fbpx
สิทธิมนุษยชนสากลจะรอดไหมในระเบียบโลกใหม่? จากโทษประหารในไทยถึงสถานการณ์ในสหรัฐฯ

สิทธิมนุษยชนสากลจะรอดไหมในระเบียบโลกใหม่? จากโทษประหารในไทยถึงสถานการณ์ในสหรัฐฯ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ช่วงสัปดาห์นี้ ข่าวในประเทศที่ถกเถียงกันหนาหูน่าจะเป็นกรณีการประหารนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์ ซึ่งถือเป็นรายแรกในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยจำนวนไม่น้อยต่างออกมาสนับสนุนการประหาร บนวิธีคิดเรื่องความยุติธรรมแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ รวมถึงชี้ว่านักสิทธิฯ เรียกร้องสิทธิให้นักโทษ ทว่าหลงลืมสิทธิของเหยื่อ[1]

ในอีกด้านหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสิทธิฯ ระหว่างประเทศ ต่างประณามท่าทีดังกล่าวของทางการไทย โดยอาศัยข้อโต้แย้งสามประการคือ ประการแรก หลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยระบุว่าโทษประหารละเมิดสิทธิในการมีชีวิต (the right to life) ประการที่สอง หลักประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยมีเหตุผลสนับสนุนสำคัญคือ โทษประหารไม่ช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม ประการสุดท้าย การเมืองของสิทธิมนุษยชนสากลในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่ารัฐห่วงภาพลักษณ์ของตนในประชาคมนานาชาติ ดังนั้นจึงยอมรับหลักสิทธิมนุษยชนมาปฏิบัติใช้ (แม้จะฝืนใจก็ตาม)

องค์กรสิทธิฯ อย่าง Amnesty International ชี้ว่าการหวนคืนสู่โทษประหารของไทยนั้นสะท้อน ‘ความล้าหลัง’ เพราะหากไทยไม่บังคับใช้โทษประหารเป็นเวลาสิบปี อาจถือว่าเรายกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ[2] และจะได้ร่วมกลุ่มกับอารยะประเทศร้อยกว่าประเทศ ซึ่งยกเลิกโทษประหารไปแล้ว[3]

แม้การสนับสนุนโทษประหารแบบไทยๆ จะไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ สมมติฐานขององค์กรสิทธิฯ จำนวนมากที่ว่า หากร่วมกัน ‘ประณาม’ รัฐซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว จะสร้างความละอายแก่รัฐในประชาคมโลกจนเป็นแรงกดดันให้รัฐเปลี่ยนแปลงนโยบายนั้น เริ่มไม่ค่อยได้ผลแล้ว

เหตุผลหลักคือ การที่รัฐซึ่งไม่ค่อยเคารพสิทธิมนุษยชน จะถูกกดดันให้ฝืนธรรมชาติตัวเองได้ จำเป็นต้องถูก ‘จัดระเบียบ’ และระเบียบนี้ต้องมีคนคอยคุม สร้างบทลงโทษผู้ท้าทายระเบียบและให้รางวัลผู้เคารพกฎ ขณะเดียวกันผู้คุมและบทลงโทษดังกล่าวก็ต้องได้รับการยอมรับหรือมีความชอบธรรมในกลุ่มสมาชิก ทว่าลักษณะเหล่านี้กำลังหายในบริบทการเมืองโลกปัจจุบัน

ตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา หลักสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งใน ‘ไม้บรรทัด’ ที่ใช้วัดว่ารัฐเป็นสมาชิกที่ ‘ดี’ ในชุมชนนานาชาติหรือไม่ จริงอยู่ที่สหประชาชาติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 1948 ทว่าบรรยากาศสงครามเย็นส่งผลให้ผลประโยชน์ด้านการทหารและภูมิศาสตร์การเมืองโลกของรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สำคัญกว่าเรื่องสิทธิฯ

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงพร้อมกับชัยชนะของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย เมฆหมอกที่เคยปกคลุมวาระสิทธิมนุษยชนในการเมืองระหว่างประเทศจึงจางลงด้วย สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยว ซึ่งมีศักยภาพด้านการทหารสูงสุด อีกทั้งยังคุมแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดและเน้นบทตลาดเหนือรัฐ

ในแง่อุดมการณ์ สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในหลายประเทศ ทั้งในยุโรปตะวันออก เอเชีย และอเมริกาใต้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนผ่านการให้ทุนองค์การระหว่างประเทศและเอ็นจีโอ รวมถึงดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งผนวกรวมวาทะสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย จะเรียกว่าวาระสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการใช้ ‘อำนาจละมุน’ (soft power) ของสหรัฐฯ ก็ว่าได้

