fbpx

ความเป็นจริงข้างไหน?

อาจารย์ส่งบทความที่เปิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดใน IR และปัญหาของแนวคิดที่มีหลายความหมาย จากหลายแนวทางการศึกษา อย่าง security / security dilemma มาชวนคุยว่า ควรจัดการกับความอลหม่านเหล่านี้ รวมทั้งข้อจำกัดในความรู้ของสาขาวิชาซึ่งมีข้อจำกัดอยู่จริง ในการเรียนการสอนอย่างไรดี?

ข้าพเจ้าตอบอาจารย์ว่า คำถามเดียวกันนี้ ถ้าเป็นยุค 60s สมัยแนวทางวิทยาศาสตร์ยังเฟื่องครองสาขาวิชาเราอยู่ สมัยที่ J. David Singer และมิตรสหายในวงวิชาการสังคมศาสตร์อเมริกันยังเชื่อมั่นว่าวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์จะพาให้คนที่ศึกษาได้คำตอบและความรู้ที่แน่นอนมั่นใจใช้การได้ จะมีคำแนะนำให้อาจารย์รีบพาผู้เรียนออกจากแนวทางการศึกษาแบบดั้งเดิมมาหาแนวทางศึกษาแบบวิทยาศาสตร์โดยเร็ว

แต่อกเอ๋ย ตอนนี้เราพากันมาอยู่ในยุคหลัง The third “great” debate กันนานแล้ว การวิจารณ์ความรู้ของสาขาวิชา IR จึงเปลี่ยนทางไป คราวนี้จำเลยไม่ใช่แนวทางดั้งเดิมเหมือนสมัย J. David Singer เสียแล้ว แต่กลายเป็นทุกแนวทางการศึกษาทั้งกระแสหลักกระแสรองสามารถตกเป็นจำเลยของการวิพากษ์ตีแผ่ข้อจำกัดออกมาได้ทั้งสิ้น

ในงานกระแสหลัก ถ้าจะเข้าหาความรู้ IR ผ่านทางนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ อย่าง Thucydides อย่าง Hobbes ก็จะเจอว่า นี่นะ ชาว IR ยังเข้าใจ Thucydides ผิด เข้าใจ Hobbes ผิด ผิดมานานแล้วด้วย รู้หรือเปล่า ที่ว่ามา ได้อ่านงานต้นฉบับโดยตลอดกันบ้างไหมน่ะ

ทีนี้ ถ้าหากใครเข้าหาความรู้ IR แบบ scientific ก็จะถูกหาว่า โอ้ย นี่เป็นพวก physics envy แล้วมาตั้งความหวังอยากให้ความรู้ของ IR ออกมาได้เป็นสมการเปิดต่อการพิสูจน์และผ่านการทดสอบมาแล้วให้เหมือนกับฟิสิกส์ นอกจากกลุ่มอาการ physics envy แล้ว ยังจะถูกหาว่าเป็น tyrannical ใช้อำนาจบีบคนอื่น ๆ ให้ต้องมาสมาทานเข้าสังกัด positivism กันหมด แล้ววิธีการวิทยาศาสตร์น่ะนะ นอกจากฟิสิกส์ ยังมีชีววิทยามีธรณีวิทยาหรืออื่น ๆ อีก  ทำไมไม่ลองวิธีของวิทยาศาสตร์สาขาอื่นดูบ้าง

ยิ่งถ้าเข้าหาความรู้ IR ผ่านทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การทูต ข้อวิพากษ์จะยิ่งมาก เพราะจะถูกชี้ว่ามองข้าม “peoples without history” ศึกษากันแต่ความคิดและการกระทำของมนุษย์ผิวขาว ไม่ถึง 100 คน ที่กำลังจะอ้าปากเอ่ยถึงการรบของนโปเลียน การวางหมากยุทธศาสตร์ของบิสมาร์ก เอ่ยถึงความคิดคานท์ หรือเอ่ยถึงข้อเสนอวิลสันตั้งต้นวางรากฐานความคิดเสรีนิยมในการเมืองระหว่างประเทศ ก็เลยต้องจ๋อยไป

เอ้า พอหันมาหา postcolonialism ว่าคราวนี้ล่ะ จะได้เปิดประวัติศาสตร์ของคนที่ประวัติศาสตร์ถูกลบออกไป ก็ต้องเจอกับ Marxist มาเปิดการวิพากษ์ดักอยู่ ติงจุดอ่อนในวิธีคิดและในวิธีอ่านประวัติศาสตร์แบบ postcolonialism ว่ามีอยู่เต็มไปหมด ส่วน Marxism นั้นถูกผลักเข้ามุมมานานแล้วทั้งในโลกวิชาการ IR และในโลกนโยบาย ยิ่งถ้าเอาสายเหมาสายทำสงครามปฏิวัติประชาชนเข้ามาด้วย ที่เคยก้าวหน้า ก็กลายเป็นถอยหลัง เลยไม่มีใครอยากจะเอ่ยถึงความคิดความฝันถึงความก้าวหน้าเมื่อครั้งกระโน้น

แล้วจะทำยังไงดี?

