fbpx
ตามรอยพระเยซูในเดือนคริสตสมภพ 

ตามรอยพระเยซูในเดือนคริสตสมภพ 

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

ในเดือนสุดท้ายของปีที่กลิ่นอายของงานเทศกาลใกล้เข้ามา ไฟแสงสีประดับตามถนนสว่างตระการตา ต้นสนถูกประดับตามห้างสรรพสินค้าพร้อมเปิดเพลงคริสต์มาสชวนรื่นเริงใจ

ผมได้เดินทางไปยังอิสราเอลและเวสต์แบงค์ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศงานเฉลิมฉลองเช่นกัน ทั้งในฝั่งอิสราเอล ฝั่งเวสต์แบงค์ที่ปาเลสไตน์ปกครอง และแม้กระทั่งฝั่งจอร์แดนที่เป็นประเทศอิสลามซึ่งไม่เคร่งนัก เราสามารถเห็นของตกแต่งงานฉลองคริสต์มาสได้ตั้งแต่เบธเลเฮม เจริโค นาซาเรธ กาลิลี จนถึงจุดศูนย์รวมแห่งศรัทธาหลากศาสนาในนครเยรูซาเลม

ภาพความขัดแย้ง ข่าวความรุนแรง ระเบิด ก่อการร้าย จะเลือนรางจางไปเมื่อย่างเข้าสู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของศาสนิกมายาวนานนับพันปี และแม้ว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะมีผู้อ้างสิทธิ์การปกครองจนเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง แต่ในบริเวณของศาสนสถานที่เป็นปูชนียสถานพึงเคารพ ก็เงียบสงบและให้บรรยากาศศักดิ์สิทธิ๋ คลอไปกับกลิ่นไอของความรื่นเริงในช่วงงานเฉลิมฉลองพระคริสตสมภพ

-1-

เบธเลเฮม เมืองคริสตสมภพ

ส่วนเจ้า เบธเลเฮม เอฟราธาห์เอ๋ย ถึงแม้เจ้าเป็นคนเล็กน้อยในหมู่ตระกูลต่างๆ ของยูดาห์ แต่จะมีผู้หนึ่งออกมาจากเจ้าเพื่อเรา เป็นผู้ที่จะครอบครองอิสราเอล (มิคาห์ 5:2 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

เบธเลเฮม เมืองคริสตสมภพ

เมืองเบธเลเฮม ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนครเยรูซาเลมประมาณ 16 กิโลเมตร ปัจจุบันถือว่าเป็นเขตเวสต์แบงค์ภายใต้การปกครองขององค์กรปกครองปาเลสไตน์ (Palestinian Authority:PA) เขตแดนระหว่างเยรูซาเลมกับเบธเลเฮมถูกกั้นไว้ด้วยกำแพงคอนกรีตในเขตชุมชน และรั้วลวดหนามในเขตภูเขาและทะเลทราย แม้ว่าเบธเลเฮมจะถือเป็นเมืองเกิดของพระเยซู แต่ปัจจุบันผู้อาศัยชาวปาเลสไตน์ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม มีชาวคริสต์อยู่เพียงราว 20% ซึ่งนับถือนิกายที่แตกต่างกันหลายนิกาย

คำว่าเบธเลเฮม มีความหมายคล้ายคลึงกันทั้งในภาษาฮีบรูว์และภาษาอารบิค คำว่า เบธ มีความหมายว่า ‘บ้าน’ ทั้งสองภาษา ส่วน เลเฮม ในภาษาอารบิคหมายถึง ‘เนื้อ’ และภาษาฮีบรูว์ หมายถึง ‘ขนมปัง’ ทั้งสองความหมายสื่อถึงความเป็นแหล่งเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และเป็นอู่ข้าวอู่น้ำผลิตอาหารสำคัญในท้องถิ่น เนื่องจากรากดั้งเดิมของชื่อเมืองนั้นตั้งมาจากนามของเทพ เลเฮม เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวคานาอันโบราณ

จุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและแสวงบุญคือจัตุรัสรางหญ้า (Manger Square) ใจกลางย่านเมืองเก่าเบธเลเฮม อันเป็นที่ตั้งของโบสถ์พระคริสตสมภพ (Church of Nativity) ซึ่งสร้างครอบทับจุดที่เชื่อว่าเป็นบ้านและโรงม้า รางหญ้าที่พระเยซูคริสต์บังเกิดมาในร่างมนุษย์ และเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก

โบสถ์พระคริสตสมภพนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.327 โดยพระบัญชาของพระเจ้าคอนสแตนตินมหาราช จักรพรรดิคริสเตียนพระองค์แรกของจักรวรรดิโรมัน และสร้างใหม่อีกครั้งหลังกบฏชาวสะมาเรียในปี 565 โดยจักรพรรดิจัสติเนียน และอยู่รอดปลอดภัยจากทั้งการบุกทำลายของกองทัพมุสลิม และการกวาดล้างของมองโกล โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อกองทัพมองโกลบุกมาเผาทำลายเยรูซาเลมและเมืองใกล้เคียง แม่ทัพมองโกลเห็นภาพวาดสามกษัตริย์ (Three Kings หรือ Three Magi) ที่มาถวายกำยาน มดยอบ และทองคำ แก่พระกุมารเยซูตามตำนานคริสตสมภพบนผนังของโบสถ์ ทั้งสามกษัตริย์นั้นแต่งกายคล้ายกับชาวมองโกล จึงละเว้นการเผาทำลายโบสถ์พระคริสตสมภพไปเสีย ทำให้โบสถ์แห่งนี้เป็นศาสนสถานเพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นการทำลายและใช้ประกอบพิธีกรรมมาจนถึงทุกวันนี้

