fbpx

ฤกษ์งามยามการเมือง: การยุบสภาและโหราธิปไตย

แม้การยุบสภาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายทางการเมือง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกันว่า เหตุผลในการเลือกวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 คืออะไรแน่ มีคำอธิบายและการวิเคราะห์ทางหลักวิชาการต่างๆ อยู่จำนวนไม่น้อย แต่หนึ่งในแขนงที่แม้จะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการมากเท่าไร แต่กลับได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ ‘โหราศาสตร์’

สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเชื่อและลุ่มหลงในความศรัทธา โหราศาสตร์กลายเป็นปัจจัยทางการเมืองอย่างไม่มีข้อกังขา งานศึกษามากมายอธิบายถึงพลวัตทางการเมืองที่มีโหราศาสตร์เป็นตัวกำหนดทิศทางในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหาร การเปิดตัวพรรคการเมือง หรือแม้แต่การยุบสภา

การตัดสินใจทางการเมืองโดยอิงโหราศาสตร์ มีคำอธิบายเบื้องหลังที่หลากหลาย บ้างก็ว่ามันคือกระบวนการทางจิตวิทยาเพื่อผลทางการเมือง มันคือเกมการเมือง บ้างก็มองว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับการเมืองเลย แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายนั้นปักใจเชื่อและยึดถืออย่างจริงจัง ไม่ว่าจะกล่าวอ้างกันอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์คือโหราศาสตร์ไม่เคยหายไปจากสังคมและการเมืองของประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย

ฤกษ์งามยามดี ทางคดียุบสภา

คอการเมืองทราบดีว่า เหตุผลหลักในการยุบสภาวันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ต้องการให้รัฐบาลอยู่นานมากที่สุดก่อนครบวาระวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่ในขณะเดียวกัน เหตุผลทางโหราศาสตร์ก็ชี้เช่นกันว่าวันดังกล่าวนั้น ‘ฤกษ์งามยามดี’  

อ้างอิงจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ‘ฤกษ์’ มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้ายของตำแหน่งดาวหรือกลุ่มดาว ทว่าในบริบทของสังคมไทย คำว่าฤกษ์ถูกนำมาใช้เพื่ออ้างถึงช่วงเวลาที่อาจจะมีผลต่อบุคคลทั้งในทางบวกและลบ ฤกษ์จึงถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยทางการตัดสินใจตั้งแต่ในระดับเล็กของปัจเจกบุคคล ไปจนถึงระดับใหญ่อย่างการบริหารของกลุ่มคน การตัดสินใจทางการเมืองเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเวลาเปิดพิธีงาน ไปจนถึงการตั้งรัฐบาล ล้วนแต่พึ่งพาหาฤกษ์กันทั้งนั้น

แล้วฤกษ์ของการยุบสภาคืออะไร คำศัพท์ที่ได้ยินอย่างหนาหูในช่วงเวลาเปราะบางเช่นนี้ ได้แก่

‘ราชาฤกษ์’ คือฤกษ์มงคลสำหรับผู้ที่คิดจะทำงานใหญ่ให้สำเร็จ เป็นฤกษ์ใหญ่ สำหรับผู้มีอำนาจวาสนา คิดทำในเรื่องใหญ่อย่างงานราชการงานเมือง หรืองานที่ต้องใช้บารมีให้ผู้คนคล้อยตาม ให้ความไว้วางใจ ซึ่งฤกษ์ดังกล่าวนั้น สามารถศึกษาหรืออ่านได้หลายตำรา บ้างก็ว่าให้นำดวงเมืองมาคำนวณ บ้างก็ให้นำวิถีของดาวมาประกอบ บ้างก็ให้นำวันเวลาเกิดของผู้นำ ผู้ปกครองบ้านเมือง หรือนายกรัฐมนตรีมาคิด ล้วนแล้วแต่มีหลากหลายสำนักให้เลือกเชื่อถือตามความพึงพอใจ

