fbpx
การเมืองทำให้โง่?

การเมืองทำให้โง่?

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เกราโช มาร์กซ์ (Groucho Marx) เคยกล่าวไว้ว่า “การเมืองคือศิลปะแห่งการมองหาเรื่องยุ่งยาก จนพบได้ทุกหนทุกแห่ง และวินิจฉัยมันอย่างไม่ถูกต้อง ก่อนจะใช้วิธีแก้ไขอย่างผิดๆ” นับเป็นคำเหน็บแนมที่บางคนอาจจะมองว่าเกินจริงไปบ้าง แต่บางคนกลับมองว่า จริงเสียนี่กระไร

ศาสตราจารย์เจสัน เบรนแนน (Jason Brennan) นักปรัชญาร่วมสมัยและสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวเปรียบเทียบไว้ว่าในทางการเมืองแล้วอาจแบ่งคนทั่วไปออกได้เป็น 3 จำพวกคือ พวกฮอบบิท (Hobbit) ฮูลิแกน (Hooligan) และวัลแคน (Vulcan)

ถ้าใครเคยอ่านหรือเคยดูเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) ย่อมต้องรู้จัก ‘ฮอบบิท’ มนุษย์ตัวจิ๋วที่ไม่สนใจการผจญภัยหรือโลกภายนอก และมีความสุขกับโลกใบเล็กๆ ของพวกตัวเองเท่านั้น พวกฮอบบิททางการเมืองก็คือพวกที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักกับเรื่องการเมือง เพราะมองว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง

ขณะที่พวกฮูลิแกนที่โด่งดังมีชื่อเสีย(ง) ในทางกีฬา เพราะถนัดสร้างความเสียหาย แต่สำหรับทางการเมืองนั้น จะเป็นกลุ่มคนที่มีมุมมองแบบฝังแน่นและหัวแข็ง ไม่อาจทำให้เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ ลักษณะเด่นของพวกนี้ก็คือ จะอธิบายและยกเหตุผลมุมมองความเชื่อของฝ่ายตัวเองได้อย่างคล่องแคล่ว แต่อย่าถามถึงมุมมองของฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตัวเอง เพราะคนพวกนี้จะถึงกับใบ้รับประทาน นึกอะไรไม่ออกเลย เพราะวันๆ เอาแต่รับข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อเดิมๆ ของพวกตัวเองเท่านั้น

พวกนี้ไม่ใช่ไม่มีความรู้นะครับ แต่จะมีแบบครึ่งๆ กลางๆ เฉพาะความรู้ที่เข้ากับ ‘ความเชื่อ’ ของตัวเองเท่านั้น ในสหรัฐฯ พวกที่มีความเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกันแบบเข้าเส้น ก็คือคนกลุ่มนี้นี่เอง พวกนี้จะมองคนที่คิดเห็นไม่เหมือนตัวเองว่า เห็นผิดเป็นชอบหรือหนักกว่านั้นก็คือ โง่เง่าเต่าตุ่นหรือชั่วร้ายเลวทรามทีเดียว

เหลือบตามองกลับมาที่สังคมไทย พวก ‘สีเข้าเส้น’ ก็คือ ฮูลิแกนทางการเมืองตัวเอ้นั่นเอง

สำหรับพวกสุดท้ายคือวัลแคนนั้น แฟนคลับสตาร์เทร็ค (Star Trek) จะเข้าใจได้เองโดยไม่ต้องอธิบายเพิ่ม แต่หากเป็นคนทั่วไปก็อาจจะต้องอธิบายเพิ่มนิดนึงว่า ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะมีเผ่าพันธุ์ต่างดาวพวกหนึ่งที่มีความคิดความอ่านเป็นเหตุเป็นผลแทบจะสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว

สิ่งมีชีวิตจำพวกนี้จะออกความคิดความเห็นอะไรที ต้องมีหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือมุมมองทางปรัชญาคอยสนับสนุนอยู่เสมอ ไม่พูดจาเรื่อยเจื้อยไปตามอารมณ์ จนกลายเป็นคนลมเพลมพัดแบบนักการเมืองและผู้บริหารบางคนในบางประเทศ

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ พวกวัลแคนจะเปลี่ยนใจได้ หากพบเจอหลักฐานที่ชัดเจนว่าถูกต้อง แต่ขัดแย้งกับความคิด ความเห็น ความเชื่อที่มีอยู่

สำหรับในทางการเมืองแล้ว พวกนี้จะให้ความสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็ใจเย็น คิดพิจารณาอย่าละเอียดลออ ไม่ยอมให้มีอคติหรืออารมณ์มาเบี่ยงเบนมุมมองและความคิดได้ เพราะมีธรรมชาติเป็นพวกที่พยายามตัดอคติและคงหลักเหตุผลทางความคิดไว้เสมอ

ศาสตราจารย์เบรนแนนมองว่า การเมืองในโลกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีพวกฮูลิแกนเป็นพวกคุมเกมอำนาจ จึงมีความจำเป็นมากที่เราจะต้องทำความเข้าใจพวกฮูลิแกนทางการเมืองว่า พวกนี้มีวิธีคิดและตัดสินใจอย่างไร จึงจะรับมือหรือปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้