โบสถ์พระคริสตสมภพ

โบสถ์พระคริสตสมภพ ใช้งานร่วมกันระหว่างสี่นิกาย คือ โรมันคาทอลิก อาร์เมเนียนอพอสโตลิก รัสเซียนออร์โธดอกซ์ และกรีกออร์โธดอกซ์ โดยยึดถือหลัก status quo of the holy site ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุลต่านออสมันที่ 3 ของออตโตมัน โดยภายในมีการบูรณะต่อเติมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกฎโบราณที่ถือกันว่า ผู้ใดเป็นผู้ต่อเติมเป็นคนสุดท้าย จะได้เป็นผู้ครอบครองโบสถ์ ด้านในสุดภายใต้แท่นบูชากลาง เป็นคูหาที่ตั้งของดาราแห่งเบธเลเฮม ซึ่งเป็นเครื่องหมายแทนจุดที่เชื่อว่าพระเยซูทรงสมภพในรางหญ้า

ดาราแห่งเบธเลเฮม

ดาราแห่งเบธเลเฮมดวงจริงนั้น ทำขึ้นและจัดวางไว้ตั้งแต่สมัยก่อสร้างโบสถ์ครั้งแรกยุคจักรพรรดิคอนสแตนติน แต่ถูกขโมยไปอย่างไร้ร่องรอยในปี ค.ศ.1852 เชื่อกันว่า การขโมยดาราแห่งเบธเลเฮมนี้เอง ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของสงครามไครเมียในเวลาต่อมา

การเข้าไปชมถ้ำพระคริสตสมภพในโบสถ์นั้น โดยทั่วไปแล้วต้องต่อแถวยาวเหยียด จากหน้าถ้ำใต้แท่นบูชา ออกมาถึงลานจัตุรัสรางหญ้าหน้าโบสถ์ แต่ในวันที่ผมเดินทางไป โชคดีที่เป็นวันฝนตกที่หาได้ยาก ประกอบกับเป็นวันศุกร์ที่เป็นวันหยุดของชาวอาหรับ และอยู่ในช่วงเทศกาลฮานุคคาห์ ใกล้วันเสาร์ที่เป็นวันชับบัท หรือวันสะบาโตของชาวยิว จึงทำให้คนที่มาแสวงบุญสักการะมีน้อย ได้ชื่นชมถ้ำพระคริสตสมภพและโบสถ์อย่างเต็มที่

ด้านหน้าลานจัตุรัสรางหญ้า ประดับด้วยโคมไฟดวงดาว และต้นสนคริสต์มาสขนาดใหญ่ที่พร้อมจะเปิดไฟประดับในยามราตรี และมีร้านค้าของที่ระลึก ศาสนภัณฑ์ของชาวคริสต์แห่งเบธเลเฮมจำหน่ายรายรอบ ร้านค้าบางร้านมีหน้าร้านขายส่งทางออนไลน์ทั้งใน amazon.com และ Alibaba.com เป็นแหล่งรายได้สำคัญของชาวเบธเลเฮมที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวและชาวคริสต์ผู้แสวงบุญจากทั่วโลก และเนื่องจากเบธเลเฮมมีศาสนิกในคริสต์ศาสนาถึง 3 นิกาย ซึ่งนับวันคริสตสมภพต่างกัน คือ โรมันคาทอลิก 25 ธันวาคม กรีกออร์โธดอกซ์ 7 มกราคม และอาร์เมเนียนอพอสโตลิก 22 มกราคม ทำให้งานเฉลิมฉลองคริสต์มาสสีสันสดใสในเมืองคริสตสมภพแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ยาวไปถึงสิ้นเดือนมกราคมเลยทีเดียว

ซานตาคลอส

นาซาเรธ ทูตสวรรค์แจ้งข่าวและบ้านของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์

จึงเป็นจริงตามที่ได้กล่าวไว้ผ่านทางบรรดาผู้เผยพระวจนะว่า “เขาจะเรียกท่านว่า ชาวนาซาเร็ธ” (มัทธิว 2:23 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

ขึ้นเหนือจากเยรูซาเลมมาประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองนาซาเร็ธ บ้านในวัยเด็กของพระเยซู และบ้านเดิมของนักบุญโยเซฟและพระแม่มารี นาซาเร็ธเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ไม่มีความสำคัญใด แต่เมื่อคริสต์ศาสนาแพร่ขยายไปกว้างขวาง ก็กลายเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญของศาสนิกที่จะมาแสวงบุญ และเป็นเมืองใหญ่ในจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีคนอยู่จำนวนมากตั้งแต่ปี ค.ศ.300

ตามพระคัมภีร์ และความเชื่อแบบคาทอลิก พระแม่มารีได้รับข่าวประเสริฐถึงการกำเนิดของพระกุมารจากทูตสวรรค์กาเบรียลที่บ้านของตนในนาซาเร็ธ ก่อนที่จะเดินทางไปขึ้นทะเบียนสำมะโนครัว และให้กำเนิดพระเยซูที่เบธเลเฮม หลังจากนั้นครอบครัวได้หลบหนีการล่าตัวเด็กของกษัตริย์เฮรอดไปอยู่อียิปต์ ก่อนจะกลับมาอาศัยในนาซาเร็ธอีกครั้ง พระเยซูใช้เวลาวัยเยาว์ฝึกงานเป็นช่างไม้กับโยเซฟที่บ้าน และไม่ปรากฏเรื่องราวหลังจากนั้นจนถึงการทำบัพติศมา (ศีลจุ่ม) กับนักบุญยอห์นเดอะแบพติสต์