จะยังไงได้ล่ะครับ  คนเรียน IR หลังสมัย the third “great” debate ก็เลยพากันมายืนงงงงอยู่ตรงกลางทาง ว่าจะให้ตั้งต้นออกเดินทางเข้าหาความรู้จากจุดเริ่มต้นที่ไหน เห็นคนหนึ่งกวักมือไหว ๆ ว่า มานี่ มาตั้งต้นที่ anarchy กับฉันนี่ อีกคนร้องบอกว่า อย่า! อย่าไปทางนั้น!  ไปทางนั้นไม่ได้ ไปแล้วจะเห็นการเมืองระหว่างประเทศผิวเผินเหลือเกิน ต้องมาทางนี้ มาตั้งต้นที่วิถีการผลิตและระบบทุนนิยมโลกดีกว่า แต่นั่น ได้ยินใครตรงโน้น บอกว่า เร้ว ให้เดินเลยตรงดิ่งมามาตั้งต้นที่ปิตาธิปไตยเลย จะดีกว่าตั้งต้นที่รัฐอธิปไตยในอำนาจทุนเป็นไหน ๆ ยิ่งถ้าเป็นในสมัยชวนกันร้องว่า ไม่เอารัฐ ไม่เอาทุนด้วยแล้ว ใครสอนรัฐกับรัฐใน IR อยู่ จะถูกหมิ่นหยามมาก ถ้าจะให้เก๋ และถ้าใครอยากเก๋ ต้องป่าวประกาศว่าจะรื้อการเรียนที่เน้นรัฐลงและหันมาสอน global civil society ใน world society แทน

แล้วตกลงเรามีทางออกให้คนเรียนไหมครับ เมื่อสถาพเป็นแบบนี้ อาจารย์ถามความเห็นขึ้นมาตรง ๆ อีก 

พออาจารย์ขอทราบความเห็นอย่างเอาจริงกับคำตอบอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็เลยต้องหยุดพูดเล่น รวบรวมความคิดมาตอบอาจารย์ นึกถึงใครไม่ทัน ก็อัญเชิญมาคิอาเวลีมาเป็นพระรอด ใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง imagined truth กับ effectual truth ที่ได้จาก มาคิอาเวลลี  แล้วเรียบเรียงคำตอบต่อไปนี้ส่งให้อาจารย์

ข้อเรียกร้องสำคัญประการหนึ่งของทฤษฎีที่ดี คือ logical consistency ภายในตัวมันเอง ทฤษฎีไหนบกพร่องเรื่องนี้ก็จะเปิดจุดอ่อนฉกรรจ์ และถูกตีตกไป

ในแง่นี้ ความจริงทางทฤษฎีมันเลยเป็นความจริงแบบ imagined truth ในระบบปิด โดยมีข้อยึดถือตั้งต้นหรือ premise หรือ statements เสนอพื้นฐานอันพึงยอมรับร่วมกันเป็นประธานคุมการลำดับเหตุผลลงมาเป็นชั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีกระแสไหน ๆ ก็ตาม เปลี่ยน premise เป็น assumptions แบบอื่น หรือชวนกันไปหาจุดตั้งต้นที่อื่น ผลจากการคิดโดยเหตุผลก็จะได้ออกมาต่างกันไปหมด

แต่นั่นเป็นความจริงทางทฤษฎี ที่คนสอนคนเรียนถ้าไม่ตระหนัก ไปยึดถือมันเข้า เลยจะถูกมันจับไว้ ตาม -ism นั่น นี่ โน่น แทนที่เราจะเป็นคนจับมันและดูการทำงานของมันในการพาไปเห็น พาไปรู้ และที่สำคัญคือ ที่มันพาไปทำตามกรอบที่วิธีคิดของมันวางแนวทางไว้

