fbpx
ต่อกรความร้อน-ด้วยแป้งตรางู

ต่อกรความร้อน-ด้วยแป้งตรางู

ประกาศๆ ตอนนี้ได้เข้าสู่หน้าร้อน (ที่สุด) แล้ว ขอให้ทุกท่านรีบหาวิธีดับร้อนโดยด่วน

 

ชาวไทยมีความสามารถอย่างยิ่งในการปรับตัว ร้อนขนาดเผด็จการหลากแบบ เราก็ยังรับมือได้ แค่สภาพอากาศร้อนจึงเป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่แค่เปิดแอร์ เปิดพัดลม กินไอติม การเล่นน้ำสงกรานต์ หรือแม้กระทั่งการอาบน้ำวันละหลายๆ ครั้งล้วนเป็นวิธีการดับร้อนแบบ ‘เบๆ’ ไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่

เพราะที่ ‘เบๆ’ กว่านั้น ก็คือการประแป้งและทาแป้งเย็นบนเรือนร่างต่างหากเล่า!

สมัยก่อนโน้น เล่ากันว่าเคยมีรายการตอบปัญหาทางทีวีชื่อ ‘แม่บ้านสมองไว’ ซึ่งตอนนั้นคำถามไม่ธรรมดาเลย มีคำถามหนึ่งถามว่า ‘โซเดียมคลอไรด์’ คืออะไร จริงๆ มันคือเกลือแกงธรรมดาๆ นี่แหละ แต่คุณแม่บ้านทั้งหลายตอบไม่ได้ พิธีกรเลยบอกใบ้ว่า มันคือสิ่งที่คุณแม่บ้านใช้โรยไข่ให้คุณพ่อบ้านตอนเช้าๆ ไง

คุณแม่บ้านอายม้วนต้วน แล้วตอบมาว่า-แป้งเย็น!

ตึ๋ง…โป๊ะ!

เมื่อพูดถึงแป้งเย็น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แป้งตรางู’ คงจะผุดขึ้นมาบนหัวคนไทยหลายๆ คนอย่างแน่นอน

บางคนอาจจะคิดว่า แป้งตรางูเป็นของไทยแท้ บางคนอาจจะคิดว่าแป้งตรางูเป็นของต่างชาติ และบางคนอาจจะงงว่าทำไมต้องเป็นแป้งตรางู เป็นแป้งตราหมี ตรากระต่ายไม่ได้หรือ

ร้อนนี้มาทำความรู้จักกับ ‘แป้งตรางู’ กันดีกว่า!

ย้อนรอยเมื่อร้อยปี

หมุนเวลากลับไปไม่ไกลเทาไหร่ ประมาณร้อยกว่าปีเท่านั้น ในช่วงทศวรรษ 2430 ซึ่งเป็นยุคที่บ้านเมืองสยามกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดให้มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่โดยการนำแนวคิด วิทยาการ และเครื่องมือใหม่ๆ จากยุโรปมาช่วยพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินและความเป็นอยู่ของประชาราษฎร์ให้ดีและทันสมัยมากขึ้น

รัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งกระทรวงใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจที่หลากหลายมากขึ้น ในการนี้พระองค์ได้ดำริให้ว่าจ้างให้ชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนมากก็มักจะมาจากยุโรปหรืออเมริกาให้เข้ามาช่วยดูแลกิจการการบริหารราชการแผ่นดดินต่างๆ มากขึ้น จะว่าไปแล้วชาวต่างชาติก็เริ่มย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในบางกอกตั้งแต่ต้นรัตนกโกสินทร์อยู่แล้ว ทั้งนี้ก็อาจเกิดขึ้นมาจากสนธิสัญญาบาวริ่ง ส่งผลให้ชาวต่างประเทศมาทำมาหากินในสยามได้ง่ายขึ้น

แน่นอน ชาวต่างชาติเหล่านี้ย่อมมีการศึกษาและทุนทรัพย์ที่เหนือกว่าชาวสยามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงสนใจจะทำงานประเภทห้างร้าน วิศวกร ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งการเปิดร้านขายยา

ในปี พ.ศ. 2435 มีฝรั่งสองคนชื่อว่า นายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ และ ดร.ปีเตอร์ กาแวน ได้ร่วมเปิดร้านขายยาที่ทันสมัย มีเภสัชกรประจำตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยมีสัญลักษณ์รูป ‘งูถูกศรปัก’เป็นเครื่องหมายการค้า ร้านขายยานั้นมีชื่อว่า ‘บริษัทห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) จำกัด’

คุณคงสงสัยว่าแล้วทำไมต้องใช้งูถูกศรปักมาเป็นเครื่องหมายการค้าด้วย จริงๆ ก็ง่ายมาก เพราะเกิดมาจากแนวคิดที่ว่า งูนั้นเป็นสัตว์ที่แทนความชั่วร้าย ในที่นี้ก็คือโรคร้ายนั่นเอง ส่วนศรนั้นเป็นตัวแทนของสิ่งที่จะมาปราบงู ดังนั้นจึงหมายถึงยานั่นเอง

