fbpx

HONGKONGERS 2014 ความหวังคือการต่อต้าน

‘ดื่มให้ชีวิตวัยรุ่นที่เสียเปล่า’ โจชัว หว่องกล่าวกับมิตรสหายของเขาในงานเลี้ยงอำลานักเรียนกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่อ Scholarism ในเดือนมีนาคม ปี 2016 และไม่นึกเลยว่าคำกล่าวของเขาจะทั้งเป็นจริงและไม่เป็นจริงในเวลาต่อมา

นับจากการประท้วงในปี 2014 จนถึงปัจจุบัน เราอาจบอกได้ว่าการประท้วงในฮ่องกงคือการต่อสู้ที่เข้มข้นยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ และเป็นการต่อสู้ที่ถูกบันทึกเอาไว้มากมายที่สุดเช่นกัน ทั้งในภาพข่าว คลิปวิดีโอไวรัล ในสารคดีทั้งสั้นยาวทั้งจากคนในและคนนอกฮ่องกง ไปจนถึงหนังเล่าเรื่องทั้งสั้นยาวที่ถ่ายทอดประสบการณ์และความเจ็บปวดของทั้งปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวมอย่างน่าทึ่ง

บทความชิ้นนี้จะมุ่งมองการต่อสู้ครั้งนี้ผ่านการบันทึกเหล่านั้น การบันทึกที่เป็นการต่อสู้โดยตัวมันเอง และการบันทึกความหวัง-ความสิ้นหวังของผู้คน ที่เชื่อว่าความหวังคือการต่อต้านรูปแบบหนึ่ง แม้ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังที่สุดก็ตาม

เราควรเริ่มต้นเรื่องนี้ในปี 1984 ปีหมุดหมายของโลกดิสโทเปียในนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1949 อันเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนชนะสงครามกลางเมืองจากพวกชาตินิยมก๊กมินตั๋ง และเป็นปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ออร์เวลล์ได้แบบจำลองของโลกเผด็จการและการสอดส่องมาจากโซเวียตในยุคสตาลิน และในที่สุดแบบจำลองดังกล่าวก็เกิดขึ้นจริงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยเช่นกัน

ในโลกความเป็นจริง ปี 1984 คือปีที่มีการลงนาม ‘ปฏิญญาร่วมของรัฐบาลสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยปัญหาฮ่องกง’ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีต่อมา เนื้อหาว่าด้วยการที่จีนตัดสินใจคงการใช้อธิปไตยเหนือฮ่องกง (รวมทั้งเกาะฮ่องกง เกาลูน และดินแดนใหม่) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1985 และรัฐบาลอังกฤษแถลงว่า จะส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 1997 กล่าวให้ง่ายนี่คือข้อตกลงของการที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีน และจีนให้คำสัญญาว่าจะใช้วิธีการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ โดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะไม่ใช่ระบบสังคมนิยมของจีน และระบบทุนนิยมแต่เดิมและวิถีชีวิตของฮ่องกงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี จนถึงปี 2047

ทุกอย่างก็ควรเป็นไปได้ด้วยดี หลังจากเช่าฮ่องกงมาหนึ่งศตวรรษ อังกฤษถอนตัวออกและส่งคืนเกาะฮ่องกงให้จีน ท่ามกลางความรู้สึกไม่มั่นคง คนฮ่องกงที่ผู้คนจำนวนมากคือลูกหลานของคนจีนที่อพยพออกจากแผ่นดินใหญ่เพื่อหนีจากระบอบคอมมิวนิสต์ เริ่มวางแผนย้ายออกจากฮ่องกง แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นถัดมาที่เกิดและโตในฮ่องกง ไม่มีความรู้สึกถวิลหาบ้านเกิดอย่างคนรุ่นพ่อแม่ มีแต่ความรู้สึกแปลกแยกกับคนจีนที่ในขณะนั้นเป็นเหมือนแรงงานอพยพที่เข้ามาแย่งงาน หนำซ้ำผลจากปีการประท้วงใหญ่ในจีน นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่เทียนอันเหมินในปี 1989 ที่จวบจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ ไม่รู้ยอดคนตายที่แน่นอน และไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยิ่งสั่นคลอนความรู้สึกของคนฮ่องกงที่มีต่ออนาคตอย่างยิ่ง

