fbpx
ความน่าจะอ่าน 2020

[ความน่าจะอ่าน] เรื่องรันทดอันงดงาม I Called Him Necktie

‘นรา’ เรื่อง

 

“ผมเรียกเขาว่า เน็กไท เป็นชื่อที่ถูกใจเสียจนเขาหัวเราะออกมา ลายทางสีแดงสลับเทาบนหน้าอก นั่นคือความทรงจำเกี่ยวกับเขาที่ผมอยากเก็บไว้”

 

ข้างต้นคือประโยคเริ่มต้นของนิยายเรื่อง ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท (I Called Him Necktie)’ งานเขียนขนาดกะทัดรัดร้อยกว่าหน้า ซึ่งมีคุณสมบัติ ‘ทำน้อย ได้เยอะ’ อยู่เต็มเปี่ยม

‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ เป็นผลงานของมิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์ นักเขียนสตรีลูกครึ่งชาวญี่ปุ่น-ออสเตรีย (แม่เป็นคนญี่ปุ่น พ่อเป็นคนออสเตรีย) เธอเกิดเมื่อปี 1980 สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งเวียนนา สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ และทำงานเป็นครูสอนภาษาเยอรมันให้กับชาวต่างชาติ ควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียน (ตั้งแต่ปี 2008)

สถานะความเป็นลูกครึ่ง น่าจะเป็นแต้มต่อข้อได้เปรียบอย่างยิ่งต่อการทำงานเขียนของเธอ ซึ่งมีเรื่องราวฉากหลังเป็นญี่ปุ่น จึงเขียนขึ้นอย่างเข้าใจรายละเอียดทางวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาสังคม ขณะเดียวกัน พื้นเพการเติบโตใช้ชีวิตในประเทศตะวันตก ก็ส่งผลให้ลีลาการนำเสนอ มีกลิ่นอายแตกต่างจากงานเขียนส่วนใหญ่ของเพื่อนร่วมชาติอยู่มาก

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง (ซึ่งผมไม่ยืนยันความถูกต้อง) วัดเอาจากประสบการณ์ส่วนตัวในการอ่าน ผมรู้สึกอยู่เรื่อยมาว่า นิยายญี่ปุ่นเพื่อความบันเทิงโดยทั่วไป (ไม่นับรวมงานเขียนประเภทวรรณกรรมจริงจังนะครับ) มักนิยมเล่าทุกสิ่งทุกอย่างให้ ‘ชัดเจนและกระจ่างถี่ถ้วน’ ทั้งที่มาที่ไปของเหตุการณ์ เหตุผลต่างๆ นานาต่อทุกการกระทำของตัวละคร (พูดง่ายๆ คือ ผู้อ่านทราบละเอียดถึงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายในใจของตัวละคร) จนไม่หลงเหลือความคลุมเครือหรือข้อเคลือบแคลงสงสัยใดๆ

ในบางครั้งบางเรื่อง แทบจะถึงขั้นเป็น ‘คำอธิบาย’ มากกว่าการพรรณนาบรรยายความเสียด้วยซ้ำ

ลักษณะเช่นนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในด้านบวก มันช่วยให้เรื่องที่จะเล่า มีความสะดวกในการอ่านและทำความเข้าใจ (ตรงนี้มักจะเชื่อมโยงไปสู่จุดเด่นอีกข้อ นั่นคือ นิยายญี่ปุ่นมักเน้นความพิสดารของไอเดียหลัก รวมถึงพล็อตและการดำเนินเรื่องที่หวือหวาโลดโผน ความเคลียร์ในการเล่าจึงเป็นรูปแบบวิธีที่รองรับสนับสนุนได้อย่างเหมาะเจาะ) แต่ในทางตรงข้าม มันก็ส่งผลให้เรื่องที่เล่าออกมาได้สนุกบันเทิงชวนติดตามมากๆ แลดูเบา และเป็นเรื่องเหินห่างไกลตัวผู้อ่านอยู่พอสมควร

งานเขียนของมิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด รายละเอียดต่างๆ ยังคงเป็นการพูดประเด็นเดียวกับที่สามารถพบเจอได้ในนิยายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของ salary man การกลั่นแกล้งรังแกกันอย่างโหดร้ายในโรงเรียน วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความกดดันจากการแข่งขันอันดุเดือดเข้มข้นตั้งแต่เรื่องเรียน การทำงาน และการยังชีพ ระบบที่การยอมรับและทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชนหรือสังคมรอบข้าง มีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าการดำรงอยู่อย่างอิสระเป็นเอกเทศ รวมถึงปัญหาช่องว่างความไม่เข้าใจต่อกันภายในครอบครัว

พูดอีกแบบคือ นิยายของมิเลนา มิชิโกะ ฟลาซาร์ ใช้ฉากหลังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น (ซึ่งมีความเฉพาะตัว ไม่เหมือนที่อื่นใด) เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาต่างๆ ของสังคมนั้น แต่ลึกลงไปอีกระดับ งานเขียนของเธอก็ลงลึกและไปไกลมากขึ้น ด้วยแก่นสารสาระที่สะท้อนถึงความสลับซับซ้อนในใจมนุษย์ ซึ่งมีความเป็นสากล

หลังจากอ่านจบ ผมนึกถึงนิยายเรื่อง ‘เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม’ (Colorful) ของโมริ เอโตะ ซึ่งในบ้านเรารู้จักคุ้นเคยผ่านการดัดแปลงเป็นหนังไทยเรื่อง Homestay (โฮมสเตย์) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

นิยายทั้ง 2 เรื่องมีความใกล้เคียงกันมากในประเด็นด้านสาระแง่คิด เรื่องราวเหตุการณ์ที่คืบหน้าเคียงคู่ไปกับการทบทวนอดีต สาเหตุและปมปัญหาของตัวเอก รวมถึงบทสรุปคลี่คลาย แต่ท่วงทีลีลาในการเล่านำเสนอ กลับผิดแผกแตกต่างกันไกลเป็นคนละแนวทาง

‘เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม’ เป็นนิยายแฟนตาซี ขณะที่ ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ เป็นนิยายเน้นความสมจริง

ปัจจัยหลักอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ มีรสชาติไม่เป็นญี่ปุ่นขนานแท้ ก็คือลีลาทางวรรณศิลป์

ผมค้นหาข้อมูลไม่พบว่า ต้นฉบับดั้งเดิมของนิยายเรื่องนี้เขียนเป็นภาษาอะไร ทราบแต่เพียงว่าต่อมาภายหลังมีการแปลเป็นภาคภาษาอังกฤษ

แต่ถ้าให้เดา ผมคิดว่าน่าจะเขียนเป็นภาษาเยอรมัน

เหตุที่ผมพยายามเดาและให้ความสนใจกับภาษาในต้นฉบับแรกเริ่ม ก็เพราะว่าระหว่างการอ่าน ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า วิธีการใช้ภาษาใน ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ โน้มเอียงเข้าใกล้วรรณกรรมจากประเทศโลกตะวันตก มากกว่าสำนวนแบบญี่ปุ่นแปลเป็นไทย (ซึ่งมีเอกลักษณ์เด่นชัดมาก)

ลีลาการเขียนและความงามทางภาษาใน ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ เป็นอีกส่วนสำคัญที่โดดเด่นมาก ไพเราะ สละสลวย คมคาย เปี่ยมไปด้วยอรรถรสแบบบทกวี

‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อทากุชิ ฮิโระ ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นพวกฮิกิโกะโมริ (Hikikomori)

ฮิกิโกะโมริเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งที่พบเจอมากในญี่ปุ่น หมายถึงบุคคลที่ใช้ชีวิตเก็บงำกักตัวเองอยู่แต่ในห้อง ตัดขาดความสัมพันธ์ใดๆ จนหมดสิ้น ไม่ยอมออกไปพบเผชิญกับโลกภายนอก ไม่ทำงานและไม่เล่าเรียน กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกันก็ยังหลบเลี่ยง

ต้นตอสาเหตุในการทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นพวกฮิกิโกะโมริ มีได้หลากหลายประการ แต่สรุปกว้างๆ คือเชื่อกันว่า น่าจะเป็นผลพวงจากความกดดันของสังคมรอบข้าง กระทั่งสั่งสมความตึงเครียดถึงขีดสุด ส่งผลให้ใช้ชีวิต ‘ตัดขาดจากโลก’

