fbpx
5 วิธีใช้ชีวิตแบบผู้นำเผด็จการที่คุณเองก็ลองทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน!

5 วิธีใช้ชีวิตแบบผู้นำเผด็จการที่คุณเองก็ลองทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน!

เป็นเผด็จการมันเหนื่อย

 

ประโยคนี้ไม่ได้มีงานวิจัยจากสำนักไหนมารองรับ แต่เราคาดเอาเองจากภาระอันหนักอึ้งบนบ่าที่เหล่าผู้นำทั้งหลายต้องแบกเอาไว้ ทั้งการนำพาชาติให้พ้นภัย ต้องตัดสินใจในทุกเรื่องของประเทศ อย่างที่เราเห็นคนที่เราคุ้นเคยทุกค่ำวันศุกร์ออกมาบ่นน้อยใจอยู่บ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์

แต่ถ้าลองมองจากประวัติศาสตร์ของผู้นำเผด็จการโลก, Fred Coolige ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Colorado บอกไว้ว่าลักษณะนิสัยแบบ ‘ทำอะไรก็ได้โตแล้ว’ ของเหล่าท่านผู้นำส่วนใหญ่แล้วมีที่มาจากลักษณะนิสัยหลงตัวเอง ขี้ระแวง และแอบเป็นคนซาดิสม์หน่อยๆ ซึ่งพออยู่ในสภาพสังคมรอบตัวที่ส่งเสริมการก้าวสู่อำนาจ อะไรๆ ก็ดูจะควบคุมได้ไปซะหมด

หรือที่จริงแล้ว ความเหนื่อยของเหล่าผู้นำอาจเริ่มมาจากลักษณะนิสัยแบบที่ว่า…

ไม่ลองไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น – หากช่วงนี้กำลังว่างอยู่และอยากลองเปลี่ยนรสชาติชีวิต เราขอแนะนำไกด์บุ๊กทดลองใช้ชีวิตแบบเหล่าเผด็จการให้ลองทำตามดูแบบ based on true story เพื่อทดสอบว่าถ้าได้ใช้ชีวิตแบบคุณๆ ท่านๆ ผู้นำทั้งหลาย มันจะเหนื่อยจริงอย่างที่เราว่าไหม

และถ้ากำลังมีคำถามในใจว่าจะทำไปทำไม… ปัดโธ่! ก็บอกให้ลองดูก่อนไง! *ตบโพเดี้ยม*

 

เป็นคนช่างเลือก

ก้าวแรกของการทดลองเป็นสมาชิกสมาคมเผด็จการ เริ่มได้ง่ายๆ ที่การเป็นคนช่างเลือก

พอขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่กุมอำนาจสูงสุดในมือ อาการขี้ระแวงที่แฝงอยู่ในตัวของผู้นำส่วนใหญ่ก็ยิ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่ความระแวดระวังมากเกินพอดีนี่ล่ะที่ทำให้พวกเขาอยู่ในอำนาจได้อย่างยาวนาน เพราะยิ่งตื่นตัวกับคนที่จะมาเลื่อยขาเก้าอี้ (มีจริงรึเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง) เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรักษาตัวให้อยู่ในอำนาจได้นานเท่านั้น

หนึ่งในนั้นคือความช่างเลือกในเรื่อง ‘อาหารการกิน’

ท่านผู้นำหลายต่อหลายคนมีอาการพารานอยด์กลัวว่าจะโดนวางยาในอาหารที่ตัวเองทาน เลยต้องเลือกสรรกันอย่างละเอียดด้วยวิธีการแปลกๆ ก่อนท้องจะได้อิ่ม ดูอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการที่ไม่มีใครไม่รู้จักที่มีทีมงานคุณภาพถึง 15 คนที่จะชิมอาหารของเขาเป็นเวลา 45 นาที ถ้าไม่ตายเสียก่อน ฮิตเลอร์ก็จะได้ทานจานนั้นอย่างสบายใจ หรือทุกครั้งที่ นิโคไล เชาเซสกู ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อดีตประธานาธิบดีของโรมาเนีย (สมัยที่ยังเป็นสาธารณะรัฐสังคมนิยม) มีทริปไปเยือนต่างประเทศ เขาจะพกนักวิศวกรเคมีที่มาพร้อมอุปกรณ์ตรวจอาหารครบมือไปด้วยทุกครั้ง เพื่อเช็คให้ชัวร์ก่อนชิม

ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรักผู้ล่วงลับก็ไม่น้อยหน้า ทุกครั้งที่ถึงเวลาทานข้าว พ่อครัวแม่ครัวในบ้านพักทุกแห่งของเขา (ว่ากันว่ามีถึง 50 แห่ง) จะต้องเตรียมอาหารทั้งสามมื้อของซัดดัมในเวลาเดียวกัน และทุกจานที่กินจะถูกตรวจสอบโดยนักรังสีวิทยาเพื่อหาสารกัมมันตรังสีหรือยาพิษที่อาจคร่าชีวิตของเขาให้ตายคาจาน

Tips: ถ้าลองให้เพื่อนช่วยชิมข้าวมื้อหน้าก่อนทานเผื่อโดนวางยาแล้วยังเหนื่อยไม่พอ (หรือทนเพื่อนด่าแม่ได้สบายๆ) เชิญขยับสเต็ปไปที่ข้อต่อไปได้เลย

 

ชื่นชอบของใหญ่

นิสัยเสพติดความใหญ่โตกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของผู้นำเผด็จการหลายต่อหลายคน ทั้งความใหญ่และความสูงของสิ่งปลูกสร้าง อภิมหาโปรเจ็กต์หลายต่อหลายอย่างในช่วงที่พวกเขาเข้ามาบริหารประเทศกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจของตัวเอง ที่สร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชน (เราเคยอธิบายสาเหตุว่าทำไมพวกเขาถึงชื่นชอบความใหญ่โตเอาไว้ที่นี่)

ซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเติร์กเมนิสถานผู้ครองตำแหน่งยาวนานถึง 26 ปี (อยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิต) เป็นหนึ่งในผู้นำที่หลงใหลกับความยิ่งใหญ่ของสิ่งปลูกสร้างคนหนึ่ง เขาสั่งให้สร้างอนุสาวรีย์รูปตัวเองความสูง 15 เมตรที่ทำจากทองคำเอาไว้ในเมือง ฟังก์ชั่นพิเศษคืออนุสาวรีย์นี้หมุนได้รอบตัวเอง เพราะนิยาซอฟสั่งเอาไว้ว่าหน้าของเขาต้องถูกแสงอาทิตย์ส่องถึงได้ตลอดเวลา

นี่ยังไม่รวมที่เขาสั่งให้สร้างลานสเก็ตน้ำแข็งขนาดใหญ่ไว้ในเมือง ด้วยเหตุผลว่าชาวประชาที่อยู่กลางทะเลทรายจะได้รู้วิธีเล่นสเก็ต หรือสั่งให้สร้างทะเลสาบเทียมไว้กลางทะเลทราย และป่าสนไซเปรสขนาดยักษ์ด้วยหวังว่าจะเปลี่ยนสภาพอากาศทะเลทรายให้เย็นขึ้น!

Tips: ข้อนี้อาจจะทำได้จริงยากสักหน่อย เราจึงขอแนะนำให้ยืมมือผู้นำตัวจริงของเรา ด้วยการลองสนับสนุนโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาและโปรเจ็กต์สะพานคนเดินข้ามจากท่าพระจันทร์ไปฝั่งศิริราชให้สุดลิ่มทิ่มประตูแบบไม่สนข้อเท็จจริงใดๆ ดู หากคุณยังไม่รู้สึกเหนื่อย ก็ไปต่อกันเลย

 

