fbpx

วิถีคนกล้า I Know Why the Caged Bird Sings

ความน่าจะอ่าน’ ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ ผมเลือก I Know Why the Caged Bird Sings ของมายา แอนเจลู (ชื่อเล่มฉบับภาษาไทยคือ ‘ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน’) เป็น 1 ใน 3 ของหนังสือที่ชอบและอยากแนะนำบอกต่อ

ผมจำไม่ได้ว่าให้เหตุผลสั้นๆ บอกเล่าสรรพคุณของหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างไรบ้าง แต่รู้สึกติดค้างคาใจเสมอมา ว่าเป็นการพูดที่อ้อมค้อมคลุมเครือ และไม่เฉียดใกล้คุณค่าที่แท้จริงของงานเขียนชิ้นนี้

จึงถือโอกาสนี้ เขียนเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

ความประทับใจแรกสุดที่ได้รับจากการอ่าน I Know Why the Caged Bird Sings คือการเปิดโลกให้ผมมีโอกาสได้รู้จักกับมายา แอนเจลู

ก่อนหน้านี้ ผมไม่รู้จักสตรีผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เลย อย่าว่าแต่เธอเป็นใครหรือทำอะไรมาบ้าง กระทั่งว่าชื่อเสียงเรียงนามก็ยังไม่เคยได้ยิน ไม่เคยผ่านตามาก่อนเสียด้วยซ้ำ

พลังของหนังสือเล่มนี้ ทำให้หลังจากอ่านจบ ผมเกิดความอยากรู้เพิ่มเติม ต้อง search หาทางอินเทอร์เน็ตเป็นการใหญ่ และพบเจอข้อมูลมากมายเกี่ยวกับมายา แอนเจลู ทว่าด้วยเวลาอันจำกัดและความรู้ภาษาอังกฤษระดับหางอึ่งตัวสุดท้องที่ขาดสารอาหาร ผมจึงได้แค่อ่านผ่านๆ อย่างหยาบลวกและรู้พอสังเขป

ผมคิดว่ามายา แอนเจลู เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่และน่าทึ่งโดยแท้

มายา แอนเจลู (ชื่อจริงของเธอคือ มาร์เกอรีต แอนน์ จอห์นสัน) เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1928 เสียชีวิตวันที่ 28 พฤษภาคม 2014 เธอเป็นนักเขียน, กวี, นักแสดง, คนเขียนบท, ผู้กำกับ,โปรดิวเซอร์ และกิจกรรมในตำแหน่งจิปาถะอีกมากมาย แต่บทบาทที่โดดเด่นและได้รับการยกย่องเป็นที่จดจำมากสุด คือนักต่อสู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองคนสำคัญ

ความยิ่งใหญ่ของมายา แอนเจลู ปรากฏชัดผ่านการยกย่องที่สังคมอเมริกันมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริการ่วมๆ 50 ใบ และรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้งความสำเร็จที่ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก นั่นคือเหตุการณ์เมื่อครั้งว่าที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ทาบทามให้เธอแต่งบทกวีและอ่านในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง (Inauguration Poem)

รายละเอียดเกี่ยวกับบทกวีนี้ บอกเล่าไว้ในบทความ ‘ผู้รับฟังเสียงขับขานของนกในกรง’ เขียนโดยอาจารย์เมธาวี โหละสุต ซึ่งอยู่ในท้ายเล่มของหนังสือ

I Know Why the Caged Bird Sings เป็นงานเขียนเมื่อปี 1969 อยู่ในลำดับแรกสุดของอัตชีวประวัติ จากงานเขียนทั้งหมด 7 เล่ม

อีก 6 เล่มถัดจากนั้น ประกอบไปด้วย Gather Together in My Name (1974), Singin’ and Swingin’ and Gettin’ Merry Like Christmas (1976), The Heart of a Woman (1981), All God’s Children Need Traveling Shoes (1986), A Song Flung Up to Heaven (2002) และ Mom & Me & Mom (2013)