นิยายเปิดเรื่องขึ้นโดยการเล่าถึงสภาพ ‘ตัดขาดจากโลก’ ของทากุชิ ฮิโระ ซึ่งอยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสยากจะเยียวยาแก้ไข มีชีวิตอยู่แบบ ‘ไปต่อไม่ได้’ กักขังตัวเองในห้องนอน ไม่ยอมเจอหน้าพ่อแม่ ไม่พูดไม่จากับใคร วันๆ เอาแต่จ้องมองรอยแตกร้าวบนฝาผนัง

ความหนักหนานั้นถึงขนาดว่า หากฮิโระสามารถละทิ้ง ลบตัวตนของเขาเองได้ เขาก็คงจะทำ ตรงนี้ในนิยายเขียนเล่าไว้ว่า “…ไม่มีอะไรมาเบี่ยงเบนความสนใจของผมจากความพยายามจะปกป้องตัวเองจากตัวเอง จากชื่อของผม จากมรดกที่ผมซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวได้รับมา จากร่างกายที่ไม่หยุดเรียกร้องต่องการให้ผมดูแลมัน จากความหิวกระหาย ในสองปีที่ผมหนีจากโลก”

หลังจากใช้ชีวิตแบบ ‘ตายดับทั้งที่ยังมีลมหายใจ’ ตั้งแต่อายุ 18 จนถึงวัย 20 วันหนึ่งฮิโระก็ออกจากบ้าน แบกพกความกลัวสารพัดสารพัน ตั้งแต่กลัวการสบตากับผู้คน กลัวการเดินเฉียดสวนกัน กลัวว่าจะเกิดและสร้างความสัมพันธ์ใดๆ กับใครก็ตาม

ชายหนุ่มออกเดินไปที่สวนสาธารณะ ปักหลักบนม้านั่งตัวหนึ่ง ปักหลักอยู่ที่นั่น เมื่อได้เวลาอันควร ก็กลับบ้านก่อนที่พ่อแม่จะกลับมา

จากนั้นเป็นต้นมา ทุกๆ เช้าเขาจะไปที่ม้านั่งตัวเดิมในสวนสาธารณะ จนกลายเป็นกิจวัตรประจำ

วันแล้ววันเล่าผ่านไปเช่นนี้ เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ‘เขา’ ก็ปรากฏตัวบนม้านั่งฝั่งตรงข้าม

‘เขา’ ซึ่งในเวลาต่อมาฮิโระเรียกว่า ‘เน็กไท’ คือชายวัยกลางคนชื่อโอฮาระ เท็ทสุ เป็นพนักงานบริษัทผู้อุทิศตน ทุ่มเทให้กับการทำงานมานานหลายสิบปี แต่แล้วก็โดนไล่ออก ตกงาน และปกปิดความจริงมิให้ภรรยาล่วงรู้ ด้วยการออกจากบ้านทุกเช้าเหมือนกำลังจะไปทำงาน แล้วก็มานั่งฆ่าเวลาในสวนสาธารณะ จนกระทั่งเย็นย่ำได้เวลาเลิกงาน จึงค่อยกลับบ้าน

แรกเริ่มฮิโระกับเท็ทสุ วางระยะห่างแค่เฝ้าดูกันและกัน แต่นานวันเข้าก็เริ่มคุ้นเคย กลายเป็นเป้าหมายในการไปที่สวนสาธารณะ (ทุกเสาร์-อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด ฮิโระมักจะรู้สึกถึงการขาดหายไปของบางสิ่ง เมื่อเท็ทสุไม่มาปรากฏตัว)

เวลาไหลเลื่อนเคลื่อนผ่าน จนถึงจุดหนึ่ง ชายต่างวัยทั้งสองคน ก็เอ่ยปากทักทายกัน หลังจากนั้นมิตรภาพระหว่างทั้งสองจึงเริ่มต้นขึ้น

ทั้งหมดข้างต้น คือ แกนหลักคร่าวๆ ที่เป็นเส้นเรื่องของ ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ เรื่องราวที่เหลือถัดมา คือการพบปะและบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ 2 สิ่งสำคัญ

อย่างแรกคือ ที่มาสาเหตุ ว่าเพราะอะไร ทั้งฮิโระและเท็ทสุ จึงต้องตกอยู่ในสภาพดังเช่นที่เป็นอยู่ อย่างต่อมา เป็นการนำพาผู้อ่านไปพบกับ ‘ทางออก’ ว่าตัวเอกทั้งคู่จะคลี่คลายปัญหาชีวิตยากๆ ของตนเองได้หรือไม่? และถ้าหากทำได้ จะทำได้อย่างไร?