เอาแต่ใจหน่อยๆ

ด้วยอำนาจที่ล้นเหลือในมือ เหล่าผู้นำเผด็จการที่มีลักษณะนิสัยหลงตัวเองหน่อยๆ ก็เลยมีความเอาแต่ใจติดมาด้วยแบบนิดๆ ซึ่งถ้าเป็นเด็กน้อยก็พอจะน่ารักอยู่ แต่พอมีคำนำหน้าว่าเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ นิสัยเอาแต่ใจก็ดูจะขยายกินความกระทบกระทั่งไปจนถึงเรื่องกฎหมายที่กระทบกับประชาชนตาดำๆ ใต้ปกครอง

ก่อนหน้านี้ มีสองกรณีที่สะท้อนภาพความเอาแต่ใจของผู้นำเผด็จการได้ดี เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่ตุรกี เมื่อประธานาธิบดี เรเจป ไตยิบ แอร์โดอัน ปราศรัยในวันครบรอบหนึ่งปีของความพยายามทำรัฐประหารโค่นอำนาจว่าเตรียมจะนำโทษประหารชีวิตด้วยการตัดหัวกลับมาอีกครั้ง โดยไม่สนว่าจะทำให้ความพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปล้มเหลวหรือไม่

แอร์โดอันบอกว่า “ปาเข้าไป 54 ปีแล้วที่อียูเข้ามายุ่งกับเรา เราจะจัดการประเทศของเราด้วยตัวเอง ผมไม่สนใจคำพูดของฮานส์หรือจอร์จหรอก ฟังอาห์เหม็ดกับฟาติมาอย่างพวกคุณดีกว่า” (ฟังแล้วคุ้นหูเหลือเกิน)

หรือจะเป็นข่าวฮาของคนใจน้อยในแดนมังกร ที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เกิดอดไม่ไหวที่ตัวเองถูกเอาไปเทียบกับน้องหมีวินนี่เดอะพูห์แบบเป๊ะๆ ในทุกอิริยาบท ทั้งเดินคู่กับบารัค โอบาม่า ถ่ายคู่กับชินโซ อาเบะ หรือโผล่ตัวออกมาจากหลังคารถเปิดประทุน ร้อนจนพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องสั่งให้เอารูปภาพและไฟล์ GIF หมีพูห์ทั้งหมดออกจากเว็บไซต์เหว่ยโป๋ โซเชียลมีเดียของจีน

Tips: เราขอแนะนำให้หาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณมองว่าไร้สาระและไม่เคยหงุดหงิดใจกับมันมาก่อน เอามาลองขยายให้เป็นเรื่องใหญ่ดูเมื่อเพื่อนใกล้ตัวพูดถึง ไม่แน่ว่าอาจจะปลุกความเป็นเผด็จการในตัวคุณขึ้นมาก็ได้

           

ชมตัวเองให้เป็น

ไม่ว่าใครจะมองว่าตลกอย่างไร ถ้าอยากเป็นผู้นำเผด็จการที่ประสบความสำเร็จและใครๆ ก็ต้องพูดถึง จงใช้คุณสมบัติความหลงตัวเองในตัวให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสร้างสตอรี่ หัดชมตัวเองให้เป็น

ถ้าจะไม่พูดถึงบิดาของการชมตัวเองอย่าง คิมจองอิล ก็คงไม่ได้ เพราะท่านผู้นำคิมแห่งเกาหลีเหนือคือบุคคลที่สร้างอัตชีวประวัติออกมาได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งทึ่งที่ว่าทำไมถึงได้จินตนาการได้กล้ากว้างไกลขนาดนี้ และทึ่งที่ว่าอะไรทำให้ประชาชนในเกาหลีเหนือถึงเชื่อสตอรี่ของเขาได้อย่างไม่ตั้งข้อสงสัย

เรื่องราวที่ว่ามีตั้งแต่สายรุ้งแฝดและดาวสว่างสุกใสที่ปรากฎขึ้นบนฟ้าในวันที่เขาเกิด เป็นอัจฉริยะด้านการกีฬาด้วยการโยนโบว์ลิ่งครั้งแรกได้คะแนนเต็ม และออกรอบกอล์ฟครั้งแรกก็ทำโฮลอินวันไปห้าหลุมได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และในวันที่เสียชีวิต ทะเลสาบน้ำแข็งขนาดยักษ์ในเมืองก็แตกออกเป็นสองเสี่ยง (นี่คนหรือโมเสส)

