fbpx

สิทธิมนุษยชน 2019 : สูญหาย บานปลาย ห่างไกลความเป็นธรรม

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และประชาชนต่างหวังว่าการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้สถานการณ์ความยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนลดน้อยลงบ้าง จากการกลับเข้ามาสู่รูปรอยที่ควรจะเป็น มีการใช้อำนาจที่เปิดช่องให้มีการตรวจสอบโต้แย้งได้บ้าง ไม่ใช่การต้องอยู่ในระบอบที่ปกครองคนด้วยความกลัว หรือมีการให้อำนาจที่ใช้ละเมิดประชาชนอย่างโจ่งแจ้งเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร

แต่การสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่ไม่มีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาที่ก่อไว้ช่วงรัฐประหารในนาม คสช. และไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด เมื่อความพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยกระบวนการในสภากลับถูกสกัดกั้นจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล เช่นกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากม.44

ช่วงก่อนการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองต่างได้เสนอนโยบายที่ต้องการทำ รวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีการให้สัญญาถึงการดำเนินการต่างๆ แต่ประเด็นที่แต่ละพรรคการเมืองพูดไว้ยังไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจน โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านที่ต้องหนุนเสริมประชาชนให้ผลักดันการแก้ไขต่อไป

ในช่วงปีที่ผ่านมา 101 เผยแพร่งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมุมมอง ตั้งแต่ภาพกว้างระดับโลก จนถึงระดับชุมชนและบุคคล ครอบคลุมหลากสาขา โดยจะหยิบยกประเด็นที่โดดเด่นมาทบทวนเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น และทิศทางที่ควรมองต่อไปในปีหน้า

 

ปม ‘ผู้ลี้ภัย’ ยังไม่เคยเริ่มนับหนึ่ง

 

แม้ว่าประเด็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะเป็นเรื่องร้อนแรงของโลกในปี 2561 อันเนื่องมาจากสงครามและการสู้รบที่ทำให้ผู้คนแตกกระสานซ่านเซ็นออกจากบ้านเกิดไปยังประเทศต่างๆ จนความรุนแรงของปัญหาพุ่งไปสู่ระดับวิกฤต ในช่วงปีที่ผ่านมาแม้ว่าเรื่องนี้จะลดดีกรีลง แต่ปัญหาในที่ต่างๆ ทั่วโลกก็ยังไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะการจัดการกับการรองรับผู้ลี้ภัยและการแก้ปัญหาที่ประเทศต้นทาง ซ้ำตามมาด้วยการเรียกร้องให้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับควบคู่กับกระแสต่อต้านผู้ลี้ภัยที่พุ่งสูงขึ้น

ประเด็นผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ 2562 เมื่อสุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวหายตัวไป แล้วมีการพบศพ 2 รายที่แม่น้ำโขงในสภาพถูกทารุณกรรม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการหาฆาตกร และยังไม่ทราบชะตากรรมของสุรชัย แซ่ด่าน

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัยได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในการอุ้มหายสามีของเธอ แม้การพบศพเพื่อน 2 คนที่อาศัยอยู่กับสุรชัยจะทำให้เธอเตรียมใจถึงข่าวร้ายต่างๆ แต่จนเวลาผ่านมา 1 ปีแล้วก็ยังไม่มีหลักฐานหรือความคืบหน้าใดๆ

“ไม่เคยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขนาดนี้ เพราะไม่มีอะไรจะแค้นเคืองกัน แค่ความเห็นต่าง ไม่ใช่ฆาตกร เป็นความคิดต่างที่ประเทศเจริญแล้วหรือพัฒนาแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่น่าทำกันรุนแรงถึงขนาดเอาชีวิตกันในลักษณะที่เหี้ยมโหด

“เราก็เห็นแบบนี้มาทุกยุคสมัย ประชาชนถูกปราบปราม ถูกทำร้ายเข่นฆ่า ผู้มีอำนาจใช้ปืนกระทำต่อประชาชนมือเปล่า เราก็ไม่รู้ว่ามันจะหยุดเมื่อไหร่ บอกไม่ได้ มันอยู่ที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ว่าจะพอหรือยัง” คือคำตอบของปราณีต่อการสูญเสีย จากการเป็นประชาชนที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ

101 จึงได้สัมภาษณ์นักการเมืองจาก 4 พรรค คือ พรรคสามัญชน, พรรคอนาคตใหม่, พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาชาติ ถึงวิธีคิดของพวกเขาที่มีต่อปัญหาผู้ลี้ภัยการเมืองไทย ที่ต่างเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รัฐไม่เปิดรับความแตกต่าง โดยเฉพาะช่วง คสช. ทำรัฐประหาร มีการออกคำสั่งต่างๆ ที่บีบให้คนเห็นต่างเหล่านี้ต้องหลบหนีออกจากประเทศ

หนึ่งในแกนนำขั้วตรงข้ามที่ต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศสคือ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนและอดีตแกนนำนปช. เขาเป็นตัวอย่างของคนที่ต่อสู้มาตลอดชีวิต จนถึงวัย 72 ที่ต้องพลัดจากบ้านเมืองไปไกล เขาก็ยังไม่หยุดคิดเรื่องการแสวงหาสังคมที่ดีขึ้นสำหรับมนุษย์ อาวุธที่เขาใช้ต่อสู้มาตลอดคือความคิด ซึ่งรัฐมองว่าเป็นความผิดร้ายแรงและต้องลงโทษให้หลาบจำ

“ชีวิตการต่อสู้ของผมไม่เคยต่อสู้กับบุคคล ผมต่อสู้กับระบบ คนที่มาทำเรา เราถือว่าเป็นเพราะระบบ ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่ทำให้เขาด่า เหยียดหยาม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเรา ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม” จรัลกล่าวในบทสัมภาษณ์

อีกหนึ่งผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศสคือ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ นักกิจกรรมการเมืองที่ลี้ภัยช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เช่นกัน อั้มตั้งต้นชีวิตใหม่และปรับตัวเข้ากับสังคมฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันเธอเป็นประธานร่วมองค์กร ACCEPTESS-T ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมเรียนปริญญาโทสาขาสังคมวิทยา

อั้มบอกว่าสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นข้อห้ามในไทยกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาในฝรั่งเศส ทั้งประเด็นการพูดคุยถกเถียงเรื่องการเมือง รูปแบบและวิธีการแสดงออกต่างๆ ที่เธอเคยถูกมองว่า ‘แรง’ จนทำให้อยู่ประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป แต่อย่างไรเธอก็หวังจะกลับเมืองไทยในสักวันหนึ่ง

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมีความสามารถและศักยภาพในการช่วยพัฒนาสังคม แต่พวกเขาถูกบีบให้ออกจากประเทศไปอยู่ในสังคมใหม่ที่ยากจะมีบทบาท หรือกระทั่งทำตามความฝันของตัวเอง เช่น ผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนของประเทศไทยอย่าง พอแสนโซ บรี ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกตัดโอกาสต่างๆ ในชีวิต จากการถูกกักกันในแคมป์ผู้ลี้ภัย จนเธอแสวงโอกาสย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกาจนเรียนจบปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชนและกฎหมายผู้ลี้ภัย แล้วกลับมาไทยเพื่อทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในแคมป์ต่อไป

ปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดจากการที่ไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยและไม่มีกฎหมายภายในเพื่อรับรองผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณี ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คานูน หรือกรณี ฮาคีม อัล อาไรบี ที่ทำให้ชื่อของประเทศไทยเป็นที่สนใจไปทั่วโลกในฐานะรัฐที่ไม่คุ้มครองและละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัย

หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้ไทยรับรองผู้ลี้ภัยเพื่อจะทำให้สามารถจัดการผู้ลี้ภัยในเมืองและผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำเพียงแค่กักตัวไว้ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ประสบการณ์ของ กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนาม ซูดานใต้ UNHCR น่าจะช่วยทำให้เห็นภาพความรุนแรงของปัญหาผู้ลี้ภัยและสิ่งที่ไทยควรทำต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เพิกเฉยอย่างที่เป็นอยู่

