fbpx
เราจะอยู่กันอย่างไรในวันพรุ่งนี้ 4 มิติชีวิตในบ้านแห่งอนาคต

เราจะอยู่กันอย่างไรในวันพรุ่งนี้ 4 มิติชีวิตในบ้านแห่งอนาคต

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

เราพูดกันถึงเมืองแห่งอนาคต ประชากรจะล้นโลก อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในอนาคต และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ถ้าถามว่า แล้ว ‘บ้าน’ ที่เราจะอยู่อาศัยในอนาคตล่ะ จะมีหน้าตาหรือการใช้งานที่แตกต่างไปจากบ้านในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

 

บ้านในอนาคต คือบ้านที่เทคโนโลยีต่างๆ แทรกซึมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยในแทบทุกมิติ เวลาพูดถึงเทคโนโลยี เราอาจนึกถึงความลำบากยุ่งยาก หรือค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ย่อมมีราคาแพง แต่ในอนาคตอันใกล้ (หรือแม้แต่ในปัจจุบันนี้) เทคโนโลยีหลายอย่างเริ่มจับต้องได้ ใช้งานได้ง่าย และมีการผนวกหรือควบรวมเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างที่หลายคนอาจจะอยากได้มานานแล้ว

ไปสำรวจเทคโนโลยีในบ้านแห่งอนาคตกันครับ

 

1. ว่าด้วยประชากรสูงวัย

 

อย่างที่เราคงรู้กันอยู่ ว่าโลกในอนาคต (อันใกล้) นี้ แทบทุกประเทศจะต้องเผชิญหน้ากับสังคมสูงวัย คำถามก็คือ ถ้าโลกเต็มไปด้วยผู้สูงวัย แล้วจะมีลูกหลานที่ไหนมาคอยดูแลใส่ใจใกล้ชิดล่ะครับ คำตอบก็คือไม่มีหรอกครับ หรือมีก็น้อยมาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่จะต้องเป็นกำลังสำคัญของการสร้างผลิตภาพในสังคม ก็เลยต้องใช้เวลาไปกับการทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูคนรุ่นก่อน ครั้นจะให้ผู้สูงวัยดูแลกันเอง ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้น เทคโนโลยีต่างๆ จึงเข้ามามีส่วนเรื่องนี้ได้มาก

ผู้สูงวัยยุคใหม่จะต้องอยู่คนเดียวได้ อยู่คนเดียวในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะต้องเหงาหรืออ้างว้างเปล่าเปลี่ยวนะครับ  เพียงแต่ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้ใช้เวลาที่เหลือในการออกไปสังสันทน์กับเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน ออกไปเดินทางท่องเที่ยว หรือกระทั่งยังออกไปทำงานได้

เทคโนโลยีหลายอย่างได้รับการออกแบบมาเพื่อให้คนสูงวัยใช้ชีวิตได้อย่างเป็นอิสระ (Independently) แต่ก็ยังปลอดภัย (Safely) ด้วย เช่น ในญี่ปุ่น มีการออกแบบหุ่นยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เรียกว่า Carebots ซึ่งมีตั้งแต่ตัวใหญ่มีรูปลักษณ์แบบมนุษย์ (เรียกว่า Humanoid Bots) ที่สามารถยกผู้ป่วย ช่วยการเดิน หรือย้ายข้าวของ ย้ายเฟอร์นิเจอร์ได้ คือทำตัวเป็นผู้ช่วยได้เหมือนคนจริงๆ เลย ไปจนถึงเทคโนโลยีเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ เช่น บริษัท Philips ก็คิดค้นระบบ Philips HomeSafe Auto Alert System ข้ึ้นมา คือให้ผู้สูงวัยใส่จี้ห้อยคอที่คอยส่งข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับร่างกายเอาไปวิเคราะห์ ถ้าหากมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ก็จะมีสัญญาณเตือน รวมไปถึงการเตือนให้ไปพบแพทย์ตามกำหนดด้วย

นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังจำเป็นต้องกินยาเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็มีเทคโนโลยี Pill Bottle หรือขวดยาที่คอยบอกว่าผู้สูงวัยนั้นๆ ถึงเวลากินยาหรือยัง และที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อกินไปแล้วก็จะรู้ด้วยว่าไม่ต้องกินอีก เพราะผู้สูงวัยบางคนจะจำไม่ค่อยได้ว่ากินยาไปแล้วหรือยัง Pill Bottle ที่อยู่ในบ้านจึงช่วยเรื่องนี้ได้

 

2. วิเคราะห์ร่างกาย

 

หลายคนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับอุปกรณ์ติดตามตัวประเภท Wearable Devices ต่างๆ กันดีแล้ว แต่จะดีกว่าไหม ถ้าอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านของเรา จะเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ให้เราไปด้วย เพราะบ้านคือที่ที่เราใช้เวลาอยู่นานที่สุดในแต่ละวัน ถ้าจะเก็บข้อมูลสุขภาพต่างๆ ที่บ้าน ก็น่าจะสามารถทำได้สะดวก

