fbpx
ภาวะหลอน ประวัติศาสตร์ และความทรงจำใน 'ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่'

ภาวะหลอน ประวัติศาสตร์ และความทรงจำใน ‘ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่’

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

ในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัยปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมประเภท ‘นิยายวาย’ (‘วาย’ ย่อมาจากยาโออิ) นั้นได้รับความสนใจจากนักอ่านทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่อย่างล้นหลาม แม้ว่าวรรณกรรมประเภทนี้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย แต่ก็ไม่ใช่วรรณกรรมชายรักชายอย่างที่เคยมีมาก่อนหน้า ด้วยโครงสร้างและรูปแบบของนิยายวายนั้นเอาเข้าจริงแล้วแทบไม่ต่างจากนิยายรักทั่วไปที่เป็นความรักของชายหนุ่มหญิงสาว แค่ตัวละครหลักไม่ได้มีพระเอก-นางเอก แต่เป็น ‘พระเอก-นายเอก’ แทน

กลุ่มผู้อ่านที่เป็นเป้าหมายหลักและเป็นผู้อ่านส่วนใหญ่ของนิยายวาย คือ ‘สาววาย’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มเด็กผู้หญิงผู้ชื่นชอบและอยากเห็นผู้ชายที่ตนชอบมีความสัมพันธ์กันในเชิงชู้สาว จึงจินตนาการ หรือที่เรียกกันตามศัพท์ของกลุ่มสาววายว่า ‘ชิป’ หรือ ‘จิ้น’ ให้ผู้ชายในฝันของตนนั้นรักกันและมีความสัมพันธ์ต่อกัน โดยมากนิยายวายนั้นมักมีโครงเรื่องในลักษณะสุขนาฏกรรม คือตัวละครหลักสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา ในจุดนี้อาจจะแตกต่างกับวรรณกรรมชายรักชายที่มักจบแบบไม่สมหวังหรือมีโทนเรื่องในแนวขุ่นมัว โศกเศร้า

ความน่าสนใจของนิยายวายในสังคมไทยคือ นิยายวายมีลักษณะเป็น ‘วัฒนธรรม’ และปรากฏการณ์ทางสังคมแบบใหม่ในสังคมไทย นิยายวายถือกำเนิดขึ้นร่วมกับสื่ออื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง หรือเรียกได้ว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010 การนำภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลีและญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ในสังคมไทยอย่างกว้างขวางนั้นส่งผลโดยตรงต่อการสร้างสรรค์สื่อที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมวาย อีกทั้งการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมของวัฒนธรรมวายเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาไม่กี่ปี

ในสังคมไทย หลังจากภาพยนตร์เรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ ฉายในโรงภาพยนตร์ ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญในหลายด้าน เช่น กระแส LGBTQ กระแสความนิยมในตัวนักแสดงนำของภาพยนตร์ เมื่อผนวกรวมเข้ากับอุตสาหกรรมบันเทิงที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเกาหลีและญี่ปุ่น ปรากฏการณ์วัฒนธรรมวายก็เริ่มชัดเจนขึ้นตามลำดับ[1]

การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงของวัฒนธรรมวายนั้นสร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างน่าทึ่ง เพราะในกลุ่มวัฒนธรรมวายมีการสร้างคุณลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ เช่น การมีกลุ่มก้อนอย่างชัดเจนของกลุ่ม ‘สาววาย’ ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีนักแสดง นักร้องผู้ชายทื่ชื่นชอบแตกต่างกัน

นัทธนัย ประสานนาม นักวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ศึกษา ‘นิยายวาย’ พยายามชี้ให้เห็นว่า วัฒนธรรมวายสัมพันธ์กับวัฒนธรรมแฟนและอุตสาหกรรมสื่อ[2] กลุ่มวัฒนธรรมวายมีการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตนเองขึ้นมา เช่น ภาษา ดังจะเห็นว่าวัฒนธรรมวายนั้นเต็มไปด้วยภาษาเฉพาะกลุ่ม เช่น ‘ชิปปิ้ง’ ‘ด้อม’ ‘เรือ’ ‘กัปตันเรือ’ ‘เรือผี’ อีกประเด็นคือเรื่องพื้นที่ พื้นที่สำคัญของกลุ่มวัฒนธรรมวายนั้นมีความหลากหลาย เช่น กลุ่มแฟนคลับที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต งานคอนเสิร์ต งานพบปะสังสรรค์ระหว่างนักแสดง นักร้องและแฟนคลับ และวรรณกรรม[3]

ในฐานะปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย เราอาจกล่าวได้ว่า นิยายวายนั้นมีลักษณะเป็น ‘วัฒนธรรมประชานิยม’ คือเป็นสิ่งที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับ สามารถตอบสนองในวงกว้างได้ เมื่อพิจารณายอดการอ่านในเว็บไซต์ก็พบว่าหลายๆ เรื่องมียอดผู้อ่านจำนวนมหาศาล ยอดการเข้าอ่านในบางเรื่องนั้นมากกว่าจำนวนพิมพ์ของวรรณกรรมคลาสสิก หรือวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรมไทย (literary canon) หลายๆ เรื่องรวมกันเสียอีก แม้กระทั่งยอดพิมพ์ของนิยายวายแต่ละเรื่องที่มียังมีจำนวนมากกว่าวรรณกรรมทั่วไปในหมวดอื่นๆ

นอกจากนี้ นิยายวายยังมีเทศกาลหรือการจัดงานของตนเองที่เหมือนกับงานสัปดาห์หนังสืออีกด้วย จากประสบการณ์ของผู้วิจารณ์ที่สอนหนังสือด้านวรรณกรรมไทย ทั้งวรรณคดีโบราณและวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ผู้วิจารณ์พบว่านักศึกษาอ่านนิยายวายในชีวิตประจำวันมากกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ เสียอีก จนเราอาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมที่แท้จริงนั้นคือนิยายวาย

ตัวอย่างนิยายวายที่ได้รับความนิยมมากเรื่องหนึ่ง คือ “ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” ผลงานของ ร เรือในมหาสมุท นามปากกาในการเขียนวรรณกรรมประเภทนิยายวาย ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2560 จากผลงานเรื่อง “สิงโตนอกคอก” ทั้งยังเป็นนักเขียนมือรางวัลที่ส่งประกวดในหลากเวทีและมีผลงานเขียนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทนิยายวาย  ปัจจุบัน จิดานันท์ยังคงสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมทั้งที่เป็นวรรณกรรมทั่วไปและนิยายวาย

จากการสืบค้น ผู้วิจารณ์พบว่าจิดานันท์เริ่มเขียนเรื่องนี้ลงในเว็บไซต์เด็กดีตั้งแต่พฤษภาคม 2559 และลงเป็นตอนๆ เรื่อยมา จนกระทั่งมีการรวมพิมพ์ในปี 2561 นอกจากการเขียนลงเป็นตอนๆ ในเว็บไซต์แล้ว ผู้เขียนยังมีการสื่อสารกับผู้อ่านโดยแยกเป็นกระทู้ขึ้นมาใหม่ไว้อธิบายข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากเรื่อง เพื่อปูเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับตัวละครให้ผู้อ่านได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ในเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” ฉบับตีพิมพ์ยังมี ‘ตอนพิเศษ’ บางตอนเพิ่มเข้ามาจากตัวเรื่อง ตอนพิเศษดังกล่าวนั้นไม่เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ ขณะเดียวกัน ในเว็บไซต์เองก็มีตอนพิเศษที่ไม่มีอยู่ในหนังสือด้วยเช่นกัน นี่เป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของนิยายวาย คือ เนื้อหาบางตอนที่เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์จะถูกนำไปรวมพิมพ์เป็นเล่ม แต่บางตอนจะคงอยู่เฉพาะในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น

ลักษณะดังกล่าวเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญของวงการวรรณกรรมไทยในการพิมพ์วรรณกรรมขาย กล่าวคือ หากผู้อ่านประทับใจเรื่องที่เผยแพร่ในเว็บไซต์แล้วอยากอ่านต่อจนไปซื้อแบบที่เป็นเล่ม จะได้รับความพิเศษแบบหนึ่ง ขณะที่การมีตอนพิเศษบางตอนอยู่เฉพาะบนเว็บไซต์ก็ทำให้ผู้อ่านในรูปแบบออนไลน์รู้สึกมีสิทธิพิเศษอีกแบบหนึ่ง และถ้าหากผู้อ่านคนไหนต้องการความพิเศษมากขึ้น ก็ต้องเสียเงินอ่านทั้งในรูปแบบออนไลน์และรูปเล่มที่มีการจัดพิมพ์แล้วนั่นเอง นี่เป็นการจัดการฐานแฟนคลับของนักเขียนที่น่าสนใจมากและสมประโยชน์กันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียน สำนักพิมพ์ ผู้อ่าน