“อย่าลืมว่าเราเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เราควรจะยกระดับของประเทศเราให้ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นกว่านี้

“ตราบใดก็ตามที่เราบอกว่าวิกฤตปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่ใช่วิกฤตหรือปัญหาของตัวเรา จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่ถ่องแท้ และทำให้การก้าวไปถึงการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระหว่างหลายๆ ประเทศไม่เกิดขึ้น เวลาบอกว่าเราเป็น land of smile อันนี้ดี แต่ถ้ายิ้มโดยที่จะก้าวข้ามปัญหาเฉพาะหน้า มันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้” กัณวีร์กล่าว

 

รอคอยสันติภาพสู่ปีที่ 16 ‘ชายแดนใต้’

 

หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนไทยหนักใจและยังคงมีความขัดแย้งยืดเยื้อส่งผลกระทบถึงชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจของคนในพื้นที่คือประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 16

บทความอันโดดเด่นซึ่งเผยแพร่ใน 101 คือ อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ซึ่งนำข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปี ที่รายงานโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้มาวิเคราะห์จนเห็นวงจรคลื่นของความรุนแรงที่มีลักษณะเป็นแบบแผน

ศรีสมภพพบว่าความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะขึ้นลงแบบเป็นช่วงของฤดูกาลทุกๆ ห้วง 4 หรือ 5 ปี และจะขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี จากนั้นก็ต่ำลงและสูงขึ้นอีกเป็นช่วงๆ โดยมีตัวแปรอย่างเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีที่ยังมีความไม่แน่นอน

แม้ความรุนแรงจะมีแนวโน้มลดต่ำลงในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เมื่อวงรอบใหม่ของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

บทสัมภาษณ์ของ มารค ตามไท นักวิชาการที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและเป็นผู้มีบทบาทโดยตรงในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายเห็นต่างจากรัฐช่วงปี 2549-2554 จะทำให้เห็นภาพว่าที่ผ่านมา 15 ปี เหตุใดเราจึงยังคลี่คลายปัญหานี้ไม่ได้ เมื่อปัญหานี้ไม่สามารถแก้โดยรัฐบาลได้ แต่ต้องร่วมกันแก้ทั้งประเทศ ซึ่งต้องมีพื้นฐานจากความเข้าใจเป็นสำคัญ

“รัฐไทยทำเท่าที่จำเป็นต้องทำ เพื่อไม่ให้ปัญหามันบานปลาย ไม่ได้ตั้งใจเข้าไปทำเพราะห่วงใยทุกข์สุขของเพื่อนร่วมชาติสองล้านกว่าคนที่อยู่ตรงนั้น พอมีปัญหาก็เข้าไปทำคล้ายๆ ว่า พยายามแก้ความรุนแรง แต่แทนที่จะไปทำบนพื้นฐานของความยุติธรรมหรือความสุขของคน ก็ไปทำด้วยความมั่นคงแทน”

สิ่งที่มารคยืนยันเสมอมาคือการพูดคุยสันติภาพที่ต้องเกิดจากความไว้วางใจ อันจะเกิดได้เมื่อฝ่ายขบวนการเชื่อว่ารัฐอยากมาสนทนาด้วยเพราะเป็นห่วงความเป็นอยู่ของคนในสามจังหวัดจริงๆ

“สันติสนทนาก็คือการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างคนกับรัฐ คนถืออาวุธบ้าง คนอื่นในพื้นที่บ้าง ที่จะหาวิธีแก้ร่วมกัน ไม่ใช่มาเพื่อหาทางรักษาความมั่นคงไว้

“พอยกมาระดับมาสู่ประเทศ ผมว่ามันก็เหมือนกัน คือรัฐต้องแสดงความห่วงใยต่อคน ต้องสร้างความไว้วางใจให้คนเชื่อว่าประชาชนไม่ใช่เบี้ยของคนมีอำนาจ” มารคกล่าว

