fbpx

Holy Spider: เมื่อผู้หญิงทุกคนคือโสเภณี และฆาตกรคือวีรบุรุษ

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์

เริ่มจากศพของโสเภณีที่ถูกพบอยู่เรื่อยๆ ริมทางในเมืองมัชฮัด เมืองที่มีสุเหร่าสวยงาม เมืองศาสนาที่สำคัญสำหรับผู้แสวงบุญในอิหร่าน เมืองที่บริสุทธิ์ซึ่งแปดเปื้อนโดยพวกหญิงขายตัวตอนกลางคืน พวกคนขี้ยายากจน ในยามกลางคืนเหล่าโสเภณีโดนล่อลวงฆ่ารัดคอ ว่ากันว่าพวกหล่อนขึ้นมอเตอร์ไซค์ชายแปลกหน้าแล้วก็หายไป ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครตามหา  ตำรวจก็เฉยชา สังคมยืนข้างการฆ่ามากกว่าการหาความจริง 

ราฮิมีเป็นนักข่าวสาวจากเมืองอื่น เธอผมสั้น คลุมผ้าไม่มิดตีนผม มึนตึงตลอดเวลา เธอเคยมีปัญหาเพราะโดนเจ้านายคุกคามทางเพศจนไปฟ้องร้อง แต่การฟ้องร้องกลับสร้างปัญหาให้เธอมากกว่าผู้ล่วงละเมิด เธอมาที่นี่เพื่อเขียนข่าวนี้ ทำงานร่วมกับนักข่าวชายในพื้นที่ คนที่หลังจากการฆ่า ฆาตกรที่ถูกเรียกกันว่า ‘ไอ้แมงมุม’ จะโทรมาหา โทรแจ้งที่ทิ้งศพ เหมือนอยากให้สังคมสนใจการฆ่าของเขา เธอรู้ดีว่าไม่มีใครสนใจความตายของเหล่าหญิงขายตัว เธอจึงไม่ได้ทำเพียงแค่รายงานข่าว แต่ลงมือสืบคดีเอง เขาคอยเตือนเธอไม่ให้ล้ำเส้นพวกตำรวจหรือหาเรื่องใส่ตัว แต่มันไม่สำเร็จนัก จนแล้วจนรอดเธอถึงขนาดปลอมตัวเป็นโสเภณีเพื่อสืบหาความจริง

แต่พอจับฆาตกรได้ ทุกอย่างกลับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่อยู่ข้างใต้การฆ่า ฆาตกรซึ่งคือสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดชายเป็นใหญ่ที่มีความเข้าใจศาสนาบางแบบช่วยหนุนส่ง ในโลกที่ฆาตกรเป็นวีรบุรุษ เหยื่อสมควรตายและการเปื้อนเลือด เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ 

ภาพยนตร์โดย Ali Abbasi คนทำหนังชาวอิหร่านที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในยุโรป หนังแบบที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างในอิหร่าน (หนังถ่ายทำในจอร์แดนแทน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะรอดเซนเซอร์ในประเทศตัวเอง) เรื่องนี้ เป็นหนังร่วมทุกจากทั้งเดนมาร์ก สวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมัน และเป็นตัวแทนของเดนมาร์กในการส่งเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนี้ หนังเพิ่งคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปีที่ผ่านมา หนังมีเค้าโครงมาจากคดีฆ่าต่อเนื่องในอิหร่านที่เกิดขึ้นจริงในทศวรรษที่ 1990 และดูเหมือนชะตากรรมของหนังอาจลงเอยเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังด้วย เพราะบรรดาทีมงานและนักแสดงก็โดนรัฐบาลเคร่งศาสนาในอิหร่านหมายหัวแล้วเรียบร้อย รวมไปถึงรัฐบาลมีหนังสือประท้วงการมอบรางวัลให้กับหนัง โดยส่วนหนึ่งระบุว่าหนังเรื่องนี่เป็นการเหยียดหยามศาสนาที่ร้ายแรงไม่ต่างจาก The Satanic Verses ของ Salman Rushdie 