ปี 2013 สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นรับตำแหน่งต่อจากหู จิ่นเทา ด้วยนโยบาย ‘ฝันจีน’ (Chinese Dream) ที่ในทางหนึ่งยั่วล้อกับ American Dream ราวกับสี จิ้นผิงต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของประชากรโลกจากความฝันแบบอเมริกัน ที่เป็นความฝันแบบปัจเจกชนมาเป็นความฝันแบบจีนอันเป็นความฝันของการสร้างเนื้อสร้างตัว ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมั่นในความฝันแบบรวมหมู่ของชาติตามบุคลิกแบบคอมมิวนิสต์ ในปีนั้นสี จิ้นผิงได้พบกับเหลียง ชุน-หยิง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงในขณะนั้น และกล่าวถึง ‘การแสวงหาความเปลี่ยนแปลงขณะที่ยังรักษาความมั่นคง’ และที่สำคัญที่สุดคือ ‘การเป็นหนึ่งเดียวกัน’ โดยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลจีน

ในเวลาต่อมา เหลียง ชุน-หยิงและทีมผู้บริหารเกาะฮ่องกงชุดของเขาเริ่มเตรียมใช้ ‘แผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติปี 2012’ ที่พยายามใส่ความเป็นชาตินิยมจีนและการเชิดชูพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาในหลักสูตร และอาจบอกได้ว่าจากหนังสือเรียนนี้เองที่เปิดปฐมบทของการต่อต้าน และเรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้ใน Joshua: Teenager vs. Superpower (2017, Joe Piscatella, US) สารคดีจากคนทำหนังอเมริกันที่โฟกัสที่ตัวโจชัว หว่อง ตั้งแต่ตอนช่วงปี 2012 เมื่อครั้งที่เขาเป็นนักเรียนมัธยมเนิร์ดๆ และลุกขึ้นมาต่อสู้กับเหลียง ชุน-หยิงด้วยการก่อตั้งกลุ่ม Scholarism ที่มีนักเรียนมัธยมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ออกไปประท้วงหลักสูตรใหม่นี้บนท้องถนน ไปดักพบเหลียง และปะทะคารมกันหลายครั้ง

เริ่มจากการที่เจ็บตรงไหนสู้ตรงนั้น การต่อสู้ของ Scholarism ขยายวงออกไป จนในที่สุดหลักสูตรดังกล่าวถูกชะลอออกไป (ก่อนจะกลับมาในปีนี้ (2021) หลังการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่) การต่อสู้ลามออกไปจนถึง Umbrella Movement ในอีก 2 ปีต่อมา ฉายภาพตั้งแต่การเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการ Occupy Central การบุกยึดท้องถนนใจกลางเขตธุรกิจของฮ่องกง ลามไปยังมงก๊ก (Mongkok) ที่เป็นเขตอยู่อาศัย ไปจนถึงการประท้วงด้วยการอดอาหารของเขาเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งโดยเสรี ไม่ใช่จากตัวแทนที่รัฐบาลปักกิ่งส่งมาให้

หนังสนุกตามขนบหนังสารคดีอเมริกันคมๆ มีฟุตเทจแบบที่เราเห็นโจชัวโตขึ้นต่อหน้ากล้อง ทั้งชีวิตที่บ้าน ที่โรงเรียน และบนถนน อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสารคดีที่ติดตามซับเจ็กต์เพียงคนเดียว แต่ก็เห็นได้ว่ายากมากที่จะเข้าไปใกล้ชิดกับโจชัวจริงๆ เขาให้สัมภาษณ์อย่างละเอียดถึงความคิด ความเชื่อ และความกลัวที่เขามีต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง แต่ก็เป็นเช่นที่แอกเนส โจว (Agnes Chow) มิตรของเขากล่าว คือเขาเป็นคนเก็บตัวที่เธอไม่รู้เลยว่าจะเป็นเพื่อนกับเขาอย่างไร หนังมีระยะห่างกับโจชัว สนใจสิ่งที่เขาทำมากกว่าตัวเขา และหนังก็บันทึกการประท้วงฮ่องกงในยุคต้นไว้สำหรับการศึกษาได้เป็นอย่างดี