ผมหวังเหลือเกินว่าทั้งหมดนี้จะมีการแปลเป็นไทยในอนาคตอันใกล้นะครับ อยากอ่านมากๆ

อัตชีวประวัติชุดนี้ เล่มที่ได้รับคำชื่นชมและมีชื่อเสียงโด่งดังสุดก็คือ I Know Why the Caged Bird Sings ซึ่งอีก 10 ปีต่อมา (ปี 1979) ได้นำมาดัดแปลงเป็นหนังสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์  โดยมายา แอนเจลูเขียนบทร่วมกับเลโอโนรา ทูนา ตัวหนังไม่ได้ฮิตมากมายนัก แต่คำวิจารณ์ที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ดีน่าพึงพอใจ

I Know Why the Caged Bird Sings ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล National Book Award ในปี 1970 ติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times 2 ปีซ้อน ได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในระดับมัธยมศึกษา เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญว่า ได้สร้างสรรค์เส้นทางใหม่ให้แก่งานเขียนท่วงทำนองบันทึกความทรงจำ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นและเสียงตอบรับไม่ได้ลงรอยพ้องกันไปเสียทั้งหมด ด้วยเนื้อหาที่แตะต้องประเด็นเปราะบางละเอียดอ่อน (และบอกเล่าอย่างละเอียดกระจ่างแจ้ง) งานเขียนชิ้นนี้จึงระคายเคืองความรู้สึกของผู้อ่านที่มีทัศนะอยู่ฝั่งตรงข้าม จนกลายเป็นหนังสือต้องห้าม โดนแบนในโรงเรียนและห้องสมุดบางแห่ง

I Know Why the Caged Bird Sings ครอบคลุมเหตุการณ์ในชีวิตของมายา ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เธอกับพี่ชายชื่อเบย์ลี ถูกพ่อแม่ (ซึ่งหย่าร้างเลิกรากัน) ส่งตัวไปพำนักอยู่กับย่า (มอมม่า) ที่เมืองสแตมป์ส รัฐอาร์คันซอ ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นหลายปี จากนั้นโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างการอยู่กับแม่และอยู่กับย่า

จนกระทั่งจบลงตรงขณะที่เธออายุ 16 ปี

ความประทับใจต่อมาของผมคือ แม้จะได้รับการจัดประเภทและระบุว่าเป็นงานเขียนหมวดหมู่อัตชีวประวัติ แต่ Caged Bird (ชื่อเล่นของงานเขียนชิ้นนี้ที่นิยมเรียกเพื่อความสะดวกปาก) ก็เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงและวรรณศิลป์ ทำให้ระหว่างการอ่าน ผมรู้สึกเหมือนกำลังติดตามนิยาย (ชั้นดี) จนแทบจะลืมไปเลยว่าเป็นหนังสือแนวอัตชีวประวัติ

เหตุผลประการแรกคือ มายา แอนเจลู ไม่ได้บอกเล่าสิ่งที่เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเหมือนอย่างการกรอกประวัติในเอกสาร เธอไม่ได้เล่าด้วยซ้ำไปว่า เกิดวันไหน ปีอะไร ณ สถานที่ใด แต่เริ่มต้นปุบปับด้วยบางเหตุการณ์ปลีกย่อยในวัยเยาว์ที่รู้สึกกระทบใจ ถัดจากนั้นในรอยต่อจากบทหนึ่งไปยังอีกบท เรื่องราวก็ไม่ได้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน แต่เลือกที่จะรำลึกความหลังเรื่องนั้นเรื่องนี้ในแง่มุมต่างๆ กัน มีการเปลี่ยนผ่านของเวลาอย่างรวดเร็ว เหมือนหนังที่ตัดต่อดำเนินเรื่องฉับไว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชดเชยการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเป็นหนึ่ง สอง สามชัดเจน คือเรื่องเล่าชีวิตวัยเด็กของมายามีสีสันดึงดูดเปี่ยมชีวิตชีวามากในการแจกแจงสาธยายถึงสภาพแวดล้อมที่เธอเติบโตมา ทั้งสภาพความเป็นอยู่ของผู้คน บ้านเรือน บรรยากาศภูมิประเทศ การอบรมเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดแต่อบอุ่นโดยมอมม่า ผู้เคร่งศาสนา บุคลิกกร้าวแกร่ง ใจดีอ่อนโยน และมีทัศนคติความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตที่ยอดเยี่ยม เป็นแบบอย่างที่ทรงอิทธิพลต่อมายา แอนเจลูในเวลาต่อมา