เมื่อได้การแนะนำจากมาคิอาเวลลีก็เลยเหมือนได้คำเตือนว่า ideal หรือ imagined truth ที่ได้มาจากการคิดใช้เหตุผลแบบนี้ เมื่อเล่นกับมันจนเข้าใจดีแล้ว เราควรตั้งพักไว้ แล้วหันมาพิจารณาที่ effectual truth คือผลอันเกิดจากการนำแนวคิดนั้นไปใช้จริง เพราะ IR เป็นความรู้เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์โลกการปฏิบัติ ไม่ใช่อยู่ในโลกความจริงที่ได้หรือสร้างมาจากการใช้เหตุผลทางทฤษฎี เช่น แนวคิดเรื่อง security dilemma ที่อาจารย์ส่งบทความของ Mitzen (2023) เปิดข้อถกเถียงในแนวคิดเรื่องนี้มาตั้งคำถามขึ้นทีแรก สำคัญไหม สำคัญแน่นอน แต่เราควรสงวนพลังงานที่ใช้ถกเถียงความจริงในระดับแนวคิดอย่าง security dilemma ที่ว่า มาพิจารณาความจริงที่เป็น effectual truth ด้วย  เพราะความจริงแบบแรกนั้น เถียงกันไป ก็ไม่จบ ไม่ได้ข้อยุติ  เพราะแต่ละคนมีจุดตั้งต้นและการจัดองค์ประกอบกำหนดเหตุปัจจัยเข้ามาในการใช้เหตุผลต่างกันไปได้หลายแบบ

เช่น traditional security ตั้งต้นที่หนึ่ง มีองค์ประกอบแบบหนึ่ง แต่ ontological security เลือกจุดตั้งต้นต่างออกไป จึงจัดองค์ประกอบออกมาพิจารณาความมั่นคงไปอีกแบบ และงานทางทฤษฎีความมั่นคงแต่ละแบบก็ต้องรักษา internal consistency ในทฤษฎีของตนเอง พอเป็นแบบนั้น การถกเถียงในระดับนี้มันเลยอยู่ที่ว่าจะยอมรับจุดตั้งต้นที่แตกต่างกันของกันและกันไหม ในทางปรัชญาการเมือง พี่ ๆ เขาก็ไม่ยอมกัน เช่น เรื่อง justice คนหนึ่งว่าเรื่องรักษาปกป้องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นเรื่องใหญ่ บางคนว่าไม่ใช่ justice ต้องเกี่ยวกับ fairness พอเป็นแบบนี้ คิดลงไปเท่าไรจากจุดตั้งต้นที่ต่างกัน เถียงกันไปเท่าไร ก็ยากที่จะหาทางพบกันได้ที่ไหน

ดังนั้น น่าจะลองพิจารณาตามที่มาคิอาเวลลีแนะว่าให้ไปดู ที่ effectual truth ด้วย จะดีไหม

นั่นคือควรให้เวลามากขึ้นในการตามไปดูที่ผลในทางปฏิบัติที่เกิดจากการคิด การผลักดันและการทำตามแนวคิดหนึ่ง หรือแนวคิดไหนก็ตาม ว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อความคิดและผลของการคิดย้ายเข้ามาอยู่ในโลกที่มีองค์ประกอบมากหลาย พ้นจากเกณฑ์ตามกรอบตรรกะการใช้เหตุผลที่เรียกร้องให้ผู้คิด ที่เป็นนักคิดนักวิชาการต้องพยายามรักษา internal consistency ที่จะนำไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้น หรือเช่นนี้ แต่พอนำความคิด เช่น แนวคิด deterrence ที่ได้ออกมาจากกระบวนวิธีคิดตามตรรกะเช่นนี้ เข้าไปทำงาน ในโลกความจริง ในสนามความขัดแย้งที่ยุโรป หรือเอเชียตะวันออก ที่เวียดนาม ที่ไต้หวัน หรือที่ตะวันออกกลาง ที่มิได้มีแต่องค์ประกอบอันอยู่ในกรอบความคิดของนักวิชาการ ในระบบเหตุผลของทฤษฎีเกมของ Thomas Schelling หรือจากเหตุปัจจัยที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบจากกรณีศึกษาจำนวนจำกัดของ Alexander George แต่ต้องมาเจอกับเงื่อนไขและการตอบสนองในสภาพจริงอีกร้อยแปดประการ ที่แตกต่างกันไปทั้งในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ และที่เป็นมา มันทำงานได้ผลอย่างที่ Schelling คิด หรือดำเนินไปในเส้นทางขั้นตอนกระบวนการตามที่ Alexander George สืบพบจากกรณีศึกษาและนำมาตั้งเป็นข้อเสนอไหม

