fbpx
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 : ฝ่าวิกฤตฝุ่นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ PM 2.5 : ฝ่าวิกฤตฝุ่นด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นที่รู้จักของสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงโทษและอันตรายของเจ้าฝุ่นนี้ต่อสุขภาพมากขึ้น ปีนี้เราเห็นว่าเจ้าฝุ่นเริ่มกลับมาอีกแล้ว และคาดกันได้ว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายปี ต้นปีหน้า และปีต่อๆ ไป ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง

ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ในประเด็นเศรษฐศาสตร์แล้ว ลองอ่านกันได้ครับ

แม้ปัญหานี้อาจอยู่คู่กับเรามานานแล้ว แต่ความตระหนักรู้ในช่วงหลังๆ ทำให้เราทราบถึงสาเหตุ โทษ และมีความระมัดระวังกับปัญหานี้มากขึ้น และมีข้อมูลให้เราติดตามปัญหานี้กันมากขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าหลายครั้งบทบาทของรัฐจะออกไปในทางปฏิเสธปัญหา (เช่น ออกมายืนยันว่าปัญหายังไม่วิกฤต) จนคนเริ่มระแวงว่าควรฟังข้อมูลจากรัฐดีหรือไม่ และไปติดตามข้อมูลจากแหล่งเอกชนที่เร็วกว่าและน่าเชื่อถือมากกว่า

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเราจะยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหานี้แบบยั่งยืน นอกจากไอเดียการสร้างหอกรองฝุ่น ซึ่งคงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศแบบเปิดได้มากนัก เพราะทันทีที่เรากรองฝุ่นเสร็จ ฝุ่นในมวลอากาศปริมาณมหาศาลจะพัดเข้ามาแทนที่แทบจะทันที ไม่ต่างจากการเปิดแอร์ในสนามฟุตบอลขนาดใหญ่

ขอลองชวนคุยกันหน่อยครับว่า ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนทั่วไปควรมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด ในขณะที่คนที่ก่อมลพิษก็เชื่อว่าตนเองมีสิทธิในการใช้อากาศเป็นที่ปล่อยมลพิษ และเราอาจไม่สามารถห้ามการปล่อยมลพิษโดยสิ้นเชิงได้ เพราะมันคงมีต้นทุนต่อสังคมที่แพงเกินไป (เราคงไปห้ามรถยนต์วิ่ง ห้ามเกษตรกรเผาเศษพืช ห้ามไฟป่า ห้ามโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษโดยเด็ดขาดไม่ได้) คำถามคือ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เราทำอะไรกับมันได้บ้าง และจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไรดี

ผมขอแบ่งเป็นออกเป็นสามประเด็นครับ คือสาเหตุ ความสำคัญของปัจจัยสภาพอากาศ และแนวทางการแก้ไข

 

สาเหตุของฝุ่น

 

มีการศึกษาจำนวนมากที่วิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ทำโดยกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานอื่นๆ แต่พอจะสรุปได้ว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีที่มาสามแหล่งใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การเผาชีวภาพในที่โล่ง เช่นการเผาป่า เผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว เผาซังข้าว และการเผาอื่นๆ

สอง คือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุก โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล

และสาม คือการเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน

เพราะฝุ่นสามารถพัดกระจายไปได้ในระยะทางไกลๆ ในบางครั้งต้นเหตุของปัญหาก็มาจากแหล่งอื่น หรือแม้กระทั่งข้ามพรมแดน เช่นไฟป่า หรือการเผาทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การแก้ปัญหามีความละเอียดอ่อนและยากขึ้น

ในแต่ละช่วงเวลาของปี ความสำคัญของแหล่งที่มาของฝุ่นอาจต่างกันไป เช่น ในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย ฝุ่นอาจมาจากการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวมากกว่าแหล่งอื่นๆ ในขณะที่ฝุ่นจากรถยนต์และการขนส่งเกิดขึ้นสม่ำเสมอตลอดทั้งปี แต่สังเกตว่าปัญหาฝุ่นไม่ได้เป็นปัญหามากนักในช่วงส่วนใหญ่ของปี แปลว่าต้องมีเงื่อนไขอื่นที่ทำให้มันกลายเป็นปัญหา

 

สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ

 

หลายคนอาจบอกว่า ไฟป่า และการเผาทางการเกษตรเกิดขึ้นกันมาเป็นร้อยปีแล้ว และมีการเผากันอยู่แล้วทั้งปี แต่ไม่เคยเป็นปัญหา ทำไมจึงเป็นปัญหาขึ้นมาในช่วงหลังนี้ และเป็นปัญหาใหญ่แค่บางช่วงเวลาของปี

