fbpx

ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ : ความสูญเสียจากสงครามสู่ความไม่ยอมกันในทุกสนามแข่งขัน

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

หญิงบำเรอ หรือ comfort women ถือเป็นหนึ่งในข้อพิพาทครั้งสำคัญระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังส่งผลกระทบมาจนถึงในปัจจุบัน เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งที่โด่งดังและฉาวโฉ่ที่ทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มองหน้ากันแทบไม่ติด แถมยังทำให้ทั้งสองชาติตั้งแง่จ้องจะหาเรื่องกัน แม้ว่าในปัจจุบันทั้งสองชาติจะพยายามผสานความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ตาม แต่ทุกคราวที่มีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างดินแดนอาทิตย์อุทัยและโสมขาวเกิดขึ้น เรื่องนี้จะถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอไป

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ทุกเวทีการเผชิญหน้ากันระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ‘เป็นเรื่อง’ ที่มากกว่าที่ควรจะเป็นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวทีการเมือง เศรษฐกิจการค้า หรือแม้กระทั่งในเวทีกีฬาก็ตาม ทั้งที่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะผ่านมานานกว่า 70 ปีแล้ว แต่ความปวดร้าวของผู้ที่ถูกกระทำไม่มีทางถูกลืมเลือนไปได้ง่ายๆ เลย

หากยังจำกันได้ ในช่วงโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังเป็นที่พูดถึง หลังจากที่ทัพนักกีฬาของเกาหลีใต้แขวนป้ายที่มีข้อความว่า “เรามีชาวเกาหลีอีก 50 ล้านคนหนุนหลัง” ไว้ที่หน้าระเบียงของที่พักในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งข้อความนี้ไม่ใช่ข้อความปลุกใจธรรมดาทั่วไป แต่คือคำของนายพล อี ซุน-ชิน แม่ทัพเรือเกาหลีที่สามารถขับไล่กองทัพเรือญี่ปุ่นจากการรุกรานได้ ซึ่งตรงนี้เหมือนการตีวัวกระทบคราดไปใส่ทางญี่ปุ่นเต็มๆ จนทำเอาฝ่ายญี่ปุ่นไม่พอใจและทำให้มีการรวมตัวกันชูธงจักรวรรดิญี่ปุ่นหรือธงอาทิตย์อุทัยเป็นการตอบโต้เลยทีเดียว

แต่ถ้าเอาแบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่มีการจับฉลากคู่ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ (2022) ญี่ปุ่นต้องไปอยู่ในสายโหดอย่าง กลุ่ม E ซึ่งเป็น ‘กรุ๊ปออฟเดธ’ ร่วมกับ สเปนและเยอรมนี ก็ยังไม่พ้นจะเป็นเรื่องเป็นราวกันได้ หลังจากผู้ประกาศข่าวในรายการโทรทัศน์ของสถานี MBC ในเกาหลี พูดจาไปในทางเยาะเย้ยทีมชาติญี่ปุ่นหลังรู้ผลจับฉลาก นำมาซึ่งดราม่าตามหลัง

นั่นจะทำให้เราเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองชาติ ลุกลามไปสู่สนามแข่งขันกีฬาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง และส่งผลให้ทุกเวทีที่ทั้งสองชาติในสนาม ไม่ว่าจะเป็นชนิดกีฬาไหนๆ การแข่งขันจะเดือดกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งในแง่ของนักกีฬารวมไปถึงกองเชียร์ นั่นเป็นเพราะการแข่งขันระหว่างพวกเขา เป็นเรื่องราวที่ซับซ้อนมากกว่ากีฬา เพราะมีประวัติศาสตร์มาซ้อนทับกันอย่างยากจะแยก ส่งผลให้กลายเป็นส่งครามตัวแทนแบบย่อมๆ อย่างแท้จริง

และนี่คือเรื่องราวของสองประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชียที่มีเรื่องราวและการแข่งขันกันมาอย่างยาวนาน ทั้งที่ควรจะเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่กลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันมิตรสักเท่าไหร่ …นี่คือเรื่องราวของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 – ศัตรูแต่ปางก่อน

อันที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการกระทบกระทั่งกันเรื่อยมาอยู่แล้ว และมีความเป็นศัตรูกันมากกว่าความเป็นมิตรตั้งแต่ที่ทั้งสองชาติยังเป็นอาณาจักรภายใต้ชื่ออื่น โดยตามบันทึกที่หาอ้างอิงได้ ก่อนจะมาเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ทั้งสองชนชาติมีความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล หรือราว 2,000 ปีก่อน สมัยนั้นเกาหลียังอยู่ในยุค 3 อาณาจักร นั่นคือ โกกูรยอ แพ็กเจ และชิลลา ส่วนญี่ปุ่นยังมีสถานะเป็นอาณาจักร ยามะไต