มายา แอนเจลู เล่าถึงสิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ ทั้งด้านทุกข์และสุข ได้รื่นรมย์ระคนขมขื่น หลากไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกสารพัดสารเพ ชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา

ใช้คำว่า สนุกจนหยิบอ่านแล้ววางไม่ลงก็ได้นะครับ แม้จะไม่ค่อยถูกกาลเทศะ เมื่อคำนึงถึงทุกข์โศกและสิ่งเลวร้ายที่มายา แอนเจลูต้องพบเผชิญ

ที่ผมชอบมากคือ บางเหตุการณ์เป็นเรื่องราวเรียบง่าย แต่ด้วยฝีมือการเขียนอันล้ำเลิศ ก็ปรุงรสจนกระทั่งเกิดเสน่ห์ชวนอ่านได้อย่างน่าทึ่ง ในทางตรงข้าม บางเหตุการณ์ที่เข้มข้นจัดจ้าน เต็มไปด้วยความโลดโผนหวือหวา เอื้ออำนวยให้เร้าอารมณ์หรือขยี้กันอย่างละเอียดถี่ถ้วน เธอกลับนำเสนออย่างมีชั้นเชิง ทั้งการใช้น้ำเสียงถ้อยทีสุขุม การละเว้นไม่ลงลึกในรายละเอียด ปล่อยพื้นที่ว่างให้ผู้อ่านใช้จินตนาการครุ่นคิดด้วยตนเอง รวมถึงการกล่าวถึงเหตุการณ์เข้มข้นเหล่านั้นด้วยวิธีเปรียบเปรยในลีลาแบบบทกวี

I Know Why the Caged Bird Sings เป็นงานเขียนที่ถึงพร้อมในด้านวรรณศิลป์ ทั้งสำนวนโวหาร สละสลวย จังหวะลีลาของความเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ ที่สำคัญคือมุมมองความคิดเห็นของผู้เขียน การพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกของเธอต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างหลังน่าสนใจตรงที่มายา แอนเจลู เขียนหนังสือเล่มนี้ในรูปแบบของผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในชีวิตมาแล้วย้อนรำลึกถึงความหลังสมัยเด็กซึ่งยังซื่อใสไร้เดียงสา ปราศจากความเข้าอกเข้าใจในอะไรต่อมิอะไรมากมาย

ลักษณะข้างต้นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นงานเขียนในแบบที่เรียกกันว่า ‘ฉลาดหลังเหตุการณ์’ อยู่มากนะครับ เมื่อต้องพูดถึงอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วด้วยความคิดอ่านที่เติบโตขึ้น อัตชีวประวัติหลายเล่มมีปัญหาตรงนี้ กลายเป็นความทรงจำวัยเด็กที่พูดด้วยเสียงและความคิดของผู้ใหญ่ จนทุกอย่างสวยหรูดูดีไปหมด ท้ายที่สุดจึงเข้าอีหรอบงานเขียนสดุดีตนเอง

สิ่งที่ทำให้ I Know Why the Caged Bird Sings ปลอดพ้นจากการบรรจุความคิดเปี่ยมวุฒิภาวะของผู้เขียนจนบิดเบือนบดบังความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของชีวิตวัยเยาว์ ก็คือ มายา แอนเจลูเลือกแสดงทัศนะความคิดเห็นในปัจจุบันเฉพาะแค่ในบางส่วนบางเหตุการณ์เท่าที่จำเป็น และทำได้อย่างเหมาะเจาะ ถูกที่ถูกตำแหน่ง พร้อมๆ กันนั้นเธอเองก็มีความจำดีเยี่ยม บันทึกความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ถ่ายทอดวิธีคิดที่แสดง ‘ความเป็นเด็ก’ ออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือ (เราท่านในฐานะผู้อ่านไม่มีทางทราบชัดได้หรอกนะครับว่ามีการปรุงแต่งมากน้อยเพียงไร แต่สิ่งสำคัญคือจากผลลัพธ์ที่ปรากฏ มายา แอนเจลูสามารถทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม เกิดความใกล้ชิด และเข้าใจมุมมองความคิดของเธอในวัยเด็กได้เนียนสนิท)