ทั้งสองส่วนนี้ ผมคิดว่าเป็น ‘ความลับ’ และเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องไปลองอ่านด้วยตนเอง

โดยพล็อตคร่าวๆ แล้ว ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากหนังหรือนิยายสูตรสำเร็จ เกี่ยวกับคนที่ชีวิตชำรุดพังทลายสองคนมาเจอะเจอกัน ช่วยเหลือเยียวยากัน จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง

แต่เอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ‘ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ ก็มีอยู่หลายประการ แรกสุดคือ ระเบียบแบบแผนและความเป็นเอกภาพทางศิลปะของท่วงทำนองการเขียน ซึ่งเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของฮิโระ และนำไปสู่ ‘เรื่องเล่าย้อนอดีต’ ทบซ้อนกันหลายชั้น มีวิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ในจังหวะจะโคนเฉพาะตัว การเขียนบทสนทนา โดยปราศจากเครื่องหมายคำพูด (ผู้อ่านต้องคอยจำแนกแยกแยะเอาเองว่า ใครกำลังพูดกับใคร)

ถัดมาคือ โทนเรื่องหรือน้ำเสียงในการบอกเล่า ที่เต็มไปด้วยอารมณ์หม่นเศร้าตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่เรื่องราวคลี่คลายสู่อารมณ์อื่น ก็ยังมีสำเนียงโศกเจืออยู่ด้วยเสมอ

ถัดมาของถัดมา ภายใต้เค้าโครงกว้างๆ ตามแบบฉบับพล็อตเรื่องสูตรสำเร็จ นิยายเรื่องนี้ไม่มีตรงไหนเข้าข่ายสิ่งที่เรียกกันด้วยความหมายติดลบว่า cliché เลย ไม่มีฉากตอนแบบ ‘ท่าบังคับ’ ที่เราท่านคุ้นเคย ไม่มีช่วงตอนสร้างความซาบซึ้งประทับใจอย่างที่ผู้อ่านคาดหวัง (จริงๆ แล้วก็มีอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ด้วยวิธีการเขียนที่เก่งกาจ ทำให้มันดูแนบเนียนและแตกต่างออกไป)

ถัดมา (อีกครั้ง) คือ ‘การเล่าน้อย ได้เยอะ’ ท่ามกลางเรื่องเล่าสารพัดสารพัน ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์เยอะแยะมากมาย งานเขียนชิ้นนี้ มีการ ‘ละเว้น’ รายละเอียดหลายสิ่งหลายอย่างอยู่เต็มไปหมด ไม่ได้แจกแจงถี่ถ้วนจนผู้อ่านเกิดกระจ่าง ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ไม่ลงรอยระหว่างฮิโระกับพ่อแม่ ที่เราได้ทราบปัญหาต่างๆ ผ่านมุมมองของเด็กหนุ่ม แต่ไม่รู้เหตุและผลจากฟากของผู้ใหญ่ หรือแผลเป็นมากมายบนแขนของฮิโระ ซึ่งตัวละครไม่ได้เล่าว่าเกิดจากอะไร (แต่ผู้อ่านน่าจะสันนิษฐานได้) ฯลฯ

พูดง่ายๆ ตัวนิยายตลอดทั้งเรื่อง จำกัดขอบเขตการรับรู้และพบเห็น ทำให้เราท่านรู้สิ่งต่างๆ เท่าๆ กับตัวละครฮิโระ

ที่ยอดเยี่ยมมากคือ ‘การเล่าเท่าที่จำเป็น’ เพื่อให้ผู้อ่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวละคร ยังเชื่อมโยงไปสู่ข้อดีหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความหนักแน่นสมจริง ไม่บีบคั้นเร้าอารมณ์จนฟูมฟาย กระทั่งว่า ความคลุมเครือในบางช่วง ก็สะท้อนชัดถึงความคิดจิตใจที่สับสนของฮิโระ รวมทั้งความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตในแต่ละช่วงวัยของเขา

