fbpx
อำนาจทำให้ฉ้อฉล? : ทำไมคนมีอำนาจจึงมักคอร์รัปชัน

อำนาจทำให้ฉ้อฉล? : ทำไมคนมีอำนาจจึงมักคอร์รัปชัน

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

คำคมเกี่ยวกับอำนาจที่โด่งดังที่สุดน่าจะเป็นของลอร์ดแอ็กตัน นักประวัติศาสตร์อังกฤษช่วงปลายศตวรรษ 19 ต่อต้นศตวรรษ 20 ที่ว่า “อำนาจมีแนวโน้มแห่งความฉ้อฉล อำนาจเด็ดขาดจึงฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ (Power tends to corrupt; absolute power corrupts absolutely)”

แต่คำกล่าวนี้มีความเป็นจริงอยู่มากแค่ไหน? มีงานวิจัยวิทยาศาสตร์ยืนยันหรือคัดค้านคำคมนี้หรือไม่?

หนังสือชื่อ How Power Corrupts: Cognition and Democracy in Organisations ของริคาร์โด บล็อกจ์ [1] ระบุว่า เรื่องที่คนมีอำนาจแล้วทำอะไรไม่ถูกต้องพบได้บ่อย ทำให้คนรอบข้างต้องทนทุกข์ องค์กรไม่บรรลุเป้าหมาย ความพยายามต่างๆ เสียเปล่า การทำงานในองค์กรนั้นๆ ขาดไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล

สำหรับระดับประเทศนั้น กลไกบางอย่างที่ใช้ขัดขวางและป้องกันความฉ้อฉลก็เช่น การแยกอำนาจรัฐออกเป็นฝ่ายที่ไม่ขึ้นต่อกันและการถ่วงดุลอำนาจ ตลอดไปจนถึงการจำกัดช่วงเวลาของการอยู่ในอำนาจ

ในหนังสือเล่มนี้ยังเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ ในยุคของโรมันโบราณที่เป็นสาธารณรัฐ มีข้อกำหนดให้พวกนายพลที่ได้ชัยชนะในสงครามจะต้องมีทาสผู้หนึ่งคอยประกบติดตามตัว หากเมื่อใดที่มีผู้ยกยอปอปั้นหรือเกิดความสับสนวุ่นวายใจเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ ทาสผู้นั้นมีหน้าที่ต้องเข้าไปกระซิบที่ข้างหูว่า “จำไว้ว่าท่านไม่ได้เป็นอมตะ”

เหตุที่เกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจที่แวดล้อมได้คนเอาใจ ‘อวย’ กันทั้งวันทั้งคืน หลงลืมตนจนคิดว่าจะทำอะไร ยังไงก็ได้ ถูกต้องทุกอย่าง และมีอำนาจราวกับตัวเองจะอยู่ไปจนชั่วกาลปาวสาน จึงต้องเตือนกันเรื่อยๆ ว่า ท่านน่ะตายได้นะ เป็นคนธรรมดา หมดอำนาจได้ จำใส่ใจเอาไว้!!!

ในหนังสือเล่มนี้ยังสรุปไว้ด้วยว่า งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปที่การตอบคำถามว่า “อำนาจทำให้ฉ้อฉลจริงหรือไม่?” แต่กลับมีน้อยมากที่เจาะลงไปที่สาเหตุว่าอะไรทำให้ฉ้อฉล (หรือไม่ทำให้ฉ้อฉล)

จะว่าไปก็ไม่ง่ายนะครับที่จะตอบให้แน่ชัดว่า อำนาจทำให้ฉ้อฉลหรือเปล่า ความหมายของคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ หรือฉ้อฉลเองก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่ได้มีความหมายตายตัว ปัจจุบันความหมายจะครอบคลุมอยู่ที่การรับสินบนหรือผลประโยชน์บางอย่าง เช่น เงินหรือสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาแพงๆ รถยนต์หรือบ้านหรูหรา รวมไปถึงเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก เอื้อผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่มบางเหล่าเป็นพิเศษ

แต่ในสมัยของลอร์ดแอ็กตันนั้นกลับหมายถึง ความล้มเหลวที่จะทำเพื่อส่วนรวม การตัดสินใจที่ตกมาตรฐานทางศีลธรรม รวมไปถึงความอหังการหลงตัวไม่ฟังคนอื่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง!

