fbpx
มองเรื่องหนี้หลากมิติ : สำรวจปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ทำไมคนเป็นหนี้สูงและนาน

มองเรื่องหนี้หลากมิติ : สำรวจปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ทำไมคนเป็นหนี้สูงและนาน

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพ

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสแรกปี 2562 ว่ามีมูลค่ารวมกว่า 13 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.7 ต่อ GDP สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาสหากเทียบตั้งแต่ปี 2560 ส่งผลให้ไทยทะยานติดอันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอันดับที่ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก

แม้จะก้าวผ่านไตรมาสที่สองมาแล้ว แต่จำนวนหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในปริมาณเท่าเดิม อีกทั้งมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับ 6 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส แซงหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มเพียง 4.5 เปอร์เซ็นต์

ในบรรดาหนี้ทั้งหมด หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์ คือกลุ่มที่ขยายตัวมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมกู้ยืมเพื่อการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ของคนไทย ซึ่งอาจเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ฐานะการเงินของครัวเรือนไม่มั่นคง จนนำมาสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงินขององค์รวมได้ในยามที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ทั้งในไทยและในระดับโลก

การเร่งแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือเพื่อบรรเทาความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงิน ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงจัดงานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน” สำหรับเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องหนี้ครัวเรือนแก่สาธารณะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการ และตอบทุกคำถามเกี่ยวกับประเด็นหนี้ทั้งในและนอกระบบที่น่ากังวลในปัจจุบัน

เมื่อโลกกำลังเผชิญหน้าปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน

งานเสวนาเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability) ว่าเป็นประเด็นใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจในระดับสากล หลังปัญหาดังกล่าวส่งสัญญาณเตือนผ่านสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก

“รายงาน Global Financial Stability Report หรือ GFSR ของ IMF มีหัวข้อหนึ่งชื่อว่า Low-For-Long กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานในระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อระบบการเงินของทุกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคืออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve) ติดลบในตลาดทุนหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และเกิดการแลกเปลี่ยนพันธบัตรทั่วโลกด้วยอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นมูลค่ากว่า 15-17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สถานการณ์เหล่านี้สามารถสั่นสะเทือนโครงสร้างระบบการเงินโลกได้ในภายภาคหน้า

งานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน”
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำในระยะยาว จะเกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งผลกระทบต่อกำไรของธุรกิจธนาคารพาณิชย์และ Maturity Transformation กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในประเทศจะไม่สามารถหารายได้ให้เพียงพอกับภาระในอนาคต ส่วนธุรกิจประกันชีวิตที่ทำเรื่องการออมระยะยาว (Long-Term Saving) จะไม่สามารถหาผลตอบแทนมาจ่ายคืนได้” ดร.วิรไทกล่าว

“คนจะลงทุนปริมาณมากขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เราจะเห็นว่ามีธุรกิจบางส่วนเข้าไปลงทุนตราสารแปลกๆ มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นเพื่อหวังผลตอบแทนในอนาคต ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือมีกลไกตลาดที่รองรับเงินทุนไหลเข้าไม่ดีพอ ก็อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินในประเทศที่เป็นขารับของ Capital Flow เหล่านี้”

การออกแบบนโยบายระดับมหภาค (Macro-Prudential Policy) เพื่อช่วยกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบองค์รวมและรักษาเสถียรภาพของระบบ จึงกลายเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำกับดูแลและผู้ออกนโยบายในแต่ละประเทศ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในแง่ปฏิบัติ และมาตรการบางประเภทยังมีผลกระทบต่อคนบางกลุ่มจนอาจเกิดแรงต่อต้านได้ เช่น กรณีมาตรการ Loan-To-Value (LTV) ซึ่งถูกผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ร้องเรียนให้ยกเลิกมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อความมั่นคงทางการเงิน และเป็นเรื่องที่ ดร.วิรไท เจาะจงว่า “ไม่สามารถแก้ด้วยระดับมหภาคเพียงอย่างเดียว ต้องแก้ด้วยนโยบายระดับจุลภาค” คือปัญหาเรื่องการเป็นหนี้

“อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึง คือการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้” ดร.วิรไทให้ความเห็น “ปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงิน (financial stability) ส่วนหนึ่งแสดงออกผ่านหนี้ที่สูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นหนี้ธุรกิจหรือหนี้ครัวเรือน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยวิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผลประกอบการของบริษัททั่วโลกมีทิศทางชะลอลง ขณะเดียวกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ต่ำ บริษัทหลายแห่งจึงใช้โอกาสนี้กู้เงินเพื่อซื้อหุ้นของตนกลับมา ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (DE) เพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินของธุรกิจมากขึ้น เกิดเป็นความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้ และถ้าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสาขาในหลายประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็อาจกลายเป็นปัญหาของตลาดทุนหลายแห่งในเวลาเดียวกัน

“ด้านหนี้ครัวเรือน เราจะเห็นได้ชัดว่าระดับฐานะทางการเงินของครัวเรือนทั้งโลกต่ำลง ดังนั้นกันชนที่ครัวเรือนมีต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การว่างงานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะน้อยลง จนนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆ นอกจากเรื่องการเงินอย่างปัญหาสังคมได้” ดร.วิรไทกล่าว

ในแง่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ดร.วิรไทระบุว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแนวโน้มรายได้ของประชาชนสูงขึ้น แต่สัดส่วนการบริโภคกลับไม่เพิ่ม แสดงว่าประชาชนมีภาระหนี้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายงานล่าสุดที่เผยว่าจำนวนหนี้ครัวเรือนมีมากถึงร้อยละ 78.7 ของ GDP

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นจุดเปราะบางของประเทศ และเนื่องจากขนาดของปัญหามันใหญ่มาก การเร่งแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.วิรไทเน้นย้ำ “ฉะนั้น โจทย์ของเราในตอนนี้คือจะรื้อโครงสร้างหนี้ (restructuring) ที่มีเยอะในระบบ ทั้งหนี้ธุรกิจและหนี้ครัวเรือนได้อย่างไร มากกว่าคิดเรื่องเร่งปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจและครัวเรือนได้อย่างไร”

เมื่อคนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน

ถึงแม้ว่าคนไทยจะมีหนี้กันเป็นจำนวนมาก แต่ใช่ว่าหนี้ทุกก้อนจะกลายเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงิน

“ถ้าเรามีหนี้ แต่ไม่มีปัญหาหนี้เสียในวันนี้ และจะไม่มีปัญหาหนี้เสียในอนาคต ไม่ว่าหนี้ที่มีจะสูงเท่าไรก็ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ และมันแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการทางการเงิน”

ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงคุณสมบัติการเป็นหนี้ที่ดี 3 ประการ พร้อมชี้แจงว่าสิ่งที่สร้างผลกระทบต่อระบบการเงินคือการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่สถานะการเป็นหนี้ ทั้งนี้ การสร้างหนี้ที่มีคุณภาพจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไข 2 ข้อ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่ทัดเทียมกันของข้อมูลระหว่างผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ (Asymmetric Information) จากฝั่งสถาบันการเงิน และฐานะทางการเงินของครัวเรือนที่สามารถปลดหนี้ รวมถึงรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต

ในทางกลับกัน ถ้าสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กู้ได้ง่าย ให้แก่ครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอ โดยวัดจากสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ภาระหนี้ต่อเดือน ระยะเวลาผ่อน และอัตราการเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL) ทั้งหมดนี้ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงไปสู่วิกฤตทางการเงินได้

งานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน”
ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตจากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของดร.สรา จึงติดตามสถานการณ์ 4 มิติ ทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ฐานะทางการเงินของครัวเรือน สัญญาณของการผิดนัดชำระหนี้ในปัจจุบัน และความเสี่ยงที่จะเป็น NPL ในอนาคต

