fbpx

เริ่มขยับ = ลดรุนแรง : บทบาทของกีฬาต่อการป้องกันอาชญากรรมเยาวชนอย่างยั่งยืน

หลายคนคงคุ้นเคยดีกับประโยคที่ว่า ‘กีฬาเป็นยาวิเศษ’ ซึ่งดูไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ กีฬาเป็นเหมือนทั้งยาบำรุงให้ร่างกายแข็งแรง เป็นสิ่งที่ช่วยชุบชูหล่อเลี้ยงจิตใจ เป็นกิจกรรมที่ช่วยในการเข้าสังคมและพบปะผู้คนใหม่ๆ ถ้ามองไปในระดับที่ไกลกว่านั้น หลายประเทศเริ่มนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน ทั้งเพื่อป้องกันในกรณีที่ยังไม่เกิด เพื่อมอบโอกาสครั้งที่สองในกรณีที่เกิดอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนไปแล้ว และก้าวไปอีกขั้นด้วยการนำกีฬามาเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ 

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด กีฬาสามารถนำมาใช้ป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำ

อย่างไรก็ดี การป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่านั้น หากแต่เป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาคกีฬา ซึ่งทุกคนสามารถร่วมมือกันในการจัดการกับต้นตอของปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมได้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องป้องกันและแก้ไขร่วมกันโดยเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ร่วมกันกับรัฐกาตาร์จัดงานประชุมในหัวข้อ ‘แนวคิดการป้องกันอาชญากรรมองค์รวม: การมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านกีฬาที่มีต่อเยาวชนและการปรับตัวของชุมชน’ (Holistic Crime Prevention Approach: The Contribution of the Sport Sector Towards Youth and Community Resilience) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนผ่านการเล่นกีฬา (Youth Crime Prevention through Sport) โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทของกีฬาในฐานะตัวขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายข้อ 16 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่สงบสุข การสร้างกระบวนการยุติธรรม และการมีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับบทบาทของภาคกีฬาในบริบทของแนวทางการป้องกันอาชญากรรมแบบองค์รวม รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ แนวทางปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการใช้กีฬาเพื่อส่งเสริมเยาวชนอีกด้วย

กีฬาในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน

ผู้ให้ปาฐกถาเปิดการประชุมคนแรกคือ จอห์น แบรนโดลิโน (John Brandolino) ผู้อำนวยการกองสนธิสัญญาจาก UNODC ได้อธิบายภาพรวมโครงการระดับโลกของ UNODC ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนผ่านการเล่นกีฬา โดยหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือ ‘Line Up Live Up’ ที่ใช้กีฬาเพื่อสอนทักษะชีวิตที่สำคัญให้ผู้คนกว่า 150,000 คนใน 14 ประเทศ ช่วยหาพื้นที่เชิงบวกสำหรับการพัฒนาเยาวชนกว่า 15,000 คน เพื่อให้เยาวชนเหล่านั้นได้ฝึกอบรมและร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการเล่นกีฬา รวมถึงให้การฝึกฝนแก่ครูมากกว่า 1,200 คนในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเล่นกีฬาในกลุ่มเยาวชนด้วย

ด้านดาเนียลลา บาส (Daniela Bas) ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาสังคมเพื่อคนทั้งมวล สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (UN DESA) ได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเล่าถึงความมุ่งมั่นและความพยายามในการจัดตั้งโครงการกีฬาต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมสันติภาพและป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน โดยเขาได้ยกตัวอย่างและกล่าวชื่นชมโครงการใน 3 ประเทศด้วยกัน

ประเทศแรกคือ กัวเตมาลา จากรายงานสำนักเลขาธิการประจำปี 2020 เผยว่าประเทศกัวเตมาลาได้ริเริ่มโครงการระดับชาติด้านกีฬาเพื่อกระตุ้นให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น

ประเทศที่สองคือ มอลโดวา โดยรายงานจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ระบุว่า มอลโดวาได้จัดตั้งโครงการเพื่อจัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และใช้ประโยชน์จากกีฬาในการส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีในหมู่คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อรวมกลุ่มคนที่เปราะบางเข้าสู่สังคม

