fbpx

ฉันได้ยิน ฉันจึงเป็นฉัน (2): ปริศนาของ ‘เสียงที่ดังมาจากในหู’

เสียงดังออกมาจากหู

เสียงดังออกมาจากหู

คุณผู้อ่านเคยได้ยินเสียงที่ดังออกมาจากในหูตนเองหรือเปล่า?

ถ้าเคยก็ช้าก่อน คุณยังไม่ต้องตกใจ และยังไม่ต้องรีบไปค้นกูเกิลเพื่อจะค้นพบว่าตัวคุณเองเป็นมะเร็งอะไรสักอย่างหนึ่ง

แต่ถ้าคุณไม่เคยก็ยังไม่ต้องเสียใจ เพราะอันที่จริงมีคนเพียง 1 ถึง 2 ใน 3 ของประชากรเท่านั้นที่มีเสียงออกมาจากในหู และต่อให้คุณเป็นหนึ่งในนั้น คุณก็อาจจะไม่รู้ตัว เพราะว่าเสียงที่ออกมาจากในหูนั้นอาจจะเบาเสียจนคุณไม่ได้ยิน ยกเว้นแต่จะใช้โมโครโฟนที่ไวเป็นพิเศษในการตรวจจับเสียงนั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่เสียงในหูของพวกเขาดังเสียงจนก่อความรำคาญและทำให้สับสนกับอาการ ‘เสียงอื้อในหู’ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘tinnitus’[1] (ซึ่งเกิดจากความเสียหายของเซลล์ที่ใช้ในการได้ยินเสียง) ได้

เสียงที่ดังออกมาจากในหูนี้ต่างจาก ‘tinnitus’ ตรงที่มันเป็นเสียงที่ดังออกมาจริงๆ ไม่ได้เกิดจากสัญญาณประสาทที่สร้างขึ้นมาในสมอง ส่วนคำถามว่ามันเกิดมาจากอะไรนั้นยังคงเป็นปริศนา แต่ที่แน่ๆ เสียงที่ดังมาจากในหูนี้เป็นเสมือนสัญญาณที่บ่งบอกให้เรารู้ว่าหูไม่ได้ทำงานเป็นแค่อวัยวะที่คอยรอรับสัญญาณเพียงอย่างเดียว แต่มันมีกระบวนการที่ ‘แอคทีฟ’ อยู่ตลอดเวลาและนั่นทำให้เราสามารถได้ยินเสียงในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้อย่างที่เป็นอยู่

‘เสียงที่ดังมาจากในหู’ นี้มีชื่อเรียกอย่างขึงขังว่า ‘Spontaneous otoacoustic emissions’ (SOAEs) หรือแปลได้ว่าเสียงที่หูเปล่งออกมาได้เองอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (คำว่า ‘Oto-‘ มาจากภาษากรีกที่แปลว่า ‘หู’) แน่นอนว่าในหูเรานั้นไม่มีทั้งปี่และขลุ่ย และถึงแม้ว่าต้นกำเนิดที่แน่ชัดของ ‘เสียงที่ดังมาจากในหู’ จะยังคลุมเครือ แต่ในหูของเราก็มีอวัยวะหลายชิ้นส่วนที่สามารถขยับเขยื้อนได้ด้วยตนเอง หนึ่งในนั้นก็คือ ‘เซลล์ขน’ (hair cell) เซลล์รูปทรงกระบอกซึ่งเป็นเซลล์ที่เราใช้ในการได้ยิน เซลล์ขนมีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะมันมีรยางค์รูปร่างคล้ายกระจุกขนอยู่ที่ผิวด้านบนของเซลล์ และเป็นที่รู้กันว่าเซลล์ขนสามารถยืด-หดเปลี่ยนขนาดของมันได้ตามสมบัติทางไฟฟ้าของเซลล์



การยืด-หดของเซลล์ขนที่ว่านี้ได้รับการสาธิตไว้อย่างงดงามในสารคดี ‘Ear We Go’ ของสำนักข่าวบีบีซีในปี ค.ศ. 1987 เมื่อ ศ.โจนาธาน อาช-มอร์ (Jonathan Ashmore) แปลงเพลง ‘Rock-Around-the-Clock’ ของ Bill Haley ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้วส่งสัญญาณนั้นไปที่ผิวของเซลล์ขนด้วยแท่งแก้วขนาดจิ๋วที่นำไฟฟ้าได้ (ในวิดีโอจะเห็นเป็นแท่งแก้วปลายแหลมจากทางด้านล่างของจอ)

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าการยืด-หดได้เองของเซลล์ขนนี่แหละที่อาจเกี่ยวข้องกับ ‘เสียงที่ดังมาจากในหู’ เพราะสมบัติทางไฟฟ้าของเซลล์ขนอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะถูกกระตุ้นจากเสียงอย่างเดียว แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่แล้วตามธรรมชาติอีกด้วย ทว่านั่นก็เป็นเพียงแค่สมมติฐานหนึ่งที่ยังรอการพิสูจน์ต่อไป