จากการศึกษา ดร.สรา พบว่าภาพรวมทั้ง 4 มิติ “ดูไม่ค่อยดี” เท่าไรนัก ฝ่ายสถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อง่ายขึ้นเพราะต้องการแข่งขันหาผู้กู้จำนวนมาก ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีความเปราะบางเพราะออมน้อยลง เป็นหนี้สูง เป็นหนี้เร็ว และเป็นหนี้นาน ด้านสัญญาณของการผิดนัดชำระหนี้ในปัจจุบัน แม้จะมีสัดส่วน NPL ไม่สูง แต่ไม่อาจชะล่าใจ เพราะเมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิด NPL ในอนาคตโดยการจำลองให้ตัวอย่างครัวเรือนในประเทศมีรายได้ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์จากเดิม พบว่าจำนวนครัวเรือนที่ไม่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้กว่าครึ่งหนึ่งมีปัญหาทางการเงินทันที

ดร.สรา วิเคราะห์ว่าจุดเริ่มต้นของหนี้ครัวเรือนมาจากพฤติกรรม “ออมน้อย เป็นหนี้สูง เป็นหนี้นาน” ของคน ซึ่งส่งผลถึงฐานะทางการเงินและการก่อหนี้ต่อไปในระยะยาว

“เราใช้ข้อมูลจากแบบสำรวจเศรษฐกิจและสังคมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาดูว่าถ้านำรายรับลบด้วยรายจ่ายจำเป็น ซึ่งเรานิยามว่าเป็นปัจจัยสี่ บวกกับค่าเล่าเรียนและค่าเดินทาง จะมีรายรับที่ไม่พอกับรายจ่ายจำเป็นเท่าไร

“สิ่งที่ทำให้รายรับไม่พอรายจ่ายคือภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือน การเป็นหนี้สูง มีจุดเริ่มต้นไม่ดี ใช้จ่ายเกินตัว (overspend) จนมีหนี้ เช่นหนี้บัตรเครดิต ทำให้ครัวเรือนขัดสน” ดร.สรา กล่าว

แม้ว่าด้านหนึ่ง รายได้ที่มั่นคงของครัวเรือนจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จากการศึกษาของดร.สราพบว่ายิ่งคนมีรายได้มั่นคงมากขึ้น กลับยิ่งออมน้อยลง ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบระหว่างครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาการเงิน กับครัวเรือนที่มีทั้งหนี้และปัญหาการเงิน กลุ่มหลังมีแนวโน้มจะใช้จ่ายอย่างชะล่าใจมากกว่ากลุ่มแรกมาก

“คนเจนหลังๆ อย่างเจนวายก็ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะเข้าถึงเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ชอปปิ้งออนไลน์” ดร.สราเผยผลการศึกษาเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยี “การชอปปิ้งออนไลน์ มีแนวโน้มทำให้คุณใช้จ่ายมากกว่าคนที่ซื้อของออฟไลน์ 40 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย เพราะขาดสติยั้งคิด เห็นลดแลกแจกแถม กดคลิกเดียวได้ของถึงที่”

คำถามถัดมาที่เกิดขึ้นในวงเสวนา คือการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการเพิ่มรายได้ให้เพียงพอกับการปลดหนี้นั้นเป็นผลดีหรือไม่ ในส่วนนี้ดร.สราให้คำตอบว่า “เมื่อวัดจากความโน้มเอียงของการบริโภคเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume) คือถ้าเราเพิ่มรายได้ 1 บาท เขาจะนำไปทำอะไร ผลคือกลุ่มที่มีวินัยทางการเงิน เขาจะแบ่งส่วนหนึ่งไว้ออม แต่กลุ่มที่มีไม่มีวินัย ก็นำไปใช้จ่ายและใช้หนี้จนหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราเพิ่มเงินให้กลุ่มที่ไม่มีวินัย ย่อมขาดประสิทธิผลในการแก้ปัญหา เพราะพฤติกรรมเดิมๆ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม”

