fbpx
จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องเริ่มที่ความไม่เท่าเทียมในสังคม

จะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องเริ่มที่ความไม่เท่าเทียมในสังคม

หลายปีก่อน เคยมีนิตยสารเล่มหนึ่งทำสกู๊ปพิเศษ โดยให้คนเขียนสกู๊ปทดลองแต่งตัวธรรมดาๆ ใส่เสื้อยืดกางเกงยีน ไม่มีเครื่องประดับร่างกายใดๆ แล้วไปเดินห้างหรู ทำทีเข้าไปเลือกซื้อของในร้านแบรนด์เนมโน้นนั้นนี้

 

ปรากฏว่า เธอถูกมองด้วยสายตาหยามเหยียด เวลาหยิบสินค้าแบรนด์เนมขึ้นมาดู พนักงานขายบางคนก็ถึงกับปรี่เข้ามาหยิบไปวางเข้าที่ บางร้านก็ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยจับตาดูเธออย่างใกล้ชิด

วันรุ่งขึ้น คนเขียนสกู๊ปคนเดิมเปลี่ยนการแต่งตัวใหม่ คราวนี้ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม ถือกระเป๋าแบรนด์เนม ทำผมสวยเก๋เรียบหรู แล้วไปเดินห้างหรูเดิม เข้าร้านเดิมที่เพิ่งเข้าเมื่อวาน ปรากฏว่าเธอได้รับการต้อนรับอย่างดี แตกต่างจากการต้อนรับเมื่อวานนี้อย่างมีนัยสำคัญ

คุณคิดว่าการ ‘ทดลอง’ นี้ แสดงให้เห็นถึงอะไร?

เป็นไปได้ไหมว่า ในสังคมไทย เรามักจะมอง ‘คนจน’ ด้วยสายตาไม่ค่อยไว้วางใจเท่ามอง ‘คนรวย’ ยิ่งใครแต่งตัวมอซอสกปรกเดินเข้ามาหา เราก็มักจะต้องระวังตัวเอาไว้ก่อน แต่ถ้าใครแต่งตัวดี มีรถหรูขับ ถือกระเป๋าแบรนด์เนม หรือใส่นาฬิการาคาแพง (ซึ่งไม่รู้ว่าปลอมหรือเปล่า!) หลายคนเลือกที่จะไว้วางใจเอาไว้ก่อน

สังคมแบบที่เหยียดคนจนยกย่องคนรวยแบบนี้ ย่อมเป็นสังคมที่เรียกได้ว่ามี ‘ชนชั้น’ คือมีโครงสร้างสังคมในแบบที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งหลายคนก็ยักไหล่-บอกว่าไม่เท่าเทียมกันแล้วยังไงล่ะ ก็มันเป็นแบบนี้ของมันมาตั้งนานแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ยังไง

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในระยะหลัง มีงานวิจัยเยอะมากที่ออกมาบอกว่า คอร์รัปชันและความไม่เท่าเทียม (Inequality) นั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล แต่สองสิ่งนี้ก็ส่งผลซึ่งกันและกัน

เคยมีการสำรวจในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ (ซึ่งมีทั้งประเทศที่ยากจนและร่ำรวย) 30 ประเทศ ในเรื่องความเท่าเทียมและคอร์รัปชัน โดยใช้เวลายาวนาน คือระหว่างปี 1995-2008 พบข้อสรุปสองอย่าง คือคนจนในสังคมมักจะเป็นคนที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการคอร์รัปชันมากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์จากการคอร์รัปชัน ไม่ได้ตกอยู่ในมือของคนจนหรือคนชั้นล่างหรอก แต่มันถูก ‘ส่งต่อ’ ผ่านสายสัมพันธ์หรือ ‘เส้นสาย’ ขึ้นไปถึงคนระดับสูงๆ ในสังคม ซึ่งก็คือคนรวย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องบอกกันไว้ก่อนว่า งานวิจัยนี้ไม่ได้สรุปว่าคนรวยจะต้องคอร์รัปชันแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันและความไม่เท่าเทียมกันแล้ว มันให้ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่เท่าเทียม ยังส่งผลให้คนจนยิ่งจนลง และคนรวยยิ่งรวยขึ้น นั่นคือทำให้เกิดช่องว่างในสังคมมากขึ้นไปอีก เขาบอกว่าที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนรวยจะมีแรงจูงใจและ ‘โอกาส’ ที่จะคอร์รัปชันมากกว่า ในขณะที่คนจนจะถูกสอดส่องจับตามองมากกว่า แบบเดียวกับในสกู๊ปพิเศษของนิตยสารที่ว่ามาข้างต้น คือการแต่งตัวแบบจนๆ จะถูกสอดส่องมากกว่าเพราะไม่ได้รับความไว้ใจ

คอร์รัปชันกับความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน จึงเป็นเหมือนเชื้อเพลิงขับเคลื่อนวงจรอุบาทว์ สองเรื่องนี้จึงไป ‘เสริมพลัง’ ซึ่งกันอยู่ตลอดเวลา

เพราะการคอร์รัปชันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และความไม่เท่าเทียมก็ไปอำนวยความสะดวกให้เกิดการคอร์รัปชันได้มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดๆ ก็เช่นในไนจีเรีย ซึ่งในยุคแปดศูนย์เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจแพร่ลาม ผลปรากฏว่าไนจีเรียมีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีความไม่เท่าเทียมน้อยที่สุดในโลก-มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลก

แม้ยังไม่มีงานวิจัยไหนมายืนยันได้อย่างชัดเจนเด็ดขาด ว่าคอร์รัปชันเป็นต้นเหตุของความไม่เท่าเทียม หรือความไม่เท่าเทียมเป็นต้นเหตุของคอร์รัปชัน ทว่าคนจำนวนมากก็มีความเห็นแทบจะเป็นเอกฉันท์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ ทั้งในระดับโลกและในประเทศต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ในระดับโลก จึงเห็นพ้องต้องกันอยู่อย่างหนึ่งว่า การต่อสู้กับคอร์รัปชันที่สำคัญที่สุด ก็คือต้องสร้าง ‘ความเท่าเทียม’ ให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ว่าสังคมที่ปากบอกว่าอยากแก้คอร์รัปชัน แต่ไม่ได้เริ่มต้นที่การสร้างความเท่าเทียม ยังปล่อยให้สังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ นั้น ล้วนเป็นสังคมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้จริง

สำหรับสังคมไทย เราอาจต้องย้อนกลับมา ‘คิด’ กันจริงๆ จังๆ เสียที ว่าถ้าเราอยากแก้ปัญหาคอร์รัปชันกันให้ได้จริงๆ เราควรต้องเริ่มจากเรื่องไหนกันแน่

 

อ่านเพิ่มเติม

-The Culture of Inequality and Corruption: A Cross-National Study of Corruption โดย Susanne Karstedt

-Inequality causes Corruption…or is it the other way around? โดย awynne ใน School of Business Blog: Distinctive and Relevant มหาวิทยาลัย Leicester 

-Inequality and corruption โดย Bo Rothstein 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save