แต่จะว่าไปแล้ว คนเราก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่มีเสียงออกมาจากในหู แม้แต่แมว หมา หรือหนูตะเภาก็มีได้เช่นกัน ผู้เขียนอยากแนะนำว่าต่อไปนี้ให้ท่านผู้อ่านลองตั้งใจฟังสัตว์เลี้ยงที่บ้านของท่านดูว่ามันมีเสียงดังออกมาจากในหูหรือไม่ ตัวอย่างที่โด่งดังอันหนึ่งคือหมาพันธุ์อเมริกันเอสกิโม (American eskimo) วัย 5 เดือน ชื่อ ‘แซมสัน’ (Samson) ที่มีเสียงดังออกมาจากในหูจนเจ้าของสามารถได้ยินในระดับเดียวกันกับเสียงพูดคุยของคนโดยทั่วไป (~ 50 dB)[2]

‘แซมสัน’ ถือเป็นหมาตัวที่สองที่มีรายงานว่ามีเสียงดังออกมาจากในหู แม้ความรู้ความเข้าใจของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเสียงที่ดังออกมาจากในหูขณะนั้นยังไม่มากนัก แต่หลังจากทดลองได้เพียง 3 ครั้ง ทีมวิจัยก็ต้องยอมใจเจ้าของหมาผู้ไม่อยากเห็นสัตว์เลี้ยงของตนเองถูกจับวางยาสลบและสอดไมโครโฟนเข้าไปในหูอีกต่อไป

นอกจาก Spontaneous otoacoustic emissions (SOAEs) หรือเสียงที่ดังออกมาจากในหูได้เองแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเมื่อเราเล่นเสียงสองความถี่ที่ใกล้กันมากๆ (f2/f1 ~ 1.2) หูของเราจะส่งเสียงความถี่ที่เป็นส่วนผสมทางคณิตศาสตร์ (2f1 – f2) ของเสียงสองเสียงนั้นออกมา ปรากฏการณ์นี้เป็นที่รู้จักของนักดนตรี โดยเฉพาะนักดนตรีคลาสสิกมาเป็นเวลานานแล้วในชื่อ ‘Phantom tones’ หรือ ‘Tartini tones’ ซึ่งตั้งตามชื่อของนักไวโอลินจากศตวรรษที่ 18 นาม ‘Giuseppe Tartini’ ผู้เขียนบรรยายถึง ‘เสียงความถี่ที่สาม’ (terzo suono) นี้ไว้อย่างละเอียดในตำราทฤษฎีดนตรีชื่อ ‘Trattato di musica secondo la vera scienza dell’armonia’ ของเขา

ปรากฏการณ์ที่หูของเราส่งเสียงความถี่ที่สามออกมามีชื่อเรียกอย่างขึงขังว่า‘Distortion product otoacoustic emissions’ (DPOAEs) โดยคำว่า ‘distortion’ (บิดเบือน) ในที่นี้ก็หมายถึงการทำงานของหูที่สิ่งซึ่งเราป้อนเข้าไปไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบเส้นตรงกับผลลัพธ์ที่ออกมา

เนื่องจากหูของเราไม่เพียงส่งเสียงความถี่ที่สามออกมาเท่านั้น แต่เรายังได้ยินมันอีกด้วย นักประพันธ์และนักดนตรีเพลงคลาสสิกจึงใช้ประโยชน์จาก ‘เสียงลวงหู’ นี้ในการแต่งและบรรเลงเพลงอยู่ไม่น้อย ถึงกระนั้นก็ไม่ได้มีแค่นักดนตรีเท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จาก DPOAEs แพทย์เองยังใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบว่าเด็กทารกมีอาการหูหนวกหรือไม่อีกด้วย (ผู้เขียนเข้าใจว่าแม้แต่ในประเทศไทยเอง การตรวจสอบอาการหูหนวกของทารกด้วยวิธีนี้ก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย)

ปรากฏการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้เพียงเผยให้เห็นว่า ‘หู’ เป็นอวัยวะที่ ‘แอคทีฟ’ อยู่ตลอดเวลาเท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่า ‘หู’ มีกลไกการทำงานที่ลึกลับน่าอัศจรรย์อย่างไร


[1] ผู้เขียนเคยเขียนถึงที่มาของอาการ ‘เสียงอื้อในหู’ ไว้ในบทความเรื่อง ฉันได้ยิน, ฉันจึงเป็นฉัน (1) : การสูญเสียการได้ยิน ตัวตน และดนตรี

[2] Ruggero, Kramek, and Rich. 1984. Spontaneous otoacoustic emissions in a dog. Hearing Research.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save