ขณะเดียวกัน เราจะสังเกตได้ว่าในช่วงฤดูฝน ฝุ่นมักจะไม่ค่อยเป็นปัญหาใหญ่ แม้จะมีการเผา การปล่อยมลพิษจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมกันเป็นปกติ นั่นเป็นเพราะมีฝนมาช่วยลดปริมาณฝุ่น และเป็นช่วงที่มีลมพัดเข้าออกอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลค่าเฉลี่ยรายวันของระดับฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ ในแต่ละเดือน (ข้อมูลปี 2016-2019) | ที่มา ผู้เขียน, ข้อมูลจาก Berkeley Earth (http://berkeleyearth.lbl.gov/air-quality/local/Thailand/Bangkok/Bangkok)

 

ในทางกลับกัน ปัญหาฝุ่นมักจะรุนแรงมากขึ้นในฤดูหนาว ในช่วงที่มีความกดดันอากาศสูง อากาศนิ่ง และสภาพภูมิประเทศภาคกลางที่เหมือนกับแอ่งกะทะ ทำให้ฝุ่นวนค้างอยู่ในพื้นที่ไม่ไปไหน ที่สำคัญคือฝุ่นมักหนาแน่นขึ้นในช่วงเย็นและค่ำ โดยน่าจะเป็นผลมาจากการสะสมฝุ่นที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน จนมีความหนาแน่นขึ้นเมื่ออากาศเย็นลง ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในช่วงเช้า นั่นแปลว่า สภาพอากาศเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ปัญหาฝุ่นทวีความรุนแรงขึ้น

 

ค่าเฉลี่ยของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพ ในแต่ละชั่วโมงและเดือน (ข้อมูลปี 2016-19) | ที่มา ผู้เขียน, ข้อมูลจาก Berkeley Earth (http://berkeleyearth.lbl.gov/air-quality/local/Thailand/Bangkok/Bangkok)

 

ด้วยวิวัฒนาการด้านการพยากรณ์อากาศ เราน่าจะพอทราบกันดีแล้วว่าสภาพอากาศแบบใดจะทำให้เรื่องฝุ่นกลายมาเป็นปัญหา และน่าจะพยากรณ์ได้ด้วยความแม่นยำว่าสภาพอากาศช่วงใดที่เอื้อให้ปัญหาฝุ่นกลายเป็นภาวะวิกฤต และเราน่าจะพอมีข้อมูลเพียงพอว่าช่วงใดฝุ่นที่มีที่มาจากต่างประเทศจะกลายเป็นฝุ่นส่วนใหญ่ของเรา

 

แล้วเราควรจะแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างไรดี

 

ผมคิดว่าคงไม่มีทางที่จะกำจัดต้นเหตุของฝุ่นได้ทั้งหมด ตราบเท่าที่เรายังมีความจำเป็นต้องเผา ต้องขับรถ ต้องมีโรงงานที่ปล่อยควันและฝุ่นละอองออกมา หรือถ้าทำได้ ต้นทุนในการกำจัดฝุ่นให้หมดไปก็คงสูงมาก แต่ผมคิดว่าทางที่เป็นไปได้ คือการลดปริมาณฝุ่นให้ได้มากที่สุด หาวิธีประสานงานและ ‘บริหารจัดการต้นเหตุของฝุ่น’ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้สภาพอากาศแย่ลง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ‘ต้นทุนส่วนเพิ่มทางสังคม’ หรือ marginal social cost ของการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น จะสูงขึ้นมาก เทียบกับช่วงเวลาที่สภาพอากาศเปิด เราจึงต้องพยายามหาทางร่วมมือ หรือแม้แต่ห้ามทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในช่วงนั้น (หรือถ้าห้ามไม่ได้ ก็ต้องปรับให้หนัก จนมีแรงจูงใจให้น้อยลง)

ผมคิดว่า เราต้องการการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ในสามเรื่องใหญ่ๆ คือ

หนึ่ง ก่อนจะดำเนินการแก้ปัญหา เราควรต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่มีการเผาชีวภาพ ที่ดูเหมือนเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของปัญหาฝุ่นในบ้านเรา เช่น เหตุใดจึงต้องเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว (ค่าแรงในการเก็บเกี่ยวอ้อยเผา ถูกกว่าการเก็บเกี่ยวอ้อยยังไม่เผา) เราจะสร้างโครงสร้างแรงจูงใจอย่างไรเพื่อลดการเผา (ราคาอ้อยที่เผาแล้ว ควรถูกทำโทษมากขึ้น เพื่อลดแรงจูงใจในการเผา?) และสนับสนุนทางเลือกที่ไม่ต้องเผา (ใช้รถเก็บเกี่ยวแทนการเผาและใช้แรงงานคน ซึ่งต้องมีการวางแผน และปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก)

ปัจจัยที่ว่ามา อาจทำให้รัฐใช้เงินภาษีเข้าไปอุดหนุนให้มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเพื่อลดการเผา เพราะต้นทุนในการอุดหนุนเพื่อลดปัญหาฝุ่น อาจจะน้อยกว่าต้นทุนทางสุขภาพ หรือต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องไปซื้อเครื่องกกรองอากาศหรือหน้ากากกันฝุ่นเป็นไหนๆ

แล้วถ้าปัญหาคือการเผาป่า ทำอย่างไรจึงจะลดแรงจูงใจในการเผาป่า สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนในพื้นที่ ถึงโทษของการเผาป่า และมีการกำหนดโทษและบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม และเมื่อมีไฟป่าเกิดขึ้น จะทำอย่างไรที่จะดับไฟป่าให้เร็วที่สุด (เอางบซื้อรถถังรถเกราะไปซื้อเครื่องบินดับไฟป่าดีกว่าไหม?)