และประเทศสุดท้ายคือ จอร์เจีย ซึ่งรักบี้ ยูเนียน (Rugby union) ในจอร์เจียได้ร่วมมือกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น การที่ผู้เล่นในทีมที่เป็นเหมือนบุคคลต้นแบบ (role models) อยู่แล้ว ได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงเพื่อต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวทุกรูปแบบ ทั้งในรายการโทรทัศน์ สื่อท้องถิ่น หรือการประชุมต่าง ๆ และทางทีมยังร่วมมือกับ UNICEF เข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชนในทัณฑสถานเมืองทบิลีซี เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเพศสภาพ (gender-based violence) เพื่อส่งสาส์นสำคัญไปถึงผู้ชายเกี่ยวกับการหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วย

ทั้งนี้ บาส ปิดท้ายว่า “กีฬาสามารถสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ โดยเป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในชุมชน แต่หากปราศจากกีฬา ผู้คนในบางชุมชนก็อาจมีความไม่ไว้วางใจและความเป็นปรปักษ์ต่อกันและกัน” 

บทบาทของ TIJ และพันธมิตร ในการใช้กีฬาป้องกันอาชญากรรมแบบองค์รวม 

“หลักนิติธรรม (Rule of Law) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มีส่วนเชื่อมโยงกัน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรม และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาขึ้น” คือคำกล่าวนำจาก ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทริเริ่มในการนำกีฬามาใช้ลดอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน

ดร.พิเศษ อธิบายว่า การมีส่วนร่วมของ TIJ เรื่องกีฬาได้รับแรงบันดาลใจมาจากจากการทำงานของพันธมิตร เช่น สโมสรกีฬา ‘Bounce Be Good: เด้ง ได้ ดี’ (BBG) ซึ่งเป็นสโมสรที่ทำงานกับเยาวชนด้อยโอกาส โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงเอาศักยภาพและความหลงใหลในกีฬาของเยาวชนออกมา เพื่อสร้างโอกาสและสร้างอาชีพให้กับเยาวชนเหล่านั้น

ทั้งนี้ TIJ ยังได้ร่วมกับรัฐบาลไทยเสนอ ‘การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน’(Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice Strategies) ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อเดือนธันวาคม  2019 และได้มีการนำข้อเสนอดังกล่าวมาใช้เป็นมติ 74/170 เพื่อเชิญชวนให้รัฐสมาชิก UNODC และสมาคมกีฬาในทุกระดับร่วมมือกันในการส่งเสริมกีฬา เพื่อป้องกันอาชญากรรมของเยาวชนและลดการกระทำซ้ำ

นอกจากนั้น UNODC ได้จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่รัฐสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอแนะที่เป็นจุดเด่นคือ การประสานงานและการเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงชุมชนในทุกระดับ เป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อจะนำไปสู่ความยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ TIJ จึงได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคกีฬาผ่านความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย ในการส่งเสริมการนำมติของการประชุมสมัชชาไปใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยความคิดริเริ่มในการผสมผสานกีฬาเข้ากับการป้องกันอาชญากรรมของเยาวชนและการสร้างความยืดหยุ่นในสังคมจะรวมอยู่ในแผนการทำงานด้านกีฬาของอาเซียน 2021-2025 ด้วย

TIJ สโมสรกีฬา BBG และพันธมิตรยังได้ร่วมมือกันในการปรับโครงการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเด็กในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก จังหวัดระยอง โดยรวมเอาการเล่นกีฬาควบคู่ไปกับการศึกษา การฝึกอาชีพ และกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ เช่น ดนตรีและศิลปะสำหรับเยาวชน และยังหาทางเพิ่มศักยภาพของพนักงานในศูนย์ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของเด็ก ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับเชิงบวกทั้งจากชุมชนในพื้นที่และตัวเยาวชนเอง

ในตอนท้าย ดร.พิเศษ ถอดบทเรียนสำคัญที่ TIJ ได้รับจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน ดังนี้

ประการแรก แม้ว่ากีฬาจะได้รับการยอมรับอย่างดี แต่เราก็ไม่สามารถละทิ้งกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ ได้ ทั้งการเข้าถึงการศึกษา และการฝึกอาชีพ ยังคงเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาในกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาส

ประการที่สอง การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งทุกภาคส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจในเป้าหมายร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ จึงอาจจะต้องมีกระบวนการอภิปรายเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันด้วย

ประการที่สาม เรายังต้องคำนึงถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน เพื่อจะช่วยในการขยายบทบาทของภาคกีฬาเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในสังคม

และประการสุดท้าย การประเมินและการติดตามเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะช่วยให้โครงการต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน

ชวนร่วมก๊วนเล่นกีฬา แทนที่เข้าแก๊งอันธพาล 

ขณะที่สตีเฟน ฟ็อกซ์ (Stephan Fox) เลขาธิการสมาพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) และรองประธานของสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (Global Association of International Sports Federations) เล่าถึงประสบการณ์ของตนที่ได้คลุกคลีในวงการศิลปะการต่อสู้มาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยูโด คาราเต้ มวยสากล กังฟู ไปจนถึงมวยไทย เริ่มจากการเป็นนักเรียน กลายมาเป็นนักแข่ง สู่การเป็นครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ และในที่สุดก็ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารงานในวงการ

“ขณะที่เยาวชนหลายคนมีความสุขในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่งหลากหลายยี่ห้อ ก็ยังมีเยาวชนอีกมากมายที่ไม่สามารถแม้แต่จะหารองเท้าเพื่อสวมใส่ เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันทำงานต่อไปในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรง ความไม่เท่าเทียม การใช้แรงงานเด็ก ความยากจน หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อเสริมสร้างพลังและสนับสนุนให้เยาวชนของเราได้คว้าชัยชนะเหนือความท้าทายมากมายที่พวกเขากำลังเผชิญ ซึ่งคือการช่วยให้พวกเขามีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอิสระ” 

ฟ็อกซ์ กล่าวพร้อมทั้งยกตัวอย่างการริเริ่มรณรงค์อย่าง ‘Sport Is Your Gang’ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของสหพันธ์มวยไทย คือการสนับสนุนเยาวชนที่มีภูมิหลังท้าทายให้ได้ฝึกมวยไทย และได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองในเชิงบวกเพื่อการมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี ส่วนทางสหพันธ์มวยไทยก็จะสนับสนุนเยาวชนเหล่านี้ให้เข้าร่วมก๊วนเล่นกีฬา แทนที่จะปล่อยให้เยาวชนเข้าร่วมแก๊งอันธพาลหรือมีไปมีส่วนร่วมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชน

จากการเป็นโครงการริเริ่ม ‘Sport Is Your Gang’ ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันสหพันธ์มวยไทยในทำงานร่วมกับรัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อจัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เยาวชน และเพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เยาวชนเหล่านี้กำลังเผชิญ นอกจากนี้ สหพันธ์มวยไทยยังได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือองค์กรอาชีวศึกษาให้เยาวชนได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย โครงการริเริ่มเหล่านี้ได้ช่วยเยาวชนกว่า 30,000 คนทั่วโลก และทำให้สหพันธ์มวยไทยเป็นส่วนหนึ่งของกว่า 100 องค์กรที่ร่วมมือกับ United Through Sports

“ศิลปะการต่อสู้ได้มอบความรู้สึกมั่นคง และเป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่งของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ยากลำบาก” ฟ็อกซ์ ปิดท้าย

ฝั่ง ยูริ จอร์เกฟฟ์ (Youri Djorkaeffอดีตนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA Foundation) ได้แนะนำเกี่ยวกับการทำงานของ FIFA และ FIFA Foundation ในการส่งเสริมการใช้ฟุตบอล โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคม โดยเขาอธิบายว่า  มี 2 ประเด็นสำคัญที่ FIFA Foundation สนับสนุนเป้าหมาย SDGs คือบทบาทของกีฬาและสนับสนุนเยาวชน 

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิยังให้แนวทางแก้ปัญหาสำหรับความท้าทายที่เยาวชนและชุมชนเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกีฬาในการเสริมสร้างเยาวชนและความยืดหยุ่นของชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ อีกด้วย

‘กาตาร์’ กับการลงทุนในกิจกรรมด้านกีฬา

ด้าน คาลิด อัล-สุไวดี (Khaled Al-Suwaidi) ผู้จัดการด้านความสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาวุโสจาก Supreme Committee for Delivery and Legacy ของกาตาร์ ระบุว่า ปฏิญญาโดฮา 2015 มีข้อแนะนำว่าการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากเยาวชนด้วย และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันอาชญากรรมแบบองค์รวมผ่านแนวทางการพัฒนาสังคม ตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรม ‘Line Up Live Up’ ซึ่งกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเยาวชน และกำหนดเป้าหมายกิจกรรมการป้องกันอาชญากรรม รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการป้องกันอาชญากรรมของเยาวชนให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กาตาร์เป็นประเทศหนึ่งที่ลงทุนในกิจกรรมกีฬา ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยสำหรับระดับชาติ กาตาร์ได้ใช้กีฬาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติ 2030 และได้กำหนดให้วันอังคารที่สองของทุกเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันกีฬาแห่งชาติและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยให้มีสถานที่ที่จัดงานกีฬาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศในวันดังกล่าว 