อีกคำศัพท์ที่มีเกี่ยวข้อง คือ‘วันธงชัย’ หมายถึงวันที่ชัยชนะจะบังเกิด เหมาะแก่การกระทำสิ่งใดก็ตามเพื่อหวังผลสำเร็จ มีโชคและมีชัย ศัพท์ดังกล่าวมาจากการศึกษาและบอกเล่าของ กาลโยค หรือการกำหนดว่าวันเวลา (กาล) ใดที่ดีและวันเวลาไหนที่ร้ายเพื่อให้ผู้ตัดสินใจได้พิจารณาว่าสมควรจะเลือกวันเวลาใด โดยกาลโยคนั้นใช้กับปฏิทินไทย เริ่มต้นใหม่หรือแปลงเปลี่ยนทุกๆ วันที่ 16 เมษายนของทุกปี ซึ่งในนัยหนึ่ง วันธงชัยนั้นมุ่งให้ความสนใจกับชัยชนะหรือการเอาชนะ เหมาะกับสภาวะที่มีการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศของการโยกย้ายพรรคและการเตรียมความพร้อมสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ

นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการหลายท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาตะวันตก คงไม่คาดคิดว่าศัพท์ทางโหราศาสตร์จะกลายมาเป็นหนึ่งในศัพท์ทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อบริบทของการแข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่สำหรับประเทศที่เน้นประเพณีความเชื่อ ก้าวเท้าออกจากบ้านต้องซ้าย เสื้อต้องสวมใส่ตามสีมงคล จิ้งจกทักต้องคิดให้ดีก่อนออก ประเด็นเรื่องฤกษ์งามยามดีตามคดีโลกและคดีธรรมก็คงไม่ใช่ของที่แปลกใหม่จนน่าตกใจ

ประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านมา เห็นถึงหลักฐานของการนำความเชื่อมาเป็นปัจจัยทางการตัดสินใจระดับชาติอยู่มากมาย ดังที่นักรัฐศาสตร์ Lucian Pye เคยเขียนถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยไว้ว่า “ราชสำนักไม่อายที่จะยอมรับว่าการตัดสินใจของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับการคิดคำนวณทางโหราศาสตร์” (Thai court is not ashamed to admit that the movements of the king are governed by astrological calculations)[1]

สื่อมวลชนไทยเข้าใจความสำคัญของ ‘ฤกษ์’ ทางการเมืองเป็นอย่างดี กระทั่งเคยนำไปถามพลเอกประยุทธ์เลยด้วยซ้ำ ในขณะพลเอกประยุทธ์ก็ออกมาปฏิเสธในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ว่า “ไม่มีการดูฤกษ์หรือวันดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ฤกษ์สะดวกหลังเคลียร์งานค้างให้สำเร็จ”[2] ในขณะเดียวกัน กระแสข่าวลือว่าการยุบสภาที่ผ่านมาก็ล้วนแต่ถูกกำหนดโดยฤกษ์ทั้งสิ้น เช่น เดิมเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะยุบสภาวันพุธที่ 15 มีนาคม 9 วันก่อนครบวาระของสภา (23 มีนาคม 2566) ซึ่งเป็น ‘วันธงชัย’ เป็นต้น

ฤกษ์งามยามดีถูกนำใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของพรรคการเมืองหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ พวกเขาใช้ชุดข้อมูลนี้เป็นพื้นฐานในการคิดวิเคราะห์และคำนวณยุทธศาสตร์เพื่อการดำเนินการของตนเอง ฉะนั้นแล้ว กล่าวโดยสรุปได้ว่า ฤกษ์งามยามยุบสภา สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ

1. ตัวแสดงทางการเมืองเชื่อเรื่องโหราศาสตร์อย่างจริงจัง และนำการคำนวณ ‘วันดี’ มาใช้สำหรับการเลือกวันยุบสภา

2. ตัวแสดงอาจจะไม่ได้เชื่อเต็มที่ แต่นำข้อมูลโหราศาสตร์มาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองไม่ว่าจะเป็น

2.1 ใช้เพื่อการกระทำการยุบสภาจริง โดยเสริมกำลังใจตัวเองจากการเป็นวันที่ดี ฤกษ์ที่งาม

