fbpx
โลกเอียงขวา ประชานิยม และอนาคตประชาธิปไตย

โลกเอียงขวา ประชานิยม และอนาคตประชาธิปไตย

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 

ดูเหมือนกระแส “ขวาประชานิยม” (right-wing populism) กำลังกวาดคะแนนนิยมในโลกตะวันตก จากชัยชนะของฝ่ายต้านสหภาพยุโรป หรือ Brexit ในสหราชอาณาจักร สู่ชัยชนะของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา จนถึงวี่แววชัยชนะของ มารี เลอ เพน ในฝรั่งเศส

หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “ประชานิยม” (populism) ยุคใหม่มีหน้าตาเป็นอย่างไร ปรากฏการณ์ “ขวาครองโลก” เกิดจากสาเหตุใด และที่สำคัญคือ อะไรคืออนาคตของประชาธิปไตยบนทางแพร่ง ระหว่างประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง กับแบบขวาประชานิยม ซึ่งกีดกัน “คนอื่น” ออกจากสังคม

ซ้าย-ขวา ประชานิยม

ประชานิยมไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่มีรากฐานร่วมกับประชาธิปไตย (democracy มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า demos ซึ่งหมายถึงประชาชน ในแง่นี้ทั้งประชานิยมและประชาธิปไตยต่างยึดโยงกับประชาชน)

ว่ากันว่าประชานิยมเริ่มแพร่หลายในการเมืองสหรัฐอเมริกาและการปฏิวัติรัสเซียในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีนัยถึงพลังประชาชน ซึ่งส่วนมากเป็นชาวนาชาวไร่ หรือแรงงานในขณะนั้น  “ประชาชน” เหล่านี้เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากชนชั้นนำทั้งที่เป็นรัฐบาลและนายทุนทั้งหลาย  ในแง่นี้ กำเนิดของประชานิยมจึงสัมพันธ์กับการเมืองฝ่ายซ้าย โดยยึดนิยาม “ประชาชน” ว่าหมายถึงกลุ่มคนสามัญส่วนใหญ่ของสังคมที่ถูกเอาเปรียบโดยชนชั้นนำหยิบมือเดียว

อย่างไรก็ดี ในยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พรรคนาซีเยอรมันอ้างว่าต้องกำจัดชนชั้นนำทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นชาวยิว เพื่อสร้างความเกรียงไกรแก่ชาติเยอรมันอีกครั้งหลังสะบักสะบอมมาจากสงคราม  “ประชานิยม” ในบริบทนี้จึงยึดความหมายของประชาชนในฐานคนเชื้อชาติ (race) เดียวกัน และต้องป้องกันชาติของตนจากภยันตรายที่มาจาก “คนอื่น”  ประชานิยมในลักษณะนี้จึงผูกติดอยู่กับการเมืองแบบขวา คือเน้นย้ำชาตินิยมและต่อต้านชนชั้นนำที่เอื้อประโยชน์แก่คนนอกชาติ มากกว่าคนในชาติ

“ซ้ายประชานิยม” กลายเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจในลาตินอเมริกา กล่าวคือ ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวยสูงอันเป็นผลจากมรดกอาณานิคมสเปน การแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น รวมถึงนโยบายโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ อันส่งผลให้บรรษัทต่างชาติเข้าฉกชิงทรัพยากรท้องถิ่น

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้นำประชานิยมอย่าง ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา ได้รับความรับนิยมอย่างมหาศาล โดยรัฐบาลชาเวซพยายามกระจายทรัพยากรและสนับสนุนสวัสดิการแก่ประชาชน กลุ่มการเมืองทั้งในอาร์เจนตินา เปรู และบราซิลต่างสนับสนุนท่าทีคล้ายกันนี้ อาจแตกต่างกันก็ตรงความเข้มข้น

ที่สำคัญคือ “ซ้ายประชานิยม” ในลาตินอเมริกามีแนวโน้มต่อต้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งเน้นการเปิดเสรีเอกชน การตัดสวัสดิการประชาชน และการเอื้ออำนวยธุรกิจต่างชาติ ในกรีซและสเปน แนวคิดซ้ายประชานิยมเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่พรรคซีรีซา (Syriza) และโปเมดอส (Pomedos)

ส่วนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดูเหมือนว่า “ขวาประชานิยม” จะมาแรงแซงโค้ง

