fbpx
ฉันได้ยิน, ฉันจึงเป็นฉัน (1) : การสูญเสียการได้ยิน ตัวตน และดนตรี

ฉันได้ยิน, ฉันจึงเป็นฉัน (1) : การสูญเสียการได้ยิน ตัวตน และดนตรี

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

“…ข้าพเจ้าไม่กล้าบอกกับคนอื่นว่า ‘พูดดังขึ้นหน่อย ตะโกนเลย ฉันเป็นคนหูหนวก’
…ข้าพเจ้าคงต้องจำทนใช้ชีวิตเยี่ยงคนชายขอบ…”[1]
Ludwig van Beethoven, ตุลาคม ค.ศ. 1802

 

– 1 –

 

จะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย?

นี่ไม่ใช่คำถามเชิงปรัชญา แต่เป็นความจริงที่จับต้องได้ของผู้สูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลันหลายแสนคนทั่วโลก มีสถิติว่าในทุกๆ ปี จะมีผู้สูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลันอยู่ราว 1-8 คน ในประชากร 5,000 คน ถึงกระนั้น สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน หรือ Sudden Sensorineural Hearing Loss (SSHL) ยังคงเป็นปริศนา นั่นหมายความว่าการสูญเสียการได้ยินอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เวลาไหนก็ได้ แม้แต่คุณหรือผม หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานในวงการดนตรี

เช้าวันหนึ่งของฤดูร้อนปี ค.ศ. 2010 ริชาร์ด ไอน์ฮอร์น (Richard Einhorn) นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกัน ตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงแหลมสูงดังอื้ออึงอยู่ในหู นอกจากเสียงประหลาดนั้นแล้ว เขาไม่ได้ยินเสียงอื่นใดอีกเลย แม้จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและสามารถกู้คืนการได้ยินบางส่วนกลับมา แต่เสียงที่เขาได้คืนกลับมานั้นกลับผิดเพี้ยนไปจากปกติ เขาบรรยายว่ามันฟังคล้ายกับ “มีหุ่นยนต์จากหนังไซไฟห่วยๆ กำลังกรีดร้องอยู่ข้างในหู”[2]

เสียงอื้อในหู (Tinnitus) เป็นสัญญาณของการเสื่อมสภาพของเซลล์ที่ใช้ในการได้ยิน มักเกิดขึ้นในผู้ที่กำลังสูญเสียการได้ยิน เสียงแหลมสูงดังกล่าวไม่ได้มาจากแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ภายนอก แต่เป็นสิ่งที่สมองสร้างขึ้นเองเพื่อชดเชยสัญญาณประสาทส่วนการได้ยินที่สูญเสียไป คนทั่วไปมักจินตนาการว่าการสูญเสียการได้ยินก็เหมือนกับการปิดสวิตช์การได้ยินของเราไปเฉยๆ แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด

ไม่มีใครถ่ายทอดประสบการณ์การสูญเสียการได้ยินได้ดีเท่ากับเบดริช สเมทนา (Bedřich Smetana) นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งดนตรีคลาสสิกเช็ก (Czech)

สเมทนาสูญเสียการได้ยินโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1876 หรือเพียงแค่ 2 ปีหลังจากที่เขาเริ่มได้ยิน “เสียงแหลมสูงอื้ออึงอยู่ในหู” (“…that fateful ringing of high-pitched tones in my ear which in 1874 announced the beginning of my deafness…”)

เขาเคยสาธยายให้เพื่อนฟังว่า “ความทุกข์ทรมานที่สุดของฉันนั้นเกิดจากเสียงรบกวนในหัวที่ดังอยู่อย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน บางครั้งก็ดังกึกก้องราวฟ้าผ่า และความปั่นป่วนอันมืดมนนั้นก็ถูกแทรกด้วยเสียงหวีดที่แหบพร่าอย่างน่าสะพรึงกลัวราวกับเหล่ามารอสูรกำลังกระหน่ำความโกรธเกรี้ยวลงมาที่ฉันท่ามกลางเสียงทรัมเป็ตที่สับสนไม่เป็นท่วงทำนองและเครื่องดนตรีอื่นที่ดังเซ็งแซ่ไปพร้อมกัน”