“แล้วเราหมดหวังแล้วหรือเปล่า ครัวเรือนไทยมีศักยภาพในการปลดหนี้หรือไม่ ถ้าเราลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มาโปะหนี้ที่ดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิต ทำอย่างอดทนอดกลั้น ก็ถือว่ายังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ดร.สราชี้ให้เห็นผลลัพธ์ผ่านแบบจำลองภาพครัวเรือนที่มีหนี้หลังตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมาจ่ายหนี้ว่ามีความใกล้เคียงกับภาพครัวเรือนที่ไม่มีหนี้

ดังนั้น ดร.สราจึงมองว่า “การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคือการทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม” พร้อมเสนอให้ครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาทางการเงินลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 3 อันดับแรก ได้แก่ รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว เสื้อผ้า และการรับประทานอาหารนอกบ้าน

“สุดท้าย การออมน้อยจะทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ จากข้อมูลแสดงการกระจายได้ (GINI coefficient) ของสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศมีการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น แต่ทำไมการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการเงินสูงสุดกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นเพราะขึ้นอยู่กับการบริหาร flow ของรายได้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ (stock of asset) และการออมเป็นเรื่องสำคัญ” ดร.สราทิ้งท้าย

เมื่อ ‘หนี้ในระบบ’ คือปัญหาที่ต้องมองหลายมิติ  

จากงานศึกษาในภาพกว้าง มาสู่การเจาะลึกสถานการณ์หนี้ในระบบของคนไทยผ่านงานวิจัยของ ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของเครดิตบูโรปี 2561 และข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“ข้อเท็จจริงแรกที่เราพบคือคนไทยส่วนใหญ่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก” ดร.โสมรัศมิ์เริ่มต้นอธิบาย “82 เปอร์เซ็นต์ของผู้กู้มีหนี้เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนตัว สัดส่วนนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศถือว่าสูงกว่าเพื่อน เพราะหนี้ส่วนใหญ่ของคนต่างประเทศจะเป็นหนี้บ้านหรือหนี้ธุรกิจ นี่จึงเป็นประเด็นที่น่ากังวล”

งานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน”
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

อีกหนึ่งความน่ากังวลคือการกระจุกตัวของหนี้บ้าน ซึ่งดร.โสมรัศมิ์เล่าว่า “เราพบว่าในปัจจุบัน คนไทยที่มีหนี้บ้านมีจำนวนแค่ 15.3 เปอร์เซ็นต์จากผู้กู้ทั้งหมด แต่ถ้าเราดูปริมาณหนี้ กลับมีมากถึง 47.2 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งระบบ และมีการกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรงนี้มีข้อสังเกตว่าถ้ามีเหตุการณ์ทำให้คนที่มีหนี้บ้านไม่สามารถจ่ายหนี้คืน ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้”

ด้านรายละเอียดพฤติกรรมการกู้ ผู้กู้กว่า 67 เปอร์เซ็นต์จะกู้จากสถาบันการเงินประเภทเดียว และกู้จากสถาบันการเงินเดียว 57 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่มักกู้จากผู้ให้บริการทางการเงินแบบ non-bank แต่ปริมาณหนี้ส่วนมากกลับอยู่ในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions: SFIs)

“ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ณ ปีล่าสุด 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้และมูลหนี้เฉลี่ยอยู่ในระดับสูง คือ 500,000 บาท ถ้าดูภาพรวม 9 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า สัดส่วนของคนไทยที่มีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมูลหนี้ต่อหัวก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปกติเมื่อเรามีการพัฒนาเศรษฐกิจ จะทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Access) ต่างๆ มากขึ้น