เรื่องราวของ “ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” เป็นการเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่ม 2 คู่ คือ “พันธ์สัญญา” หรือ “พันธ์” กับ“ภุชงค์”  และอีกคู่หนึ่งเป็นน้องชายของพันธ์คือ “ธามธารา” หรือ “เย็น” กับ “สมาวิษฐ์” หรือ “ลุงวีธ” ทั้งพันธ์และเย็นเป็นลูกของ “อโนชา” ซึ่งในวัยสาวนั้น อโนชาเป็นสาวสวยที่มีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาเข้ามารุมจีบ รวมถึง “ภุชงค์” และ “สมาวิษฐ์” ด้วย แต่จนแล้วจนรอด ทั้งคู่ก็ไม่ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับอโนชาเป็นกิจจะลักษณะ จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กหนุ่มทั้งสองคน คือพันธ์และเย็นมีโอกาสได้เจอกับ ‘แฟนเก่า’ ของแม่ตัวเอง ตัวละครทั้งหมดได้เริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่มาเที่ยวเล่น พูดคุยกับแฟนเก่าของแม่ ไปสู่ความรักความสัมพันธ์แบบ ‘ชาย-หญิง’ ที่มีให้แก่กัน

เรื่องทั้งหมดถูกเล่าผ่านตัวละครสำคัญทั้ง 4 ตัว โดยตัวละครแต่ละตัวผลัดกันเป็นผู้เล่าเรื่องในแต่ละช่วง ดังนั้นผู้อ่านจะได้รู้เรื่องจากมุมมองของตัวละครหลักทั้ง 4 ตัว ติดตามพัฒนาการความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันทีละน้อย ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวนี้ไม่แตกต่างไปจากวิธีการที่นักเขียนนิยายรักใช้อธิบายหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชายหญิง ว่าเริ่มมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในตอนสุดท้ายก็ลงเอยด้วยความรักที่สมหวัง

ประเด็นที่ผู้วิจารณ์สนใจในเรื่อง “ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” ซึ่งผู้วิจารณ์มีประสบการณ์น้อยมากกับประเภทของวรรณกรรมเช่นนี้คือ การมีโครงเรื่องที่ชัดเจนและมีวิธีการเล่าที่น่าสนใจ อีกทั้งยังสามารถสอดแทรกประเด็นทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก ทั้งในการเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก หรือแม้แต่ในวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมประวัติศาสตร์กระแสหลักและกระแสรองเอง ก็ยากจะกล่าวถึงประเด็นซับซ้อนเรื่องเดียวกันกับ “ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” ได้อย่างแนบเนียนและบันเทิง

สำหรับผู้วิจารณ์แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือการสร้างตัวละครสำคัญ 2 ตัว ได้แก่ ภุชงค์และสมาวิษฐ์หรือลุงวีธ ในฐานะเป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย นั่นคือ พ่อของ ภุชงค์ เป็น ‘อดีต’ สหายที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีชื่อจัดตั้งว่า “สหายอรุณ” ส่วนลุงวีธนั้นเป็นลูกของทหารอเมริกันหรือจีไอที่เข้ามาในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม ความเป็น ‘สหาย’ และ ‘จีไอ’ ของพ่อภุชงค์และลุงวีธได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะการดำรงอยู่ของตัวละคร และอุปนิสัยของตัวละครอันจะส่งผลต่อตัวเรื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ

พ่อของภุชงค์หรือ “สหายอรุณ” เป็นอดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2519 เพราะในตัวเรื่อง ภุชงค์ได้เล่าให้พันธ์ฟังว่าพ่อของเขา “เป็นนักศึกษาที่หนีเข้าป่าตอนเสียงปืนแตก” (หน้า 58) แต่พ่อของเขาก็กลับออกมาจากป่าก่อนที่จะมีคำสั่ง 66/2523 ผู้อ่านจะได้รู้จักกับสหายอรุณผ่านความทรงจำอันเลือนรางของภุชงค์ ซึ่งมักจะปรากฏตัวอยู่ในฝันหรือหนังสือต่างๆ ของพ่อที่อยู่ในบ้านของภุชงค์ ในตัวเรื่อง ผู้เขียนให้รายละเอียดไว้ว่า ในห้องทำงานของภุชงค์ มีตู้หนังสือที่ “ใส่กุญแจเอาไว้” ซึ่งเป็นตู้เก็บหนังสือเก่าของพ่อ ในตู้นี้เองที่ภุชงค์เชื่อว่า “ดวงวิญญาณของพ่ออาจจะยังสถิตอยู่ในตู้ใบนี้” (หน้า 35-36) ในอีกแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาสถานะการดำรงอยู่ของพ่อในลักษณะของ ‘ผี’ นั่นเอง

