fbpx
‘อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา’ หญิงชาวบ้านที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐชายล้วนตลอด 20 ปี โหด มัน ฮา บ้าพลัง

‘อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา’ หญิงชาวบ้านที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐชายล้วนตลอด 20 ปี โหด มัน ฮา บ้าพลัง

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา เป็นนิยายจีนร่วมสมัยเล่มแรกที่ฉันหยิบมาอ่าน หลังจากการท่องยุทธภพในโลกของนิยายกำลังภายใน และท่องไปในอดีตแบบนิยายอิงประวัติศาสตร์

แม้จะมีการตีพิมพ์วรรณกรรมจีนร่วมสมัยออกมาพอสมควร แต่ก็นับว่าหนังสือแนวนี้ยังเป็น ‘ของแข็ง’ ที่ยากจะทะลุทะลวงเข้ามาสู่ความนิยมของนักอ่านไทย  ถ้าไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเติบโต ผู้คนมักสนใจวิถี ‘จีนโบราณ’ มากกว่า ‘จีนยุคใหม่’ วรรณกรรมอย่าง อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา นับได้ว่าเป็นเรื่องเล่าอย่างหลัง คือสะท้อนภาพจีนยุคปัจจุบันในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ว่าด้วยเรื่องระบบราชการจีนและความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ถ่ายทอดออกมาแบบโหด มัน ฮา ไม่เครียดถมึงทึงอย่างที่จั่วประเด็นไว้

ผู้เขียนนาม ‘หลิวเจิ้นอวิ๋น’ เป็นนักเขียนแนววิพากษ์ระบบชนชั้นของสังคมและข้าราชการของจีน เขาเริ่มจริงจังกับงานเขียนช่วงปี 1980 และเขียนงานอย่างต่อเนื่อง งานเขียนของเขาได้รับรางวัลมากมาย มีภาษาเฉพาะตัว และมีวิธีการเล่าเรื่องแบบตลกร้ายที่จับคนอ่านอยู่หมัด

หนังสือเล่มนี้มีชื่อภาษาจีนว่า หว่อปู๋ซื่อพานจินเหลียน แปลตรงตัวได้ว่า ฉันไม่ใช่พานจินเหลียน

‘อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา’

‘พานจินเหลียน’ คือตัวละครหญิงแพศยาในวรรณกรรมจีนเรื่อง จินผิงเหมย และ ซ้องกั๋ง เธอยั่วน้องชายสามี คบชายชู้  สุดท้ายวางแผนฆ่าสามีตนเอง จนโดนน้องชายสามีจับตัดคอกลางวงเหล้า แต่ตัวละครหญิงใน อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพียงแต่เธอถูกอดีตสามีครหาว่าเป็น ‘นังแพศยา’ จนเธอต้องต่อสู้เพื่อปฏิเสธ  เธอคือ ‘หลี่เสวี่ยเหลียน’ หญิงวัย 29 ปีที่ถูกอดีตสามีทรยศหักหลัง และโดนพิษภัยจากระบบราชการของจีนเล่นงาน

ในช่วงที่รัฐบาลจีนมีนโยบายให้แต่ละครัวเรือนมีลูกได้แค่คนเดียว หลี่เสวี่ยเหลียนและสามีมีลูกชายแล้วหนึ่งคน แต่เธอดันตั้งท้องขึ้นมาอีกหนึ่งคน  ตอนแรกพวกเขาตัดสินใจร่วมกันว่าจะเอาลูกออก แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่ได้ จนหลี่เสวี่ยเหลียนเกิดความคิดอันเฉียบแหลมขึ้นมาว่า หรือจะแกล้งไปจดทะเบียนหย่า แล้วค่อยกลับมาแต่งงานกันใหม่ เมื่อเป็นดังนี้ก็นับว่าเป็นลูกติดของแต่ละคน ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย

