fbpx
Homo Deus : ทำไมมนุษย์จะไม่ครองโลกตลอดไป

Homo Deus : ทำไมมนุษย์จะไม่ครองโลกตลอดไป

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจากการเขียนหนังสือประวัติศาสตร์มนุษยชาติเล่มแรกในปี 2011 คือ Sapiens : A Brief History of Humankind  เล่มที่สอง Homo Deus : A Brief History of Tomorrow ก็ออกวางแผงตามมาในปี 2015

หนังสือทั้งสองเล่มทำให้ Yuval Noah Harari ผู้เขียน มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก  Harari เป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์สัญชาติอิสราเอล วัย 40 ปี ผู้สนใจการปฏิบัติธรรม เขานั่งวิปัสสนาวันละ 2 ชั่วโมง และลาไปปฏิบัติธรรมไม่ต่ำกว่าปีละ 30 วัน 

หนังสือ Sapiens อธิบายว่าอะไรที่ทำให้ Homo sapiens หรือมนุษย์เผ่าพันธุ์เราประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้ ทั้งที่ช่วงก่อนหน้า 70,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราเป็นสัตว์ที่ “กระจอก” มาก กล่าวคือแทบไม่มีผลกระทบต่อสิ่งใดเลย อาศัยอยู่ในหลืบมุมของทวีปแอฟริกา แต่ในช่วงเวลา 70,000 ปีหลังที่ผ่านมา Homo sapiens ได้กระจายไปทวีปอื่นๆ และครองโลกใบนี้ในที่สุด

Harari พบว่าเหตุที่ Homo sapiens ผงาดขึ้นมาได้ก็เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวในโลกที่สามารถเชื่อในสิ่งซึ่งอยู่ในจินตนาการของเรา ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องพระเจ้า ความเป็นรัฐ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ตลอดจน “นิยาย” ที่ช่วยกันแต่งขึ้นมา และเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ  

นอกจากความสามารถที่จะเชื่อแล้ว มนุษย์ยังมีความสามารถพิเศษที่ไม่มีใครเหมือน นั่นคือ การใช้ความเชื่อและ “นิยาย” เหล่านี้มาทำให้สมาชิกเป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนสามารถจัดการกับคนจำนวนมากได้โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิกอีกด้วย

มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีจินตนาการ สามารถแต่งเรื่องขึ้นในสมอง และเชื่อเรื่องแต่งเหล่านั้นได้ เช่น หากทำชั่วจะตายไปแล้วตกนรก ไม่ว่านรกมีจริงหรือไม่ก็ตามแต่ ตราบที่มีคนเชื่อว่าจริง ก็สามารถนำมาใช้กำกับพฤติกรรมมนุษย์ได้ ในขณะที่ลิงชิมแปนซี ญาติที่ใกล้ชิดเราที่สุด ไม่สามารถคิดหรือจินตนาการอย่างนั้นได้

ความสามารถในการจัดการของมนุษย์ อันมีพื้นฐานมาจากการเชื่อ “นิยาย” เหล่านี้ร่วมกัน จนมนุษย์ยอมรับพระเจ้า ผีสางเทวดา กฎหมาย กฎกติกา ผู้นำ ฯลฯ ทำให้เราสามารถปราบคู่แข่งคือสมาชิกสกุล Homo ทั้งหลาย ตลอดจนสัตว์ร้าย และเอาชนะภัยพิบัติธรรมชาติ จนทำให้เราอยู่รอดมาได้อย่างดียิ่ง

เมื่อ Harari อธิบายอดีตแล้วในเล่มแรก จึงพรรณาความต่อเรื่องอนาคตของมนุษยชาติในเล่มสอง Homo Deus ซึ่งแปลว่า human god

 