ในช่วงแรก ห้างขายยาตรางูมักขายยาสามัญประจำบ้านทั่วไปที่ได้มาตรฐานยุโรป แต่คนที่จะหาซื้อยาแบบนี้ได้มีเฉพาะคนที่มีตังค์ในบางกอกเท่านั้น ตาสีตาสาไม่สามารถหาซื้อยาได้ ฉะนั้นจึงคนจำนวนน้อยที่รู้จักห้างขายยานี้เท่านั้น

กำเนิดแป้งตรางู

ห้างยาตรางูดำเนิธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2471 หมอล้วน ว่องวานิช ได้เข้าซื้อกิจการห้างขายาอังกฤษตรางู นับตั้งแต่นั้น ห้างขายยาตรางูจึงไม่ได้เป็นของชาวต่างชาติอีกแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ปีเดียวกับที่มีการปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย หมอล้วนได้ผลิตแป้งน้ำมโนราห์ขึ้นมา (ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อแป้งน้ำควินนา) แป้งน้ำดังกล่าวถูกจัดเป็นเครื่องสำอางที่สามารถสร้างความหอมและความเย็นได้ ในเวลานั้น หลังจากที่มีการเปิดขายสินค้านี้ เกิดปรากฎการณ์คนแห่แหนไปซื้อกันอย่างมาก แต่ด้วยที่ราคายังสูงอยู่ก็เลยมีเฉพาะชาวกรุงเทพฯ เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

ในปี พ.ศ.2490 หมอล้วนเห็นว่าฝรั่งที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น เมื่อแรกเริ่มเข้ามาอยู่ยังไม่สามารถปรับร่างกายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นของไทยได้ จึงมักเกิดโรคผดผื่นคันอยู่เป็นประจำ โดยขึ้นเป็นผื่นแดงๆ ให้ความรู้สึกเหมือนถูกทิ่มแทงคันยิบๆ (ภาษาอังกฤษเลยเรียกว่า Prickly Heat แต่มีศัพท์เรียกอย่างเป็นทางการว่า Milliaria Rubra)

โรคดังกล่าวสร้างความทุกข์ทรมานแก่ชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง ทนายความที่ชื่อว่า ‘บริสเบน’ มาหาหมอล้วนที่ร้านขายยา เนื่องจากเป็นผดผื่นคัน หมอให้คาลาไมน์ไปทา แต่ก็ไม่หายสักที ในที่สุดหมอล้วนจึงได้ลงมือวิจัยและพัฒนาสูตรแป้งตรางูสูตรเย็นขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นต้นฉบับแป้งเย็นเจ้าแรกของโลก หลังจากที่ลองให้ชาวต่างชาติได้ซื้อและลองใช้ ‘แป้งตรางูสูตรเย็น’ นี้ ปรากฎว่าแป้งมีสรรพคุณช่วยทำให้ผดผื่นคันหายได้ดี อีกทั้งยังทำให้เนื้อตัวเย็นสบายอีกด้วย

สรรพคุณของแป้งตรางูได้กลายเป็นที่พูดกันไปปากต่อปาก จนกลายเป็น ‘talk of the town’ อยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

เวลาเปลี่ยน แต่แป้งตรางูไม่เคยเปลี่ยน 

แป้งตรางูได้รับความนิยมอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะเมื่อลูกค้าซื้อไปเก็บไว้ประมาณ 2-3 เดือน แป้งก็หายเย็นเสียแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ.2495 หมอล้วนจึงได้คิดค้นหาวิธีที่จะทำให้แป้งมีความเย็นอยู่ได้นานๆ หมอล้วนจึงได้ใช้กระป๋องโลหะ (เป็นทองเหลือง) เป็นภาชนะในการบรรจุเพื่อรักษาความเย็นของแป้งเอาไว้

อย่างไรก็ดี ช่วงนั้นอุตสาหกรรมของไทยยังไม่สามารถผลิตกระป๋องทองเหลืองเองได้ ต้องพึ่งการนำเข้า ดังนั้นแป้งตรางูจึงมีราคาสูงอยู่ ต้องรอจนอุตสาหกรรมไทยมีเทคโนโลยีในการผลิตกระป๋องได้เอง บริษัทแป้งตรางูจึงสามารถผลิตกระป๋องได้เองในประเทศ และเมื่อผลิตทั้งแป้งและกระป๋องได้เอง จึงทำให้ราคาของแป้งตรางูย่อมเยาว์ขึ้น

บริษัทแป้งตรางูได้รักษาอัตลักษณ์ของแป้งตรางูเอาไว้ด้วยการคงรูปแบบการใช้กระป๋องทองเหลืองสีขาวเอาไว้ จนกลายเป็นที่จดจำของคนไทยมาหลายยุคสมัย นับมาถึงตอนนี้ก็กินเวลาถึง 60 ปีแล้ว