หลักสิทธิมนุษยชนสากลภายใต้การนำของสหรัฐฯ เผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งถูกต่อว่าต่อขานจากผู้นำอำนาจนิยมในประเทศซีกโลกใต้ว่าเป็นนโยบายล่าอาณานิคมใหม่ของชาติตะวันตก โดยผู้นำเหล่านี้เห็นว่าหลักสิทธิมนุษยชนไม่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ในสังคมตนซึ่งยึดถือคุณค่าท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิจารณ์ด้วยว่าหลักดังกล่าวมีไว้เลือกปฏิบัติ ประเทศที่กล้าท้าทายอำนาจสหรัฐฯ มักถูกประณามว่าละเมิดสิทธิหรือถูกโต้ตอบด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งมาตรการทางทหาร ส่วนประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ อย่างซาอุดิอาระเบียและอียิปต์ ซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิประชาชนอย่างโชกโชน กลับลอยนวล[4]  ในขณะที่ผู้ฝักใฝ่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายวิจารณ์ว่า หลักสิทธิฯ ภายใต้สหรัฐฯ ถูกอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่บดบังจนไม่เห็นมิติเศรษฐกิจ ทำให้เน้นแต่เรื่องสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรม แต่กลับละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำ[5]

กระนั้นก็ดี ช่วงปี 1990 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 ถือเป็นยุคทองผ่องอำไพของหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพราะว่าอยู่ๆ ผู้คนตัดสินใจเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเพียงชั่วข้ามคืน แต่เพราะหลักดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่แบบเสรีนิยม ซึ่งถูกบังคับใช้ในสังคมนานาชาติ หลักสิทธิมนุษยชนสากลมิใช่แค่ปรากฏในกระดาษเท่านั้น แต่ยังถือเป็นคุณค่าในการอยู่ร่วมกันของรัฐ รัฐซึ่งไม่เคารพหลักนี้ไม่เพียงแต่ถูกลงโทษจากรัฐมหาอำนาจ (ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป) ซึ่งคุมระเบียบโลกแบบเสรีนิยม (liberal order) ทว่ายังถูกประณามและรังเกียจเดียดฉันท์จากเพื่อนร่วมประชาคมได้ พูดอีกแบบคือ การที่องค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนใช้กลไกเหล่านี้กดดันรัฐให้เคารพสิทธิฯ ของประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเพราะมีคนคุมกฎซึ่งได้รับการยอมรับและยำเกรงอยู่นั่นเอง

ทว่าปัจจุบัน ความยอมรับและยำเกรงคนคุมกฎอย่างสหรัฐฯ กำลังถดถอยลงเรื่อยๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากบทบาททางเศรษฐกิจของจีนและอิทธิพลทางทหารของรัสเซียซึ่งท้าทายสหัรฐฯ แต่อีกส่วนเป็นผลจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เอง นับจากเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดในปี 2001 เป็นต้นมา สงครามต่อต้านการก่อการร้ายกลายเป็นหมายหมุดที่หันเหสหรัฐฯ ออกจากระเบียบโลกแบบเสรีนิยม แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังใช้วาทะสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยบังหน้าปฏิบัติการทางทหาร เพื่อเปลี่ยนระบอบการเมืองในประเทศซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ วิกฤตศรัทธาต่อสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจจึงส่งผลต่อศรัทธาในระบอบสิทธิมนุษยชนสากลด้วย[6]

วิกฤตดังกล่าวถลำลึกลงเมื่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเคยถือไม้บรรทัดสิทธิมนุษยชนเดินออกจากระเบียบโลกแบบเสรีนิยมเสียเอง การขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2016 เปิดประตูทางออกนี้ นักยุทธศาสตร์คนสนิทของทรัมป์อย่างสตีฟ แบบนอน (Steve Bannon) ประกาศเป็นศัตรูกับระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอย่างเต็มตัว โดยเชื่อมโยงระเบียบดังกล่าวกับ ‘โลกนิยม’ (globalism) และชี้ว่าสหรัฐฯ ควรถอนตัวออกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจนานาชาติและทางทหาร รวมถึงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาสากลอย่างการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นต้น แบนนอนยังเห็นแย้งกับแนวคิดเรื่องสิทธิของผู้อพยพลี้ภัย ตลอดจนเพิกเฉยกับคุณค่าเสรีนิยมเชิงอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ และพหุวัฒนธรรม[7]