ขวาประชานิยมไม่ใช่ “ฝ่ายขวา” แบบเก่าที่เราเข้าใจกัน คืออนุรักษนิยมสุดขั้ว สนับสนุนการรวบอำนาจของชนชั้นนำ รวมถึงฝักใฝ่แนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง แม้แนวคิดขวาร่วมสมัยที่เห็นกันในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น Tea Party ยังมีกลิ่นอายของขวาแบบเก่า ทว่ายังแอบอิงกับวาทกรรมของฝ่ายก้าวหน้าอย่างเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันทางเพศ โดยขบวนการฝ่ายขวาในโลกตะวันตกชี้ว่าองค์ประกอบเหล่านี้เป็นเสาหลักของอารยธรรมตะวันตก ซึ่งกำลังถูกท้าทายจากอารยธรรมอิสลามผ่านสองช่องทางคือ การก่อร้ายของกลุ่มอย่างไอซิส และกระแสผู้อพยพในโลกตะวันตก หลายฝ่ายเชื่อว่าประการหลังเป็นภัยร้ายแรง เพราะผู้อพยพชาวมุสลิมไม่ปรับตัวรับอารยธรรมตะวันตก แต่กลับยึดมั่นในวิถีชีวิตแบบเดิมและอัตลักษณ์ชุมชน

วิธีคิดเช่นนี้เห็นชัดในเหตุสังหารหมู่โดยฝ่ายขวาอย่าง แอนเดอร์ส เบรวิก (Anders Breivik) ที่ประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 2011 ซึ่งสังหารเยาวชนฝ่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยนอร์เวย์ไปกว่า 70 ชีวิต มือสังหารเขียนคำประกาศ (manifesto) ว่าพวกฝ่ายก้าวหน้าซึ่งหมกมุ่นกับแนวคิดพหุนิยมเป็นภัยต่ออารยธรรมตะวันตก เพราะปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาในยุโรป หลังจากสังหารคนเหล่านี้แล้ว เบรวิกตั้งใจทำสงครามกับผู้อพยพชาวมุสลิมต่อ แต่ถูกจับเสียก่อน

ส่วนในฝรั่งเศส การเรียกร้องให้ผู้อพยพปรับตัวกับวิธีคิดที่แยกศาสนากับการเมืองออกจากกัน อันเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในฝรั่งเศส โดยไม่แสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาในที่สาธารณะทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้วผู้ว่าการเมืองตากอากาศเลื่องชื่ออย่างนีซ ออกกฎบังคับให้นักท่องเที่ยวชายหาดของนีซต้องใส่บิกินี่ โดยห้ามใส่ชุดว่ายน้ำเต็มตัว ล่าสุดศาลสหภาพยุโรปมีคำสั่งห้ามใส่ผ้าคลุมผมซึ่งแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาในที่ทำงาน

ที่น่าสนใจคือวาทกรรมอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมข้างต้นถูกผสานเข้ากับวาทกรรมประชานิยมทางเศรษฐกิจอย่างแนบเนียน ผู้นำฝ่ายขวาอย่างทรัมป์ เลอ เพน หรือไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) ชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบที่เป็นอยู่ละเลยเสียงของประชาชน ทรัมป์มักเรียกผู้สนับสนุนตนว่า “ประชาชนผู้ถูกลืม” (The Forgotten People) บรรดาชนชั้นนำและนักการเมืองกลายเป็นเป้าในการโจมตี โดยถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้องค์การระหว่างประเทศอย่างสหภาพยุโรปหรือรัฐบาลต่างชาติ รวมถึงบรรษัทข้ามชาติล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐตน ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรม การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจซึ่งสนับสนุนให้ทุนทั้งที่เป็นเงินตรา การลงทุน และแรงงาน เดินทางข้ามพรมแดนอย่างสบายใจเฉิบสะท้อนว่าชนชั้นนำ “หักหลัง” ประชาชน ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าสโลแกนสำคัญของ Brexit ทรัมป์ เลอ เพน และนักการเมืองฝ่ายขวาอีกหลายคน ต่างเน้นย้ำให้ “เอาประเทศของเราคืนมา” (take back our country) เพื่อทำให้ประเทศเรายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ในแง่นี้ขวาประชานิยมคือขั้วตรงข้ามในองค์ประกอบด้านล่างนี้

  • ชนชั้นนำฝ่ายก้าวหน้า/เสรีนิยม VS ประชาชน
  • คนส่วนน้อย VS คนส่วนใหญ่
  • คนนอก VS คนใน
  • ผู้รุกรานอันป่าเถื่อน VS อารยธรรมของเรา