ความเป็นผีของพ่อมีความน่าสนใจในแง่ที่ว่า ผีพ่อนั้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ และที่สำคัญที่สุด ผีพ่อยังคงส่งอิทธิพลต่อตัวตนภุชงค์ไม่ว่าเขาจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม ตลอดทั้งเรื่องเวลาภุชงค์มีความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ เราแทบไม่เคยเห็นว่าพ่อมีเรือนร่างที่เป็นเนื้อหนัง สามารถจับต้องได้แต่อย่างใด แต่พ่อปรากฏตัวในความทรงจำของภุชงค์ในลักษณะของการสัมผัสถึงอารมณ์และความรู้สึกที่เขามีต่อพ่อมากกว่า เช่น “พ่อใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสันโดษราวกับนักบวช พูดน้อยคำและฟังให้มาก ผมใจเย็นอยู่เสมอเมื่ออยู่กับพ่อ” (หน้า 36) “ความเฉยชาเหมือนต้นสนไม่มีวันผลัดใบของพ่อ ท่าทางนิ่งสงบที่ทำให้ผมวางตัวเหินห่างอยู่คืบหนึ่งเสมอ แม้จะรู้สึกว่าพ่อให้ความมั่นคงและเป็นที่พักพิงได้ เป็นที่ปรึกษาที่ดีในทุกเรื่อง แต่ผมก็ไม่กล้าพูดคุยเฮฮาด้วยมากนัก” (หน้า 36)

การปรากฏตัวของพ่อในความฝันของภุชงค์ก็มีความน่าสนใจ “พ่ออุตส่าห์มาหาในฝัน อาจึงพยายาม…จะใกล้ชิดพ่อ แต่พ่อก็เย็นชาอย่างเคย ทำให้อดไม่สบายใจไม่ได้” (หน้า 58) จากตัวอย่างเราจะเห็นได้ว่า ‘ความเย็นชา’ คือความทรงจำที่ภุชงค์มีต่อพ่อของเขามากที่สุด ความเย็นชานี้ไม่มีรูปร่างที่ชัดเจน แต่เป็น ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ที่สัมผัสและรู้สึกได้ ดังนั้น สำหรับภุชงค์  ผีพ่อคืออารมณ์ที่ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำและความรู้สึกของเขา

เราอาจพิจารณาต่อไปได้ว่า ผีพ่อคือสิ่งที่หลอกหลอนและแทรกซึมอยู่ในอารมณ์ ความรู้สึก และเรือนร่างของเขาอยู่ตลอดเวลา  แต่การหลอกหลอนของผีพ่อไม่ได้อยู่ในลักษณะทำให้หวาดกลัว แต่มันคือการแสดงให้เห็นว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะนอกจากความเย็นชาจะเป็นสิ่งที่ทำให้ภุชงค์ตระหนักถึงพ่อแล้ว มันยังอยู่ในตัวของเขาอีกด้วย

ในเรื่อง ภุชงค์มีบุคลิกค่อนข้างเย็นชาและไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้ใครได้เห็น แม้กระทั่งพันธ์คู่รักของเขา พันธ์พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ภุชงค์แสดงออกด้วยคำพูดหรือการกระทำว่า ภุชงค์เองก็รักพันธ์อย่างที่พันธ์รักภุชงค์เหมือนกัน แต่ดูเหมือนพันธ์จะไม่ประสบความสำเร็จในจุดนี้ การเลี้ยงดูอาจส่งผลให้ภุชงค์เป็นคนที่เย็นชาไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ แต่หากพิจารณาในอีกแง่มุมคือ ความเย็นชาของภุชงค์นั้นเกิดจากภาวะของการหลอกหลอนของผีพ่อที่ดำรงอยู่อย่างไร้การควบคุม และเข้ามาปะทะสังสรรค์กับตัวภุชงค์