มนุษยชาติคุ้นเคยกับความก้าวหน้าและนวัตกรรมมาเป็นลำดับ จนในปัจจุบันสามารถเอาชนะศัตรูสำคัญ นั่นคือ การขาดแคลนอาหาร (famine) และโรคระบาด ซึ่งเป็นสองสาเหตุแห่งความตายที่อันตรายที่สุดในอดีต  ในประเทศฝรั่งเศสช่วงปี ค.ศ. 1692-1694 มีคนตายจากการขาดอาหาร 2.5 ล้านคน หรือร้อยละ 15 ของประชากร หรือการแพร่ระบาดของกาฬโรค (Black Death) ในยุโรปและเอเชียในทศวรรษ 1330 ฆ่าคนไป 75-200 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลก

วิกฤ Ebola ที่น่ากลัวเมื่อไม่นานมานี้ มนุษย์ก็ควบคุมได้จนมีการตายเพียง 10,000 คน สาเหตุการตายของมนุษย์ในปัจจุบันมาจากความอุดมสมบูรณ์ ในปี 2012 มีคนตายจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน ขณะที่ในปีเดียวกัน มีคนตายจากสงครามทั่วโลก 120,000 คน มนุษย์มาไกลจนการแพทย์ในศตวรรษใหม่ทำให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการครองโลก คำถามสำคัญคือเราจะสามารถดำรงสถานะเช่นนี้อยู่ได้ตลอดไปหรือไม่

ในขั้นพื้นฐาน ถึงแม้มนุษย์จะก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี แต่ก็ยังต้องการศาสนา เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบคำถามได้ทุกข้อ ตัวอย่างเช่น จะสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของคนนับแสน แต่จะทำให้บางครอบครัวในบริเวณนั้นต้องย้ายที่อยู่ วิทยาศาสตร์บอกได้ว่าจะสร้างเขื่อนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าสมควรสร้างเขื่อนหรือไม่ หากตัดสินใจสร้างเขื่อน ครอบครัวเหล่านี้สมควรได้รับการดูแลมากน้อยเพียงใด

จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ มนุษย์ต้องการ moral code หรือหลักชุดของศีลธรรม ที่มีอยู่ในศาสนา

มนุษย์จำนวนมากในปัจจุบันไม่เชื่อว่าพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้ทำให้ฝนแล้ง ขาดแคลนอาหาร หรือเกิดโรคระบาด จนต้องสวดมนต์อ้อนวอน หากเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ดังนั้นมนุษย์จึงมีอำนาจมากขึ้น ไม่เชื่อในเรื่องเล่าที่กำหนดไว้ในหนังสือหรือคัมภีร์ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถ “เขียนเรื่อง” ได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะจากการอาศัยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เช่น การลงทุนด้านต่างๆ เพื่อป้องกันสภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่มนุษย์เคยชินและหวังพึ่งพิงนั้นต้องอาศัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีวันจบสิ้น ตัวอย่างเช่น การลงทุนผลิตปุ๋ยที่ช่วยพัฒนาสังคมก็ต้องการงานวิจัย บริษัทต้องกู้เงินมาจากสถาบันการเงิน จะกู้ได้ก็ต้องอาศัยความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตต่อไป ผู้คนมีอำนาจซื้อ และทำให้โครงการกู้เงินนั้นประสบผลสำเร็จ

ดังนั้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดตามมานั้น จึงเป็นแหล่งเพาะอำนาจของมนุษย์สมัยใหม่

การมีอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดคำถามว่า เรากำลังมองข้ามหลายสิ่ง จนทำให้สิ่งที่มนุษย์ได้รับมาขาดความหมายหรือไม่  

Harari เสนอว่า Humanism (การพิจารณาเข้าไปข้างในของตนเอง) กลายเป็น “ศาสนา” ที่ครอบงำสังคมสมัยใหม่ ในปัจจุบัน มนุษย์ใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นตัวนำทาง ต่างจากศาสนาในความหมายเดิมที่โยงใยกับความเชื่อและความศรัทธา 

liberalism หรือความคิดเสรีนิยม เป็นรูปแบบหนึ่งของ “ศาสนา” ที่ครอบงำ humanism ในปัจจุบัน ความคิดนี้ครอบงำโลกตั้งแต่ช่วง 1970 โดยแพร่กระจายจากตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย ลาตินอเมริกา และลามไปถึงยุโรปตะวันออก หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