วิหารทูตสวรรค์แจ้งข่าว

ปัจจุบันนาซาเร็ธเป็นเมืองใหญ่ในปกครองของอิสราเอล แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีชาวคริสต์อาศัยประมาณ 30% อิสราเอลให้อำนาจบริหารเมืองแก่สภาเมืองนาซาเร็ธค่อนข้างมาก โดยนาซาเร็ธยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแสวงบุญที่สำคัญของอิสราเอล โดยมีโบสถ์คริสต์จากหลายนิกายมาตั้ง และมีร้านขายศาสนภัณฑ์และของที่ระลึกทางคริสต์ศาสนามากมายโดยมีชาวคริสต์ท้องถิ่นเปิดจำหน่าย เช่นเดียวกับที่เบธเลเฮม

จุดหลักของเมืองนาซาเร็ธ คือวิหารทูตสวรรค์แจ้งข่าว (Basilica of Annunciation) ในการดูแลของคณะฟรานซิสกัน โบสถ์โรมันคาทอลิก ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิทักษ์แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (Custodia Terra Sancta) ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักวาติกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เข้ามาซื้อที่ดินบริเวณที่เชื่อว่าเป็นโบสถ์และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามพระคริสตประวัติที่อ้างถึงในพระคัมภีร์จากจักรวรรดิออตโตมันที่ปกครองอยู่ยุคนั้น และเข้าขุดค้นทางโบราณคดีรวมถึงก่อสร้างโบสถ์เพื่อบูชา

วิหารทูตสวรรค์แจ้งข่าว

ภายในวิหารทูตสวรรค์แจ้งข่าวมีสองชั้น ชั้นล่างเป็นลานกว้างปูพื้นหินสลับลายลวงตาคล้ายบันได ตรงกลางเป็นโบสถ์หินโบราณในยุคไบแซนไทน์ ที่ระบุว่าสร้างบนที่ดินที่เคยเป็นบ้านของพระแม่มารีและแท่นบูชา เมื่อเดินขึ้นบันไดเวียนไปชั้นบน จะเป็นเก้าอี้สำหรับศาสนิกและแท่นประกอบพิธีใหญ่ รายรอบไปด้วยงานศิลป์ มีภาพพระแม่มารีและพระกุมารเยซูที่ได้รับมาจากนาชาติทั่วโลก และมีช่องเปิดลงไปถึงแท่นบูชาโบสถ์หินโบราณด้านล่าง

ในเขตวิหารด้านเหนือ เป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์โยเซฟ ซึ่งเมื่อขุดค้นแล้วพบพื้นที่ที่เชื่อได้ว่า เป็นบ้านของโยเซฟช่างไม้ เนื่องจากพบเครื่องมือเครื่องใช้ช่างไม้โบราณอายุไล่เลี่ยกับที่ระบุในพระคริสตธรรมคัมภีร์ นอกจากนี้ คณะนักบวชฟรานซิสกันยังได้ขุดค้นพื้นที่โดยรอบ พบถนน ซากบ้าน ร้านรวงและคอกม้าโบราณในสมัยโรมันและไบแซนไทน์ และค่อยๆ บูรณะให้เห็นภาพโครงร่างของหมู่บ้านนาซาเร็ธในยุคพระคัมภีร์อีกด้วย

เมืองนาซาเร็ธทุกวันนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งแสวงบุญของชาวคริสต์แล้ว ยังเป็นเมืองที่ชาวยิวจากเมืองอื่นของอิสราเอล จะมาพักผ่อน ซื้อหาสินค้า รับประทานอาหาร และปาร์ตี้กันในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันสะบาโต ที่ร้านค้าของชาวยิวในเยรูซาเลมและเทลอาวีฟจะปิดเงียบ แต่ร้านค้าและห้างของชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในนาซาเร็ธจะเปิดทำการตามปกติ และมีราคาสินค้าที่ถูกกว่าเนื่องจากสภาเมืองเก็บภาษีน้อยกว่าอีกด้วย

เบธานี บียอนด์ จอร์แดน จุดกำเนิดคริสต์ศาสนา

แล้วพระเยซูเสด็จจากแคว้นกาลิลีมายังแม่น้ำจอร์แดนเพื่อรับบัพติศมาจากยอห์น แต่ยอห์นพยายามทูลทัดทานว่า “ข้าพระองค์ต่างหากที่ต้องขอรับบัพติศมาจากพระองค์ ควรหรือที่พระองค์เสด็จมาหาข้าพระองค์?” (มัทธิว 3:13-15 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

หลังจากช่วง 30 ปีที่หายไปของพระคริสตประวัติ เรื่องของพระเยซูคริสต์ก็ดำเนินขึ้นอีกครั้งเมื่อกล่าวถึงยอห์นเดอะแบพติสต์ และการเสด็จมาจากแคว้นกาลิลีเพื่อมารับบัพติศมาของพระเยซู สถานที่ซึ่งพระเยซูทรงรับบัพติศมาจากนักบุญยอห์นเดอะแบพติสต์ จากบันทึกในพระคัมภีร์ไบเบิลและการขุดค้นทางโบราณคดี เห็นตรงกันว่า ชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เหนือฝั่งด้านเหนือของเดดซีมา 5 ไมล์ ในเขตพื้นที่ประเทศจอร์แดนปัจจุบัน เป็นจุดที่พระเยซูทรงรับบัพติศมา ​โดยลงไปทั้งพระองค์ในแม่น้ำจอร์แดน และได้รับพระสุรเสียงจากพระเจ้าว่าเป็นพระบุตรที่รัก (มัทธิว 3:13-17, มาระโก 1:9-11, ลูกา 3:21-23) ก่อนจะออกเผยแผ่ความเชื่อที่ต่อมากลายเป็นคริสต์ศาสนา