ตามบันทึกระบุว่ายามะไตได้รับสืบทอดความรู้และอารยธรรมหลายอย่างจากเอเชียแผ่นดินใหญ่ อย่างอาณาจักรจีนฮั่น ผ่านมาทางคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ในปัจจุบันเราได้เห็นตัวคันจิ ซึ่งเป็นตัวหนังสือจีนอยู่ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง

ผ่านจากยุคก่อนคริสตกาลมาอีกราว 6-8 ศตวรรษ มีบันทึกว่า ‘อุยจา’ กษัตริย์องสุดท้ายของแพ็กเจ พยายามก่อตั้งพันธมิตรกับญี่ปุ่นเพื่อรับมือกับพวกชิลลา มีบันทึกว่าชาวแพ็กเจส่วนหนึ่งที่เป็นชนชั้นสูง อพยพเข้ามาสู่ญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือทางการทหาร ซึ่งญี่ปุ่นก็ตอบรับคำขอและพยายามเข้าไปแทรกแซงดินแดนเกาหลีในฐานะพันธมิตรของแพ็กเจ จนเกิดเป็นยุทธการแพ็กกัง ทว่าญี่ปุ่นก็ต้านความร่วมมือระหว่างชิลลาที่ตอนนั้นเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ถังไว้ไม่ไหว จนต้องถอยร่นกลับมา

ในตอนนั้นเองที่ความเป็นศัตรูระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เพราะทางชิลลาก็มองว่าญี่ปุ่นเป็นหอกข้างแคร่ แต่ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นเองก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการที่พวกเขารับผู้ลี้ภัยมาจากแพ็กเจ ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งช่างฝีมือ สถาปนิก และนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมของญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น

ต่อมาในศตรรษที่ 7-8 ญี่ปุ่นมีการติดต่ออย่างเป็นทางการกับชาวจีนผ่านทางคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชนชาติดีขึ้นตามลำดับ แต่คุณค่าของเกาหลีลดลงเมื่อวัฒนธรรมจีนถูกส่งผ่านไปถึงญี่ปุ่นโดยตรง หลังจากที่จักรพรรดิถังเต๋อจงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับชิลลา ในศริสตศักราช 799 จนกระทั้งในศตรรษที่ 9-11 ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ก็กลับมาย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิมเมื่อโจรสลัดญี่ปุ่นออกปล้นไปทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี

ความสัมพันธ์ของทั้งสองชนชาติก็ลุ่มๆ ดอนๆ เรื่อยมา มีดีบ้างแย่บางไปตามยุคสมัย จนในช่วงที่มองโกลเรืองอำนาจเหนือแผ่นดินจีน ก็มีความพยายามจากทางราชวงศ์หยวนที่ต้องการจะรุกรานญี่ปุ่น และพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีในการบุกโจมตี ซึ่งในสมัยนั้นกษัตริย์ชุงนยอลแห่งโครยอ ได้แนะนำให้มองโกลบุกญี่ปุ่นและยังช่วยในการผลิตเรือรบจำนวนมาก ว่ากันว่ามีจำนวนกว่า 1,000 ลำ แต่สุดท้ายเรือรบของพันธมิตรโครยอและมองโกลถูกทำลายโดยพายุ ก่อให้เกิดตำนานของ ‘กามิกาเซ่’ ลมศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องญี่ปุ่นนั่นเอง

ต่อมาในยุคเซนโงคุ หลังจากที่โทโยโทมิ ฮิเดโยชิรวบรวมญี่ปุ่นได้เป็นปึกแผ่นแล้ว เขาพยายามหาทางบุกยึดเกาหลีมาอยู่ใต้อาณัติของญี่ปุ่นให้ได้ จนกลายมาเป็นสงครามอิมจิน แต่สุดท้ายความพยายามของเขาก็ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้ริเริ่มนโยบายปิดประเทศที่เรียกว่า ‘ซาโคคุ’ โดยห้ามคนญี่ปุ่นเดินทางโดยเรือไปต่างประเทศ และเริ่มใช้โทษประหารชีวิตสำหรับคนญี่ปุ่นที่เดินทางกลับญี่ปุ่นจากต่างประเทศ สิ่งนี้เองที่แช่แข็งความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เอาไว้จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง

สงครามโลกครั้งที่ 2 – รอยราวที่ไม่อาจสมาน

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคสมัยที่ชาติตะวันตกเรืองอำนาจขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศและพยายามพัฒนาในด้านต่างๆ เช่นกัน ญี่ปุ่นภายใต้จักรพรรดิเมจิ เป็นยุคสมัยที่พวกเขารุ่งเรื่องแบบก้าวกระโดด พวกเขามองว่าความพยายามของชาติตะวันตกในการเรืองอำนาจเหนือภาคพื้นเอเชียไม่ใช่เรื่องดี ประกอบกับการที่จีน ซึ่งตอนนั้นอยู่ในสมัยราชวงศ์ชิง รบแพ้ชาติตะวันตกติดต่อกันหลายสมรภูมิ ทำให้พวกเขาพยายามมองหารัฐกันชนในกรณีที่จีนตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ซึ่งไม่น่าจะมีดินแดนไหนเป็นรัฐกันชนได้ดีไปกว่าเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีอีกแล้ว

ญี่ปุ่นมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการยึดเกาหลีมาเป็นเมืองขึ้น และความพยายามนั้นไปได้สวยหลังจากที่พวกเขาบังคับให้เกาหลีเซ็นสัญญาฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘สนธิสัญญากังฮวา’ ซึ่งมีเนื้อหาให้เกาหลีสามารถค้าขายกับชาติอื่นๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ฟังดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่การที่เกาหลียอมเซ็นสัญญาฉบับนี้นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนเกาหลีแล้วนั่นเอง

การเซ็นสนธิสัญญากังฮวาส่งผลให้คนในชาติเกาหลีแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน นั่นคือฝ่ายที่นิยมจีนและฝ่ายนิยมญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้มีการลุกฮือเพื่อขึ้นมาเพื่อปฏิวัติให้เกาหลีไปเข้ากับญี่ปุ่น หลังจากที่จีนเข้ามาแทรกแซงและปราบปรามอย่างรุนแรง

ต่อมาในปี 1904-1905 อิทธิพลของญี่ปุ่นเหนือคาบสมุทรเกาหลีก็พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนทำให้สามารถรบชนะรัสเซีย จนกลายเป็นจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พวกเขามั่นใจในอำนาจของตัวเองและแผ่ขยายอำนาจออกไปทั่วเอเชีย ซึ่งชาติแรกที่ต้องเจอกับฤทธิ์เดชของญี่ปุ่นในการขยายอำนาจก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีที่ถูกญี่ปุ่นเข้ามายึดครองในปี 1910

ภายใต้กการปกครองของญี่ปุ่น ทรัพยากรของเกาหลีถูกญี่ปุ่นนำไปใช้อย่างมากมาย โดยเฉพาะเหล็กและถ่านหิน ซึ่งมีมากในเกาหลี ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในสงครามที่กำลังจะมาถึง นอกจากทรัพยากรแล้ว ชายชาวเกาหลียังโดนเกณฑ์ไปเป็นแรงงานในญี่ปุ่นและโดนเกณฑ์ไปเป็นทหารอีกนับแสนคนด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเกาหลีมากที่สุด นั่นคือหญิงบำเรอ หรือ comfort women ที่ได้กล่าวไปข้างต้น พวกเธอคือผู้หญิงที่มีไว้ให้ทหารญี่ปุ่นใช้บำบัดความใคร่ในช่วงสงคราม และสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าเศร้ากว่านั้นคือการที่ญี่ปุ่นมีการจัดสรรเรื่องนี้กันอย่างเป็นระบบ นั่นหมายความว่าเบื้องบนหรือผู้มีตำแหน่งสูงในจักรวรรดิญี่ปุ่นรู้เห็นเป็นใจให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นด้วย โดยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกจับหรือบังคับไปเป็นหญิงบำเรอนั้น ว่ากันว่ามีมากกว่า 100,000 คน และบางคนก็ยังมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบันด้วย

เหตุการณ์การกดขี่ของญี่ปุ่นเหนือชาวเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เองที่สร้างนรอยร้าวที่ยากจะสมานระหว่างสองชาติให้ดำรงอยู่จวบจนปัจจุบัน และหลังจาก 35 ปีที่ญี่ปุ่นมีอำนาจเหนือคาบสมุทรเกาหลี เกาหลีได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระอีกครั้งหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 แต่นั่นเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบันที่กินเวลายาวนานเกือบ 80 ปีแล้ว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 – ความพยายามบนรอยแตก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เกาหลีได้รับเอกราชและถูกแบ่งออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ตามรูปแบบการปกครอง โดยเกาหลีเหนือที่ปกครองตัวเองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เลือกที่จะปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ทำให้มีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่มีบทบาทในการเป็นปรปักษ์กับญี่ปุ่นอย่างชัดเจน พวกเขาไม่ยอมสานความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเพราะบาดแผลที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครอง ทำให้เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในโซนคาบสมุทรเกาหลีเต็มไปด้วยความตึงเครียดและอึมครึมอย่างมาก