หนังจบลงในปี 2015 เมื่อโจชัวซึ่งตอนนั้นอายุ 19 ตัดสินใจยุบ Scholarism แล้วตั้งพรรคการเมืองในชื่อ Demosisto และส่งมิตรสหายร่วมต่อสู้ของเขาอย่างนาธาน ลอว์ (Nathan Law) และแอกเนส โจว ลงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในปี 2016

ย้อนกลับไปหลังชัยชนะของขบวนการนักศึกษาในปี 2012 จุดเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่เป็นเสมือนใจกลางของการล้างสมองอย่างระบบการศึกษา กลุ่มนักศึกษา Scholarism ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เดือนกรกฎาคมปี 2014 มีการทำประชามติอย่างไม่เป็นทางการว่าคนฮ่องกงต้องการการเลือกตั้งแบบใดสำหรับการเลือตั้งผู้บริหารฮ่องกงในปี 2017 และฝั่งที่ต้องการประชาธิปไตยสมบูรณ์ชนะขนาดลอย โดยมีผู้ลงมติมากกว่า 800,000 คน

รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมากและตอบโต้โดยในวันที่ 31 สิงหาคม 2014 คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติของจีนมีมติจำกัดการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยให้ผู้สมัครที่รัฐบาลจีนเลือกให้สองหรือสามคนเท่านั้นที่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการเกาะฮ่องกง เพื่อตอบโต้สมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (The Hong Kong Federation of Students-HKFS)

Scholarism ประท้วงด้วยการชวนนักศึกษาและนักเรียนมัธยมทั่วประเทศหยุดเรียนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2014 สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมไม่ได้ให้ผูกริบบิ้นสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์แทน ระหว่างนั้นมีความกังวลใจจากผู้ปกครองนักเรียนมัธยม Scholarism จึงจัดประชุมผู้ปกครองเพื่อขอคำยินยอม นักเรียนเข้าร่วมการเสวนาว่าด้วยการเลือกตั้ง ริบบิ้นสีเหลืองที่ในเวลาต่อมาจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการประท้วงถูกแจกจ่ายออกไป จนในวันที่ 26 กันยายน 2014 นักศึกษาเดินขบวนไปประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล มีการปะทะกับตำรวจ โจชัวโดนควบคุมตัวก่อนจะถูกปล่อยออกมา

ในช่วงเวลานั้น กลุ่ม Occupy Central with Love and Peace ที่นำโดยนักวิชาการอย่าง Chu Ying-ming, Chan Kin Man และ Benny Tai (ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความ ‘อารยะขัดขืนคืออาวุธร้าย  (Civil Disobedience is Deadliest Weapon) ในเดือนมกราคม ปี 2013 ระบุ 7 ขั้นตอนของการอารยะขัดขืนเพื่อเปลี่ยนแปลงฮ่องกง) ซึ่งเดิมทีวางแผนจะชุมนุมใหญ่ยึดเขต Central ที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญในฮ่องกง ในวันที่ 1 ตุลาคม (ซึ่งตรงกับวันชาติจีน) ประกาศเริ่มแคมเปญบุกยึด Central ก่อนวันจริง และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนักศึกษา

คืนนั้นตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเข้าจัดการฝูงชนเป็นครั้งแรกหลังจากไม่ได้ใช้มายาวนาน ตรงนั้นเองที่การประท้วงใหญ่เริ่มต้นขึ้น ผู้คนเข้ายึดถนนสายสำคัญทั้งที่ Admiralty ไปจนถึงมงก๊ก กินนอนบนถนนเป็นเวลาร่วมสามเดือน ร่มเหลืองและริบบิ้นสีเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ผู้ชุมนุมต้องต่อสู้กับทั้งตำรวจ แก๊งอันธพาลที่ตำรวจรู้เห็นเป็นใจ ไปจนถึงบรรดาผู้ประท้วงอีกฟากหนึ่งที่ประท้วงเพราะการชุมนุมทำให้พวกเขาทำมาหากินลำบาก ไปจนถึงการที่พวกเขาโปรจีน (ในช่วงท้ายของการชุมนุม ฝั่งผู้ประท้วงการประท้วงยื่นแถลงการณ์ต่อต้านการชุมนุมที่มีรายชื่อแนบท้ายถึง 1.8 ล้านรายชื่อ) ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ ซาลง และการประท้วงจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของประชาชน แต่ทั้งหมดเป็นความพ่ายแพ้เพื่อกลับมาใหม่