อีกส่วนที่น่าทึ่งก็คือ การสร้างตัวละคร 2 คน ซึ่งแตกต่างตรงข้ามกันในทุกๆ ด้าน แต่ลึกๆ แล้วมีจุดร่วมบางอย่างเชื่อมโยงกัน ตอนหนึ่งในนิยายที่ผมชอบมาก พรรณนาไว้ว่า “เราสองคนอาจจะเหมือนกันมากๆ ตรงนี้เอง เรามองสิ่งต่างๆ ค่อยๆ หลุดลอยไป และโล่งใจที่ไม่สามารถทำอะไรกลับมาเหมือนเดิมได้ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพบกัน ทำให้เราได้รู้ไปพร้อมๆ กัน ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าอย่างนั้น เรื่องของเขาก็อาจจะเป็นเรื่องของผมด้วย เรื่องที่เขาเองก็ไม่ทันได้นึกถึง เรื่องที่ว่าตอนนี้เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว”

ความคล้ายคลึงที่เป็นจุดร่วมกันอีกอย่างที่ผมชอบจังเลย คือการที่ตัวละครคนหนึ่งเป็นพวกฮิกิโกะโมริผู้เอาแต่กักขังตนเองอยู่ในห้อง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นมนุษย์เงินเดือน ผู้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในคอกเล็กๆ ของออฟฟิศ แล้ววันหนึ่งทั้งคู่ก็ออกจาก ‘พื้นที่’ คับแคบของตนเองมาพบเจอโลกกว้างที่ ‘สวนสาธารณะ’

สิ่งสุดท้ายที่ทำให้นิยายเรื่องนี้ ทิ้งห่างงานในแบบสูตรสำเร็จไปไกล คือประเด็นทางเนื้อหา ซึ่งผมแบ่งกว้างๆ เป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือปัญหาทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพชีวิตเสมือนฟันเฟืองของเหล่ามนุษย์เงินเดือน การทำตัวให้กลมกลืนกับสังคมส่วนรวม ไม่เป็นจุดเด่นหรือจุดด้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการตกเป็นเป้าเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก รวมทั้งระบบสังคมซึ่งแทบจะไม่มีที่ยืนสำหรับ ‘คนที่แตกต่าง’ (ผมควรบอกไว้ตรงนี้ด้วยนะครับว่า นิยายเรื่องนี้ สะท้อนภาพความแปลกแยกของตัวเอกทั้งสองได้ดีมากๆ)

ส่วนต่อมาคือ เรื่องราวความขัดแย้งภายในใจของตัวละคร ซึ่งมีทั้งความสูญเสียในชีวิตที่ตนเองไม่อาจควบคุม และความเจ็บปวดทุกข์เศร้าอันเกิดจากการกระทำ (หรือไม่กระทำ) ของตัวละคร โดยเฉพาะปมประเด็นเรื่องความรู้สึกผิด และการรู้สำนึก สารภาพมันออกมา แล้วยอมรับเผชิญหน้ากับความจริง

’ผมเรียกเขาว่าเน็กไท’ ไม่น่าจะใช่นิยายที่ใช้คำว่า ‘สนุก’ นะครับ แต่ที่น่าสนใจคือ มันเต็มไปด้วยถ้อยคำ แง่มุม เหตุการณ์ บรรยากาศตามท้องเรื่อง จังหวะลีลาในการดำเนินเรื่อง ซึ่งสะกดตรึงดึงดูดให้ชวนติดตาม และอ่านแบบรวดเดียวจบ วางไม่ลง

และตลอดระยะเวลาในการอ่านนิยายเรื่องนี้ สิ่งที่ผมรู้สึกคือ ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องทุกข์เศร้า เจ็บปวด สูญเสีย และความยากลำบากหนักหนาสาหัสในการดำรงอยู่ แต่พร้อมๆ กันนั้น นิยายเรื่องนี้ก็ทำให้ผมรู้สึกด้วยเช่นกันว่า ชีวิตเต็มไปด้วยแง่มุมงดงาม น่าอัศจรรย์ และเหนือสิ่งอื่นใด มันควรค่าแก่การดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่

แน่นอนครับว่า นี่เป็นนิยายอีกเล่มที่ควรค่าแก่การอ่านเสาะหามาอ่านเป็นที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save