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เริ่มรู้ตัวว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย ทำให้มีความพยายามในการสานความสัมพันธ์กันเกิดขึ้น โดยทางเกาหลีใต้เองก็หวังจะได้เงินทุนจากญี่ปุ่นมาเพื่อใช้ฟื้นฟูประเทศในช่วงเวลาหลังสงคราม ส่วนทางญี่ปุ่นเองก็ต้องการตลาดที่จะระบายสินค้า ซึ่งเกาหลีใต้ก็เป็นตลาดที่ดีเพราะยังขาดแคลนหลายอย่างซึ่งเป็นผลกระทบจากสงคราม ซึ่งพวกเขาเห็นโอกาสที่จะระบายสินค้าออกไปจากประเทศได้ ทำให้ในปี 1965 มีการเช็นสนธิสัญญายุติความขัดแย้งและลดความบาดหมางเกิดขึ้น

โดยรายละเอียดในสนธิสัญญา ญี่ปุ่นยินยอมที่จะมอบเงินชดเชยให้เกาหลีถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้าคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบันจะมีมูลค่าสูงถึงราว 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 245,800 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่แน่นอนว่าเงินดังกล่าวไม่ได้ชดเชยความสูญเสียจากความบาดหมางที่เกิดขึ้น เหยื่อผู้เคราะร้ายจากสงครามภายใต้น้ำมือของญี่ปุ่นก็ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาได้รับการบรรเทาแต่อย่างใด

แต่เมื่อมองในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นดีขึ้น ประกอบกับการที่โลกตกอยู่ในช่วงสงครามเย็น ซึ่งทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นถือหางฝั่งสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ ทำให้ทั้งสองชาติต้องร่วมมือกันต่อต้านเกาหลีเหนือ บรรยากาศระหว่างทั้งคู่จึงดีขึ้นเล็กน้อยตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชาติก็ไม่ได้ดีต่อกันขนาดนั้น เพราะนอกจากเรื่องของฝ่ายบริหารที่ต้องยิ้มให้กันแล้ว ประชาชนในชาติกลับไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ประกอบกับการมีข้อพิพาทอื่นๆ เข้ามาเรื่อยๆ อาทิ ข้อพิพาทเรื่องดินแดนเหนือเกาะลิอันคอร์ต ที่ทั้งสองชาติต่างเคลมสิทธิเป็นของตัวเองและตั้งชื่อให้เสร็จสรรพ โดยญี่ปุ่นตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ‘ทาเคชิมะ’ ส่วนเกาหลีใต้เรียกเกาะนี้ว่า ‘ด็อกโด’

นอกจากข้อพิพาทเรื่องดินแดนแล้ว ทุกครั้งที่มีกรณีเกี่ยวกับสงครามโลกถูกสะกิดขึ้นมา คนในชาติทั้งสองก็จะมีการเปิดฉากสงครามกันบนโลกออนไลน์อย่างยากจะหลีกเลี่ยง และที่หนักที่สุดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งสองชาติก็ยังมีการกีดกันทางภาษีเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการตัดสินให้บริษัทญี่ปุ่นต้องชดใช้ให้ชายชาวเกาหลีที่ไปใช้แรงงานในช่วงสงคราม จนสร้างความไม่พอใจต่อเนื่องและกลายมาเป็นการกีดกันทางการค้าไปในที่สุดด้วย

คู่ปรับของคนในชาติ – การเผชิญหน้ากันในทุกเวที

ความไม่พอใจทั้งหมดนั้น ไม่ได้มีแค่เวทีการเมืองหรือการค้าเท่านั้น แต่ยังลามมาถึงเวทีกีฬาในหลายๆ หน ยกตัวอย่างในปี 2002 ที่ทั้งสองชาติร่วมมือกันจัดฟุตบอลโลกขึ้นมาได้สำเร็จ ยังไม่แคล้วที่ประชาชนทั้งสองชาติ จะมาเคลมว่าประเทศชั้นทำดีกว่าประเทศเธอ และยิ่งเมื่อเกาหลีใต้จบอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น ชาวเกาหลีจำนวนมากยิ่งยกตนข่มท่านใส่ชาวญี่ปุ่นชนิดข้ามเดือนข้ามปี ซึ่งในกรณีนี้ชาวแดนอาทิตย์อุทัยก็ตอบโต้ได้เจ็บแสบด้วยการบอกว่าเกาหลีใต้เป็นชนชาติที่ขี้โกง เพราะในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เป็นฟุตบอลโลกที่ได้ขึ้นชื่อว่า ‘สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์’ หลังทีมชาติเกาหลีใต้เอาชนะชาติยักษ์ใหญ่มาได้ภายใต้ความน่ากังขาของการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินนั่นเอง