จุดกำเนิดคริสต์ศาสนา

พื้นที่จุดนี้ได้รับการคุ้มครองจากราชวงศ์จอร์แดน และได้รับทุนขุดค้นจากยูเนสโก อาศัยการค้นคว้าพระคัมภีร์และเอกสารประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคโรมัน ไบแซนไทน์ จนถึงยุคอาหรับ จนขุดพบโบสถ์โบราณ 5 แห่งในเขตตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน คริสตจักรใหญ่ทุกนิกายทั่วโลกลงมติส่งจดหมายรับรองว่าเป็นสถานที่จริงที่เชื่อว่าพระเยซูได้รับบัพติศมาจากนักบุญยอห์น และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางคริสต์ศาสนาที่นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญทั่วโลกมาชม

ภายในเขตเป็นจุดรอยต่อชายแดนระหว่างอิสราเอล (หรือชาวจอร์แดนจะเรียกว่าปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง) ​กับจอร์แดน ทำให้มีทหารตรึงกำลังอยู่ทั้งสองฟากของแม่น้ำ แม่น้ำจอร์แดนแคบนิดเดียว มีต้นกกและต้นไม้ขึ้นแน่นขนัด ฝ่ายจอร์แดนและอิสราเอลขึงเส้นเชือกและทุ่นบอกเขตแดนไว้ที่กลางแม่น้ำ บริเวณใกล้เคียงมีโบสถ์ของหลายนิกายตั้งอยู่เรียงรายกัน รวมถึงมัสยิดที่สร้างเพื่อระลึกถึงนบีอีซา และเอลียา (พระเยซูและเอไลจาห์)​ ในพื้นที่ด้วย เป็นเครื่องหมายของสันติภาพและความปรองดองระหว่างศาสนาในจอร์แดน โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งจอร์แดนได้มีพระราชสาส์นพระราชทานที่ดินให้แก่ศาสนจักรของแต่ละนิกายในประเทศต่างๆ ที่นับถือคริสต์ ให้มาตั้งโบสถ์โดยไม่คิดมูลค่า

ใครประสงค์จะประกอบพิธีบัพติสมา ทำศีลจุ่ม มีห้องให้เปลี่ยนเสื้อผ้าและติดต่อโบสถ์ได้ แต่ฝั่งอิสราเอลจะมีทัวร์มาลงเพื่อทำศีลจุ่มแบบคึกคักกว่าฝั่งจอร์แดน

พิธีบัพติสมา, ศีลจุ่ม

รอบๆ ยังมีจุดขุดค้นทางโบราณคดีที่น่าสนใจ เช่น เนินเอไลจาห์ จุดที่เชื่อว่าประกาศเอไลจาห์ (หรือเอลียาห์) ​ได้ขึ้นสู่สวรรค์ สุสานของเซนต์มารีชาวอียิปต์ จุดที่สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นพอลที่ 2 เสด็จมาเยือน ถ้ำที่ยอห์นเดอะแบพติสต์เคยอาศัย

ค่าเข้าชม 8 JOD ถ้าซื้อจอร์แดนพาสสามารถซื้อพ่วงได้ผ่านทางออนไลน์ ระหว่างการเยี่ยมชมจะมีไกด์พาชมและบรรยาย มีแผนที่และชัตเติลบัสฟรี สามารถนำขวดน้ำมาตักไปเป็นที่ระลึก หรือซื้อน้ำมนต์ กำยาน ฯลฯ ได้ เดินทางมาจากกรุงอัมมานโดยรถใช้เวลาราว 45 นาที หรือถ้าพักแถวเดดซีก็ 25 นาที จะขับรถเองหรือซื้อเดย์ทริปจากโรงแรมก็ได้เหมือนกัน

เจริโค ภูเขาแห่งการทดสอบ

แล้วแสดงอาณาจักรทั้งปวงของโลกกับความโอ่อ่าตระการของอาณาจักรเหล่านั้นให้พระองค์ทอดพระเนตร แล้วทูลว่า “ทั้งหมดนี้เราจะยกให้ท่านหากท่านกราบนมัสการเรา”

พระเยซูตรัสว่า “เจ้าซาตาน จงไปให้พ้น! เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘จงนมัสการองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว’ (มัทธิว 4:8-10 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

เจริโคเป็นเมืองใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ในการปกครองของปาเลสไตน์ ปรากฏชื่อในเอกสารโบราณมายาวนาน เชื่อกันว่า เจริโคเป็นหนึ่งในเมืองของมนุษยชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ การขุดค้นทางโบราณคดีพบยุ้งฉางข้าวโบราณอายุราว 10,000 ปี เป็นเครื่องหมายว่า มนุษย์เปลี่ยนสังคมจากการเก็บของป่าล่าสัตว์ มาเป็นสังคมเกษตรกรรมครั้งแรกๆ ในเมืองเจริโคแห่งนี้

เจริโคยังมีความสำคัญยิ่งต่อศาสนายูดาย เพราะถือว่าเป็นเมืองแรกที่โยชูวา ผู้นำชาวยิวคนต่อจากโมเสส ยกกำลังชาวยิวที่พ้นจากการร่อนเร่ในทะเลทรายเข้าตีเมืองสำเร็จ เป็นจุดเริ่มของอาณาจักรยิวในดินแดนแห่งพันธสัญญายุคโบราณ

ในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ หลังจากพระเยซูทรงรับบัพติศมาจากนักบุญยอห์น พระองค์ได้ถูกปีศาจนำไปยังถิ่นกันดาร ซึ่งนักศึกษาพระคัมภีร์คาดว่าคือทะเลทรายจูเดียน ปีศาจได้ท้าทายและทดสอบพระเยซูให้เปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปัง ซึ่งพระองค์ปฏิเสธ ก่อนจะนำมายังยอดเขาในเมืองเจริโคซึ่งมีวิหารยิวตั้งอยู่ แล้วท้าทายให้พระองค์กระโดดลงไป เพื่อทดสอบวจนะของพระผู้เป็นเจ้าว่าจะคอยรองรับพระองค์ผู้เป็นบุตรจริงหรือไม่ และท้าทายครั้งสุดท้าย โดยนำพระองค์ไปยังภูเขาที่สูงที่สุดของนครเจริโค แล้วทูลว่าจะมอบอาณาจักรทั้งปวงให้ถ้าหันมาบูชาซาตาน

