fbpx
How do we regard and recall what Susan Sontag has so powerfully described as the “pain of others?”

How do we regard and recall what Susan Sontag has so powerfully described as the “pain of others?”

พ.ศ.2492 ปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและไม่ได้กลับมาอีกเลย เขาพำนักอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 21 ปี ตามด้วยอีก 13 ปีในฝรั่งเศส ปรีดีเสียชีวิตที่บ้านพักในอองโตนี ชานเมืองปารีส เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ขณะอายุได้ 83 ปี


พรีมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย, Chloropsis Aurifrons Pridii, 2564, ภาพนิ่งจากวิดีโอ

            “In our apartment, I grew up with the two armchairs which are featured in a famed photograph of Pridi and my great-grand aunt, Phoonsuk Banomyong sitting in their house in the suburb of Paris.”

พรีมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย, Chloropsis Aurifrons Pridi

38 ปีให้หลัง พรีมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย จัดแสดงนิทรรศการ Chloropsis Aurifrons Pridii ที่ Fulcrum Press ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยผลงานจัดวางและเลคเชอร์การแสดงสดว่าด้วยการค้นคว้าเกี่ยวกับปรีดีผู้มีศักดิ์เป็นลุงทวด ในบทบรรยาย ศิลปินเล่าถึงงานเขียนหลายเล่มทั้งนวนิยายจตุภาค The Sea of Fertility ของนักเขียนชาวญี่ปุ่น ยูกิโอะ มิชิม่า (Yukio Mishima) ที่กล่าวถึงการปฏิวัติ 2475 และเหตุการณ์ลี้ภัยของปรีดี หนังสือ Pridi by Pridi: Selected Writings on Life, Politics, and Economy ที่แปลโดยคริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร และหนังสืออัตชีวประวัติ Ma Vie Mouvementee et Mes 21 Ans d’Exile en Chine Populaire (ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ในภาคภาษาไทย)

เรื่องราวของปรีดีช่วงการลี้ภัยได้ร้อยเรียงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของพรีมาเองในฐานะผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานสู่ดินแดนอื่น  

            “While Pridi’s ultimate desire is to return to a country that does not want him, I am choosing to stay away. We are placed in our respective positions by the desire to be recognized by the very forces that seek to undo us: a Thailand in the grips of pro-monarchy conservatism for Pridi and the allure of eurocentric white masculinity for me.”

Chloropsis Aurifrons Pridii

ในบทนำของหนังสือ The Generation of Postmemory: Writing and Visual Culture After the Holocaust มารีแอนน์ เฮิร์สช์ (Marianne Hirsch) นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายยิวตั้งประเด็นเกี่ยวกับสายใยระหว่างคนรุ่นหลังกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่พวกเขาเกิดไม่ทัน (เฮิร์สช์หมายถึงการรับรู้ของลูกหลานชาวยิวต่อประสบการณ์และความทรงจำที่เกิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) เธอเรียกสายสัมพันธ์ดังกล่าวว่า ‘Postmemory’ หมายถึงการจดจำความทรงจำอันเลวร้ายของคนรุ่นก่อนโดยคนรุ่นหลังที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นโดยตรง แต่ผ่านสื่ออื่นอย่างเรื่องเล่า ภาพ และพฤติกรรมของบุคคลรายล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาด้วย (ว่าแต่เรายังสามารถเรียกมันว่า ‘ความทรงจำ’ ได้หรือไม่?)

            “Postmemory” describes the relationship that the “generation after” bears to the personal, collective, and cultural trauma of those who came before—to experiences they “remember” only by means of the stories, images and behaviors among which they grew up.”

The Generation of Postmemory: Writing and Visual Culture After the Holocaust, p. 5

คำนำหน้า ‘post’ บ่งบอกถึงระยะห่างทางกาลเวลา ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อสิ่งใดก็ตามที่อยู่หลังคำว่า ‘post’ เป็นความสัมพันธ์ชนิดที่ห่างไกล แต่ไม่แยกขาดจากกัน ขณะเดียวกันก็ไม่อาจเอื้อมคว้าสิ่งนั้น ราวกับปลายเส้นเชือกที่ห้อยตามหลังสิ่งที่มันผูกติดไว้อยู่เสมอ

ผลงานของพรีมาชวนให้นึกถึงมโนทัศน์ดังกล่าว เราจะรับรู้ ‘ความเจ็บปวดของผู้อื่น’ ของบรรพบุรุษที่เราไม่เคยได้ประสบด้วยตัวเองได้อย่างไร? เราจะพูดอะไรได้กับเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่เราไม่เคยพบ? แม้ผู้ลี้ภัยคนนั้นจะเป็นลุงทวดของเราก็ตาม?


พรีมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย, Chloropsis Aurifrons Pridii, 2564, ภาพนิ่งจากวิดีโอ


ปฏิบัติการ Postmemory ของพรีมาเกิดจากการปะติดปะต่องานเขียน เอกสารและภาพถ่ายที่ไม่เพียงบอกเล่าเกี่ยวกับการลี้ภัยของปรีดีเท่านั้น แต่ยังบอกถึงตัวตนของพรีมาที่เชื่อมโยงกับปรีดีด้วย ศิลปินเติบโตขึ้นมาในอพาร์ตเมนต์ที่มีเก้าอี้หวายสองตัวที่ปรีดีกับพูนศุขเคยนั่ง ในที่นี้ บาดแผลของปรีดีคือการต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อลี้ภัย ส่วนบาดแผลของพรีมาคือความกลัวที่จะกลับประเทศไทย มาตุภูมิกลายเป็นจุดเจ็บปวด กระนั้น แม้จะมีสายเลือดกับวัตถุภายในบ้าน (ที่ศิลปินไม่ได้อาศัยอยู่แล้วในปัจจุบัน) เป็นตัวเชื่อมโยง ประสบการณ์ความเจ็บปวดเชิงอารมณ์ของทั้งคู่ก็แตกต่างกัน เทียบเคียงกันได้ในบางแง่มุม แต่ไม่ได้ทาบทับกันสนิท ราวกับเป็น ‘เงา’ ของความทรงจำ (Postmemory ใช่ memory หรือไม่? หรือเป็นอะไรบางอย่างที่ติดสอยห้อยตามหลัง memory? หรือเป็น memory ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว?)

เลคเชอร์การแสดงสดของพรีมาเป็นการอ่านจดหมายที่ศิลปินเขียนถึงคนรักเก่า (ขึ้นต้นด้วย “Dear Chris”) เล่าถึงมิชิม่า นักเขียนคนโปรดของทั้งคู่ เรื่องเล่าเกี่ยวกับปรีดีจึงคู่ขนานไปกับการเล่าเรื่องวันเวลาแห่งการอ่านงานเขียนของมิชิม่าของพรีมา ปรีดีปรากฏตัวใน Runaway Horses และ The Temple of Dawn เล่มสองกับเล่มสามของจตุภาค The Sea of Fertility ส่วนหนังสืออัตชีวประวัติ Ma Vie Mouvementee et Mes 21 Ans d’Exile en Chine Populaire ที่ปรีดีเขียนเองนั้น พรีมามองว่าเป็นเสมือนหนังสือเล่มที่ห้าของมิชิม่า เนื่องจากว่าในปี พ.ศ.2513 ที่มิชิม่าจบเล่มที่สี่ Decay of the Angle รวมทั้งจบชีวิตตัวเองด้วยการคว้านท้อง เป็นปีเดียวกับที่ปรีดีตีพิมพ์อัตชีวประวัติของตัวเอง

Chloropsis Aurifrons Pridii คือการทำงานกับสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย การเขียน และการอ่าน แต่ทว่ามีแต่พรีมาเท่านั้นที่ได้สัมผัสจับต้องวัตถุที่เป็นทั้งตัวเชื่อมและตัวกั้นกลางระหว่างศิลปินกับอดีตของปรีดี ผู้ชมที่เฝ้ามองผ่านหน้าจอสัมผัสสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ได้เพียงแค่ดูและฟังผ่านภาพที่เกิดจากการประมวลผลทางดิจิทัล เมื่อศิลปินวางทุกอย่างลงบนเครื่องโปรเจคเตอร์ ผู้ชมก็เห็นแค่ภาพที่ผ่านหน้าจอออกมาอีกที เช่นนี้จึงมีชั้นบางๆ ของระยะห่างจากปรีดีถึงพรีมา และจากพรีมาถึงผู้ชม เป็นระยะห่างทั้งในเชิงกาลเวลาและกายภาพ ผู้ชมได้แต่มองหน้ากระดาษที่ถูกพลิก เราถูกกันออกมาจากการสัมผัส อุปมาได้กับความใกล้ชิดทางสายเลือดที่เราไม่มี… นี่อาจเป็นข้อจำกัดของการรับรู้ความเจ็บปวดของผู้อื่น ยิ่งห่างไกล ก็ยิ่งยาก


บ้านอองโตนี, ภาพจากหนังสือ ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์