เธอกับสามีพร้อมใจกันไปจดทะเบียนหย่าจริงๆ แต่ตกลงกันไว้ว่าเป็นการหย่าปลอมๆ เรื่องราวดูเหมือนจะไปได้สวย ถ้าสามีของเธอไม่หักหลังอย่างทารุณด้วยการไปแต่งงานใหม่ ทิ้งให้เธออยู่กับลูกสาวเพียงลำพัง โดยที่ไม่ยอมกลับมาแต่งงานใหม่กับเธออีกครั้ง

เรื่องราวชุลมุนเวียนหัวจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น หลี่เสวี่ยเหลียนแค้นมาก จึงไปฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์ว่า การหย่าครั้งนั้นเป็นการหย่าปลอมๆ เธอจะแต่งงานใหม่ เพื่อหย่ากับสามีอีกครั้งเป็นการแก้แค้น

เรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น แม้เธอจะเตรียมการฟ้องคดีมาแรมเดือน แต่ศาลใช้เวลาเพียง 20 นาที ตัดสินว่าเธอแพ้คดี หลี่เสวี่ยเหลียนยังไม่ย่อท้อ ลุยไปยังหน่วยราชการตั้งแต่ศาล อำเภอ ไปจนถึงเทศบาล แต่เธอก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมและการแยแสใดๆ จากเจ้าพนักงานผู้เป็นใหญ่เป็นโตทั้งมวล มิหนำซ้ำ เมื่อเธออยากจะถอดใจ แล้วไปเคลียร์กับอดีตสามีเพื่อจบเรื่องราวชุลมุนนี้ เขากลับประกาศว่าเธอไม่ใช่สาวบริสุทธิ์ในคืนเข้าหอ และเรียกเธอว่า ‘พานจินเหลียน’ ต่อหน้าเพื่อนในวงสุราทั้งหมด และเพราะเหตุนี้ ไฟที่กำลังจะมอดดับ ก็ปะทุขึ้นมาใหม่อย่างรุนแรง

วิธีการเล่าแบบเสียดสี และมุมมองเหตุการณ์แบบคนที่ถอยห่างออกมา ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปของทุกตัวละครและเหตุการณ์ สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวละครข้าราชการในเรื่องเป็นผู้ชายทั้งหมด และหลี่เสวี่ยเหลียนเป็นเพียงสาวชาวบ้านที่ลุยไปทุกที่ด้วยตัวคนเดียว ความมันจึงเกิดขึ้นเมื่อเราต้องคอยดูต่อไปว่า เธอจะงัดไม้ไหนออกมาสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจความเป็นชาย ที่ใหญ่กว่าเธอหลายเท่านัก

ตัวหลี่เสวี่ยเหลียนเองทำให้เรารู้สึกในบางคราว่า พอก่อนไหม พักผ่อนก่อน เรื่องมันก็จบไปแล้ว จะไปแก้แค้นให้ได้อะไร แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรื่องราวก็โบยตีเราอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยวิธีคิดของราชการที่ดูๆ ไปแล้ว ก็น่าเอาคืนให้เจ็บแสบกันไปข้าง วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าเรามองความยุติธรรมแบบไหน และเรามีฐานคิดต่อโลกแบบใด ถ้าเราเป็นหลี่เสวี่ยเหลียน เราจะต่อสู้กับคดีที่ดูเหมือนจะไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์นี้หรือไม่ หรือจะยอมแพ้ไปให้สิ้นเรื่อง

หลี่เสวี่ยเหลียนไม่ใช่ตัวละครที่น่ารัก แม้เธอจะเคยเป็นสาวสะพรั่ง เป็นที่หมายปองของชายหนุ่มหลายคน แต่เธอปากร้ายและเต็มไปด้วยความเคียดแค้น แต่เชื่อเถอะ สิ่งที่เธอพูดและคิดจะทำให้คุณเถียงไม่ออก เธอเป็นภาพแทนของคนตัวเล็กที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แม้ลึกๆ แล้วเธอก็ไม่เคยแน่ใจว่าการประท้วงของเธอจะสำเร็จหรือเปล่า