ทำไม “ขวาประชานิยม” ถึงครองโลก

นักคิด นักวิชาการ และสื่อมวลชนในโลกตะวันตกพยายามอธิบายว่า “ขวาประชานิยม” เป็นที่แพร่หลายได้อย่างไร

คำอธิบายที่ปรากฏอยู่แบ่งได้เป็นสองฝ่ายคือ คำอธิบายทางวัฒนธรรม (วาทกรรมพหุวัฒนธรรม) และคำอธิบายทางเศรษฐกิจ (วาทกรรมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ)

ในส่วนของคำอธิบายทางวัฒนธรรม คุณค่าพหุวัฒนธรรมอันเป็นเสาหลักของเสรีนิยมประชาธิปไตยถูกกัดกร่อน แกนนำพรรคการเมืองและขบวนการภาคประชาชนฝ่ายขวาปลุกปั่นกระแสให้ผู้คนท้องถิ่นหวาดระแวงผู้อพยพ ที่สำคัญคือกระแสโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมกำลังบั่นทอนอัตลักษณ์ “คนขาว” นอกจากนี้ ฝ่ายขวายังชี้ว่าพหุวัฒนธรรมอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ เช่นการรับผู้อพยพจากพื้นที่สงครามอาจบ่มเพาะภัยก่อการร้ายในโลกตะวันตก ความเชื่อเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานข้อเท็จจริงสนับสนุน ขอเพียงเป็นสิ่งที่ผู้นำขวาประชานิยมเอื้อนเอ่ยก็น่าเชื่อถือมากกว่าสื่อกระแสหลัก ซึ่งผู้สนับสนุนขวาประชานิยมเชื่อว่าถูกครอบงำโดยชนชั้นนำฝ่ายก้าวหน้า

อย่างไรก็ดี คำอธิบายทางวัฒนธรรมไม่ตอบโจทย์ว่าเหตุใดผู้คนจึงหันมาหวาดระแวง “คนอื่น” มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นที่สามารถกลายเป็นฐานเสียงสำคัญให้เซเลบอย่างทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง หรือแคมเปญออกจากสหภาพยุโรปได้รับคะแนนเสียงจนชนะการลงประชามติได้

คำอธิบายทางเศรษฐกิจเข้ามาช่วยเติมช่องว่างนี้ โดยอธิบายว่าความหวาดระแวงต่อคนอื่นสะท้อนภาวะความไม่มั่นคงในชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลก นักวิเคราะห์ชี้ว่าความไม่มั่นคงนี้เป็นผลจากระบอบเศรษฐกิจโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เพียงคนจนเท่านั้น แต่คือชนชั้นกลางที่ไม่สามารถบรรลุฝัน สร้างเนื้อสร้างตัวให้ดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ได้

ทั้งนี้ การขยายตัวของความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากปัจจัยอย่างน้อยสามประการ

ประการแรก ปรากฏการณ์ที่นักทฤษฎีอย่างฌองตาล มูฟ (Chantal Mouffe) เรียกว่า “ภาวะหลังการเมือง” (post-politics) อันได้แก่ การถดถอยของพรรคฝ่ายซ้ายที่กลายเป็น “ฝ่ายซ้ายกลาง” (center left) เธอชี้ว่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา พรรคฝ่ายขวาและซ้ายซึ่งเคยเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วหันมาประนีประนอมกับท่าทีของตน พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เป็นเงื่อนไขของประชาธิปไตย เพราะเห็นว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” แนวโน้มคือพรรคฝ่ายซ้ายกลางมักร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคขวากลาง โดยผ่อนปรนจุดยืนทางอุดมการณ์ของตน ดังที่เกิดในเยอรมนี และมีผลค้ำจุนอำนาจของแองเกลา มาร์เคล (Angela Merkel) ให้เป็นผู้นำรัฐบาลมาได้หลายสมัย

ประการที่สอง ระเบียบการเมืองโลกหลังสงครามเย็น ซึ่งนักรัฐศาสตร์อย่างฟรานซิส ฟุกุยามา (Francis Fukuyama) เห็นว่าเป็น “จุดจบของประวัติศาสตร์” (The End of History) ในแง่ที่ว่าอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำเดียว

แม้อุดมการณ์ดังกล่าวเอื้อให้ประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้หลายประเทศเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ก็พ่วงมากับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งสร้างความเข็มแข็งให้แก่กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ผลคือบรรษัทข้ามชาติได้รับการส่งเสริมให้ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมจากชาติตะวันตกไปยังประเทศยากจนกว่าเพราะค่าตอบแทนแรงงานถูกกว่าหรือระบบภาษีอ่อนแอกว่า ผลกำไรจึงเพิ่มขึ้น นโยบายเช่นนี้ส่งผลให้คนงานจำนวนมากในประเทศซึ่งย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นตกงาน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเปิดเสรีให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแทนรัฐ  สินค้าและบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การประปา การไฟฟ้า ยารักษาโรค และการศึกษา กลายเป็นเรื่องแสวงหากำไร นอกจากนี้รัฐบาลยังถูกกระตุ้นให้ตัดงบประมาณด้านสังคม ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียม

ประการที่สาม การแพร่ขยายของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้แอปพลิเคชั่น หุ่นยนต์และเครื่องจักร ได้รับการพัฒนาจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ มิใช่เพียงแต่งานในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานของชนชั้นกลางทั่วไปที่มีขั้นตอนแน่นอนและจำเจ เช่น เสมียนหรือพนักงานธนาคาร เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้งานจำนวนมากของชนชั้นกลางและชนชั้นกลางล่างหายไป ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลตัดงบประมาณด้านสังคม ผู้คนต้องกู้หนี้ยืมสินกันมหาศาล  สถานการณ์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกสาดซัดด้วยโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 ดับฝันของชนชั้นกลางจำนวนมาก ผลสำรวจของ Pew Research Center ในปี 2015 ชี้ว่าจำนวน “ชนชั้นกลาง” ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนลดลงจากปี 1971 โดยมีรายได้น้อยลงและกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างมากขึ้น และอาจไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

เป็นไปได้ว่าความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งแพร่กระจายไปทั่วทั้งสังคมตะวันตกสั่นคลอนความเชื่อมั่นในรัฐบาล  ในยุโรป ความรู้สึกดังกล่าวสัมพันธ์กับความไม่พอใจต่อระบบราชการของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดนโยบาย “รัดเข็มขัด” อันส่งผลกระทบกับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คน ฝ่ายบริหารและสภาสหภาพยุโรปมิได้มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้นจึงถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมเพราะมิได้ยึดโยงกับประชาชน พรรคการเมืองและขบวนการภาคประชาสังคมฝ่ายขวาใช้วาทะทางการเมืองชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบดังกล่าว ขณะเดียวกันก็อาศัยการเมืองอัตลักษณ์สร้างความนิยมให้กลุ่มตน โดยผันความโกรธขึ้งต่อชนชั้นนำทางเศรษฐกิจไปสู่ “คนอื่น” โดยเฉพาะผู้อพยพ

อนาคตเสรีนิยมประชาธิปไตย

การขับเคี่ยวระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายและขวากลาง กับพรรคขวาประชานิยม ในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังดุเดือด โดยมีการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ในปี 2017 นี้เป็นเดิมพัน (ล่าสุด ผลการเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์ ปรากฏว่าพรรคขวากลางนำโดยนายมาร์ค รูตต์ (Mark Rutte) มีชัยเหนือนายเกอร์ท วิลเดอร์ส (Geertz Wilders) จากพรรคฝ่ายขวา)

นี่ถือว่าเป็นทางแพร่งแห่งอนาคตของเสรีนิยมประชาธิปไตย

ผู้คนในยุโรปถกเถียงกันอย่างเข้มข้นว่า การเมืองแบบ “ขวาประชานิยม” จะทำลายความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรปหรือไม่ อะไรคือทางเลือกจากประชาธิปไตยซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ และถ้อยแถลงแห่งความเกลียดชังของพรรคขวาประชานิยม จะทำอย่างไรให้ผู้คนที่กำลังต่อต้านชนชั้นนำในขณะนี้ไม่สิ้นหวังกับระบบการเมือง รวมถึงอะไรคือผลกระทบของนโยบายรับผู้อพยพ ข้อจำกัดของพหุวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นชาติในภาวะหลังการเมืองของยุโรป

แม้การถกเถียงจะยังไม่สิ้นสุด แต่ข้อสรุปอันหนึ่งที่เริ่มปรากฏคือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอาจไม่ใช่อุดมการณ์ครอบงำอีกต่อไปแล้ว หากจะหลุดพ้นออกจากขอบเหวของอำนาจนิยม ซึ่งคืบคลานมากับการเมืองแบบขวาประชานิยม อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดถึงประชาธิปไตยแบบใหม่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้แก่การเมืองแห่งการถกเถียง การทะเลาะเบาะแว้ง และความไม่ลงรอย (agonistics) มากกว่าการเมืองแบบประนีประนอมอย่างที่เป็นมา

 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save