มันไม่ค่อยจะเป็นไปตามทฤษฎีว่ามาใช่ไหมครับ การทิ้งระเบิดเพื่อบีบบังคับเวียดนามเหนือ ไม่ได้ผลตามความจริงที่ได้ออกมาจากการใช้เหตุผลตามตรรกะของทฤษฎีเกม ข้อเสนอของ Schelling ที่มาจากวิธีคิดแบบนี้และแนะนำสนับสนุนให้ใช้การทูตประกอบความรุนแรงมาเป็นเครื่องมือกดดัน มันเลยไม่ได้ผลในกรณีของสหรัฐฯ ในเวียดนาม

ดังนั้นถ้าถามว่า ควรจะพาคนเรียนพิจารณาที่ไหน ก็จะขอตอบอาจารย์ว่า ควรพาคนเรียนพิจารณาความคิดและความจริงของแนวคิดที่ได้จากการคิดผ่านเหตุผลของนักคิดนักทฤษฎี และตามไปดูว่าเมื่อใช้มันมาอธิบาย หรือเมื่อภาคปฏิบัติเลือกดำเนินการตามแนวคิดที่ว่า แล้วมันมาเจอเข้ากับปัจจัยที่อยู่นอก internal consistency ของมันเอง มันก่อเกิดผลแบบไหนออกมา

ดูแบบนี้ อาจจะสนุกกว่า หรือเอาแรงไปช่วยคิดแก้ปัญหาที่แก้ไม่ตก หรือยากที่จะแก้ให้ตกได้จริง อย่าง ปัญหาปาเลสไตน์ด้วย ก็น่าจะดี แล้วใช้ปัญหาของจริงมาเป็นเครื่องมือทดสอบคุณภาพความรู้หรือความจริงจากแนวคิดทฤษฎี ดีกว่าชวนกันถกวิพากษ์สลับตำแหน่งวน ๆ กันไป  แล้วพากันรำพันถึงปัญหาความรู้ไม่พอที่ในสาขา IR  ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหนถึงจะพอ แล้วตั้งป้อมกันเองว่า นั่นพวก problem-solving นี่พวกสายวิพากษ์ ตรวจตราว่าใครเป็นสายกระแสหลักหรือกระแสรอง  หรือว่าควรชวนกันผละย้ายจากนักทฤษฎีรุ่นเก่า มาหานักทฤษฎีที่ใหม่กว่า ย้ายจากนักทฤษฎีอเมริกัน ที่ไม่สู้จะเซ็กซี่ มาหานักทฤษฎีฝรั่งเศส พอไหม เอ้า ไม่พออีกเพราะเห็นว่าเยอรมันดูจะมีภาษีเหนือกว่า

ถ้าอยากจะทำอย่างนั้น ก็ได้นะครับ ทฤษฎี IR ไม่สู้จะยากอะไรนักด้วย ยืมของคนอื่นสาขาอื่นเขามาก็มาก แต่เราก็จะเป็นแต่ผู้เชี่ยวชาญความคิดของนักทฤษฎีคนนั้นคนนี้เท่านั้นเอง คนนี้เขาคิดว่าอย่างนั้น เธอคนนั้นคิดว่าอย่างนี้ แล้วเราก็ใช้ความคิดของเขาหรือของเธอมานำความคิดความเข้าใจของเราไป ดิ่งดำลงไปในตรรกะวิธีคิดนั้นอย่างลึกล้ำ จนเข้าถึง หรือบางทีจนฝันใฝ่ตั้งความหวังถึง imagined truth ตามแนวคิดทฤษฎีนั้นอย่างเห็นทุกแง่มุมของมันกระจ่างชัดได้ในทุกรายละเอียด

แต่เมื่อโลก effectual truth ปฏิเสธที่จะเป็นไปตาม imagined truth ที่ว่านั้น เราคนสอนก็ไม่ควรมุ่งแต่จะยัดเยียดความคิดจาก imagined truth ที่เราเป็นผู้ชำนาญ หรือเป็นผู้ฝักใฝ่ อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะตั้งคำถามให้คนเรียนเขาได้ตรองดูและตัดสินใจด้วยตัวเขาเองว่า พวกเขาจะปลงใจเลือกอยู่กับความจริงข้างไหน อย่างไรดี?

แล้วอาจารย์ล่ะครับอยู่ข้างไหน? คือคำถามที่ข้าพเจ้าได้รับกลับมา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save