ในปีเดียวกันกับที่เขาสูญเสียการได้ยินโดยสมบูรณ์ สเมทนาประพันธ์อัตชีวประวัติของตนเองเป็นบทเพลงคลาสสิก เพลง ‘สตริง ควอร์เต็ต หมายเลข 1 ใน E ไมเนอร์ (จากชีวิตของข้าพเจ้า)’ (String Quartet No. 1 in E minor  ‘From My Life’) เล่าเรื่องราวของนักดนตรีหนุ่มผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความใฝ่ฝัน สู่นักประพันธ์รุ่นใหญ่ผู้เผชิญกับจุดหักเหของชีวิตเมื่อเขาเริ่มสูญเสียการได้ยิน เราจะพบว่าในมูฟเมนต์สุดท้าย (นาทีที 25.50 ในคลิปนี้) เพลงที่กำลังบรรเลงมาโดยต่อเนื่องถูกขัดจังหวะด้วยเสียงตัวโน้ต ‘มี’ (E) ที่แหลมสูงและลากยาวเพื่อเป็นตัวแทนของ ‘เสียงแหลมสูงอื้ออึงในหู’ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียการได้ยินของเขา หลังจากนั้นบทเพลงในช่วงท้ายจะบรรเลงอย่างช้าๆ หมดเรี่ยวแรงและความมีชีวิตชีวาคล้ายกับเป็นการบอกใบ้ว่าเขากำลังหมดอาลัยตายอยากและหัวใจก็หนักอึ้งไปด้วยความสิ้นหวัง

แม้ในช่วงที่หูหนวกสนิทไปแล้ว สเมทนายังสามารถประพันธ์บทเพลงได้หลายชิ้น โดยเฉพาะผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาอย่างซิมโฟนีเชิงกวีพรรณนา (symphonic poems) ชุด ‘บ้านเกิดเมืองนอนของข้า’ (Má vlast) แต่ในท้ายที่สุด เบดริช สเมทนาก็เสียชีวิตในสถานรักษาผู้ป่วยจิตเวช[3]

 

– 2 –

 

การสูญเสียการได้ยินในคนที่เคยได้ยินมาก่อนอาจไม่ใช่แค่การสูญเสียประสาทการรับรู้อย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อาจยังเป็นการสูญเสียความเป็นตัวตนของพวกเขาไป (สำหรับผู้สูญเสียการได้ยินแต่กำเนิดแล้ว ‘เสียง’ อาจเป็นสิ่งแปลกปลอม และการได้รับการ ‘รักษาทางการแพทย์’ ที่ทำให้พวกเขากลับมาได้ยินต่างหากที่อาจทำให้พวกเขาสูญเสียความเป็นตัวตนไป[4]) พวกเขาถูกริบเอาความสามารถในการสื่อสารกับโลกภายนอก พวกเขาอาจรู้สึกถึงความแปลกแยก โดดเดี่ยวและการถูกกีดกันออกจากสังคม

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) อีกหนึ่งนักประพันธ์ผู้ค่อยๆ สูญเสียการได้ยินตลอดช่วงชีวิตของเขาเคยเขียนระบายความในใจถึงความรู้สึกแปลกแยกเอาไว้ว่า “ปีแล้วปีเล่า ความหวังของข้าพเจ้าที่จะได้รับการรักษาก็ค่อยๆ แตกสลายไปทีละนิด ในที่สุดข้าพเจ้าก็ถูกทำให้จำยอมต่อความจริงเรื่องความทุพพลภาพอย่างถาวร…ข้าพเจ้าไม่กล้าบอกกับคนอื่นว่า ‘พูดดังขึ้นหน่อย ตะโกนเลย ฉันเป็นคนหูหนวก’ …ข้าพเจ้าคงต้องจำทนใช้ชีวิตเยี่ยงคนชายขอบ…”