Yellowing (2016, Chan Tze-woon) เล่าเรื่องของเด็กวัยรุ่นสามคนที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงเดือนกันยายน หลังจากสมาพันธ์นักศึกษาประกาศหยุดเรียน พวกเขาลงไปกินนอนบนถนนในมงก๊ก มีถุงนอน เต็นต์ และมิตรสหายจำนวนมาก Chan Tze-woon ผู้กำกับไม่ได้เพียงตามถ่ายชีวิตพวกเขา แต่ตัวเขาเองก็ลงไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน

หนังติดตามผู้ชุมนุมที่ไม่ได้เป็นแกนนำ โฟกัสอยู่เพียงชีวิตและความคิดของพวกเขาและเธอที่แลกเปลี่ยนกันขณะลงถนน บางคนเป็นนักเรียนกฎหมาย บางคนกำลังเตรียมสอบ แต่พวกเขาไม่สามารถอยู่บ้านได้ในช่วงเวลาเช่นนี้ ตัวหนังเองฉายให้เห็นพลวัตน่าตื่นเต้นของตัวการชุมนุมที่เป็นแบบปักหลักยืดเยื้อ เมื่อบรรดานักศึกษาเริ่มจัดการเรียนการสอนกันเองบนถนน มีคลาสเรียนมากมายให้เลือกเข้า มีการแบ่งปันอาหารของใช้ พบปะผู้คนใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการเมืองและประเด็นต่างๆ หนุ่มสาวร่วมใจ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่แค่เอื้อม ทุกอย่างดูเหมือนดินแดนแห่งความฝัน เต็มไปด้วยความหวัง ก่อนที่ความหวังจะค่อยๆ จืดจางลง

ในขณะเดียวกันหนังก็ฉายให้เราเห็นภาพของผู้ชุมนุมรายย่อยที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของแกนนำ หลายครั้งก็ตามไม่ทันการนำและความเปลี่ยนแปลง ช่วงชุลมุนในมงก๊ก พวกเขาตัดสินใจย้ายมาปักหลักที่ Admiralty  มีส่วนร่วมในการเผชิญหน้ากับตำรวจและปิดกั้นถนน ลึกๆ พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงจากนี้หรือในวันพรุ่งนี้ พวกเขารู้เพียงแต่ว่าไม่ออกมาไม่ได้ เช่นเดียวกับเด็กสาวมัธยมสองคนที่พวกเขาบังเอิญพบ พวกเธอที่มาประท้วงทั้งชุดนักเรียน มาเองกับเพื่อนสองคน เพราะอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองกันแน่

หนังเต็มไปด้วยความรู้สึกร่วมของคนรุ่นใหม่ Yellowing ถ่ายทำเกี่ยวกับผู้ชุมนุม โดยระหว่างที่ถ่ายหนัง Tze-woon ก็ไม่อาจให้ข้อตกลงที่แน่ชัดกับตัวเองว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ และจะนำไปสู่สิ่งใด หนังติดตามบรรดาหนุ่มสาวเหล่านี้ไปจนสิ้นสุดการชุมนุมในเดือนธันวาคม ผู้คนเข้าร่วมน้อยลง มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป พวกเขามองดูเต็นต์ที่เคยอาศัยนอนถูกเก็บกวาดออกไป ถนนกลับมาเป็นถนน ผู้คนกลับสู่ชีวิตประจำวัน และการเลือกตั้งจะมาถึงในปีถัดไป

