fbpx
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มี ‘กล้วย’?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มี ‘กล้วย’?

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกนี้ไม่มี ‘กล้วย’?

 

แค่ได้ยินคำถาม หลายคนคงทำหน้างงๆ แล้วถามกลับว่า ‘จะเป็นไปได้ยังไง’ เพราะทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดขายกล้วยกันยกเครือ หรือถ้าจะไฮโซ (แพง) ขึ้นมาหน่อย ก็แบ่งเป็นลูกแพ็คถุงพลาสติกขายให้ซื้อเป็นอาหารเช้าในร้านสะดวกซื้อ ที่สำคัญ ถ้านับปริมาณสินค้าเกษตรที่วนเวียนอยู่ในตลาดทั่วทั้งโลก กล้วยถือเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าซื้อขายเป็นอันดับหนึ่งในปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!

แต่ปัญหาที่ฝัง ‘ราก’ ลึกในอุตสาหกรรมการปลูกกล้วยบนโลกก็คือ ในตอนนี้สายพันธุ์กล้วยอย่าง Cavendish banana หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กล้วยหอม กำลังถูกกวาดล้างด้วยโรคร้ายจากเชื้อรา Fusarium oxyporum ในดินที่เข้าไปทำลายต้นกล้วยจนเฉาตายผ่านทางราก เหมือนกับที่กล้วยรุ่นพี่ Gros Michel banana หรือ กล้วยหอมทอง เคยโดนมาแล้วจากเชื้อราชนิดเดียวกันเมื่อช่วงทศวรรษ 1950s ที่ประเทศปานามา จนกลายเป็นชื่อเรียกโรคว่า Panama Disease

กว่า 99% ของกล้วยที่วางขายในสหรัฐอเมริกาในตอนนี้คือกล้วยหอม ด้วยรสชาติและความหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เปลือกหนา ระยะเวลาสุกช้ากว่ากล้วยชนิดอื่นๆ (เป็นข้อดีในการยืดเวลาขนส่งและวางขายให้นานกว่าเดิม) ทำให้เป็นที่นิยมในการบริโภคและส่งออก แต่ในระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา Panama Disease Tropical Race 4 หรือ TR4 ที่ตรวจพบครั้งแรกในไต้หวันเมื่อปี 1989 ก็แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย แอฟริกา และละตินอเมริกา

เฉพาะในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ปลูกกล้วยหอมก็ถูกเชื้อรา TR4 ทำลายไปรวมกว่า 10,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร! (ซึ่งถ้าโดนโจมตีไปแล้ว ดินตรงนั้นก็กลับมาใช้การไม่ได้อีกแล้วด้วย)

ที่เชื้อรานี้แพร่กระจายไปได้ไกล ก็เพราะมันเกาะติดไปกับดินใต้รองเท้าบู๊ทของคนงานที่ไปช่วยปลูกในแปลงใหม่ๆ นอกจากจะกระจายได้ง่าย เจ้าเชื้อราตัวร้ายนี้ยังกำจัดได้ยากอีกต่างหาก จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มียาฆ่าเชื้อราในพืชที่ทำอะไรมันได้ และความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือมันสามารถ ‘หลบ’ ตัวเองให้เกษตรกรคิดว่ากำจัดเชื้อราไปได้แล้ว แต่ในความเป็นจริงคือ มันพร้อมจะกลับมาทำลายต้นกล้วยหอมได้ตลอดเวลา

เมื่อกล้วยหอมใกล้จะหมดทางรอด ปฏิบัติการกู้ชีพกล้วยจึงเริ่มขึ้น!

 

เจมส์ เดล (ที่ไม่ได้เป็นอะไรกับบริษัท Dole ที่ขายกล้วยและผลไม้) ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพจาก Queensland University of Technology ในประเทศออสเตรเลีย คือผู้กล้าที่เห็นความสำคัญของการรักษาสายพันธุ์กล้วยหอมให้รอดพ้นจากโรคร้ายนี้ ด้วยวิธีการ ‘ตัดต่อพันธุกรรม’ จากลูกพี่ลูกน้องกล้วยของมัน

Musa acuminata คือชื่อวิทยาศาสตร์ของ กล้วยไข่ สายพันธุ์ของกล้วยอีกชนิดที่ปลูกกันแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความดีงามที่อาจกอบกู้ชีวิตญาติของมันได้ เนื่องจากกล้วยไข่สามารถเติบโตได้อย่างสบายๆ ในแปลงปลูกที่ติดเชื้อรา TR4 ไปแล้ว นั่นหมายความว่าในระดับพันธุกรรม จะต้องมียีนบางอย่างที่ทำให้กล้วยไข่ป้องกันตัวเองจากเชื้อราตัวร้ายไว้ได้

ทีมนักวิจัยของเดลใช้เวลานานหลายปีในการค้นหายีนในกล้วยไข่ที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า (ก่อนหน้าที่จะใช้กล้วยไข่ เดลเคยใช้ยีนจากพืชชนิดอื่นมาแล้วด้วยเช่นกัน) แยกมันออกมา จากนั้นใส่มันเข้าไปในเซลล์ของกล้วยหอม เพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง ก่อนจะได้ออกมาเป็นต้นอ่อนกล้วยพร้อมรากที่ยังให้ผลกล้วยรูปร่างลักษณะและรสชาติที่ไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งสามารถนำไปทดลองปลูกในดินจริงๆ ได้

การทดลองปลูกในรอบแรกเป็นไปด้วยดี หลังทดลองนำเชื้อรา TR4 ใส่เข้าไปในดินที่ปลูกกล้วยหอมตัดต่อพันธุกรรมจากกล้วยไข่ ผลปรากฏว่า 4 จาก 6 แปลงสามารถอยู่รอดได้ นำไปสู่ความคิดที่จะทดลองปลูกขนาดใหญ่ด้วยตัวอย่างหลักพันในพื้นที่ของ Humpty Doo เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย เพื่อดูว่าจะเป็นไปได้จริงแค่ไหนที่เราจะช่วยชีวิตกล้วยหอมไว้ได้ในความเป็นจริง

 

นอกจากความพยายามทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้วยการตัดต่อพันธุกรรมจากกล้วยสู่กล้วย นักพฤกษศาสตร์จากสวนพฤกษศาสตร์ Kew ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และหน่วยงานวิจัยทางการเกษตรในอีกหลายประเทศ ก็กำลังทดลองวิธีการแบบดั้งเดิม ด้วยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างกล้วยหอม และกล้วยไข่ที่ทนต่อเชื้อรา TR4

เพราะการผสมแบบธรรมชาติก็ฟังดู ‘น่าไว้ใจ’ กว่าการตัดต่อพันธุกรรมที่ผู้บริโภคหลายคนยังไม่แน่ถึงความปลอดภัย และความสามารถในการผลิตในระดับอุตสาหกรรมว่าจะเป็นไปได้มากแค่ไหน

แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีดั้งเดิม หรือจะเป็นวิธีตัดต่อยีนอย่างที่หลายคนกลัวกัน

ที่เราแน่ใจคือ หนทางในการช่วยชีวิตกล้วยให้อยู่รอด ไม่ใช่เรื่อง ‘กล้วยๆ’ เลยสักนิด!

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Bananapocalypse: The race to save the world’s most popular fruit โดย Paul Tullis จาก washingtonpost

รายงานเรื่อง Food Outlook BIANNUAL REPORT ON GLOBAL FOOD MARKETS จาก Food and Agriculture Organization of the United Nations

ข้อมูลเกี่ยวกับ Panama disease

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save