ขณะที่ในระดับนานาชาติ กาตาร์ใช้การกีฬาเป็นเครื่องมือในการสร้างมิตรภาพและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลก ตลอดจนจัดเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของเยาวชน เช่น โครงการ World Cup Legacy ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับเยาวชนมากกว่า 700,000 คนใน 10 ประเทศ นับตั้งแต่การพัฒนาโครงการครั้งแรกเมื่อปี 2010 และในปีหน้า มีการคาดการณ์ว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้คนอีกมากกว่า 1 ล้านคน

ในตอนท้าย อัล-สุไวดี กล่าวถึงโครงการใหญ่ที่จะจัดขึ้น ที่กรุงโดฮาคือ FIFA World Cup 2022 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจะถูกจัดขึ้นในประเทศตะวันออกกลาง โดยกาตาร์เตรียมการอย่างดีในการเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะได้ต้อนรับประเทศต่าง ๆ รวมถึงองค์กร สถาบันกีฬาและเยาวชนระดับนานาชาติ ที่จะเข้าร่วมงานในครั้งนี้

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกีฬา

อันนา โจเซลินา ฟอร์ติน พิเนดา (Ana Joselina Fortin Pineda) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิก กรรมาธิการด้านกีฬา (Commissioner of Sport) แห่งสาธารณรัฐฮอนดูรัส และรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฮอนดูรัส (Vice President of Honduras Olympic Committee) กล่าวในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและผู้นำด้านกีฬามากว่า 20 ปี เกี่ยวกับประโยชน์ของการเล่นกีฬาว่า “การเล่นกีฬาและเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบเชิงบวกโดยตรงต่อร่างกาย แต่ยังปลูกฝังการเลือกใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีในเด็กและเยาวชน ช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อ และมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงได้” 

นอกจากเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจแล้ว พิเนดายังกล่าวเสริมถึงประโยชน์ของกีฬาด้วยว่า ช่วยส่งเสริมวินัย ความซื่อสัตย์ การทำงานเป็นทีม ความเคารพ ความอดทนอดกลั้น รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง เด็ก เยาวชน บุคคล และชุมชน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างการยอมรับในสังคมอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมกีฬาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในฮอนดูรัสและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นักกีฬาจะต้องฝึกฝนโดยมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และยังส่งผลให้กิจกรรมกีฬาการแข่งขันทั้งในระดับมืออาชีพและมือสมัครเล่นทั้งหมดถูกยกเลิก หรืออย่างดีที่สุดก็ถูกเลื่อนออกไป

เพื่อจะสร้างความมั่นใจและทำให้นักกีฬากลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้ง พิเนดาเล่าว่า หน่วยงานกีฬาได้ดำเนินการหลายอย่างตามแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขและในบทบัญญัติของรัฐบาลฮอนดูรัส โดยให้ความสำคัญกับการรับประกันสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬา เพื่อสร้างความมั่นใจในการต่อสู้กับความรุนแรงและอาชญากรรมในกลุ่มผ่านกีฬา อีกทั้งสหพันธ์ต่าง ๆ ในคณะกรรมการโอลิมปิกยังได้หาวิธีเพื่อให้นักกีฬาได้ฝึกซ้อมต่อไป เช่น การให้ฝึกซ้อมเป็นประจำร่วมกับโค้ช และจัดหาอุปกรณ์การกีฬาให้ได้มากที่สุด

น่าเสียดายที่ในบริบทปัจจุบัน ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ กีฬากลับเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ทั้งยังต้องเจอกับปัญหาการลดงบประมาณ และการลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬาให้อยู่ในระดับต่ำสุด ทำให้กีฬาในฮอนดูรัสต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย ทั้งปัญหาทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ พิเนดาจึงเรียกร้องว่า องค์การระหว่างประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ สหพันธ์กีฬา รัฐบาลท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมกรอบนโยบายใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือ ส่งเสริมการป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน ให้เยาวชนได้เข้าถึงโปรแกรมกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเท่าเทียมกัน

