fbpx
How to nudge สะกิดอย่างไร ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมช่วงโควิด-19

How to nudge สะกิดอย่างไร ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมช่วงโควิด-19

คงไม่เกินจริงแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่า ‘วิกฤต’ เป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ (หรือถ้าพูดให้ชัดเจนคือบังคับให้) มนุษย์ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ – เช่นเดียวกัน วิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาแล้วหนึ่งปีกว่าๆ ก็บังคับให้คนต้องหันมาสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่างทางสังคม ตามวิถีชีวิตที่หลายคนเรียกว่า new normal

เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาครัฐจึงต้องออกมาตรการหลายอย่างให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งมีตั้งแต่การขอความร่วมมือไปจนถึงการบังคับด้วยกฎหมาย แต่หลายครั้งที่พฤติกรรมบางอย่างก็เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแม้จะถูกบังคับ หรือในกรณีของบางคน การบังคับก็ยิ่งทำให้เขาไม่อยากเปลี่ยนพฤติกรรมไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีผู้พูดถึง ‘nudge theory’ ทฤษฎีของ ​Richard Thaler เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2017 คำว่า ‘nudge’ หากแปลตรงตัวคือ การดุนหรือสะกิดเบาๆ ซึ่งอาจเปรียบได้กับการสะกิดให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองโดยการสร้างแรงจูงใจอย่างนุ่มนวลและแนบเนียน โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับหรือขู่เข็ญแต่อย่างใด

จุดเด่นตรงนี้ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำ nudge theory ไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างที่หลายคนคงจำได้คือ สนามบินแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์วาดภาพตัวแมลงไว้เป็น ‘จุดเล็ง’ ในโถปัสสาวะของคุณผู้ชาย เพื่อกันไม่ให้ปัสสาวะกระเด็นออกมาที่พื้นห้องน้ำ หรืออย่างเรื่องการบริจาคอวัยวะ ที่หลายๆ ประเทศใช้ระบบ opt-out คือมีตัวเลือกเริ่มต้นให้ประชากรเป็น ‘ยินยอมให้บริจาคอวัยวะ’ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเลือกออกจากระบบนี้ก่อนเสียชีวิต 

เรื่องโควิดก็เช่นกัน เมื่อหนึ่งในกุญแจสำคัญสู้โรคระบาดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ เราจึงเริ่มเห็นหลายๆ ภาคส่วนนำ nudge theory มาประยุกต์ใช้ สร้างแรงจูงใจให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างโดยที่คนๆ นั้นแทบจะไม่รู้ตัวเลยสักนิด

และแม้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ในวิกฤตเช่นนี้ หลายเรื่องเล็กๆ ก็นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นเดียวกัน

-1-

โปสเตอร์แบบไหนทำให้คนอยากล้างมือมากขึ้น

ตัวอย่างแรกคือ เรื่องของการ ‘ล้างมือ’ เราเชื่อว่าถ้าจะมีพฤติกรรมไหนของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปมากที่สุดเพราะโควิด หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นการล้างมือ ไม่ว่าจะใช้เจลแอลกอฮอล์หรือล้างด้วยสบู่ เราเริ่มเห็นทุกคนหันมาล้างมือบ่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด ตามคำแนะนำของภาคสาธารณสุขว่า การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยปกป้องตนเองและคนรอบตัวได้

ถึงการล้างมือจะเป็นอะไรที่ฟังดูง่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราหลายคนยังล้างมือกันไม่ถูกวิธีอยู่ดี ทั้งด้วยความไม่รู้ว่าต้องล้างมืออย่างไรจึงจะสะอาดจริงๆ การขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการล้างมือด้วยน้ำเปล่า สบู่ หรือถ้าเจาะจงไปในแง่ของการป้องกันโควิด หลายคนมองว่าการใส่หน้ากากอนามัยเป็นความสำคัญลำดับแรก ทำให้ละเลยวิธีอื่นที่มีประสิทธิภาพอย่างการล้างมือไป เพราะไม่มีใครมานั่งดูหรอกว่าคุณล้างมือหรือไม่ แต่ถ้าคุณไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่ชุมชนเมื่อไหร่ รับรองได้ว่าทุกสายตาจะมองมาที่คุณแน่นอน (แถมตอนนี้ยังต้องจ่ายค่าปรับด้วย)