ตัวอย่างของเทคโนโลยีในบ้านที่จะคอยเก็บข้อมูลของเราไปวิเคราะห์มีอาทิ ‘กระจก’ ที่พอส่องดูหน้าตาของเราแล้ว มันจะบอกได้เลยว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไร ในอนาคต กระจกในห้องน้ำของเรานี่แหละครับ จะเป็นเหมือนเครื่องวัดสุขภาพเล็กๆ ให้เราได้ เพราะเทคโนโลยี Face Detection ที่ละเอียด (และราคาถูกลง) จะบอกได้ตั้งแต่ความแห้งของผิว การดื่มน้ำ ไปจนถึงอัตราการหายใจ สีผิว การไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงการตรวจวัดรูปร่าง แล้วก็ให้คำแนะนำต่างๆ กับเรา

ตัวเครื่องชั่งน้ำหนักเองก็สำคัญนะครับ ตอนนี้มีหลายบริษัทที่ผลิตเครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะที่บอกข้อมูลหลายอย่างได้ ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ของไขมัน น้ำ หรือค่า BMI (Body Mass Index) เพื่อให้เราไปดูแลตัวเองต่อ แต่ในอนาคต เครื่องชั่งน้ำหนักธรรมดาๆ ในบ้านของเรานี่แหละ ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเอาไปเก็บไว้ให้คุณหมอหรือโรงพยาบาลคอยวิเคราะห์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ รวมไปถึงความดันโลหิตหรือระดับคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง ก็คือแปรงสีฟัน เทคโนโลยีล่าสุดทำให้แปรงสีฟันประเภทแปรงสีฟันไฟฟ้านั้น สามารถติดตั้งเซนเซอร์ต่างๆ เอาไว้ที่แปรงได้ แล้วก็เชื่อมโยงเข้ากับ app ต่างๆ ในมือถือของเรา ข้อมูลที่ได้จากแปรงสีฟันนี้ จะบอกได้ว่า สุขภาพฟันและเหงือกของเราเป็นอย่างไร แถมยังส่งข้อมูลไปให้ทันตแพทย์ของเราคอยวิเคราะห์และจับตาดูสุขภาพฟันของเราได้อีกด้วย

 

3. อาหารการกิน

 

ครัวถือเป็นหัวใจของบ้าน และในอนาคต ครัวก็จะพัฒนาล้ำยุคไปไกลกว่าที่เราคาดคิดในหลายเรื่อง

อย่างแรกสุดที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือเครื่องล้างจาน ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องล้างจานที่ ‘ฉลาด’ ขึ้นมาก คอยดูแลตั้งแต่การไหลของน้ำที่เหมาะสม แล้วเครื่องล้างจานยุคใหม่แห่งอนาคต จะใช้น้ำยาล้างจานน้อยลงมากจนถึงไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็ได้ เพราะบ่อยครั้งแค่ใช้น้ำอุณหภูมิต่างๆ ก็เพียงพอแล้วต่อการทำความสะอาด ที่สำคัญ เครื่องล้างจานยุคใหม่ยังสามารถเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ด้วย และบางรุ่นก็อาจเป็นเครื่องล้างจานที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานให้เราได้อย่างที่เราอาจคิดไม่ถึง

อย่างที่สองที่สำคัญมากก็คือตู้เย็น ซึ่งถือเป็นหัวใจของครัวอีกต่อหนึ่ง ปัจจุบันนี้ เรามีตู้เย็นที่เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต และใช้เทคโนโลยี Internet of Things ทำให้ตู้เย็นสามารถ ‘พูดคุย’ กับอุปกรณ์อื่นๆ ได้แล้ว แต่ตู้เย็นในอนาคตจะยิ่งฉลาดขึ้นไปอีก คือมันจะรู้ด้วยว่า ตอนนี้ในตัวมันมีอาหารแบบไหนเก็บอยู่ แล้วอาหารแต่ละอย่างมีปริมาณเท่าไหร่ อาหารชนิดไหนหมดแล้ว ควรต้องเติมอะไรอีก อาหารแบบไหนหมดอายุแล้ว ต้องนำไปทิ้ง บริโภคไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำโดยการสแกนบาร์โค้ด ซึ่งถ้ามีการเชื่อมต่อกับซูเปอร์มาร์เก็ตเอาไว้ ข้อมูลของต่างๆ ที่เราซื้อมา ก็จะวิ่งไปที่ตู้เย็นเลยโดยตรง ทำให้ตู้เย็นคอยดูแลการกินอยู่ของเรา ซึ่งเราสามารถตั้งเป้าเอาไว้ได้ว่าอยากให้มันช่วยดูแลการกินเรื่องไหนให้เราบ้าง

เทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหารยังลงลึกไปถึงระดับโมเลกุลได้เลยนะครับ คือจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตรวจสอบส่วนผสมเครื่องปรุงต่างๆ เช่น สแกนบิสกิตที่กำลังจะกิน ดูว่ามีสารอาหารที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้หรือเปล่า สแกนดูได้ว่า ผลไม้ที่กำลังจะกินนั้น สุกแค่ไหนแล้ว อาหารที่ปรุงอยู่บนเตา มีอุณหภูมิเท่าไหร่ สุกหรือไม่สุกอย่างไร ทำให้การทำอาหารสะดวกขึ้นมาก

ส่วนหม้อไหนกระทะอะไรต่างๆ ที่เป็น Cookware ทั้งหลาย ก็จะ ‘ฉลาด’ ขึ้น บางอย่างแค่ใส่เครื่องปรุงลงไปแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ มันก็จะออกมาเป็นอาหารหน้าตาดีให้เรากินได้เลย ทุกวันนี้หลายคนชอบปรุงอาหารแบบ Slow Cook แต่รู้ไหมครับว่าในอนาคต Slow Cook จะกลายเป็น Smart Slow Cook คือจะมีเทคโนโลยีทำให้คุณเสียเวลาคอยเฝ้าอาหารน้อยลง แต่ทำอาหารได้อร่อยและซับซ้อนเหมือนเดิม

 

4. เสื้อผ้า ความบันเทิง และอื่นๆ

 

ในโลกแห่งอนาคต เสื้อผ้าที่เราใช้ไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะกระทั่งในปัจจุบัน ก็เริ่มมีการผลิตเสื้อผ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เต็มไปหมด เช่น เสื้อผ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิให้ร่างกายได้ ในอนาคต จะมีเสื้อผ้าที่ปกป้องรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตให้เราได้ หรือมีเนื้อผ้าที่ทำให้เราอบอุ่นหรือเย็นสบายตามสภาพอากาศ รวมทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิร่างกายของเรา อัตราการระเหย (จากเหงื่อ) และกระทั่งวิเคราะห์เหงื่อของเราลงลึกไปถึงระดับดีเอ็นเอ เพื่อคอยเตือนเราแต่เนิ่นๆ เผื่อมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอะไร

ส่วนความบันเทิงอย่างทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมันจะพัฒนาไปเป็นความบันเทิงเชิงอารมณ์ คือเป็น Machine Learning ที่ฉลาดลึกไปถึงระดับอารมณ์ความรู้สึก มันจะรู้เลยว่าเรากำลังอยู่ในมู้ดแบบไหน และต้องการเสพอะไร ความบันเทิงหรือ ข่าวหรือ สารคดีหรือ ดนตรีหรือ การฟังหรือเสพความบันเทิงยุคใหม่จึงจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง คุณจะสื่อสารกับมันด้วยเสียงเหมือนคุยกับคน และอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะตรวจจับอารมณ์ของคุณได้ดีขึ้น ทำให้เลือกสิ่งที่คุณอยากเสพมานำเสนอได้ละเอียดขึ้นมากด้วย

เรื่องหนึ่งที่หลายคนกังวลก็คือ เมืองยุคใหม่อาจจะเต็มไปด้วยฝุ่นควันหรือสารก่อภูมิแพ้ เพราะเราต้องเข้ามาอยู่ในเมืองกันอย่างแออัดยัดเยียด ดังนั้น เครื่องกรองอากาศจึงจำเป็นอย่างมาก เครื่องกรองอากาศในอนาคตจะกรองแทบทุกอย่างได้ถึงระดับที่เล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ถึง 2,500 เท่า จึงกำจัดฝุ่นขนาดจิ๋ว ไวรัส และแบคทีเรียในอากาศออกไปได้เกือบหมด รวมทั้งสามารถให้ข้อมูลสภาพอากาศแก่คุณได้ด้วย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่าน้ันของชีวิตในบ้านที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเอาเข้าจริงก็ต้องบอกคุณด้วยว่า มันอาจเป็นเรื่องดีหรือร้ายก็ได้ เพราะ ‘ข้อมูล’ ต่างๆ ที่อุปกรณ์เหล่านี้เก็บไป จะถูกนำไปวิเคราะห์ในทางการตลาดด้วย ดังนั้นถ้าเรายังไม่ได้สนใจในเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) กันอย่างจริงจังแล้วละก็ เรื่องแบบที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊ก เช่นมีผู้นำข้อมูลของผู้ใช้บริการไปหาประโยชน์อื่นๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ อีกนั่นแหละครับ

แต่ถึงกระนั้น – ชีวิตในอนาคตก็ฟังดูน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยทีเดียว

ว่าไหมครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save