“แต่ขณะเดียวกัน หนี้ที่โตขึ้นกลับโตในผู้กู้เดิม มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 5 ที่ไปโตกับผู้กู้ใหม่ ดังนั้นก็อาจหมายความว่าการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Access) ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่คาด” ดร.โสมรัศมิ์ตั้งข้อสังเกต “และถ้าดูทางฝั่งของหนี้เสีย พบว่าจำนวน 1 ใน 6 ของคนเป็นหนี้ จะมีหนี้เสียอยู่ในระดับสูง แม้โดยรวมสัดส่วนจำนวนผู้กู้ที่มีหนี้เสียจะลดลง แต่ปริมาณหนี้เสียต่อผู้กู้รายคนเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ดร.โสมรัศมิ์ยังชี้ว่าจำนวนหนี้ที่โตขึ้นในผู้กู้กลุ่มเดิม สะท้อนว่าคนมีแนวโน้มกู้จากสถาบันการเงินหลายแห่งมากขึ้น

“เราพบว่ามีผู้กู้แค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ที่ถือบัญชีเดียว ที่เหลือมีหลายบัญชี ซึ่งจัดว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะเหมือนกัน มีผู้กู้ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ที่ถือมากกว่า 5 บัญชี สัดส่วนผู้กู้หลายบัญชีมีมากขึ้น เมื่อเราลองวิเคราะห์สินเชื่อประเภทบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ผลที่ได้สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตคือยิ่งกู้มากบัญชี มากสถาบันการเงิน ยิ่งทำให้หนี้มีคุณภาพดี แต่ในฝั่งสินเชื่อส่วนบุคคล ยิ่งมากบัญชี มากสถาบันการเงิน ยิ่งทำให้หนี้มีคุณภาพด้อยลง”

“ด้านผู้กู้ใหม่ในแต่ละปี เราพบว่ามีแนวโน้มเด็กลงเรื่อยๆ และผู้กู้ใหม่มีพฤติกรรมกู้หลายบัญชีเพิ่มมากขึ้น” ดร.โสมรัศมิ์กล่าวพร้อมระบุว่า การมีผู้กู้หลายบัญชีและผู้กู้ที่เด็กลงส่งผลให้หนี้มีคุณภาพด้อยลง และนำมาสู่อีกหนึ่งประเด็นน่าเป็นห่วงคือคนไทยมีหนี้เร็ว

จากการสำรวจสัดส่วนประชากรที่มีหนี้ตามรายอายุ เผยให้เห็นว่าคนอายุ 25-35 ปีจำนวนครึ่งหนึ่งในปัจจุบันเริ่มต้นก่อหนี้แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนเมือง กู้จาก non-bank และเป็นหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งการก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อยยังสร้างปัญหาหนี้เสียมากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่นอีกด้วย

นอกจากเป็นหนี้เร็ว คนไทยยังประสบปัญหาเป็นหนี้นาน กระทั่งแก่ตัวลงยังมีหนี้คงค้างจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร

“เราเห็นชัดว่าคนที่เป็นหนี้จนแก่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คำถามคือปัจจัยอะไรบ้างที่ผลักดันให้เกษตรกรมีหนี้เยอะ” ดร.โสมรัศมิ์ตอบคำถามนี้ด้วยข้อมูลจากธ.ก.ส. เกี่ยวกับสินเชื่อเฉลี่ยต่อหัวใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยแยกเป็นประเภทสินเชื่อที่ก่อใหม่ในแต่ละปี หนี้คงค้างจากปีอื่น หนี้ที่กู้ไปเพื่อทำการเกษตรและกู้ไปเพื่อการบริโภค