นอกจากกรณีนี้แล้ว การค่อนขอดระหว่างแฟนกีฬาทั้งสองชาติยังเผชิญหน้ากันในโลกอินเทอร์เน็ตกันแบบสุดโต่ง คำพูดจา ด่าทอ ผรุสวาท เกิดขึ้นในโลกออนไลน์แทบทุกครั้งที่นักกีฬาจากทั้งสองชาติเผชิญหน้ากันเองในสนาม และยิ่งเป็นกีฬายอดฮิตอย่างแบดมินตัน วอลเลย์บอล หรือฟุตบอลด้วยแล้ว ความดุเดือดในการโจมตีกันไปมาในนั้น ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ เรียกได้ว่าทำเอาการโต้เถียงระหว่างแฟนฟุตบอลทีมชาติไทยกับเวียดนามที่คิดว่าเดือดแล้ว เป็นการเถียงกันของเด็กประถมไปเลยทีเดียว

แม้ในโอลิมปิก 2020 ที่เพิ่งจัดไปในช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ก็ยังมีประเด็นดราม่าตามมา ทั้งเรื่องการใช้ถ้อยคำที่ไป ‘แซะ’ อีกชาติหนึ่งอย่าง “เรามีชาวเกาหลีอีก 50 ล้านคนหนุนหลัง” ที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ต้น ซึ่งนำไปสู่การตอบโต้ของกองเชียร์ญี่ปุ่นที่ชูธงจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหมือนการไปสะกิดแผลเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นทำไว้กับเกาหลีกลับมาด้วย

และล่าสุด หลังจากจับฉลากฟุตบอลโลก 2022 ผู้ประกาศข่าวในรายการของช่อง MBC ที่พูดจาไปในทางที่เยาะเย้ยทีมชาติญี่ปุ่น หลังทราบผลการจับสลากรอบแบ่งกลุ่มว่าญี่ปุ่นถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่ม E ร่วมกับสเปนและเยอรมนี ก็น่าจะเป็นหนึ่งในความเกลียดชังระหว่างกันที่ถูกเก็บซ่อนไว้จากรอยแผลเป็นในอดีตที่ยังส่งผลมาถึงปัจจุบันนั่นเอง

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ด้วยความที่เป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง การแข่งขันกีฬาระหว่างทั้งสองชาติเกิดขึ้นระหว่างกันบ่อยมาก ทั้งในแม็ตช์กระชับมิตรและฟุตบอลชิงแชมป์ภูมิภาคอย่าง อีเอเอฟเอฟ อีสต์ เอเชียน คัพ (คล้ายๆ อาเซียน คัพในบ้านเรา) แต่ก็บ่อยครั้งที่มีการปะทะกันของแฟนบอลระดับฮาร์ดคอร์ของทั้งสองฝ่าย แต่โชคยังดีที่ไม่มีเรื่องมีราวถึงขั้นคอขาดบาดตายแบบที่เกิดขึ้นในยุโรป

ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความบาดหมางในอดีต และอาจจะรวมไปถึงการปลูกฝัง ‘ความเป็นศัตรู’ ที่ถูกสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ผ่านเรื่องเล่าและแบบเรียน แบบที่คนไทยจำนวนหนึ่งมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นอริอยู่ร่ำไป ทั้งๆ ที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นอดีตไปแล้ว

ในแง่การเมือง เกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีความพยายามหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาที่จะกลับมาปรองดองกันให้ได้ แต่สุดท้ายเหตุการณ์นั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น โดย ดร.อี ซอง ฮยอน จากองค์กรการศึกษาและวิจัยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแสวงหาสันติภาพระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก กล่าวกับสเตรต ไทม์เกี่ยวกับความความพยายามของทั้งคู่ในการใช้โอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่ผ่านมา เพื่อปรองดองกันว่า “โชคร้ายที่ทั้งโซลและโตเกียวไม่อาจใช้โอกาสในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้สร้างความปรองดองกันได้ ในทางกลับกัน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาห่างไกลกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป”

ดังนั้นเราอาจจะได้แต่หวังว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไป การรับรู้ของประชาชนก็เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่อาจทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในการชำระประวัติศาสตร์ และถึงตอนนั้นวันที่ทั้งสองชาติ ‘มูฟออน’ ออกจากอดีตได้ อาจจะเป็นจริง…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save