ถึงที่สุดแล้วการสูญเสียการได้ยินอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการประพันธ์ดนตรีอย่างเบโธเฟนหรือสเมทนาสักเท่าไหร่ เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็สามารถ ‘จินตนาการ’ ถึง ‘เสียงดนตรีในหัว’ ได้ แต่สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน บทสนทนาระหว่างญาติมิตรและเพื่อนฝูงคือสิ่งที่ไม่ว่าจะนักประพันธ์หรือใครที่ไหนก็ไม่สามารถ ‘จินตนาการ’ ขึ้นมาได้

ริชาร์ด ไอน์ฮอร์นก็เช่นกัน เขาไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวเรื่องผลกระทบของการสูญเสียการได้ยินต่อการทำงานเท่ากับผลกระทบในเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างเขากับคนที่เขารัก เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการปรับตัวและสภาพจิตใจ

ความพยายามที่จะเชื่อมต่อกับ ‘โลกภายนอก’ ได้อีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่ผู้สูญเสียการได้ยินทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสนทนากับคนที่พวกเขารัก การดำรงชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การหย่อนใจ

ภาษามือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ผู้สูญเสียการได้ยินสามารถสื่อสารกับโลกภายนอก[5] แต่สำหรับผู้ที่เคยได้ยินและต้องการกู้คืนการได้ยินบางส่วนกลับมา เทคโนโลยีอย่างเช่นเครื่องช่วยฟัง (hearing aids) และการปลูกถ่ายประสาทหูเทียม (cochlear implant) คือทางเลือกที่ช่วยให้พวกเขายังสามารถใช้เสียงเป็นเครื่องมือสื่อสารได้อยู่

การเลือกใช้เทคโนโลยีใดขึ้นอยู่กับบริบทของการสูญเสียการได้ยินในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้ว การสูญเสียการได้ยินในคนที่ไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมมักเกิดจากการที่หูชั้นในได้รับความกระทบกระเทือน เช่น การสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลัน การทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังอยู่เป็นประจำ (acoustic trauma) หรือเป็นการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากความชรา (age-related hearing loss) สำหรับในกรณีหลัง เนื่องจากเซลล์ที่ใช้ในการได้ยินของมนุษย์มีอยู่จำกัดและไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสื่อมสภาพไปได้ ตลอดอายุขัยก็จะค่อยๆ สูญเสียเซลล์ที่มีค่านี้ไปทีละนิดๆ ทำให้ท้ายที่สุด พวกเราทุกคนไม่มีใครหลีกหนี ‘ความบกพร่องที่มองไม่เห็น’ [6] นี้ไปได้

 

– 3 –

 

สำหรับผู้สูญเสียการได้ยินบางราย การสวมใส่เครื่องช่วยฟัง อาจช่วยกู้คืนความสามารถในการได้ยินได้มากถึงร้อยละ 50-70 เครื่องช่วยฟังจะทำงานคล้ายกับเครื่องขยายเสียง โดยจะมีลำโพงขนาดเล็กสอดเข้าไปในโพรงหูช่วยลดการสูญเสียของพลังงานเสียงที่ปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางในอากาศ (ในศตวรรษที่ 19 เบโธเฟนก็มีโอกาสได้ใช้เครื่องช่วยฟังอย่างง่ายที่ประดิษฐ์โดย โยฮันน์ เมเซล (Johann Mälzel) เครื่องช่วยฟังของเบโธเฟนมีลักษณะเป็นกระบอกเสียงเรียกว่า ‘ear trumpet’) แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้สูญเสียการได้ยินอีกจำนวนไม่น้อยที่เครื่องช่วยฟังไม่สามารถกอบกู้การได้ยินของพวกเขา คนกลุ่มนี้ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายประสาทหูเทียม (cochlear implant)

ประสาทหูเทียมเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่แปลงคลื่นเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อส่งต่อไปยังเส้นประสาทการได้ยิน (auditory nerves) โดยตรง โดยไม่ผ่านเซลล์ที่ใช้ในการได้ยินส่วนที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว

การปลูกถ่ายประสาทหูเทียมต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อติดตั้งขั้วไฟฟ้า (electrode) ของวงจรอิเล็กทรอนิกส์  เข้าไปในอวัยวะที่เป็นท่อรูปขดหอยเรียกว่า ‘โคเคลีย’ (cochlea) ซึ่งตั้งอยู่ภายในหูชั้นใน และภายในท่อโคเคลียร์นี้เองจะมีเซลล์ขน (hair cells) [7] ที่ทำหน้าที่แปลงพลังงานเสียงให้กลายเป็นสัญญาณประสาท ซึ่งจะถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ ไปยังสมอง ความพิเศษอีกประการหนึ่งของหูชั้นในก็คือ ถ้าหากเรานำท่อโคเคลียมาเหยียดออกให้เป็นแนวยาว เราจะพบว่าเซลล์ขนที่ทำหน้าที่จำเพาะในการรับรู้คลื่นความถี่สูงจะตั้งอยู่ในบริเวณส่วนต้นของท่อ ในขณะที่เซลล์ขนที่ทำหน้าที่ในการรับรู้คลื่นความถี่ต่ำจะตั้งอยู่ในบริเวณส่วนปลายของท่อ มนุษย์เรามีเซลล์ขนอยู่ทั้งหมดประมาณ 15,500 เซลล์ โดยมีเซลล์เพียง 3,500 เซลล์ที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทไปยังสมอง (เซลล์ที่เหลืออีกราว 12,000 เซลล์ ทำหน้าที่ช่วยขยายสัญญาณ)

ขั้วไฟฟ้าของวงจรประสาทหูเทียมทำหน้าที่เป็นเหมือนสายไฟเล็กๆ ที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างสัญญาณไฟฟ้าและเส้นประสาทการได้ยินโดยไม่ต้องผ่านการทำงานของเซลล์ขนที่เสียหาย แต่วงจรประสาทหูเทียมในปัจจุบันมีขั้วไฟฟ้าอยู่มากที่สุดเพียง 22 ขั้ว (22-electrode cochlear implant) นั่นหมายความว่าขั้วไฟฟ้าเพียงหลักสิบนี้จะต้องทำหน้าที่แทนเซลล์ที่มีอยู่ถึงราว 3,500 เซลล์ และเนื่องจากเซลล์ขนที่รับรู้คลื่นความถี่ต่ำนั้นตั้งอยู่ในบริเวณปลายของท่อโคเคลีย จึงเป็นไปได้ยากที่ศัลยแพทย์จะติดตั้งขั้วไฟฟ้าเข้าไปในช่วงคลื่นความถี่ต่ำมากๆ ทำให้ผู้ใช้ประสาทหูเทียมส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินคลื่นความถี่ต่ำไป

ถึงจะมีข้อจำกัดมากเช่นนี้ แต่ประสาทหูเทียมกลับทำงานได้ค่อนข้างดีกับการฟังเสียงบทสนทนา เนื่องจากความถี่ของเสียงพูดมนุษย์อยู่ในช่วงคลื่นระดับกลางๆ ที่หูมนุษย์รับรู้ได้ และบทสนทนาปกติไม่มีการเปลี่ยนแปลงความถี่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วดังที่พบได้ในบทเพลง

ในการชื่นชมดนตรี มนุษย์เราอาศัยความสามารถหลัก 3 ประการ [8] นั่นคือ 1. การรับรู้ถึงจังหวะ (rhythm) 2. การจำแนกระดับเสียง (pitch) และ 3. การรับรู้ถึงเนื้อเสียงหรือคุณภาพเสียง (timbre) ซึ่งทำให้เราสามารถแยกแยะเครื่องดนตรีต่างชนิดกันที่บรรเลงโน้ตในความถี่เดียวกันได้ ความสามารถสองประการหลัง คือระดับเสียงและคุณภาพเสียง เป็นสิ่งที่ประสาทหูเทียมยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ยิ่งดนตรีมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ประสบการณ์การชื่นชมดนตรีด้วยประสาทหูเทียมแย่ลงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ผู้ใช้ประสาทหูเทียมจำนวนไม่น้อยที่ต้องเปลี่ยนแนวดนตรีที่ตนเคยฟัง เพลงที่พวกเขาเคยฟังแล้วรู้สึกว่าแสนไพเราะก่อนที่จะสูญเสียการได้ยิน อาจกลายเป็นเหมือนเสียงแมวกำลังขูดแผ่นสังกะสีหรือเสียงหุ่นยนต์กำลังกรีดร้อง