คุณบล็อกจ์ตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ฉ้อฉลมักอ้างตัวว่าเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ คือ รู้หมดว่าอะไรดีสำหรับคนอื่นๆ มักจะมองคนอื่นว่าด้อยกว่า รู้ข้อมูลไม่จริงหรือไม่ครบ หรือไม่ก็รู้น้อยกว่าตัวเอง และเชื่ออย่างจริงๆ จังๆ ว่า คนอื่นๆ น่ะโง่กว่าตัวเอง จนไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นแบบอื่นๆ หรือคำตักเตือนใดๆ เลย แบบที่มหาตมะคานธีเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

“การได้อำนาจทำให้คนตาบอดและหูหนวก”

 

อำนาจแทรกอยู่ในเลือดและเนื้อ

 

ศาสตราจารย์แดเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ออกหนังสือชื่อ ‘The Power Paradox: How We Gain and Lose Influence’ (ความย้อนแย้งของอำนาจ: เราได้และเสียอิทธิพลไปอย่างไร) [2]

ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการทดลองทางเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง โดยสรุปว่าการสร้าง ‘บารมี’ จนทำให้มีอำนาจ มักเริ่มจากความถ่อมตัวและการให้เกียรติผู้อื่น ยิ่งผู้นำทำมากก็จะยิ่งได้การยอมรับมากขึ้น แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่งพวกผู้นำเหล่านี้จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองทรงอำนาจขึ้น ซึ่งไปทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนโดพามีจนสูงปรี๊ดขึ้นในสมอง

พอจะเรียกว่า ‘อำนาจขึ้นหัว’ จนหลงตัวเองก็คงพอได้

ผลก็คือทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น จึงเข้าสู่เส้นทางความย้อนแย้ง ทำให้ใช้อำนาจอย่างผิดๆ จนครบวงรอบอำนาจที่ย้อนแย้งในตัวเอง คือได้อำนาจจากความถ่อมตัว แต่เมื่อได้อำนาจแล้วก็จะหลงตัว

มีการทดลองในห้องปฏิบัติที่เอาอาสาสมัครมาจำนวนหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่มอบหมายอำนาจหรือทรัพยากรให้คนใดคนหนึ่งมากกว่า เช่น ให้เล่นบทบาทเป็นผู้คุมกับคนคุก หรือมอบเงินให้บางคนมากกว่าแล้วให้เล่นเกมเศรษฐี สิ่งที่พบตลอดก็คือ แม้ว่าจะคัดคนที่พื้นฐานนิสัยเหมือนๆ กันมาแบบสุ่ม แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มทดลอง คนที่ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหรือทรัพยากรมากกว่าจะเริ่มทำตัวฉ้อฉล เช่น หากให้แบ่งเงิน ก็จะหาเหตุแบ่งเงินให้ตัวเองมากกว่าคนอื่น

สรุปง่ายๆ ว่าเมื่อมีอำนาจมากขึ้นก็มีแนวโน้มจะทำตัวผิดศีลธรรมมากขึ้น โดยตัวคนเหล่านั้นไม่รู้ตัวฉุกคิดใดๆ หรือหากจะคิดก็คิดทำนองว่า ทำแบบนี้ก็แฟร์ดีแล้วนี่!

 

คุกกี้มอนสเตอร์

 

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องกล่องคุกกี้มีเงินอัดแน่นที่เจอในศาลบางประเทศในอดีต หรือเพลงคุกกี้เสี่ยงทายของวง BNK48 แต่อย่างใด คุกกี้ที่จะเล่าให้ฟังนี้เป็นการทดลองที่น่าสนใจ ที่มีชื่อเล่นว่าเป็นการทดลอง ‘คุกกี้มอนสเตอร์’ ตามชื่อหุ่นตัวหนึ่งในรายการสำหรับเด็กชื่อ ‘เซซามีสตรีต’ (Sesame Street)