พระเยซูทรงเอาชนะปีศาจทั้งสามครั้ง ก่อนจะกลับไปยังแคว้นกาลิลี

ปัจจุบันเจริโคอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างชายแดนจอร์แดนกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ ถนนที่จะเข้าเจริโคมีป้ายห้ามชาวอิสราเอลเข้าอย่างชัดเจน โดยปกติแล้วจะมีกองกำลังปาเลสไตน์ตั้งด่านคอยตรวจพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวทำให้เสียเวลามาก แต่ในระยะหลัง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดงบประมาณสนับสนุนองค์การปกครองปาเลสไตน์ ทำให้ตำรวจและกองกำลังรักษาชายแดนของปาเลสไตน์ขาดงบบริหารและดำเนินงาน นักท่องเที่ยวจึงสามารถเข้าออกเขตเจริโคและเขตเมืองอื่นของปาเลสไตน์ได้อย่างอิสระระดับหนึ่ง

บริเวณเมืองโบราณเจริโค เป็นแหล่งขุดค้นที่องค์การปกครองปาเลสไตน์ได้รับความสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยซาปิเอนซ่าแห่งกรุงโรม อิตาลี และมีการสร้างกระเช้าเคเบิลเพื่อนำเที่ยวขึ้นไปยังภูเขาแห่งการทดสอบ (Mount of Temptation) ซึ่งมีโบสถ์โบราณตั้งอยู่

เมืองโบราณเจริโค

กาลิลี ดินแดนแห่งปาฏิหาริย์

พระเยซูตรัสสั่งพวกคนรับใช้ว่า “จงตักน้ำใส่โอ่งให้เต็ม” เขาจึงตักน้ำใส่จนเต็มเสมอปากโอ่ง แล้วพระองค์ตรัสสั่งพวกเขาว่า “จงตักส่งให้เจ้าภาพเถิด” พวกเขาก็ทำตาม และเจ้าภาพก็ชิมน้ำซึ่งกลายเป็นเหล้าองุ่น เขาไม่รู้เลยว่าเหล้านี้มาจากไหน (ยอห์น 2:7-9 พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

เมื่อพระเยซูเสด็จกลับมายังนาซาเร็ธ ได้เริ่มเผยแผ่แนวคิดและเทศนา โดยสาวกกลุ่มแรกๆ คือซิโมนเปโตร ชาวประมงที่หาปลาอยู่ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี กับอันดรูว์น้องชาย และฟิลิปกับนาธาเนียล ซึ่งพระเยซูทรงเรียกให้ตามมา จนกระทั่งพระองค์ทรงไปเข้าร่วมงานสมรสพร้อมกับพระแม่มารีและสาวกที่เมืองคานา แล้วแสดงปาฏิหาริย์เปลี่ยนน้ำเป็นไวน์ สาวกของพระองค์จึงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ก่อนจะไปประทับยังเมืองคาเปอร์นาอุม เมืองโรมันริมฝั่งทะเลกาลิลี และเริ่มเทศนาคำสอนในธรรมศาลา (Synagogue) ของเมืองคาเปอร์นาอุม พร้อมทั้งยังแสดงปาฏิหาริย์อีกหลายครั้ง ณ ที่นี่ ทั้งการรักษาคนป่วยโรคเรื้อน คนตาบอด คนเป็นง่อยอัมพาต และการเดินบนทะเลที่มีพายุลมแรง ก่อนจะขึ้นไปแสดงเทศนาบทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนภูเขา (Sermon on the Mount) และแสดงปาฏิหาริย์การเพิ่มจำนวนขนมปังและปลาจากขนมปังเพียงหนึ่งตะกร้าและปลาเพียงสองตัว เพื่อเลี้ยงผู้มาฟังคำเทศนาห้าพันคน

พื้นที่ในเขตริมทะเลสาบกาลิลี ได้รับการพัฒนาจากรัฐอิสราเอลเป็นแหล่งท่องเที่ยวแสวงบุญของชาวคริสต์ โดยมีคณะนักบวชฟรานซิสกันเป็นผู้อารักขาดูแล ที่ฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือคือเมืองทับกา เชิงภูเขาเทศนา มีซากปรักหักพังของเมืองโบราณที่เคยเป็นแหล่งปลูกและผลิตน้ำมันมะกอก และมีโบสถ์คริสต์สมัยไบแซนไทน์ ระบุว่าเป็นจุดที่พระเยซูทรงแสดงปาฏิหาริย์เพิ่มจำนวนปลาและขนมปัง โดยมีโมเสครูปปลาสองตัวและขนมปังหนึ่งตะกร้าเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งภาพโมเสคนี้ได้ถูกทำเป็นลายประดับตามถ้วยจาน เสื้อยืด และของที่ระลึกขายมากมายทั่วอิสราเอล เพราะเป็นเครื่องหมายที่สอนว่า หากเราหวงสิ่งของไว้เพียงแต่ตัวเอง คนก็จะอดอยาก แต่ถ้าเราแบ่งปันให้กัน คนก็จะอิ่มหนำสำราญและมีพอกินอย่างเหลือเฟือ

ในเมืองคานา มีโบสถ์ฉลองสมรส เพื่อรำลึกถึงปาฏิหาริย์การเปลี่ยนน้ำเป็นไวน์ในงานสมรส นอกจากนี้ ชาวเมืองคานายังผลิตไวน์จำหน่ายเป็นที่ระลึก ว่าเป็นเมืองแห่งปาฏิหาริย์ครั้งแรกของพระเยซูด้วย