การพูดคุยสันติภาพนอกจากตัวละครหลักในวงเจรจาแล้ว ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ทำงานวิจัยในหัวข้อบทบาทนานาชาติกับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้และบางมุมมองต่อภาพอนาคต เพื่อตอบคำถามที่ว่าองค์กรระหว่างประเทศในฐานะ ‘คนนอก’ ควรมีบทบาทแค่ไหนในการแก้ปัญหานี้ และพบว่าแต่ละฝ่ายในปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้ยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ทั้งที่เป็นกระบวนการที่มีความพยายามดำเนินการมาหลายปี

เช่นเดียวกับที่ รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สะท้อนว่า “ปฏิบัติการที่ผู้แทนรัฐบาลไทยเดินทางไปพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ใช่ว่าคนไทยทั้งประเทศจะเข้าใจและเห็นพ้องต้องกัน เพราะวันนี้คนยังงงกันอยู่เลยว่าเขาทะเลาะกันเรื่องอะไร แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในเองพื้นที่ก็ยังมึนว่ามันคือเรื่องอะไรกัน”

ความยืดเยื้อของปัญหาความขัดแย้งชายแดนใต้มีแต่จะยิ่งทำให้ความเสียหายกระจายวงกว้างและซึมลึกลงไปในวิถีชีวิตของผู้คน เช่นที่เกิดขึ้นในปัญหาซ้อมทรมานที่สร้างผลกระทบทางจิตใจและทำให้เกิดความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ยังสร้างผลกระทบถึงกรุงเทพฯ เช่นในคดีน้ำบูดู ที่มีการบุกหอพักนักศึกษามุสลิมชายย่านรามคำแหง จับกุมนักศึกษาหลายคนด้วยเหตุผลว่ามีการเตรียมวางระเบิดในกรุงเทพฯ โดยมีหลักฐานคือน้ำบูดู สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้หนุ่มสาวจากชายแดนใต้รู้สึกแปลกแยกและถูกเลือกปฏิบัติ เพียงเพราะพวกเขามาจาก ‘พื้นที่สีแดง’

ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากต่อเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวบ้านชายแดนใต้ คือการมี ‘กฎหมายพิเศษ’ เช่นที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เรียกร้องให้ทบทวนการใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็นเวลานานแล้ว

“ยิ่งประเทศไม่มีประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมก็ยิ่งไม่มีหลักนิติธรรม พอโครงสร้างประเทศเป็นเผด็จการ ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ประชาชนก็อยู่ภายใต้การใช้อำนาจเด็ดขาด

“ทุกวันนี้การใช้อำนาจเด็ดขาดลามไปทั้งองคาพยพ ในหน่วยงานราชการก็เชื่อคำอธิบายของทหารไปแล้ว ไม่ว่าทหารพูดอะไรดูเหมือนจะชอบธรรมไปแล้วสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งอัยการ ตำรวจ แทบจะยอมทุกอย่าง ราวกับให้ขี่คอทำสำนวนได้ แต่ระบบยุติธรรมมันจะต้องมีการถ่วงดุลตรวจสอบ ไม่ใช่นึกจะจับก็จับ จะสอบก็สอบ ควบคุมตัว สั่งฟ้องเองทุกอย่าง ตอนนี้ขั้นตอนการดำเนินคดี แทบครึ่งหนึ่งทำโดยทหาร” พรเพ็ญกล่าว

 

ทบทวนรากฐาน ‘ความยุติธรรม’ ของสังคม

 

