fbpx
เมื่อ “เวลา” ฮัมเพลง

เมื่อ “เวลา” ฮัมเพลง

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ช่วงที่ผ่านสองขวบมาไม่นาน ลูกเริ่มพูดเก่งขึ้น บางวันบางคืนพูดไม่หยุด พูดได้พูดดี พูดน้ำไหลไฟดับ เป็นภาษามั่ง – ไม่เป็นภาษามั่ง แต่มันทำให้เราเข้าใจว่าลูกพยายามสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆ ได้มากกว่าแค่ร้องไห้หรือหัวเราะเหมือนสมัยที่ตัวยังแดงๆ

ผ่านวัยแบเบาะมาได้ หลายครั้งไม่ต้องร้องเพราะหิวนมแล้ว ลูกพูด “หม่ำๆ” ได้ กระทั่งว่าครั้งไหนเดินผ่านร้านไอติมก็ไม่ใช่แค่ “หม่ำๆ” แต่พุ่งเข้าไปหน้าร้าน ชี้ไปที่ถังไอติมพร้อมกับพูดแกมบังคับว่า “เอาอันนี้ๆ”

บางครั้งเล่นเอาพ่อแม่ละลายไปก่อนไอติมจะหมด – เพราะลูกอ้อนด้วยด้วยรอยยิ้มหวานๆ ที่คราบไอติมเปรอะไปครึ่งหน้า

ไม่แน่ใจว่าพูดมากจนเหนื่อยไปหรือคิดอะไรไม่ออก หรืออาจกำลังเพลิดเพลินกับจินตนาการของตัวเอง ลูกก็ฮัมเพลงออกมา

หนึ่งในเพลงที่ลูกฮัมออกมาคือเพลง Pop goes the weasel ที่เราน่าจะเปิดให้ลูกฟังมาตั้งแต่เพิ่งเริ่มหัดคลานใหม่ๆ

หากพูดถึงเพลงเด็กหรือกลอนสำหรับเด็ก เราอาจเคยได้ยินเพลง เช่น “ฝนเอยทำไมจึงตก ฝนเอยทำไมจึงตก ที่ฝนมันตกก็เพราะว่ากบมันร้อง กบเอยทำจึงร้อง…”  ซึ่งสำหรับฝั่งตะวันตกแล้ว เพลงเด็กทำนองนี้เรียกว่า nursery rhyme

ที่สำคัญคือเพลงพวกนี้ทำให้เราจดจำไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน มันอยู่ในการละเล่น อยู่ในวรรณกรรม กระทั่งว่าอยู่ในเสียงของแม่

เพลงเด็กนั้นไม่ได้แค่สอนเด็กให้เด็กร้องตาม บางทีก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราฉุกคิดตั้งคำถามได้ บางคนอาจจะร้องตามได้ แต่ไม่รู้ว่าความหมายของมันคืออะไร เพราะกว่าจะผ่านช่วงเวลามา เพลงก็ได้เปลี่ยนไปตามทำนองของยุคสมัย เพลงบางเพลงมีเนื้อหาไม่ “เด็ก” เลย แต่กลับเป็นเพลงที่ใช้สำหรับเลี้ยงเด็ก

เพลง Pop goes the weasel ที่ลูกชอบนั้น แม่ชอบฟังเวอร์ชั่นของลุง Anthony Newley ที่ฟังเหมือนเป็นเพลงน่ารักของกระรอก แต่จริงๆ แฝงไปด้วยคำแสลง

เนื้อเพลงพูดถึงวิถีชีวิตของชนชั้นล่างที่ยากจน คำว่า weasel ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นคำแสลงที่หมายถึงเสือโค๊ท เพลงเล่าถึงคน ที่มักไม่มีข้าวกิน แต่มีเสื้อโค๊ทใส่ พอวันหนึ่งเงินหมดกระเป๋า พวกเขาก็เอาพวกเสื้อผ้าเครื่องประดับของตัวเองไปจำนำเพื่อเอาเงินไปซื้อเหล้ากิน

อีกเพลงที่ลูกชอบฮัมมากๆ คือเพลง Humpty Dumpty บางคนอาจเคยได้ยินเพลงนี้และเห็นผ่านนิทานที่ตัวละครมีรูปร่างเป็นไข่นั่งอยู่บนผนังและทำท่าเซไปเซมาจนสุดท้ายก็ตกลงมาหัวแตก

 

 

Humpty Dumpty sat on a wall,
Humpty Dumpty had a great fall.
All the king’s horses and all the king’s men
Couldn’t put Humpty together again.

 

ฟังๆ ดูแล้วไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจเลย ก็แค่ไข่ที่ตกลงมาแตก แต่หากใครเคยอ่าน Through the Looking Glass ของ Lewis Carroll หรือดูหนังเรื่อง Alice in Wonderland “ฮัมตี้” ปรากฏในฉากเด็กหญิงอลิซตอนที่เธอไปเจอเขาที่ผนัง

ฉากนี้บ่งบอกตัวตนของฮัมตี้ได้ชัดอีกแบบคือเป็นคนบ้าอำนาจ หยิ่งผยอง ถือตัวเองเป็นใหญ่ ชอบสั่งสอน ไม่ให้เกียรติคนอื่น เอาแต่ยกยอตัวเอง

เมื่ออลิซชมเข็มขัดของเขา เขาก็โอ้อวดทันทีว่ามันดีที่สุด เพราะกษัตริย์และราชินีมอบให้เขามาเนื่องในโอกาส “วันไม่เกิด” ประเด็นคือเมื่ออลิซถามต่อว่าอะไรคือ “วันไม่เกิด” เขากลับโกรธอลิซที่ถามออกมาว่า

ไข่ : ปัดโธ่ไอ้เด็ก ปีนึงมันมีกี่วัน !

