fbpx
มนุษย์โควิด กับ มนุษย์อโควิด: การแบ่งชนชั้นใหม่ในโลกระบาด?

มนุษย์โควิด กับ มนุษย์อโควิด: การแบ่งชนชั้นใหม่ในโลกระบาด?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เราจะเปิดโลกได้เมื่อไรครับ? อีกนานเพียงใดการบินระหว่างประเทศจึงจะกลับมา? ต้องรออีกนานไหมกว่าเศรษฐกิจและการทำมาค้าขายจะกลับมาคึกคักเหมือนก่อนจะมีการระบาดของโควิด? หรือว่าเราจะต้องอดใจรอ 1-2 ปี จนกว่าจะมีวัคซีนจริงๆ?

ข้อเสนอหนึ่งที่มีคนพูดถึงไม่น้อยในตอนนี้คือ ทำไมเราไม่กลับไปที่หลักการพื้นฐานที่สุดทางระบาดวิทยา นั่นก็คือ การแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่มีเชื้อให้ได้ ผู้ติดเชื้อจะได้เข้ารับการรักษา ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อจะได้เปิดโลกเปิดร้านทำมาค้าขายติดต่อสัมพันธ์กันดังเดิม  

อีกข้อเสนอหนึ่ง ซึ่งแพร่หลายโดยเฉพาะในประเทศที่ยอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นชนิดติดจรวด คือให้แยกผู้เคยป่วยและมีภูมิต้านทาน ออกจากผู้ยังไม่เคยป่วยและยังไม่มีภูมิต้านทานโควิด ภายใต้แนวคิดนี้ ผู้เคยป่วยหรือมีภูมิต้านทานจะเป็นกลุ่มแรกที่กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ใครอยากเขียนนิยายเก๋ๆ ลองเอาภาพจำลองนี้ไปพัฒนาพล็อตเรื่องดูนะครับ ภาพของโลกที่แบ่งชนชั้นใหม่ ไม่ใช่ตามสีผิวหรือฐานะ แต่ตามเชื้อโรค ภาพของโลกใหม่ที่แรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ คนงานที่ปลอดเชื้อ หรือหากในการแบ่งชนชั้นแบบที่สอง คือคนงานที่มีภูมิต้านโควิด บางทีโลกเราก็เหมือนนิยายได้ครับ ยิ่งถ้าการระบาดยังไม่มีทีท่าจะยุติและเศรษฐกิจยังคงดิ่งเหวต่อไปเช่นนี้ สองชนชั้นใหม่อาจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจริงๆ ก็ได้

เรามาลองคิดกันว่า หากเกิดการแบ่งกลุ่มคนตามเชื้อโรคเช่นนี้ จะมีปัญหาและความท้าทายอะไรบ้าง? 

มาดูข้อเสนอแบบแรกก่อน คือ การแบ่งผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ ปัจจุบันเราทราบดีว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ หลายคนบอกว่า ทุกประเทศก็ต้องคิดแบ่งผู้ติดเชื้อออกไปทั้งนั้นไม่ใช่หรือ แต่คนที่จริงจังกับข้อเสนอนี้จริงๆ เขาต้องการการตรวจเชื้อถึงขั้นปูพรมทั้งสังคม นึกภาพว่าจับทุกคนในประเทศไปตรวจเชื้อหรือตรวจให้ง่ายทันใจได้ทุกเมื่ออะไรแบบนั้น จะได้แบ่งสองกลุ่มให้ชัดไปเลย และจะได้เปิดโลกเปิดเมืองเปิดร้านกันได้อย่างสบายใจเสียที

ท่านผู้อ่านอาจบอกว่า ไม่มีประเทศไหน (รวมทั้งประเทศไทย) จะมีศักยภาพตรวจเชื้อในระดับนั้นได้ เพราะการตรวจมีต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่คนที่สนับสนุนแนวคิดนี้เช่น พอล โรเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล คำนวณว่า ต้นทุนการตรวจเชื้อประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ (และให้ตรวจซ้ำทุกคนทุกสองสัปดาห์) น่าจะอยู่ที่ราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรืออาจถูกกว่านั้น ถ้าสามารถพัฒนานวัตกรรมการตรวจที่ต้นทุนถูกกว่านี้ได้) หนึ่งแสนล้านนี่ฟังดูเยอะใช่ไหมครับ แต่โรเมอร์บอกว่า ราคาถูกกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นแพ็กเกจกู้เศรษฐกิจของพี่ทรัมป์หลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วข้อเสนอที่ฟังดูดีนี้มีปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกคือปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะถึงมีเงิน เราก็ไม่สามารถพัฒนานักเทคนิคการแพทย์และเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนน้ำยาการตรวจให้เพียงพอได้อยู่ดี แน่นอนว่านวัตกรรมการตรวจอาจได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ความแม่นยำในการตรวจ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีทางถึง 100% อยู่ดี