กำแพงฝั่งริมหน้าต่างมีสมุดทดเลขสำหรับเด็กประถมแขวนไว้ ในสมุดเล่มนั้นคือบันทึกการประท้วงตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา กาลเวลาทำให้สมุดทดเลขเล่มนั้นเปื่อยจนหลุดเป็นแผ่นๆ และสกปรกเหมือนผ้าขี้ริ้ว แต่ผ้าขี้ริ้วผืนนี้นี่เองที่บันทึกสถานที่ทั้งหมดที่หลี่เสวี่ยเหลียนเคยไปประท้วงและคนทั้งหมดที่เธอได้พบ และผ้าขี้ริ้วผืนนี้เองที่คอยเฝ้ามองว่าเส้นผมสีดำขลับของเธอค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดอกเลาได้อย่างไร เฝ้าดูว่าเอวอรชรราวกิ่งหลิวของเธอค่อยๆ หนาขึ้นจนกลายเป็นโอ่งน้ำได้อย่างไร เธอหวังว่าสมุดทดเลขเล่มนี้จะช่วยพิสูจน์ได้ว่าเรื่องโกหกคือเรื่องโกหก และเรื่องจริงคือเรื่องจริง…” (206)

ในชีวิตจริง เราเห็นการประท้วงมากมาย เห็นการใช้เส้นสายในระบบราชการ เห็นเกมการเมืองเพื่อไต่เต้าสู่อำนาจ และเรื่องราวลึกลับซับซ้อนของกลุ่มคนในแวดวงราชการ เราค่อยๆ โน้มเอียงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา จากที่เคยเป็นไม้บรรทัดเหล็กตรงแหนว ก็ค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นไม้บรรทัดพลาสติกที่งอได้ทุกสถานการณ์ แล้วก็ค่อยๆ โน้มหัวรับโดยธรรมชาติ และเมื่อไหร่ที่เราเห็นคนตรงแน่วมาวิ่งในเขาวงกตที่ซับซ้อนนี้ เรากลับรู้สึกแปลกตา ไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร

แม้ว่าคดีใน อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา จะเป็นคดี ‘หย่าร้างกิ๊กก๊อก’ อย่างที่เหล่าข้าราชการในเรื่องพูดกัน แต่ถ้าพูดถึงความเจ็บช้ำน้ำใจ และการถูกตราหน้าว่าเป็นพานจินเหลียน ก็นับเป็นเรื่องใหญ่เท่าที่คนคนหนึ่งจะพบเจอ ผู้เขียนหยิบเอาประเด็นเล็กๆ อย่างการหย่าร้างในครอบครัวมา ‘เล่นใหญ่’ ได้อย่างชาญฉลาด และตอกย้ำซ้ำๆ กับคำว่า ‘ความเป็นธรรม’ อย่างสม่ำเสมอ

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา เล่นล้อกับความรู้สึกนี้ตลอดเวลา ชวนให้เราหันกลับมามองสภาพสังคมในบ้านเรา แม้ห่างกัน พันลี้ แต่ก็แทบไม่ต่างกันเลย

หลี่เสวี่ยเหลียนปั่นหัวข้าราชการอย่างเมามัน ขณะเดียวกัน หนังสือก็ปั่นหัวเราเล่นไปด้วย น่าคิดว่า ถ้าเป็นเราเราจะประท้วงไหม และถ้าจะให้เลือกทีม เราจะติดแฮชแท็ก #ทีมหลี่เสวี่ยเหลียน หรือไม่ เพราะอะไร (10 คะแนน)

อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา (I didn’t kill my husband)

หลิวเจิ้นอวิ๋น เขียน

ศุนิษา เทพธารากุลการ แปล

สำนักพิมพ์มติชน

หมายเหตุ – อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา หรือ หว่อปู๋ซื่อพานจินเหลียน ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ I Am Not Madame Bovary (2016) กำกับโดย Xiaogang Feng นำแสดงโดย ฟ่านปิงปิง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save