เมื่อการล้างมือกลายเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงเห็นโปสเตอร์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการล้างมือผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่คำถามสำคัญคือ โปสเตอร์แนะนำแบบไหนกันล่ะที่จะทำให้คนหันมาล้างมืออย่างถูกวิธีมากขึ้น

เพื่อหาคำตอบของคำถามดังกล่าว สหราชอาณาจักรได้ทำการทดลองออนไลน์หนึ่งในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ใหญ่เข้าร่วมการทดลองนี้จำนวน 2,600 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้ดูโปสเตอร์เกี่ยวกับการล้างมือ 7 แบบ คือ โปสเตอร์จากสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อิตาลี เกาหลีใต้ สเปน ไต้หวัน และขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งทั้งหมดล้วนแสดงวิธีการล้างมือแบบเป็นขั้นตอน แต่กลุ่มนักวิจัยได้นำสัญลักษณ์ที่มาของแต่ละโปสเตอร์ออกไป และแปลภาษาต่างประเทศทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ

ผลการวิจัยพบว่า โปสเตอร์ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองชอบมากที่สุด ทำให้คนจำขั้นตอนการล้างมือได้มากที่สุด และอยากล้างมือบ่อยที่สุดคือ โปสเตอร์จากไต้หวัน สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งหมดล้วน “ใช้อินโฟกราฟิกที่ดูสว่างตา (bright) สอนการล้างมือเป็นขั้นเป็นตอน และไม่ได้มีข้อความประกอบเยอะนัก”

ขณะที่ในประเทศไทย เราเห็นโปสเตอร์หรืออินโฟกราฟิกที่รณรงค์เรื่องการล้างมือ หรือให้ความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับโควิดบ่อยๆ อยู่แล้ว ผลการทดลองข้างต้นจึงน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มากทีเดียว

-2-

‘อัตราการเสียชีวิต vs อัตราการรอดชีวิต’ 
อะไรทำให้คนระมัดระวังตัวมากกว่ากัน

“กล้าได้ กล้าเสีย” “อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ” และประโยคปลุกใจอีกมากมายที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ถ้าคุณอยากได้อะไร คุณต้องยอมเสี่ยง เสี่ยงเท่านั้นถึงจะได้ผลตอบแทนที่เยอะตาม!

แต่ในชีวิตจริง คำพูดพวกนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะถ้าเราดูตามหลักการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย (loss aversion) แล้ว อันที่จริงคนเราพยายามจะเลี่ยงการสูญเสียมากกว่าจะพยายามเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเยอะๆ ยิ่งถ้าเรามีโอกาสที่จะ ‘ได้’ (gain) กับโอกาสที่จะ ‘เสีย’ (loss) เท่ากัน คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะได้มากกว่าจะยอมเสี่ยงแล้วดันเสียโอกาสไป

งานวิจัยหนึ่งจาก King’s College London จึงได้หยิบเอาประเด็นนี้มาใช้ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในช่วงโควิด กล่าวคือ นักวิจัยกลุ่มนี้คาดการณ์ว่า คนน่าจะให้ค่ากับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นมากกว่า ดังนั้น การเน้นพูดถึง ‘อัตราการเสียชีวิต’ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากโควิดโดยที่ไม่ได้พูดถึงการขยายการล็อกดาวน์ที่มีการจัดการที่ดี น่าจะทำให้คนเกิดความระมัดระวังมากกว่าการเน้นเรื่อง ‘อัตราการรอดชีวิต’ ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการขยายล็อกดาวน์