ในตัวเรื่องหลายๆ ครั้งเอง เขาได้ตระหนักว่าความเย็นชานี้อาจเป็นสิ่งที่เขาได้มาจากพ่อ และมันคือสายสัมพันธ์ที่ผูกตัวเขากับพ่อเข้าไว้ด้วยกันผ่านอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นสำหรับภุชงค์แล้ว เส้นแบ่งระหว่างอดีตกับปัจจุบัน (ระหว่างพ่อกับเขา) จึงไม่มีความชัดเจนอีกต่อไป เพราะความทรงจำเกี่ยวกับพ่อของภุชงค์ไม่ได้เกิดขึ้นในอดีต หรือ ‘อดีต’ เกี่ยวกับพ่อไม่ได้ดำรงอยู่อย่างชัดเจน แต่อยู่ร่วมกับเขาในทุกลมหายใจของปัจจุบัน เพียงแต่ภุชงค์ไม่ได้ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของพ่อในปัจจุบัน เขาอาจตระหนักว่าอิทธิพลของพ่อ (ในอดีต) มีผลต่อตัวตนของเขา แต่ไม่ได้ตระหนักว่าพ่ออยู่กับเขาตลอดเวลาและไม่เคยหายไปไหน

ลุงวีธ แม้จะไม่มีความทรงจำที่หลอกหลอนเหมือนกับภุชงค์ แต่สิ่งที่ติดตัวเขามาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คือความเป็นเด็กหัวแดงของเขานั่นเอง ความเป็นเด็กหัวแดงนั้นสร้างความแตกต่างระหว่างตัวลุงวีธกับคนอื่นๆ อย่างชัดเจน ด้วยรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างไปจากคนอื่น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือภาษาอังกฤษของลุงวีธ ด้วยความที่หน้าตาเป็น ‘ฝรั่ง’ แต่เขาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เพราะเกิดและเติบโตในเมืองไทย ในแง่หนึ่งภาษาอังกฤษก็เป็นปมในใจของเขาเช่นกัน

ทว่า ความแตกต่างระหว่างลุงวีธกับภุชงค์คือ ดูเหมือนว่าลุงวีธจะสามารถต่อรองระหว่างอัตลักษณ์ของตัวเองกับคนอื่นๆ ได้ เพราะในเรื่องไม่ปรากฏเลยว่าลุงวีธถูกมองเป็นอื่น หรือแตกต่างกับคนอื่นๆ มากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหา ชีวิตของลุงวีธในฐานะที่เป็นเด็กหัวแดงจึงไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำรงชีวิตมากนัก

เราอาจอธิบายอย่างสั้นๆ ว่า ตัวละครทั้งสองนั้นไม่สามารถแยกอดีตกับปัจจุบันออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ร้อยเรียงความเป็นปัจจุบันของตัวละครทั้งสองตัว คือสายใยทางอารมณ์และความรู้สึกที่ทอดสะพานเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะสำหรับภุชงค์แล้ว การหลอกหลอนของพ่อไม่ได้เป็นสิ่งที่ตามมาจากอดีต แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะปัจจุบันของเขาผ่านวัตถุที่เหนี่ยวนำความรู้สึกที่มีต่อพ่อ และเปิดโอกาสให้ความรู้สึกนั้นทำงานกระตุ้นภาพความทรงจำ รวมถึงยังรับเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของพ่อมาด้วยแม้เขาจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทั้งภุชงค์และลุงวีธเองก็เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยที่น่าสนใจมากๆ เพราะหากพิจารณาให้ดีแล้ว ทั้งภุชงค์และลุงวีธต่างเป็นผลผลิตที่อยู่ตรงกันข้ามของขั้วความคิดทางการเมือง กล่าวคือ ภุชงค์เป็นลูกของอดีตคอมมิวนิสต์  ส่วนลุงวีธเป็นลูกทหารอเมริกันที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่ทั้งสองคนก็มามีความสัมพันธ์ผ่านเด็กหนุ่มสองคนที่เป็นลูกของ ‘แฟนเก่า’

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ฉากในเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นที่อีสาน ซึ่งในบริบททางประวัติศาสตร์นั้น อีสานเป็นพื้นที่ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองมาตลอดช่วงประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลายฐานก็อยู่ในอีสาน เช่น พ่อของภุชงค์นั้นอยู่ที่ภูพาน หนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ส่วนฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยก็กระจายตัวอยู่ในภาคอีสานเช่นกัน ตามที่ลุงวีธเล่าให้เย็นฟังว่า ในช่วงเวลานั้นแม่ของลุงวีธอยู่ที่โคราชซึ่งมีฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ด้วย

ภาพของอีสานในวรรณกรรมไทยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา แต่การปรากฏตัวของอีสานในนิยายวายได้แสดงให้เห็นว่า อีสานคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชานิยมอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ที่มีการปะทะสังสรรค์กันทั้งในทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ภาพของอีสานที่เคยถูกประทับตราว่า ‘แห้งแล้ง’ และ ‘ล้าหลัง’ จึงไม่เป็นความจริงอีกต่อไป อีสานในนิยายวายคืออีสานที่มีพลวัตเป็นฉากและที่มาของวัฒนธรรมประชานิยมได้ อีกทั้งมันยังแสดงให้เห็นอีกว่า ความเป็นวัฒนธรรมประชานิยมนั้นไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง แต่สามารถอยู่ในพื้นที่แบบใดก็ได้นั่นเอง