“เราพบว่าเวลาผ่านไป เกษตรกรมีการสะสมหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหนี้ที่กู้ยืมไปทำการเกษตรในแต่ละปีเพราะไม่สามารถจ่ายคืนได้ นี่เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างภาคเกษตร มีปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรของเรายังอยู่ในวงจรหนี้ ตราบใดที่เกษตรกรไม่มีรายได้ที่ดีขึ้นก็จะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้” ดร.โสมรัศมิ์อธิบาย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหนี้เสียเกิดการกระจุกตัวในภาคใต้ โดยสัมพันธ์กับราคายางพาราอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเองก็มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสีย เช่น นโยบายรถคันแรก ดึงดูดให้คนที่ฐานะการเงินยังไม่พร้อมเข้ามากู้ ทำให้การเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้คนที่กู้แล้วเข้าถึงหนี้ใหม่ได้น้อยลง

แน่นอนว่าเมื่อดูปัจจัยฝั่งผู้กู้แล้ว ย่อมต้องมองพฤติกรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ซึ่งดร.โสมรัศมิ์เล่าว่า “มีการแข่งขันที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยแข่งกันสูงในสินเชื่อบัตรเครดิตและรถยนต์ แข่งกันสูงในกลุ่มผู้กู้อายุน้อย และแข่งกันสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล” อีกทั้งคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของสถาบันการเงินแต่ละที่ยังแตกต่างกัน บางแห่งไม่ว่าจะปล่อยสินเชื่อประเภทใดก็มีหนี้เสียสูงตลอดเวลา หรือมีคุณภาพสินเชื่อด้อยกว่ารายอื่น โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ ดร.โสมรัศมิ์พบว่ามีแนวโน้มคุณภาพด้อยลงเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของคำพูดว่า “การมองภาพหนี้ครัวเรือนหรือคุณภาพของสินเชื่อ มองแค่ประเภทสถาบันการเงินไม่ได้ แต่ต้องมองให้ลึกไปถึงระดับสถาบันการเงินใดสถาบันการเงินหนึ่ง หรือประเภทของสินเชื่อด้วย เพราะจากคุณภาพจะส่อถึง risk taking behavior ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสถาบันการเงิน”

ดร.โสมรัศมิ์ยังย้ำอีกว่า “นโยบายหนี้ครัวเรือนต้องไม่ใช่นโยบายแบบ one size fit all” แต่ต้องสร้างนโยบายระดับจุลภาคที่เจาะลึกถึงประเภทสินเชื่อ พฤติกรรมของสถาบันการเงินและผู้กู้บางกลุ่ม มองภาพรวมสินเชื่อของผู้กู้แต่ละรายทุกๆ สถาบันการเงิน แก้ไขปัญหาทั้งฝั่งของผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ อีกทั้งการออกนโยบายจำเป็นต้องมองให้ไกลกว่าการแก้หนี้ เช่นการป้องกันปัญหาเรื่องหนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจบางอย่างที่ทำให้คนบางกลุ่มยังเป็นหนี้ และการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินของคนเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ

เมื่อ ‘หนี้นอกระบบ’ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข

การมองภาพรวมของปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่อาจวิเคราะห์จากข้อมูลหนี้ในระบบเท่านั้น แต่ต้องมองถึงปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานเช่นกัน

“คำว่าหนี้นอกระบบ หมายถึงหนี้ที่ไม่ได้กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน สหกรณ์ หรือองค์กรการเงินใดที่มีหน่วยงานคอยกำกับดูแล ในความเป็นจริงหนี้นอกระบบมีทั้งหนี้ที่ถูกกฎหมายและหนี้ที่ผิดกฎหมาย หนี้นอกระบบที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าถ้าใครก็ตามที่ให้กู้ ไม่ใช่ในเชิงการค้า แต่คิดตามอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ร้อยละ 15 จะถือว่าเป็นหนี้ที่ถูกกฎหมาย ส่วนหนี้ผิดกฎหมายคือคิดอัตราดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 และมีการติดตามที่คุกคามรุนแรง”

วราทิพย์ อากาหยี่ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เริ่มต้นประเด็นด้วยการให้ความรู้เรื่องนิยามและประเภทของหนี้นอกระบบ