อลิซ : 365 วันค่ะ

ไข่ : แล้วเธอมีวันเกิดกี่วัน!

อลิซ : 1 วันค่ะ

ไข่ทำหน้าตาดูถูกอลิซ แล้วตะคอกเธอว่า “ก็นั่นไง วันที่เหลือนอกนั้นคือวันที่จะได้รับของขวัญ !”

อลิซถึงกับงงในตรรกแปลกๆ ของไข่ราวกับเอาสีข้างเข้าถูในความเย่อหยิ่งของตัวเอง ไม่ว่าจะพูดอะไร ไข่สามารถเอาดีเข้าตัวได้อย่างหน้าตาเฉย

 

 

ขณะที่ลูกอาจจะมีภาพจำว่า Humpty Dumpty เป็นเพลงเกี่ยวกับไข่ที่ตกมาแตกเท่านั้น ทว่า หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 17 มีเรื่องเล่าทำนองว่า ฮัมตี้ไม่ใช่ไข่ แต่มันคือปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนกำแพงในห้วงเวลาสงครามกลางเมืองอังกฤษ

ปืนใหญ่ทำหน้าที่ปกป้องอาณาจักรของกษัตริย์ เมื่อมันสู้รบอย่างเกรี้ยวกราด ทำให้มันตกลงมาจากกำแพงและแตกไม่เป็นชิ้นดี แม้เหล่าทหารจะเข้ามาช่วยซ่อมให้คืนกลับสภาพเดิมแต่ก็ไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว

เป็นไปได้ว่าฮัมตี้จะสื่อถึงคนที่มีลักษณะเย่อหยิ่งในอำนาจ สุดท้ายเมื่อพลาดพลั้งร่วงหล่นลงมาก็เจ็บปวด หมอไม่รับเย็บ

ฮัมตี้ยังถูกตีความว่าเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของขุนนางที่มีรูปร่างอ้วนฉุและมักโอ้อวดตัวเองว่าดีเลิศที่สุด

มองในแง่วรรณกรรมแล้ว เราอาจจะเพลิดเพลินที่ได้เห็นตัวละครประเภทนี้ ทว่า เมื่อมันมาโลดโผนอยู่ในชีวิตจริง ชาวบ้านชาวช่องคงลำบากใจกันไม่น้อย

ฮัมตี้ชวนให้เราตีความได้มากกว่าหนึ่งแบบ อย่างน้อยมันก็บอกเราว่าเวลาทำสิ่งใดพลาดไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ เหมือนกับไข่ที่ตกจนแตก ไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิม

เหมือนการเลี้ยงลูกก็เช่นกัน

เราเคยได้ยินเรื่องทำนองว่า การดูแลเด็กก็เหมือนการที่เราเหยียบลงไปบนปูนที่ยังไม่แห้ง และปูนพร้อมที่จะแห้งจนปรากฏเป็นรอยเท้าอยู่เสมอ

ฮัมตี้เองก็คงจะเตือนเราไม่ให้ประมาท เพราะเวลาไม่อาจหวนคืน ลูกเติบโตขึ้นทุกวันในขณะที่พ่อแม่จะชราไปเรื่อยๆ

สมัยที่ลูกยังแบเบาะ พ่อเคยถามแม่ว่าตอนลูกร้องไห้ เราสงสารไหม แม่บอกไม่

อืม, เราเห็นตรงกัน เราคิดว่าที่ลูกร้องเป็นเพราะร่างกายไม่สบายตัว เช่น ฉี่ อึ หิว ร้อน หรือบาดเจ็บ

แน่นอน, ไม่สงสาร ไม่ได้แปลว่าจะปล่อยให้ลูกนอนร้องปากสั่นโดยไม่ทำอะไร

เพราะเราคิดว่าลูกไม่ได้ร้องเพราะความเศร้าหรือโดดเดี่ยว เรามั่นใจว่าเราเอาอยู่ อย่างน้อยก็ก่อนที่ลูกจะโตพอและเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ไปจนถึงตัดสินใจรับแรงปะทะเรื่องต่างๆ ได้เอง

ความรู้สึกนี้ แสงสว่างเล็กๆ นี้วาบเข้ามาคล้ายตอนที่เรายังเด็ก ขี่จักรยานยกล้อหน้า ประคองตัวไปได้ไกลๆ เป็นครั้งแรก

คล้ายตอนดำน้ำได้โดยไม่กลัวจม คล้ายทอดไข่ดาวได้โดยไม่กลัวน้ำมันกระเด็น ไม่กลัวไข่ไหม้ เพราะรู้เวลารู้จังหวะพอดี

เวลานั้นเราคงต้องขยับจากสงสารไปสู่โอบกอด ปลอบโยน หรือวิพากษ์วิจารณ์กันตามวาระ

แต่ก็อีกนั่นแหละ ยังมีเรื่องสุ่มเสี่ยงมืดมนอีกมาก โอกาสจะพบแสงสว่างคงน้อยลงไปเรื่อยๆ อาทิ ถ้าเราปล่อยปละละเลยให้คนรุ่นลูกถูกสั่งสอนให้ร้องและท่องอยู่เพลงเดียว

 

____________________________
อ่านคอลัมน์เมื่อเวลามาถึงทั้งหมดต่อที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save