ในเมืองคาเปอร์นาอุม ซึ่งเป็นเมืองที่พระเยซูทรงเรียกซิโมนเปโตร หรือนักบุญปีเตอร์มาติดตาม มีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีให้เห็นภาพเมืองโบราณ และธรรมศาลาที่เชื่อว่าพระเยซูทรงแสดงพระธรรมเทศนาในช่วงแรกตามคติคาทอลิก ทรงแต่งตั้งให้นักบุญปีเตอร์เป็นหัวหน้าของเหล่าสาวก ณ ที่นี้

ริมฝั่งน้ำกาลิลี มีอนุสาวรีย์นักบุญปีเตอร์ในชุดชาวประมง ถือกุญแจประตูสวรรค์ยืนเด่นเป็นสง่าต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาแสวงบุญ รวมถึงมีร้านอาหารที่จะให้นักท่องเที่ยวได้ชิมรสปลาแห่งทะเลกาลิลีแบบเดียวกันกับที่ซิโมนเปโตรจับในยุคคริสตกาล และพระเยซูแสดงปาฏิหาริย์เพิ่มจำนวนปลา

ปลาที่ว่านั่นก็คือ ‘ปลานิล’!!! (Nile Tilapia) อันเป็นปลาท้องถิ่นของกาลิลีนั่นเอง

 

 –2-

การเดินทางตามรอยเส้นทางของพระเยซูคริสต์ในเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้ ไม่มีทางสมบูรณ์ไปได้ หากไม่เข้าไปเยือนนครเยรูซาเลม อันเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์สามศาสนา ของทั้งคริสเตียน ยิว และมุสลิม

หลายคนเมื่อบอกว่าจะมาเที่ยวอิสราเอล เข้าชมนครเยรูซาเลม ก็มักกล่าวว่า ไปยาก น่ากลัว เสี่ยงภัยอันตราย เนื่องจากข่าวความขัดแย้งและการก่อการร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่เมื่อผมข้ามพรมแดนจากจอร์แดนและนั่งรถแท็กซี่แบบแชร์มาถึงประตูดามัสกัสของเยรูซาเลมเมืองเก่า กลับพบว่า เยรูซาเลมนั้นเป็นเมืองที่สะอาดทันสมัย ปลอดภัยและสะดวกสบายแทบไม่ต่างจากเมืองในทวีปยุโรป แม้ว่าค่าครองชีพจะแพงเป็นพิเศษ และทุกวันเสาร์อันเป็นวันสะบาโตของชาวยิว ทุกร้านจะปิดเงียบสงัด แม้กระทั่งขนส่งมวลชนก็หยุดทำงาน เหลือแค่ร้านค้ามุสลิมไม่กี่ร้านและร้านของชำกับร้านอาหารจีน

พื้นที่นครเยรูซาเลมมีสถานที่ให้ชมหลากหลาย ซึ่งสามารถเดินทางได้ด้วยรถเมล์และรถรางซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ตั๋วขึ้นเที่ยวหนึ่งอยู่ที่ 5.90 เช็คเกลอิสราเอล หรือประมาณ 55 บาท แต่สามารถซื้อตั๋วรายวันหรือรายสัปดาห์ได้ โดยต้องซื้อบัตรเติมเงิน Ravkav จากตู้ขายอัตโนมัติหรือศูนย์นักท่องเที่ยวก่อน แต่สำหรับเขตกำแพงเมืองโบราณเยรูซาเลมที่มีพื้นที่เพียง 0.9 ตารางกิโลเมตรนั้น สามารถเดินชมให้รอบได้โดยใช้เวลาเพียงครึ่งวัน

เยรูซาเลม นครศักดิ์สิทธิ์

โฮซันนาแด่บุตรดาวิด!” สรรเสริญพระองค์ผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า!” โฮซันนาในที่สูงสุด!”

เมื่อพระเยซูเสด็จเข้าสู่เยรูซาเล็ม ทั่วทั้งกรุงแตกตื่นถามกันว่า “คนนี้คือใคร?” ประชาชนตอบว่า “นี่คือพระเยซู ผู้เผยพระวจนะจากนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี” (มัทธิว 21:9-11)

ในเขตกำแพงเมืองเก่าเยรูซาเลมซึ่งสร้างโดยสุลต่านสุไลมานผู้วิเศษ (Suleiman the Magnificent) แห่งจักรวรรดิออตโตมันเมื่อปี 1532-1545 นั้นเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ความศรัทธา และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนิกแห่งสามศาสนา โดยผังเมืองในสมัยออตโตมันได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน (Quarter) คือ เขตมุสลิม อยู่ทิศตะวันออกรอบมัสยิดอัลอักศอและโดมออฟเดอะร็อก จนถึงประตูราชสีห์ เขตยิวอยู่ทางทิศใต้รอบกำแพงร่ำไห้จนถึงนครแห่งดาวิดที่ประตูซิโยน เขตอาร์เมเนียนอยู่ทางทิศตะวันออกจนถึงประตูจาฟฟา และเขตคริสเตียนอยู่ทางเหนือรอบโบสถ์คูหาศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปจรดประตูดามัสกัส

ในเขตคริสเตียนนี่เอง ที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาชาวคริสต์ และเป็นเส้นทางสุดท้ายในพระชนมชีพของพระเยซูคริสต์