เรื่องแรกสุดที่เป็นลักษณะของฮูลิแกนที่เราต้องจำให้ขึ้นใจคือ พวกนี้เลือกที่จะเชื่อ ‘แค่บางอย่าง’ แล้วไอ้บางอย่างที่ว่านั้นต้องเป็นยังไงแน่? คำตอบคือบางอย่างที่ว่านั้นต้องทำให้รู้สึกว่าโลกสวย เชื่อแล้วสบายใจ

อันนี้ไม่ได้เขียนลอยๆ นะครับ เขารู้กันมาตั้งแต่ปี 1979 นู่น โดยมีงานวิจัยสนับสนุนด้วย[1]

การตัดสินใจทางการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องของ ‘ความชอบใจ’ มากกว่าการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมมา พูดแบบภาษาไทยเข้าใจง่ายๆ คือ ไม่ต้องไปเปลืองน้ำลายอธิบายเหตุผลกับพวกฮูลิแกนทางการเมือง เพราะพวกเค้าจะเลือกเชื่อแค่ ‘สิ่งที่เชื่อแล้วสบายใจ’ เท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่วงดีเบตแตกเอาง่ายๆ ทุกทีที่พยายามจะไล่เรียงหาเหตุผลของแต่ละฝ่าย

มีนักจิตวิทยาที่ถึงกับพยายามตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา (เรียกว่า The Argumentative Theory of Reasoning) โดยเสนอว่า “การใช้เหตุผลไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อให้เราเข้าถึงสัจจะ การใช้เหตุผลเป็นแต่เพียงวิวัฒนาการที่จะช่วยให้เราโต้แย้งได้ดีขึ้นเท่านั้น” คนที่เสนอแนวคิดนี้คือ นักจิตวิทยาชื่อ ฮูโก เมอร์ซีเออร์ (Hugo Mercier) และแดน สเปอร์เบอร์ (Dan Sperber)

ศาสตราจารย์เบรนแนน ตั้งขอสังเกตเพิ่มเติมว่า การใช้เหตุผลอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เฮงซวยก็ได้นะครับ (อ้าว!) แต่ไม่ใช่เพราะคนใช้เหตุผลไม่เก่ง แต่เป็นเพราะคนนำเอาข้อโต้แย้งมาใช้อย่างเป็นระบบ เพียงเพื่อสนับสนุนความเชื่อหรือการกระทำของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะค้นหาความจริงหรือสัจจะในเรื่องที่กำลังโต้แย้งกันอยู่–เป็นการใช้เหตุผลที่เปล่าประโยชน์แท้ๆ!

กล่าวสรุปไว้ตรงนี้ก่อนว่า การใช้เหตุผลกับเรื่องการเมืองอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนักที่จะทำให้เรามองเห็นโลกตามความเป็นจริง เพราะวิวัฒนาการสนับสนุนการใช้เหตุผลในการโน้มน้าวใจหรือแม้แต่หลอกใช้หรือควบคุมคนอื่น

เมื่อคนเผชิญหน้ากับมุมมองและเหตุผลที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ จึงไม่ค่อยเปลี่ยนความเชื่อตัวเอง แต่กลับจะโกรธและยึดจับความเชื่อตัวเองแน่นมากขึ้นไปอีก การใช้หลักเหตุผลจึงไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาทางการเมืองสักเท่าไหร่

มองให้ลึกลงไปอีก ปัญหาที่ว่ามามี ‘รากเหง้าของปัญหา’ อยู่ที่ใดกันแน่?

นักจิตวิทยาทำการทดลองเยอะแยะไปหมดเพื่ออธิบายเรื่องพวกนี้นะครับ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างคำอธิบายหลักๆ ส่วนหนึ่งที่ใช้อธิบายได้อย่างกว้างขวาง การที่ต้องมองหารากเหง้าของปัญหา เพราะจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ คือต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหานี่แหละครับ

คำอธิบายแรกก็คือ คนเรามีอคติครับ แถมมีง่าย แต่แก้ยากอีกต่างหาก

มีอคติสองแบบที่ใช้อธิบายได้ดีคือ ‘อคติแบบยืนยันหรือล้มล้างความเชื่อเดิม’ (Confirmation and disconfirmation biases) คนทั่วไปจะมีมุมมองชีวิตตามแต่ประสบการณ์ การศึกษา และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เรามีแนวโน้มจะปฏิเสธหรือมองข้ามบรรดาหลักฐานที่ไปด้วยกันไม่ได้กับมุมมองและความคิดที่มีอยู่เดิม

มีงานวิจัย[2] ที่ชี้ว่า หากเรานำหลักฐานที่ขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเอียงข้างทางการเมืองมาแสดง พวกเขากลับจะยิ่งกอดความเชื่อเดิมด้วยความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นไปอีก