ในขณะที่ Joshua: Teenager vs. Superpower พูดถึงชีวิตของหนึ่งในแกนนำ Yellowing ติดตามผู้ชุมหนุ่มสาวสามัญที่ตระหนักถึงอนาคตประเทศของตัวเอง พวกเขาไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่มีบทบาทใดให้ต้องจดจำ แต่ในความสามัญนี้หนังกลับจับอารมณ์ร่วมของสังคมไว้ได้อย่างงดงาม หากนอกจากสองเรื่องนี้ยังมีสารคดีอีกเรื่องที่ติดตามชีวิตของอีกหนึ่งผู้เล่นในการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานนี้ คือเรื่อง Lost In the Fumes

Lost In the Fumes (2017, Nora Lam) ออกฉายในปี 2017 สารคดีติดตามชีวิตของเอ็ดเวิร์ด เหลียง (Edward Leung) เด็กหนุ่มต่างไปจากโจชัวโดยสิ้นเชิง เขาเป็นนักศึกษา เป็นนักกีฬา สูงโปร่ง หล่อเหลา เป็นที่รักของผู้คน เขาเพิ่งตื่นตัวทางการเมืองจริงจังในช่วงเวลาของการปฏิวัติร่ม และเข้าร่วมขบวนการ Hongkong Indigenous ที่นำโดยเรย์ หว่อง (Ray Wong) ซึ่งเป็นทั้งผู้นำและเพื่อนสนิท กลุ่ม HK indigenous เป็นกลุ่มของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เริ่มรวมตัวกันหลังจากการชุมนุมสิ้นสุดลง เป้าหมายของพวกเขาเรียกได้ว่าสุดโต่ง เพราะพวกเขาเชื่อในความเป็นฮ่องกง และเชื่อว่าฮ่องกงควรได้รับเอกราชจากจีน “ปลดปล่อย ฮ่องกง การปฏิวัติคือยุคสมัยของเรา” (Liberate Hong Kong, revolution of our times) เป็นคำขวัญที่พูดโดยเหลียงเอง และในที่สุดกลายมาเป็นหนึ่งในมอตโต้สำคัญของการประท้วงในอีกหลายปีต่อมา

ในปี 2015 HK indigenous จัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านการค้าขายกับจีน พวกเขาต่อต้านที่คนจีนทะลักเข้ามาในฮ่องกง ทั้งเพื่อแย่งงานและที่อยู่อาศัย ไปจนถึงมาซื้อสินค้าจากฮ่องกงกลับไปขายที่จีนจนสินค้าขาดตลาด พวกเขาแจกใบปลิวตามถนน อ่านแถลงการณ์ พูดคุยและโต้เเถียงกับผู้คนตามท้องถนน จนต่อมาในปี 2016 เกิดกรณีการจลาจลในมงก๊กที่เกิดจากการพยายามควบคุมการขายอาหารริมทางในมงก๊กช่วงวันตรุษจีน ซึ่งจะมีพ่อค้าแม่ขายที่ไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแผงเถื่อนเป็นจำนวนมาก 

หลังการปฏิวัติร่ม ความสัมพันธ์ของตำรวจกับประชาชนเป็นไปได้ไม่ดีนัก ความพยายามในการใช้กำลังเข้าจัดการยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียด คืนก่อนวันตรุษจีน ผู้ค้าที่ตั้งแผงโดนตำรวจไล่ นำไปสู่การจับกุมนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง และเกิดการล้อมสถานีตำรวจขึ้น วันรุ่งขึ้นตำรวจจำนวนมากออกลาดตระเวนทั่วบริเวณ ฝั่ง HK indigenous ซึ่งสนับสนุนผู้ค้าจึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการออกมาปกป้องผู้ค้า ในที่สุดทุกอย่างนำไปสู่ความรุนแรงที่ถือว่าหนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งในเวลานั้น มีการใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย ไม้พลอง ยิงปืนขึ้นฟ้า และจับผู้ชุมนุมไปหลายคน มีการบาดเจ็บทั้งจากฝั่งตำรวจและผู้ชุมนุม เอ็ดเวิร์ด เหลียงเองอยู่ในแนวหน้าของการชุมนุมครั้งนั้นที่รัฐบาลฮ่องกงเรียกว่าการจลาจล เขาถูกตั้งข้อหายั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งมีบทลงโทษถึงติดคุก

