fbpx
ความรู้ของเรามี "ชีวิต" เหลืออีกกี่ปี

ความรู้ของเรามี “ชีวิต” เหลืออีกกี่ปี

 สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เราอยู่ในโลกที่คนอายุยืนขึ้นแต่ความรู้กลับอายุสั้นลง ไม่แปลกที่พอเรียนจบปริญญาตรี ปี สิ่งที่เรียนมาในปีแรกๆ จะตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว อย่าว่าแต่ปริญญาตรีเลย สมัยนี้ไม่แปลกที่เด็กเรียน MBA ะบ่นกลัวว่า ปีที่ใช้ไปกับการเรียนปริญญาโทนั้นจะทำให้ตัวเองตามโลกไม่ทันและความรู้ใหม่ที่ได้มาจะ ‘หมดอายุ’ ก่อนได้ใช้งานจริง นี่คือยุคแห่ง Exponential change ที่ โลกไม่เคยเปลี่ยนเร็วขนาดนี้และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงช้าเช่นนี้อีก

เพื่อเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่คิดอย่างไรกับอนาคตของงานและการเรียนรู้ ทางบริษัทซี (SEA) เจ้าของการีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) แอร์เพย์ (Airpay) จึงจับมือกับ World Economic Forum ทำแบบสำรวจคนรุ่นใหม่อายุ 15-35 ปี 56,000 คนทั่วอาเซียน (คนไทยประมาณหมื่นคน) ที่ถือได้ว่าเป็นแบบสำรวจเยาวชนอาเซียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แบบสำรวจเจาะลึกคำถาม เช่น เยาวชนคิดว่าความรู้ที่เขาร่ำเรียนสะสมมานั้นจะยังช่วยเขาในหน้าที่อาชีพไปได้นานเท่าไร ทักษะอะไรบ้างที่สำคัญสำหรับอนาคต และเขาใช้วิธีอะไรบ้างในการเรียนรู้ทักษะต่างๆ

 

 

อายุขัยของความรู้

 

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าเยาวชนในอาเซียนโดยเฉลี่ยมองว่าทักษะที่ตนมีอยู่มี ‘อายุขัย’ ประมาณ ปี คือหลังจากช่วงเวลานี้จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อสามารถทำงานต่อไปได้

โดยคนรุ่นใหม่ส่วนน้อย 9% เท่านั้นที่คิดว่าความรู้และทักษะของตนหมดอายุขัยแล้ว ประมาณ 19% มองว่าความรู้ที่มีปัจจุบันพอเพียงที่จะอยู่ใช้ไปตลอดชีวิ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่หรือประมาณ 52% ตอบว่าความรู้และทักษะของฉันจะต้องได้รับการเพิ่มเติมและพัฒนาใหม่อยู่เสมอซึ่งชี้ให้เห็นว่าเยาวชนส่วนใหญ่มีความตระหนักถึงความท้าทายในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและให้ความสำคัญกับ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ทั้งยังอาจสะท้อนถึงการมีแนวคิดแบบ Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโตซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในโลกที่เราต้องรู้ทันการเปลี่ยนแปลงและรู้จักปรับตัวตลอดเวลา

โดยเยาวชนแต่ละชาติคิดต่างกันอย่างค่อนข้างชัดเจน เยาวชนจากฟิลิปปินส์มีสัดส่วนคนที่ตอบว่าความรู้หมดอายุแล้วมากที่สุด คนเวียดนามมีสัดส่วนคนมีทัศนคติ Growth Mindset สูงที่สุดถึง 69% สะท้อนถึงความกระตือรือร้นเรียนรู้ของเขา ในขณะที่เยาวชนไทยเราดูจะมีความมั่นใจสูงที่สุดเพราะ 31% ของคนรุ่นใหม่บอกว่าความรู้และทักษะที่มีวันนี้น่าจะใช้ไปได้ตลอดชีวิต สูงที่สุดในภูมิภาคแบบทิ้งห่างประเทศอื่นๆ อย่างชัดเจน หากแปลงออกมาเป็นจำนวนปี เยาวชนไทยมองว่าอายุขัยของทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นยาวถึง 14ปี หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคถึง 55%

คำถามคือเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หากมองในแง่ดีอาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไทยได้รับการศึกษาที่ดีกว่าที่อื่นทำให้รู้สึกว่าความรู้และทักษะที่มีสามารถใช้ได้นานกว่าเยาวชนชาติอื่นๆ แม้แต่สิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อว่าโดดเด่นด้านการศึกษา หรือมองอีกมุมก็อาจเป็นไปได้ว่าเยาวชนเรายังไม่ตระหนักเต็มที่ถึงอายุขัยของความรู้ที่สั้นลง และยังไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตเท่าที่ควร โดยอีกตัวเลขหนึ่งที่ชี้ประเด็นนี้คือ สัดส่วนคนไทยที่ตอบแบบ Growth Mindset นั้นต่ำที่สุดในภูมิภาค อยู่ที่ 43% 

หากเป็นดังสมมติฐานที่สองจริงก็น่าเป็นห่วงและเป็นโจทย์สำคัญของประเทศว่า เราจะสร้างเสริมปลูกฝังความตื่นตัวและความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ให้เยาวชนเราได้อย่างไร หรือมีอะไรในระบบที่ทำให้ความกระหายอยากเรียนของเราจืดจางไป

 

การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน

 

เยาวชนอาเซียนให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้มากกว่าแค่ในห้องเรียน การสำรวจได้ถามทุกคนว่า เคยเปลี่ยนงานไหม หากเคยเปลี่ยนอะไรเป็นเหตุผลหลัก ค้นพบว่าเหตุผลอันดับหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานไม่ใช่เพื่อให้ได้เงินเดือนสูงขึ้นและไม่ใช่เพื่อความยืดหยุ่นในเวลาทำงานอย่างที่หลายคนอาจคิดกัน แต่เป็นการเปลี่ยนเพื่อโอกาสในการเรียนรู้ที่ดีกว่า แปลว่าหากองค์กรต่างๆ ต้องการจะดึงดูดและรักษาคนมีความสามารถไว้จำเป็นต้องสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้มากที่สุด ไม่ใช่เพียงให้แพ็คเกจดีๆ เท่านั้

แต่เมื่อลองถามว่าทักษะที่มีอยู่ปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มาจากที่ไหน พบว่าในหมู่เยาวชนที่ทำงานแล้วมีเพียง 14% ที่ตอบว่าเรียนรู้มาจากที่ทำงาน ซึ่งค่อนข้างต่ำเทียบกับการเรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ เช่น 36% จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 20% จากแหล่งอื่นๆ นอกห้องเรียน นอกจากนี้ยังค้นพบว่าเยาวชนที่ทำงานในภาค SME และธุรกิจครอบครัวมักมีการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากที่ทำงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมอย่างชัดเจน 

ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้สูงไม่ค่อยอยากทำงานในภาค SME และธุรกิจครอบครัวเท่าไรนัก เช่น ปัจจุบันร้อยละ 18% ของเยาวชนในแบบสำรวจทำงานอยู่ในภาค SME แต่มีเพียง 7% ที่ตอบว่าอยากทำงานในภาคนี้ในอนาคต ประเด็นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าต่อไปประเด็นขาดแคลนแรงงานของ SME อาจทวีความรุนแรงขึ้น และโจทย์ทางนโยบายที่สำคัญข้อหนึ่งคือการสร้างโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนที่ทำงานใน SME ที่อาจไม่มีทรัพยากรในการพัฒนาบุคคลากรมากเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่

 

ฝึกงาน การเรียนรู้แห่งอนาคต 

 