ความโดดเด่นถัดมา อัตชีวประวัติเล่มนี้ไม่ได้บอกเล่าถึงความเก่งกาจ ความดีงาม หรือการสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของมายา แอนเจลู แต่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตปฐมวัยของเธอ ในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่เปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อ มีด้านดีด้านลบระคนปนกัน บางครั้งก็ทำเรื่องที่ถูกต้อง บางคราก็ก่อความผิดพลาด กระทั่งมีบางห้วงขณะที่เธอเกิดความคิดบางอย่างเจือด้วยอคติ ใจแคบ และเป็นคนในแบบที่ไม่ต่างจากผู้อื่นซึ่งเคยกระทำเรื่องร้ายต่อเธอ

พูดง่ายๆ คือเป็นอัตชีวประวัตที่ซื่อสัตย์ จริงใจ และกล้าหาญที่จะเล่าความลับหรือเรื่องน่าอับอายของตนเอง

ตอนอ่านจบครั้งแรก ผมรู้สึกว่ามายา แอนเจลูเป็นผู้หญิงที่น่าเคารพยกย่อง ชวนให้รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา และรู้สึกเลยไกลไปถึงว่าเธอเป็นคนที่มีทัศนคติ เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตลึกซึ้ง

จนเมื่อมาอ่านซ้ำอีกครั้งเพื่อเล่าสู่กันฟังตรงนี้ ผมก็แปลกใจอยู่ครามครัน กล่าวคือ ผมจับสังเกตไม่พบ หาไม่เจอเลยนะครับ ว่ามีตรงไหนแห่งใด ที่มายา แอนเจลู ตั้งใจโชว์หรือแสดงถึงทัศนคติที่ดี ความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตที่ลึกซึ้ง สิ่งที่เธอบอกเล่าคือ การเรียนรู้ชีวิตแบบ ‘เจ็บเพื่อเข้าใจ’ ของเด็กหญิงคนหนึ่ง (Caged Bird ก็เป็นเรื่องในแนว coming of age) เท่านั้นเอง

ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตรองอยู่หลายตลบ ผมจึงพบคำตอบ ทัศนคติ ความเข้าใจโลก ความเข้าใจชีวิตอันน่าประทับใจ ทั้งหมดมีอยู่เต็มเปี่ยมในงานเขียนชิ้นนี้ เพียงแต่มันไม่ได้เล่าสะท้อนผ่านพฤติกรรมและคำพูดคำจาของมายา (ในหนังสือ) ออกมาโดยตรง แต่พรรณนาสาธยายผ่านผู้คนอย่างมอมม่า, แม่ (วิเวียน แบ็กซ์เตอร์), มิสเบอร์ธา ฟลาวเวอร์ส (ผู้ชักนำมายาเข้าสู่โลกหนังสือ), การที่มายาพูดถึงวรรณกรรมที่ตัวเธอชื่นชอบ รวมเลยไปวิธีลีลาในการเขียนและสำนวนโวหารคมคายสละสลวยที่ปรากฏตลอดทั่วทั้งเล่มใน Caged Bird

พูดอีกแบบด้วยความเชื่อส่วนตัวของผมตามลำพัง หากตัดเรื่องความสามารถในการประพันธ์ออกไป  จะต้องเป็นผู้มีทัศนคติที่ประเสริฐมากๆ เท่านั้นจึงจะสามารถเขียนงานดีเยี่ยมเช่นนี้ออกมาได้

ความประทับใจสุดท้ายที่ผมมีต่อ Caged Bird คือ ควบคู่ไปกับการบอกเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตช่วงวัยเด็กจนถึงวัยสาวของมายาแล้ว งานเขียนชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และการที่ผู้หญิงต้องถูกล่วงละเมิดทางเพศ ออกมาได้อย่างหนักแน่นทรงพลังและชวนให้สะเทือนใจเอามากๆ

เนื้อหาสาระข้างต้นผมขออนุญาตไม่แตะต้องลงลึก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันเกี่ยวเนื่องโยงกับรายละเอียดหลายๆ เหตุการณ์ ซึ่งผมพยายามละเว้นไม่พูดถึง เพื่ออรรถรสเต็มเปี่ยมสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันสะท้อนชัด ละเอียดถี่ถ้วน และเล่าได้วิเศษอยู่แล้ว ควรที่จะเสาะหา Caged Bird มาอ่านด้วยตนเองมากกว่าจะมาอ่านสำเนาตกๆ หล่นๆ จากผม