“หากเราร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนจะสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย และเราช่วยกันเปลี่ยนโลกได้ผ่านทางกีฬา” พิเนดากล่าว พร้อมปิดท้ายด้วยคำพูดของ “เนลสัน แมนเดลา” ว่า “กีฬามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลก มีพลังที่จะสร้างแรงบันดาลใจ มีพลังที่จะรวมใจคนเข้าด้วยกัน กีฬามีพลังที่อย่างอื่นไม่มี”

การส่งเสริมค่านิยมโอลิมปิก เพื่อการสร้างโลกที่ดีขึ้นผ่านการเล่นกีฬา

เมื่อพูดถึงกีฬา ความฝันของนักกีฬาหลายคนคงหนีไม่พ้น ‘โอลิมปิก’ มหกรรมกีฬาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นเหมือนเป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาเกือบทุกคน และได้รับการขนานนามว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โดยมีค่านิยมโอลิมปิก (Olympics values) เป็นเหมือนหัวใจหลักของทุกกิจกรรมกีฬา ที่สามารถใช้เป็นแนวทางฝึกฝนและสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานในภาคส่วนนี้ได้

ผู้แทนจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) คอนสแตนตินา โอโรโลโกพูลู (Konstantina Orologopoulou) อธิบายถึงหลักสูตรที่เรียกว่า หลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษา (Olympic Values Education Programme – OVEP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ มุ่งหวังให้เยาวชนมีวิถีชีวิตและสุขภาพที่ดี และเพื่อส่งเสริมค่านิยมโอลิมปิกในการสร้างโลกที่ดีขึ้นผ่านการเล่นกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เช่น วิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี การยอมรับเป็นสมาชิกของสังคมและการบูรณาการทางสังคม และความเท่าเทียมทางเพศ

หลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษายังได้พูดถึงวาระโอลิมปิก 2020+5 (Olympic Agenda 2020+5) ที่สืบเนื่องมาจากวาระโอลิมปิก 2020 โดยวาระโอลิมปิก 2020+5 จะเป็นตัวช่วยนำไปสู่ความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิกปี 2020 รวมถึงช่วยขับเคลื่อน IOC และการทำงานต่าง ๆ เกี่ยวกับโอลิมปิกไปถึงปี 2025 

วาระโอลิมปิก 2020+5 ประกอบไปด้วยคำแนะนำทั้งหมด 15 ข้อ เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้ความเป็นเอกลักษณ์และสากลของโอลิมปิก การส่งเสริมสิทธิและความรับผิดชอบของนักกีฬา เป็นต้น ซึ่งหลักสูตรค่านิยมโอลิมปิกศึกษาได้นำข้อเสนอแนะในวาระดังกล่าวมาใช้เป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ โดยในข้อเสนอแนะข้อ 10 เปิดโอกาสให้ OVEP ได้เสริมสร้างบทบาทของกีฬา ในฐานะตัวขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ

สร้างสันติภาพ-ช่วยในการพัฒนา-ป้องกันอาชญากรรม: บทบาทของกีฬาต่อเด็กและเยาวชน

ในตอนท้าย มาร์โก เทเซร่า (Marco Teixeira) เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจาก UNODC ได้สรุปแนวคิดสำคัญ 3 ประการที่ได้จากการประชุมดังนี้

ประการแรก เราต้องทำความเข้าใจว่ากีฬามีศักยภาพสูงสุดในการสร้างสันติภาพ ในการป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรม แต่ก็ต้องอาศัยความเคารพ ความอดทน ความเสมอภาค การยอมรับทางสังคม ดังที่ปรากฏในค่านิยมโอลิมปิก ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและโลกที่ดีขึ้นทั้งสิ้น

ประการที่สอง กีฬาสามารถให้โอกาสในการสนับสนุนและพัฒนาเยาวชนในเชิงบวก รวมถึงสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เยาวชนได้ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการยอมรับทางสังคม วิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี และยังมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงเยาวชนที่เปราะบางและด้อยโอกาสอีกด้วย

และประการสุดท้าย กีฬาและภาคกีฬาสามารถมีบทบาทในฐานะเครื่องมือเพื่อพัฒนาสันติภาพ ส่งเสริมคุณค่าทางกีฬา และสร้างความยืดหยุ่นของชุมชน รวมถึงป้องกันความรุนแรงและอาชญากรรม ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับการบูรณาการกีฬาในยุทธศาสตร์การป้องกันอาชญากรรม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save