แม้แต่วิธีการตรวจ PCR ที่ใช้อุปกรณ์แยงจมูกเก็บสารคัดหลั่ง ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน ก็ยังมีรายงานว่า อาจให้ผลผิดพลาด โดยเฉพาะตรวจว่าไม่พบเชื้อ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจมีเชื้อซ่อนอยู่ ความผิดพลาดนี้อาจสูงได้ถึง 30% เคยได้ยินรายงานข่าวใช่ไหมครับว่า ผู้ป่วยบางรายต้องตรวจซ้ำหลายครั้งกว่าจะพบเชื้อ บางรายตรวจไม่พบเชื้อ แต่ผล X-Ray ปอดบ่งชี้ชัดเจนว่าเข้าลักษณะโควิด หรือบางรายถึงกับต้องเก็บน้ำตัวอย่างจากก้นปอดจึงจะตรวจพบเชื้อ ยิ่งถ้าเป็นวิธีตรวจแบบอื่นๆ ความแม่นยำก็ยิ่งมีปัญหามาก เช่น อาจพบผลบวกลวง คือผลตรวจพบเชื้อ แต่จริงๆ อาจไม่มีเชื้อก็ได้

บางคนบอกว่าไม่ต้องใช้การตรวจเชื้อหรอก แต่ให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแบ่งคน ในจีนวันนี้ การแบ่งคนเป็น ‘มนุษย์โควิด’ และ ‘มนุษย์อโควิด’ ได้เกิดขึ้นจริงแล้วนะครับ จีนไม่สามารถตรวจเชื้อให้ประชากรทั้ง 1.4 พันล้านคนได้หมด และศักยภาพในการตรวจเชื้อของจีนก็จำกัด แต่เราจะเห็นรายงานข่าวว่า บางเมืองของจีน ประชาชนจะมีแอปพลิเคชันติดตามตัว ที่จำแนก ‘สี’ ให้กับแต่ละคน ทุกคนต้องกรอกข้อมูลอุณหภูมิร่างกายและอาการในแต่ละวัน รวมทั้งต้องสแกน QR Code เวลาไปยังสถานที่ต่างๆ โดยแอปพลิเคชันจะจำแนกคนเป็นสามสี ได้แก่ ‘สีเขียว’ สำหรับมนุษย์อโควิด (ดูท่าปลอดภัยไร้เชื้อ) แต่เมื่อใดก็ตามที่พบว่า มีผู้ติดเชื้อเคยไปยังสถานที่ที่คุณเคยไปมาในเวลาใกล้เคียงกัน สถานะคุณจะเปลี่ยนเป็น ‘สีเหลือง’ จนเมื่อใดก็ตามที่คุณทั้งเคยใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ทั้งเริ่มมีอาการ เช่น มีไข้ คุณก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นมนุษย์โควิด ‘สีแดง’ และต้องเข้ารับการตรวจเชื้อและกักกันตัวทันที แม้จะยังตรวจไม่พบเชื้อก็ตาม

บางคนอาจมองว่าแนวทางนี้ดูเข้าท่าดี แต่ลองคิดดูว่า คุณเองต้องกลายเป็นมนุษย์เสี่ยงสีเหลือง เพราะคุณดันนั่งรถไฟใต้ดินขบวนและช่วงเวลาเดียวกันกับคนป่วย โดยที่คุณไม่มีอาการทางกายใดๆ แต่กลับต้องกักตัวเอง 14 วัน ออกไปไหนไม่ได้โดยปริยาย เพราะคุณจะสแกนเข้าสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ได้ ทีนี้ตัวคุณจะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูข้อเสนอการแบ่งคนแบบที่สอง คือ แบ่งเป็นผู้มีภูมิกับผู้ไม่มีภูมิ หลายคนเสนอไปถึงขั้นว่า ยิ่งเมื่อมีวัคซีน ยิ่งจะส่งเสริมให้ทุกคนต้องไปฉีด เพื่อจะได้รับ ‘ใบรับรองมนุษย์อโควิด’ ส่วนผู้เคยป่วยและหายดีแล้วก็จะได้ใบรับรองนี้เช่นกัน เพราะมีภูมิต้านทานเรียบร้อย ถึงขั้นต่อไปในพาสปอร์ตของแต่ละคนอาจมีช่องรับรองว่าคุณมีภูมิหรือยัง ถ้ามีแล้ว คุณก็สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้

ปัญหาแรกของข้อเสนอนี้คือ จนถึงตอนนี้ ความรู้ของวงการแพทย์เกี่ยวกับโควิดยังจำกัดมาก เพราะนี่เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดได้เพียง 4 เดือน เราไม่มีข้อมูลจริงๆ ว่าผู้หายป่วยจะมีภูมิต้านทานจริงหรือไม่ หรือภูมิจะอยู่นานถึง 1 ปีหรือเปล่า และในกรณีใดบ้างที่จะเกิดภูมิหรือไม่เกิดภูมิ 

