองก็ไม่เคยเห็นจริงๆ หรอก ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง แต่รู้ว่ามีชีวิตแบบนี้จริงๆ

“ผมเข้าใจว่าพอคนมีลูก เวลาเขาจะตัดสินใจอะไรในชีวิต มันต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ผมเข้าใจแบบนี้นะ”

การแต่งเพลงของกุลนั้น เขาเคยเล่าว่าส่วนใหญ่จะนึกเอาในหัว หลังจากที่เห็นหรือได้ยินเรื่องนั้นๆ มา จากนั้นก็คิดหมกมุ่นจนเกิดคำออกมา

“บางครั้งก็ไม่จับกีต้าร์เลย เขียนเนื้อก่อนแล้วค่อยมาร้องทีหลัง”

ใช่, ใครก็อยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุด

และการได้เลือกจะไม่มีความหมายเลย ถ้าเรามองข้ามหรือกระทั่งเหยียบย่ำขยำ 1 สิทธิ์ 1 เสียงทิ้งไป

ประตูบานแรกของการมีชีวิตที่ดีกว่าอาจเป็นไปอย่างทุลักทุเลและทุกข์ทรมาน คงไม่มีใครอยาก “อุ้มลูกน้อยห้อยโตงเตง กล่อมบทเพลงแข่งเสียงหวูดรถไฟ”

และถ้าบ้านเมืองน่าอยู่ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เขาหรือเธอคงไม่มีใครอยาก “จากยอดรัก ชายผู้มีรักเพียงอย่างเดียว ความรักคลุกข้าวเริ่มเคี้ยวกลืนไม่ลง”

 

เราตื่นขึ้นมาในเช้าวันที่ 24 มีนาคม 2019

ลูกวิ่งเล่นอยู่ที่บ้านยายในวันวัย 1 ขวบ 9 เดือน

ถ้ากฎหมายยังเหมือนเดิม อีก 16 ปีเศษข้างหน้าลูกจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เลือกคนที่ลูกไว้ใจและเข้าท่า มีความสามารถ คิดถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง เข้าไปทำงานแทนความฝันใฝ่ของลูก

“1 สิทธิ์ 1 เสียง” ในยุคสมัยนี้จึงมีความหมายเหลือเกิน

อาจจะไร้ค่า-ความหมายกับบางคน

แต่เพียง 3-4 วินาที ในครอบคูหาก็ทำให้ใจเราเต้นแรง ค่าที่มันเป็นสิทธิของเรา เสียงของเราและเราเลือกเอง รับผิดชอบเอง

ไม่นับว่าก่อนนี้มีคนบางกลุ่มเอาปืนออกมาจ่อ ขับรถถังออกมาขวาง และบอกให้เราเงียบ

เอ่อ เรียกว่าให้หุบปากน่าจะตรงกว่า

กฎกติกาไม่มี ความเคารพกันอย่างเท่าเทียมไม่มี คำสั่งเท่านั้นที่โยนลงมา สั่งให้เราเดินไปข้างหน้า หมายถึงเดินตามกันไปนะ ไม่ใช่ก้าวไปข้างหน้าด้วยสติปัญญาอันเปี่ยมเสรีภาพ

ไม่แน่ใจว่าในอนาคต “1 สิทธิ์ 1 เสียง” คำๆ นี้ยังจะมีใครพูดอยู่ไหม คงไม่มีใครมาคอยอธิบายให้ลูกได้ยินอีกแล้วว่ามันสำคัญอย่างไร

อีก 16 ปีข้างหน้า คนรุ่นลูกอาจจะเดินเล่นกันอยู่บนดาวอังคารแล้ว

แต่ยุคสมัยของเรา คำๆ นี้ กลับแวดล้อมไปด้วยคนบาดเจ็บล้มตาย ซ้ำร้ายยังมีคนไม่น้อยอ้างคำใหญ่คำโต อาทิ คนดี ปรองดอง ปฏิรูป มาปิดปากพวกเรา เพียงเพราะพวกเขาแสลงใจกับ “1 สิทธิ์ 1 เสียง”