เมื่อพระเยซูทรงสำแดงปาฏิหาริย์และเทศนาสั่งสอนผู้คน จนมีผู้คนจำนวนมากเข้าเชื่อนับถือพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ผู้ช่วยให้รอดแล้ว ก็เสด็จเข้าสู่เยรูซาเลมอีกครั้งอย่างผู้พิชิต มีผู้คนแห่ห้อมแสดงความนับถือ เชื่อฟังและทำตาม ทำให้พระองค์ถูกเหล่านักสอนศาสนาหรือพวกฟาริสีเห็นว่าเป็นภัย จึงหาเรื่องนำมากล่าวหาความผิดและลงโทษหลายครั้ง แต่พระเยซูก็พ้นภัยมาได้ทุกครั้ง จนกระทั่งเรื่องไปถึงหูของปอนติอุสปิลาต ข้าหลวงโรมันผู้ปกครองยูเดียเหนือกษัตริย์เฮรอดที่สาม และเหล่าฟาริสีได้กล่าวโทษว่าพระเยซูเป็นกบฏเพื่อให้ทหารโรมันจับกุม

ในช่วงวันสุดท้ายของพระเยซู พระองค์และสาวกได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูได้กล่าวว่ายูดาสอิสคาริโอทจะทรยศพระองค์ และซิโมเปโตรจะกล่าวปฏิเสธพระองค์สามครั้งก่อนไก่ขัน วันต่อมาทั้งหมดเข้าไปที่สวนมะกอกเกทเซมานี เชิงภูเขามะกอกเทศ เพื่ออธิษฐาน ทหารโรมันที่รับคำทรยศของยูดาสเข้าไปจับกุมพระเยซูที่นั่น และนำพระองค์ไปคุมขังในคุกข้างจวนว่าการของปอนติอุสปิลาต และตำหนักอันโทนินของเฮรอด

ห้องพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ตั้งอยู่ในนครแห่งดาวิด เชิงภูเขาซิโยน ปัจจุบันเป็นโบสถ์จำลองห้องโถงด้านบน และเมื่อมีการขุดค้นด้านล่าง ก็พบคูหาถ้ำที่เชื่อกันว่า เป็นหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ดาวิดผู้ยิ่งใหญ่ของชนชาติยิว ภายในจึงมีแรบไบจำนวนมากผลัดกันสวดร้องเพลงสดุดีพระเจ้าตามคัมภีร์สดุดี (Psalm) ซึ่งเชื่อว่าดาวิดเป็นผู้นิพนธ์อย่างเนืองแน่น

ที่เชิงเขามะกอก เป็นที่ตั้งของสวนมะกอกเกทเซมานีในการดูแลของคณะฟรานซิสกัน และถ้ำที่เชื่อว่าเป็นจุดที่พระเยซูและอัครสาวกภาวนาก่อนถูกทหารโรมันจับกุม รวมถึงจุดที่ยูดาสแขวนคอตายด้วยความอับอายและสำนึกต่อบาป

เมื่อพระเยซูทรงถูกจำคุกและตัดสินพิพากษา ปอนติอุสปิลาตได้ให้โอกาสแก่ชาวยิวที่มาชุมนุมในลานตำหนัก เพื่อแลกตัวพระเยซูกับนักโทษ แต่ชาวยิวปฏิเสธ ทั้งซิโมนเปโตรก็ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รู้จักหรือเป็นสาวกพระเยซูสามครั้งก่อนไก่ขันตามคำพยากรณ์ พระเยซูจึงถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขน โดยให้แบกกางเขนของตนเดินไปตามเส้นทางที่ต่อมาเรียกว่า เส้นทางพระทรมาน (Via Dolorosa) จากตำหนักของข้าหลวงไปยังเนินกอลโกธาแดนประหาร

เส้นทางพระทรมานดังกล่าว ต่อมาได้กลายเป็นเส้นทางแสวงบุญที่โด่งดังและสำคัญที่สุดในคริสตศาสนา โดยมีผู้แสวงบุญมาย่ำรอยเท้าตามเส้นทางดังกล่าว และเหล่าศาสนจักรได้มาตั้งโบสถ์และสถานบูชาในจุดที่ระบุไว้ดังพระคัมภีร์ทั้ง 13 แห่ง เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

จวนข้าหลวงโรมันและตำหนักของเฮรอด คือจุดที่พระเยซูถูกประณาม และซิโมนเปโตรปฏิเสธพระเยซูสามหนก่อนไก่ขัน และปอนติอุส ปิลาต พิพากษาให้ตรึงกางเขน และเริ่มเส้นทางพระทรมาน ปัจจุบันคือโบสถ์ของคณะฟรานซิสกัน และพิพิธภัณฑ์เทอร์รา แซงค์ตา (สถานีที่ 1)

นอกกำแพงเทอร์รา แซงค์ตา ถัดไปตามทางที่มีผนังโค้งสมัยโรมัน คือสถานีที่ 2 ที่พระเยซูเริ่มเดินแบกกางเขนไปตามถนน ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า ถนนพระทรมาน เวีย โดโลโรซา

ที่หัวมุม จุดที่พระเยซูทรงล้มลงพร้อมกางเขนครั้งแรก และเป็นจุดที่พระแม่มารีเข้ามาร่ำไห้พูดคุยกับพระเยซู คือสถานีที่ 3-4 ปัจจุบันเป็นโบสถ์ของอาร์เมเนียนคาทอลิก มีเกสต์เฮาส์ ร้านอาหารและคาเฟ่บริการ

เลี้ยวขวาออกไปตามถนน เป็นจุดที่ซิโมนแห่งไซรีนเข้ามาช่วยพระเยซูแบกกางเขน (สถานีที่ 5) ปัจจุบันเป็นที่ทำการของภาคีอัศวินมอลตา (ไนท์ ฮอลปิทัลเลอร์) ​ในเยรูซาเลม

ตรงขึ้นไปกลางทาง เป็นจุดที่นางเวโรนิกานำผ้ามาซับพระพักตร์ให้พระเยซู เป็นสำนักคอนแวนต์ของอาร์เมเนียนคาทอลิก และมีถ้ำให้ลงไปสักการะภาพไอคอนพระพักตร์บนผ้า (สถานีที่ 6)