โดยในการทดลองจะใช้กลุ่มอาสาสมัครนักศึกษา 3 คน ให้เลือกหัวหน้ากันเองขึ้นมาคนหนึ่ง จากนั้นผู้ทดลองจะมอบให้หัวหน้าคนดังกล่าวรับผิดชอบตลอดการทดลอง งานที่มอบหมายคือ ให้เขียนแนวนโยบายของมหาวิทยาลัย พวกเขาต้องช่วยกันเขียนและนำเสนอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ครึ่งทาง คนทดลองก็นำช็อกโกแลตชิปแสนอร่อยเข้ามาให้ แต่จะนำมาแค่ 4 ชิ้น จุดนี้เองจะเข้าสู่การทดลองจริง

แน่นอนว่าแรกสุด ทุกคนจะได้ช็อกโกแลตคนละชิ้นไป ทุกคนก็กินอย่างมีความสุข ส่วนชิ้นสุดท้ายที่เป็นชิ้นมารยาทงามก็จะตกค้างอยู่ เพราะต่างก็เกรงใจกัน สุดท้าย ส่วนใหญ่แล้วคนที่จะได้กินชิ้นที่ 4 มักจะเป็นคนที่ได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้า การทดลองแบบนี้หากมาทำในไทยอาจมีปัจจัย ‘ชิ้นสุดท้ายแฟนสวย/หล่อ’ มาเกี่ยวข้องด้วย อาจแปลผลยากขึ้นไปอีกหน่อย

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนักวิจัยเอาวิดีโอเทปมาเล่นซ้ำ เพื่อดูท่าทางการกินก็พบว่า ถ้าหัวหน้าเป็นคนหยิบชิ้นสุดท้าย พวกเขาจะกินโดยอ้าปากกว้าง กัดเสียงดัง และกินอย่างไม่ระมัดระวังจนมักมีเศษคุกกี้ตกใส่เสื้อผ้า อาการการกินแบบนี้แสดงถึงความรู้สึกลึกๆ ข้างใน แสดงตนว่ามีอำนาจ จะกินยังไง ท่าไหนก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจใคร หรือแม้แต่จะรู้สึกว่าอยากกินอวดอย่างภาคภูมิใจ เพราะตูเป็นหัวหน้า!!!

แค่เล่นเกมง่ายๆ ในห้องปฏิบัติการ อีโก้ยังทะลุเพดาน (อย่างไม่รู้ตัว) ซะขนาดนี้

 

แคร์ซะที่ไหน! ก็ฉันมีเหตุผลของฉัน

 

ยังมีการทดลองอื่นๆ ที่ได้ผลสนับสนุนไปในทางเดียวกันอีกด้วยคือ สังเกตพบว่าคนที่มีตำแหน่งหรืออำนาจสูงกว่าในองค์กรมักแสดงออกทางคำพูดและท่าทางอย่างมั่นใจ ไปจนถึงหยาบคายมากกว่าคนที่ตำแหน่งเล็กกว่าหรืออำนาจน้อยกว่า

คนที่ขับรถหรูกว่าก็เห็นหัวคนเดินถนนน้อยกว่า ไม่ค่อยยอมจอดให้เดินข้าม และขับอย่างไม่ระมัดระวังมากกว่า แม้แต่พวกที่แอบขโมยของแพงๆ ในห้างก็มีสัดส่วนเป็นคนที่ฐานะดีมากกว่าคนที่ยากจน คนพวกนี้มักมีฐานะดีกว่า ตำแหน่งสูงกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าคนทั่วไป

มีการทดลองที่ให้กลุ่มตัวอย่างพวกมีอำนาจมากกับน้อยมาตอบแบบสอบถาม (แบบไม่ถามตรงๆ แต่ถามล่อหลอกไปมา) โดยสมมติเหตุการณ์ว่ามีคนที่ขับรถเร็ว เพราะกำลังจะไปประชุมสาย คุณเห็นอย่างไร? พวกที่มีอำนาจสูงกว่ามักจะตอบว่า คนขับเร็วพวกนั้นเป็นคนไม่ดี หาก…กำลังพิจารณาถึงคนอื่น แต่หากคนที่ขับเร็วนั้นเป็นตัวเอง ก็จะมีเหตุผลประกอบการแก้ตัวว่า คงต้องเป็นนัดสำคัญจริงๆ ถึงจะเป็นเช่นนั้น