เป็นที่แน่ชัดว่าหนังฉายภาพการกดขี่ผู้หญิงในแทบจะทุกมิติของสังคมผ่านทางการทำงานของราฮิมีที่มีปัญหาตั้งแต่การที่เธอจองโรงแรมมาคนเดียวโดยไม่มีพ่อหรือสามีมาด้วย โรงแรมไม่ยอมให้เธอเข้าพักจนต้องแสดงตัวว่าเป็นนักข่าว การที่ไม่ว่าจะไปไหนก็ถูกสั่งให้คลุมผ้าให้เรียบร้อย หรือการที่เธอระแวงผู้ชายทุกคนรอบตัว ไม่ว่าจะมาดีหรือมาร้าย ไปจนถึงการถูกคุกคามทางเพศ ไม่ใช่โดยฆาตกร แต่เป็นตำรวจเจ้าของคดี ที่บุกมาถึงห้องเพราะคิดเอาเองว่าจะหาเศษหาเลยกับเธอได้ เพียงเพราะเธอสูบบุหรี่ที่เขาจุดให้ และเรียกเธอว่า ‘อีกะหรี่’ เมื่อเธอปฏิเสธ

‘การทำให้ผู้หญิงกลายเป็นโสเภณี’ กลายเป็นเรื่องที่ชวนใคร่ครวญที่สุด เพราะราวกับว่าผู้หญิงจะคือผู้หญิงก็ต่อเมื่อเป็นผู้หญิงที่ยังบริสุทธิ์ หรือผู้หญิงที่ถูกครอบครองแล้วโดยผู้ชายที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ผู้หญิงที่ยังไม่ใช่เมียหรือแม่เป็นผู้หญิงที่ล้วนมีแนวโน้มจะเป็นโสเภณีทันทีที่เธอมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชาย ราวกับว่าทุกอากัปกิริยาของผู้หญิงในสายตาของผู้ชายคือการยั่วยวนทั้งสิ้น ในวิธีคิดแบบนี้ ผู้หญิงจึงไม่มีอิสระเสียตั้งแต่พื้นฐาน เพราะทุกสิ่งในตัวเธอต้องถูกครอบครองจึงจะมีอิสระได้ ผู้หญิงต้องถูกครอบครองไม่เช่นนั้นก็จะถูกเล่นและถูกทำลาย แนวคิดนี้ไม่ได้ฝังอยู่แค่ในตัวผู้ชาย แต่ฝังอยู่ในตัวผู้หญิงด้วยกันเอง ผู้หญิงจึงไม่เคยปลอดภัย ไม่เคยมีเสรีภาพที่แท้

ความเป็นหญิงจะสามารถเท่าเทียมกับความเป็นชายได้ก็ต่อเมื่อพวกเธอเดินไปตามท้องถนนโดยไม่ต้องกังวลแม้แต่น้อยในฐานะ ‘ผู้หญิง’ ว่าตรงนั้นมีผู้ชายยืนอยู่ ‘ผู้ชาย’ นั้นอันตราย ยิ่งเมื่อเธออยู่นเดียว หรือเธอแต่งตัวมิดชิดพอหรือยัง ความกลัวพื้นฐานเหล่านี้ขับเคลื่อนให้ผู้หญิงมีวิธีคิดและมองโลกต่างจากผู้ชายโดยที่ผู้ชายไม่อาจเข้าถึง ‘ความกลัว’ ที่หยั่งรากอยู่โดยมีพวกเขาเป็นปุ๋ย และเมื่อผู้ชายพูดว่าโลกเราเท่าเทียมกันแล้ว คุณไม่ต้องกลัวผู้ชายอีกต่อไป มันก็ไม่เป็นความจริง เพราะตราบใดที่ผู้ชายยังพร้อมจะมองผู้หญิงรายบุคคลว่ามีแนวโน้มจะเป็นโสเภณีในทางใดทางหนึ่งได้ทุกเมื่อ ผู้หญิงก็ไม่มีทางคิดว่าผู้ชายจะไม่เป็นฆาตกรหรือนักข่มขืนในทางใดทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