ลุงอะแกว แซ่ลิ้ว เป็นหนึ่งในศพที่ถูกเหยียบย่ำข้ามไป

ถ้าเหล่าผู้อ้างความดีไม่คลุ้มคลั่งขนอาวุธออกมาปิดคูหาเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2014 ลุงอะแกวคงได้อยู่เห็นลูกหลานเติบโตไปเป็นหนุ่มสาวปกติ มีชีวิตอย่างที่อยากเป็น ได้ลองผิดลองถูกกับชีวิตบั้นปลายที่เหลือ

แต่บ่ายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนั้น เหตุจลาจลตรงแยกหลักสี่ทำให้ลุงอะแกวที่เป็นพ่อค้าขายน้ำอัดลมรถเข็นบริเวณหน้าโรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา 2 เป็นห่วงลูกสาวที่ทำงานอยู่ในห้างฯ ไอที สแควร์ จนต้องออกเดินตามหา

เสียงปืนที่ดังต่อเนื่อง หยุดความกังวลของลุงอะแกวไม่ได้ แต่สุดท้ายกระสุนก็พุ่งเข้าที่คอ ทำให้แกนอนจมกองเลือดอยู่หน้าห้างฯ ท่ามกลางความดีใจ สะใจของคนไม่น้อยที่ชื่นชมมือปืนผู้คลุ้มคลั่ง

เป็นไปได้อย่างไร, ลูกคงสงสัย

เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว เสียงหัวเราะสำราญให้กับความสูญเสียนั้นมีจริงๆ ในประเทศนี้

ลุงอะแกวต้องนอนเป็นอัมพาต เพราะแพทย์ผู้รักษาบอกว่ากระสุนถูกเข้าที่กระดูกคอและเส้นประสาท ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงไหล่ลงมา ไม่สามารถพูดได้ และระบบทางเดินหายใจอยู่ในขั้นวิกฤต

แทนที่ลูกสาวจะได้ทำงานต่อเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว และเลี้ยงหลานที่ยังเล็ก กลับต้องลาออกมาดูแลพ่อที่กำลังร่อแร่

ลุงอะแกวนอนติดเตียงอยู่อีก 8 เดือน ก่อนสิ้นลมหายใจไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน

วันนี้คนที่คลุ้มคลั่งก็ยังอยู่ ความดีใจ ความสะใจ เสียงหัวเราะสำราญกับความตายยังคงอยู่ นี่เป็นใบหน้าและจิตใจของประเทศที่ลูกเกิดมา

ไม่ว่ามันจะชวนให้ขมวดตึงที่หว่างคิ้วแค่ไหน แต่เวลาเป็นของลูก ลูกมีเวลามากกว่าคนรุ่นเรา

เราเพียงหวังว่าวันที่ลูกได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ลูกคงไม่ต้องย้อนมาคิดถึงเหตุการณ์นี้แล้ว ประเทศเป็นของลูกเท่าๆ กันกับคนอื่นๆ

คำว่าโปรดเคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงในวันข้างหน้า อาจจะถูกบรรจุไว้ในพจนานุกรมจำพวกคำที่เชยที่สุดก็ได้

อาจจะไร้ค่า-ความหมายกับบางคน

แต่เพียง 3-4 วินาที ในครอบคูหาก็ทำให้ใจเราเต้นแรง ค่าที่มันเป็นสิทธิของเรา เสียงของเราและเราเลือกเอง รับผิดชอบเอง

ไม่มีคาถาบทสวดอะไรทั้งสิ้นระหว่างอยู่ในคูหากลางแดดจัดเดือนมีนาคม วินาทีที่พ่อจรดปากกาลงไปในช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ลากเส้นแน่นๆ จากซ้ายลงไปขวา จากขวาลงไปซ้าย คนที่พ่อระลึกถึงมีสองคนคือลุงอะแกวและลูก

วินาทีนั้นน่าจะเป็นกากบาทสั้นๆ ที่มีความหมายที่สุดในโลกและยุคสมัยของเรา.

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save