เรื่องนี้ใช้อธิบายได้ด้วยว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงมีรูปแบบการรับข่าวสารที่เอียงกระเท่เร่ แต่ที่น่ากลุ้มใจมากขึ้นไปอีกก็คือ โซเชียลมีเดียมีแนวโน้มจะเพิ่ม ‘ขั้ว’ การรับข่าวแบบนี้ให้กับเราด้วย เช่น พบว่าปัญญาประดิษฐ์ของเฟซบุ๊กเลือกป้อนข่าวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงให้กับคนอเมริกันที่เป็นอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม (เพื่อให้ผู้ใช้งานชอบใจมากที่สุดและยังติดใจใช้งานเฟซบุ๊กต่อไป) โดยอิงกับนิสัยการเลือกของคนนั้นๆ

คำอธิบายแบบที่สองคือ ‘อารมณ์ความรู้สึกจะไปรบกวนความคิดอ่านของเรา’ เช่น มีการศึกษาพบว่าอารมณ์เศร้า โกรธ หรือสนุกสนาน ล้วนแล้วแต่บดบังความสามารถในการคิดวิเคราะห์เรื่องการเมืองให้ชัดเจนทั้งสิ้น บ่อยครั้งทีเดียวที่เราตัดสินตามอารมณ์ความรู้สึกขณะนั้น เช่น พบว่าคนที่เพิ่งสูญเสียแมวไป จะเชื่อว่าอาชญากรรมลดลงได้ยากขึ้น ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม

ดังนั้น ยิ่งเรื่องใกล้ตัวหรือกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะทำให้เราตัดสินข้อโต้แย้งเรื่องทางการเมืองแบบมีขั้วหรือตกขอบด้านใดด้านหนึ่งมากขึ้นเท่านั้น[3]

นอกจากอคติแบบบุคคลแล้ว คำอธิบายแบบที่สามคือ ‘มีอคติแบบกลุ่มด้วย’

คนเรามีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะอยากจับกลุ่มกับคนที่คิดและทำเหมือนๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ระมัดระวังตัวให้ดี ก็จะมีแนวโน้มการถือตัวว่ากลุ่มของเราดีกว่า เหนือกว่า ฉลาดกว่า เที่ยงธรรมกว่ากลุ่มอื่นได้ง่ายๆ จนบางครั้งก็นำไปสู่ความเกลียดชังอย่างไม่จำเป็น[4]

คำอธิบายสุดท้ายเป็นเรื่องของ ‘ความกดดันจากคนรอบข้าง’

เรามักจะเกิดอคติบางอย่างขึ้นได้ง่ายดายมาก หากต้องทำเพื่อแลกกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แม้แต่การทดลองง่ายๆ ที่ให้หน้าม้าจำนวนมาก แสดงความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องที่เห็นได้ง่ายดายว่าผิด เช่น ระบุว่าเส้นสองเส้นที่ไม่ได้เหมือนกันว่า เหมือนกันทุกประการ ก็จะเกิดแรงกดดันให้ผู้เข้าทดลองต้องคล้อยตามและระบุแบบเดียวกัน ทั้งๆ ที่ค้านสายตาผู้เข้าทดลองเหล่านั้นเป็นอย่างมาก จนทำให้รู้สึกอึดอัดหรือกระวนกระวายใจ[5]

ที่เล่ามาคือ หลักใหญ่ที่ใช้อธิบายว่า ทำไมเราจึงแทบจะทำให้ฮูลิแกนทางการเมืองเปลี่ยนใจไม่ได้เลย ขณะที่การดึงฮอบบิทให้มาสนเรื่องทางการเมืองและมาอยู่ข้างเราก็ทำได้ยากเช่นกัน แต่ที่ยากที่สุดคือ การทำให้เกิดวัลแคนทางการเมือง เพราะเผ่าพันธุ์แบบนี้หายากยิ่งกว่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เสียอีก

เรื่องนี้อาจจะใช้เตือนตัวเองในมุมกลับได้ด้วย เกี่ยวกับมุมมอง ความคิดเห็น รวมไปถึงการหาข้อมูลการเมืองของตัวเราเองด้วย เพราะพวกเราไม่ได้มีวิวัฒนาการเพื่อเป็นคนที่มีความคิดอ่านอย่างเป็นเหตุเป็นผลในทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นนั่นแล

ทั้งหมดนี้จึงยืนยันว่า มีแนวโน้มสูงมากที่การเมืองจะทำให้คนเราปิดใจจนโง่ และมั่นใจในความโง่นั้นอย่างจริงจังอีกต่างหาก!

 

 

เชิงอรรถ

[1] Lord, Charles et al. 1979. “Biased Assimilation and Attitude Polarization: The Effects of Prior Theories on Subsequently Considered Evidence,” Journal of Personality and Social Psychology 37: 2098–2109.

[2] Nyhan, Brendan and Reifler, Jason. 2010. “When Corrections Fail: The Persistence of Public Misperceptions,” Political Behavior 32: 303-30.

[3] Taber, Charles, and Young, Everett. 2013. “Political Information Processing,” in Huddy, Sears, and Levy 2013, pp. 525-558.

[4] Tajfel, Henry. 1982. “Social Psychology of Intergroup Relations,” Annual Review of Psychology 33: 1-39.

[5] Asch, Solomon E. 1955.  “Opinions and Social Pressure,” Scientific American 193, no. 5: 31-35.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save