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทรัมป์ยังแสดงท่าทีอันเป็นภัยต่อสถาบันประชาธิปไตยในสหรัฐ เช่น พยายามขัดขวางกระบวนการสืบสวนว่าด้วยการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 โดยรัฐบาลรัสเซีย หรือแทรกแซงสื่อ เป็นต้น[8]

ภายใต้การนำของทรัมป์ สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายช็อกโลกหลายประการ ซึ่งสวนทางกับบทบาทแกนนำระเบียบโลกเสรีนิยมของสหรัฐฯ เอง ไม่ว่าจะเป็นการขู่ออกจากความร่วมมือนานาชาติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Paris Agreement) การกล่าวชื่นชมผู้นำอำนาจนิยมในหลายประเทศอย่างออกหน้าออกตา การประกาศยอมรับว่าเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงอิสราเอลและดำเนินนโยบายสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มตัว (ซึ่งไม่แปลกใหม่แต่อย่างใด ทว่าการออกตัวในทางการทูตเช่นนี้ไม่ใคร่ปรากฏ) และการแสดงท่าทีสนับสนุนพรรคการเมืองหรือกลุ่มภาคประชาสังคมฝ่ายขวาในยุโรป รวมถึงนโยบายล่าสุดซึ่งส่งผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ โดยที่แยกและกักกันบุตรของคนเหล่านี้ซึ่งเกิดในสหรัฐฯ และถือเป็นประชากรอเมริกันไว้ในประเทศ[9]

ทั้งนี้ เหตุการณ์ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐ (อย่างน้อยภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์) เดินออกจากระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอย่างเต็มตัว คือการออกจากสภาพสมาชิกของคณะกรรมธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council-UNHRC) ซึ่งทำหน้าที่ประเมินพฤติกรรมและนโยบายของรัฐในแต่ละปีว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวมากน้อยเพียงใด[10]

หลักสิทธิมนุษยชนสากลคงมิได้พังทลายในชั่วพริบตาเพียงเพราะสหรัฐฯ ออกจาก UNHRC ทว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มแรงกระแทกต่อระเบียบแบบเสรีนิยม ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะง่อนแง่นจนนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งถึงกับชี้ว่า ระเบียบดังกล่าวกำลังล่มสลาย[11] ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายจากความเหลื่อมล้ำ กระแสชาตินิยม ระบอบอำนาจนิยม และลัทธิทหาร (militarism) ขณะเดียวกันคุณค่าสิทธิมนุษยชนกำลังขาดไร้ผู้ค้ำประกันในการเมืองโลก ซึ่งขั้วอำนาจต่างๆ มิได้ยอมรับความเป็นสากลของหลักสิทธิมนุษยชนเสียทีเดียว พูดอีกแบบคือ เรากำลังเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่แบบ ‘อเสรีนิยม’ (illiberal order)

คำถามที่สำคัญคือ หลักสิทธิมนุษยชนสากลในระเบียบโลกแบบอเสรีนิยมนี้ จะเผชิญชะตากรรมเช่นไร? และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสร้างกลไกใหม่เพื่อบังคับและจูงใจให้รัฐเคารพสิทธิมนุษยชน?

อาจถึงเวลาที่ภาคประชาสังคมและองค์สิทธิฯ ต้องคิดถึงคำตอบต่อถามเหล่านี้อย่างจริงจัง

 

เชิงอรรถ

[1] https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1239308

[2] https://www.bbc.com/thai/thailand-44534477

[3] https://deathpenaltyinfo.org/abolitionist-and-retentionist-countries

[4] ดู Costas Douzinas, Human Rights and Empire: The Political Philosophy of Cosmopolitanism (London: Routledge, 2007).

[5] ดู Samuel Moyn, Not Enough: Human Rights in an Unequal World (Cambridge: the Belknap Press of Harvard, 2018).

[6] http://foreignpolicy.com/2016/06/26/the-collapse-of-the-liberal-world-order-european-union-brexit-donald-trump/

[7] http://time.com/4657665/steve-bannon-donald-trump/

[8] https://www.newyorker.com/magazine/2018/03/19/donald-trump-and-the-stress-test-of-liberal-democracy

[9] https://www.nytimes.com/2018/06/19/us/politics/trump-immigration-children-separated-families.html

[10] https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-un-human-rights-council-donald-trump-aides-consider-quitting-a7601771.html

[11] ดู Constance Duncombe and Tim Dunne, “After Liberal World Order,” International Affairs 94(1) (2018): 25-42.

 

……………………………..

ภาพประกอบ: นันทภัค คูศิริรัตน์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save