หรือเราควรจัดการกับส่วนเหลือจากการเกษตร เช่น ซังข้าว เศษวัชพืช อย่างไร โดยไม่ต้องเผาหรือให้การเผาให้น้อยที่สุด

สอง เราควรมีการบังคับใช้ระเบียบและกฎหมาย เรื่องมาตรฐานการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองอย่างเข้มงวด กับรถยนต์ (เช่นการตรวจประจำปี) และโรงงานอุตสาหกรรม (ที่ควรมีการตรวจระดับมลพิษอย่างสม่ำเสมอ) เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เกิดในเมืองให้เหลือน้อยที่สุด

และ สาม ถ้าเราไม่สามารถกำจัดการเผา และการปล่อยฝุ่นละอองไปได้ทั้งหมด (เช่น เราห้ามเกษตรไม่ให้เผาเลยไม่ได้ เพราะต้นทุนเขาจะแพงเกินไป และเราห้ามโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ไม่ให้ปล่อยมลพิษโดยเด็ดขาดไม่ได้) เราควรต้องการบริหารจัดการการเผา และต้นเหตุฝุ่นอย่างมีเหตุมีผล และเข้มงวด เช่น ถ้าเรารู้หรือสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่า สภาพอากาศในอีกหนึ่งหรือสองวันข้างหน้าจะนิ่ง และจะทำให้ฝุ่นค้างอยู่ในพื้นที่นานกว่าปกติ การปล่อยมลพิษในเวลานั้นจะมีต้นทุนส่วนเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นมาก ในแต่ละพื้นที่ต้องสามารถสั่งห้ามไม่ให้มีการเผาในพื้นที่โดยเด็ดขาด หรือสั่งห้ามรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้าพื้นที่ในบ้างช่วงเวลา ถ้าใครฝ่าฝืน ต้องมีการลงโทษปรับอย่างหนัก

แต่ถ้าเรารู้ว่า ช่วงเวลาถัดจากนี้ลมจะพัดดี หรือคาดว่าฝนจะตกในพื้นที่ การเผาเพื่อกำจัดเศษวัชพืชคงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหามากนัก เราอาจบริหารจัดการให้มีการเผาอย่างเหมาะสม (เช่น สลับพื้นที่กันเผา) เพื่อไม่ให้สร้างปัญหามากจนเกินไป ดีกว่าปล่อยให้มีการเผาอย่างไม่บริหารจัดการ จนเกินความสามารถของพื้นที่ในการรับฝุ่น

ทั้งนี้ เราอาจต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจถึงต้นเหตุ สภาพปัญหา และความตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่ทำกันง่ายๆ เช่น การเผาในที่โล่ง ก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมได้มากขนาดไหน โดยเฉพาะในวันที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

เราอาจต้องสร้างระบบเตือนภัยทางอากาศ เช่น ใช้สีเขียวแทนสภาพปกติ การเผาที่จำเป็นสามารถทำได้ สีเหลืองคือเริ่มอันตราย ควรขอความร่วมมือในการลดการเผาลง และสีแดง คือห้ามเผาในที่โล่งในพื้นที่ใกล้เคียงโดยเด็ดขาด หรือห้ามรถเข้าในพื้นที่

ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถตรวจจับพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ได้เกือบจะในทันที เพื่อทำการบริหารจัดการ และดับไฟถ้าจำเป็น ใครสนใจลองไปเวบไซต์ของ NASA ได้ครับ

 

แผนที่แสดงให้เห็นจุดที่มีไฟไหม้ ระหว่างวันที่ 1-7ธันวาคม 2561 | ที่มา https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov/map/#z:5;c:108.2,13.8;

 

การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้ของปัญหา ทั้งเรื่องต้นเหตุและปัจจัยสนับสนุน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ และมีความสามารถในการบริหารจัดการต้นเหตุของปัญหา การประสานงานในการประชาสัมพันธ์ และจัดลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสม

อีกปัญหาที่อาจแก้ได้ยาก คือต้นเหตุฝุ่นที่มาจากต่างประเทศ เช่น ไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซีย ที่ส่งผลถึงอากาศในสิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย ฝุ่นจากการเผาในพม่าและกัมพูชาที่ทำให้พื้นที่บางส่วนของไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุม ดูแล สร้างแรงจูงใจในการห้ามและงดการเผา รวมถึงการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ

แต่ก็คงไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าเรายังไม่สามารถหาระบบในการบริหารจัดการต้นเหตุของฝุ่นในบ้านเราได้อย่างเป็นรูปธรรม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save