ความกลัวในอากาศเช่นนี้ ทำให้คิดไปถึงหนังอีกเรื่องที่พูดเรื่องเดียวกันจากมุมมองของโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ Kim Ji-young: Born 1982 หนังที่พูดถึงผู้หญิงในโลกทุนนิยม โลกที่พวกเธอ ‘ก็ดูจะเท่าเทียมกับผู้ชายดีอยู่แล้ว’ หากราฮิมีอยู่ในโลกที่เธอรู้สึกคับข้องราวกับปราศจากอากาศจะหายใจเพราะเธอพร้อมจะถูกผู้ชายเปลี่ยนสถานะจากผู้หญิงไปเป็นโสเภณีได้ตลอดเวลา คิมจียองก็อาจจะแค่ได้อากาศคืนมาอีกนิดหน่อย ในฐานะของเมียและแม่ที่มีสามีแสนดีรักใคร่ หากความรักของสามี (ที่ใช้กงยูเป็นภาพแทนของสามีในฝันแห่งภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก) แต่เพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะเปลี่ยนแปลงอากาศทั้งหมดที่เธอต้องหายใจ ผู้ชายหลบอยู่ในโลกของการเอาอกเอาใจและขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ไม่มีสิ่งใดเพียงสิ่งเดียวที่ถูกทำลายลงแล้วโลกจะเปลี่ยนแปลง วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่การเป็นหญิงที่ดีไปจนถึงการเป็นเมียและแม่ที่ดี จึงกลายเป็นว่าเป็นผู้หญิงที่สอดส่องผู้หญิงด้วยกันเองเพื่อธำรงความเป็นชายไว้ ตั้งแต่แม่สามีของคิมจียองไปจนถึงภรรยาของฆาตกรที่เชื่อมั่นว่าต่อให้สามีลวงผู้หญิงมาฆ่าในบ้านตัวเอง เขาก็ทำไปเพราะความศรัทธาในพระเจ้า เขาทำในสิ่งที่ตำรวจทำไม่ได้ 

แต่โลกชายเป็นใหญ่และความคลั่งศาสนาไม่ได้ทำร้ายแค่ผู้หญิง มันทำลายผู้ชายไปด้วย ซาอีด ฆาตกรฆ่าโสเภณีในเรื่องนี้ ออกล่าเฉพาะคืนที่ลูกเมียไปบ้านพ่อแม่ เขาเป็นฆาตกรของวันพักผ่อน รูปแบบการฆ่าของเขาชวนให้คิดถึงซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง The Road to Red Restaurant List ซีรีส์ที่ว่าด้วยคุณสุดะ คุณลุงมนุษย์เงินเดือนวัยกลางคนที่ภรรยาและลูกสาวสนใจวงไอดอลมากกว่าตัวเอง ทุกคืนวันศุกร์สองแม่ลูกจะเก็บเสื้อผ้าตามวงไอดอลที่ชอบไปตามสถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดคอนเสิร์ต พ่อบ้านโดดเดี่ยวที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและจะไม่สำเร็จอีกแล้ว คนที่ไม่มีตัวตนในครอบครัวของตัวเอง เลือกวางแผนเดินทางใกล้แบบไปคนเดียวในเมืองต่างๆ รอบโตเกียว ออกคืนวันศุกร์กลับบ่ายวันรุ่งขึ้นเพื่อให้ทันก่อนเมียและลูกกลับบ้าน แสวงหาร้านอาหารเล็กๆ ที่ไม่โด่งดัง ร้านที่กำลังจะตายเพราะไม่มีผู้สืบทอด กอดเก็บบรรยากาศของอาหารง่ายๆ ที่งดงามในยามสนธยาของธุรกิจ 

ผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ไม่มีใครสนใจ อยู่ในวิกฤตวัยกลางคนในขาลงของชีวิตสองคน คนหนึ่งอยู่ในโลกทุนนิยมที่ไม่มีพื้นที่อะไรให้เขาอีกต่อไป เขาเดินทางไปอย่างโดดเดี่ยว เรียนรู้ถึงความงามของชีวิตในศาสนาทุนอย่างเศร้าๆ ว่าทุกอย่างกำลังผ่านหน้าไป และแม้เขาจะทำทุกอย่างที่ผู้ชายพึงทำ เขาก็ไม่ใช่ผู้ชายสมชายที่สมบูรณ์แบบตามภาพแทนของพ่อ สามี ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จ  เราอาจบอกได้ว่าซาอีดยังเหลือที่ทางให้หยัดยืนมากกว่าสุดะ ซาอีดผู้ซึ่งเคยเป็นชายเต็มชายเมื่ออยู่ในสงคราม แต่ตอนนี้เขากลายเป็นชายวัยใกล้เกษียณที่อยู่กัยเมียหนึ่งลูกสาม ชีวิตไม่มีอะไรน่าพึงใจอีกต่อไป มันถึงจุดสูงสุด อุดมสมบูรณ์แต่มันก็ยังต้องการอีก เพราะความปรารถนาเป็นเหมือนถังก้นรั่ว เมื่อมันถูกเติมจนเต็ม ความปรารถนาใหม่ก็เข้าแทนที่ ความเป็นชายที่จุดสูงสุดของเขาจึงพบหนทางอยู่ในการกำจัดพวกหญิงคนชั่วออกไปจากเมือง 