เมื่อแป้งตรางูไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป

ในช่วงเวลา 60 ปีมานี้ แป้งตรางูมีราคาถูกลง ทำให้คนจากทุกระดับชั้นทางสังคมสามารถเข้าถึงได้ง่าย จากแต่เดิมที่มีกลุ่มคนมีตังค์โดยเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้นที่เข้าถึงได้ มาในเวลานี้ ใครๆ ก็สามารถซื้อได้ง่ายๆ ด้วยการไปร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือตามร้านโชว์ห่วยข้างทาง ไม่ต้องลำบากลำบนไปซื้อตามห้างร้านขายยาเหมือนเมื่อก่อน จากแต่เดิมที่เป้าหมายการใช้แป้งตรางูจำกัดอยู่เพียงการป้องกันผดผื่นคันเท่านั้น ซึ่งดูจะเป็นเป้าหมายทางการแพทย์ มาในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแป้งเย็นตรางูนั้นถูกใช้เพื่ออะไรที่กว้างขึ้น นั่นคือ การดับร้อน

ถ้ามองให้ลึกไปมากกว่านั้น เมื่อเข้ามาอยู่เมืองร้อน แล้วต้องอยู่ในบ้านที่ไม่มีแอร์ หรือพัดลม ขอแค่เพียงมีแป้งตรางู มันก็ทำให้เรารู้สึกมีอากาศเย็นได้เหมือนคนอื่นๆ แล้ว คนจนๆ ที่ไม่มีบ้านอยู่ก็สามารถเย็นสบายได้ดังคนมีตังค์ที่สามารถเดินพารากอนได้ นี่คือสิ่งที่แป้งตรางูมอบให้คนทุกชนชั้น

สิ่งที่มอบให้นี้คือ ‘ความสามารถในการจัดการเรือนร่างตัวเองได้อย่างเท่าเทียมพอสมควร’

อนึ่ง ถ้าชาวยุโรปมีเหล้ามีบุหรี่ไว้ดับหนาว ประเทศเราก็คงมี ‘แป้งตรางู’ ไว้ดับร้อน นั่นเอง ดังนั้น มองในแง่นี้ แป้งตรางูจึงเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาการปรับตัวของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อสภาพแวดล้อม (ถึงแม้ที่มาของมันจะได้รับแรงบันดาลใจจากชาวตะวันตกก็ตาม) การใช้แป้งเย็นจึงบ่งบอกถึงความเป็นเอเชียได้มิน้อย

แต่ในอีกแง่ ถ้าย้อนกลับไปดูว่าแป้งนี้เกิดมาได้เพราะชาวต่างชาติปรับตัวกับสภาพอากาศของเอเชียไม่ได้ จนต้องผลิตแป้งเย็นขึ้นมาแก้ไข ฉะนั้น แป้งตรางูก็อาจถูกมองอีกอย่างได้ว่าเกิดจากการ ‘ปะทะสังสรรค์’ ของการเคลื่อนย้ายของมนุษย์จากต่างที่ต่างถิ่น พูดอีกอย่างก็คือ แป้งตรางูเป็นผลผลิตจากโลกาภิวัตน์ (globalization) นั่นเอง

แน่นอนว่าแป้งตรางูนั้นเป็นแป้งเย็นเชื้อสายไทยชนิดแรกของโลก แต่ในปัจจุบัน แป้งเย็นนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในประเทศแถบร้อนอื่นๆ ต่างอยากผลิตแป้งเย็นเป็นของตนเองบ้าง

ในที่สุดในประเทศอินเดีย หรือจีน ก็ได้ผลิตแป้งเย็นเป็นของตัวเองขึ้นมาด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ชื่อแป้งตรางูก็ตามที

มองในแง่นี้ ถ้ารักความเป็นไทยกันเยอะๆ เราอาจจะบอกได้ด้วยซ้ำไปว่าแป้งเย็นแบบนี้ได้มีอิทธิพลต่อประชากรในพื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วยนา เรียกว่าเราก็มี soft power หรือเป็นมหาอำนาจด้านแป้งเย็นอยู่ด้วยเหมือนกัน

มีหลายครั้งเลยทีเดียวที่ฝรั่งชาวตะวันตกได้เข้ามาเที่ยวเมืองไทยและได้ลองใช้แป้งตรางู แล้วเกิดรู้สึกติดใจ เพราะสามารถคลายร้อนและแก้ผดผื่นได้จริง จนกระทั่งนำกลับไปใช้ที่บ้านเกิด (อย่างในออสเตรเลีย) หรือติดตัวไปเที่ยวประเทศอื่นๆ ด้วย

เห็นไหมว่า ‘แป้งตรางู’ ของไทยเรานั้นมีที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ

 

อ้างอิง

ตำนานแห่งความภูมิใจ ของบริษัทอังกฤษตรางู

บทความเรื่อง เปิดตำนาน “แป้งเย็นตรางู” ชื่อนี้ได้ยินแล้วต้องหนาว! จาก Brand Buffet, March 22, 2016

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save