มีผู้เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้จำนวน 500 คน ซึ่งแต่ละคนจะถูกสุ่มให้อ่านข้อความใดข้อความหนึ่งข้างต้น ซึ่งเป็นข้อความที่มาจากโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล จากนั้น พวกเขาจะถูกถามความรู้สึกว่า ควรจะล็อกดาวน์โรงเรียน ที่ทำงาน และธุรกิจประเภทต่างๆ นานเท่าไหร่ และถามถึงความตั้งใจว่าพวกเขายินดีจะปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพของรัฐบาล เช่น ล้างมือบ่อยๆ นานๆ และรักษาระยะห่างทางสังคม หรือไม่

ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างจะต่างจากที่นักวิจัยคาดการณ์เอาไว้ เพราะผลปรากฏว่า อัตราการเสียชีวิตไม่ได้ทำให้คนมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการเลิกล็อกดาวน์มากขึ้น หรือทำให้พวกเขาอยากจะปฏิบัติตามคำแนะนำทางด้านสาธารณสุขมากขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักวิจัยจึงเสนอว่า บางทีผู้เข้าร่วมการทดลองอาจจะคุ้นเคยกับการคาดการณ์การเสียชีวิตจากโควิด-19 แล้ว ไม่ว่าจะพูดถึงมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่ก็ตาม หรืออาจเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งว่า ณ ช่วงเวลาที่ทำการทดลองนี้ (พฤษภาคม 2020) มีผู้เสียชีวิตในสหราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็กลายเป็นการเลือกทางที่สูญเสียอย่างใหญ่หลวง มากกว่าจะเป็นการเลือกที่ได้หรือเสีย

แม้การทดลองดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อราวหนึ่งปีที่แล้ว และสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรก็ดีขึ้นมากนับจากช่วงเวลาที่ทำการทดลองนี้ แต่ข้อมูลข้างต้นก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงที่เราต้องเผชิญตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพัน และอัตราผู้เสียชีวิตในทุกวันเช่นนี้

-3-

สะกิด (nudge) อย่างไรให้คนอยากไปฉีดวัคซีน

หนึ่งในประเด็นที่สังคมกำลังพูดถึงอย่างมากตอนนี้คือเรื่อง ‘วัคซีน’ เพราะอย่างที่เรารู้กันดี วัคซีนถูกคาดหวังว่าจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และทำให้โลกค่อยๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด หลายประเทศที่ทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้จำนวนมากพอสมควรเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น สหรัฐฯ อนุญาตให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ส่วนฝั่งสหราชอาณาจักรก็ประกาศคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ในกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังพบว่าวัคซีนช่วยลดการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้

กลับมาที่ประเทศไทย นอกจากเราจะเริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ตอนนี้ไทยได้เริ่มเปิดให้ประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังเริ่มต้นจองฉีดวัคซีน ซึ่งมีประชาชนที่เข้าเกณฑ์จองรับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่เริ่มไม่มั่นใจและไม่กล้าฉีดวัคซีน ทำให้เราเห็นแพทย์หลายท่านออกมาให้ข้อมูล รวมถึงขอให้ประชาชนยอมรับการฉีดวัคซีนด้วย 

ความลังเลและปฏิเสธการรับวัคซีน  (vaccine hesitancy) ไม่ใช่ประเด็นที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หรือเกิดขึ้นในช่วงโควิดแพร่ระบาดเท่านั้น เพราะจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี 2019 ความลังเลและปฏิเสธการรับวัคซีนถือเป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามใหญ่ของระบบสุขภาพระดับโลก และแม้ผลสำรวจของ World Economic Forum และ Ipsos Survey เมื่อปลายปีที่ผ่านมาพบว่า หลายๆ ประเทศยินดีที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก ประชากรโลกทั้งหมดจำเป็นจะต้องได้รับการป้องกันไวรัส เพื่อไม่ให้โควิดแพร่ระบาดข้ามพรมแดน ทุกๆ ประเทศจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 