2.2 ใช้เพื่อส่งสัญญาณทางการเมือง ในกรณีที่กล่าวได้ว่าการตัดสินใจยุบสภามีความเป็นเกมการเมืองและการแข่งขันมากกว่าการยึดถือในความเชื่ออย่างจริงจัง โดยในนัยหนึ่ง อาจจะเป็นการปั่นกระแสโดยฝ่ายผู้ยุบสภาเอง หรืออาจจะเป็นการพยายามหาข้อมูลโดยกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่พยายามจะวิเคราะห์และคำนวณทิศทางการดำเนินงานของตนเองผ่านอะไรบางอย่างที่ไม่ชัดเจนในสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

ระบอบโหราธิปไตย

ในโลกสมัยใหม่ โหราศาสตร์และการวิเคราะห์ฤกษ์ต่างๆ อาจถือว่าเป็นศาสตร์ ‘ไร้สาระงมงาย’ แต่ในโลกจริง โหราศาสตร์เป็นปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่มีนัยสำคัญ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบายถึงกรอบแนวคิดของการนำความเชื่อมาเป็นปัจจัยทางการตัดสินใจทางการเมืองไว้ในวิทยานิพนธ์ว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมเฉกเช่นนี้กลับมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการตัดสินใจหรือการกระทำของตัวแสดงทางการเมือง การมองข้ามปัจจัยดังกล่าวเพื่อบิดเบือนให้เข้ากับมาตรฐานของตะวันตก อาจจะเป็นข้อผิดพลาดและทำให้ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ภายในสังคมได้อย่างแม่นยำ

กล่าวอีกนัยคือ การศึกษาประเด็นทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอิทธิพลของความเชื่อทางโชคลาง ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการที่ยึดติดกับองค์ความรู้ของตะวันตกเป็นสำคัญ[3] การศึกษาทางด้านวัฒนธรรมทางการเมือง ยึดโยงแต่กับความเข้าใจบนพื้นฐานของโลกตะวันตกเท่านั้น แม้แต่นักวิชาการภายในประเทศหรือผู้ที่มาจากสังคมที่มีความเชื่อนั้นๆ ส่วนมากก็มักจะเป็นผู้ที่ได้มีโอกาสศึกษาและรับอิทธิพลทางฝั่งตะวันตก จนสะท้อนภาพวัฒนธรรมของสังคมตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องทางโหราศาสตร์และความเชื่อ ว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เจริญก้าวหน้า หรือเป็นปัจจัยล้าหลังที่ไม่ตรงตามมาตรฐานสากล งานศึกษาที่หลากหลายของไทยจึงกล่าวถึงโหราศาสตร์และการนำความเชื่อมาใช้ในเชิงลบ อาทิ การพูดถึงในฐานะของการเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือการเป็นวัฒนธรรมแบบ ‘ไทยๆ’ ไม่ต้องตามมาตรฐานสากล

สำหรับสังคมไทย อำนาจและการตัดสินใจทางการเมืองต่างๆ ได้รับความชอบธรรมด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่ ‘เหตุผล’ (rationality) แต่เป็นความชอบธรรมด้วยเหตุผลทางปัจจัยของวัฒนธรรมและความเชื่อ เช่น ความเชื่อว่า ‘ต้องเป็นผู้มีบุญญาธิการมากถึงได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง’ ไปจนถึง ‘ชาติก่อนกู้ชาติหรือเปล่านะ ถึงกดบัตรได้’ ปัจจัยด้านโหราศาสตร์อาจมีส่วนกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองมากกว่า ‘เหตุผล’ แบบที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายไว้เสียด้วยซ้ำ

การเลือกวันยุบสภาด้วยเหตุผลด้านโหราศาสตร์ แม้จะดูไม่มีเหตุผลและสารเอาเสียเลย แต่ก็ไม่ได้เป็นที่แปลกใจของคนจำนวนไม่น้อย ไม่ต้องพูดถึงว่า หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่น่าคิดคือการตัดสินใจในระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วทั้งประเทศนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะใช้ปัจจัยทางความเชื่อเป็นตัวตัดสิน

คำถามที่ต้องคิดต่อคือ แท้จริงแล้ววัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่มีลักษณะของ ‘สังคมก่อนสมัยใหม่’ (ผี พราหมณ์ พุทธ ดวงดาว พระเกจิอาจารย์ และอื่นๆ) อยู่มาก สามารถไปกันได้กับวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย หรือเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่กีดกันและจำกัดไม่ให้มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในสังคม  