Harari ท้าทายว่า “ความคิดเสรีนิยม” จะไปรอดหรือไม่ในสังคมที่เทคโนโลยีก้าวหน้า โดยระบุว่า เสรีนิยมอยู่บนพื้นฐานของการให้คุณค่า ประสบการณ์ชีวิต และเสรีภาพส่วนบุคคล ตรงนี้แหละที่ Harari บอกว่ามันเป็นภาพลวงตา มนุษย์ชื่นชมการมีเสรีภาพในการเลือก ในการกระทำอย่างเสรีตามใจตนเอง อย่างไรก็ดี ใน neuroscience สมัยใหม่นั้น การตัดสินใจเป็นกระบวนการทางเคมีในสมอง มิได้มาจากความเป็นเสรีในการเลือกอย่างแท้จริง หากสามารถจัดการกับกระบวนการทางสมองนี้ได้ การตัดสินใจก็มิใช่ของตนเองอีกต่อไป

การทดลองกับ ‘robo-rats’ โดยฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไปในบางส่วนของสมอง สามารถบังคับให้หนูหันซ้ายหรือขวา หรือกระโดดจากที่สูงก็ได้ โดยมิได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง มนุษย์ก็เช่นกัน จะมีการเลือกที่ไม่เสรีอย่างแท้จริงหากใช้เทคโนโลยี ดังนั้น liberalism อันน่าชื่นชมนั้นอาจถูกบั่นทอนได้

เทคโนโลยีที่น่ากลัวสำหรับมนุษยชาติก็คือการใช้ algorithms ในคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน (algorithms หมายถึง ลำดับก่อนหลังของแผนการกระทำทางคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณตัวเลข เพื่อจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการใช้เหตุผลโดยอัตโนมัติ) อันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง การทำงานอย่างรวดเร็วของคอมพิวเตอร์ก็เกิดจากการใช้ algorithms ซึ่งทำให้สามารถจัดการกับภารงานและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ

หุ่นยนต์ โดรน รถยนต์ไร้คนขับ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ทุกขนาด ฯลฯ ล้วนอาศัย algorithms ทั้งสิ้น แม้แต่สาขาที่นึกไม่ถึง เช่น การสร้างรูปปั้น 3D การเขียนภาพ การแต่งเพลงที่ไพเราะ ฯลฯ ต่อไปข้างหน้าเทคโนโลยีจะตัดสินใจแทนเราได้มากยิ่งขึ้นทุกที

ตัวอย่างเช่น ในการทดลองเมื่อปี 2011 ที่มหาวิทยาลัย Yale นักวิจัยสร้างตับอ่อนเทียมที่ผลิตอินซูลินออกมาโดยอัตโนมัติในปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการของร่างกาย โดยคนป่วยไม่ต้องร่วมในกระบวนการนี้เลยแม้แต่น้อย

ในปี 2015 Youyou, Kosinski และ Stillwell ใช้ข้อมูลการกดไลค์ 300 ครั้ง ใน Facebook ของบุคคลหนึ่ง สำหรับพยากรณ์ผลของแบบทดสอบบุคลิกภาพ โดยใช้ algorithms และพบว่าแม่นยำกว่าผลจากการทำแบบทดสอบบุคลิกภาพโดยคู่ชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือแค่กดไลค์ 300 ครั้ง algorithms ก็สามารถประเมินบุคลิกภาพของบุคคลนั้นได้ดีกว่าคู่ชีวิตที่อยู่กันมาหลายปี

คำถามที่น่ากลัวก็คือ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ algorithms สามารถสร้าง algorithms ด้วยตัวของมันเอง และยิ่งทำได้ดีขึ้นๆ ทุกที?

คงเห็นแล้วว่า ​โลกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่สิ้นสุด ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้า ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเราเองได้ดีเพียงใด เราก็พอจะอนุมานได้ดียิ่งขึ้นว่าเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save