ปัจจุบัน เรามีเครื่องมือในการตรวจหาภูมิต้านทานอยู่แล้ว แต่ปัญหาความแม่นยำในการตรวจก็ยังชวนให้กังวลว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลตรวจจะพบภูมิ แต่แท้จริงแล้วเป็นภูมิต้านทานไวรัสโคโรนาชนิดอื่นที่ไม่ใช่โควิด รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ว่า การมีภูมิต้านทานไม่ได้แปลว่าจะไม่ติดเชื้อใหม่เสมอไป ในหลายเชื้อโรค ถึงจะมีภูมิต้านทานแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้ ดังที่ใครๆ ทราบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีทางเป็นไข้หวัดใหญ่อีก เพราะเชื้ออาจกลายพันธุ์ แม้จะกลายพันธุ์เพียงหน่วยพันธุกรรมไม่กี่หน่วยเท่านั้นก็ตาม

ถึงสมมติว่าเรามีการตรวจภูมิต้านทานที่แม่นยำจริง หรือมีวัคซีนที่ยอดเยี่ยมจริง และรัฐบาลตัดสินใจออก ‘ใบรับรองมนุษย์อโควิด’ ให้กับคนที่มีภูมิต้านทาน คนที่มีใบรับรองดังกล่าวสามารถเดินทางข้ามประเทศ สามารถทำงานบริการที่ต้องติดต่อกับผู้คน และสามารถไปในแหล่งที่คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์หรือสนามมวย ได้อย่างเสรี ขณะที่คนที่ไม่มีใบรับรองจะถูกจำกัดเสรีภาพให้ต้อง “อยู่บ้าน ปลอดเชื้อ เพื่อชาติ” กันต่อไป ก็จะเกิดประเด็นในเชิงชีวจริยธรรมว่า นี่เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ คนที่ยังไม่มีภูมิต้านทานหรือคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนมีความผิดอะไรที่เราจะไปห้ามเขาท่องเที่ยว ห้ามประกอบอาชีพบางชนิด หรือห้ามเข้าชมภาพยนตร์ ในทางนิติปรัชญา อาจต้องถามว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติแบบหนึ่งหรือไม่ แตกต่างจากการเลือกปฏิบัติโดยดูจากสีผิว ความเชื่อทางศาสนา เพศ หรือความพิการของบุคคลหรือไม่ อย่างไร    

ถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิดยังคงยืดยาว และเราเห็นชัดเจนว่ามีบางประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ กับมีประเทศที่ไปถึงจุดที่การระบาดหยุดยั้งไม่อยู่แล้ว เราก็อาจเห็นโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วตามแกนการแบ่งแบบใหม่ ได้แก่ กลุ่มประเทศโควิดกับกลุ่มประเทศอโควิด กลุ่มประเทศอโควิดอาจเปิดประเทศและเปิดการเดินทางค้าขายระหว่างกัน ขณะเดียวกัน ก็จำกัดการเดินทางและการค้ากับประเทศที่มีการระบาด วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจมีเขตการค้าเสรีกลุ่มประเทศอโควิดเกิดขึ้นก็ได้

ผมไม่มีคำตอบว่าอะไรเป็นทางออกของปัญหาโควิด การแบ่งกลุ่มมนุษย์โควิดกับมนุษย์อโควิด ไม่ว่าจะโดยเชื้อหรือโดยภูมิต้านทาน มีประเด็นทางชีวจริยธรรม ปรัชญา กฎหมาย ความเป็นธรรม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเป็นไปได้ในความเป็นจริง ตลอดจนผลกระทบทางสังคม ชวนให้ถกเถียงและชวนคิดสำรวจให้รอบคอบ

สองประเด็นสำคัญที่ผมอยากเน้นย้ำจากที่เขียนมาทั้งหมด ประเด็นแรกคือความไม่แน่นอน เราต้องตระหนักถึงความไม่แน่นอนของผลตรวจ ความไม่แน่นอนของตัวโรค ความเป็นไปได้ในการกลายพันธุ์ของเชื้อ ความไม่แน่นอนของภูมิต้านทาน ความเข้าใจที่จำกัดของวงการแพทย์เกี่ยวกับโควิด หลายข้อเสนอตั้งอยู่บนฐานคิดหรือสมมติฐานที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ซึ่งยังเต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้และสิ่งที่ไม่แน่นอน

แต่ประเด็นที่สอง ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โลกท่ามกลางการระบาดของโควิดย่อมเป็นโลกที่แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มโดยปริยาย ระหว่างผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อ ผู้มีภูมิต้านทานกับผู้ไม่มีภูมิ แน่นอนครับว่า เราอาจต้องมีมาตรการในการแยกผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงออกจากสังคมที่เหลือ แต่มาตรการใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นมาตรการที่มีหัวใจ คำว่า ‘ชนชั้น’ มีนัยยะว่า มีกลุ่มหนึ่งเหนือกว่าและอีกกลุ่มด้อยกว่า แต่เชื้อโรคควรเป็นตัวย้ำเตือนพวกเราทุกคนเกี่ยวกับชะตากรรมและความเปราะบางร่วมกันของมนุษยชาติ ไม่ใช่ตัวแบ่งแยกให้เราสร้างกำแพงปิดกั้นและทอดทิ้งกัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save