แง่มุมที่ผมอยากจะขยายความเล่าสู่กันฟังคืออีกประเด็นเนื้อหาว่าด้วยการร่อนเร่ไร้ราก ปราศจากหลักแหล่งของมายา หรือพูดอีกแบบคือชีวิตตลอด 13 ปีของมายา (กับพี่ชาย) ทั้งเขาและเธอ ไม่เคยมี ‘บ้าน’ หรือที่พำนักถาวร ต้องระหกระเหิน สองพี่น้องถูกส่งตัวไปมา จากแคลิฟอร์เนียไปสแตมป์ส เซนต์หลุยส์ แล้วย้อนกลับไปสแตมป์ส ลอส แอนเจลิส โอคแลนด์ ซานฟรานซิสโก ลอส แอนเจลิส และซาน ฟรานซิสโก ด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างกรรมต่างวาระ

ตรงนี้สอดคล้องกับเนื้อความจากบทกวีที่มายาท่องในช่วงต้นเรื่อง ใจความว่า “ฉันไม่ได้จะมาอยู่…” ซึ่งอาจจะคิดไกลไปได้ถึงความรู้สึกเบื้องลึกของคนผิวสีในอเมริกาที่ไม่วางใจต่อถิ่นที่ใดๆ มีความแปลกแยก เป็นคนพลัดถิ่น ไม่ลงรอยต่อสังคมรอบๆ ตัวที่พำนักอาศัยอยู่ และโดนกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ  กดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม

มีแง่มุมเล็กๆ อีกอย่างที่อยากจะเล่าสู่กันฟังคือ มายาไม่ใช่ชื่อจริงดั้งเดิมของเธอ (มาร์เกอรีต) ขณะที่สมาชิกครอบครัวเรียกเธอว่า ริตี ชื่อมายาเกิดจากการเรียกของเบย์ลีผู้เป็นพี่ชายในวัยเด็ก ซึ่งยังพูดจาไม่ชัด จาก my sister จึงผิดเพี้ยนกลายเป็นมายาไปในที่สุด

ในเนื้อเรื่องมีการกล่าวถึงชื่อนี้อยู่หลายครั้งหลายตอน เล่าสรุปแบบเลี่ยงไม่พูดถึงเหตุการณ์ คือชื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงตัวตน บางขณะมันถูกตัดทอน รวบคำให้สั้นลง หรือเปลี่ยนแปลงอย่างชุ่ยๆ โดยคนผิวขาว เพื่อให้จำง่ายหรือสะดวกในการเรียกขาน

การต่อต้าน ขัดขืน แสดงความไม่พอใจของมายา เมื่อถูกเปลี่ยนแปลงเรียกขานเป็นอื่น เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างหนึ่งของการต่อสู้กับความไม่ชอบมาพากล ความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมในฐานะมนุษย์ ซึ่งมีอยู่มากมายเต็มไปหมดในสังคมอเมริกัน และเป็นสิ่งที่ในเวลาต่อมา เธอได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อขับเคี่ยวรบราอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย จนส่งผลสะเทือนในวงกว้าง

มีรายละเอียดปลีกย่อยทำนองนี้อัดแน่นเต็มไปหมดใน I Know Why the Caged Bird Sings ชนิดว่ายิ่งอ่านซ้ำก็ยิ่งพบเจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติจำเป็นอย่างยิ่งยวดอีกประการหนึ่งของงานเขียน ที่ได้ชื่อว่าขึ้นหิ้งคลาสสิกเป็นอมตะ

รู้แล้วอย่าเอ็ดไปนะครับว่าว่า  I Know Why the Caged Bird Sings เป็นหนังสือที่เขียนดีมากๆ จนผมยึดถือเป็นตำรา เป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ และเป็นครูสำหรับการฝึกหัดเขียนหนังสือ

โซซัดโซเซมาจบที่การไหว้ครูได้ยังไงก็ไม่รู้แฮะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save