ด้วยความที่ผู้วิจารณ์นั้นมีประสบการณ์กับนิยายวายน้อยมาก เมื่อได้อ่าน ”ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่” และพบว่ามีการนำเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่อพัฒนาการของสังคมไทยมาสอดแทรกเอาไว้ในตัวเรื่อง ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดโลกให้กับผู้วิจารณ์ด้วย เพราะนิยายวายนั้นไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่ความสัมพันธ์ของผู้ชายกับผู้ชายเท่านั้น แต่ยังสามารถเล่าเรื่องและอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแนบเนียนและกลมกลืน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการเป็นนิยายวาย แต่ถ้าหากพิจารณาว่านิยายวายนั้นมีความเป็น ‘วัฒนธรรมประชานิยม’ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การนำเอาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อสังคมมานำเสนอเอาไว้ ก็อาจนับได้ว่าเป็นประโยชน์กับสังคมผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านที่อาจไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจเหตุการณ์ในอดีตได้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและสนุกกว่าการอ่านตำรา หนังสือวิชาการ ตลอดจนวรรณกรรมแนวสังคมการเมืองที่แม้จะนำไปสู่เป้าหมายที่คล้ายคลึงกันแต่ขาดสีสัน ไม่มีชีวิตชีวาและไม่สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้างเฉกเช่นที่นิยายวายเรื่องนี้ทำได้

ดังนั้น เมื่อผู้วิจารณ์อ่านเรื่องนี้จบลงแล้ว คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจก็คือ ในบรรดาวรรณกรรมแนวสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ที่ผู้วิจารณ์เคยได้อ่านมาทั้งหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมวรรณกรรมจำนวนหนึ่งว่ามีคุณค่า หรือสามารถแสดงให้เห็นถึงปัญหาของสังคมไทยได้เป็นอย่างดีเหล่านั้น มีขอบเขตหรือจำนวนผู้อ่านที่ได้อ่านวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด? มันสามารถกระจายตัวได้กว้างขวางขนาดไหน? ใครคือคนอ่านของวรรณกรรมเหล่านี้ถ้าไม่ใช่นักอ่านที่มีประสบการณ์ในแบบเดียวกัน?

คำถามนี้แม้จะดูเหมือนไม่สมเหตุสมผลถ้าเอามาเปรียบเทียบกับปริมณฑลของนักอ่านที่กว้างขวางกว่าหลายเท่าของวรรณกรรมประเภทนิยายวาย เพราะดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจุดมุ่งหมายของนิยายวายนั้นอาจมีความแตกต่างกันกับวรรณกรรมแนวสังคมการเมืองและประวัติศาสตร์ แต่คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบของผู้วิจารณ์ก็คือ หากวันหนึ่งวันใด นิยายวายของไทยสามารถนำเสนอประเด็นทางสังคมการเมืองได้แหลมคมกว่าวรรณกรรมที่ถูกเชิดชูเหล่านั้นแล้ว (ผู้วิจารณ์คิดว่าเป็นไปได้และควรจะเป็น) บรรดาวรรณกรรมเพื่อสังคมทั้งหลายในวันนี้จะตระหนักได้หรือไม่ว่าผู้อ่านของตนเองคือใคร? และงานของตัวเองจะไปได้ไกลขนาดไหน?

 

 

[1] โปรดดูรายละเอียดต่อใน http://www.plarideljournal.org/article/the-yaoi-phenomenon-in-thailand-and-fan-industry-interaction/

[2] เรื่องเดิม

[3] สำหรับผู้สนใจวัฒนธรรมวายหรือยาโออิ โปรดอ่านบทสัมภาษณ์ของนัทธนัย ประสานนาม ใน https://thepeople.co/why-y-natthanaiprasannam-yaoi/

ขอขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร. นัทธนัย ประสานนาม ที่แนะนำ “นิยายวาย” เล่มนี้ให้กับผู้วิจารณ์พร้อมทั้งให้ข้อคิดและช่วยให้คำแนะนำบริบทของนิยายวายและวัฒนธรรมวายในสังคมไทยซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้วิจารณ์มีประสบการณ์น้อยมาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save