เนื่องจากการบรรยายด้วยตัวหนังสืออาจทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ไม่ชัดเจนนัก ผู้เขียนจึงได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองเสียงที่ผู้ใช้ประสาทหูเทียมจะได้ยินจากเสียงต้นฉบับ 4 รูปแบบ โดยเริ่มจากเสียงดนตรีบรรเลงที่เน้นการใช้เครื่องให้จังหวะ เสียงพูดปกติ เสียงดนตรีประกอบการขับร้อง และเสียงบรรเลงเปียโน ในคลิปด้านล่างนี้ผู้อ่านจะเริ่มจากการฟังเสียงที่จำลองจากประสาทหูเทียมก่อนจึงตามด้วยเสียงต้นฉบับ ระหว่างที่ฟังเสียงจำลองจากประสาทหูเทียม ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองหลับตาและจินตนาการดูว่าเสียงต้นฉบับน่าจะเป็นอย่างไร

 

 

ทั้งนี้ใช่ว่าผู้ใช้ประสาทหูเทียมจะ ‘ได้ยิน’ เสียงดนตรีเหมือนกันไปหมดทุกคน ผู้ที่มีประสบการณ์ทางดนตรีอย่างเข้มข้นมาก่อนเช่นนักดนตรี มักให้ความเห็นว่าประสบการณ์การชื่นชมดนตรี (music appreciation) ของพวกเขามีพัฒนาการขึ้นหลังได้รับการฝึกฝนและฟื้นฟูมากกว่าคนที่ไม่ใช่นักดนตรี ความเป็นไปได้นี้เกิดขึ้นเพราะว่า ที่จริงแล้ว ‘การได้ยิน’ ไม่ได้เกิดขึ้นในหูชั้นในเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประมวลผลในสมองอีกด้วย ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของสมองนี้เองที่ทำให้ผู้ใช้ประสาทหูเทียมบางส่วนสามารถทำความรู้จักและชื่นชมกับ ‘ดนตรี’ ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

ในบทความเรื่อง ‘The Cochlear Switch’ ของโจเซฟีน ดิกคินสัน (Josephine Dickinson) เธอเล่าเรื่องราวเส้นทางชีวิตตนเองในฐานะนักดนตรีและกวีที่ต้องใช้เครื่องช่วยฟังตั้งแต่ยังเด็ก แต่เมื่อไม่นานมานี้ เธอได้สูญเสียการได้ยินไปโดยสมบูรณ์ แม้การปรับตัวหลังการใช้ประสาทหูเทียมจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอได้เล่าถึงการเรียนรู้ประสบการณ์ทางดนตรีแบบใหม่ๆ นอกจากการค้นหาแนวดนตรีที่เหมาะสมกับประสาทหูเทียมแล้ว เธอยังค้นพบความงดงามของดนตรีในธรรมชาติ อย่างเช่นเสียงนกและเสียงจากสิ่งแวดล้อมที่เธอไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเสียงลมพัดเสียดสีกับผิวหนังของเธอ หรือเสียงสั่นของเกียร์รถ เสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่สมองของคนที่ไม่มีปัญหาการได้ยินจะ ‘คัดกรอง’ ออกไป[9] สำหรับเธอแล้ว นี่คือการได้ชื่นชมความงดงามของความเงียบงัน ซึ่งไม่ใช่ในฐานะของสภาวะที่ไร้ซึ่งเสียงใดๆ แต่คือเสียงของสภาพแวดล้อมที่ซึมแทรกอยู่ภายในความเงียบงันนั้น