อีกประเด็นน่าสนใจที่มาพร้อมกับเรื่องการฉีดวัคซีนคือ เมื่อมีคนยินดีจะรับวัคซีน ก็มีแนวโน้มที่จะเกิด ‘free rider’ (ผู้ที่ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงเอง) ขึ้นเช่นกัน หากพูดในแง่ของโควิด เราคงเคยได้ยินว่าถ้าคนฉีดวัคซีนถึงจำนวนหนึ่งแล้วจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนได้ สถานการณ์เช่นนี้อาจจะทำให้แรงจูงใจในการฉีดวัคซีนลดลง คนจำนวนหนึ่งอาจจะเริ่มไม่อยากฉีดหรือสงสัยในวัคซีน ทั้งด้วยข้อมูลที่ออกมาหรือประสบการณ์ส่วนตัว และยิ่งเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดใหม่เช่นนี้ ก็อาจจะมีการปล่อยข้อมูลเท็จออกมาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูในหน้าประวัติศาสตร์ ความลังเลที่จะฉีดวัคซีนเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ขัดขวางความพยายามในการควบคุมโรคด้วย เช่น ช่วงต้นทศวรรษ 2000 คนอินเดียได้รับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดกิน (oral polio vaccine) ในอัตราที่ต่ำ ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน หรือตอนที่คองโกต้องเผชิญกับการระบาดของโรคอีโบลา ปรากฎว่าประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในสถาบันจนทำให้ภาครัฐต้องเจอกับอุปสรรคครั้งใหญ่ในการฉีดวัคซีน

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนยอมรับการฉีดวัคซีนอย่างไร?

หนึ่งในแนวคิดที่ถูกนำมาปรับใช้เพื่อให้คนยอมรับการฉีดวัคซีนมากขึ้นก็คือ ‘แนวคิด nudge’ นั่นเอง ซึ่งทำออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย และขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศด้วย

ตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีน เช่น ในฝรั่งเศส เด็กทุกคนที่จะเข้าโรงเรียนต้องแสดงเอกสารการฉีดวัคซีน (immunisaton card) ก่อน หรือในออสเตรเลีย ก็มีการใช้แรงจูงใจทางการเงินเพื่อกระตุ้นอัตราการฉีดวัคซีนให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่อินเดียใช้แรงจูงใจเล็กน้อยอย่างการให้ถั่วเลนทิล (Lentil) หนึ่งกิโลกรัมทุกๆ ครั้งที่ได้รับวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้แต่ละครอบครัวอยากมาฉีดวัคซีนจนครบจำนวนโดส

ทั้งนี้ การ nudge ยังรวมไปถึงการตั้งแคมป์ฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ถือเป็นการจูงใจให้กลุ่มแรงงานนอกระบบอยากเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ในกรณีที่พวกเขากลัวว่าจะต้องสูญเสียรายได้รายวันด้วย

วิธีการข้างต้นถือว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อในหลายๆ ประเทศยังต้องเจอปัญหาคนไม่อยากฉีดหรือสงสัยในวัคซีนโควิด การสะกิดเบาๆ รวมถึงสร้างแรงจูงใจเล็กน้อยก็อาจจะช่วยให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็จำเป็นจะต้องสื่อสารกับประชาชน รวมถึงมีการทำงานเพื่อจัดการกับข้อมูลเท็จอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องยังควรออกแบบแผนปฏิบัติที่ระบุว่า ใครบ้างที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และจะมีกลยุทธ์การสื่อสารกับคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เพราะอย่าลืมว่ามีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่างการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน และการบังคับให้คนไปฉีดวัคซีน 

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ก็อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใดคนจำนวนหนึ่งจึงเลือกปฏิเสธวัคซีน ดังนั้น ถ้าวัคซีนเป็นแสงแห่งความหวังที่จะช่วยสู้กับสงครามเชื้อโรค และเป้าหมายของภาครัฐคือการให้คนได้รับวัคซีนเยอะที่สุดแล้ว สิ่งที่ควรทำจึงอาจจะเป็นการที่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาสื่อสารให้ชัดเจน ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้เกิดขึ้นด้วย

เพราะไม่ว่าจะสะกิดแรงแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นเป็นฐานอยู่ก่อนแล้ว จากแสงแห่งความหวังก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save