การฆ่าของหนังนั้นน่าสนใจมาก เขาไม่ได้ข่มขืนพวกหล่อนเพราะการฆ่าเป็นการฆ่าเพื่อศาสนา แต่ดูเหมือนการฆ่าเป็นส่วนผสมของความพึงพอใจที่ได้เห็นเหยื่อตายอย่างทรมานจากการรัดคอด้วยผ้าคลุมของเหยื่อเอง พอๆ กับการฆ่าเพื่อพระเจ้า มันเป็นจุดบรรจบที่โอ้โลมความเป็นชายของเขาให้ถึงจุดสุดยอด โดยไม่ใช่แค่การกินอาหารอร่อย แช่ออนเซ็น ดูพระอาทิตย์ขึ้นโดยลำพังแบบคุณสุดะ แต่คือการได้ทั้งฆ่า ได้แสดงอำนาจเหนือพวกผู้หญิงเลวๆ และได้เป็นตัวแทนของพระเจ้า 

ครึ่งหลังของหนังยิ่งฉายชัดถึงสังคมคลั่งความเป็นชายและคลั่งศาสนา เพราะเมื่อเขาถูกจับเขาไม่ได้กลายเป็นฆาตกรแต่เป็นวีรบุรุษ ลูกเมียของเขาได้รับความยกย่องจากชุมชน เขาเองไม่เคยรู้สึกผิดแม้แต่น้อยที่ได้ฆ่าคนเป็นๆ ไปมากมาย ดังที่ราฮิมีคาดการณ์ไว้ การจับฆาตกรไม่ใช่จุดจบแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยให้เห็นถึงสังคมที่ ‘ฆ่าคนนอกศาสนาไม่บาป-ยิ่งเป็นพวกผู้หญิงด้วยแล้ว’

ซาอีดกลายเป็นวีรบุรุษของชุมชน  เขาเชื่อว่าเขาไม่ได้ทำผิด และรัฐดูจะเห็นด้วยกับเขา อย่างไรก็ดีรัฐไม่อาจยอมรับความรุนแรงนอกอำนาจของรัฐได้ รัฐและศาสนาที่ควบรวมกันเรียบร้อยจำเป็นต้องลงโทษเขา เพราะรัฐเท่านั้นที่จะมีอำนาจใช้ความรุนแรง หากรัฐปล่อยให้ปัจเจกใช้ความรุนแรง แม้รัฐจะเห็นด้วย ยุยงส่งเสริมสักแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะนำไปสู่ความวุ่นวาย ซาอีดจึงต้องถูกลงโทษ เขาไม่ได้ถูกลงโทษเพราะฆ่าโสเภณี เขาถูกลงโทษเพราะละเมิดอำนาจรัฐ 

หนังเล่าทุกอย่างออกมาอย่างบีบคั้นหม่นหมอง ด้วยท่าทีของหนังสืบสวนสอบสวนในครึ่งแรก และหนังดราม่าในครึ่งหลัง ความน่ากลัวของหนังไม่ได้มาจากฆาตกร แต่มาจากอากาศอันบางเบาที่ตัวละครพยายามหายใจ ใบอนุญาตฆ่าที่มาในรูปแบบแตกต่างกัน แม้ว่าอันที่จริงหนังอาจจะคลี่คลายครึ่งแรกของหนังง่ายไปสักนิด แต่ฉากที่อาจจะเป็นฉากคล้ายๆ กัน อย่างราฮิมีเผชิญหน้าฆาตกร และฆาตกรผเชิญหน้าลานประหารก็ให้ผลทางอารมณ์รุนแรงทัดเทียมกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างตระหนักถึงความด้อยอำนาจของตนในการทำสิ่งที่ต่างเชื่อว่าทำถูก

ฉากจบของหนังจึงเป็นฉากที่สะพรึงกลัวที่สุดของเรื่อง เมื่อราฮิมีเปิดดูวิดีโอสัมภาษณ์ลูกชายของซาอีด ความตายของพ่อไม่ได้ทำให้ลูกชายรู้สึกถึงความผิดปกติ ตรงกันข้าม ความตายของพ่อกลายเป็นการส่งต่อความคิดแบบชายเป็นใหญ่ในนามของศาสนาต่อไปอย่างน่าขนลุก และกลิ่นอายของไอ้แมงมุมก็จะยังชักทอใยศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นของมันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save