ความไม่เป็นปกติในระบบความยุติธรรมของพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ยังปรากฏผ่านเหตุการณ์ที่ผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ยิงตัวเองบนบัลลังก์ในศาลจังหวัดยะลา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วประเทศเมื่อปรากฏแถลงการณ์ในคดีที่เปิดเผยถึงความกดดันในการทำหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากกระบวนการควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งอาจส่งผลให้จำเลยต้องโทษประหารชีวิต โดยภายหลังเขาถูกย้ายไปช่วยงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึงเรื่องนี้โดยยกประเด็น ‘ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมไทยหลักการความเป็นอิสระดูราวจะจำกัดไว้อยู่แค่เพียงการปกป้องการแทรกแซงจากอำนาจของฝ่ายการเมือง ทั้งที่ความเป็นอิสระนี้เกี่ยวข้องกับตุลาการทั้งในเชิงสถาบันและผู้พิพากษารายบุคคล กล่าวคือนอกจากฝ่ายตุลาการจะต้องไม่ถูกแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่จากฝ่ายอื่นๆ แล้ว ฝ่ายตุลาการแต่ละคนยังต้องสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีแรงกดดันหรือแทรกแซงทั้งทางตรงทางอ้อมที่อาจมีผลให้การทำหน้าที่เบี่ยงเบนไป อันรวมถึงความเป็นอิสระจากฝ่ายตุลาการที่ตำแหน่งสูงกว่าด้วย

สมชายยังยืนยันว่าความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการจำเป็นต้องดำรงคู่กับหลักการ ‘การตรวจสอบและความรับผิด’ (accountability) เมื่อในสังคมแบบเสรีประชาธิปไตย อำนาจตุลาการไม่สามารถหลุดลอยจากประชาชนไปอย่างสิ้นเชิงได้

“ในด้านของการตรวจสอบและความรับผิดต่อสังคมจะสามารถบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งการไม่เห็นด้วยทั้งต่อการทำหน้าที่และคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการได้อย่างเสรี”

“ความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายหรืออำนาจทางวัฒนธรรมมาปิดปากผู้คนในการแสดงความคิดจะไม่ได้ช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด ยิ่งใช้อำนาจในการปิดกั้นเพิ่มขึ้นก็จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ความเงียบที่เซ็งแซ่’ กว้างขวางขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางเหตุการณ์”

เรื่องของผู้พิพากษาคณากรยังนำสังคมให้ฉุกคิดถึงเรื่อง ‘โทษประหารชีวิต’ เมื่อหากมีการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ว่าจำเลยผิดจริงอาจทำให้มีโทษถึงประหารชีวิต ขณะที่พยานหลักฐานที่ได้มาระหว่างจำเลยถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานภายใต้กฎหมายพิเศษ เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดข้อสงสัยตามคำแถลงของคณากร

องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้มีการพักใช้และการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก ข้อกังวลที่มีการพูดถึงกันคือความถูกต้องแน่นอนของกระบวนการยุติธรรมในแต่ละประเทศ แม้ว่าแต่ละประเทศจะพยายามออกแบบระบบให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด แต่ไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติจนไม่สามารถเกิดความผิดพลาดได้เลย

การลงโทษถึงชีวิตภายใต้ระบบที่สามารถเกิดข้อผิดพลาดได้จึงไม่ควรเกิดขึ้น

“เราจะทำอย่างไรให้อาชญากรเชื่อว่าเขาไม่สามารถหลุดจากเงื้อมมือของกฎหมายได้ หัวใจไม่ได้อยู่ที่โทษประหารชีวิต แต่ต้องทำให้เขาเชื่อว่าจะมีการลงโทษจริง” ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

การจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้นั้นต้องทำควบคู่กับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจว่าระบบความยุติธรรมจะสามารถลงโทษคนผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เห็นว่าทางออกเดียวที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาปลอดภัยได้คือการนำตัวคนผิดไปฆ่าโดยลงโทษการประหารชีวิต

ดังที่ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท เคยให้ความเห็นถึงปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมไว้ในรายการ 101 One-On-One Ep.91 ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย’