เมื่ออ่านบทความของโจเซฟีนจบลง ผู้เขียนก็พลันระลึกถึงบทกวีโปรดที่แต่งโดยวิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) ซึ่งเล่าถึงชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองแต่กำลังโหยหาการกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ต่างกันกับเจโซฟีนผู้สอนให้เรารู้จักเห็นคุณค่าของการ ‘ฟังเสียงจากความเงียบงัน’ ให้ดียิ่งขึ้น เยตส์สอนให้เรารู้จัก ‘ฟังเสียงจากข้างใน’ ให้เป็น

มากไปกว่านั้น บทกวีของเยตส์ยังทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า เรา (ผู้ที่ยังไม่สูญเสียการได้ยิน) ไม่ควรถือเอาการได้ยินเป็นของตาย การได้ยินไม่ใช่เพียงแค่คลื่นเสียงที่ผ่านเข้าไปในหูแล้วถูกแปลงให้กลายเป็นสัญญาณประสาทส่งไปยังสมอง แต่การได้ยินยังกลายเป็นความทรงจำ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของเรา

 

“…I will arise and go now, for always night and day
I hear lake water lapping with low sounds by the shore;
While I stand on the roadway, or on the pavements grey,
I hear it in the deep heart’s core…”

W.B. Yeats, ‘The Lake Isle of Innisfree’

 


 

เชิงอรรถ

[1] George Thomas Ealy. 1994. Of Ear Trumpets and a Resonance Plate: Early Hearing Aids and Beethoven’s Hearing Perception. 19th-Century Music.

[2] Richard Einhorn. 2012. Observations from a Musician with Hearing Loss. Trends Amplification.

[3] Alexei Pesic and Peter Pesic. 2015. The Sound of Deafness: Smetana and Traumatic Tinnitus. Music & Medicine.

[4] ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องสั้น ‘นรกที่สวรรค์ลืม’ ของคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เล่าถึงชายตาบอดที่ได้รับการรักษาจากพระเยซู แต่แล้วกลับพบว่าการมองเห็นสร้างความทุกข์ใจแก่เขาอย่างแสนสาหัส เขาพยายามตามหาพระเยซูเพื่อขอให้เขากลายเป็นคนตาบอดอีกครั้ง

[5] รู้หรือไม่ว่า คล้ายกับภาษาพูด ภาษามือก็มีหลากหลายตระกูล ไม่ว่าจะเป็น ภาษามือไทย (Thai Sign Language – TSL) ภาษามืออเมริกัน (ASL) หรือภาษามือฝรั่งเศส (FSL) ซึ่งบางคำอาจสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ (intelligible) แต่หลายคำก็ไม่ รวมทั้งยังมีภาษาท้องถิ่นที่มีการใช้ในชุมชนคนหูหนวกเล็กๆ และกำลังหายสาบสูญ เช่น ภาษามือของชุมชนคนหูหนวกในมาร์ธาวินยาร์ด (Martha’s Vineyard) รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

[6] การสูญเสียการได้ยินเป็น ‘ความบกพร่องที่มองไม่เห็น’ (invisible disability) ซึ่งแตกต่างจากความบกพร่องอื่นๆ เช่น ตาบอด หรือการสูญเสียแขนขา เพราะเมื่อดูจากภายนอก เรามักไม่สามารถแยกแยะผู้สูญเสียการได้ยินกับผู้ที่ได้ยินปกติได้

[7] เซลล์ขน (hair cells) ไม่ใช่ขนแบบที่พบตามร่างกายของเรา แต่เป็นเซลล์ที่มีรยางค์พิเศษรูปร่างคล้ายกระจุกขน (haircell bundles) ชูขึ้นมาจากผิวด้านบนของเซลล์

[8] Flavia Sorrentino et al. 2020. Music perception in adult patients with cochlear implant. Hearing, Balance, and Communication

[9] คล้ายกับการที่เรามักไม่ได้กลิ่นสภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคย – ภาพยนตร์เรื่อง ‘ปรสิต’ ของ บง จุนโฮ ที่เอาประเด็นเรื่อง ‘กลิ่นคนจน’ มาดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save