ก่อนหน้านั้นเอ็ดเวิร์ด เหลียงเพิ่งลงเลือกตั้งซ่อมสภานิติบัญญัติแล้วแพ้คะแนนไป แต่ความนิยมของเขาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ในปีต่อมาเขาลงเลือกตั้งสภานิติบัญญัติอีกครั้งและได้รับเลือกเป็นตัวแทนของเขต New Territories อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมา รัฐบาลฮ่องกงพยายามกีดกันโดยการบังคับให้ออกแถลงการณ์ในการเคารพกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงที่ไม่ยอมให้พูดเรื่องการประกาศอิสรภาพของฮ่องกง (ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางของ HK indigenous) ตอนแรกเขาไม่ยอมลงชื่อ แต่ถูกกดดันจนเปลี่ยนใจ ท้ายที่สุดเขาก็ยังถูกตัดสิทธิ ในที่สุดเขาก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ มากกว่านั้นคือถูกตัดสินจำคุก 6 ปีจากข้อหาก่อการจลาจลในมงก๊ก

สารคดีเรื่องนี้ตามถ่ายเหตุการณ์ทั้งหมดที่ว่านั้น หนังตามติดชิดใกล้ชีวิตของเอ็ดเวิร์ด สัมภาษณ์ความคิดของเขาที่มีต่อเรื่องเหล่านี้ ตามติดเขาไปในทุกที่ และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ตั้งแต่การเลือกตั้งไปจนถึงการถูกส่งเข้าคุก ติดอยู่ในนั้นหลายเดือนขณะที่เรย์ หว่อง เพื่อนของเขาลี้ภัยไปเยอรมัน และในที่สุดเขาก็ต้องตามไป

ต่างไปจากสองเรื่องก่อนหน้า นี่คือสารคดีที่ใกล้ชิดกับซับเจ็กต์อย่างยิ่ง เราได้เห็นทั้งความกล้าหาญ ความทะเยอทะยาน และด้านที่ทุกข์เศร้าเจ็บปวดของเขา เราได้เห็นความหวังและความสิ้นหวังของเขา เห็นว่าเขาเป็นเพียงเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่การเมืองค่อยๆ ก่อรูปและทุบทำลายเขาทิ้งอย่างไร เช่นเดียวกันกับโจชัว ทั้งสองคนชวนให้คิดถึงบรรดาแกนนำในการต่อสู้ของประเทศนี้ ที่บางคนเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย บางคนต่อสู้มาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนมัธยม พวกเขาเติบโต ถูกทำลาย และแข็งแกร่งขึ้นหรือพ่ายแพ้ไป อยู่ท่ามกลางจุดหักเลี้ยวของประวัติศาสตร์ที่กระแสธารเข้มข้น

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติร่มจบลงอย่างพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่ก็ดังที่เราทราบกันดี มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อสู้อันยาวนาน  และเป็นเชื้อไฟที่ถูกจุดไว้ก่อนจะระเบิดออกอีกไม่กี่ปีต่อมาในการประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน สิ่งที่เคยพูดไม่ได้ เช่นการเป็นเอกราชจากจีนก็ถูกพูดอย่างตรงไปตรงมาบนท้องถนน 

การมองตัดขวางเพียงการชนะหรือความพ่ายแพ้อาจเป็นการมองที่เคร่งครัดกับตนเองเกินไป แต่ก็เช่นกัน การมองว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ก็อาจเป็นการเข้าข้างตนเองมากเกินไป แต่ก็เป็นดังเช่นที่โจชัวเคยพูดเอาไว้ในช่วงเวลาที่เขาอดอาหารประท้วง ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการหล่อเลี้ยงการต่อต้านคือความหวัง ถ้าคนสิ้นหวังเสียแล้วก็จะไม่มีการต่อสู้อีกต่อไป เราจึงต้องรักษาความหวังเอาไว้ แม้ในห้วงยามที่สิ้นหวังที่สุดก็ตาม

จบ HONGKONGERS 2014 ความหวังคือการต่อต้าน ตอนที่ 1 ติดตามตอนต่อไปได้เร็วๆ นี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save