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความเชื่อโหราศาสตร์มิใช่ความเชื่อเดียวที่อยู่แบบลอยๆ หากแต่ยึดโยงและสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทยอื่นด้วย โดยเฉพาะระบบความคิดแบบไพร่ฟ้าที่เชื่อว่า บารมีของผู้ปกครอง เป็นผลมาจาก ‘บุญ’ และความเป็นคนดีในอดีต ผู้นั้นเลยได้ดีและได้เป็นหรือเกิดมาเป็นเจ้าคนนายคน ในขณะที่ไพร่หรือคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชานั้น ไม่สามารถที่จะแข่งกับเจ้าขุนมูลนายในเรื่องของวาสนาได้ ดีเท่าไรที่เจ้านายให้ที่ซุกหัวนอน ฉะนั้นจึงต้องเคารพรักและซื่อสัตย์ต่อเจ้านายเสมอ

อันที่จริง ความสัมพันธ์แบบไพร่ฟ้าเป็นความสัมพันธ์ต่างตอบแทนรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ ไพร่ให้บริการแก่เจ้านายไม่ว่าจะในเรื่องใดๆ ก็ตามที่ถูกสั่ง กลับกันไพร่ก็เชื่อว่าเจ้านายนั้นจะต้องปกป้องและคุ้มครอง (อย่างในคำว่า คุ้มกะลาหัว) ยิ่งให้ความซื่อสัตย์และทำตามสั่งยิ่งมั่นคงในชีวิต กลายเป็นวงจรของระบบเจ้าขุนมูลนายและไพร่ ในแง่นี้ ดวงของเจ้านายจึงอาจหมายถึงดวงของไพร่ด้วย

ในแง่นี้คงพอจะเห็นว่า ความเชื่อด้านโหราศาสตร์ ดวงชะตา บุญบารมี และคนดี ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่พฤติกรรมทางสังคม โดยที่ปัจเจกอาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในวงจรของวัฒนธรรมทางการเมืองดังกล่าว

แม้ในวัฒนธรรมทางการเมืองข้างต้นกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย และกำลังค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะของความเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้ว การจะเข้าใจพฤติกรรมและการตัดสินใจครั้งใหญ่ระดับชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองของตัวแสดงในการเมืองไทยย่อมไม่อาจตัดปัจจัยเชิงวัฒนธรรมทิ้งไปได้เลย ทั้งนี้ต่อให้ความเชื่อและปัจจัยทางวัฒนธรรมนั้นจะดูไม่สมเหตุสมผลแค่ไหนในทฤษฎีการเมืองแบบตะวันตกก็ตาม

ในทฤษฎีแง่นี้ ผู้เขียนอยากทดลองเสนอสนุกๆ ว่า เราอาจลองทำความเข้าใจการเมืองไทยผ่านแว่นตา ‘โหราธิปไตย’หรือ ‘horoscracy’ กล่าวคือเป็นการนำโหราศาสตร์ (horoscope) มาผสมกับ ‘อธิปไตย’ (kratos) แบบแยกไม่ออก หากมองเช่นนี้ คงไม่แปลกหากจะเห็นนักการเมือง ผู้บริหาร กลุ่มภาครัฐ หรืออื่นๆ กระทำการคำนวณทางโหราศาสตร์ควบคู่ไปพร้อมกับการประเมินกลยุทธ์ทางการเมือง ดังที่ปรากฏในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน


[1] Lucian Pye. Asian Power and Politics: The Cultural Dimensions of Authority. Cambridge; 1985. P. 131.

[2] กรุงเทพธุรกิจ. เคาะแล้ว วัน “ยุบสภา” ประยุทธ์ ถือฤกษ์สะดวก เมิน วันธงชัย ไม่ใช่ 15 มี.ค.

[3] Chalidaporn Songsamphan (1991) Supernatural prophecy in Thai politics: The role of a spiritual cultural element in coup decisions. ProQuest Dissertations and Theses; 1991.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save