 

Tips: ในโลกที่โซเชียลมีเดียสร้างกันได้ง่ายๆ ลองสร้างเรื่องราวประวัติชีวิตแบบมลังเมลืองไว้ในโปรไฟล์เฟซบุ๊กอันใหม่ แล้วใช้ชีวิตแบบอินคาแร็กเตอร์รัชดาลัยอย่างนั้นดู ถ้าไม่เห็นจะรู้สึกเหนื่อย เราคงต้องขอ stading ovation ให้จริงๆ

 

เห็นใครเป็นต้องให้ความหวังดี

ก็เพราะอยากจะเป็นที่รักของประชาชน ผู้นำเผด็จการหลายคนเลยต้องขอใช้พลังที่มีในมือเพื่อมอบความหวังดีให้กับประชาชนในชาติในแทบทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ ‘สุขภาพ’

เหมาเจ๋อตุง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือที่รู้จักกันในนาม ‘ท่านประธานเหมา’ ถูกเมาท์ว่าเป็นผู้นำสายสโลว์ไลฟ์ที่ใช้เวลาไปกับการนอนอืดบนเตียง แต่ก็ยังหวังดีกับประชาชน ออกกฎให้ทุกคนออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถภาพให้ฟิตแอนด์เฟิร์ม เพื่อเตรียมพร้อมกับการรุกรานจากต่างชาติ เขยิบขึ้นมาเหนือจีน

ความหวังดีแบบนี้ยังเจอได้ในกฎของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต ที่ออกโปรแกรมออกกำลังกายในชื่อ Ready for Labor and Defense ซึ่งบังคับให้ประชาชนทุกคนในโซเวียตต้องฝึกซ้อมและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอันประกอบไปด้วยการว่ายน้ำ วิ่ง และทุ่มน้ำหนัก เพื่อเตรียมพร้อมให้ประชาชนรับมือกับกองกำลังฟาสซิสต์นาซีและโลกตะวันตกที่มาพร้อมระบบทุนนิยม

 

Tips: ถ้าอยากให้ความหวังดีแบบเผด็จการกับเพื่อนรอบตัว ลองชักชวน (แกมบังคับ) ให้เพื่อนๆ สวมชุดวอร์มแล้วมาออกกำลังกายทุกบ่ายวันพุธไปพร้อมกับท่านนายกฯ ประยุทธ จันทร์โอชา ที่หวังดีให้ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลได้ขยับตัวในทุกๆ สัปดาห์ นอกจากคุณจะได้บันทึกไว้ว่าได้รับและส่งต่อความหวังดี (แกมบังคับ) นี้ไปให้เพื่อนๆ แล้ว ยังได้ร่วมเต้นแอโรบิกไปพร้อมกับท่านผู้นำผ่านหน้าจอเฟซบุ๊กไลฟ์อีกด้วย!

 

ปล. ทั้งหมดนี้ถ้าทำแล้วคุณยังเหนื่อยเอง ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าทำไมพวกเขาถึงอยากมาเป็น ‘ท่านผู้นำ’ คนต่อไปกันเหลือเกิน

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Dining with the devil: The eating habits of the world’s most evil dictators โดย VICTORIA CLARK AND MELISSA SCOTT จาก Express

บทความเรื่อง The Dictator: Why do autocrats do strange things? โดย Helier Cheung จาก BBC

บทความเรื่อง The Fitness of the 10 Most Notorious Dictators จาก Health Fitness Revolution

ข่าว China bans Winnie the Pooh on social media after comparisons with President Xi Jinping โดย Tom Batchelor จาก Independent

บทความเรื่อง Defiant Erdogan attacks EU, backs restoring death penalty โดย Daren Butler and Tuvan Gumrukcu จาก Reuters

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save