นักปราชญ์จีนโบราณเคยได้กล่าวไว้ว่าถ้าบอกฉัน ฉันก็ลืม ถ้าสอนฉัน ฉันอาจจะจำได้ แต่หากให้ฉันร่วมทำด้วย ฉันจะได้เรียนรู้ ในอนาคตที่โลกเปลี่ยนเร็วและการศึกษาเริ่มตามไม่ทัน การฝึกงานอาจยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในการเป็นสะพานเชื่อมภาควิชาการและภาคปฏิบัติ 

ผลการสำรวจเราพบว่า 81% ของคนรุ่นใหม่คิดว่าการฝึกงานนั้น ‘สำคัญเทียบเท่าหรือยิ่งกว่า’ การเรียนในโรงเรียน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก อาจชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาปัจจุบันอาจขาดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม เน้นทฤษฎีและขาดการฝึกปฏิบัติจริงทำให้เด็กเรียนเก่งจำนวนไม่น้อยหางานดีลำบาก 

ตรงนี้ก็อาจเป็นอีกส่วนที่นโยบายรัฐบาลสามารถช่วยส่งเสริมได้ เช่น ในสิงคโปร์มีหลายโครงการที่รัฐให้เงินสนับสนุนบริษัทเพื่อจ้างเด็กฝึกงาน เช่น โครงการ SME Talent Program ที่ทางรัฐจะชดเชยเงินค่าจ้างคนฝึกงานถึง 70% ของค่าใช้จ่ายหากมีการจัดโปรแกรมฝึกงานอย่างเหมาะสม

 

สมองไหล หรือ ลับสมอง

 

เกือบครึ่งหนึ่งของเยาวชนในอาเซียนบอกว่าสนใจจะลองทำงานในต่างประเทศภายใน ปีข้างหน้าและปรากฎว่าสัดส่วนของเยาวชนที่อยากทำงานข้างนอกของประเทศไทยนั้นสูงที่สุดในอาเซียน อยู่ที่ประมาณ 52% ในมุมหนึ่งอาจจะดูเป็นข่าวร้ายว่ามีปัญหาสมองไหลและต้องพยายามดึงให้เยาวชนอยู่ในประเทศ 

แต่หากมองจากอีกมุมหนึ่งการที่คนรุ่นใหม่ทำงานต่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสได้เรียนรู้ทักษะและความรู้ใหม่ๆ แล้วยังได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิตและทำงานในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองไม่คุ้นเคย สร้างเสริมความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันสิ่งที่น่ากลัวกว่าสมองไหลคือการที่เยาวชนต้องทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาทำให้เกิดอาการ ‘หมดไฟ’ ที่เป็นศัตรูตัวร้ายของ Growth Mindset และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การทำงานต่างประเทศจึงอาจไม่ใช่ ‘สมองไหล’ เสมอไป แต่อาจเป็นการช่วย ‘ลับสมอง’ เสริมทักษะและจุดประกายให้เยาวชนในอนาคตได้

 

สรุป ความรู้ฉันมีอายุเหลืออีกกี่ปี

 

ปี ที่เยาวชนเวียดนามตอบปี ที่เป็นค่าเฉลี่ยของอาเซียน หรือ 14 ปี ที่เยาวชนไทยตอบ

คำตอบคือคงไม่มีใครรู้แน่ แต่สิ่งที่สำคัญแท้จริงไม่ใช่ว่าความรู้เรามีชีวิตเหลืออีกกี่ปีแต่เป็นคำถามที่ว่า เราพร้อมที่จะต่อชีวิตใหม่ให้ความรู้และทักษะของเราแค่ไหนในวันที่มันหมดอายุขัย และมีวิธีอะไรบ้างที่สามารถสร้างทักษะและการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ บทสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าการเรียนรู้พัฒนาทักษะนอกห้องเรียนจะมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่วิธีเรียนรู้เหล่านี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษา

มิเช่นนั้นไม่ใช่แค่ความรู้ที่จะหมดอายุขัย แต่องค์กรที่ไม่รู้จักพัฒนาคนจะหมดอายุขัยลงเช่นกัน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save