ตรงไปจนสุดทาง เป็นจุดที่พระเยซูทรงล้มครั้งที่ 2 เป็นจุดสักการะที่คณะฟรานซิสกันดูแล (สถานีที่ 7)

แยกขวาขึ้นไปจากจุดสถานีที่ 7 เล็กน้อย เป็นจุดที่พระเยซูทรงปลอบประโลมสาวกสตรีชาวเยรูซาเลมบนเนิน (สถานีที่ 8) ระหว่างทางเป็นตลาดขายสินค้า ขนม และเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวเยรูซาเลมเมืองเก่า ที่คึกคักตลอดเวลา โดยเฉพาะร้านขนมที่น่าอร่อยสิ่งกลิ่นยั่วยวนให้ลองซื้อชิมแทบทุกร้าน

เลี้ยวซ้ายตลอดทาง เป็นเส้นทางที่พระเยซูแบกกางเขนขึ้นเนินเขากอลโกธาและล้มเป็นครั้งที่ 3 กลางทางเป็นโบสถ์ของคอปติกออร์โธดอกซ์ (สถานีที่ 9)

จากนั้นก็คือเนินเขาที่พระเยซูถูกถอดเสื้อผ้า (สถานีที่ 10) ซึ่งปัจจุบันเป็นลานหน้าโบสถ์

พระเยซูถูกตอกตะปูที่พระหัตถ์และพระบาท (สถานีที่ 11) และถูกแขวนตรึงกับกางเขนจนสิ้นพระชนม์บนเนินกอลโกธา (สถานีที่ 12) ซึ่งโบสถ์ได้สร้างแท่นบูชาคร่อมทับเนินหินที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนไว้ มีผู้ศรัทธาต่อแถวเข้าไปกราบสักการะเรียงรายยาวเหยียดตลอดเวลา

เมื่อสิ้นพระชนม์ พระศพถูกนำลงมาวางไว้บนแผ่นหิน Stone of Anointing (สถานีที่ 13)

ก่อนจะนำไปบรรจุไว้ในสุสาน ซึ่งพระศพของพระองค์ทรงหายไป และฟื้นจากความตายมาในวันที่ 3

ปัจจุบันสถานีที่ 10-14 อยู่ภายใต้โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ Church of Holy Sepulchre ทางเหนือของนครเก่าเยรูซาเลมในเขตคริสเตียนควอเตอร์ และอยู่ในการพิทักษ์และพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์แห่งจอร์แดน

โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นในปี ค.ศ.335 โดยพระบัญชาของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช แต่ได้ถูกทำลายลงหลายครั้ง ต่างจากโบสถ์พระคริสตสมภพ ปัจจุบันถือเป็นมหาวิหารหลักของกรีกออร์โธดอกซ์ในเยรูซาเลม แต่ก็อนุญาตให้คริสเตียนนิกายอื่นเข้ามาตั้งแท่นบูชาประกอบพิธีกรรมร่วม ตามหลัก status quo of the holy site ทั้งนิกายอาร์เมเนียน โรมันคาทอลิก รัสเซียนออร์โธดอกซ์ เอธิโอเปียนออร์โธดอกซ์ คอปติก และซีริแอคออร์โธดอกซ์

แต่ทว่านิกายโปรเตสแตนท์เชื่อว่า สุสานฝังพระศพของพระเยซู ตั้งอยู่ที่ Garden Tomb นอกกำแพงเยรูซาเลมเก่าไปทางเหนือของประตูดามัสกัส ซึ่งตามการขุดค้นทางโบราณคดีใหม่ใกล้เคียงกับพระคัมภีร์มากกว่า จึงไปตั้งโบสถ์บริเวณนั้นแทน

พระเยซูเทศนาเป็นครั้งสุดท้ายและได้เสด็จขึ้นสู่สวรรค์จากยอดเขามะกอกเทศ (Mount of Olive) หากเราขึ้นไปถึงโบสถ์เสด็จสู่สวรรค์ (Church of Ascension) ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกบนยอดเขามะกอกเทศในปัจจุบัน จะเห็นแนวเชิงเขาเรียงรายไปด้วยหลุมศพของชาวยิวแต่ครั้งบรรพกาล มีหลุมศพของเหล่าประกาศกในอดีตฝังอยู่เพื่อรอวันพิพากษา และเมื่อมองจากยอดเขา ก็จะเห็นนครเยรูซาเลมอันศักดิ์สิทธิ์ครอบคลุมทั้งหมด

ที่สำคัญ ถ้าหากลงมาชมวิวที่ลานชมวิวแล้ว ก็จะเห็นปูชนียสถานสำคัญของเยรูซาเลมทุกศาสนา เด่นกระจ่างในสายตาทั้งหมด เหมือนกับว่าทุกสิ่งเล็กเพียงนิดเดียว ชวนให้หวนนึกสังวรว่า ระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์มนุษย์กว่าสองพันปีที่ชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ เลือด และน้ำตา ความโศกเศร้ารันทด สงครามและการเหยียดหยามเข่นฆ่าด้านหนึ่ง และความสำเร็จ สมหวัง ปีติยินดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่กันอีกด้านหนึ่ง เพราะความศรัทธาของผู้คนที่เกิดขึ้นในกำแพงเมืองเล็กๆ แห่งนี้เท่านี้นี่เอง

Our Father who art in heaven, hallowed be thy name.

Thy kingdom come. Thy will be done, on earth as it is in heaven.

Give us this day our daily bread; and forgive us our trespasses,

as we forgive those who trespass against us; and lead us not into temptation,

but deliver us from evil.

Amen!

ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์

พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง

พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์

โปรดประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้

โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น

โปรดช่วยข้าพเจ้าไม่ให้แพ้การผจญ แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ

อาเมน

เยรูซาเลม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save