นอกจากนี้ตลอดปีที่ผ่านมา 101 ยังได้ทำงานร่วมกับ TIJ ในการสำรวจปัญหาในระบบยุติธรรมไทยพร้อมเสนอตัวอย่างและแนวทางแก้ไขในหลากมุมมอง ผลงานชิ้นหนึ่งคือบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีช่วงตอนหนึ่งที่พูดถึงปัญหาระหว่างกระบวนการสอบสวนผู้ต้องหาว่า “สมัยที่ผมยังเด็ก เราจะเห็นอย่างดาษดื่น มีข่าวทุกวันว่ามีการซ้อมให้รับสารภาพ แต่ตอนนี้ตำรวจที่กล้าทำก็ลดลง และนี่คือแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า มีข่าวซ้อมทรมานผู้ต้องหาอยู่เนืองๆ พอเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วเหมือนเราอยู่ในสภาพยกเว้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเหมือนกัน”

ความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมยังส่งผลถึงประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เช่นที่ ศ.ดร.สุรศักดิ์ บอกว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ละฝ่ายก็บอกว่ามีแต่ฝ่ายเราที่ทำผิดแล้วถูกลงโทษ นี่เป็นวาทกรรมที่ไปกระตุ้นต่อมให้เกิดความไม่ไว้วางใจทุกครั้ง ซึ่งบางคดีอาจจะไม่จริง แต่มันมีพื้นฐานความไม่ไว้ใจอยู่แล้ว วาทกรรมเหล่านี้จึงมีความน่าเชื่อถือได้มากกว่าความเป็นจริง ฉะนั้นผมคิดว่าการสร้างความเชื่อถือต้องใช้เวลามากทีเดียว”

แม้ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความพยายามทำให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้น แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันถึงระบบต่างๆ ในสังคมไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็บอกพวกเราทุกคนว่าเวลาที่สมควรได้ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว และเราควรเริ่มต้นกันอย่างจริงจังเสียที

…………….

ปัญหาสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และความเป็นธรรม ยังคงมีประเด็นแยกย่อยออกไปอีกมาก เช่นเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ, สิ่งแวดล้อม, สิทธิแรงงาน, ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอการแก้ไขไม่ต่างกัน

แม้ว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่การเดินหน้าแก้ไขประเด็นต่างๆ ยังคงไม่ชัดเจน และหากย้อนไปช่วงการปกครองของคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจปี 2557 ก็มีการทำเรื่อง ‘ปฏิรูปประเทศ’ แต่กลับไม่ได้สร้างผลงานที่ชัดเจนและขาดการยอมรับอันเนื่องมาจากความไม่ยึดโยงกับประชาชน ขณะที่นายกรัฐมนตรีและคณะทำงานในปัจจุบันก็เป็นคนที่เคยปกครองประเทศช่วงการรัฐประหาร 2557 ในช่วงปีหน้าจึงอาจคาดหวังได้ยากว่ารัฐบาลจะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนมุมของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่พยายามส่งเสียงเรียกร้องถึงการถูกละเมิดสิทธิต่างๆ ตลอดช่วงการรัฐประหารที่ผ่านมา อาจคาดหวังว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจะกระเตื้องขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งและมีผู้แทนช่วยสะท้อนปัญหา แต่การโต้ตอบผู้เรียกร้องสิทธิกลับมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการคุกคามหรือควบคุมตัวอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการดำเนินคดี การฟ้องปิดปาก การใช้กฎหมายปิดกั้นการมีส่วนร่วม การโจมตีป้ายสีทางโซเชียลมีเดีย โดยการดำเนินการส่วนใหญ่เกิดจากอำนาจรัฐ ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังสร้างความไม่ชัดเจนถึงทิศทางต่อไป เมื่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่ควรจะเป็นผู้เข้ามาคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐประหาร กลายเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางช่วงรัฐประหาร

ปี 2563 จึงน่าจะยังเป็นปีที่ประชาชนต้องเหน็ดเหนื่อยต่อไป โดยคาดหวังได้เพียงว่าบางกลไกในสภาจะอยู่เคียงข้างประชาชนและช่วยกันผลักดันให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ต่อปัญหานั้นๆ ได้ออกมาพูดถึงความรับผิดรับชอบต่อปัญหาที่พวกเขามีส่วนสร้าง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save