“หนี้นอกระบบมีทั้งกู้รายเดือนและรายวัน การกู้รายเดือนเป็นการกู้ตามปกติทั่วไป บางครั้งผู้กู้จะถูกหักหัวคิว ส่วนการกู้รายวัน บางครั้งเกิดปัญหาการกู้แบบดอกเบี้ยลอย ซึ่งคนปล่อยกู้จะตามไปเก็บเงินทุกวัน หมายความว่าผู้กู้ต้องจ่ายเงินให้ทุกวัน แต่เงินที่จ่ายไปมักไม่ถูกนำไปรวมกับเงินต้น เพราะผู้ปล่อยกู้ถือว่าเป็นเพียงดอกเบี้ย การจะปิดหนี้ได้มีแค่การหาเงินต้นเป็นเงินก้อนมาใช้คืน และถ้าวันไหนที่ไม่มีเงินจ่าย จะมีคนมาติดตามหนี้และอาจเกิดการทำร้ายอย่างที่เป็นข่าว” วราทิพย์กล่าว

งานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน”
วราทิพย์ อากาหยี่ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

จากการศึกษาฐานข้อมูลโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนกว่า 11.4 ล้านคน พบว่าคนที่มีหนี้นอกระบบและมีรายได้น้อยจำนวน 1.25 ล้านคน มูลค่าหนี้รวม 68,000 ล้านบาท เฉลี่ยต่อรายประมาณ 50,000 บาท และกระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ ตามลำดับ

ส่วนข้อมูลจากแบงก์ชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2556 แสดงให้เห็นว่าคนจำนวน 4.23 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของสถาบันการเงิน และ 3.53 เปอร์เซ็นต์ยังคงเลือกกู้เงินจากนายทุนเงินกู้นอกระบบ

“สาเหตุส่วนใหญ่ของการเป็นหนี้นอกระบบที่เราพบ คือรายได้ไม่เพียงพอ เมื่อรายได้ไม่พอก็ต้องไปกู้เงิน คนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินก็จำเป็นต้องไปกู้เงินนอกระบบ ซึ่งทำได้ง่าย ได้เงินด่วนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน แต่มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างแพง คนเหล่านี้จะไม่ได้นึกถึงเวลาชำระหนี้ว่าถ้าเขาไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ อะไรจะเกิดขึ้น” วราทิพย์เล่าความเชื่อมโยง

ความเห็นของผู้ติดตามสถานการณ์หนี้นอกระบบมายาวนานอย่างวราทิพย์มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างพยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเด่นชัดเพราะขาดการทำงานร่วมกัน ดังนั้น ทางกระทรวงการคลังจึงเสนอทางแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืนใน 5 มิติเพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

“มิติแรกคือการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ผ่านการบังคับใช้พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 อย่างจริงจัง กฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าเจ้าหนี้อยากปล่อยกู้ ดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 ถ้าเกินถือว่าผิดกฎหมาย ต้องถูกลงโทษตามพรบ. ซึ่งตอนนี้มีกำหนดโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” วราทิพย์ชี้แจง พร้อมเผยว่าที่ผ่านมามีเจ้าหนี้นอกระบบผิดกฎหมายถูกจับกุมดำเนินคดีแล้วทั้งหมด 5,297 ราย

นอกจากนี้ยังใช้วิธีการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อในระบบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหามิติที่สอง ว่าด้วยเรื่องการเพิ่มช่องทางของสินเชื่อในระบบเพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดีมากขึ้น

“เราจัดทำสินเชื่อประเภทหนึ่งคือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ รู้จักกันในชื่อสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงคนที่เข้ามาทำธุรกิจประเภทนี้ จะต้องทำภายในพื้นที่ที่กำหนดหรือภายในจังหวัด และคนกู้ต้องอยู่ในจังหวัดนั้น เพราะเรามองว่าการที่เขาจะเข้าถึงสินเชื่อได้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องรู้จักกัน มีความคุ้นเคยกัน” วราทิพย์อธิบาย