ในขณะที่ Chloropsis Aurifrons Pridii อัดแน่นด้วย archival materials และเสียงเล่าเรื่อง ผลงานชื่อ Internal rhyme ซึ่งว่าด้วยการลี้ภัยของปรีดีเช่นกันโดย ปรัชญา พิณทอง นั้นเรียบนิ่งและเงียบสงัด วันหนึ่ง ศิลปินได้ไปยืนอยู่ที่หน้าบ้านพักของปรีดีที่อองโตนี รำลึกถึงเจ้าของบ้านผู้จากไปผ่านการวาดรูปฟันในปากของตัวเอง Internal rhyme เป็นชุดผลงานวาดเส้นด้วยดินสอเป็นรูปฟันซี่เล็กๆ บนกระดาษไข ศิลปินเชื่อมต่อความรู้สึกจากการยืนมองตัวบ้านที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า เข้ากับปลายดินสอในมือผ่านความรู้สึกของลิ้นที่สำรวจภายในปาก


ปรัชญา พิณทอง, Internal rhyme, 2558, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


สำหรับปรัชญาในฐานะ ‘คนนอก’ ปรีดีเป็นใครบางคนที่เขารู้จักจากประวัติศาสตร์ เป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าและภาพของอดีต ระยะห่างนี้ปรากฎชัดผ่านปฏิบัติการในความคิดคำนึง กระบวนการสร้างInternal rhyme จากสายตาสู่ปลายลิ้นและการขยับของมือเป็นช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถพูดอะไรได้ เปรียบดั่งภาวะแห่งความเงียบภายใต้ระบอบเผด็จการระบอบเดียวกันกับที่ผลักไสปรีดีออกนอกประเทศ ในแง่นี้ สายใยที่เชื่อมระหว่างปรัชญากับปรีดีมาจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ปฏิวัติสยามที่ปรีดีเป็นตัวแทนกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 ที่ยังคงยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน

Postmemory บ่งบอกว่าเรื่องราวยังไม่จบ แต่ยังดำเนินเรื่อยมาโดยเป็น troubling continuity การลี้ภัยของปรีดี (ที่ศิลปินเองไม่เคยได้ประสบ) จึงไม่ได้จบลงหลังความตายของเขา เพราะต้นตอของการลี้ภัยยังไม่ได้รับการชำระสะสาง และปัญหาในบ้านเกิดเมืองนอนยังคงสืบเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันขณะ ปรัชญาไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับปรีดี แต่ผลกระทบของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นเหตุแห่งการลี้ภัยกินวงกว้างระดับประเทศ ฟันซี่เล็กๆ บนกระดาษไขบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการพูดไม่ออกบอกไม่ได้

Internal rhyme คือภาพของ ‘จังหวะที่เกิดขึ้นภายใน’ อันปราศจากเสียง คือผลลัพธ์ของความพยายามถ่ายทอดในสิ่งที่ยากจะถ่ายทอด ศิลปินยืนอยู่หน้าบ้าน อ้อยอิ่ง ครุ่นคำนึง แต่ไม่อาจเข้าไปข้างในบ้าน ไม่แม้กระทั่งจะวาดภาพบ้านที่อยู่ตรงหน้า แต่วาดฟันในปากของตัวเอง

ผลงานวาดเส้นรูปฟันของปรัชญาบ่งชี้ช่องว่างของการมอง ศิลปินไม่ได้วาดภาพบ้านที่ตนกำลังมอง ผู้ชมจึงไม่เห็นบ้านในภาพเพราะบ้านไม่ได้เป็น ‘ต้นแบบ’ ของภาพตั้งแต่ต้น การออกไปวาดภาพนอกสถานที่ในกรณีนี้ไม่ใช่การเขียนภาพทิวทัศน์ตามที่ตาเห็น หากสิ่งที่ตาเห็นเป็นจุดตั้งต้นของการเดินทางสำรวจภายใน ผู้ชมจึงไม่เห็นภาพบ้านหลังนั้นที่ศิลปินเห็น เห็นแต่ฟันในปากของศิลปินที่เป็นร่องรอยของความรู้สึกจากการมองไปที่ตัวบ้าน ประหนึ่งว่าความทุกข์ใจจากการลี้ภัยของปรีดีเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้อย่างหมดจด เพราะจะจินตนาการอย่างไรก็ไม่อาจเข้าใจความเจ็บปวดของคนอื่นในอดีตได้อย่างถ่องแท้ เราทำได้เพียงค้นพบตัวตนของเราเอง…


ปรัชญา พิณทอง, Internal rhyme, 2558, ภาพถ่ายโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ


นอกเหนือไปจากบ้านของปรีดี ยังมีอาคารอีกหลังหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อความหมายของ Internal rhyme นั่นคือ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ที่ซึ่งผลงานกำลังจัดแสดงโดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเดี่ยวของปรัชญาชื่อ Extended Release อาคารหลังนี้เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังท่าพระ (วังตะวันตกบนถนนหน้าพระลาน) เพื่อพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ในสมัยรัชกาลที่ 5 วังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะหอศิลป์ของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา นิทรรศการ Extended Release เป็นนิทรรศการแรกหลังจากการบูรณะครั้งใหญ่ที่ใช้เวลาหลายปี  

คุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอในงานศิลปะของปรัชญาคือการเป็น Institutional Critique กล่าวคือ เป็นการวิพากษ์สถาบันในฐานะปฏิบัติการทางศิลปะอย่างหนึ่ง สถาบันที่ว่าก็หมายถึงพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์นั่นเอง (ปฏิบัติการศิลปะเชิงวิพากษ์นี้เกิดขึ้นในโลกตะวันตกในปลายทศวรรษ 1960 เมื่อศิลปินหันมาสร้างงานศิลปะที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถาบันที่ซื้อและแสดงงานศิลปะของพวกเขา ในช่วงเวลาดังกล่าว สถาบันทางศิลปะถูกมองว่าเป็น ‘ที่กักขังทางวัฒนธรรม’ ดังนั้นจึงสมควรถูกโจมตีทั้งในเชิงสุนทรียศาสตร์ เชิงการเมืองและเชิงทฤษฎี)

การติดตั้งผลงาน Internal rhyme บนโถงใหญ่ชั้นสองเป็นดั่งการพาปรีดีในห้วงคิดของศิลปินกลับคืนสู่มาตุภูมิอันเป็นที่โหยหา พามาอยู่ในพื้นที่อันเคยเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งของเขา ที่ซึ่งเคยมีภาพขนาดใหญ่ภาพหนึ่งอยู่เหนือโถงบันได…

ภาวะจำลองของการ “กลับบ้าน”

ในช่วงสุดท้ายของเลคเชอร์การแสดงสดของพรีมา ศิลปินกล่าวว่า Chloropsis Aurifrons Pridii นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทองหรือนกปรีดี เป็นชื่อที่สถาบันสมิธโซเนียนตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ปรีดี พนมยงค์ เส้นทางการอพยพของนกปรีดีคือการบินข้ามเทือกเขาหิมาลัย ศรีลังกา เพื่อกลับสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้   

          “I learnt that the Smithsonian Institute in Washington D.C. named a subspecies of golden-fronted leafbird after my great grand uncle: Chloropsis Aurifrons Pridii.

          The bird’s migratory pattern flies over the Himalayan chains, Sri Lanka, and back towards South East Asia.”

Chloropsis Aurifrons Pridii

เราอาจไม่สามารถ ‘รู้สึก’ ได้แบบเดียวกับที่ใครคนอื่นรู้สึก แต่เรารับรู้ความปรารถนาของเขาและทำให้เป็นจริงได้ อย่างน้อยก็ในเชิงจินตนาการ

อีกนัยหนึ่งนั้น จินตนาการที่เรารับรู้ก็คือภาพความหมายของตัวตนที่เราใช้ในการต่อต้านความเจ็บปวดในเชิงอุดมการณ์ Chloropsis Aurifrons Pridii และ Internal rhyme เชื่อมโยงเราเข้ากับความรู้สึก “ไกลบ้าน” ของผู้ลี้ภัยชาวไทยรุ่นหลังจากปรีดี หรือ “generation after” ในนิยามของเฮิร์สช์ คำ ‘post’ ใน ‘Postmemory’ จึงเป็นทั้งอดีตของคนรุ่นก่อนที่คนรุ่นหลังยังคงแบกรับ และเป็นปัจจุบันของคนรุ่นหลังเองเพราะอดีตนั้นยังไม่จบ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ เหตุแห่งการลี้ภัยก็ยังคงอยู่ที่จุดตัดอันแหลมคมระหว่างอุดมการณ์กษัตริย์นิยมกับประชาธิปไตย



หมายเหตุ

– ชื่อบทความนี้ตั้งขึ้นตามคำถามข้อหนึ่งในหนังสือ The Generation of Postmemory: Writing and Visual Culture After the Holocaust ผู้เขียนคือมารีแอนน์ เฮิร์สช์ ได้อ้างถึงประเด็นสำคัญในหนังสือ Regarding the Pains of Others ของซูซาน ซอนแทก (Susan Sontag) นักคิด นักเขียนชาวอเมริกันผู้มีบรรพบุรุษเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรปเช่นกัน

– นิทรรศการ Chloropsis Aurifrons Pridii โดยพรีมา ชาลีจันทร์-ศกุนตาภัย รับชมได้ผ่านเว็บไซต์ของ Fulcrum Press

– นิทรรศการ Extended Release โดยปรัชญา พิณทอง จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม-15 พฤษภาคม 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save