อำนาจจึงมีผลต่อการตัดสินถูกผิด และสมองของคนที่เมาอำนาจจะมองความผิดตัวเองไม่ค่อยเห็น

มีการทดลอง [3] ที่ผู้ทดลองให้อาสาสมัครเล่าประสบการณ์ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง จากนั้นก็ขอให้เขียนตัวอักษร E ไว้ที่หน้าผากตัวเอง สิ่งที่พบก็คือพวกที่รู้สึกว่า ตัวมีอำนาจมักจะวาดตัวอักษร E แบบกลับข้าง หากคนอื่นมองมา ขณะที่คนที่เหลือเขียนแบบให้คนอื่นอ่านออก

นักวิจัยตีความว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองพวกเขา ซึ่งมองแบบคนทั่วไปที่มองเข้ามาหาตัวเองไม่ค่อยจะเป็น หรือไม่ก็สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ที่ว่า คนพวกนี้ไม่แคร์อะไรนักกับมุมมองคนอื่น

ใครจะไปแคร์ความคิดคนอื่นทำไม ก็ฉันมีอำนาจมากกว่า!

 

อำนาจตัว อำนาจกลุ่ม

 

มีผลการวิเคราะห์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับศาลที่น่าสนใจมาก  [3] คนทำการทดลองเป็นนักจิตวิทยาชื่อ เดบอราห์ เกรนเฟลด์ (Deborah Gruenfeld) โดยเธอตั้งคำถามว่าตำแหน่งหรือหัวโขนส่งผลกระทบอะไรกับกระบวนการหาเหตุผลบ้างหรือไม่

นักวิจัยนำผลการตัดสินคดีความของศาสสูงสุดสหรัฐระหว่างปี 1953-93 รวม 1,000 คดี มาวิเคราะห์ในรายละเอียด ทำให้พบว่าเมื่อได้รับแต่งตั้งให้ให้เป็นผู้พิพากษาในศาลสูงสุดเมื่อใด หรือเมื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของเสียงส่วนใหญ่ของการตัดสินที่ผลออกมาแบบไม่เป็นเอกฉันท์เมื่อใด ความคิดเห็นรายบุคคลประกอบการตัดสินที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็มีแนวโน้มที่จะซับซ้อนน้อยลงและมีความแตกต่างกับของผู้พิพากษาคนอื่นน้อยลงตามไปด้วย

พวกเขาหรือเธอจะตัดสินโดยใช้มุมมองแคบๆ (หรือครอบคลุมมุมมองที่รอบด้านน้อยกว่า) ของกลุ่ม ข่าวร้ายก็คือผลการตัดสินและความคิดเห็นเช่นนั้นได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ใช้อ้างอิงต่อไปด้วย

อำนาจจึงอาจจะฉ้อฉลได้จากความกดดันแบบกลุ่มจากคนอื่นๆ ระดับเดียวกันในวงด้วย

แต่ไม่ใช่ว่าหลุมพรางแห่งอำนาจพวกนี้จะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียทีเดียว เอาไว้มีโอกาสจะเล่าเรื่องวิธีรับมือกับความฉ้อฉลอำนาจและงานวิจัยใหม่ๆ ที่ชี้ว่า อำนาจอาจไม่ได้ทำให้คนฉ้อฉลเสมอไป แต่อาจจะทำหน้าที่เป็นแค่ ‘แว่นขยาย’

อำนาจอาจจะแค่ทำให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า คนๆ นั้นมีศีลธรรมหรือความดีงามในตัวอยู่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง

 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] How Power Corrupts: Cognition and Democracy in Organisations (2020) Ricardo Blaug, สำนักพิมพ์ Palgrave Macmillan

[2] The Power Paradox: How We Gain and Lose Influence (2017) Dacher Keltner, สำนักพิมพ์ Penguin Group

[3] How Power Corrupts

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save