“สินเชื่อตัวนี้มีทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ทำให้เข้าถึงง่ายกว่าการหาสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่มีรายละเอียดมากมาย และเรากำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้ปล่อยกู้ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท ปล่อยกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ภายหลังเรายังเพิ่มสินเชื่อพิโกพลัส ขยายวงเงินให้ถึง 100,000 บาทอีกด้วย”

ปัจจุบัน สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 710 ราย ใน 72 จังหวัด และเปิดดำเนินการแล้ว 590 รายใน 68 จังหวัด นับเป็นก้าวที่ดีสำหรับการส่งเสริมให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินภายใต้การกำกับดูแลอย่างถูกต้อง

มิติที่สามของแผนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ คือการลดภาระหนี้ด้วยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่านคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด เพราะแต่เดิมลูกหนี้มักมีปัญหาจ่ายเงินไม่ตรงเวลา ทำให้ดอกเบี้ยทบเงินต้นไปเรื่อยๆ จนหนี้ทั้งหมดสูงกว่าเงินที่กู้ไป ซึ่งขณะนี้ทำการไกล่เกลี่ยไปแล้ว 2,374 เรื่องจากทั้งหมด 5,590 เรื่อง

“อย่างไรก็ตาม ปัญหาในมิตินี้ที่เราเจอคือ ลูกหนี้กลัวว่าถ้ามาไกล่เกลี่ยแล้ววันหนึ่งเขามีความจำเป็นต้องใช้เงินอีกจะไปกู้ไม่ได้” วราทิพย์กล่าวพร้อมให้ความเห็นว่า “ขณะเดียวกัน พอไกล่เกลี่ยไปแล้ว คนที่จะมากู้แบงก์ต่อได้ต้องมีศักยภาพในการชำระหนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไกล่เกลี่ยแล้วไม่มีศักยภาพไปกู้”

ดังนั้น แผนงานถัดมาในมิติที่สี่ จึงเป็นเรื่องการเพิ่มศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้นอกระบบ ผ่านการฝึกอาชีพ สร้างโอกาสให้มีงานทำ และมีความรู้ทางการเงิน จัดทำโดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบใน 77 จังหวัด

ในมิติสุดท้าย วราทิพย์ระบุว่า “เราอยากให้องค์กรชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในพื้นที่ของเขาเอง ให้มีการพัฒนาเครือข่ายขององค์กรการเงินของชุมชน ตั้งเป็นสถาบันการเงินหรือกลุ่มออมทรัพย์ ดำเนินการในลักษณะคล้ายกับแบงก์ย่อยๆ ซึ่งปัจจุบันนี้มีพรบ.สถาบันการเงินประชาชน เพื่อยกระดับสถาบันการเงินเหล่านี้ให้มีกฎหมายรองรับ”

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่มาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่สถาบันการเงินบางแห่งเช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ยังเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการออกสินเชื่อที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่มีหนี้นอกระบบ วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน รวมถึงติดตามคนเป็นหนี้นอกระบบจำนวน 800,000 คนเพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือผ่านกลไกไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ การขอสินเชื่อ และพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 474,849 ราย จึงเป็นที่แน่ชัดว่าถ้ามีความร่วมมือจากหลายฝ่าย ย่อมนำไปสู่ทางออกของปัญหาได้ และในอีกทางหนึ่งก็หมายถึงความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอีกด้วย

“การที่เราจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ว่าต้องพยายามหาทางให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่เราต้องการให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และต้องทำการออมเงินเพื่ออนาคต” วราทิพย์กล่าวส่งท้ายงานเสวนา

งานเสวนาเรื่อง “ถอดรหัสปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เร่งแก้อย่างไรให้คนไทยอยู่อย่างยั่งยืน”

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save